เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

รัฐบาลพรรคเดี่ยว กับ ประชาธิปไตย

ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่งพาดหัวข่าว พรรคไทยรักไทยยึดประเทศ นัยเพื่อจะรายงานข่าวว่า พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งอย่างท้วมท้น ส่งผลให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยพรรคการเมืองอื่นมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล การเมืองไทยที่พัฒนาก้าวกระโดดเช่นนี้ ดูน่าจะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับการเมืองไทย ตามแนวคิดทฤษฎีการเมืองที่เห็นว่า รัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองพรรคเดียว ย่อมสามารถบริหารจัดการกิจการต่าง ๆ ของบ้านเมืองไปได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ต้องคอยต่อรองผลประโยชน์กัน ในระหว่างพรรคการเมืองหลายพรรค เหมือนรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองหลายพรรค

ประเด็นที่น่าสนใจ คือว่า รัฐบาลพรรคเดียว จะทำให้การเมืองเข้มแข็ง รวมทั้งเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม ดังที่ควรเป็นหรือไม่ ข้อที่น่าพิจารณาเบื้องต้น คือว่า ภายใต้บริบทการเมืองแบบไทย ๆ พรรคการเมืองมักเป็นที่รวมตัวของบุคคลและกลุ่มคนที่มีแนวคิดมุ่งที่ผลประโยชน์ส่วนตัว และพวกพ้องเป็นหลัก เป็นไปตามแนวคิดการเมืองเพื่อผลประโยชน์ สมาชิกพรรคการเมืองที่สามารถรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่ม ย่อยๆในพรรค และมีอำนาจเงินทองและอิทธิพลมากกว่า ย่อมจะต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่ง ผลประโยชน์ และอำนาจอิทธิพล ต่างไปจากสมาชิกที่เป็นปัจเจกหรือที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มที่เล็กกว่า

นักการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองไทย จึงเป็นนักการเมืองที่เติบโตและถูกหล่อหลอม ภายใต้สภาพแวดล้อมการรวมกลุ่มแข่งขัน การต่อรอง ด้วยอำนาจเงินตรา อิทธิพลบารมี เพื่อประโยชน์ของกลุ่มและพวกพ้อง จนกลายเป็นภาพที่เห็นชินตาในธรรมชาติของการเมืองไทย ในแง่นี้ จะเห็นว่ารัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองเดียวแต่หลายกลุ่ม กับ รัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรคนั้น ไม่ต่างกัน เพราะส่วนใหญ่ต่างก็ประกอบด้วยกลุ่มคนที่มุ่งหวังหาประโยชน์เข้าตัวและพรรคพวก รัฐบาลจากพรรคเดียว หรือจากหลายพรรค จึงไม่ใช่เป็นประเด็นมากนัก หากแต่ต้องพิจารณาที่ตัวนักการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือกลุ่มก้อนเล็กก้อนน้อยที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองที่มาตั้งรัฐบาลว่าจะทำงานเพื่อใคร เพื่อประชาชน หรือเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ของตนและพวกพ้อง หรือจะพูดตามภาษาชาวบ้าน คือว่า ถ้าอยากรู้ถึงพฤติกรรมเจ้าบ่าว ต้องดูที่ผู้บังเกิดเกล้าของผู้เป็นเจ้าบ่าวนั้นแล ผลการทำงานของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร จึงต้องดูที่ตัวคนที่มาก่อร่างประกอบกันเป็นรัฐบาล หรืออีกนัยหนึ่ง ในการดูการเมืองหลังการเลือกตั้งนี้ ว่าเป็นการเมืองเพื่อใคร ต้องดูบุคคลที่มาประกอบกันเป็นพรรคไทยรักไทย

การสร้างภาพลักษณ์ โดยเฉพาะในช่วงการเป็นรัฐบาลที่ผ่านมาของพรรคไทยรักไทย สามารถยึดกุมคุมทิศทางนาวาประเทศ ด้วยการใช้กลวิธีต่าง ๆ อาทิ การสลับปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีเป็นว่าเล่น ทำให้สามารถคุมเกมการเมืองที่ว่าด้วยผลประโยชน์ไว้อยู่ในมือ ความสามารถในการรักษาอำนาจและต่อรองผลประโยชน์ไว้ในมือของผู้นำพรรคอย่างเหนียวแน่นเช่นนี้ ส่งผลให้สามารถใช้อำนาจอิทธิพลในตำแหน่งหน้าที่ สร้างฐานปูทางสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งในการเลือกตั้ง ๖ กุมภา ที่ผ่านมา
แล้วการเมืองเช่นว่านี้ การเมืองเพื่อประโยชน์ในระบอบประชาธิปไตย ที่พึงต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมมิใช่เพื่อกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การเมืองที่ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นผู้กำหนด เป็นผู้ชี้ชะตากรรมของตนเอง
เมื่อกว่าสองพันปีที่ผ่านมา นักคิดทั้งหลายได้ออกแบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ว่าพึงให้ประชาชนเลือกผู้แทนขึ้นมาบริหารดูแลประเทศแทน เพราะประชากรมีจำนวนมาก ไม่สามารถมาดูแลปกครองกันเองได้ ต้องหาผู้ที่มีความสามารถพร้อมอุทิศตนเพื่อมาช่วยบริหารจัดการกิจการสาธารณประโยชน์ให้แทน และการเลือกตั้งโดยประชาชนเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะได้มาซึ่งผู้บริหารดังกล่าว กว่าสองพันปีของการพัฒนาระบบประชาธิปไตย การณ์กลับเป็นว่า กลุ่มประชาชนผู้มีสติปัญญาเพราะเข้าถึงข้อมูลมากกว่า มีโอกาสมากกว่า มีอำนาจอิทธิพลบารมี และทรัพย์สินเงินทองมากกว่า ได้รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ เข้าแข่งขันต่อรองเข้ายึดครองอำนาจการบริหารจัดการประเทศ ภายใต้ วาทกรรมว่าด้วย พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง

การเมือง จึงกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เป็นวัฏจักรอุบาทว์ที่กลายเป็นสิ่งคุ้นเคยจนเป็นธรรมชาติของการเมือง

การยึดอำนาจรัฐ การเข้าครอบครองอธิปไตย โดยกลุ่มผลประโยชน์ ด้วยความสมยอมพร้อมใจของประชาชนเจ้าของอธิปไตยจึงเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นแล้วแม้นในประเทศประชาธิปไตยต้นแบบอย่างสหรัฐอเมริกา ประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่พึงสามารถใช้อำนาจอธิปไตยนั้น จึงหามีความหมายไม่ ในระบอบการปกครองแบบตัวแทนที่เป็นอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ภายหลังการแลกเปลี่ยนบทเรียนประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ในเวที Control Democracy ผู้เข้าร่วมประชุมต่างแสดงความเห็นพ้องต้องกันว่า การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ต้องเป็นการเมืองที่ก้าวข้ามการเมืองแบบตัวแทนไปสู่การเมืองแบบมีส่วนร่วม สู่การเมืองที่ประชาชนปกครองตนเอง ก้าวข้ามวาทกรรมที่ดูถูกประชาชน และมาสร้างวาทกรรมใหม่ให้การเมืองคืนอำนาจสู่ประชาชน ทำให้เห็นว่าประชาชนนั้นมิใช่ผู้ขอ มิใช่ผู้รอคอย จากผู้ให้ แต่เป็นผู้กำหนด เป็นผู้ทำให้"เกิด" เป็นผู้สร้าง มิใช่ทาสผู้รอรับความเมตตา เป็นผู้ชี้นำ ที่ผู้นำผู้ปกครองต้องเดินตาม เส้นทางเดินประชาธิปไตย จึงยังไม่ได้บรรลุไปถึงซึ่งเป้าหมายที่การเมืองเป็นของประชาชน ในอีกนัยหนึ่ง การเมืองที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม การเมืองที่ประชาชนเป็นผู้กำหนด มิใช่กลุ่มบุคคลใดกลุ่มหนึ่ง เพราะฉันทานุมัติใดๆ มิอาจมีความชอบธรรมมากำหนดชะตากรรมของประชาชนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา