เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

รู้ประวัติศาสตร์.. เข้าใจปัจจุบัน แบ่งปัน "อำนาจ-อนาคต"

ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ : คอลัมน์ ออกแบบประเทศไทย มติชน

ในวันที่ผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม พรรคเพื่อไทยชนะอันดับ 1 ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 เตรียมก้าวสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

เป็นชัยชนะที่มีมาพร้อมกับ "ความกังวล" เพราะมีภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ฉายทาบอยู่เบื้องหลัง ซึ่งมองว่า "สวนทาง" กับอำนาจนอกระบบที่เป็น "เงาทะมึน" อยู่เบื้องหลังการเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา ...ย่อมทำให้ขาดความมั่นใจว่าการเมืองไทยข้างหน้าจะเป็นอย่างไร??

ในสายตานักประวัติศาสตร์อย่าง "ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ" กรรมการบริหารวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และอดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้ชื่อว่า "ครูประวัติศาสตร์" ระดับนำคนหนึ่งของเมืองไทย บอกว่า "หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นเส้นแบ่งการเมืองยุคใหม่ของสังคมการเมืองไทย"

"เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ จึงจะมีความหวังกับอนาคต การไม่มีมิติประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้ที่จะทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นภาคการเมือง ประชาชน รัฐ ราชการ เอกชน เลยเดาไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต"

ถ้าประวัติศาสตร์ลงตัว เข้าใจได้ เห็นได้ มันต้องบอกได้ว่า ถ้าคุณทำอย่างนี้ ใช้อำนาจหนักไปทางนี้ อะไรมันจะเกิดขึ้น แล้วจะแก้อย่างไร ก็ดูจากประวัติศาสตร์ว่าพร่องอย่างไร ก็ไปเติมตรงนั้น แต่ของเราจะแก้ที อย่างรัฐธรรมนูญ ก็ไปเปิดดูของคนอื่น เอาพิมพ์เขียวมาใส่ เช่น พรรคไม่เข้มแข็ง ก็เอาของที่อื่นที่เข้มแข็งมาใส่ พอไทยรักไทยขึ้นมา ก็บอกแข็งเกิน แล้วก็แก้ให้อ่อน คือ เราไม่มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ของตนเองอยู่ เลยไม่รู้ว่าที่ผ่านมามันพร่องเพราะอะไร ..นั่นเป็นสิ่งที่ อ.ธเนศมองและเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

"ไม่แปลกที่คนกังวล เพราะประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่เคยสะเด็ดน้ำ และถูกคนมาอธิบายใหม่ตั้งแต่ 2475 จึงมีภาพที่ถูกสร้างโดยนักการเมือง หรือนักประวัติศาสตร์กระแสหลักที่อยู่กับระบอบปัจจุบัน ที่อธิบายไปตามเหตุผลของตัวเอง หรือเหตุผลในตอนนั้น แต่ไม่ได้สนใจหลักฐานความจริงทางประวัติศาสตร์เลย แต่เป็นวาทกรรมใหม่ทั้งนั้น ปฏิวัติอเมริกาหรือฝรั่งเศส เขาเลิกพูดกันไปแล้ว ไม่ต้องมารำลึกอะไรแบบเราหรอก เพราะเขาสะเด็ดน้ำว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มีรัฐธรรมนูญ หลักการใหญ่ๆ จบแล้ว แต่ของเราไม่ใช่"

"ของเราเริ่มลงรากปักฐาน แต่จับพลัดจับผลูก็ถอยหลัง ถูกยึดพื้นที่กลับ เดินไปได้แป๊บๆ ก็โดนเบรก คนก็เลยสงสัยว่า เอ๊ะ ตกลงเราเคยปฏิวัติประชาธิปไตยหรือเปล่า เลยต้องกลับมาพูดกันใหม่ในวันที่ 24 มิถุนายนของทุกปีว่า มันเป็นเพราะอะไร"

อ.ธเนศให้ตัวอย่างว่า หลังปี 2490 การเมืองไทยถูกมองว่า เป็นเรื่องของชนชั้นนำกลุ่มน้อยที่แย่งอำนาจ ใช้อำนาจมิชอบ มันก็ไม่ผิดทั้งหมด ...นั่นก็มีความเป็นจริงอยู่ แต่ว่าเวลาเราดูพัฒนาการการเมือง ก็ต้องดูว่าทำไมมันมาถึงจุดนั้น แล้วก็สกัดเอาแก่นของความจริงออกมา คนเราชอบประณามพรรคการเมืองหรือนักการเมือง แต่ขณะเดียวกันก็มีคำถามเหมือนกันว่า "คนยึดอำนาจ" ทำไมไม่ถูกประณามบ้าง หรือจะอ้างว่าว่าเขาไม่ได้เพราะมีพันธะที่จะทำ ทั้งที่ความจริงคือพันธะนั้นมันตรงข้ามระบอบประชาธิปไตย หรือความเป็นจริงที่ระบอบต้องการอีกแบบ แต่ก็ทำด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคง การดำรงอยู่ของสถาบัน พอคุณสร้างค่านิยมขึ้นมาจากความเชื่อ จากข้อมูลสะเปะสะปะก็เลยกลายเป็นข้อเท็จจริงที่ตอนนี้คนเชื่อกันว่า ล้มเหลวเพราะรัฐสภา นักการเมืองทำให้ล้มเหลว

"คนที่เชื่อเรื่องนี้ไม่ใช่ชาวบ้านทั่วไปนะ แต่เป็นคนมีการศึกษาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ หรือคนที่ได้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนาที่กลับมาด่านักการเมือง สำหรับผม เรียนประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา ก็ไม่ได้เห็นนักการเมืองอเมริกามันเก่งกล้า ดี ถามว่าเขาดีกว่าเรายังไง แตะอะไรไม่ได้เลยจริงเหรอ ความจริงคือ มันก็โดนคดีอยู่ทุกวัน มีเพื่อน มีพวกเหมือนกันกับบ้านเราแหละ เพียงแต่ระบบของเขาดี เพราะสามารถจัดการคนแบบนั้นออกไปได้...แต่ของเรา (นักการเมือง) โห คุณจะเอาพระอรหันต์เหรอ"

สำหรับเรื่อง "โอกาสบางอย่าง" ที่อาจจะเป็นเส้นแบ่งของการเมืองไทยยุคใหม่ อ.ธเนศเห็นว่า ถ้ามองจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากที่สุดในแง่การเข้าร่วมของประชาชน ความตื่นตัว ความสนใจ ความตั้งใจ รวมๆ เรียกสำนึกทางการเมือง

"ตั้งแต่ 2475 จนถึงการเปลี่ยนแปลงหลายช่วง ที่ผ่านมา คนก็มาเลือกตั้งไม่น้อย คือแสดงว่าคนให้ความสนใจและอยากเปลี่ยนแปลงเยอะ รับรู้เรื่องการเมืองบ้างมากน้อยมาก ตามแต่เทคโนโลยีแต่ละยุค ข้อมูลหนึ่งที่น่าคิดคือปี 2475 คนอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือ เยอะมากถ้าเทียบกับปัจจุบัน ตอนนั้นหนังสือประวัติศาสตร์โลกหรือพวกเรื่องประชาธิปไตย เขาพิมพ์กันที 3-4 พันเล่มขายเกลี้ยงเลยนะ แสดงว่าคนสนใจมาก แต่เดี๋ยวนี้ หนังสือผมพิมพ์แค่พันเล่มยังขายไม่หมดเลย (หัวเราะ) ถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น ..สำหรับผม ถ้ามองแบบเข้าใจ ก็เชื่อว่ายังมีความหวัง"

"เรื่องที่มีมวลชนออกมาประท้วง หลายเสียงหลายฝ่ายก็บอกว่ามาเพราะถูกหลอก มาเป็นเครื่องมือของใครอะไรนั้น ผมไม่ขอพูด แต่อยากให้มองในแง่ปรากฏการณ์ นี่มันคือปรากฏการณ์ทางการเมืองของมวลชนในระบอบการเมืองใช่หรือไม่ พวกเขาก็มีเป้าหมาย พวกเขาต้องการรัฐธรรมนูญ พวกเขาต้องการเปลี่ยนรัฐบาล ต้องการการเลือกตั้ง ..อยากถามว่านี่มันก็เป็นข้อเรียกร้องที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่รับได้หรือไม่ มันมีอะไรที่มันเกินเลยไปกว่านั้นไหม ..ผมว่าเป็นการตื่นตัวของมวลชนประชาธิปไตยที่สวยงามที่สุดอันหนึ่งนะ" อ.ธเนศพูดถึงการชุมนุมของมวลชนในเสื้อสีต่างๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

แล้วจะก้าวย่างต่อไปอย่างไร... จะยั่งยืนได้จริง หรือต้องกลับมาวนลูปความรุนแรง ความวุ่นวายอีกหรือไม่ ?!?

"ผมว่าที่เหลือจากนี้ไป เราต้องสรุปบทเรียนของตัวเองว่า ทำไมมันถึงไม่ทำให้มันออกดอกให้บานเต็มที่เสียที คือ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ อุดมการณ์ สถาบัน ระบบการเมือง มันต้องรองรับที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านมันอยู่ในระบบ สงบ สันติ ไปสู่จุดหมายที่รู้ว่า คนต้องการอะไร ก็ให้ไปถึงจุดนั้น จะได้มากน้อยก็ว่ากันไป ซึ่งตอนนี้คนไม่มั่นใจว่า โครงสร้างดั้งเดิมที่รองรับอยู่นี้จะทำหน้าที่และให้ความมั่นใจได้ไหม เสื้อแดงบอกว่า ไม่เชื่อว่าโครงสร้างที่รองรับระบอบจะทำหน้าที่ได้จริง เขาเลยพูดเรื่อง 2 มาตรฐาน ขณะที่ภาคธุรกิจนั้น ร้อยวันพันปีไม่ค่อยอยากยุ่งการเมืองแต่ก็ออกมาตั้งกลุ่มแอนตี้คอร์รัปชั่นบ้าง เรียกร้องให้เคารพเสียงเลือกตั้งบ้าง นี่ไง ! มันแสดงว่า สถาบันโครงสร้างเดิมที่มีมันไม่ฟังก์ชั่น (ไม่ทำงาน) ใช่ไหม ประชาชนเลยต้องเอาตัวเองเข้ามา ช่วยผลักช่วยดันให้มันเปลี่ยน แล้วพวกเขาก็เฝ้าดูว่า มันไปได้จริงไหม"

อ.ธเนศระบุว่า "เวที" นี้ต้องการคนร่วมแชร์ ร่วมแบ่งปันในทุกมิติ.. พัฒนาการประชาธิปไตยจึงจะยั่งยืน !!

"คอนเซปต์อำนาจนิยมแบบเอเชียคือ มันยังมีความยึดโยงกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ กับบารมี มันไม่ใช่อำนาจที่มาด้วยเหตุผล เราจึงไม่เคยประสบความสำเร็จในการสร้างระบบที่แยกระหว่างศาสนากับสังคม ความเชื่อศาสนากับสังคม มันอยู่ปะปนกันตลอดเวลา จริงๆ แล้วหลังยึดอำนาจ ฝ่ายกุมอำนาจหาเหตุผลรองรับไม่ได้ เพราะถือไปล้มระบอบ ทำให้ในที่สุดก็ต้องกลับไปสิ่งศักดิ์สิทธิ์เก่า กลับไปหาสถาบัน ชาติ ศาสนา และชาตินิยม ...เป็นการรับใช้สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้รับใช้มวลชน

"เราไม่เคยใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยจริงๆ ในชีวิต มันจึงเปิดโอกาสให้นักวิชาการฝ่ายอำนาจนิยม น่าสนใจว่าทำไมเวลายึดอำนาจแล้ว เขาเขียนบอกว่าดียังไงคนก็เข้าใจแล้วเชื่อว่า เลยกลายเป็น อ้าว! ตกลงยึดอำนาจนี้กลายเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจริงๆ"

อย่างไรก็ดี จากปรากฏการณ์การตื่นตัวทางการเมือง มวลชนกลุ่มต่างๆ ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งจากผลการเลือกตั้งที่มีพรรคอันดับหนึ่งได้เสียงมากมายขนาดนี้ อ.ธเนศมองด้วยความหวังว่า "การเมืองบ้านเราไม่มีทางจะกลับไปสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบหรือเผด็จการอีก เพราะประชาชนไม่ยอม คนสนใจการเมืองดีกว่าคนไม่สนใจ คนห่วงใยทุ่มเทให้ อันนี้คือหัวใจของประชาธิปไตย ไม่ต้องไปหาทฤษฎีอะไรยากๆ มาจับหรอก"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา