เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตายฟรีเพื่อการ "เกี้ยเซี้ย" ของชนชั้นนำ (?)

โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2554)
คงเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง หากการเลือกตั้งมีความหมายเพียงแค่เป็น "ทางผ่าน" ไปสู่การ "เกี้ยเซี้ย" ของกลุ่มอำนาจจารีตกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองภายใต้ "วาทกรรมปรองดอง" ที่ไม่มีคำตอบเรื่อง "ความยุติธรรม" แก่ 91 ศพ คนบาดเจ็บ พิการ และไม่มีคำตอบต่อ "การเปลี่ยนผ่าน" สังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย

เพราะผลการเลือกตั้งชี้ชัดว่า ประชาชนส่วนใหญ่ปฏิเสธรัฐประหารและต้องการประชาธิปไตย ซึ่งประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าประชาชนเลือกรัฐบาลมาแล้วรัฐบาลจะทำอะไร จะขยับซ้าย ขวา ก็ต้องคอยเงี่ยหูฟังตลอดเวลาว่า "เสียงส่วนน้อย" จะเอาอย่างไร

"เสียงส่วนน้อย" ที่ว่านี้คือ อำนาจพิเศษ กองทัพ นักวิชาการ ราษฎรอาวุโส สื่อที่เสียงดังกว่า เพราะมีอำนาจ มีช่องทางการส่งเสียงมากกว่า และเสียงที่พวกเขาส่งออกมาภายใต้ "วาทกรรมปรองดอง" ก็คือ ข้อเรียกร้องให้ลืมเรื่องเก่า ให้ทำสิ่งที่ดีๆ ใหม่ๆ ให้ทักษิณเสียสละตัวเอง ไม่ต้องกลับประเทศไทย ไม่ต้องพูดถึงการนิรโทษกรรม แม้กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ส่งเสียงออกมาว่า การสลายการชุมนุมด้วย "กระสุนจริง" ที่มีคนตาย 91 ศพ บาดเจ็บร่วมสองพันก็ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

หรือในอีกด้านหนึ่งก็มีเสียงจากฝ่ายคุณทักษิณที่ออกมาในท่วงทำนองเดียวกัน คือให้ลืมเรื่องเก่า ให้อภัย กระบวนการหาความจริงก็หาไป แต่ความจริงที่ได้มาอาจไม่จำเป็นต้องให้เอาตัวคนผิดมาลงโทษ หากฝ่ายผิดเขายอมรับผิดสังคมก็ควรให้อภัยเพื่อให้เกิดความปรองดอง ประเทศชาติจะได้เดินหน้าต่อไป

คำถาม คือ

1) ประเทศชาติจะเดินหน้าต่อทั้งที่ไม่มีคำตอบเรื่องความยุติธรรมแก่คนตาย คนบาดเจ็บจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะถ้าไม่มีคำตอบก็หมายความว่าประชาชนตายฟรีเหมือน 14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภา 35 การที่ประชาชนยังตายฟรีอยู่เหมือนเดิมมันมีความหมายว่าประเทศชาติได้ "เดินหน้า" อย่างไรไม่ทราบ

2) ข้อเรียกร้องของ "เสียงส่วนน้อย" ภายใต้ "วาทกรรมปรองดอง" ไม่ได้สนใจว่ารัฐบาลควรตอบสนองข้อเรียกร้องของเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการความยุติธรรมและการเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตย เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าประเทศได้ "เดินหน้า" อย่างไร

จริงๆ แล้ว สัญญาณที่บ่งชี้ว่าประเทศกำลังจะเดินหน้าต่อมันน่าจะหมายถึง การที่รัฐบาลใหม่แสดงออกว่าตอบสนองต่อเจตจำนงทั่วไปของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างไร นั่นคือ จะให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนที่บาดเจ็บล้มตายอย่างไร จะให้ความเป็นธรรมอย่างไรกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่ "ถูกขังลืม" ยังไม่ได้รับการประกันตัว

ที่สำคัญคือ เมื่อผลการเลือกตั้งบ่งชัดว่าประชาชนไม่เอารัฐประหารและต้องการ "เปลี่ยนผ่าน" สังคมให้เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลใหม่จะทำอย่างไรที่จะปิดประตูรัฐประหารอย่างถาวร และสร้าง "การเปลี่ยนผ่านเชิงกติกา" ซึ่งก็หนีไม่พ้นที่ต้องมีความชัดเจนเรื่องการปฏิรูประบบโครงสร้างกองทัพ ปฏิรูปกฎหมายไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันองคมนตรีและสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยคือหลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาค

หากการเลือกตั้งที่แลกมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนไม่สามารถนำไปสู่การสร้าง "การเปลี่ยนผ่านเชิงกติกา" ดังกล่าวได้ ก็เท่ากับประชาชนตายฟรีเหมือนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มันก็ไม่มีอะไรที่บ่งบอกว่าประเทศได้ก้าวไปข้างหน้า!

ฉะนั้น วาทกรรมปรองดองเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อก็เป็นแค่ "มายาคติ" ที่คนส่วนน้อยไม่กี่กลุ่มซึ่งได้อำนาจมาจาก "ฉันทานุมัติ" ของประชาชนส่วนใหญ่ แล้วก็ฉวยโอกาสใช้ฉันทานุมัตินั้นสร้างความชอบธรรมในการ "เกี้ยเซี้ย" เพื่อแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ให้ลงตัวเหมือนเดิมๆ ที่ผ่านมา

แต่ก็ยังมีปัญหาว่า การเกี้ยเซี้ยดังกล่าวมันจะทำกันได้ง่ายๆ เหมือนในอดีตจริงๆ หรือ อย่าลืมว่าเคยมีการดูถูกประชาชนว่าโง่ ถูกซื้อ ไม่รู้ประชาธิปไตย ไม่มีอุดมการณ์ หมดท่อน้ำเลี้ยงก็หมดน้ำยา ฯลฯ แต่คำดูถูกเหล่านั้นก็ไม่เป็นจริง กว่า 5 ปีมานี้ประชาชนได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นจนเกินกว่าที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะกำหนดให้สังคมไทยกลับไปมีสภาพการณ์จิตสำนึกทางการเมืองเหมือนช่วงเวลาก่อน 19 กันยายน 2549 แล้ว

ทุกวันนี้ประชาชนตาว่างแล้ว รู้ว่าอะไรเป็นอะไร (เพียงแต่จะพูดกันอย่างเป็นสาธารณะได้แค่ไหนเท่านั้น) และพวกเขาก็เห็นความสำคัญมากขึ้นกับการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพที่จะพูดความจริงในสิ่งที่พวกเขารู้ ซึ่งก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตยที่พวกเขาจะต่อสู้เช่นนั้น

ปัญหาอยู่ที่ว่า ชนชั้นนำ หรือพวก "เสียงส่วนน้อย" ที่ชอบส่งเสียงกำหนดทิศทางของประเทศทั้งในที่แจ้งและที่ลับตามทันความก้าวหน้าของประชาชนหรือไม่ ณ วันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ "เสียงส่วนน้อย" จะไปสอน ไปอบรม หรือไปให้ปัญญาแก่ประชาชนแล้ว เพราะประชาชนเขาตื่นแล้ว เขาหวงแหนอำนาจของเขา และประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนผ่านการเลือกตั้งว่าไม่เอารัฐประหาร และต้องการประชาธิปไตย

"เสียงส่วนน้อย" ต่างหากที่ต้องเรียนรู้ที่จะรับฟังและเคารพเจตจำนงของเสียงส่วนใหญ่หยุดการยัดเยียดความคิดเห็นของพวกตนแก่ประชาชน หยุดเบี่ยงเบนเจตจำนงของประชาชน และต้องยอมเสียสละตัวเองบ้าง (จากที่เป็นฝ่ายได้มาตลอด) เพื่อเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปให้สังคมเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตย

ประชาชนเสียสละชีวิตเลือดเนื้อมามากแล้วในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย วันนี้จึงเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำหรือ "เสียงส่วนน้อย" ต้องเสียสละตนเองบ้าง หากต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อในความหมายที่การเดินหน้านั้นเป็นความก้าวหน้าของประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจเป็นของตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา