เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รัฐสวัสดิการกับความจริงในประเทศไทย

วิกฤติการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยายังไม่มีแนวโน้มจะสิ้นสุด ความเจ็บปวดและความอดทนของเพื่อนเสื้อแดงล้านๆ คนทั่วประเทศหมายความว่าเราต้องเดินหน้าในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแท้ ไม่ใช่แค่ย้อนกลับไปสู่สภาพสังคมก่อนการทำรัฐประหาร ส่วนสำคัญของประชาธิปไตยแท้คือเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม เพราะถ้าพลเมืองไทยทุกคนไม่มีความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ก็ยากที่จะมีสิทธิเสรีภาพทางประชาธิปไตย และไม่มีทางที่จะมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เราจึงเสนอว่าคนเสื้อแดงต้องเรียกร้องรัฐสวัสดิการ (ถ้วนหน้า-ครบวงจร-จากภาษีก้าวหน้า) คู่ขนานไปกับข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย

1. รัฐสวัสดิการ (Welfare State) คืออะไร?
ในยุคปัจจุบัน ไม่มีประเทศไหนที่ไม่มีสวัสดิการสำหรับคนจนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วระบบสวัสดิการที่พบในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีลักษณะที่ไม่ครอบคลุม แยกส่วน และไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนได้

รัฐสวัสดิการ (Welfare State) เป็นระบบสวัสดิการรูปแบบที่พัฒนาไปถึงระดับสูงสุดสำหรับระบบทุนนิยม และถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) รัฐสวัสดิการมีลักษณะพิเศษคือ

(ก) เป็นระบบครบวงจรที่ดูแลพลเมือง “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต โดยเน้น “ผลในการสร้างความเสมอภาคในสังคมที่วัดได้” เพื่อเป็นเป้าหมาย แทนที่จะพูดลอยๆ ว่า “ทุกคนควรมีโอกาสเท่าเทียมกัน” โดยไม่คำนึงถึงโอกาสที่แตกต่างกันระหว่างคนจนกับคนรวย

(ข) เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า คือพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับ ไม่เจาะจงว่าต้องเป็นคนจนสุดเท่านั้น พลเมืองจึงไม่ต้องเสียศักดิ์ศรีในการพิสูจน์ความจน

(ค) เป็นระบบสวัสดิการเดียวสำหรับพลเมืองทุกคนที่อาศัยรัฐเป็นผู้บริหาร ไม่ใช่ว่ามีหลายระบบซ้ำซ้อนกัน อย่างที่เรามีในประเทศไทย

(ฆ) เป็นระบบสวัสดิการที่อาศัยงบประมาณจากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า คือคนรวยจ่ายมาก คนจนจ่ายน้อย

2. องค์ประกอบของรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการเป็นระบบครบวงจรและถ้วนหน้า ดังนั้นจะมีองค์ประกอบสำคัญๆ ดังนี้

1. สวัสดิการในรูปแบบเงิน คือสวัสดิการที่ประชาชนสามารถเบิกจากรัฐในกรณี ลาป่วย บำเหน็จบำนาญเกษียณ สวัสดิการว่างงาน สวัสดิการลาคลอด สวัสดิการเลี้ยงดูบุตร และสวัสดิการเพิ่มรายได้สำหรับคนที่มีรายได้ต่ำแต่มีงานทำ ฯลฯ

2. ระบบรักษาพยาบาลและยาฟรี ที่ไม่ต้องจ่ายล่วงหน้า ซึ่งรวมถึงสถานดูแลคนชรา และโรงพยาบาลโรคจิตด้วย ระบบการศึกษาฟรีจากอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัยพร้อมทุนศึกษาแบบ “ให้เลย” เพื่อไม่ให้นักศึกษาเป็นภาระกับครอบครัว

3. ความมั่นคงและมาตรฐานในการมีที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยรัฐในราคาถูกแต่มีคุณภาพ ซึ่งจัดให้ประชาชนเช่า

4. มาตรการเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่นระบบการคมนาคมขนส่งมวลชนในราคาถูกที่รัฐอุดหนุนซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเดินทาง การสนับสนุนกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมต่างๆ โดยรัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ และนอกจากนี้อาจมีสื่อมวลชนแบบวิทยุหรือโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐที่ไม่มุ่งหากำไรอีกด้วย

5. ระบบนักสังคมสงเคราะห์ ที่ให้คำแนะนำกับผู้มีปัญหา ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในครอบครัว และช่วยคนจนเข้าถึงบริการต่างๆ

6. ระบบการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าโดยตรงซึ่งเก็บจากรายได้ กำไร มรดก และทรัพย์สิน(รวมถึงที่ดิน) โดยมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ (Wealth Distribution) เพราะเก็บจากคนรวยในอัตราสูง และนอกจากนี้เป็นแหล่งทุนสำหรับงบประมาณของรัฐสวัสดิการด้วย (Welfare Income Generation)

7. รักษามาตรฐานความเป็นอยู่ของทุกคนที่พักอยู่ในประเทศ ดังนั้นสวัสดิการต่างๆ สามารถใช้ได้โดยคนต่างชาติที่มาพักชั่วคราว ศึกษา หรือทำงานในประเทศได้ ในกรณีแรงงานที่มาจากต่างประเทศ สิทธิในสวัสดิการดังกล่าวไม่เป็นภาระเลยเพราะเขาเข้ามาทำงานสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ และจ่ายภาษีอีกด้ว

3. ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะมีรัฐสวัสดิการ
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน ปัจจุบันนี้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาระดับกลาง รัฐบาลไทยเองและองค์กรพัฒนาต่างประเทศหลายองค์กรมองว่าไทยไม่จำเป็นต้องรับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และในปี ๒๕๔๕ บริษัท Merrill Lynch คาดว่ามีเศรษฐีไทยที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้าน$U.S. (หรือ41.5 ล้านบาท) ประมาณ 2หมื่นคน ซึ่งตัวเลขนี้ไม่รวมอสังหาริมทรัพย์

ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลขาดงบประมาณเพื่อแก้ความยากจน คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการทำงานของพลเมืองไทยทุกระดับ ความร่ำรวยไปกระจุกอยู่ที่คนส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ในปี ๒๕๔๖ คนรวยที่สุด 20% ในประเทศไทยครอบครอง 48.4% ของทรัพย์สินทั้งหมดในขณะที่คนจนสุด 20% ครอบครองเพียง 6.4%[2]

ดัชนี “จินนี่” (Gini Coefficient) เป็นดัชนีที่วัดความเท่าเทียมในสังคม (0=เท่าเทียมสมบูรณ์, 1=ไม่เท่าเทียมสมบูรณ์) ถ้าเปรียบเทียบความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจของสังคมไทยกับประเทศอื่นหลายประเทศจะเห็นภาพชัดมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อมูลที่ไม่ทันสมัยที่สุดแต่สังคมไทยปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเลย

สิ่งที่เห็นได้ชัดจากตารางข้อมูลดัชนีจินนี่คือประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ เช่นสวีเดนหรือญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดี ส่วนประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกแต่ไม่มีรัฐสวัสดิการเลย มีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ประเทศนั้นคือสหรัฐอเมริกา สหรัฐเน้นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ที่อาศัยกลไกตลาดแทนรัฐในการบริการสังคม และอังกฤษก็เริ่มขยับจากรูปแบบรัฐสวัสดิการไปเพิ่มอิทธิพลของตลาดภายใต้รัฐบาลของ Thatcher กับ Blair ซึ่งสะท้อนออกมาในระดับความเหลื่อมล้ำที่แย่ลงในอังกฤษอีกด้วย

สิ่งที่น่าสนใจ ซึ่งหลายคนอาจคาดไม่ถึง คือประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มักจะเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตต่ำสำหรับทั้งคนจนและคนรวย หนังสือThe Spirit Level [3] สำรวจข้อมูลจาก 23 ประเทศที่พัฒนา โดยพิจารณาดัชนีต่างๆ เกี่ยวกับสภาพชีวิต แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสภาพความเท่าเทียมในสังคม ข้อสรุปที่สำคัญคือ ประเทศที่มีความเท่าเทียมสูงเป็นประเทศที่ประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะจนหรือรวย มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ในขณะที่ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด เช่นสหรัฐอเมริกา ประชาชนทุกระดับมีคุณภาพชีวิตต่ำสุด

เวลาพิจารณาข้อมูลทั้งหมด จะเห็นว่าสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เป็นสังคมที่มีคุณภาพชีวิตต่ำสุดสำหรับคนทุกระดับ เพราะสังคมที่เหลื่อมล้ำเป็นสังคมที่มีการแย่งชิงกัน มีลำดับชั้นของศักดิ์ศรี มีความเครียด ความรุนแรง และมีความสุขน้อย ขาดประสิทธิภาพในการบริหารสังคมโดยรวม และขาดความสมานฉันท์ในครอบครัวและสังคม สรุปแล้วเรามีทางเลือกสองทางคือ เราจะสร้างสังคมแบบแย่งชิงกัน หรือจะสร้างสังคมมิตรภาพสมานฉันท์?

ประเทศอังกฤษนำรัฐสวัสดิการตามรูปแบบสังคมนิยมประชาธิปไตยมาใช้ในปีค.ศ. 1945 ในขณะนั้นอังกฤษมีผลผลิตมวลรวมต่อหัว G.D.P./capita (หรือมูลค่าทั้งหมดในเศรษฐกิจหาญด้วยจำนวนประชากร) คิดเป็นเงินปัจจุบันประมาณ 3.5 แสนบาทต่อหัวประชากร ในปี ๒๕๔๖ G.D.P./capita ของไทยตกประมาณ 3 แสนบาทต่อหัว[4] ดังนั้นถ้าสมัยนั้นอังกฤษสร้างรัฐสวัสดิการได้ สมัยนี้ไทยก็สร้างได้

จริงๆ แล้วประเทศไทยล่าช้ามากในการสร้างรัฐสวัสดิการ เพราะในปี ๒๔๗๕ ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอหน่ออ่อนของรัฐสวัสดิการในหนังสือ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” [5] ประเด็นหลักๆ ของ ปรีดี คือการประกันรายได้พื้นฐานสำหรับพลเมืองทุกคนโดยรัฐ ตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีพ “เพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” โดยมีมาตรการต่างๆ เช่นการแบ่งที่ดินทำกิน และการเก็บภาษีมรดกและภาษีรายได้ ซึ่งเก็บจากคนรวยในระดับสูง (Super tax) แต่ข้อเสนอนี้ของ ปรีดี ถูกปฏิเสธอย่างรุนแรงจากผู้มีอภิสิทธิ์ที่จะเสียประโยชน์ ตัวหลักคือกษัตริย์รัชกาลที่ ๗ มันไม่ใช่ว่าข้อเสนอนี้นำมาปฏิบัติไม่ได้เพราะสังคมไทย “ยากจนเกินไป”แต่อย่างใด การปฏิเสธความคิดของ ปรีดี โดยฝ่ายขวานำไปสู่ระบบการปกครองเผด็จการทหารที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อคนส่วนน้อยใน 30ปีหลังจากนั้น

การปกครองแบบเผด็จการทหารที่มีการร่วมมือกันหาผลประโยชน์โดยชนชั้นปกครองเก่า โดยทหาร และโดยนายทุน ถูกท้าทายอย่างแรงในปี ๒๕๑๖ เมื่อมีการลุกฮือของประชาชนเพื่อล้มรัฐบาลถนอม ประภาส ณรงค์ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม การล้มรัฐบาลครั้งนี้เป็นจุดสุดยอดของกระแสที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมซึ่งก่อตัวขึ้นก่อนหน้านั้น[6] ในยุคนั้น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เสนอให้สังคมไทยสร้างรัฐสวัสดิการอีกครั้งหนึ่งในบทความ“คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”[7] ข้อเสนอของ ป๋วย สะท้อนรูปแบบแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democrat) ด้วยการพูดถึงระบบสวัสดิการครบวงจรที่หางบประมาณรัฐมาจากการเก็บภาษีก้าวหน้า นอกจากนี้มีการพูดถึงคุณภาพชีวิตในด้านปัญญาและวัฒนธรรม และเสรีภาพในการรวมตัวกันทางการเมืองอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐสวัสดิการนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจปากท้องอย่างเดียว

ความเข้มข้นของกระแสเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมไทยยุคนั้น เห็นได้จากการที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของ เสนีย์ ปราโมช ในปี ๒๕๑๘ อ้างอย่างลอยๆ ว่าจะใช้นโยบาย “สังคมนิยมประชาธิปไตย”[8] แต่กระแสรัฐสวัสดิการครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงกระแสความคิดของนักศึกษาฝ่ายซ้าย ก็ถูกปฏิเสธและปราบปรามด้วยกองกำลังของรัฐในเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙[9] นอกจากนักศึกษาและปัญญาชนอย่าง ป๋วย ที่ต้องเดินทางออกไปจากสังคมไทยแล้ว ผลของการปราบปรามครั้งนั้นทำให้มีการยับยั้งกระแสเรียกร้องรัฐสวัสดิการเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ไทย ชนชั้นนำไทยรวมถึงนายภูมิพลในยุคนั้น มีจุดยืนชัดเจนที่คัดค้านการพัฒนารัฐสวัสดิ[10] ป๋วย อธิบายเรื่องเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ว่า

“ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม

ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยตนจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป

ได้แก่พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม

และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย

กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆที่เป็นปรปักษ์แก่ตนด้วยวิธีต่างๆ”...[11]
ข้อสรุปสำคัญจากความพยายามที่จะเสนอรัฐสวัสดิการในไทยในอดีตคือ อุปสรรคหลักไม่ใช่ “ความเป็นไปได้หรือไม่ได้” ในเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของการเมือง และการแข่งแนวและต่อรองกับแนวคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่จะเสียประโยชน์ต่างหาก การที่มีกระแสสนับสนุนรัฐสวัสดิการเพิ่มขึ้นอีกครั้งในยุคนี้ก็มาจากประเด็นทางการเมืองเช่นกันคือ

พลเมืองส่วนใหญ่ที่ยากจนต้องถูกบังคับให้รับภาระจากวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ โดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ทั้งๆ ที่ผู้สร้างวิกฤตคือคนรวย ซึ่งสถานการณ์แบบนี้นำไปสู่การสร้างนโยบายประชานิยมของ ไทยรักไทย ที่มีผลในการให้ประโยชน์กับคนจนจริงๆ
ทหาร คมช. พันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ และ เอ็นจีโอ ร่วมกันคัดค้านและล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นรัฐบาลที่พยายามพัฒนาสวัสดิการสำหรับพลเมือง ถึงแม้ว่าไม่มีการเสนอรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ

สรุปแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย เป็นปัจจัยทางการเมืองและสังคม ไม่ใช่ปัญหาเทคนิค

[1] “กลุ่มเสื้อแดงเพื่อสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ” เป็นกลุ่มคนไทยในยุโรปที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยแท้ มีสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียม

[2] Earth Trends 2003. ค้น website มิ.ย.๔๙

[3] Richard Wilkinson & Kate Pickett (2009) The Spirit Level: Why more equal societies almost always do better. Allen Lane, London.

[4] Economic History Services http://www.eh.net/hmit/ukgdp/ และ Earth Trends 2003. ค้น มิ.ย.๔๙

[5] ปรีดี พนมยงค์ (๒๔๗๕) “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” พิมพ์ใน “ศิษย์อาจารย์ ฉบับที่ ๓ (๒๕๔๑) สถาบันวิทยาศาสตร์สังคม

[6] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (๒๕๔๑) “จาก 14ถึง6ตุลา” มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ใจ อึ๊งภากรณ์และคณะ (๒๕๔๓) “การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์” ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน

[7] ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” สังคมศาสตร์ปริทัศน์ 11, ๑๐ ต.ค. ๒๕๑๖

[8] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (๒๕๔๑) อ้างแล้ว หน้า 235

[9] ใจ อึ๊งภากรณ์ และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (๒๕๔๔) “ อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง” คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

[10] Hewison, K. (1997) The Monarchy and democratization. In Kevin Hewison (Ed.) Political Change in Thailand. Democracy and Participation. Routledge. หน้า 67

[11] ป๋วย อึ๊งภากรณ์(๒๕๑๙) “ความรุนแรงและรัฐประหาร ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙” เขียนในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่อังกฤษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา