เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความสำคัญผิดในสาระสำคัญของคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดา

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

"ดังนั้นจึงต้องเข้าใจให้ดีว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ (เฉพาะคดีนี้)
ไม่ใช่เป็นการทุจริตหรือคอร์รัปชันแต่ประการใด"
สิ่งที่สังคมต้องทำความเข้าใจก็คือสาระสำคัญของคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหมายเลขคดีที่ อม.๑/๒๕๕๐ ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ ๑ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ ๒ จำเลย หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า”คดีที่ดินรัชดา” เนื่องจากผู้เขียนเคยดำรงตำแหน่งอยู่ในสถาบันตุลาการมาเป็นเวลาถึง ๓๖ ปี อดรู้สึกสะเทือนใจไม่ได้เมื่อมีสังคมกล่าวขวัญเป็นเชิงตำหนิ หรือวิจารณ์ ผลแห่งคำพิพากษาคดีนี้โดยมิได้ศึกษาและทำความเข้าใจสาระสำคัญในคำพิพากษาคดีนี้ให้ถ่องแท้เสียก่อน

กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาก็มักจะพูดว่า “สามีลงชื่ออนุญาตให้ภรรยาไปทำนิติกรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ กลับมีความผิดถึงติดคุก ๒ ปี ส่วนกลุ่มคนที่ต้องการนำผลคำพิพากษาไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนและทับถมฝ่ายตรงข้ามก็พูดว่า “เพราะจำเลยทุจริตคอร์รัปชันศาลจึงพิพากษาจำคุก ๒ ปี แล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศ” ขอทำความเข้าใจต่อสังคมให้เป็นทีประจักษ์เป็นลำดับดังนี้

(๑)กฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔,มาตรา ๑๐๐ และมาตรา ๑๒๒ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “กฎหมาย ป.ป.ช.” ในกฎหมายดังกล่าว มาตรา ๑๐๐ บัญญัติว่า

มาตรา ๑๐๐ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
๑)เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
๒) ...............................

มาตรา ๑๐๐ วรรคสองบัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด” (ซึ่งปัจจุบันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดอยู่ ๒ ตำแหน่ง คือ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี)

มาตรา ๑๐๐ วรรคสามบัญญัติว่า “ให้นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรคสอง (นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี) โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสดังกล่าวเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (จำเลยที่ ๒ เป็นคู่สัญญาซื้อขายที่ดินรัชดา จึงถือเป็นการดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑) ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าวโดยได้วินิจฉัยว่า

“เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ ๑ (พ.ต.ท.ทักษิณ) มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยในการที่จำเลยที่ ๒ (คุณหญิงพจมาน) ดำเนินกิจการตามมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ เพื่อแก้ตัวให้จำเลยที่ ๑ พ้นผิดตามมาตรา ๑๒๒ วรรคสอง เช่นนี้ผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง ๕ ต่อ ๔ ว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๑๐๐(๑) ซึ่งต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น”

อธิบายเพิ่มเติมว่าความผิดทางอาญานั้นมีทั้งความผิดโดยต้องมีเจตนาทุจริต กับความผิดที่ไม่ต้องมีเจตนาทุจริตและต้องชี้แจงว่า การพิพากษาคดีของศาลต้องถือเสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษา คดีนี้มีองค์คณะ ๙ ท่าน เป็นผู้พิพากษาที่เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำผิดมี ๕ ท่าน แต่มีความเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้กระทำความผิดมีถึง ๔ ท่าน ต้องกล่าวได้ว่าเสียงของผู้พิพากษาก้ำกึ่งกันทีเดียว

(๒)เนื่องจากการกระทำความผิดตากฎหมายนี้ไม่จำเป็นต้องมีเจตนาทุจริต แต่เป็นความผิดเพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นความผิด และคดีนี้โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ ซึ่งผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาทุจริตด้วย แต่ศาลมีคำวินิจฉัยยกฟ้องในข้อหานี้โดยวินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า

“ลำพังเพียงแต่จำเลยที่ ๑ (พ.ต.ท.ทักษิณ) ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ ๒ จะรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท หาใช่เป็นการกระทำในหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ไม่ เพราะได้ความจาก นายวุฒิสิทธิ จันทสูตร เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาห้วยขวาง ว่า แม้คู่สมรสไม่มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอม กรมที่ดินยังสามารถจัดการ โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อได้ โดยเจ้าหน้าที่จะสอบถามคู่สัญญาว่าจะบันทึกยืนยันเรื่องโมฆียกรรมและและคู่สัญญายินยอมตามนั้น องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง ๘ ต่อ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ เมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๑ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ และมาตรา ๑๕๗ จำเลยที่ ๒ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำของจำเลยที่ ๑ ตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย”

ดังนั้นจึงต้องเข้าใจให้ดีว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ (เฉพาะคดีนี้)ไม่ใช่เป็นการทุจริตหรือคอร์รัปชันแต่ประการใด

(๓)ส่วนข้อที่ว่าเมื่อไม่ใช่การกระทำความผิดโดยทุจริตแต่เหตุใดศาลจึงพิพากษาจำคุกถึง ๒ ปี ทั้งยังไม่รอการลงโทษจำคุกให้ก็ต้องตอบว่าเป็นดุลพินิจของศาล หาใช่เป็นความผิดปกติแต่อย่างใดไม่ เพราะศาลอาจใช้ดุลพินิจในการรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ ให้จำเลยหรือไม่ก็ได้ ส่วนดุลพินิจจะเหมาะควรประการใดก็ย่อมแล้วแต่ความเห็นแต่ละคนแต่ละกลุ่ม ศาลวินิจฉัยเรื่องไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ ๑ โดยให้เหตุผลว่า

“จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่จำเลยที่ ๑ กลับฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายทั้งที่จำเลยที่ ๑ เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมือง ให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้ จึงไม่สมควรรอการลงโทษ”

ดังนั้นจึงอธิบายได้ชัดเจนว่าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณในคดีที่ดินรัชดา นั้นมิใช่เป็นเรื่องทุจริตหรือคอร์รัปชัน แต่เป็นความผิด เพราะมีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด และความผิดตามกฎหมายหมวดนี้ ตั้งแต่ มาตรา ๑๐๐ ถึง มาตรา ๑๐๓ (รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคลเกินสามพันบาท)

เมื่อกระทำไปแล้วจะอ้างว่าไม่มีเจตนาทุจริตนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ต้องทุจริตก็มีความผิดแล้ว และต้องขอเตือนคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ได้โปรดอ่านกฎหมาย ป.ป.ช. หมวดนี้ให้เข้าใจ โดยเฉพาะกฎหมายฉบับใหม่ในหมวดนี้มีมาตรา ๑๐๓/๑ บัญญัติว่า

“บรรดาความผิดที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ให้ถือเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย” ที่จะต้องเตือนมาก ๆ ก็คืออย่าเที่ยวไปรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกินสามพันบาท แล้วอ้างว่าไม่มีเจตนา หากยังมีการกระทำเช่นนี้อีกก็ต้องกล่าวว่า “เราเตือนท่านแล้วนะ แต่ก็มิได้นำพา”

อนึ่ง ถ้าจะให้ดีขอให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาช่วยตรวจดู พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๓ ให้ดี โดยเฉพาะมาตรา ๔ มาตรา ๕ และอย่าลืมตรวจดูรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๖๕ เสียด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา