เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การปกครองประเทศอังกฤษ :

ระบบรัฐสภา
รัฐธรรมนูญอังกฤษเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่กระจัดกระจายอยู่ในรูปแบบต่างๆ กันในรูปของพระราชบัญญัติต่างๆ บ้าง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปี ค.ศ.1689 พระราชบัญญัติสืบสันตติวงศ์ ปี 1701 เป็นต้น หรือในรูปของข้อตกลงและขนบธรรมเนียม เช่น การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีไม่มีกฎหมายฉบับไหนบ่งบอกให้มีการจัดตั้ง แต่คณะรัฐมนตรีวิวัฒนาการจากภาคปฏิบัติจนกลายเป็นขนบธรรมเนียมที่ยอมรับกกันมาเกือบ 300 ปีแล้ว

รัฐธรรมนูญของอังกฤษ จึงเป็นเรื่องราวของวิวัฒนาการของประวัติศาสตร์การเมือง เกิดขึ้นหรือเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการร่วมมือ และการขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์และขุนนาง และกว่าจะเข้ารูปเข้ารอยดังเช่นปัจจุบันก็ต้องผ่านสงครามปฏิวัติถึง 2 ครั้งใหญ่ในศตวรรษที่ 17 และยังจะต้องมีการปฏิรูปกันขนานใหญ่ในศตวรรษที่ 19 และ 20 ถึงจะประกฎในรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยดังที่ปรากฏ การต่อสู้ดิ้นรนระหว่างขุนนางอังกฤษและมหากษัตริย์ในอดีต เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นของตนเองและตามแนวความคิดเชื่อถือตามลัทธิศาสนา แต่ผลของการต่อสู้เรื่องนี้ชักนำให้เกิดระบบการปกครองที่กลายเป็นพื้นฐานของระบบการปกครองประชาธิปไตยในสมัยต่อมา

การปกครองของอังกฤษมิได้มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ในลักษณะที่ชัดเจน

หลักการปกครองโดยกฎหมาย (Rule of Law)
หลักการปกครองโดยกฎหมายของอังกฤษ เป็นหลักที่มีความหมาย 3 ประการ คือ

1.ต้องไม่ใช้กำลังปกครอง ต้องใช้กฎหมายปกครอง ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย
2.คนอังกฤษถูกปกครองโดยกฎหมายและโดยกฎหมายเท่านั้น การจะลงโทษหรือจับกุมคนอังกฤษโดยปราศจากการไต่สวนตามกระบวนการของกฎหมายและโดยไม่มีความผิดตามที่ระบุไว้ในกฎหมายจะกระทำมิได้
3.อำนาจของพระมหากษัตริย์และรัฐมนตรีนั้นมีต้นกำเนิดมาจากพระราชบัญญัติของรัฐสภา

ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษยังมีหลักการจำกัดอำนาจของกษัตริย์ หรือผู้ปกครองนี้กับหลักสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เป็นหลักประกันให้เกิดระบบเผด็จการ ซึ่งมาจากการปฏิวัติที่รุ่งโรจน์ ปี ค.ศ.1688 โดยได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Bill of Rights) ปี ค.ศ.1689 และพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดข้อจำกัดของอำนาจพระมหากษัตริย์ที่จะกระทำการใดๆ โดยไม่ปรึกษารัฐสภาไม่ได้

หลักอำนาจสูงสุดของรัฐสภา (Supremacy of Parliament)
อำนาจสูงสุดหรืออธิปไตยเป็นของรัฐสภา หมายความว่า รัฐสภามีสิทธิที่จะออกกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมายใดๆ ก็ได้ และไม่มีผู้ใดในอังกฤษที่จะเพิกเฉย หรือละเมิดต่อกฎหมายของรัฐสภา หลักของอำนาจสูงสุดของรัฐสภานี้หมายความว่า ในระบบการปกครองของอังกฤษ อธิปไตยอยู่ที่องค์กรรัฐสภาอันประกอบด้วย สภาขุนนาง สภาผู้แทน และพระมหากษัตริย์ ฉะนั้น แม้ว่าจะมีการแบ่งหน้าที่กันทำ คือ คณะรัฐมนตรีในฐานะเป็นคณะรัฐบาลของพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่บริหาร แต่อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา ซึ่งสามารถควบคุมการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรี ตลอดจนสามารถทำหน้าที่เป็นศาลสูงสุดด้วย การทำหน้าที่เป็นศาลสูงนั้นเป็นบทบาทในส่วนของสภาขุนนาง (House of Lords)

รัฐธรรมนูญอังกฤษนั้นจึงไม่ได้แบ่งแยกอำนาจอธิปไตย แต่เป็นการแบ่งบทบาทหน้าที่ ฉะนั้นจึงมีกระบวนการ รวมอำนาจไว้ที่รัฐสภา (Fusion of Power) แต่ก็มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกันที่เรียกว่า Organic Link โดยสถาบันรัฐสภา
การที่รัฐสภาอังกฤษวิวัฒนาการในรูปนี้ เป็นเรื่องของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มิได้มีความจงใจจะให้เกิดระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด อำนาจของรัฐสภามีเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นเพียงให้ความร่วมมือในการเพิ่มภาษีของพระมหากษัตริย์ ต่อมากลายเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ ต่อมาอีกรัฐสภาก็เริ่มมีอำนาจในด้านออกกฎหมาย ซึ่งเริ่มต้นเป็นการตรากฎหมาย เพื่อแก้ไขขจัดข้อเดือดร้อนของประชาชนเท่านั้น ต่อมาขยายไปเป็นอำนาจนิติบัญญัติทั่วไป

ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาจาการที่พระเจ้ายอร์จที่ 1 (George I) แห่งราชวงศ์ Hannover ซึ่งทรงได้รับการเชิญให้มาปกครองประเทศอังกฤษในช่วง ค.ศ.1715 ซึ่งราชวงศ์นี้มาจากเยอรมันนี พระองค์จึงทรงไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ ได้ทรงมอบหมายงานการประชุมสภาเสนาบดีให้แก่ เซอร์โรเบิร์ต วอลโปล ทำหน้าที่เป็นประธาน นี้คือจุดกำเนิดของตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ซึ่งตอนนั้น เซอร์โรเบิร์ต วอลโปล ได้รับสมญานามภายหลังว่า “Primus Inter Pares” หรือ First among Equals คือ ผู้อันดับ 1 ในจำนวนผู้ที่เท่ากัน นั้นคือตำแหน่ง Prime Minister ซึ่งเป็นชื่อเรียกสมัยต่อมา ในการคัดเลือกรัฐมนตรีก็คัดเลือกจากบุคคลที่จะได้รับเสียงสนับส่วนใหญ่จากรัฐสภา นี้คือจุดเริ่มต้นระบบคณะรัฐมนตรี ซึ่งเปรียบเสมือนคณะกรรมการของรัฐสภาที่สมาชิกเลือกขึ้นมา เพื่อทูลเกล้า ให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง
ผลของการปฏิบัติดังกล่าว ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสมัยต่อๆ มา สมัยนี้ธรรมเนียมปฏิบัติจะกำหนดให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา และเมื่อนายกรัฐมนตรีคนไหนไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐสภา ก็จะต้องเชิญหัวหน้า ฝ่ายค้าน ซึ่งได้รับเสียงส่วนมากเข้าจัดตั้งรัฐบาลแทน และรัฐบาลต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อนโยบาย หากผู้ใดไม่เห็นชอบด้วยกับนโยบาย ต้องลาออก ขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของคณะรัฐมนตรีไม่ได้ ขนบธรรมเนียมนี้ค่อยๆ วิวัฒนาการมาจากภาคปฏิบัติ ซึ่งเมื่อมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งยึดถือปฏิบัติ ท่านอื่นๆ ในภายหลังก็ปฏิบัติตาม

การขยายสิทธิการเลือกตั้งให้แก่ประชาชนทั่วไป
ในศตวรรษที่ 18 รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างออกมายังเรียกว่าประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงเป็นชนชั้นผู้มีทรัพย์สมบัติ ในปลายศตวรรษที่ 18 ได้เริ่มเกิดขบวนการปฏิรูปรัฐสภา และขบวนการของพวก Radlicals ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมตามแผนการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่สงครามนโปเลียนที่ยืดยาว ทำให้ขบวนการปฏิรูปพบกับอุปสรรคและแรงต้านทานจากชนชั้นต่างๆ จนกระทั่ง ค.ศ.1830 เหตุการณ์จึงเปลี่ยนแปลงไป และรัฐสภาได้ยอมรับแนวคิดการปฏิรูปโดยผ่าน พระราชบัญญัติปฏิรูป ค.ศ.1832 (Great Reform Act) ซึ่งขยายสิทธิการเลือกตั้งให้แก่ชนชั้นกลางระดับสูง และได้ปรับเขตการเลือกตั้งให้เมืองอุตสาหกรรมใหม่ได้มีผู้แทน ต่อมาในปี ค.ศ.1867 ได้มีการเปลี่ยนแปลงอีก โดยให้สิทธิการเลือกตั้งแก่กรรมกรในเมืองอีกหนึ่งล้านคน ใน ค.ศ.1884 ได้ให้สิทธิ์แก่กรรมกรในเขตชนบท ค.ศ.1918 ชายทุกคนอายุ 21 ปีขึ้นไป มิสิทธิ์ และสตรีอายุ 30 ปีขึ้นไป ปี ค.ศ.1928 สตรีอายุ 21 ปีขึ้นไปจึงมีสิทธิ์
ต้องใช้เวลาประมาณ 100 ปี ประชาชนผู้มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ทุกคนจะมีสิทธิ์ ประชาธิปไคยอังกฤษใช้เวลานานมากในการย่างก้าวไปสู่การบรรลุนิติภาวะ จากการที่ขยายสิทธิทางการเมืองอย่างช้าๆ เช่นนี้ มีผลอย่างหนึ่ง คือ ทำให้ผู้ที่จะได้สิทธิ์ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ์ทุกๆ ขั้นตอน และเมื่อได้มาแล้วก็รู้จักใช้สิทธิ์อย่างผู้รับผิดชอบ ฉะนั้น ในช่วงหลังของศตวรรษที่ 19 จะไม่เคยได้ยินได้ฟังปัญหาของการซื้อเสียงอีกเลย


ความสัมพันธ์ระหว่างสภาขุนนาง และสภาสามัญ
ภายหลังการปฏิวัติรัฐสภา ปี ค.ศ.1688 สภาขุนนางเป็นสภาที่มีอิทธิพลสูงสุด ซึ่งควบคุมการดำเนินการทางการเมืองของสภาสามัญ ผู้แทนฯ ในสภาสามัญส่วนใหญ่ ก็คือ ญาติพี่น้อง หรือผู้ใกล้ชิดของขุนนางส่วนมาก และตัวนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีส่วนหนึ่งก็มาจากสภาขุนนาง ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้มีคุณสมบัติเลือกตั้ง ขยายสิทธิให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ และชนชั้นกลางจากเมืองอุตสาหกรรมเริ่มเข้ามามีเสียงในสภาสามัญ อิทธิพลของสภาสามัญเริ่มสูงมากขึ้น จนในที่สุดอำนาจในสภาขุนนางในการที่จะยับยั้งกฎหมาย และพระราชบัญญัติการเงินได้เริ่มลดลง ใน ค.ศ.1911 ได้มีพระราชบัญญัติลดอำนาจสิทธิการยับยั้ง ของสภาขุนนางไว้อย่างชัดเจน
นับตั้งแต่นั้นมา ผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงมาจากสภาสามัญศูนย์กลางของการเมืองจึงอยู่ที่สภาสามัญ (House of Commons)

ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
รัฐสภาเป็นศูนย์กลางของการปกครอง อำนาจอธิปไตยอยู่ที่สถาบันนี้ในเวลาปกติที่ไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจออกเป็น 3 ส่วนอย่างเด็ดขาด การแบ่งแยกเป็นบทบาทและหน้าที่มากกว่า เมื่อรูปแบบการปกครองมีลักษณะดังกล่าวประเด็นคำถามที่ตามมา ก็คือ จะป้องกันมิได้เกิดเผด็จการทางรัฐสภาได้หรือไม่
คำตอบก็คงจะเป็นว่า เผด็จการทางรัฐสภาคงไม่เกิดขึ้น แต่รูปแบบนี้ช่วยส่งเสริมให้รัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากในรัฐสภาบริหารงานตามเป้าหมายได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่จะบริหารงานอย่างราบรื่น มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองซึ่งบังเอิญของอังกฤษเป็น ระบบสองพรรค คือมีพรรคใหญ่ๆ 2 พรรค
เมื่อพรรคหนึ่งเป็นรัฐบาล อีกพรรคหนึ่งก็เป็นฝ่ายค้าน
ฉะนั้น จึงมักกล่าวกันว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษนั้น เมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองของตนซึ่งคุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาแล้ว จะมีอำนาจบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าประธานาธิบดีของสหรัฐเสียอีก
แต่อำนาจของฝ่ายบริหารซึ่งดูจะมีมากตามระบบนี้ ก็ยังมิใช่อำนาจเผด็จการ ทั้งนี้ เพราะขนบธรรมเนียมได้ยอมรับให้มีฝ่ายค้านในรัฐสภา โดยหัวหน้าพรรคของฝ่ายค้านจะได้รับการยอมรับว่าเป็น นายกรัฐมนตรีเงา ได้รับเงินเดือนมาเป็นพิเศษสูงกว่าผู้แทนราษฎร
พรรคฝ่ายค้านนี้จะทำหน้าที่ยับยั้งมิให้ฝ่ายรัฐบาลสามารถดำเนินการใดๆ ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม เพราะในที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครผิดใครถูก โดยเฉพาะในสมัยเลือกตั้งซึ่งจะต้องมีขึ้นทุกๆ 5 ปี หรือภายในเวลา 5 ปี ฝ่ายค้านจึงเป็นกลไกของการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายรัฐบาล

รัฐธรรมนูญอังกฤษเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่วิวัฒนาการตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อังกฤษ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้คิดถึงสิทธิหรืออุดมการณ์จะเป็นประชาธิปไตยโดยตรง แต่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออำนาจและประโยชน์ของชนชั้นของตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา