ภาคิไนย์ ชมสินทรัพย์มั่น นิสิตปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทนำ
การต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อนหน้า 19 กันยา 49 เล็กน้อยจนถึงปัจจุบัน ได้สั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด หากว่าสังเกตดีๆก็จะพบสิ่งที่น่าสนใจหลายประการในกลุ่มคนเหล่านี้ อาทิเช่น คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เริ่มต้นการต่อสู้ทางการเมืองแบบ “ไม่มีอะไรในหัว” มาก่อนเลยแต่กลับสู้ยิบตาลองผิดลองถูกตลอด หรือว่าแนวร่วมคนเสื้อแดง “ผู้คร่ำหวอด” ในการต่อสู้ทางการเมืองมาตั้งแต่ภายหลังการพังทลายของระบอบเผด็จการทหาร 14 ตุลาฯมาร่วมแจมแต่กลับไม่มีอิทธิพลต่อคนเสื้อแดงในแนวกว้างมากนัก หรือว่าผู้นำคนเสื้อแดงในรูปแบบกลุ่มนายทุนโลกาภิวัฒน์และพรรคการเมืองในระบบที่เต็มไปด้วยการหนุนหลังของชนชั้นนำมากมายตั้งแต่ข้าราชการจนไปถึงหัวคะแนนในระดับชุมชนซึ่งแม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่มาก เป็นต้น...
ปรากฎการณ์การต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงนับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่สำหรับประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของไทย ทำไมผมจึงกล่าวว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ หากพิจารณาการต่อสู้ทางการเมืองในอดีตเราจะเห็นตัวละครในการเมืองไทยเพียงไม่กี่ตัวละครเท่านั้นที่ “กึ่งผูกขาด” ในการต่อสู้ ก่อนและหลัง 2475 การต่อสู้ทางการเมืองจำกัดอยู่เพียงแค่ภายในหมู่ชนชั้นนำจนกระทั่งก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เมื่อนักศึกษา พรรคประชาธิปัตย์ นายทหารฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลจอมพลถนอม และเครือข่ายอนุรักษ์นิยม ได้ร่วมเป็นพันธมิตรระหว่างกันเพียงชั่วคราวเพื่อโค่นล้มระบอบสฤษดิ์ลงไป หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ การต่อสู้ทางการเมืองจึงกลับมาวนเวียนอยู่ภายในชนชั้นนำอีกครั้งเช่นสมัยก่อนแต่ทว่าหากมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองน้อยใหญ่เข้ามามีพื้นที่ในการต่อสู้บ้าง...
หากไม่นับขบวนการปฎิวัติประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและพรรคฝ่ายซ้ายอื่นๆของไทยในอดีตว่าคือการต่อสู้ทางการเมืองที่มีฐานปฎิบัติการทางการเมืองของ “มวลชน” อยู่บ้าง การต่อสู้ทางการเมืองในเมืองของไทยมีข้อจำกัดเรื่องการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในวงกว้างมาโดยตลอด เนื่องจากพรรคการเมืองกระแสหลักของไทยไม่ว่าสมัยไหนก็ตามไม่ใช่พรรคการเมืองอย่างในอุดมคติของประชาธิปไตยสมัยใหม่ หมายถึง พรรคการเมืองในฐานะกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมือง พรรคการเมืองในฐานะผู้ที่มีแนวความคิดต่างๆมาเคลื่อนไหวร่วมกัน ฯลฯ พรรคการเมืองของไทยคือพรรค “นายทุน” และ “ข้าราชการ” มันไม่เคยเป็นการเมืองเพื่อมวลชนหรือประชาชนหรือปรากฎว่าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันทิศทางนโยบายของพรรคการเมืองโดยตรง แม้ว่าหัวคะแนนจะมีบทบาทมากมายในการระดมคะแนนเสียงสนับสนุนก็ตาม...
ประการต่อมา พัฒนาการการเมืองภาคประชาชนของไทยตั้งแต่ราวปลายทศวรรษที่ 2520 จนถึงปัจจุบันมีความพยายามที่จะเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองในฐานะ “การเมืองนอกระบบรัฐสภา” จนประสบความสำเร็จอยู่บ้าง (กล่าวถึงในประเด็นปัญหาด้านต่างๆโดยภาพรวม) โดยจะเห็นได้จากผลพวงของการต่อสู้จนได้กฎหมายก้าวหน้าฉบับต่างๆมาบังคับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาตามที่เรียกร้อง หรือว่าการสร้างสถาบันทางการเมืองภาคประชาชนภายนอกรัฐสภาให้มีความเข้มแข็งขึ้นจนสามารถกดดันในเชิงประเด็นทางการเมืองได้ เช่น การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้น นอกจากนี้ การต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนตั้งแต่ พฤษภา’35 ได้สร้างคนูปการสำคัญประการหนึ่งให้แก่การเมืองไทย คือ การตอกย้ำว่ากองทัพไม่สมควรเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองอีกต่อไป กองทัพควรปฎิบัติตนเยี่ยงทหารอาชีพ ไม่ใช่การเคลื่อนไหวกำลังพลออกมาท้าทายระบอบรัฐสภา และได้สร้างทัศนะคติทางการเมืองเพื่อตอกย้ำเรื่อง “ชนชั้นกลางในฐานะผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” การเคลื่อนไหวต่อต้านทหารของชนชั้นกลางเมื่อปี 2535 ทำให้ชนชั้นกลางเริ่มเข้ามามีบทบาทในการกำกับทิศทางการพัฒนาทางการเมือง หรืออาจจะเรียกได้ว่า Agent of Change ก็คงไม่ผิดแต่ประการใด...
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 พร้อมๆเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมเสรีของไทยพังทลายลงอย่างราบคาบ ชนชั้นกลางไทยอันมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบทุนนิยมเริ่มได้รับผลกระทบโดยตรง ในขณะที่โครงสร้างทางการเมืองของไทยกำลังลงหลักปักฐานในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญออกแบบให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่สามารถเข้าควบคุมอำนาจทางการเมืองได้อย่างมากคล้ายๆกับสิ่งที่ Max Weber กล่าวเอาไว้ในปลายศตวรรษที่ 19 นั่นคือ Bureaucratic Democracy (รัฐประชาธิปไตยแบบราชการสมัยใหม่อันมีพรรคการเมืองของมวลชนเป็นองค์ประกอบหลัก) โครงสร้างทางการเมืองของไทยหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เปิดทางให้แก่นายทุนในฐานะเจ้าของพรรคตัวจริงให้เข้ามาสู่การเมืองในระบบอย่างเต็มรูปแบบได้เสียทีหลังจากกระมิดกระเมี้ยนเหนียมอายในช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” พวกเขาสามารถสร้าง Charismatic Democracy (การเมืองแบบผู้มีบารมี) ได้อีกด้วย เราคงไม่ปฎิเสธว่า “ทักษิณ ชินวัตร” คือ นักการเมืองที่เพียบพร้อมไปด้วยภาพลักษณ์ดีเยี่ยม คือตัวแบบ “ชนชั้นกลางผู้ร่ำรวย” จากการทำธุรกิจสมัยใหม่ เป็นเจ้าของ “นโยบายอันก้าวหน้า” ซึ่งไม่มีใครตามได้ทัน คณะรัฐบาลประกอบไปด้วยบุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถในลำดับต้นๆของประเทศไทย ชนชั้นนำในสังคมไทยต่างอ้าแขนต้อนรับด้วยความยินดียิ่ง เขาคือนักการเมืองพลเรือนผู้เปี่ยมไปด้วยบารมีในทางเศรษฐกิจและการเมืองคนสำคัญของไทยตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา วาทกรรมเหล่านี้คือสิ่งที่เชื่อถือกันโดยทั่วไปก่อนมีการเคลื่อนไหวต่อต้านจากเหล่า “เครือข่ายอนุรักษ์นิยม” ผู้ไม่ยอมให้ทักษิณเข้ามาช่วงชิงการนำจากพวกเขาไปได้โดยง่าย...
การสถาปนาอำนาจของฝ่ายทุนใหม่หลังปี 2540 เป็นมา ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างพวกเขากับเครือข่ายทุนเก่าผู้ครอบครองอำนาจในประเทศไทย(กลุ่มนี้ผงาดเต็มที่เมื่อครั้ง “ชัยชนะ 2490”) ความขัดแย้งทางการเมืองลุกลามอย่างลึกซึ้งเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยา 49 เนื่องจากวิธีการแทรกแซงทางการเมืองในแบบเดิมๆอันน่าเบื่อหน่ายไม่สามารถจัดการกับ “ทักษิณ” ได้อย่างราบคาบ ในทางกลับกัน การรัฐประหาร 19 กันยา อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของฝ่ายอนุรักษ์นิยมผู้อ่อนล้า แม้ว่าภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 จากปากกระบอกปืนทหารซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการแยกสลายพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างชัดเจน พวกเขาก็ยังไม่สามารถเอาชนะทางการเมืองต่อฝ่ายทักษิณได้อย่างเด็ดขาด รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และ รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยืนยันความจริงในทางการเมืองได้อย่างหนักแน่นในประเด็นนี้ พวกเขาต่อสู้กับทักษิณจนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ “เล่นงาน” ฝ่ายทักษิณแทนกองทัพได้ในที่สุด พวกเขาจึงได้รัฐบาลประชาธิปัตย์ผู้มีปัญหาความชอบธรรมขึ้นเป็นรัฐบาลแทนและหวังว่าประชาธิปัตย์จะสามารถนำพาสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ทุกเรื่องราว..
ปรากฏว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่สามารถนำพาได้ทุกเรื่อง ตรงกันข้าม พวกเขาต้องเผชิญกับการถูก “แซนด์วิส” ทั้งจากเสื้อแดงและพันธมิตรฯอยู่ตลอดเวลาที่เป็นรัฐบาล ประชาธิปัตย์มีเพียงสองสิ่งเท่านั้นที่สามารถประคับประคองพวกเขาจนถึงวันประกาศยุบสภาตามรัฐธรรมนูญนั่นก็คือ กองทัพ และ วัง...
บรรดาชนชั้นกลาง (หรือชื่อเล่นอันแสนน่ารักว่า “สลิ่ม”) ทั้งหลายผู้เคยหมดหวังในโชคชะตาทางเศรษฐกิจของตนเองเมื่อปี 2540 ต่างมีความหวังเมื่อเห็นพรรคไทยรักไทยนำเสนออะไรที่ใหม่สดกว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ในยุคนั้น เดือนมกราคม 2544 พวกเขาจึงเทคะแนนให้พรรคไทยรักไทยให้อย่างไม่ลังเลเนื่องจากพวกเขา “ขี้เบื่อ” อะไรเก่าๆอย่างพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่า ทักษิณ กำลังจะโดนศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาในคดีซุกหุ้น แต่ด้วย “พลานุภาพแห่งชนชั้นกลาง” กดดันศาลสารพัดทุกวิถีทาง บางคนถึงขั้นกล่าวว่าถ้าหากศาลตัดสินให้ทักษิณผิดจริงคำตัดสินนั้นก็คือการพิพากษาประเทศไทยไปด้วย (ผมเคยเจอประโยคทำนองนี้ในหนังสือพิมพ์แต่ผมจำไม่ได้ว่าใครพูด เนื่องจากตอนนั้นผมอยู่แค่ ม.ปลาย สนใจเกม counter-strike และเพลง rock มากกว่าเรื่องการบ้านการเมือง)..
เวลาผ่านไปไม่นานรัฐบาลไทยรักไทยเริ่มมีกลิ่นตุๆโชยออกมามากขึ้น ในขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักในขณะนั้นถูกรัฐบาลควบคุมไว้แทบสิ้นเชิง กลางปี 2547 บรรดาปัญญาชน นักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์บางส่วน เริ่มตั้งคำถามการทำงานของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนโยบายปราบปรามยาเสพติด, การแทรกแซงองค์กรอิสระ, นโยบายภาคใต้, ปัญหาประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายประชานิยมโครงการต่างๆ, การใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง และประเด็นใหญ่ที่สุดคือการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย ช่วงเวลานี้ “ชนชั้นกลาง” ออกเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาลอีกครั้งหนึ่งหลังจากพฤษภาทมิฬ ‘35
การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทยโดยพันธมิตรประชาเพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหากมองว่าชนชั้นกลางคือผู้มีบทบาทสูงในทางการเมือง แต่สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้ในที่นี้ก็คือ ลักษณะการระดมมวลชนของพันธมิตรนอกจากใช้รูปแบบเก่าๆคือการระดมมวลชนตามสายจัดตั้งแล้ว เขายังใช้สื่อในเครือผู้จัดการไม่ว่าจะเป็น ทีวีดาวเทียม, เวปไซต์, วิทยุ ระดมมวลชนมาจากที่ต่างๆให้มารวมกันเพื่อขับไล่รัฐบาล เพียง “เป่านกหวีด” มวลชนก็พร้อมรบทันที (แต่ได้รับการพิสูจน์ในภายหลังแล้วว่ามวลชนพันธมิตรที่เราเห็นเรือนหมื่นเรือนแสนบนถนนนั้น แท้ที่จริงคือมวลชนของประชาธิปัตย์เสียเป็นส่วนใหญ่)
จากการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อเหลืองมาอย่างยืดเยื้อยาวนานก็ไม่มีท่าทีว่าจะขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยได้เสียที พวกเขาจึงเริ่มยกระดับการชุมนุมกดดันต่างๆนานาเพื่อให้เกิดเงื่อนไข “พิเศษ” ในการขับไล่รัฐบาล ชนชั้นกลางและมวลชนแนวร่วมชนชั้นอื่นๆเริ่มเรียกหา “วิธีการพิเศษ” ไม่ว่าจะเป็นนายกพระราชทานมาตรา 7 (รัฐธรรมนูญ 2540) รัฐบาลแห่งชาติ จนกระทั่งไคลแม็กส์สำคัญคือ “รัฐประหาร” และพวกเขาก็ได้รับการรัฐประหารสมใจหลังจากประท้วงมาราธอนมาค่อนปี จึงกลายเป็นเรื่องที่ตลกร้ายสุดเนื่องจากเมื่อปี 2535 ชนชั้นกลางต่อต้านทหาร ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้าน รสช. เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ปี 2548-2549 พวกเขาเรียกร้องทหาร สนับสนุนการรัฐประหาร ต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องเผด็จการ “คนดี”...
ฟังดูเหมือนหมดหวัง วาทกรรม “ชนชั้นกลางในฐานะผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย” กลับตาลปัตรกลายเป็นชนชั้นผู้ต่อต้านประชาธิปไตยตัวยง ในขณะที่เรื่องราวดูเหมือนจบลงแฮปปี้เอ็นดิ้งเพราะว่ารัฐบาลไทยรักไทยถูกโค่นลงแล้ว การต่อสู้ของพี่น้องทั้งหลายได้รับชัยชนะตามที่ต้องการด้วยการรัฐประหารโดยกองทัพ แต่ซี่รี่ย์เรื่องยาวกลับไม่จบลงง่ายดายเช่นนั้น เพราะปรากฏว่ามีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมให้โค่นล้มรัฐบาลที่พวกเขาเลือกมาได้ง่ายๆและต่อสู้จนถึงปัจจุบันนี้...
คนเสื้อแดง
สำหรับประเด็นของบทความชิ้นนี้คือการพยายามหาคำตอบว่าคนเสื้อแดงเป็น Agent of Change หรือไม่ ? ผมพยายามนั่งคิดหาคำตอบมาเป็นเวลาพักใหญ่แล้ว ผมผ่านการวิเคราะห์ถกเถียงจากกลุ่มพรรคพวกเพื่อนฝูงมากมาย อ่านจากบทความของนักคิดท่านอื่นๆหลายต่อหลายชิ้น และติดตามรับฟังรับชมเวทีสัมมนาต่างๆหากมีโอกาส ผมจึงได้ข้อสรุปบางประการจากสิ่งที่เรียนรู้เหล่านั้นไม่มากก็น้อย แน่นอน...ย่อมไม่ใช่ความคิดของผมเพียงคนเดียวล้วนๆ
คนเสื้อแดงคือใคร ? คำถามนี้ดูเหมือนง่ายแต่ไม่ใช่ง่ายเอาเสียเลย คนเสื้อแดงที่เราเห็นมาตั้งแต่ก่อนหน้ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เล็กน้อยจนกระทั่งถึง “แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ นปช. ในปัจจุบัน นั้นผ่านกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองมายาวนานถึง 5 ปีเต็มๆ การเรียนรู้ประสบการณ์การต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้นสามารถถอดบทเรียนได้อย่างมากมาย ในที่นี้ผมจะพยายามคิดวิเคราะห์ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้ “ขบวนการเสื้อแดง” สามารถสร้างความท้าทายให้แก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ กระทั่งผู้กุมอำนาจเบื้องหลังไม่สามารถอดทนอะไรได้มากเหมือนเช่นแต่ก่อน (วิเคราะห์ผ่านปรากฎการณ์ต่างๆ แน่นอนครับเราไม่สามารถยืนยันสิ่งเหล่านี้ได้อย่างตรงไปตรงมา อาจจะต้องรอเวลาให้ “อะไรๆ” หลุดออกมาจนเปลือยเปล่าทั้งหมดเสียก่อน)...
คนเสื้อแดงในฐานะ “ผู้อยู่ภายใต้นโยบายประชานิยม” คนเสื้อแดงกลุ่มนี้มีพื้นฐานทางการเมืองมาจากความชื่นชอบนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย พวกเขาต่างหลงใหลในนโยบายประชานิยมเป็นอันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยในภาคอีสานและภาคเหนือ การมาของประชานิยมไทยรักไทยเกิดขึ้นภายใต้ภาวะความกดดันทางเศรษฐกิจและภาวะความกดดันทางการเมืองก่อนหน้าการเลือกตั้ง ปี 2544 ..
ภาวะความกดดันทางเศรษฐกิจก็คือ ประเทศไทยขณะนั้นกำลังเผชิญกับปัญหาความล่มสลายของระบบทุนนิยมเสรี ข้าวยากหมากแพง ทรัพย์สินไร้ราคา ผู้คนตกงานมากมาย จากเศรษฐีกลายเป็นคนขายแซนวิสข้างถนน จากเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดพันล้านบาทกลายเป็นเจ้าของธุรกิจข้าวมันไก่ขนาดหมื่นบาท แรงงานอพยพกลับถิ่นฐานของตนเพื่อรักษาบาดแผลใจด้วยการรับจ้างในไร่นาแลกกับเงินค่าจ้างเพียงน้อยนิด กระเป๋าเงินของทุกคนว่างเปล่า ในขณะที่การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลประชาธิปัตย์คือการเพิ่มหนี้สาธารณะซ้ำเติมประชาชนด้วยการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศจำนวนมหาศาล การขายทรัพย์สิน NPL ในประเทศในราคาถูกเหลือเชื่อ เปิดทางให้ต่างชาติเข้ามากว้านซื้อกิจการของคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจธนาคาร อันถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบทุนนิยมไทย หรือการบริหารงานของรัฐบาลในด้านอื่นๆที่ไม่น่าพอใจนัก ความไม่สนใจใยดี “สมัชชาคนจน” หน้าทำเนียบก็ดี การเอาอกเอาใจแต่นายทุนต่างชาติก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนภายใต้ภาวะความกดดันดังกล่าวเลย เมื่อไทยรักไทยออกเคมเปญประชานิยมก่อนการเลือกตั้ง มกราคม 2544 จึงทำให้ผู้คนสนใจ และ “เทใจ” ให้แก่ไทยรักไทยอย่างล้นหลามอย่างที่กล่าวมา อาจกล่าวได้ว่าเพราะประชานิยมของไทยรักไทย ประชาชนจึงรู้สึกว่าพวกเขาเริ่มมีความหวังในพรรคการเมืองขึ้นมาบ้างเนื่องจากพรรคการเมืองในอดีตไม่เคยให้สิ่งเหล่านี้แก่พวกเขา ปฎิเสธได้หรือไม่ว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายหมู่บ้านเอื้ออาทร หรือว่ากองทุนหมู่บ้าน ไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับคนยากคนจนคนชายขอบทั้งหลาย ? นโยบายประชานิยม “ให้” แก่ผู้คนซึ่งไม่เคยได้รับการบริการจากรัฐเท่านี้มาก่อนในชีวิตของเขา ชนชั้นกลางอาจมองว่านโยบายประชานิยมคือนโยบายกระจอก (เพราะชนชั้นกลางไม่ต้องดิ้นรนอะไรมากมายเหมือนคนจน ?) ไร้สาระ และเก็บภาษีแพงเกินไป แต่สำหรับคนอีกกลุ่ม (ซึ่งมีจำนวนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด) มันคือนโยบายจาก “ทักษิณ” ผู้เปี่ยมไปด้วยความเห็นอกเห็นใจคนจน นักการเมืองผู้นี้คือผู้ที่มอบชีวิตมอบโอกาสให้แก่คนที่ไม่เคยได้รับอะไรจากการเลือกตั้งเลย (ยกเว้นเงินซื้อเสียงตามประเพณี)
อีกประการหนึ่ง การบริหารของรัฐบาลไทยรักไทยมีภาพลักษณ์ความแตกต่างจากรัฐบาล “ราชการ” ในอดีตอย่างเห็นได้ชัด คือ ความรวดเร็ว, ทำจริงตามที่พูด (แม้ไม่ทุกเรื่องก็ตาม), ผู้นำเข้มแข็งมีลักษณะพึ่งพาได้จริงตามแบบฉบับผู้นำในอุดมคติของไทย และสามารถทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่าง “จับต้องได้” เป็นรูปธรรม แน่นอนว่าสิ่งต่างๆที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวางมากมายหลายเวทีแล้วว่ารัฐบาลไทยรักไทยประสบปัญหาในการบริหารประเทศอยู่หลายประการและมีอัตราการคอรัปชั่นสูง แต่ถ้าหากมองในเชิงทางการเมืองแล้ว ไทยรักไทยได้สร้าง “พลังทางสังคม” ขึ้นมาภายใต้นโยบายประชานิยมของเขาเอง พลังสังคมในฐานะการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงนับว่าคือพลังที่สำคัญที่สุดในการ “ชูธงนำ” การต่อสู้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างด้วยซ้ำไป พลังทางสังคมเหล่านี้คือพลังในทาง “โครงสร้าง” อย่างแท้จริงเมื่อพิจารณาบริบทต่างๆหลังปี 2540 เป็นต้นมา
คนเสื้อแดงในฐานะ “ผู้ถูกกดขี่ทางการเมือง”(รวมความถึงคนชายขอบในทางการเมืองด้วย) ดูเหมือนว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงได้ตอกย้ำถึงประเด็นนี้อยู่ตลอดเวลาผ่านวาทกรรม เช่น ไม่เอา 2 มาตรฐาน, มึงทำอะไรก็ถูกหมด กูทำอะไรก็ผิดหมด, ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน, ต่อต้านรัฐประหาร เป็นต้น มีการสร้างวาทกรรมเพื่อต่อสู้ในระดับปัจเจกด้วยเช่นกัน อาทิ โค่นอำมาตย์เปรมชั่ว เป็นต้น การต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าคนเสื้อแดงไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการเมือง ไม่ว่าพวกเขาจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร หากว่าการตัดสินใจนั้นได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ “มือที่มองไม่เห็น” เสียแล้ว รัฐบาลที่พวกเขาต้องการก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้เลย พวกเขามองว่าสถาบันยุติธรรมอย่างศาลรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง คนเสื้อแดงมองว่าศาลได้รับคำสั่งจาก “มือที่มองไม่เห็น” เพื่อตัดตอนการตัดสินใจทางการเมืองของเขา หรือกองทัพ “ผู้หื่นกระหายอำนาจ” คนเสื้อแดงรู้สึกว่าได้รับการปฎิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างรุนแรงไม่เป็นธรรม ในขณะที่คนเสื้อเหลืองสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบเพื่อขับไล่รัฐบาลที่มาจากพวกเขา..
ภายหลังกรณีพฤษภาเลือด 2553 ที่สี่แยกราชประสงค์และในพื้นรัศมีโดยรอบประมาณ 5 กิโลเมตร แม้ว่ารัฐบาลจะสั่งการให้กองทัพจัดการกับคนเสื้อแดงด้วยกำลังอาวุธอย่างโหดเหี้ยมจนส่งผลให้มีคนตายถึง 91 ศพและมีผู้บาดเจ็บพิการทั้งร่างกายและจิตใจเป็นจำนวนมาก อาฟเตอร์ช๊อคหลังจากนั้นก็คือการ “กวาดล้าง” ด้วยการจับกุมแกนนำระดับต่างๆด้วยข้อหาภัยความมั่นคง หากดูผ่านๆก็น่าจะเข้าใจได้ว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงได้เดินทางมาถึงจุดจบเสียแล้วเนื่องจากรัฐบาลได้รับชัยชนะที่ราชประสงค์อย่างเด็ดขาด แต่หากทว่ากรณีนี้คือจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดของการต่อสู้ทางการเมือง คนเสื้อแดงเริ่มรับรู้แล้วว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังการสังหารโหดกลางกรุงเทพมหานครท่ามกลางแรงสนับสนุนจากชนชั้นกลางผู้ต่อต้านคนเสื้อแดงนั้นเกิดจาก “น้ำมือของใคร” วาทกรรมการต่อสู้ถูกยกระดับขึ้นมาอีกครั้งซึ่งผมมองว่าคือวาทกรรมสำคัญในระดับ radical ของคนเสื้อแดง คือ “ตาสว่างทั้งแผ่นดิน” นั่นเอง...
คนเสื้อแดงเริ่มเรียนรู้แล้วว่าการที่พวกเขาถูกกดขี่ในทางการเมืองไม่ใช่มาจาก รัฐบาล หรือ กองทัพ เท่านั้น ก่อนหน้านั้นพวกเขาอาจระแคะระคายถึงมือที่มองไม่เห็นว่าคือใคร ใครเป็นใครกันแน่ แต่ภายหลังพฤษภามหาโหด 2553 พวกเขาตัดสินใจได้ทันทีว่าใครอยู่เบื้องหลัง พวกเขารู้แล้วว่าคู่ต่อสู้ของเขาไม่ใช่คนเสื้อเหลือง ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่ใช่กองทัพ ไม่ใช่ศาล ไม่ใช่ กกต. ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่คนชั้นกลางผู้จงเกลียดจงชังเขา คู่ต่อสู้ที่แท้จริงของคนเสื้อแดงอยู่ที่ “สถาบันอันเก่าแก่ที่สุด” ของประเทศไทย นอกนั้นเป็นเพียง “ดาวเทียม” หมุนรอบๆสถาบันนี้เท่านั้นเอง...
คนเสื้อแดงในฐานะ “แนวร่วม” คนเสื้อแดงในฐานะแนวร่วมต้องการคำอธิบายซักเล็กน้อย ก่อนอื่นผมขอเกริ่นก่อนว่าการต่อสู้ทางการเมืองทุกชนิดไม่ใช่การต่อสู้ด้วยตนเองแบบเพียวๆเพียงฝ่ายเดียว การแสวงหาหาพันธมิตรหรือแนวร่วมในการต่อสู้ทางการเมืองนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแม้ว่าแนวร่วมของเรานั้นอาจจะเป็น “ศัตรูในทางหลักการ” ของเราก็ตาม เช่น ในเอกสารหลายชิ้นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีมีการวิเคราะห์ถึงแนวร่วมหลายด้าน พคท. มิได้ปฎิเสธชนชั้นนายทุนน้อย ข้าราชการหัวก้าวหน้า ปัญญาชนหัวก้าวหน้า หรือนักศึกษาหัวก้าวหน้า โดยสิ้นเชิง (แม้ว่าในทางทฤษฎีการปฎิวัติจริงๆของ พคท. คือชนชั้นแรงงานกับชนชั้นชาวนาเท่านั้น) โดยกลับกัน การต่อสู้ทางการเมืองย่อมต้องมี “มิตรของศัตรู”, “ศัตรูของศัตรู”, “มิตรของเรา”, “ศัตรูของเรา” วนเวียนไปมาอย่างนี้ตามความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การวิเคราะห์เพื่อหาทางจับมือเพื่อโค่นล้ม “ศัตรูหลัก” จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ขึ้นอยู่กับโอกาสและเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์การต่อสู้ขณะนั้น..
คนเสื้อแดงที่เป็น “คนเสื้อแดงตามสถานการณ์” ย่อมมีอยู่ด้วยแน่นอน การเป็นคนเสื้อแดงโดยสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองไม่จำเป็นจะต้อง “รักทักษิณ” “รักพรรคของทักษิณ” หรือ “รักคนของทักษิณ” เสมอไป คนเสื้อแดงในฐานะแนวร่วมอาจเข้ามาใส่เสื้อสีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์บางอย่างว่า “กูไม่เอามึง” (หมายถึงศัตรูหลักนั่นเอง) หรืออาจไม่จำเป็นต้องใส่เสื้อสีแดงเพื่อแสดงตัวอย่างชัดเจนก็ได้เช่นเดียวกัน ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าการเป็นคนเสื้อแดงจะต้องผ่านพิธีกรรมอะไรบางอย่าง คนเสื้อแดงในฐานะแนวร่วมจะมีอุดมการณ์อะไรก็ได้ ซ้ายสุดโต่ง ซ้ายนิดหน่อย กลางนุ่มนิ่ม กลางแข็งกร้าว ขวาบ้างเล็กน้อย จนถึงขวาสุดขั้ว ฯลฯ ก็สามารถเป็นแนวร่วมได้ทั้งนั้นหากศัตรูหลักของคนเสื้อแดงคือคนเดียวกัน (หรือศัตรูในเชิงโครงสร้างก็ได้) บางครั้งการเคลื่อนไหวของแนวร่วมเสื้อแดงอาจส่งผลสะเทือนในทางการเมืองอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เช่น กรณีการเปิดประเด็นเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 จนกลายเป็น Talk of the Town ในปัจจุบัน หรือว่าการผลักดันประเด็นรับรองสิทธิเสรีภาพของแรงงานภายใต้อุดมการณ์เสื้อแดง (คือการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง) หรือว่ากลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองอยู่แล้ว หรือว่ากลุ่มปัญญาชนเสื้อแดง หรือแนวร่วมในทางชนชั้นก็ได้ ปัจเจกก็ได้ เป็นต้น นอกจากนี้แนวร่วมเสื้อแดงในแนวทาง “ฮาร์ดคอร์” ก็ย่อมมีแนวทางของเขาเองในการเคลื่อนไหวแต่ประกาศตัวเอง(ใต้ดิน)ว่า “กูไม่เอามึง” เช่นเดียวกัน ดังนั้น คนเสื้อแดงในฐานะแนวร่วม จึงมีความหลากหลาย ระบุได้ยากว่าใครเป็นใคร มีแนวทางอะไร ทั้งนี้โดยสรุปก็คือมีเป้าหมายทางการเมืองเหมือนกันนั่นเอง..
เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ คนเสื้อแดงจึงคือกลุ่มทางการเมืองที่มีความหลากหลายเข้ามาต่อสู้ร่วมกัน แต่คนเสื้อแดงที่มาจากโครงสร้างหรือมาจากผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลังปี 2540 มีจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว และถือว่าเป็น “มวลชนหลัก” ของการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง พลังทางสังคมอันมากมายมหาศาลเหล่านี้นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันทำให้ “พรรคการเมืองข้างสีแดง” และ “กลุ่มนายทุนข้างสีแดง” ยังสามารถรักษาสถานะและพลังการต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบันเอาไว้ได้อย่างดียิ่ง แต่จะสามารถสถาปนาอำนาจนำในระยาวได้หรือไม่คงต้องติดตามดูกันต่อไป...
การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง
ผมพูดถึงลักษณะของคนเสื้อแดงไว้บ้างแล้ว มาถึงบทนี้ผมต้องการนั่งคิดต่อเรื่องการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง ผมสงสัยว่าพวกเขาใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรในการทำสงครามการเมืองครั้งนี้บ้าง ผมพบว่ามีอยู่หลายเครื่องมือด้วยกัน
การใช้ “สื่อสิ่งตีพิมพ์คนเสื้อแดงประเภทต่างๆ” ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ รายเดือน เทปลอยด์ พ๊อกเก็ตบุ๊ค สื่อเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ ฯลฯ ถ้าหากว่าคุณเคยไป “ม๊อบ” ของคนเสื้อแดงก็จะรู้ว่ามีอะไรให้ซื้อมากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์มหาประชาชน, เสียงของทักษิณ (Voice of Thaksin), เรด พาวเวอร์ และอื่นๆที่ผมจำไม่ได้อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีสิ่งตีพิมพ์ “แนวร่วม” อื่นๆอีก เช่น ฟ้าเดียวกัน หนังสือทำมือ วิซีดีทำเอง เป็นต้น สิ่งตีพิมพ์เหล่านี้นับว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรวบรวมคนเสื้อแดงให้เข้ามาอยู่ร่วมกันในชุมชนทางการเมืองของคนเสื้อแดง คนเสื้อแดงย่อมต้องอ่านสื่อเหล่านี้เพื่อนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน “การแพร่กระจายทางวัฒนธรรมของสิ่งตีพิมพ์” ถ้าหากพูดในสำนวนของ ประจักษ์ ก้องกีรติ แบบในงานเขียนสุดคลาสสิค เรื่อง “ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ:ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร พ.ศ. 2506-2516” งานวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็น “เครือข่ายวาทกรรมคนเสื้อแดง” สิ่งตีพิมพ์เหล่านี้มีบทบาทในฐานะเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างความคิดทางการเมือง ให้ความเชื่อทางการเมืองแก่คนเสื้อแดงเหมือนๆกัน มันคือการสร้างฐานเชิงอุดมการณ์และวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวผ่านสัญลักษณ์อื่นๆควบคู่กันไปด้วย ถ้าหากท่านใดสนใจศึกษาประเด็นนี้เพิ่มเติม ผมแนะนำว่าให้รีบเก็บสิ่งตีพิมพ์เหล่านี้โดยทันทีเพราะมันยังหาได้ง่าย ถ้านานไปอาจจะหาไม่ได้แล้วเพราะสิ่งตีพิมพ์หลายชิ้นไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐอย่างเป็นทางการ บางชิ้นค่อนข้าง “เถื่อน” ด้วยซ้ำ (แต่มีคุณค่าในเชิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์)
เครื่องมือต่อมา “สื่อวิทยุโทรทัศน์” ประเด็นนี้คงเข้าใจได้ไม่ยากว่าคนเสื้อแดงอาศัยการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆผ่านวิทยุคนเสื้อแดงและโทรทัศน์(ดาวเทียมและอินเตอร์เน็ต)คนเสื้อแดง แต่สื่อประเภทนี้เป็นสื่อที่ฝ่ายรัฐสามารถควบคุมการกระจายข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าสื่อประเภทอื่นๆเนื่องจากมันเปิดตัวชัดเจนกว่า สื่อประเภทนี้มักจะมีบทบาทในการให้ข้อมูลทั่วไปมากกว่าการลงลึกในรายละเอียด
ต่อมา “อินเตอร์เน็ตและการปล่อยข่าวใต้ดิน” เครื่องมืออินเตอร์เน็ตคือเครื่องมือที่ง่าย เร็ว กระจายตัวได้กว้างขวาง พูดเรื่องอะไรก็ได้ การเคลื่อนไหวในเน็ตของคนเสื้อแดงมีทั้งด้าน “บนดิน” และ “ใต้ดิน” คำว่าบนดินของผมหมายถึงการกระจายข้อมูลข่าวสารของคนเสื้อแดงโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นส่วนตัว ข่าวการชุมนุม ข้อมูลแกนนำ ข้อมูลกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ต่างๆ ข้อมูลฝ่ายตรงข้าม ฯลฯ ผ่านรูปแบบ เช่น เวปบอร์ด, โซเซียลเน็ตเวิร์ค, อีเมล์ หรือว่าเวปไซต์เฉพาะกิจเสื้อแดง เป็นต้น
สำหรับการเคลื่อนไหวในแนว “ใต้ดิน” ผมสนใจประเด็นนี้มากที่สุด การใช้แนวทางแบบใต้ดินของคนเสื้อแดงไม่ต่างอะไรกับ “สงครามจรยุทธ์” ในโลกไซเบอร์ นักรบไซเบอร์ทั้งหลายต่างมีประเด็นที่ตนเองต้องการจะเล่นในใจอยู่แล้ว การเข้าจู่โจมในโลกไซเบอร์เริ่มตั้งแต่รูปแบบการเขียนวิเคราะห์การเมืองแบบลงรายละเอียดอย่างสุดๆชนิดที่ว่าสื่ออื่นๆไม่สามารถทำได้ การสร้างเรื่องราววิวาทะอย่างเป็นระบบ (Constructed Narrative) ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อต้องการสร้างสถานการณ์ “ดราม่า” (Controversial) อันนำไปสู่การแฉในรูปแบบอื่นๆตามมา ไปจนถึงบุกจู่โจมพื้นที่เป้าหมายโดยตรงเพื่อสร้างความเสียหายในทางความคิดอุดมการณ์ เข้าตีด้วย “ชุดภาษา” แรงๆซักชุดสองชุดแล้วก็หลบตัวหายไปอย่างไร้ร่องรอยหากเข้าใจวิธีการพรางไอดีแอดเดรสของตนเอง..
นอกจากนี้ การโจมตีด้วย “ข่าวลือ ข่าวลวง” มีเป้าหมายเพื่อการลดความน่าเชื่อฝ่ายตรงกันข้าม ประเด็นการโจมตีด้วยข่าวลือข่าวลวงมีผลสะท้อนมาจากการปิดกั้นความคิดเห็นของฝ่ายรัฐ ในสายตาฝ่ายรัฐ คนเสื้อแดงไม่ต่างอะไรกับ “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” เช่นในอดีต วิธีการการจัดการของฝ่ายรัฐล้วนแต่ใช้วิธีเดิมเหมือนในอดีตเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายปิดกั้นการแสดงความเห็นเอาดื้อๆ การจัดตั้งมวลชนฝ่ายรัฐเข้าสืบเสาะค้นหาและทำลายคนเสื้อแดงด้วยวิธี “พิเศษ” สำหรับกรณีเวปไซต์ รัฐใช้ พรบ.ว่าด้วยความผิดทางคอมพิวเตอร์ เข้าสกัดกั้นเวปไซต์ ความคิดเห็น ข้อมูลข้อเท็จจริง มีข่าวคนเสื้อแดงถูกจับเพราะเหตุจากเวปไซต์เกิดขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่โดนข้อหาภัยความมั่นคง ...
วิธีคิดโบราณตกค้างมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นนี่เองจึงทำให้นักรบเสื้อแดงทั้งหลายงัดกลยุทธ์ทุกอย่างขึ้นมาตอบโต้ในอินเตอร์เน็ตอย่างไม่ลดละ เช่น หนีไปเปิดเวปใหม่เรื่อยๆ เปลี่ยนไอพีแอดเดรส หลอกที่อยู่ไอพี ใช้นามแฝงแบบไม่ซ้ำ เขียนถ้อยความประเภทเฉี่ยวไปมาเพื่อให้ผู้อ่านตีความกันเอาเอง หรือการนู๊กเซอร์เวอร์ฝ่ายรัฐให้ปั่นป่วนเล่น หรือแม้กระทั่งเอาข้อมูลลับทั้งหลายมาแฉกันในเน็ต จริงบ้างเท็จบ้างแต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ การต่อสู้ทางการเมืองในแบบการสื่อสารใต้ดินก็คือใช้ชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์จู่โจมฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตามฟังดูเหมือนฝ่ายเสื้อแดงไม่ค่อยแฟร์เท่าไรแต่หากเราต้องดูการกระทำของฝ่ายรัฐประกอบไปด้วย...
การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อทุกๆเรื่องในสังคมนอกจากเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานแล้ว รัฐยังสามารถสร้าง “แนวร่วมมุมกลับ” ได้เป็นอย่างดีอีกต่างหาก กล่าวคือ เมื่อรัฐไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความเห็นโต้แย้งระหว่างกันไปมาได้อย่างเสรี เราจะไม่มีวันรู้เลยว่าข้อมูลเหล่านั้นจริงแท้แค่ไหนเพราะมันไม่ได้ผ่านการตรวจสอบถกเถียงกันอย่างจริงจังในที่สาธารณะ รัฐบังคับประชาชนว่าเรื่องนี้พูดได้เรื่องนี้พูดไม่ได้ เรื่องนี้ต้อง “เชิดชู” กันอย่างเดียวเท่านั้น จนเกิดคำประชดประชันประเภท “รักได้แต่อย่าสงสัย” หรือ “ไม่รักติดคุกนะ” หรือว่า “เก้าอี้มั้ยสาดดดด” หรือว่า “แซ่บซุ้งจนน้ำหูน้ำตาไหลพรากๆ” ฯลฯ กันเป็นที่สนุกสนานโดยทั่วไป
การที่รัฐยังปิดกั้นไม่ให้ประชาชนพูดทุกๆเรื่องโดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชน “อยากพูดใจจะขาด” (ไม่ว่าในแง่มุมใด) รังแต่จะทำให้สิ่งที่ประชาชนสงสัยนั้นเสื่อมลงทุกที เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเลยว่าสิ่งที่ “พูดๆกันอยู่” นั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะกฎหมาย “บังคับ” ให้พูดถึงด้านดีงามเพียงด้านเดียวเท่านั้น ประชาธิปไตย คือ การสามารถตอบโต้กันได้ภายใต้กฎหมาย แต่ถ้ารัฐยังมีวิธีคิดโบราณเหมือน 30 กว่าปีก่อนอีกก็ไม่รู้จะให้จบลงอย่างไรเช่นกัน เดาได้ว่าคง “พัง” เร็วกว่าปกติเท่านั้นเอง..
ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองในแนวใต้ดินของเสื้อแดงคือผลผลิตจากวิธีคิดของฝ่ายรัฐ ผมไม่แน่ใจว่ารัฐทำเป็นขึงขังไม่รู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงในสังคมจริงๆ หรือว่าแกล้งโง่เพื่อหวังผลทางการเมืองแบบ “ซึมลึก” เข้าตำรา Conspiracy Theory ทฤษฎีสมคบคิด จับประชาชนและคนเสื้อแดงเข้าคุกให้เยอะๆด้วยข้อหาหมิ่นฯ สร้างความเกลียดชังเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้มันพังไปเร็วๆคนอื่นจะได้ขึ้นเถลิงอำนาจเสียที ประมาณนั้น..
ประการต่อมา “การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์” การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงนับว่ามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากภายหลังการคิดค้นประดิษฐ์เครื่องมือชนิดนี้ผ่านกลุ่ม “สมบัติ บุญงามอนงค์” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, NGO, และแนวร่วมคนเสื้อแดงคนสำคัญ หลังจากการล้อมปราบกรณีพฤษภามหาโหด สมบัติจึงได้ออกแบบกิจกรรมเล็กๆแต่ทว่าได้ผลเกินความคาดหมาย การออกแบบรูปแบบกิจกรรมของเขาเน้นไปที่การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ เป้าหมายของการต่อสู้ไม่ใช่การเอาชนะทางการเมืองในระยะสั้น การต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์คือการ “สร้างการรับรู้ในระดับจิตสำนึกทางสังคม” เพื่อมิให้เรื่องราวการต่อสู้ต่างๆของคนเสื้อแดงถูกลืมเลือนไป ทำไมการต่อสู้ในรูปแบบนี้จึงได้ผล ? คำตอบก็คือการจู่โจมด้วยสัญลักษณ์บางอย่างในทางการเมืองไม่ใช่การพูดออกมาอย่างตรงๆด้วยวาจา การกระทำ หรือปฎิบัติการทางการเมืองเชิงกายภาพอื่นๆ เพียงแค่คุณเดินไปตามท้องถนนพร้อมปากกาสีแดงเล็กๆอันหนึ่งคุณก็สามารถละเลงสัญลักษณ์ “วันอาทิตย์สีแดง” ได้อย่างง่ายดายตามที่ต่างๆ คนผ่านไปผ่านมาก็ย่อมต้องเข้าใจว่าถึงแม้คนเสื้อแดงถูกทหารรัฐบาลตีพ่ายกลับไปแต่พวกเขา “ยังคงอยู่” รอบๆตัว ส่วนเคมเปญใส่เสื้อสีแดงในวันอาทิตย์ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่สามารถสร้างอารมณ์ความรู้สึกร่วมในเครือข่ายของคนเสื้อแดงได้ว่าพวกเขายังคง active อยู่เช่นเดียวกัน ยังไม่รวมกิจกรรมอื่น เช่น เต้นแอโรบิก ร้องคาราโอเกะ ปั่นจักรยาน ปล่อยลูกโป่ง ผูกผ้าแดง วิ่งออกกำลังกาย พายเรือ เก็บขยะ ฯลฯ การต่อสู้เหล่านี้ล้วนทำให้ฝ่ายรัฐ “พะอืดพะอม” เพราะไม่รู้จะจัดการอย่างไรเนื่องจากสิ่งที่คนเสื้อแดงทำไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่การเปิดเวทีปราศรัย หรือการปิดถนนเรียกร้อง มันคือการส่งสัญญาณแก่สังคมว่าคนเสื้อแดงยังดำรงการต่อสู้ทางการเมืองเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือการบ่งบอกว่ากระบอกปืนไม่สามารถ “ฆ่า” อุดมคติในทางการเมืองได้
อันที่จริง รูปแบบการเคลื่อนไหวต่างๆของคนเสื้อแดงถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียวนัก พันธมิตรฯก็เคยนำมาใช้มาก่อน เช่น มือตบ (เสื้อแดงตีนตบ), ระดมมวลชนผ่านสื่อเครือ ASTV (เสื้อแดงระดมมวลชนผ่านสื่อเช่นเดียวกันแต่ถูกสกัดตลอดเวลาจนหลายครั้งต้องลงใต้ดิน), การใช้เสื้อสีเหลืองแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มและเสื้อในวาระพิเศษอื่นๆ (เสื้อแดงเช่นเดียวกัน) เป็นต้น แต่สิ่งที่แตกต่างกันคนละโลกก็คือ “เนื้อหา,อุดมการณ์,เป้าหมาย และแนวร่วม” ในการต่อสู้
ข้อจำกัด
ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลกล้วนหนีไม่พ้นสัจธรรมข้อหนึ่ง เราเรียกสัจธรรมแบบรวมๆนั้นว่า “ข้อจำกัด” ในที่นี้ คนเสื้อแดงยังมีข้อจำกัดอยู่บางประการครับ
สำหรับความเห็นส่วนตัวของผม ข้อจำกัดของคนเสื้อแดงมีเรื่องใหญ่อยู่เรื่องหนึ่ง (ในหลายๆเรื่อง) คือ “การยึดโยงการต่อสู้ของตนเองกับชนชั้นนำบางกลุ่ม” สำหรับผมก็คือกลุ่มเครือข่ายทักษิณ
การอ้างประเด็นนี้ของผมถูกโต้แย้งได้มากมาย ซึ่งผมก็รู้ดีว่าการอ้างเช่นนี้มันย่อมต้องมีจุดอ่อนในเชิงเหตุผลอยู่บ้าง ดังนั้น ผมจึงขออ้างเหตุผลว่า “การต่อสู้ของคนเสื้อแดงตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ปฎิเสธไม่ได้ว่ามี “เงา” ของทักษิณลอยอยู่ทั่วไป”
สำหรับแนวร่วมคนเสื้อแดงที่กล่าวว่าตนเองคือพวกหัวก้าวหน้าอาจหงุดหงิดในคำกล่าวอ้างของผม (ซึ่งผมก็มิได้ปฎิเสธเหตุผลของกลุ่มก้าวหน้าในแดงเสียทีเดียว ผมจึงเรียกประเด็นนี้ว่าคือข้อจำกัด) แต่ถ้าหากพิจารณาอย่างจริงจัง คนเสื้อแดง “กระแสหลัก” (ตามสำนวนของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ต่างอ้างทักษิณ หรือญาติพี่น้องของทักษิณ หรือพรรคของทักษิณ ชูการต่อสู้ของตนเองอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน ความจริงทางสังคมข้อนี้คือการที่คุณทักษิณยังคงต้องการมีบทบาทหลักในการชี้นำทางการเมืองคนเสื้อแดง เรื่องนี้ใครๆก็รู้ ฝ่ายตรงข้ามจึงถือประเด็นนี้ตอบโต้คนเสื้อแดงอยู่ตลอดเวลา แม้ว่ากรณีพฤษภามหาโหด 2553 ผ่านพ้นไปแล้วจากนั้นจึงเกิดวาทกรรมตาสว่างทั้งแผ่นดินก็ตามแต่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่ที่เกิดจากโครงสร้าง (อภิปรายไปแล้วข้างต้น) ยังคงยึดติดอยู่กับตัวบุคคล ในขณะที่แนวร่วมคนเสื้อแดงหลายต่อหลายกลุ่มต่างช่วยกันยืนยันว่าคนเสื้อแดง “ก้าวข้ามพ้นทักษิณ” แล้วซึ่งฟังดูขัดๆกัน การอ้างปรากฎการณ์แบบนี้มันใช้อธิบายคนเสื้อแดงไม่ได้ทั้งหมด แน่นอนครับว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงในระยะเวลาที่ผ่านมาต่างทำให้คนเสื้อแดงทั้งหลายสะสมประสบการณ์ทางการเมืองในแบบก้าวหน้าขึ้นมาบ้างแต่พวกเขายังไม่ถึงขั้นที่จะสามารถสร้างสำนึกทางการเมืองด้วยตนเองจนปลดแอกออกจากตัวบุคคลได้อย่างสิ้นเชิงแล้วเดินหน้าต่อสู้ในเชิงหลักการต่อได้หนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม พวกเขายังต้องประสบปัญหาบางประการในเชิง “ปรัชญาการเมือง” ว่าด้วยสำนึกพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ หมายถึง การต่อสู้ทางการเมืองด้วย “สำนึกของตนเอง” อย่างแท้จริงโดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใครโดยเฉพาะชนชั้นนำ (คนละความหมายกับแนวร่วม) สำหรับผม ปัญหานี้ขึ้นอยู่กับเวลาล้วนๆ การคลี่คลายของการต่อสู้ย่อมต้องสร้างอะไรให้แก่ผู้ที่ต่อสู้ทางการเมืองนั้นได้ในระยะยาว คนเสื้อแดงก็หนีความจริงข้อนี้ไปไม่พ้น ในระยะยาวประชาชนต้องถอดเสื้อสีแล้วยืนยันในฐานะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเท่าเทียมกัน..
แน่นอนครับว่าสามารถถกเถียงกันต่อไปได้ ผมอาจมีความคาดหวังว่าคนเสื้อแดงจะสามารถก้าวหน้าไปไกลได้ถึงขนาดนั้น เป็นอุดมคติสำหรับใครหลายคน ทั้งนี้ทั้งนั้นเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงว่าคนเสื้อแดงคือ Agent of change ได้อย่างแท้จริงหรือไม่...
เมื่อเขียนมาถึงย่อหน้านี้ผมคิดว่ายังมีอะไรให้พูดถึงคนเสื้อแดงอีกมากมาย สำหรับคำถามที่ผมตั้งเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่าคนเสื้อแดงเป็น Agent of Change หรือไม่ ? ผมคงมิอาจฟันธงลงไปอย่างตรงไปตรงมาได้เนื่องจากยังคงต้องอาศัยการทำวิจัยอย่างมีระบบระเบียบเพื่อหาข้อสรุปอย่างจริงจังมากกว่าบทความในเชิงความเห็นส่วนตัวมีเพียงการคาดคะเนจากปัจจัยกว้างๆเท่านั้น ที่สำคัญ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงนี้ “ยังไม่จบ” อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ผมทำการสำรวจเป็นการส่วนตัวน่าจะสามารถสร้างเป็นข้อสมมุติฐานต่อไปได้หากจะทำการศึกษาอย่างจริงจังในอนาคต แน่นอนว่าคนเสื้อแดงที่เกิดขึ้นอย่างมากมายตั้งแต่หลัง 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมาย่อมต้องเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองในอนาคตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เรามิอาจโหยหวนคุณค่าทางการเมืองเฉกเช่นในอดีตได้อีกต่อไปแล้ว ถึงแม้วาทกรรม “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” จะถูกนำมา “กล่อมประสาท” คนในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และมันถูกใช้เป็นฐานเชิงวัฒนธรรมเพื่อรองรับความชอบธรรมของ “รัฐบาลอะไรก็ได้ที่เป็นคนดีและไม่ได้มาจากคนโง่” แต่มันสามารถทำงานได้จริงหรือไม่ภายใต้การตั้งคำถามเรื่อง “คนดีส่วนน้อยดีกว่าคนโง่ส่วนใหญ่” อย่างหนักจากคนเสื้อแดงในปัจจุบันนี้ ?
การเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่านจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าหัวข้อการถกเถียงที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล คือประเด็นเรื่องของอำนาจการปกครองบ้านเมืองควรจะเป็นของใครกันแน่ระหว่าง คนพิเศษกลุ่มน้อย หรือ คนธรรมดาทั่วไปส่วนใหญ่ ซึ่งกำลังฮอตฮิตในวงวิชาการบ้านเราในขณะนี้...
ที่มา : ประชาไท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา