เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาธิปไตยของ “เสียงส่วนน้อย”

นักปรัชญาชายขอบ

เริ่มจะเป็นไปตามที่คาดกันแล้วครับ พรรคการเมืองที่ได้เสียงส่วนใหญ่มาจากประชาชนกำลัง “ถูกบล็อก” ด้วย “เสียงส่วนน้อย” นั่นคือจากนี้ไปคุณจะคิด จะทำ จะขยับซ้าย ขวา คุณต้องเงี่ยหูฟังว่า อภิสิทธิชน อำมาตย์ กองทัพ นักวิชาการ ปัญญาชน สื่อ ที่มี “ต้นทุนทางสังคม” มากกว่า เสียงดังกว่า มีช่องทางการ “ส่งเสียง” มากกว่า พวกเขาจะเสนอให้ทำอะไรและอย่างไร

การเมืองกำลังเดินเข้าสู่เกมการชิงพื้นที่ “ส่งเสียง” เพื่อสร้าง “สงครามวาทกรรม” รอบใหม่ โดยลืมไปว่าการเลือกตั้ง 3 ก.ค. เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์มากที่สุด เป็นการเลือกตั้งในกระแสประวัติศาสตร์การปฏิเสธรัฐประหารและการเรียกร้อง “การเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย”

และเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคเพื่อไทยก็สะท้อนความต้องการของประชาชนที่ปฏิเสธรัฐประหาร และต้องการสร้างการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ซึ่งความต้องการดังกล่าวย่อมผนึกรวมความต้องการความยุติธรรมแก่ 91 ศพ คนบาดเจ็บพิการ และการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทขององคมนตรี และสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักเสรีภาพ หลักความเสมอภาค เพื่อปิดประตูรัฐประหารอย่างถาวร

หากความต้องการดังกล่าวของเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตอบสนอง การเลือกเลือกก็จะมีความหมายแค่การเปลี่ยนรัฐบาลจาก “ประชาธิปัตย์” มาเป็น “เพื่อไทย” เพียงเพื่อให้มาทำนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปเท่านั้น ส่วนปัญหาการเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตยภายใต้เงื่อนไขการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนที่บาดเจ็บล้มตาย เงื่อนไขการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปสถาบัน ต้องขึ้นอยู่กับ “เสียงส่วนน้อย” ว่าจะยินยอมหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้ก็บอกได้เลยว่า “ประชาชนตายฟรี” เหมือนกับที่ตายฟรีมาหลายครั้งแล้ว

ตอนนี้ “เสียงส่วนน้อย” เริ่มดาหน้าออกมา “ส่งเสียง” ดังขึ้นๆ แล้ว เช่น

1. พรรคที่เป็นรัฐบาลถ้าต้องการปรองดองต้องหยุดพูดเรื่อง “นิรโทษกรรม”

2. ต้องไม่ตั้งแกนนำเสื้อแดงเป็นรัฐมนตรี

3. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ สรุปว่าการสลายการชุมนุมด้วย “กระสุนจริง” ของรัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

4. คุณทักษิณต้องเสียสละตัวเอง ไม่ต้องกลับประเทศไทยอีก เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยก

5. คุณยิ่งลักษณ์ต้องตัดขาดจากคุณทักษิณ

6. ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อฟ้องยุบพรรคเพื่อไทย ด้วยข้อกล่าวหาเรื่อง “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”

7. มีการเรียกร้องการปรองดองโดยให้ลืมเรื่องเก่า สร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่า แต่ไม่มีคำตอบเรื่องความยุติธรรม การปฏิรูปกองทัพ ฯลฯ

ในประเทศนี้ “เสียงส่วนน้อย” เช่น พวกนักวิชาการ ปัญญาชน สื่อ ที่มีต้นทุนทางสังคม มีเวทีการส่งเสียงมากกว่า และดังกว่า “เสียงส่วนน้อย” เหล่านี้ไม่เคยลงไปทำความเข้าใจจริงๆ ว่า เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่เลือกรัฐบาลมาต้องการอะไร การแสดงออก 7 ข้อ เป็นต้นนั้น บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า พวกเขาสรุปง่ายๆ ว่า เสียงส่วนใหญ่เป็นแค่ “เครื่องมือทางการเมือง” ไม่ได้มี “เจตจำนงอิสระ” ของตนเอง

พูดอีกอย่างว่า เจตจำนงอิสระของเสียงส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพราะต้องการความยุติธรรม ต้องการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย กำลังถูกเสียง “ส่วนน้อย” ที่ดังกว่าบิดเบือนด้วย “วาทกรรมปรองดอง” ซึ่งความหมายจริงๆ ของการปรองดองที่พวกเขาต้องการให้เกิด คือ “การยอมทำตามข้อเสนอของเสียงส่วนน้อย และอย่าไปฟื้นฝอยหาตะเข็บกับกองทัพ และอำมาตย์”

“อคติ” ที่เห็นอย่างชัดเจนคือ เสียงส่วนน้อยที่เรียกร้องการปรองดองในความหมายดังกล่าวสร้างเงื่อนไขว่า “นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหารต้องเสียสละตนเอง” แต่พวกเขาไม่เรียกร้องให้ฝ่ายที่ทำรัฐประหารต้องเสียสละใดๆ

ไม่ต้องพูดถึงว่าพวกเขาจะเรียกร้องให้เอาผิดกับฝ่ายที่ทำรัฐประหารเลยครับ (ยอมรับการนิรโทษกรรมตัวเองของฝ่ายรัฐประหารโดยไม่ตั้งคำถามสักแอะ) แม้แต่จะเรียกร้องให้ฝ่ายทำรัฐประหาร “เสียสละตัวเองบ้าง” โดยยอมรับการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทขององคมนตรี และสถาบัน พวกเขาก็ไม่เคยเรียกร้อง (อย่าว่าแต่จะเรียกร้องความรับผิดชอบต่อการสังหารหมู่กลางเมือง 91 ศพ เลย)

สำหรับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งและถูกทำรัฐประหาร “เสียงส่วนน้อย” เหล่านี้จะเรียกร้องมากขนาดไหนก็ได้ เรียกร้องโดยไม่ต้องคำนึงถึง “สามัญสำนึกในความยุติธรรม” ใดๆ เลยก็ได้ เช่น “มึงอย่ากลับประเทศไทยนะ อย่ากลับมาบ้านเกิดเมืองนอนของมึงอีกนะ หรือให้มึงตายอยู่ต่างประเทศเลยนะ” ฯลฯ

แต่สำหรับฝ่ายทำรัฐประหาร อำนาจนอกระบบ พวก “เสียงส่วนน้อย” เหล่านี้ กลับไม่กล้าแม้แต่จะเรียกร้องให้พวกเขา “เสียสละตัวเองบ้าง” เพื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทของพวกเขาให้อยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย

เป็นไปได้อย่างไรครับ “เสียงส่วนน้อย” ที่เคารพ พวกคุณเรียกร้องให้ฝ่ายนักการเมือง ฝ่ายประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องเสียสละอย่างไม่มีขีดจำกัด (เช่นไม่ต้องกลับประเทศ ฯลฯ) ทั้งที่พวกเขาเสียสละมามากแล้ว เสียสละชีวิตไปแล้วเกือบร้อยชีวิต (ถ้านับ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 ตายฟรีไปแล้วเท่าไรแล้ว) แต่กลับไม่เรียกร้องให้อีกฝ่ายยอม “เสียสละตัวเองบ้าง” เลย

ฉะนั้น ผมจึงงวยงงอย่างยิ่งกับ “วาทกรรมปรองดอง” ของ “เสียงส่วนน้อย” (ที่ดังกว่าเสียงส่วนใหญ่) ในประเทศนี้ ที่คำนึงถึงแค่การประนีประนอมของ “ขั้วอำนาจ” ต่างๆ แคร์เฉพาะการปั่นกระแสของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม แต่ไม่ยอมนับ “ความต้องการ” ของเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ที่สำคัญพวกคุณไม่สนใจว่า “ความอยูติธรรม” ที่เห็นอยู่ตำตาจะแก้อย่างไร คนไม่ได้รับความเป็นธรรมเขาควรได้รับความยุติธรรมอย่างไร และประเทศนี้ควรจะอยู่กันด้วยหลักการ กาติกาแบบไหน ปรองดองมันจำเป็นต้องไม่เถียงกันในปัญหาพื้นฐานหลักๆเหล่านี้จริงหรือครับ “เสียงส่วนน้อย” ที่เคารพ

ปล. “เสียงส่วนน้อย” ที่เคารพ เมื่อไรพวกคุณจะเลิกพูด “ความเสมือนจริง” มาพูด “ความจริง” กันอย่างตรงไปตรงมาเสียทีครับ!

ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา