เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

มายาคติที่ (ยัง) สวมทับคนเสื้อแดง

นักปรัชญาชายขอบ

นักปรัชญาชายขอบ เสนอให้คนเสื้อแดงสลัดพ้นมายาคติสำหรับการต่อสู้ และเสนอ "วาระที่เป็นรูปธรรม" ในการป้องกันไม่ให้อำนาจนอกระบบมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ความชอบธรรมในการต่อสู้ทางการเมืองของมวลชนคือ การสามารถอธิบายได้ว่าเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และ/หรือประชาธิปไตย แน่นอนว่าถ้าใช้เกณฑ์นี้ตัดสิน การต่อสู้ของพันธมิตรย่อมหมดความชอบธรรมไปแล้วตั้งแต่เรียกร้องพระราชอำนาจ และรัฐประหาร

ในทำนองเดียวกัน พรรคการเมืองที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจรัฐด้วยอาศัย “เส้นสนกลใน” ของฝ่ายจัดการอำนาจที่ประกอบด้วยอำมาตย์ พันธมิตร และกองทัพย่อมเป็นรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรมตั้งแต่แรกเช่นกัน

แต่สังคมนี้ยังช่วยกันสร้าง “มายาคติความชอบธรรม” ให้กับรัฐบาลเช่นนี้ แม้เมื่อหลังสลายการชุมนุมที่มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก โดยเฉพาะคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ “ปัญญาชนแถวหน้า” ยังเข้าร่วมชูธง “มายาคติความชอบธรรม” แก่รัฐบาลที่เสวยอำนาจบนความตายของประชาชนอย่างหน้าตาเฉย

เรียกว่าโจมตี “โครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรม” มาตลอด แต่ก็ไม่รังเกียจที่จะเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการยืดอายุโครงสร้างอำนาจ อันอยุติธรรมนั้น แถมยังชูวาทกรรมสวยหรูด้วยว่า จะปฏิรูประเทศเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างระบบรองรับอำนาจต่อรองทางการเมืองที่เท่าเทียมและเป็นธรรม (อย่างไรครับ?)

ในสภาวการณ์ที่สังคมยังคงเคลิ้มไปกับ “มายาคติความชอบธรรม” ของรัฐบาลที่ค้ำยันโครงสร้างอำนาจอันอยุติธรรม คนเสื้อแดงก็ถูกสวมทับด้วย “มายาคติความไม่ชอบธรรม” ที่ถูกสวมทับมาแต่เดิมก็ยังเปลื้องไม่ออก และยังสวมทับซ้ำลงไปอีกทั้งโดยการกระทำของฝ่ายอื่นและทำตัวเอง

มายาคติความไม่ชอบธรรมที่สวมทับคนเสื้อแดงมาแต่เดิม คือเรื่อง “การ สู้เพื่อทักษิณ” ระยะเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ชัดแล้วว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่ม็อบรับจ้าง แต่ประเด็น “ข้ามพ้นทักษิณ” หรือไม่ยังเป็นมายาคติที่ 1) มีคนอื่น ฝ่ายอื่นอยากให้คนเสื้อแดงข้ามพ้นทักษิณจริงๆ และพยายามโฆษณาชวนเชื่อ (หลอกสังคม) ว่า การข้ามไม่พ้นทักษิณไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 2) คนเสื้อแดงพยายามบอกกับสังคมว่าพวกตนข้ามพ้นทักษิณไปแล้ว แต่ภาพมันฟ้องว่า “อาจจะ” ยังไม่ใช่

อันที่จริงความพยายามบอกกับสังคมใน 2) ไม่จำเป็นเลย ถ้าคนเสื้อแดงไม่หลงมายาคติใน 1) เพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดงกับคุณทักษิณ สามารถอธิบายได้สองแบบ

แบบแรก ถ้าคนเสื้อแดงสู้เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองของคุณทักษิณล้วนๆ หรือสู้เพื่อประชาธิปไตยแต่ผูกติดกับเงื่อนไขว่า คุณทักษิณต้องกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น การต่อสู้ของคนเสื้อแดงย่อมขาดความชอบธรรม

แบบที่สอง ถ้าคนเสื้อแดงสู้เพื่อต่อต้านอำนาจนอกระบบการเลือกตั้ง ยืนยันอำนาจตามระบบการเลือกตั้ง หรือยืนยันเสรีภาพและอำนาจในการปกครองตนเองของประชาชน และถือว่าคุณทักษิณเป็นแนวร่วมหนึ่งในฐานะที่เขามาจากเสียงส่วนใหญ่ของ ประชาชนแล้วถูกอำนาจนอกระบบล้มไป การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและอำนาจในการปกครองตนเองของประชาชนย่อมเป็นความชอบ ธรรม และการปกป้องคุณทักษิณ (หรือใครก็ตาม) ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากอำนาจนอกระบบย่อมเป็นความชอบธรรม

ฉะนั้น หากการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นแบบที่สองก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการก้าวข้ามหรือก้าวไม่ข้ามทักษิณอีกต่อไป

ระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์อะไร พิสูจน์การต่อสู้แบบแรกหรือแบบที่สอง?

ถ้าระยะเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์ว่าคนเสื้อแดงต่อสู้แบบที่สอง ปัญหาคือคนเสื้อแดงไปสวมมายาคติให้กับตัวเองอีกทำไม ด้วยการไปแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และพวก

ถ้าเราจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชน แต่ยังไปยอมรับกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพประชาชน นี่เป็นมายาคติที่แย่ที่สุด มันลดทอนความชอบธรรมในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของตนเองยิ่งกว่าข้อกล่าวหา ว่าสู้เพื่อทักษิณด้วยซ้ำ

สู้เพื่อทักษิณยังอธิบายได้ว่า ทักษิณมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วถูกทำรัฐประหาร และถูกดำเนินการทางกฎหมายโดยไม่ชอบธรรมหรือไม่ใช้กระบวนการอันเหมาะอันควร (due process) การปกป้องทักษิณ (หรือใครก็ตาม) ที่ถูกกระทำเช่นนั้นย่อมเป็นการปกป้องหลักการประชาธิปไตยและหลักความเป็นธรรมตามกฎหมาย

แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (ที่มีความหมายสำคัญว่าสู้เพื่อเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นธรรมในอำนาจต่อรองทางการเมือง) โดยการใช้กฎหมายหมิ่นฯ กับฝ่ายตรงข้ามไม่มีทางอธิบายได้ว่าวิธีสู้แบบนี้จะได้มาซึ่งประชาธิปไตย อย่างไร?

ความจริงแล้ว คนเสื้อแดงน่าจะก้าวข้ามมายาคติเหล่านี้ไปได้แล้ว เราพูดกันเรื่อง “ตา สว่าง” ทำไมเราไม่เสนอวาระที่เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นว่า เมื่อตาสว่างแล้วจะมีวิธีแก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร จะทำอย่างไรบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้อำนาจนอกระบบมาแทรกแซงการเมืองได้อีกต่อ ไป จะเอาอำมาตย์ เอาทหารออกไปจากการเมืองได้อย่างไร

พันธมิตรสายอุดมการณ์ (ถ้ามี) อย่างพิภพ ธงไชย ยังพูดย้ำแล้วย้ำอีกว่า “ทักษิณ ต้องกลับเข้ามาสู่การเมืองอีกไม่ได้” ช่วงส่งท้ายปีเก่าเขาก็พูด ราวกับว่าอุดมการณ์ของพันธมิตรคือ “สู้เพื่อไม่ให้ทักษิณกลับเข้าสู่การเมือง” ชัดเจนไหม!

วาระการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง ก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการต่อสู้เพื่อให้อำนาจนอกระบบการเลือกตั้งออกไปจากการเข้ามา “จัดการ อำนาจปกครองประเทศ” ถ้าใครจะเข้ามาสู่การเมือง (ไม่ว่าทักษิณหรือใคร) ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ยุติการปฏิวัติรัฐประหารโดยสิ้นเชิง นี่คือวาระการต่อสู้ที่ชอบธรรมอย่างแท้จริงของคนเสื้อแดง

คือถ้าคนเสื้อแดงดำรงจุดยืนที่ชัดเจนนี้ สู้ต่อไปเรื่อยๆ ด้วยแนวทางสันติวิธีจนกว่าจะบรรลุผล ก็สุดยอดแล้ว ปัญหาอื่นๆ (เช่นทุนนิยมอุปถัมภ์) สังคมก็ต้องช่วยกันแก้ คนเสื้อแดงไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง (และไม่ควรแส่ไปทุกเรื่องเหมือนพันธมิตร)

ฉะนั้น ก้าวต่อไป คนเสื้อแดงต้องสลัดมายาคติทิ้งไป และเสนอ “วาระที่เป็นรูปธรรม” ในการป้องกันไม่ให้อำนาจนอกระบบมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา