เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ยอมรับผลการเลือกตั้ง : ทางออกง่ายๆอย่าทำให้ยุ่งยาก

คอลลัมน์ : เส้นแบ่งความคิด หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
โดย อาจารย์สุชา จุลเพชร
ที่ปรึกษาสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

การเมืองไทยวันนี้มีสถานการณ์เลือกตั้งเป็นศูนย์กลาง การเคลื่อนไหวใดๆล้วนเกิดขึ้นจากอิทธิพลของสถานการณ์เลือกตั้ง ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและกลุ่มอำนาจต่างๆเป็นไปเพื่อช่วงชิงและรักษาไว้ซึ่งอำนาจการเมืองของตนเองผ่านระบบเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งสิ้น

สถานการณ์เลือกตั้งครั้งนี้ก็เหมือนกับการเลือกตั้งปี 2550 เพราะยังเป็นการเลือกตั้งภายใต้ความเชื่อเรื่องขั้วอำนาจ เชื่อในเรื่องอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญและเหนือผลการเลือกตั้ง เชื่อว่าผลการเลือกตั้งต้องออกมาเป็นที่พึงพอใจของขั้วอำนาจซึ่งครองเมืองในปัจจุบันนี้เท่านั้นจึงเป็นที่ยอมรับ หากผลการเลือกตั้งเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามจะเกิดปัญหาใหญ่ติดตามมาอย่างแน่นอน

ความวิตกกังวลนี้มองไปถึงสถานการณ์หลังเลือกตั้งไม่มีหลักประกันความสงบสุข หลายฝ่ายจึงหาทางออกหลายทิศทาง พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคคือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์แสดงท่าทีประหนึ่งว่ายึดประเพณีของระบบเลือกตั้ง พรรคใดได้ ส.ส.มากกว่าเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ท่าทีนี้ดูเหมือนเป็นที่ยอมรับโดยไม่ต้องทำสัตยาบัน

ในอีกด้านหนึ่งพรรคขนาดกลางขนาดเล็กก็แสดงความห่วงใยสถานการณ์หลังเลือกตั้งเช่นเดียวกัน พรรคภูมิใจไทยกับพรรคชาติไทยพัฒนาผนึกกำลังร่วมพันธกิจทางการเมือง ก็เพื่อเป็นทางเลือกที่ 3 ในกรณีผลการเลือกตั้งพลิกผัน พรรคเหล่านี้รวมตัวเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลเสียเอง หรือมิฉะนั้นการเข้าร่วมรัฐบาลเป็นกลุ่มพรรคจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่า หรืออาจจะหวังผลระยะสั้นจับมือกันหนีตายในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งนี้ไปก่อนก็ได้อีกเหมือนกัน นับว่าเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของพรรคขนาดกลางขนาดเล็ก

ความเป็นปริวิตกยังลุกลามไปถึงอดีตนักการเมืองบางกลุ่มซึ่งอำลาเวทีการเมืองไปแล้ว ต้องกลับมาสู่สนามเลือกตั้งใหม่โดยจัดตั้งพรรคการเมือเป็นพรรคทางเลือกใหม่ของประชาชน โดยเฉพาะพรรคประชาสันติของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ผู้ซึ่งมีภาพลักษณ์ดีและมีต้นทุนทางสังคมสูง คาดกันว่าเป็นตัวเลือกในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่ง

ถึงวินาทีนี้มีว่าที่นายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 4 คนแล้ว คนที่หนึ่งมาจากพรรคประชาธิปัตย์ คนที่สองมาจากพรรคเพื่อไทย คนที่สามมาจากพรรคร่วมขนากกลางขนาดเล็ก และคนที่สี่มาจากพรรคประชาสันติ และจนกว่าถึงวันยุบสภาอาจจะมีว่าที่นายกรัฐมนตรีมากกว่านี้

พวกสุดท้ายคิดตัดไฟตันลมโดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งทำได้ 2 วิธีคือ 1.รัฐประหาร 2.ใช้มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะวิธีที่ 2.พูดถึงกันมากว่าสามารถทำได้ด้วยการให้ ก.ก.ต.ลาออกหลังประกาศยุบสภาเป็นเหตุให้เลือกตั้งไม่ได้ จำเป็นต้องใช้มาตรา 7 ก็คือขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานนั่นเอง

ทางออกที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีทั้งเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาจากความเป็นจริงขององค์ประกอบทางการเมืองปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากแล้ว เช่นพรรคการเมืองและประสบการณ์ตรงของประชาชน

การพัฒนาของพรรคการเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้เดินผ่านขั้นรวมตัวชั่วคราวของนักเลือกตั้งด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะหน้าแย่งกันเป็นรัฐบาลไปแล้ว พรรคการเมืองรวมดาวกระจายรูปแบบพรรคเฉพาะกิจอย่างพรรคสามัคคีธรรมและพรรคความหวังใหม่หมดยุคแล้ว นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมานักเลือกตั้งเหล่านั้นไปรวมตัวในนามพรรคไทยรักไทย

ผลการเลือกตั้งปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงเกินครึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง และใช้นโยบายพรรคเป็นนโยบายรัฐบาล จนเป็นนิยมของประชาชนอย่างกว้างขวาง สภาพการณ์เช่นนั้นทำให้พรรคขนาดกลางขนาดเล็กประสบความยากลำบาก เพราะโอกาสเป็นรัฐบาลผสมถูกปิดตายลงอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการสลายพรรคเล็กเข้าร่วมชายคาพรรคใหญ่จึงเกิดขึ้น ผลขั้นสุดท้ายของการสลายพรรคขนาดกลางขนาดเล็กไปสังกัดพรรคไทยรักไทยคือจำนวน ส.ส. 377 เสียงจากการเลือกตั้ง 2548

ความจริงแล้วตลอดอายุขัยของพรรคไทยรักไทยก็เต็มไปด้วยพรรคเล็กในพรรคใหญ่ แต่เนื่องจากเกิดเหตุรัฐประหาร 2549 กำลังอยู่ในช่วงนโยบายประชานิยมกำลังออกฤทธิ์ ประชาชนเริ่มเสพติดนโยบายจึงเข้าร่วมขบวนการคร่ำครวญโหยหาพรรคไทยรักไทยและไม่ว่าจะเปลี่ยนไปใช้ชื่อพรรคใดก็ตามความศรัทธายังไม่เสื่อมคลาย

ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งบริหารพรรคแบบรวบอำนาจก็กลายเป็นสถาบันพรรคการเมืองที่มีความมั่นคงเทียบชั้นพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ได้ในวันนี้ก็เพราะเผด็จการทหารช่วยสร้างเงื่อนไขให้แท้ๆ และนับวันจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วยการสนับสนุนจากประชาชนตามแรงบีบของของขั้วอำนาจตรงกันข้าม ท้ายที่สุดประชาชนส่วนใหญ่จะยึดพรรคใหญ่เป็นเครื่องมือหลักทางการเมือง เหลือประชาชนส่วนน้อยไว้ให้พรรคขนาดกลางขนาดเล็กเก็บตก พรรคประชาสันติของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้

กลุ่มสุดท้ายคิดนอกกระแสเลือกตั้ง คนเหล่านี้เชื่อว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพราะมองเห็นความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มพันธมิตรฯ(พธม) และพฤติการณ์ของนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการ ก.ก.ต.เปิดเผยเป็นระยะๆ แต่มองไม่เห็นว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเพียงปลายธง ซึ่งต้องมีคนอีกหลายกลุ่มกุมด้ามธงโบกสะบัด คำประกาศทางการเมืองใดๆของนายอภิสิทธิ์หมายถึงเป็นการตัดสินใจร่วมกันของคนกุมด้ามธงแล้ว มิใย ผบ.ทบ.จึงต้องออกมายืนยันหลายครั้งหลายคราวว่ามีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน ดังนั้นความคิดทวนกระแสจึงเป็นเรื่องเหลวไหล

กล่าวโดยสรุปแล้วระบบเลือกตั้งวันนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างสองพรรคใหญ่ใช้ความเหนือกว่าของนโยบายแข่งขันกัน ประชาชนเลือกพรรคใหญ่ไปเป็นรัฐบาลใช้นโยบายที่พวกตนเห็นชอบ โอกาสหัวหน้าพรรคขนาดกลางขนาดเล็กเป็นนายกรัฐมนตรีจึงถูกปิดตาย ทางออกที่ง่ายที่สุดคือยอมรับผลการเลือกตั้งใครได้เสียงมากกว่าก็เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติเสียบ้าง อย่าคิดหาทางออกอื่นให้ยุ่งยากอีกเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา