เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

"กองทัพไทย" ในสถานการณ์เลือกตั้ง 3 กรกฎาคม

บทวิเคราะห์บทบาททางการเมืองของกองทัพไทย : โดย ราเชล ฮาร์วีย์
ราเชล ฮาร์วีย์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศไทย ได้เขียนสกู๊ปเรื่อง "Thai military′s political past looms over elections" (บทบาททางการเมืองในอดีตของกองทัพไทย ปรากฏอยู่อย่างลางๆ เหนือการเลือกตั้ง) โดยมีเนื้อหาดังนี้

ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม แต่จากประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย ทำให้น่าสงสัยว่า ผลการเลือกตั้งจะถูกกำหนดโดยเจตจำนงของประชาชนเพียงฝ่ายเดียวจริงหรือไม่?

เมื่อ 5 ปีก่อน รถถังของกองทัพได้ออกมาวิ่งบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร เพื่อทำการรัฐประหาร

เมื่อปีก่อน ทหารได้เคลื่อนพลเข้ามาบนท้องถนนในกรุงเทพฯ อีกครั้ง แต่คราวนี้ พวกเขาปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อทำการระงับปราบปรามความรุนแรงที่กำลังก่อตัวสูงขึ้น และกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมาย

ประเทศไทยต้องประสบกับภาวะยุ่งเหยิงโดยเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองระลอกแล้วระลอกเล่า นับตั้งแต่การก่อรัฐประหารที่ไร้เหตุนองเลือดในปี พ.ศ.2549 เพื่อขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชน และปัจจุบันกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัยทางการเมือง คือ ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น กองทัพได้มีบทบาทสำคัญเป็นดังศูนย์กลางของการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน

ด้วยเหตุนี้ ในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังเดินทางมาถึง หลายคนจึงตั้งคำถามว่าเหล่านายพล จะยอมกลับกรมกองและปล่อยให้การเมืองไทยดำเนินไปโดยการจัดการของนักการเมืองพลเรือนดังที่พวกเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้จริงหรือไม่?

ในขณะที่สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุจำนวนมากที่ถูกควบคุมโดยกองทัพ ได้แพร่ภาพรายการพิเศษซึ่งยกย่องสรรเสริญคุณธรรมความสามารถของสถาบันทหาร เคียงคู่ไปกับรายการข่าวและรายการเกมโชว์ต่างๆ

"คริส เบเกอร์" นักวิเคราะห์การเมืองชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ระบุว่า ภาพลักษณ์ของตัวกองทัพไทยเองได้ถูกฝังรากลึกอยู่ในประวัติศาสตร์

"กองทัพเป็นฝ่ายขับเคลื่อนการเมืองไทยอยู่ร่วมครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 ในช่วงเวลาดังกล่าว พวกเขาได้บ่มเพาะปลูกฝังอุดมการณ์ที่ระบุว่ากองทัพมีสิทธิโดยแท้จริงในการเป็นผู้ปกครองประเทศ โดยให้เหตุผลว่า เพราะพวกเขาคือสถาบันที่มีความพิเศษเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งมีสายสัมพันธ์พิเศษกับสถาบันเบื้องสูง" เบเกอร์ วิเคราะห์

แม้ว่ากองทัพไทยจะลดบทบาททางการเมืองลงไป เมื่อสถาบันรัฐสภาได้ขึ้นมามีบทบาทสำคัญทางการเมืองนับแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา แต่เบเกอร์เชื่อว่า ทหารไทยยังคงมีแนวคิดที่ว่า อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็มีสิทธิที่จะเข้ามาแสดงบทบาทแทรกแซงทางการเมือง "เพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อควบคุมนักการเมืองและการทุจริตของนักเลือกตั้งเหล่านั้น"

สัญชาตญาณดังกล่าวปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน

เหตุผลที่ให้ต่อสาธารณชนในการขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่ง ก็คือ เขามีพฤติกรรมทุจริต และมีปัญหาเรื่องการแสดงความจงรักภักดี นอกจากนี้ ทักษิณยังเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร และพยายามสถาปนาฐานอำนาจอันแข็งแกร่งของตนเองขึ้นในกองทัพ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการคุกคามสถานะดั้งเดิมที่ดำรงอยู่อย่างมั่นคงของชนชั้นนำไทย

สองปีภายหลังการรัฐประหาร กองทัพได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง

โดยมีหลักฐานระบุว่า กองทัพเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการประสานงานจัดตั้งรัฐบาลชุดที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

"วาสนา นาน่วม" สื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวและเขียนหนังสือเกี่ยวกับกองทัพไทยมาเป็นเวลาร่วม 2 ทศวรรษ มีความมั่นใจว่า ถ้าหากพรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของอดีตนายกฯทักษิณ เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง กองทัพจะเข้ามามีบทบาทแทรกแซงการเมืองอีกหนหนึ่ง

"กองทัพจะพยายามทุกวิถีทางในการหยุดยั้งไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลชุดหน้า แต่พวกเขาไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้อย่างโจ่งแจ้ง โดยส่วนตัวไม่คิดว่ากองทัพจะตัดสินใจทำรัฐประหาร เพราะหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว" วาสนากล่าวและว่า กองทัพน่าจะออกมาเคลื่อนไหวภายหลังวันที่ 3 กรกฎาคม หากผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปดังที่พวกเขาคาดหวัง

"ถ้าพรรคฝ่ายค้านชนะ แต่ไม่ได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภา กองทัพอาจจะทำการล็อบบี้พรรคขนาดกลาง เพื่อไม่ให้พรรคการเมืองเหล่านั้นเข้าไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย" วาสนา วิเคราะห์

อย่างไรก็ตาม หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าทหารได้เริ่มออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำไป

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา "จตุพร พรหมพันธุ์" สมาชิกคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยและแกนนำนปช. ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ภายหลังเขาถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อหาที่หนักหน่วงมากสำหรับสังคมไทย

การดำเนินคดีกับจตุพรถูกกระตุ้นด้วยการออกมาแสดงความเห็นไม่พอใจต่อคำปราศรัยของนักการเมืองผู้นี้โดย "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้บัญชาการทหารบก

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวปฏิเสธกับผู้สื่อข่าวว่า เขามิได้มีจุดมุ่งหมายในทางการเมือง

"หน้าที่ของกองทัพคือการปกป้องประเทศชาติ ปกป้องสถาบันฯ และดูแลประชาชน" ผบ.ทบ. กล่าวและว่า "ผมต้องการให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า ผมไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ผมดำเนินการเรื่องนี้เพื่อสถาบันฯ"

กองทัพยังยืนยันว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ขณะที่ข่าวลือซึ่งมีเนื้อหาตรงกันข้ามกลับยังแพร่หลายต่อไป กระทั่ง "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รมว.กลาโหม ต้องออกมาปฏิเสธถึงข่าวลือที่ว่ากองทัพกำลังวางแผนที่จะทำรัฐประหาร

ทว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่คอยหลอกหลอนให้ทหารรู้สึกกระวนกระวายใจก็คือ บทบาทนำสำคัญของกองทัพในปฏิบัติการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อปี พ.ศ.2553

ปฏิบัติการครานั้นจบลงด้วยการนองเลือด โดยทั้งคนเสื้อแดงและทหารล้วนแล้วแต่ได้รับบาดเจ็บและล้มตายจากเหตุการณ์ดังกล่าว แกนนำกลุ่มผู้ประท้วงหลายรายได้กลายมาเป็นผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะ กองทัพจะถูก "แก้แค้น" หรือไม่?

"กองทัพไทยยังคงมีบทบาทในทางการเมืองอย่างแน่นอน" "แบร๊ด อดัมส์" ผู้อำนวยการของฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ เอเชีย แสดงความเห็น

"ณ ปัจจุบัน ทหารอาจจะยืนยันว่ารัฐบาลสามารถสั่งการบังคับบัญชาพวกเขาได้ แต่สำหรับในกรณีของประเทศไทย การประสานงานระหว่างรัฐบาลและกองทัพในลักษณะดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ" อดัมส์ กล่าวและว่า "นักสังเกตการณ์จำนวนมากคิดว่ากองทัพมีความเข้มแข็งกว่ารัฐบาลพลเรือน และเมื่อใดก็ตาม ที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่สอดคล้องลงรอยกัน ดูเหมือนทหารจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ"

บรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพของไทยต่างปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ในช่วงเวลานี้ โดยอ้างว่าถือเป็นเรื่องไม่เหมาะสม หากทหารออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่าพวกเขากำลังมีความคิดเช่นไร

แต่การประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องของกองทัพนับจากการรัฐประหาร 2549 ก็อาจแสดงความนัยได้ว่าเดิมพันครั้งนี้จะออกมาในรูปไหน

"พวกเขาได้เข้าไปบริหารจัดการ เพื่อให้กองทัพได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์" คริส เบเกอร์ กล่าวและว่า "พวกเขาได้นำกฎหมายความมั่นคงภายในมาบังคับใช้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดสำคัญ และพวกเขาก็ได้ใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างกระตือรือร้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พวกเขาได้หวนกลับมายังจุดศูนย์กลางอำนาจของการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ผมคิดว่า พวกเขาชอบที่จะแสดงบทบาทเช่นนี้ และไม่คิดว่าพวกเขาจะต้องการกลับสู่กรมกองอีกหน"

นักการเมืองทุกคนที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งกันอยู่ จะต้องตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้ให้จงดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา