โดย อาจารย์สุชา จุลเพชร
ที่ปรึกษาสภานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย
คนที่ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงก็คือคนที่เชื่อว่าทหารยังคิดทำรัฐประหารอยู่อีก และเป็นคนที่เห็นบทบาทของทหารเป็นรูปธรรมจากการรัฐประหารปี 2549 และยังได้รับรู้ความล้มเหลวอันสืบเนื่องจากการรัฐประหารครั้งนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
ความล้มเหลวจาการทำรัฐประหาร 2549 เป็นความล้มเหลวทั้งกระบวนการเป็นความล้มเหลวที่ส่งแรงสะเทือนอย่างลึกซึ้งไปถึงรากฐานของระบอบการเมืองไทยทำให้สังคมไทยแตกแยกไปทั่วปริมณฑลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เกิดภาวะสั่นคลอนทางความเชื่อเก่าแก่เชิงสัญลักษณ์อย่างรุนแรง สร้างความตึงเครียดสุดขีดขึ้นภายในสังคมไทยตลอด 5 ปีนับตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา
รัฐประหาร 2549 เกิดขึ้นเพื่อกำจัดการปกครองของพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นพรรครัฐบาลพรรคเดียวขนาดใหญ่ มีอำนาจการเมืองสูง นั่นคือพรรคไทยรักไทยที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้คณะรัฐประหารเชื่อว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540 เป็นต้นเหตุให้เกิดรัฐบาลที่มีลักษณะน่าหวาดกลัวอย่างรัฐบาลทักษิณ
ด้วยเหตุนี้การทำรัฐประหารจึงต้องทำเป็นกระบวนการต่อเนื่อง เริ่มต้นจากการฉีกรัฐธรรมนูญเก่า จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และทำหน้าที่ควบคุมบังคับทิศทางการเมืองให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ทำรัฐประหาร
การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็เป็นไปตาม เป้าหมายทุกประการ เนื่องจากกลุ่มปฏิปักษ์ของรัฐบาลทักษิณทั้งหมดต่างได้
ตำแหน่งหน้าที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดไปถึงได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในองค์กรอิสระต่างๆ
การนำรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติอย่างเฉียดฉิวมาใช้ด้วยความมั่นใจว่า นับจากนี้ต่อไปรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะไม่มีอำนาจมากมายเหมือนรัฐบาลทักษิณอีกแล้ว นั่นก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ได้ลดอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติลง อีกด้านหนึ่งก็เพิ่มอำนาจตุลาการและองค์กรอิสระมากยิ่งขึ้นถือได้ว่าเป็นมาตรการป้องกันที่รอบคอบรัดกุมที่สุดแล้ว แต่ก็ยังเกิดปัญหาการเมืองขึ้นอีกจนได้
ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นหลังจากการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นความจริงแล้วไม่ใช่เกิดจากรัฐธรรมนูญ หากแต่เกิดจากความตื่นตระหนกตกใจของกลุ่มการ เมืองที่เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญเข้าใจผิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะกำจัดพรรคการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ เพราะพรรคพลังประชาชนของ พ.ต.ท.ทักษิณยังได้รับชัยชนะมาเป็นอันดับหนึ่งเหมือนใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540
ความเข้าใจผิดโดยไม่จำแนกว่าชัยชนะของพรรคพลังประชาชนไม่ได้เกิดจากความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นเพียงชัยชนะที่เกิดขึ้นตามปกติในระบบเลือกตั้งทั่วไป แต่เนื่องจากกลุ่มอำนาจการเมืองที่เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญขาดสติไตร่ตรอง จึงด่วนสรุปเอาเองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้มเหลว
กลุ่มอำนาจการเมืองที่เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ 2550 ก็คือกลุ่มแนวร่วมที่ประกอบด้วยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กองทัพ พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มพันธมิตรฯ (พธม.) ต่างรู้สึกผิดหวังกับรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างรุนแรงแต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องใช้ข้ออ้างพิทักษ์รัฐธรรมนูญในการเคลื่อนไหวล้มล้างรัฐบาลใหม่ คนเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มแรกที่ไม่เคารพรัฐธรรมนูญที่พวกเขาจัดทำขึ้นมาเองกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ยอมให้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชได้บริหารประเทศ ปิดล้อมทำเนียบฯ ยืดเยื้อและเข้าไปยึดครองทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุม
ในขณะเดียวกันกองทัพซึ่งต้องปฏิบัติการตามคำสั่งรัฐบาลก็ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งโดยอ้างว่ากองทัพจะต้องอยู่เคียงข้างประชาชน แถมยังแนะนำให้รัฐบาลลาออกอีกด้วย นี่คือการไม่ยึดถือและไม่เคารพรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ของกองทัพไทย
ทางด้าน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เองก็เข้าร่วมขบวนยึดทำเนียบฯ และปิดล้อมรัฐสภาของพันธมิตรฯ อย่างออกหน้าออกตา ถือเป็นการประกาศตัวไม่ยึดถือรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างโจ่งแจ้งเช่นเดียวกัน การกระทำทั้งหมดนี้เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติมาตราสำคัญอื่นๆ จนหมดสิ้น ด้วยการอ้างเฉพาะสิทธิของประชาชนตามมาตรา 63 เพียงมาตราเดียวเท่านั้น
กล่าวได้ว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 มิใช่เกิดจากตัวบทของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้บริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญเลยสังคมไทยยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ารัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีอำนาจสักขนาดไหน ก็ต้องถูกขับไล่ด้วยข้อหาที่แท้จริงก็คือมีความผิดที่เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง
ความเข้าใจผิดนำไปสู่การใช้บริการผิดๆ นั่นคือการใช้บริการของศาลฎีกาแผนกคดีการเมืองกำจัดตัวบุคคล ใช้ศาลรัฐธรรมนูญกำจัดพรรคการเมือง ผลการตัดสินนายสมัคร สุนทรเวชมีความผิดก็ดี ผลการตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนก็ดีรวมทั้งการยุบพรรคการเมืองอื่น แต่ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ในคดีคล้ายคลึงกันยิ่งประกาศความล้มเหลวของตุลาการซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยข้อตำหนิ 2 มาตรฐาน ท้ายที่สุดตุลาการถูกลากลงหุบเหวแห่งความล้มเหลวไปด้วย
ความไม่เชื่อถือในรัฐธรรมนูญทำให้ขาดศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ทำให้ขาดสติพิจารณาไตร่ตรองปัญหาการเมือง กลุ่มเจ้าของรัฐธรรมนูญจึงใช้อารมณ์มากกว่าใช้เหตุผล การใช้ข้อกล่าวหาทางการเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อความแตกแยกล้ำลึกในสังคมด้วยการนำสถาบันทางวัฒนธรรมและสังคมมาอวดอ้างทำลายล้างฝ่ายตรงกันข้าม การปลุกผีคอมมิวนิสต์ ล้วนสะท้อนให้เห็นความกระวนกระวายไร้สติจึงหยิบฉวยวิธีการล้าหลังมาใช้อย่างไม่ยั้งคิด..
เมื่อกลุ่มเจ้าของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ยังไม่เชื่อประสิทธิภาพของรัฐธรรมนูญเสียเองแล้ว จะเรียกร้องให้ประชาชนที่ไม่มีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญเชื่อถือได้อย่างไร? การที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการเหล่าทัพออกมายืนเรียงหน้ากระดานประกาศว่ามีการเลือกตั้งแน่นอน ไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ทหารกลุ่มใดเคลื่อนกำลังถือว่าเป็นกบฏ รวมทั้งประกาศจุดยืนว่าทหารอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่น่าเชื่อถืออยู่ดี
เพราะทหารข้าราชการประจำ ต้องเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ การออกมาค้ำประกันไม่มีปฏิวัติรัฐประหารจึงเป็นการยืนยันถึงความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญและระบอบการเมืองเสียมากกว่า
"ทหารข้าราชการประจำต้องเลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตย ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ การออกมาค้ำประกันไม่มีปฏิวัติรัฐประหารจึงเป็นการยืนยันถึงความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญและระบอบการเมืองเสียมากกว่า"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา