บทสัมภาษณ์ ดร.เกษียร เตชะพีระ โดย ประชาชาติธุรกิจ
ปี 2553 เป็นปีแห่งความขัดแย้ง อย่างถึงราก นักวิชาการ ทหาร ตำรวจ ตุลาการ นักกฎหมาย ต้องนอนก่ายหน้าผาก-พลิกตำราเก่าแก่รับมือ
ดร.เกษียร เตชะพีระ ในฐานะคอลัมนิสต์-นักรัฐศาสตร์ ฟันธงว่า ปี 2554 จะเป็นปีแห่งการจัดโครงสร้างอำนาจของสถาบันหลักของชาติใหม่ พร้อม ๆ กับการกระชับพื้นที่ให้มวลชนสีแดง-สีเหลือง ค้นหาเหตุผลมาต่อสู้กัน แทนการใช้กำลัง ความรุนแรง
หากสีใดยังใช้มวลชนเป็น "เบี้ย" ถือว่าเป็นการกระทำที่ "ทุเรศ" และต้องส่งเสริมให้เกิดการ "ทะเลาะกันโดยสันติ"
บรรทัดจากนี้ไป เป็นคำทำนาย ข้อวิเคราะห์ บทวิพากษ์ และวิจารณ์ทุกโครงสร้างอำนาจ
สิ่งที่น่าจับตาที่สุดของการเมืองปี 2554 มีอะไรบ้าง
มันทับซ้อนกัน 2 เรื่อง อันแรก เป็นปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหาร 2549 ก็คือจะจัดระเบียบการเมืองยังไงให้ลงตัว เพราะว่ามันมีกลุ่มอำนาจ ซึ่งเขาดำรงอยู่จริงในทางสังคม ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีกระบวนการที่กลั่นกรองทางการเมือง แต่กระบวนการที่กลั่นกรองนั้น ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่า มันก่อปัญหามากกว่าด้วยซ้ำ แปลว่าคุณจะจัดระเบียบการเมืองยังไง ที่จะดึงเอากลุ่มพลังที่ถูกกันออกไป ให้เข้ามามีที่ทางในระเบียบการเมือง และสู้กันในวงการเกมกฎกติกาทางการเมืองได้
ในแง่กลับกัน ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา สถาบันสำคัญของประเทศ มีการแสดงบทบาทวางตำแหน่งฐานะที่ลักลั่นเปลี่ยนไปจากเดิม พูดตรง ๆ เช่น สถาบันองคมนตรี สถาบันตุลาการ สถาบันทหารได้ถูกดึงเข้ามา จะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่เข้ามาพัวพันกับการเมืองมากขึ้น มันก่อให้เกิดปัญหามากขึ้น
ผมคิดว่า ย้อนไป 4 ปีที่ผ่านมา เห็นชัดว่าสถาบันเหล่านี้มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมอย่างไม่เคยเกิดขึ้นทั้ง สิ้น ลองนึกไปก่อนปี 2549 สถาบันตุลาการมีภาพลักษณ์ที่ดี สถาบันทหารมีภาพลักษณ์ที่ดี สถาบันองคมนตรีไม่มีใครตั้งคำถาม แต่ปัจจุบันเข้าไปพัวพันการเมืองมากขึ้น
ฉะนั้น จะจัดวางบทบาทตำแหน่งแห่งที่บทบาทฐานะของกลุ่มพลังทางการเมืองที่ถูกกันออก ไปจากการเมืองนั้นอย่างไร คือการจัดระเบียบการเมืองใหม่ ที่ให้กลุ่มพลังทางการเมืองและสถาบันที่สำคัญของสังคมทั้งหลายมีบทบาทฐานะ ที่อยู่ในกรอบของระเบียบการเมือง อยู่ในกฎกติกาของระเบียบการเมือง และเล่นบทที่เหมาะสมของตัว
ที่อาจารย์บอกว่า กลุ่มพลังอำนาจที่ถูกกันออกจากการเมืองนั้น ความจริงเขาอยากกันตัวเองออกจากการเมือง หรือคนอื่นกันเขาออกไป
(หัวเราะ) ตอนต้น เขาก็คงอยากออก มีคนเชิญเขาออกไปหลายรอบใช่ไหม...คือพอพูดแล้ว เขาก็มีเหตุผลบางอย่าง ที่เขาอยากอยู่ หรือเพราะห่วงผลประโยชน์เขา ก็เป็นเรื่องของมนุษย์ธรรมดา แต่พอเราผลักกัน...ในที่สุด ก็ไม่ใช่เรื่องของเขาคนเดียว เพราะในที่สุด คุณไม่ได้ดีลกับตัวคุณทักษิณคนเดียว แต่คุณกำลังดีลกับเครือข่ายอำนาจของคุณทักษิณ จะจัดการกับเครือข่ายอำนาจของคุณทักษิณ ในที่สุด ก็กันออกไปไม่หมด เช่น กลุ่มนักการเมือง กลุ่มมวลชน
ผมคิดว่า วิธีการจัดการที่ผ่านมา มันไม่ได้เรื่อง มันไม่นำไปสู่ความสงบเรียบร้อย ทำให้ทุกคนยอมรับอย่างที่คุณตั้งใจ อันนี้คือปัญหาคาราคาซัง
ทีนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าที่ซับซ้อนเข้ามา และทำให้ปัญหาคาราคาซังเรื้อรัง ยิ่งแก้ยากเข้าไปอีก คือการฆ่าคน ตอนเหตุการณ์เมษา-พฤษภาที่ผ่านมา คือปัญหาเดิม ก็แก้ยากอยู่แล้ว แต่เพิ่มเรื่องนี้เข้ามา ก็เหมือนไปเพิ่มล็อกอีกตัวหนึ่ง แล้วทำให้การแก้ปัญหาพื้นฐานแก้ยาก
ทำให้มีแนวโน้มเกิดความรุนแรงปั่นป่วนวุ่นวายทางการเมือง กระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ ยิ่งหนักหนาเข้าไปอีก คือเรื่องทั้งหมด ก็ไม่ใช่เรื่องฝ่ายความมั่นคงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของฝ่ายผู้ชุมนุมด้วย เรื่องแบบนี้ ก็เห็นมาตั้งแต่การล้มรัฐบาลสมัคร (สุนทรเวช) การล้มรัฐบาลสมชาย (วงศ์สวัสดิ์)
ต้องทำอย่างไร
ผมคิดว่า เรื่องด่วนที่สุด คือเรื่องเฉพาะหน้า ปัญหาความยุติธรรม ปัญหาความรุนแรง ที่คาราคาซังมาจากเดือนเมษา-พฤษภา ถ้าไม่มีความยุติธรรม ไม่มีกระบวนการที่โปร่งใส เป็นที่ยอมรับในการหาความจริง โอกาสที่จะเกิดความวุ่นวายและรุนแรงก็จะเกิด เหมือนกับเป็นแผลบ่มหนองไปเรื่อย ๆ
ประสบการณ์ของไทยที่ผ่านมาในอดีต ก็มีตัวอย่างเหมือน 14 ตุลา 16 พฤษภา 35 ขบวนการอย่างนี้ ต้องเปลี่ยนการนำทางการเมือง เปลี่ยนรัฐบาล พอเปลี่ยนการนำทางการเมืองแล้ว คือเปลี่ยนหัวก่อน พูดง่าย ๆ สมัยนั้น ถนอม ประพาส ณรงค์ออกไป สมัยพฤษภา 35 สุจินดาออกไป
อันที่ 2 คือเปลี่ยนการนำของสถาบันหลักในทางความมั่นคงที่เข้าไปเกี่ยวพันกับความ รุนแรง ก็คือตัว ผบ.ทบ. หรือใครก็แล้วแต่ที่เข้าไปใช้กำลังตอนนั้น และเปลี่ยนแกนนำหน่วยงานราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปราบปราม
การเปลี่ยนรัฐบาลและการนำหน่วยงานราชการ เพื่อว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวพันไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะล็อกการไต่สวน ของกระบวนการยุติธรรมได้ ไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะล็อกการค้นหาความจริงได้ นำไปสู่ข้อยุติในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับ แล้วหลังจากนั้นค่อยจัดสรรผลประโยชน์อำนาจกันใหม่
แต่ละตำแหน่งมีที่มาตามระบบราชการ หรือมาจากการเลือกตั้ง
มันไม่ง่ายหรอก...คือผมคิดว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ก็น่าจะเป็นโอกาสหนึ่งที่จะเปลี่ยนการนำทางการเมือง...จะเกิดขึ้นหรือเปล่า ผมไม่รู้นะ ก็อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เรื่องไม่จบ
เป็นการเปลี่ยนตัวบุคคลที่เป็นผู้นำหรือเปล่า
ผมใช้คำว่า เปลี่ยนการนำดีกว่า คือพูดด้วยความจริงใจ ในฐานะนักรัฐศาสตร์ จากประสบการณ์การเมืองไทย ถ้าอยากแก้ปัญหาเรื่องนี้ คนที่นั่งอยู่ในอำนาจรัฐบาลตอนเกิดเหตุ ไม่ควรจะนั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐบาลอีก อันที่ 2 ก็คือต้องเปลี่ยนการนำของสถาบันหน่วยราชการฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายตุลาการ และองคมนตรี เพื่อให้กระบวนการคลี่คลาย ไม่งั้นมันจะโดนล็อก และกระบวนการไม่คลี่คลาย
คือผมไม่อยากพูดเรื่องตัวบุคคล แต่เป็นการเปลี่ยนการนำ เพราะสถาบันเหล่านี้เข้าไปพัวพันทางการเมือง โดยเฉพาะเมษา-พฤษภาที่ผ่านมา ทำให้ความชอบธรรมเสื่อมถอยลงทั้ง 3 สถาบัน ไม่เคยมียุคไหน ที่สถาบันตุลาการ สถาบันกองทัพ สถาบันองคมนตรีมีภาพลักษณ์ขนาดนี้มาก่อน
ถ้าแก้ไม่ได้ อย่างเลวร้ายที่สุด ปี 2554 จะเกิดอะไรขึ้น
อย่างเบาที่สุดก็คือ un-governability ก็คือปกครองไม่ได้ ปกครองอย่างอำนวยให้เศรษฐกิจ สังคมดำเนินไปอย่างปกติสุข เป็นไปไม่ได้ ใครก็ตามที่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็จะมีแนวโน้มใช้อำนาจอย่างฉุกเฉิน ใช้กฎหมายความมั่นคง อำนาจนิยม ส่วนฝ่ายมวลชน ก็จะมีแนวโน้มต่อต้านการปกครองอำนาจใหม่ที่ขึ้นมา และมีแนวโน้มอนาธิปไตย
ก็คือข้างบนอำนาจนิยม ข้างล่างอนาธิปไตย แล้วก็จะเรื้อรังกันไปแบบนี้ เรื้อรังกันไปเรื่อย ๆ แบบนี้ เพราะเป็นมาตั้งแต่หลังเลือกตั้ง 23 ธันวา 2550 แล้ว
สาเหตุที่เสื้อแดงควบคุมยาก เพราะแกนนำยังไม่ได้ประกันตัว เรื่องนี้เป็นปัญหาที่แท้จริงหรือไม่
ผมคิดว่า ปัญหาทับซ้อน 2 ส่วน คือในส่วนแกนนำ ก็มีปัญหาการต่อสู้ทางแนวทางของแกนนำที่อยู่ข้างใน จากการเปิดเผยของคุณวีระ มุสิกพงศ์ และพี่วิสา คัญทัพ แกนนำ นปช.ในระยะเวลาที่ผ่านมา แล้วในที่สุด ดูเหมือนว่าแนวทางต่อสู้ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบขาด ฉับพลัน เอาชนะอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน เป็นฝ่ายที่แพ้
ผมคิดว่า อันนี้เป็นบทเรียนที่ต้องสรุป คือหลีกเลี่ยงความรุนแรง แล้วมองการต่อสู้อย่างที่เป็นจริง ไม่ใช่อย่างที่ใจตัวเองต้องการ ไม่ว่าใจนั้นจะเป็นใจในประเทศ หรือใจนอกประเทศก็ตาม ต้องเริ่มจากความเป็นจริง
เขากำลังพยายามเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยทั้งประเทศ เกี่ยวกับการเมือง พยายามเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยทั้งประเทศ เกี่ยวกับปัญหาความเสมอภาคในสังคม ทางเศรษฐกิจ อะไรต่าง ๆ อันนั้นเป็นเรื่องยืดเยื้อยาวนาน ก็คงจะเร่งรัดให้มันเสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น เผด็จศึก...ไม่ได้
ในส่วนของมวลชน ผมยินดีที่สุดเลย ที่คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด เขาทำการเคลื่อนไหว แต่คุณูปการที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของการต่อสู้แบบ บก.ลายจุด คือการต่อสู้แบบสันติ
คุณ บก.ลายจุดและพรรคพวกได้เอาอิสรภาพตัวเองเป็นเดิมพัน เพื่อหาทางออกให้คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ว่าเราต่อสู้แบบสันติได้ ถ้าฝ่ายความมั่นคงไม่หน้ามืดเกินไป แนวทางของ บก.ลายจุดควรได้รับการส่งเสริม สำหรับเป็นแนวทางต่อสู้นอกเวทีรัฐสภา
อาจารย์ไม่อยากให้ปฏิเสธกันที่สีเสื้อ แต่อยากให้ปฏิเสธวิธีการรุนแรง
ผมอยากให้เปิดยุคใหม่ของการต่อสู้ในความขัดแย้งทางการเมือง จาก 3-4 ปีที่ผ่านมา ด้วยความเชื่อทางการเมืองอย่างจริงใจจริงจังของคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดง ได้ทำการต่อสู้อย่างเข้มข้น ในที่สุด ก็ทำให้การต่อสู้ส่งผลไปถึงความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย
ดูแนวโน้มต่อไปข้างหน้า วันที่เราเจอจุดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างแนวคิดที่ต่างกันในเรื่องนี้ ระหว่างเสื้อสีที่ต่างกันในเรื่องนี้ มันคงไม่เกิดเร็ว เมื่อไม่เกิดเร็ว ก็ต้องสร้างวิธีการต่อสู้ ที่สู้กันได้ โดยไม่ต้องฆ่ากัน มันจะเป็นประโยชน์ต่อคนเสื้อเหลืองเอง และจะเป็นประโยชน์ต่อคนเสื้อแดงเอง
สักวันหนึ่ง คงจะมีจุดที่ทั้ง 2 ฝ่ายประนีประนอมกันได้ และทะเลาะกันต่อไปบนการประนีประนอมนั้น แต่ถ้าเราจะไปถึงจุดตรงนั้นได้ ก็คือเราจะต้องไม่ฆ่ากัน เพราะถ้าฆ่ากัน จุดที่จะเจอกันตรงนั้น หากันไม่เจอหรอกครับ จะถูกผลักห่างออกไปเรื่อย ๆ
แน่นอน ทางรัฐก็ต้องเข้าใจด้วยว่า คุณพลาดทางยุทธศาสตร์นะ ที่คุณไปปราบ ฆ่าเขารุนแรงขนาดนั้น
ทั้งฝ่ายผู้ฆ่าและฝ่ายผู้ถูกฆ่าก็มีเหตุผลรองรับการกระทำของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายชุมนุม
ผมคิดว่า ทุกฝ่ายลองหายใจลึก ๆ แล้วถามตัวเองว่า คุณมีคำอธิบายเสมอ ว่าคุณจะต้องทำแบบนี้ ต้องปราบ ต้องใช้ความรุนแรง เพราะ...แล้วอธิบายไป แล้วผลที่ได้มาเนี่ย มันแก้ปัญหาไหม หรือมันเพิ่มปัญหา ผลที่ได้มา มันทำให้บ้านเมืองบอบช้ำน้อยลงไหม หรือบอบช้ำมากขึ้น ลองเบิกตาดูดี ๆ แล้วถามตัวเอง ถ้าประเมินแล้ว คิดว่าเพิ่มปัญหาให้หนักหน่วงยิ่งขึ้น แตกลายปัญหาออกไปอีกกว้างไกลยิ่งขึ้น งั้นก็อย่าทำอีก มันไม่คุ้ม...อะไรจะดีกว่ากัน ระหว่างฆ่าคนที่เห็นต่างจากคุณ หรือชนะใจเขา แล้วเปลี่ยนแปลงความคิดเขาได้
ช่วงที่มีการชุมนุมของ เสื้อแดง ศอฉ.ก็ฉายภาพที่ทหารถูกคนเสื้อแดงทุบตีทำร้าย อันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐ หรือจะยิ่งสร้างความเกลียดชังให้ฝ่ายตรงข้าม
ในความรู้สึกผม เมื่อมีเหยื่อของความรุนแรงเกิดขึ้น...เครื่องแบบที่เขาใส่ไม่สำคัญ แต่มันคือความรุนแรงและความสูญเสีย สภาพทุกวันนี้ ก็ด้วยความเห็นอกเห็นใจนะ ต่างฝ่ายต่างก็เน้นไปที่การสูญเสีย รวมไปถึงการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายตัวเอง
คือต้องคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของคนที่สู้กับคุณ ถ้าคุณเห็นความเป็นมนุษย์ของคนที่สู้กับคุณแล้ว โอกาสที่คุณจะใช้ความรุนแรงทำร้ายเขา มันก็จะลดน้อยลง
ผู้ชุมนุมถูกปลุกระดมให้เกลียดฝ่ายรัฐ ส่วนฝ่ายรัฐปฏิบัติราวกับผู้ชุมนุมเป็นศัตรู ถือเป็นข้ออ่อนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเปล่า
ข้ออ่อนนี้ เป็นกันทุกฝ่ายนะครับ เสื้อเหลืองก็เป็น เสื้อแดงก็เป็น ฝ่ายรัฐก็เป็น ประเทศไทยสัก 100 ปีข้างหน้า เราก็ยังต้องมีกองทัพไทย เราก็ยังมีคนที่เชื่อในอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสื้อแดง เราก็ยังมีคนที่เชื่อในอุดมการณ์เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องการรักชาติแบบเสื้อเหลือง มันไม่มีอะไรที่จะหายไปหรอก คุณตั้งใจที่จะทำให้เสื้อแดงหายไปหมดเหรอ ? คุณตั้งใจที่จะทำให้เสื้อเหลืองหายไปหมดเหรอ ? คุณตั้งใจที่จะทำให้กองทัพไทยหายไปจากประเทศไทยเหรอ ? ไม่มี...วันนั้นจะไม่มี
คือจินตนาการบรรเจิดที่ว่า ประเทศไทยไม่มีกองทัพ ประเทศไทยไม่มีเสื้อแดง ประเทศไทยไม่มีเสื้อเหลือง มันต้องเลิก มันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยมีหลายกลุ่ม หลายฝ่าย มีความแตกต่างทางการเมือง เรายังต้องทะเลาะกันอีกยาวนาน
มวลชนทุกสีเสื้อคงทะเลาะกันที่ความคิดเลือกข้าง แต่ระดับนำของทั้ง 2 ฝ่ายมีผลประโยชน์มหาศาลเป็นเดิมพัน และใช้ชีวิตมวลชนมาต่อรอง
ในความหมายนี้ ผมจึงคิดว่า แกนนอนของคุณสมบัติมีความสำคัญ คงต้องคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมวลชนกับแกนนำในการเคลื่อนไหวเสียใหม่ทุกสี ผมว่า ที่ผ่านมามีการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ภายในองค์กรไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าไหร่ มีลักษณะนำเดี่ยว หรือนำไปตามใจ หรือพร้อมที่จะเอามวลชนเป็นเบี้ย เพื่อแลกกับชัยชนะ อันนี้พูดด้วยความเคารพ ว่าทุเรศที่สุด ผมนึกคำที่แรงกว่านี้ไม่ได้ มันทุเรศ...อย่าทำแบบนั้น...คือต้องคิดใหม่ในหมู่แกนนำ เรื่องการเอาชีวิตคนเป็นเบี้ย เป็นเครื่องมือ
ในแง่กลับกัน ผมคิดว่า มวลชนก็อย่าได้ปล่อยให้ตัวเองเป็นเครื่องมือของแกนนำ การเข้าไปร่วมเนี่ย คุณก็มีอุดมการณ์ร่วม คุณมีแนวคิดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีร่วมกับเขา ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณคิดว่ามันชอบกล ไม่เข้าท่า มวลชนก็อย่าไปยอม
ทุกครั้งที่มีการชุมนุมของทุกสี ก็ต้องปลุกอารมณ์
ถ้าใช้อารมณ์ คุณก็ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายที่อยากจะใช้คุณเป็นเครื่องมือ คือเราคงไม่สามารถหลีกพ้นสภาวะอันนี้ ในโลกของเราต่อไปข้างหน้า ก็ยังมีคนที่ใช้อารมณ์มวลชนเป็นเครื่องมือ
มวลชนอาจจะบอกว่าเต็มใจ ตายก็ยอม ขณะที่คนได้ประโยชน์คือแกนระดับนำระดับบน
อืม...ม ผมเห็นด้วยนะ คือคนที่เขามีความเชื่อ พร้อมจะเอาชีวิตเข้าแลกและยอมตายเพราะความเชื่อ ผมเคารพนะ แต่ที่ผมกลัว คือพลิกนิดเดียว ไปเป็นเขายอมฆ่าเพราะความเชื่อ สิ่งนี้ผมอยากจะให้คิดซะใหม่ คุณยอมตายเพราะความเชื่อเพื่ออุดมการณ์คุณ ผมนับถือ แต่อย่ายอมฆ่าเพราะความเชื่อ มันต่างกันนิดเดียวจริง ๆ ต้องระวัง
คุณทักษิณเป็นตัวแปรสำคัญของการเมืองไทย เขาควรมีท่าทีอย่างไรต่อมวลชนและฝ่ายตรงข้ามภายในประเทศ
คุณทักษิณในฐานะสิ่งมีชีวิตทางการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่แน่นอนของตัว จะไม่ให้เขาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวเขา ก็คงไม่ได้ ในความคิดความเข้าใจของเขา ก็คงรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งก็มีสิทธิที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมนั้น
หน้าที่ของพวกเรา ก็คือจะออกแบบระเบียบการเมือง ระเบียบการปกครองอย่างไร ที่จะมีที่ให้คุณทักษิณ รวมทั้งกลุ่มอื่นอยู่ตรงข้าม ต่อสู้แสวงหาความเป็นธรรม โดยไม่ทำให้บ้านเมืองทั้งหมดพังฉิบหายด้วย เพราะมีคนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าถูกคุณทักษิณรังแกเอาเปรียบ เขาคงรู้สึกเหมือนกันว่าในยุคคุณทักษิณ เขาก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าไหร่ เราจะออกแบบอย่างไร เพื่อให้คนเหล่านี้เล่นได้ โดยไม่ทำให้ทั้งหมดฉิบหายไปด้วย อันนี้สำคัญกว่า
ผมคิดว่า ถ้าจะไม่ให้คุณทักษิณมีบทบาททางการเมืองเลย หรือจะไม่ให้คนที่รู้สึกว่าถูกคุณทักษิณรังแกมีบทบาททางการเมืองเลย มันผิดวิสัยมนุษย์ว่ะ มนุษย์มันก็เป็นสัตว์การเมือง มันก็เคลื่อนไหวแบบนี้แหละ
แต่ว่า เรากำลังปล่อยให้ความขัดแย้งของกลุ่มคนเหล่านี้ทำลายระเบียบการเมืองของเรา ของลูกหลานเราฉิบหายไปหมดเลย จนกระทั่งการเมืองแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องยิงกัน ต้องมาฆ่ากัน
เราต้องหาวิธีที่ต่อให้คุณทักษิณ หรือฝ่ายตรงข้ามคุณทักษิณ นึกอยากจะใช้วิธีที่เลวร้าย ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ คือระเบียบการเมืองมีความแข็งแรงพอที่จะทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็น ธรรมดาในทางผลประโยชน์ของกลุ่มคนเหล่านี้เดินไปตามวิถีของมัน
วิธีคิดที่ว่าทำใจ ทีใครทีมัน จะทำให้บ้านเมืองสงบได้ไหม
จะ ไปเปลี่ยนความคิดเรื่องทำใจ ทีใครทีมันคงไม่ได้ แต่เราต้องสร้างระเบียบการเมือง ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนได้ที ก็ต้องไม่ทำร้ายส่วนรวม ควรจะทีใครทีมันให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์กติกา ไม่ทำลายส่วนรวม อันนี้คือระเบียบการเมือง
ขั้นต่ำ คือมีกติกาแน่นอน ยอมรับว่า ใครชนะแล้ว เล่นเกมใหม่ ไม่ใช่พอฝ่ายตรงข้ามชนะแล้ว บอกว่า กูจะไม่ยอมให้มึงปกครอง แล้วทำทุกวิถีทาง เอามึงลงให้ได้ ซึ่งผมรู้สึกว่า อันนี้มันเล่นกันซะจนบ้านเมืองฉิบบหายหมด แบบนี้ตายทั้ง 2 ฝ่าย กลับไปสู่วงจรอุบาทว์เก่า อำนาจนิยมโดยรัฐบาล อนาธิปไตยโดยมวลชน
การชุมนุมแบบเดิม มักวัดกันที่จำนวนมวลชน เปลี่ยนไปเป็นวัดกันที่ประเด็นความต้องการ
ก็เป็นความก้าวหน้าขึ้น ผมคิดว่า กว่าจะมาถึงปัจจุบัน เริ่มชัดเจนแล้วว่า ความขัดแย้งมันเป็นเรื่องอะไรบ้าง ถึงทุกวันนี้ ผมคิดว่า การเมืองไทย ไม่มีใครคิดล้มเจ้าเพื่อเป็นสาธารณรัฐ แม้แต่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล แกก็ไม่ได้บอกว่าจะล้มเจ้า
ฉะนั้น ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่เรื่องจะล้มเจ้า หรือไม่ล้มเจ้า แต่เป็นประเด็นว่า คุณจะสร้างระเบียบการเมืองอย่างไร ที่จะมีที่ทางให้พลังการเมืองฝ่ายต่าง ๆ และสถาบันหลักต่าง ๆ ของสังคมได้วางฐานะตัวเองได้เหมาะสม นี่คือโจทย์ระยะยาว แต่ตอนนี้ ถูกถมทับด้วยโจทย์ระยะสั้น เรื่องที่ฆ่ากัน อันนี้ก็ปวดหัวเข้าไปอีก
มีกระแสมวลชนบางกลุ่มคิดว่าต้องล้มเจ้าเพื่อแก้ปัญหา
คงมีคนที่คิดแบบนั้นอยู่บ้าง แต่ในแง่กลับกัน ในเมืองไทย มีคนรักสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลที่ดีที่สุด...เราอยู่ในประเทศที่มีคนทั้ง 2 แบบ เอาอย่างงี้ก็แล้วกัน จะฆ่ากันเหรอ ? มีช่องทางใด ไหมที่จะมานั่งถกเถียงด้วยเหตุผลว่าอะไรคือปัญหาที่ติดขัดข้องใจ อะไรคือฐานะบทบาทตำแหน่งของสถาบันสำคัญของประเทศที่ควร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา