เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แถลงการณ์: คัดค้านการคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน

ด้วย “กฎหมายหมิ่นฯ” (กรณีล่าสุด สมยศ พฤกษาเกษมสุข )

นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา มีผู้ได้รับผลกระทบจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นจำนวนมาก เฉพาะในช่วงตั้งแต่ปี 2548 - 2552 สถิติของคดีเหล่านี้มีมากถึง 547 คดี โดยศาลมีคำตัดสินว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วจำนวน 247 คดี และล่าสุดในเดือนเมษายน 2554 เพียงเดือนเดียว ได้มีการใช้กฎหมายนี้กับประชาชนในหลายกรณี โดยเท่าที่ปรากฏเป็นรายงานข่าวคือ

การคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็นของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากกรณีการอภิปรายสาธารณะเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย ซึ่งได้มีการแถลงข่าวเปิดเผยเรื่องนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา

27 เมษายน ตำรวจกองปราบฯ ได้เรียกธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน เข้าให้ปากคำในฐานะพยาน กรณีมีผู้ฟ้องว่าข้อความในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน (ปัจจุบันปิดไปแล้ว) อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยระบุนามแฝงของผู้โพสต์ เจ้าของกระทู้ และผู้แสดงความเห็นในกระทู้ที่มีข้อความเข้าข่ายดังกล่าว จำนวน 54 รายชื่อ จาก 46 ยูอาร์แอล (URL)

วันเดียวกัน ได้มีรายงานข่าวการพิจารณาคดีลับที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ กับนายทหารอากาศยศนาวาอากาศตรีซึ่งถูกกองทัพอากาศแจ้งความดำเนินคดี จากกรณีที่มีการร้องเรียนว่าทหารอากาศนายนี้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก (Facebook) ของตนที่อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ล่าสุด วันที่ 30 เมษายน ได้มีการจับกุมตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และบรรณาธิการบริหารนิตยสาร วอยซ์ ออฟ ทักษิณ ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยกรมสืบสวนคดีพิเศษ (DSI) บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ โดยไม่ให้ประกันตัวใดๆ
นอกจากความกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของคดี ตามมาตรานี้ ที่มีอัตราโทษสูงแต่ขาดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ให้อำนาจการฟ้องร้องอย่างกว้างขวาง ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มอำนาจบางกลุ่ม และสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวซึ่งกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดง ความเห็นตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว กลุ่ม "มาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้" ยังมีความกังวลต่อวิธีการบังคับใช้กฎหมายทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการไต่สวนคดีอีกด้วย

อาทิ การพิจารณาคดีลับ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นอย่างเข้มงวดตามกฎหมายสูงสุดที่มีอยู่ โดยก่อนหน้ากรณีนาย ทหารอากาศ ก็ได้มีการใช้ในคดีที่ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ "ดา ตอร์ปิโด" เป็นจำเลย จนต่อมาศาลอุทธรณ์ก็ได้ยกคำสั่งลงโทษและให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาว่าขัดต่อข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนกรณีของดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รวมถึงผู้โพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันนั้น ซึ่งเข้าข่ายคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น และล่าสุด กรณีการจับกุมสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกคัดค้านการให้ประกันตัว โดยอ้างว่าเกรงจำเลยจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทั้งที่หมายจับในคดีนี้ออกมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่เคยแสดงท่าทีว่าจะหลบหนีแต่อย่างใด

กลุ่ม "มาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้" จึงมีความเห็นและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. หยุดใช้มาตรา 112 คุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการดำเนินชีวิตตามปรกติ สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวเพื่อควบคุมประชาชน ซึ่งขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมาย พิเศษ เช่น กฎหมายความมั่นคง เพื่อปราบปรามความเห็นต่าง นอกจากจะหมิ่นเหม่ที่จะขัดต่อข้อบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ที่ห้ามการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยให้ทำได้ "เท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้" แล้ว ยังขัดกับหลักกฎหมายสากล เช่น ข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ที่คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นด้วย

ทั้งนี้ รัฐพึงมีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่จะส่งเสริมสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น มิใช่ใช้ช่องว่างของกฎหมายในการดำเนินคดีมาสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวแก่ประชาชน อย่างที่เป็นอยู่

2. ในภาวะที่ยังคงกฎหมายนี้โดยไม่มีการปรับปรุงแก้ไข ควรเปิดเผยกระบวนการสืบสวนสอบสวนและพิจารณาคดีที่เกี่ยวเนื่องให้สาธารณชน รับทราบ และควรมีการออกหมายเรียกก่อนตามกระบวนการดำเนินคดีปรกติ แทนการออกหมายจับหรือเข้าจับกุมทันที

3. การพิจารณาคดีลับพึงเป็นข้อยกเว้นอย่างเข้มงวด ไม่ควรอ้างเหตุจำเป็นต้องใช้อย่างพร่ำเพรื่อ อย่างที่มักอ้างว่า “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี” ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน
4. การปฏิบัติตามกระบวนการอันควรตามกฎหมาย (due process) เป็นพื้นฐานนำไปสู่ความรู้สึกที่เป็นธรรมทั้งของผู้ถูกกล่าวหาและสังคม ทั่วไป แต่ที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นฯ มักถูกหน่วยงานรัฐคัดค้านการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว โดยมักอ้างว่าเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง ผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนีและ/หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ดังนั้น ทางกลุ่มฯ จึงขอเรียกร้องให้ศาลพิจารณากรณีเหล่านี้อย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงหลักการขั้นต้นเป็นสำคัญ

1 พฤษภาคม 2554

กลุ่ม "มาตรา 112: รณรงค์เพื่อความตื่นรู้"(Article 112 Awareness Campaign)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา