เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วาทกรรมดูแคลนสติปัญญาประชาชน

ภายใต้บรรยากาศการหาเสียง

ศุภวิทย์ ถาวรบุตร
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภายใต้บรรยากาศการเลือกตั้งมีการแข่งขันหาเสียงดังที่ปรากฏเป็นข่าวกันอยู่ทุกวัน แต่สิ่งที่เราควรจะช่วยกันหยุดยั้งและต่อต้านคือวาทกรรมดูแคลนสติปัญญาประชาชนที่แฝงมากับการหาเสียง

ฝ่ายผู้ใช้วาทกรรมเหล่านี้ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับแนวทางและนโยบายหาเสียงของตนเอง จึงพยายามป้ายสีแนวคิดหรือนโยบายที่ตรงกันข้ามให้กลายเป็น “เรื่องผิด” หรือเป็น “ความเขลา” ที่ประชาชนไม่ควรไปหลงตาม ดังนั้น ในบรรยากาศเช่นนี้จำเป็นต้องช่วยกันหยุดคิดและลดทอนพลังของวาทกรรมดูแคลนสติปัญญาเหล่านี้

วาทกรรมเข้าข่ายดังกล่าวเท่าที่พอจะรวบรวมได้ในขณะนี้มีอยู่ 4 ข้อ คือ

1. ใช้ระบบบัญชีรายชื่อผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
นักวิชาการและนักวิเคราะห์บางท่านออกมาโจมตีบัญชีรายชื่อของบรรดาพรรคการเมืองทันที โดยชี้ว่าบัญชีรายชื่อที่จัดขึ้นมาเป็นเรื่องของการตอบแทนบุญคุณบ้าง หาที่ให้นายทุนบ้าง เป็นที่ที่พวก ส.ส. เขตถูกยัดเยียดให้อยู่บ้าง สรุปคือล้วนแต่เป็นเรื่องการจัดการผลประโยชน์ภายในพรรค มากกว่าจะใช้เป็นพื้นที่เพื่อ “คัดสรรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ” มาทำงานจริงๆ

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ยังถือว่าไม่นานเกินกว่าจะจดจำ คือ การใช้ระบบบัญชีรายชื่อเพื่อดึง “คนทำงานฝีมือดี” เข้าสู่ระบบการเมืองนั้น บรรลุจุดสุดยอดของมันเองเมื่อครั้งที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 โดยเฉพาะกรณีของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้ง 2544

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแวดวงการเมืองได้คนอย่างคุณปุระชัย คุณสุรเกียรติ์ นพ.สุรพงษ์ (30 บาท) หรือแม้แต่ “ไอ้ก้านยาว” คุณประพัฒน์ มาอยู่ใน ครม. กลายเป็นยุคที่บุคลากรจากแวดวงอื่นๆ ได้ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองโดยอาศัยระบบบัญชีรายชื่อนั่นเอง แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในคราวเดียวกันนั้นเปิดช่องทางให้นายทุนพรรคจำนวนหนึ่งเข้ามาสู่บัญชีรายชื่อด้วย แต่เทียบกับปัจจุบันแล้ว ใครจะสามารถบอกได้บ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ออกแบบมาให้เอื้อกับเจตนารมณ์เรื่องผู้มีความรู้ความสามารถ มากไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ตรงไหนบ้าง?

ซึ่งถ้ารัฐธรรมนูญ 2540 ประสบความสำเร็จในการดึงคนนอกสู่วงการการเมือง คำถามสำคัญคือ ใครเล่าที่ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ทิ้ง? เราเห็นแต่ภาพของกลุ่มหัวก้าวหน้ารวมทั้งชาวบ้านจำนวนไม่น้อยแสดงการต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 แต่กลุ่มชนชั้นนำกลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่เคยแยแส แถมเชื่อว่าต้องทำลายรัฐธรรมนูญ 2540 เสียด้วยซ้ำ

ดังนั้น การวิจารณ์ว่าพรรคการเมืองทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญโดยเอาระบบบัญชีรายชื่อไปใช้เพื่อสมประโยชน์กันและกันเท่านั้น แท้จริงแล้วผู้พูดควรศึกษาปะวัติศาสตร์และหันไปประณามฝ่ายที่ทำลายรัฐธรรมนูญ 2540 เสียมากกว่า รวมทั้งถามตัวเองอย่างซื่อสัตย์ด้วยว่า ไปอยู่ที่ไหนมาตอนชาวบ้านเขาต่อต้านรัฐประหารและลงมติไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 ถ้าเคยเห็นดีเห็นงามกับกระบวนการผลักประเทศให้ถอยหลังในคราวนั้น ก็ต้องซื่อสัตย์พอจะตอบตนเองว่า การที่สถาปัตยกรรมทางการเมืองปัจจุบันได้ทำลายประสิทธิภาพของระบบบัญชีรายชื่อไปเสียแล้ว เหตุสำคัญมาจากแนวคิดล้าหลังที่ต่อต้านการเมือง-นักการเมือง มากกว่าจะเป็นความผิดของฝ่ายการเมืองเองใช่หรือไม่

2. ทำงานเพื่อคนๆ เดียว
ความน่าประหลาดของวาทกรรมข้อนี้ คือ ในสังคมที่ซับซ้อนถึงเพียงนี้ ยังอุตส่าห์มีคนเอาประเด็นที่บิดเบือนข้อเท็จจริงมากขนาดนี้มาใช้โจมตีฝ่ายอื่น

วาทกรรมนี้พยายามสื่อเรื่องความขัดกันของผลประโยชน์ (Conflict of interest) ว่า ถ้าอีกฝ่ายเข้ามาและทำทุกอย่างเพื่อช่วยคนๆ เดียวเสียแล้ว ประชาชนจะเสียประโยชน์เพราะผลประโยชน์ของคนๆ เดียวนั้นจะทำลายสิ่งที่ประชาชนพึงจะได้รับ

ปัญหาคือ สิ่งที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ทำในช่วงที่ครองอำนาจใช่จะสามารถกล่าวได้เต็มปากว่าเป็นการทำเพื่อส่วนรวมไปเสียทุกเรื่อง เรื่องที่ชัดๆ อย่างการผลักดันให้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเป็น 125 จากเดิม 80 ที่ ยังมีการถกเถียงจนบัดนี้ว่า ทำไมประชาชนต้องเสียสิทธิจากการมีผู้แทนแบบแบ่งเขตน้อยลง? เขาเสียประโยชน์ใช่ไหม? แล้วพรรครัฐบาลได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ใช่ไหม? ประเด็นง่ายๆ อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์เล็งเห็นว่าตนได้กำไรจากระบบบัญชีรายชื่อ จึงผลักดันให้เพิ่มจำนวน โดยเฉพาะ ส.ส. เขตที่หดหายไปส่วนมากมาจากภาคอีสาน เรื่องนี้ไม่ต้องบิดเบือนกันเพราะสื่อทุกสื่อวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันนี้อย่างไม่มีปิดบัง

จากย่อหน้าที่กล่าวมาเห็นได้ชัดว่าเป็นกรณี Conflict of interest ล้วนๆ เพราะยังไม่มีความชัดเจนเลยว่าการลดจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตลงช่วยให้ประชาชนได้ประโยชน์ตรงไหน? ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ว่า การเกิดความขัดกันของผลประโยชน์ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องขึ้นกับการทำอะไรบางอย่างเพื่อ “คนๆ เดียว” หรือไม่ การที่พรรคๆ หนึ่งแม้จะไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าทำเพื่อคนๆ เดียว ก็ไม่ได้แปลว่าพรรคนั้นจะมุ่งทำงานเพื่อประชาชนไปเสียทุกเรื่อง

เหมือนกับครั้งที่มีเสียงท้วงติงว่า พรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งที่กินมูมมามมาก แล้วผู้จัดการรัฐบาลออกมาบอกว่า “ไม่มีเขา เราก็อยู่ไม่ได้” ประชาชนย่อมมีสิทธิถามเช่นกันว่า ในคำตอบนั้นผลประโยชน์ของประชาชนอยู่ตรงไหน? บทเรียนเหล่านี้จึงยืนยันว่า พรรคหนึ่งๆ ที่ไม่ได้ทำเพื่อคนๆ เดียว ก็อาจจะทำเรื่องต่างๆ เพื่อรักษาอำนาจตัวเองโดยไม่แยแสประชาชนได้เช่นกัน

ประเด็นแท้จริงอยู่ที่ว่า ประชาชนนั้นมีสติปัญญาพอที่จะประเมินผลประโยชน์โดยยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง หากมีนโยบายใดประชาชนรู้สึกว่าได้ประโยชน์และเผอิญมีคนอื่น (จะคนเดียวหรือมากกว่านั้น) ได้ประโยชน์ร่วมด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด

เช่น นาย ก. มีญาติซึ่งถูกขังมาเป็นปี เพียงเพราะดันไปยืนจุดไฟสูบบุหรี่แถวศาลากลางจังหวัดที่ถูกเผาอย่างไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่ จนบัดนี้ยังอยู่ในคุก เขาจึงประเมินว่าเขามีโอกาสได้ประโยชน์จากพรรคที่ประกาศเรื่องหลัก “นิติธรรม” อย่างชัดเจน และก็เลือกพรรคนั้นเพราะหวังจะได้หลักนิติธรรมไปช่วยญาติของตน หรือเพราะเล็งเห็นแล้วว่าหลักนิติธรรมของฝ่ายที่ครองอำนาจมากว่า 2 ปีนั้นมันเอนเอียงจนญาติต้องติดคุกฟรี ส่วนจะมีนักโทษอื่นอีกกี่คนได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูหลักนิติธรรมเป็นเรื่องรองไป โดยปกติประชาชนจะคิดเช่นนี้กับทุกๆ นโยบาย คือ เอาตนเองเป็นศูนย์กลางเสียก่อน

จะเห็นว่า ในประเด็นสาธารณะเช่นนี้ เป็นเรื่องแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่นโยบายหนึ่งๆ จะถูกแปะป้ายว่า “เพื่อคนๆ เดียว” เพราะความซับซ้อนของผลประโยชน์มีมากกว่าเรื่องปากท้อง แต่ความรู้สึกอยุติธรรมต่างหากที่คั่งค้างในใจผู้คนจำนวนมากตั้งแต่ถูกปล้นอำนาจไปดื้อๆ ถือเป็นความต้องการที่ประชาชนจำนวนมากต้องการเรียกร้องกลับมา

ในอดีตเคยเกิดการบิดเบือนการใช้กฎหมายเพื่อทำลาย “คนๆ เดียว” และฝ่ายที่ลงมือทำก็ขาดปัญญาพอที่จะมองเห็นว่าผลกระทบเกิดในวงกว้างกว่านั้น เพราะมีคนอีกจำนวนมากรู้สึกว่าเขาถูกกระทำร่วมไปด้วย ประชาชนไม่น้อยที่รู้สึกว่าการปล้นอำนาจทำให้เขาเป็นตกเหยื่อพอๆ กับผู้นำรัฐบาลคนหนึ่งที่ถูกรัฐประหาร ดังนั้น ถ้าใครอุตริมาคิดแทนชาวบ้านว่า นโยบายหรือแนวทางใดแนวทางหนึ่งจะช่วยคนๆ เดียวจนทำลายประโยชน์ส่วนรวม โดยละเลยประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ จะไม่ให้ประชาชนที่ถูกปล้นอำนาจรู้สึกว่าถูกดูแคลนสติปัญญาได้อย่างไร


3. ทำงานต่อเนื่องกับเริ่มนับหนึ่งใหม่
นี่เป็นวาทกรรมที่เอาชาวบ้านเป็นตัวประกัน โดยอ้างว่าหากเปลี่ยนไปเลือกอีกฝ่ายประเทศชาติจะนับหนึ่งใหม่หรือถอยหลังกลับ การอ้างวาทกรรมนี้มีปัญหาขาดการทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้อีกนั่นเอง

ว่ากันเฉพาะหลังพฤษภาทมิฬเป็นต้นมา รัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยกลับมาด้วยชัยชนะจากการเลือกตั้งเลยหากไม่เกิดกรณีพิเศษ พรรคประชาธิปัตย์เคยแพ้พรรคชาติไทยหนึ่งครั้งและในคราวหลังแพ้พรรคความหวังใหม่ จนเมื่อเกิดวิกฤตการเงิน 2540 และตามด้วยกรณีกลุ่มงูเห่านั่นเอง คุณชวนถึงได้ขึ้นสู่อำนาจอีกครั้ง ส่วนในยุคไทยรักไทยต่อเนื่องจนถึง คมช. พรรคประชาธิปัตย์ยังแพ้อีกครั้งในการเลือกตั้ง 2550 แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะถูกบั่นทอนกำลังไปอย่างหนักแล้วก็ตาม การขึ้นสู่อำนาจภายใต้การนำของคุณอภิสิทธิ์เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยกรณีงูเห่าอีกเช่นกัน

พรรคต่างๆ จึงควรตระหนักว่า รูปแบบการครองอำนาจทางการเมืองหลังเลือกตั้งเป็นความไม่ต่อเนื่อง (Discontinuity) มากกว่าจะเป็นความต่อเนื่อง (Continuity) ครั้งที่เกิดความต่อเนื่องมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือ เลือกตั้ง 2548 ซึ่งพรรคไทยรักไทยกลับมาได้ แต่ชัยชนะครั้งนั้นนำไปสู่การต่อต้านทักษิณอย่างรุนแรงและกระแสขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการรัฐประหาร 19 กันยา

จะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติมากของการเปลี่ยนฝ่ายครองอำนาจทางการเมืองและทิศทางนโยบาย ทั้งกรณีที่มีเลือกตั้งหรือมีรัฐประหาร กรณีไม่ต่อเนื่องอย่างครั้งที่พรรคไทยรักไทยมาแทนรัฐบาลคุณชวน แต่กลับได้รับความนิยมอย่างสูงก็เพราะได้สร้างความแปลกใหม่เชิงนโยบายเป็นสำคัญ ภายใต้การเปลี่ยนโฉมนโยบายและไม่เหลือความต่อเนื่องใดๆ (จากรัฐบาลก่อนหน้า) ประเทศชาติก็หาได้หยุดอยู่กับที่หรือถอยหลังแต่อย่างใด

ในส่วนนี้จึงคล้ายๆ กับประเด็นข้อที่ 2 คือ ประชาชนย่อมสามารถประเมินนโยบายด้วยวิจารณญาณของตนว่าเขาต้องการนโยบายแบบใด การพยายามอ้างว่า คนที่เลือก “ความต่อเนื่อง” นั้น มีวิสัยทัศน์ดีกว่าฝ่ายที่เรียกร้อง “ความเปลี่ยนแปลง” จึงเป็นเรื่องผิด ผิดทั้งวิธีคิดและผิดทั้งข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์การเมืองเอง

ที่สำคัญ ระบบเลือกตั้งถูกออกแบบมาให้ประชาชนตัดสินใจว่า จะเปลี่ยนหรือจะใช้ของเดิมต่อไป โดยชั่งนำหนักจากผลลัพธ์ผลกระทบต่างๆ ที่ทุกคนได้รับภายใต้การบริหารประเทศในช่วงที่ผ่านมา ด้วยระบบเช่นนี้ การเลือกที่จะไม่เอาความต่อเนื่องไม่ใช่เรื่องของการคิดผิดหรือขาดวิสัยทัศน์ แต่คือการให้คะแนนผลงานการบริหารมากกว่า คนชอบก็เลือกต่อคนไม่ชอบก็ขอเปลี่ยน ใจความหลักมีอยู่เท่านี้

อย่าดูแคลนประชาชนว่า การเลือกฝ่ายที่นำเสนอความเปลี่ยนแปลงจะทำให้บ้านเมืองหยุดชะงัก แต่ควรกลับไปถามตนเองว่าทำดีพอให้คนเขาอยากเลือกหรือไม่!

คำถามสำคัญอีกข้อ คือ เมื่อคราวเกิดรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งว่ากันว่าทำให้ประเทศถอยหลังอย่างมาก โดยเฉพาะได้สร้างสถาปัตยกรรมทางการเมืองที่เพิ่มอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเอาใจพวกปฏิกิริยาล้าหลังนั้น พรรคการเมืองไหนบ้างที่ไปหามเสลี่ยงให้เผด็จการและมองดูกระบวนการทำลายความต่อเนื่องของความก้าวหน้าทางการเมืองไปต่อหน้าต่อตา ทั้งที่สิ่งนั้นต่างหากคือ “ความต่อเนื่อง” แบบที่ประชาชนอยากรักษาไว้!

4. จ้างมาก่อกวนการเลือกตั้ง
ถ้าความจำผมยังไม่ผิดเพี้ยนนัก จำได้ว่าการประท้วงต่อต้านคุณอภิสิทธิ์ตามโอกาสต่างๆ มีมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง กรณีคลาสสิคคือการชูป้าย “ดีแต่พูด” ของคุณจิตรา คชเดช (ที่จริง แวดวงการเมืองและหนังสือพิมพ์ได้ใช้งานวลีนี้กันถ้วนหน้า จนควรจะต้องขอบคุณคุณจิตราไว้ด้วย)

ดังนั้น ผมจึงไม่ค่อยเข้าใจว่า การประท้วงคุณอภิสิทธิ์ตามเวทีปลีกย่อยที่ดำเนินเรื่อยมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์สลายชุมนุมนั้น เหตุใดเมื่อเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง กลับมีคำอธิบายออกมาทันทีว่าเป็นการเล่นเกมป่วนของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามเพื่อก่อกวนการหาเสียง?

ผมเชื่อของผมเองว่า หากคุณทักษิณกลับประเทศไทยมาวันนี้ จะต้องมีคนที่แห่กันออกไปต่อต้านขับไล่จำนวนมหาศาล รวมทั้งใน Social media โดยที่คนเหล่านี้ไม่จำเป็นเลยจะต้องไปให้พรรคประชาธิปัตย์ไปจ้างมาจากไหน เพราะคนไม่เอาคุณทักษิณนั้น “มีอยู่เอง” แบบไม่ต้องว่าจ้าง

ฉันใดก็ฉันนั้น พรรคประชาธิปัตย์ควรจะตระหนักได้แล้วว่า ในสังคมนี้ต้องมีคนที่ไม่เอาคุณอภิสิทธิ์อยู่แน่ๆ และมีอยู่ในแบบที่ไม่ต้องไปจ้างวานมาแม้แต่น้อย เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “มันมีของมันเอง” แบบที่คุณทักษิณเผชิญ การมีอยู่ของกลุ่มผู้ต่อต้านเช่นนี้เป็นผลจากพฤติกรรมในอดีต จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงและเป็นความคิดที่ไร้เดียงสาอย่างยิ่งหากสรุปเอามั่วๆ ว่า พฤติกรรมในอดีตที่ผ่านของคุณอภิสิทธิ์มีแต่ “ทำให้คนรัก”

อย่างน้อย กรณีที่ครั้งหนึ่งคุณอภิสิทธิ์พูดกลางสภาว่า ศาลโลกตัดสินว่าเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเป็นของเขมร แต่ที่ดินใต้ปราสาทยังเป็นของไทยนั้น ก็ทำให้ผมคนหนึ่งที่รักในสติปัญญาของคุณอภิสิทธิ์ไม่ลงเอาเสียเลย นับประสาอะไรกับคนที่เขาต้องบาดเจ็บหรือสูญเสียญาติมิตรไปภายใต้การทำงานของ ศอฉ. และคุณอภิสิทธิ์ ย่อมไม่แปลกที่เขาจะ “รัก” คุณอภิสิทธิ์ไม่ลง และคนแบบนี้ไม่ต้องจ้างมาประท้วง การทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายต่อต้านโดยตราหน้าว่าทุกคนถูกจ้างมา รังแต่จะทำให้ความไม่ชอบของเขาเพิ่มขึ้นๆ

ต้องเข้าใจข้อเท็จจริงว่า ในการบริหารประเทศของผู้นำทุกคนจะมีทั้งกองเชียร์และผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายหรือการทำงานใดๆ เสมอ ผู้นำทุกคนในอดีตจึงมีทั้งคนรักและคนชังอยู่คู่กันเป็นปกติ ถ้าชอบเจอแต่คนที่เข้ามาอวยก็ควรจะอยู่แต่ในเฟซบุ๊กของตนเอง ส่วนโลกของความเป็นจริงต้องยอมรับว่าคนรัก-คนชังเป็นสิ่งที่ปุถุชนไม่อาจจะควบคุมได้ตามใจตัว และความชังไม่จำเป็นต้องจ้างวาน

ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นบุคคลสาธารณะแล้วคิดว่าตนเองจะต้องมีแต่คนรัก ส่วนคนชังนั้นถูกจ้างมาทั้งสิ้น ย่อมเข้าข่ายดูแคลนสติปัญญาประชาชนอย่างรุนแรง

กล่าวโดยสรุป วาทกรรมต่างๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างของการดูแคลนสติปัญญาประชาชน โดยไม่ตระหนักว่า วิจารณญาณของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นซับซ้อน มีพัฒนาการ และประเมินผลได้ผลเสียของเขาอยู่อย่างสม่ำเสมอ คนที่ใช้วาทกรรมเหล่านี้มีแต่ภาพของต่างจังหวัดที่ “ขายเสียง-คิดไม่เป็น” จินตนาการไม่ออกว่าคนจำนวนมากที่โกรธแค้นในยามที่ถูกปล้นอำนาจไปอย่างอยุติธรรม จนสำคัญผิดว่าหว่านเงินเยอะๆ ก็ซื้อใจกันได้และเป็นที่มาของการดำเนินนโยบายแบบหวังเอาใจแต่ไม่เห็นหัวคน

การพยายามผูกขาดนิยาม “ความถูกต้องทางการเมือง” ไว้ฝ่ายเดียวด้วยวิธี “ดูแคลนสติปัญญาประชาชน” เป็นกลวิธีหลักที่ฝ่ายอนุรักษนิยม (ทั้งชนชั้นนำและฝ่ายการเมือง) ใช้กล่าวหาประชาชนว่า “ไม่พร้อม” มาโดยตลอด และนั่นเป็นสิ่งที่ควรจะหยุดได้แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา