- ให้นักศึกษามีความรู้ในวิชารัฐธรรมนูญทั่วไป และ
- ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้า คือให้นักศึกษาเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง
ความคิดที่ข้าพเจ้าได้แบ่งการสอนรัฐธรรมนูญออกเป็นสองภาค คือ ภาค ๑ วิชารัฐธรรมนูญทั่วไป และภาค ๒ รัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้น มาจากหลักสูตรการสอนกฎหมายของมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ในขณะที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาอยู่ คือ ค.ศ. ๑๙๓๓ – ๑๙๓๗ ที่ได้มีการสอนทั้งวิชาความรู้เบื้องต้นในทางรัฐศาสตร์ (Introduction to Political Science, Allgemeine Staatslehre)2 และวิชารัฐธรรมนูญทั่วไปด้วย โดยแต่ละวิชาได้มีการแยกสอนเป็นหลักสูตรต่างหาก และสอนโดยศาสตราจารย์ต่างคนกัน
ในสมัยนั้นถือว่า วิชารัฐธรรมนูญทั่วไปเป็นวิชาที่ใหม่กว่า “รัฐศาสตร์” และตำราที่เขียนถึง “วิชารัฐธรรมนูญทั่วไป” และข้าพเจ้าได้เคยทดลองสอนที่คณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยตลอดจนสถาบันชั้นสูงบางแห่งมาแล้วได้ผลดี ข้อพิสูจน์ที่ว่า การสอน “วิชารัฐธรรมนูญทั่วไป” อำนวยคุณประโยชน์ก็คือ ข้าพเจ้าได้สอนวิชานี้มาตั้งแต่ขณะใช้ รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ ฉบับ ๒๔๙๕ และธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร โดยอาศัยตำราของศาสตราจารย์ Carl Schmitt ซึ่งสอนข้าพเจ้าที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินเป็นรากฐาน โดยไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมหลักการในวิชานี้แต่ประการใด จริงอยู่ในขณะใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรซึ่งมีบทบัญญัติที่อ้างว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ได้ยอมให้มีพรรคการเมือง แต่ข้าพเจ้าก็คงสอนตามคำบรรยายวิชารัฐธรรมนูญทั่วไปที่เขียนไว้เดิม คือระบอบประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีพรรคการเมือง ส่วนในขณะใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไม่ยอมให้มีพรรคการเมืองเป็นแต่ข้อ ยกเว้นเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศชั่วคราวและวันใดวันหนึ่งก็จะต้องกลับมี พรรคการเมืองตามเดิม
แต่จุดประสงค์ในการสอนที่สำคัญของข้าพเจ้าได้แก่ การสอนให้นักศึกษาเป็นนักประชาธิปไตย ซึ่งข้าพเจ้าต้องยอมรับในข้อเท็จจริงว่า ได้รับผลสำเร็จไม่มากนัก ในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ ข้าพเจ้าได้พยายามที่จะวางตนให้นักศึกษาเห็นว่า ข้าพเจ้าไม่แต่เป็นอาจารย์ของเขาเท่านั้น แต่ข้าพเจ้ายังเป็นนักประชาธิปไตยที่เขาถือเป็นแบบอย่างได้เช่นเมื่อสุขภาพ ของข้าพเจ้ายังดีอยู่ไม่ทรุดโทรมดังปัจจุบันนี้ แม้จะมีลิฟต์สำหรับให้อาจารย์ขึ้นลงเพื่อไปสอน ข้าพเจ้าก็มิได้ใช้ลิฟต์แต่ขึ้นบันไดลงบันไดเช่นเดียวกับนักศึกษาทั้งหลาย ทั้งนี้เพื่อจะได้มีโอกาสสนทนาปราศรัยกับนักศึกษาบางคน เพื่อให้นักศึกษาเห็นว่า อาจารย์ของเขานั้นก็เป็นมนุษย์ปุถุชนเหมือนเขานั่นเอง เป็นแต่มีหน้าที่คนละอย่าง คืออาจารย์มีหน้าที่สอนส่วนนักศึกษามีหน้าที่เรียนเท่านั้น ข้าพเจ้าได้พูดกับนักศึกษาอย่างเป็นกันเอง เพื่อแสดงว่าได้มีมนุษย์สัมพันธ์ (Human relation) ระหว่างเขากับข้าพเจ้า นักศึกษาไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องกลัวเกรงอาจารย์ ในเมื่อเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย หรือฝ่าฝืนระเบียบวินัยของมหาวิทยาลัย ถ้านักศึกษามีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไร เขาควรพูดกับอาจารย์ของเขาได้โดยสะดวกใจและอย่างเป็นกันเองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ คณบดีคณะนิติศาสตร์ได้ตั้งให้ข้าพเจ้าเป็น “อาจารย์พี่เลี้ยง” ของนักศึกษาปีสองของคณะนิติศาสตร์ อาจารย์พี่เลี้ยงนี้มิใช่มีหน้าที่ให้คำตักเตือนแนะนำในวิชาที่สอนที่ปีสอง เท่านั้น แต่ยังจะต้องให้คำตักเตือนแนะนำในเรื่องส่วนตัวของนักศึกษาในฐานที่เคยมี ประสพการณ์ในชีวิตมาก่อนด้วย ซึ่งจะทำให้ข้าพเจ้าใกล้ชิดและมีโอกาสจูงใจให้นักศึกษาเป็นประชาธิปไตยมาก ขึ้น นักศึกษาควรจะรู้สึกว่าอาจารย์ทุกคนเป็นอาจารย์ของเขาเองเหมือนกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เป็นมหาวิทยาลัยของเขาเอง นักศึกษาจะแยกตัวออกจากอาจารย์หรือมหาวิทยาลัยไปไม่ได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้านักศึกษาคิดได้อย่างนี้ต่อไปเขาก็จะเริ่มรู้สึกว่า เทศบาลก็เป็นเทศบาลของเขาเองและต่อมาก็จะเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาล รัฐสภา และศาลยุติธรรมก็เป็นของเขาเอง ไม่ใช่ “ของท่าน” ดังที่เป็นอยู่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นสิ่งที่เขาจะต้องหวงแหนเหมือนเงินในกระเป๋าของเขา และเป็นสิ่งที่เขามีสิทธิและเสรีภาพพร้อมบูรณ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้โดย สุจริตและสุภาพ แต่จะให้เป็นเช่นนี้ได้ รัฐมนตรีเองรวมตลอดถึงข้าราชการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทน จะต้องแสดงให้ราษฎรเห็นว่า เขาเหล่านั้นเป็นของประชาชนด้วย โดยจะต้องลดตัวลงมาให้เท่าเทียมกับราษฎรทั้งหลาย มิใช่เจ้าขุนมูลนายของประชาชนอีกต่อไป ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้อเรียกร้องเช่นนี้ทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้เห็นการวางตนของข้าราชการในสมัยสมบูรณาญา สิทธิราชย์มาแล้ว และซึ่งก็เป็นความจำเป็นสำหรับการปกครองในสมัยนั้น ที่จะมีการยกย่องเกียรติยศเป็นชั้น ๆ ดังจะเห็นได้ว่า ข้าราชการชั้นผู้น้อยและผู้ใหญ่ต่างก็ถือศักดินาต่างกัน ผู้ดำรงบรรดาศักดิ์ชั้นหมื่นถือศักดินาสูงกว่าราษฎรธรรมดา แต่ถ้าเป็นสมเด็จเจ้าพระยาหรือพระบรมวงศานุวงศ์ก็ถือศักดินาสูงขึ้นอีก
แต่บัดนี้เราได้มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว และประชาธิปไตยวางรากฐานอยู่บนความเสมอภาคในการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่ง มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้ เรายกย่องเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้คุ้มครองไว้เป็นพิเศษ โดยเอาโทษการประทุษร้ายสูงกว่าการประทุษร้ายคนธรรมดาสามัญมากมาย (ดู มาตรา ๑๐๗ และมาตรา ๑๐๙) แต่นอกจากนั้นทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย (หลัก Equality before the Law)
ในระบอบประชาธิปไตย คนย่อมสูงเด่นกว่ากันตามคุณงามความดีที่เขากระทำให้แก่สังคม ใครทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมมาก ไม่คอร์รัปชั่น คดโกง ประชาชนเขาก็นับถือเอง ในระบอบประชาธิปไตยไม่มีใครบังคับประชาชนให้เคารพนับถือบุคคลใดได้ แต่ถ้าประพฤติตัวดี เขาก็เคารพนับถือเอง
ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านทั้งหลายโปรดอย่าได้เข้าใจผิดว่า ข้าพเจ้าจะเห็นว่าการกราบไหว้ผู้ใหญ่เพราะมีชาติวุฒิ คุณวุฒิ หรือวัยวุฒิ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาวไทยเราควรจะเลิกไป ในทางตรงกันข้าม ข้าพเจ้ากลับเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องรักษาวัฒนธรรมอันดีงามนี้ไว้อย่างที่สุด เพราะถ้าชนของชาติใดไม่รักษาวัฒนธรรมประจำชาติของตนไว้ ในไม่ช้าชนชาตินั้นจะแยกตนเองไม่ออกจากคนต่างด้าว และต่อไปในประเทศนั้น ๆ จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ นอกจากการบูชาเงินเป็นพระเจ้า
อนึ่ง การที่บุคคลเคารพนับถือกันเพราะคุณงามความดี ที่เขาเหล่านั้นทำให้แก่สังคมย่อมเป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการกระตุ้นเตือนให้บุคคลต่าง ๆ แข่งขันกันในทางทำคุณงามความดี ซึ่งผลที่สุดจะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม ในทางตรงกันข้าม บุคคลซึ่งแม้ดำรงตำแหน่งในทางราชการสูงเท่าใด หรือมั่งมีทรัพย์สินมากเท่าใด แต่ถ้าไม่ทำคุณงามความดีให้แก่สังคมแล้ว ก็ไม่ควรจะได้รับการยกย่องนับถือ ข้าพเจ้าเคยยกตัวอย่างให้นักศึกษาฟังว่า ถ้าจะมีเทวดาองค์หนึ่งเหาะผ่านหน้าต่างมา ข้าพเจ้าก็ไม่เห็นเหตุผลอะไรที่นักศึกษาจะกราบไหว้ เพราะการเหาะได้เป็นผลดีแก่เทวดาองค์นั้นเอง สังคมไม่ได้พลอยได้ดิบได้ดีอะไรด้วย และคนสามัญก็อาจจะซื้อตั๋วเครื่องบินบินไปยังที่ต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจจะเร็วกว่าการเหาะได้ของเทวดาเสียอีก ถ้าเทวดานั้นได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม จึงควรจะกราบไหว้ ในระบอบประชาธิปไตย บุคคลควรจะแสดงความรังเกียจคนที่ประพฤติตัวเลวทรามต่ำช้า เพราะถ้าสังคมยังนิยมยกย่องบุคคลดังกล่าวอยู่ตราบใด เช่นเป็นเพราะเขาเป็นผู้มีบุญวาสนาหรือทรัพย์สินมาก เมื่อนั้นบุคคลก็จะไม่มีความละอายใจที่จะกระทำความชั่ว เพราะคิดว่าเป็นคนมีบุญวาสนา หรือมีทรัพย์สินเสียหน่อยหนึ่งแล้ว สังคมก็ยินดีต้อนรับ ซึ่งความจริงไม่มีเหตุผลอะไรเลย เพราะในระบอบประชาธิปไตย บุคคลเสมอภาคกัน ถ้าไม่ทำคุณงามความดีให้แก่สังคมให้ดีเด่นกว่าผู้อื่น เขาก็ควรเสมอ ๆ กับคนอื่น เราจะไปยกย่องเขาทำไม เขามีตำแหน่งสูงหรือมั่งมีก็เป็นประโยชน์แก่ตัวของเขาเอง ถ้าเขาไม่ทำคุณงามความดีให้แก่สังคม สังคมก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย
อย่างไรก็ดี การที่เราเคารพนับถือบุคคลเพราะเขามีคุณงามความดี โดยทำประโยชน์ให้แก่สังคมนั้น ในระบอบประชาธิปไตยไม่หมายความว่า เขาจะต้องยอมเอออวยกับความคิดเห็นของบุคคลที่เขาเคารพนับถือนั้นด้วย เมื่อข้าพเจ้าได้เริ่มสอนกฎหมาย โดยได้สอนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ข้าพเจ้าได้นำเอาความคิดเห็นของอาจารย์ต่าง ๆ ที่สอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมาแสดงไว้ บางท่านก็เคยเป็นอาจารย์สอนวิชานี้แก่ข้าพเจ้ามา บางท่านก็เป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย พร้อมกับชี้ให้เห็นด้วยว่า ข้าพเจ้าเองมีความคิดเห็นอย่างไร นักศึกษาจะเห็นด้วยกับอาจารย์คนอื่นหรือข้าพเจ้า หรือจะมีความคิดเห็นของตัวเองก็ได้ ขออย่างเดียวคือ ต้องแสดงความคิดเห็นของอาจารย์อื่นและของข้าพเจ้าด้วยเพื่อข้าพเจ้าจะได้ ทราบว่า นักศึกษาได้ศึกษาความคิดเห็นเหล่านั้นแล้ว และเขาเองได้มีความคิดเห็นของเขาอย่างไร เป็นการสอนให้นักศึกษาเป็นตัวของตัวเอง และเป็นการสอนให้นักศึกษาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นเสรีภาพที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ ในการนี้ข้าพเจ้าได้ย้ำให้นักศึกษาเข้าใจว่า การที่นักศึกษาไม่มีความคิดเห็นตรงกับข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าไม่ถือเป็นข้อพึงตำหนิ แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าจะพึงชมเชยด้วยซ้ำ ในประเทศไทยเรานี้มีผู้กล้าหาญในทางกำลังกายเป็นอันมาก ดังจะเห็นได้จากการประกาศรับอาสาสมัครไปสงครามที่สมรภูมิเกาหลี และเวียดนามใต้ ซึ่งมีชายสมัครจนเกินจำนวนที่ต้องการอยู่เสมอ แต่จะหาบุคคลที่มีความกล้าหาญในทางจิตใจนั้น ยากที่จะหาได้ ข้าราชการน้อยคนที่มีจิตใจกล้าที่จะแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น ในเมื่อเขาทราบว่าผู้บังคับบัญชาได้เชื่อข้อเท็จจริงไปอีกอย่างหนึ่ง หรือได้มีความคิดเห็นขัดแย้งกับความคิดเห็นของเขา เรามักจะเอาสุภาษิตโบราณมาใช้อย่างผิด ๆ เช่น สุภาษิตที่ว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียได้ตำลึงทอง” หรือ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” มีผู้ใหญ่คนหนึ่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า มีข้าราชการราชสำนักในรัชกาลที่ ๖ ท่านหนึ่งซึ่งเวลาที่ในหลวงทรงรับสั่งถามความเห็น มักจะตอบว่า “ชอบกลพระพุทธเจ้าข้า” หรือ “น่าคิดพระพุทธเจ้าข้า” โดยไม่มีใครทราบว่า ข้าราชการผู้นั้นมีความคิดเห็นอย่างไร โคลงบาท ๔ ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงแปลจากสุภาษิตฝรั่งว่า “เกียรติศักดิ์รักของข้า มอบไว้แก่ตัว” นั้น เวลาข้าพเจ้าสอนนักศึกษา ข้าพเจ้าดัดแปลงเป็นว่า “ความคิดเห็นของข้า มอบไว้แก่ตัว” อันที่จริง ถ้าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย และไม่ได้ทำผิดวินัย ทำไมเราจึงต้องเกรงกลัวผู้อื่น เขาจะมาทำอะไรเราได้ ถ้าหากเราจะแสดงความคิดเห็นของเราโดยบริสุทธิ์ใจ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันคิด ช่วยกันแสดงความคิดเห็น ปล่อยให้ผู้นำหรือคณะผู้นำในทางการเมืองคิดเห็นแต่ฝ่ายเดียว จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่า ผู้นำและคณะผู้นำจะมีความคิดเห็นถูกต้องเสมอไป ถ้าการตัดสินใจของผู้นำเกิดจากการได้ยินได้ฟังความคิดเห็นจากหลายด้านด้วย กันก็จะช่วยให้ผู้นำหรือคณะผู้นำตัดสินใจได้ถูกต้องมากขึ้น เรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็เพื่อจะให้คนทั้งประเทศช่วยกันทั้งกำลัง กาย กำลังความคิด สติปัญญา และทรัพย์สิน จรรโลงประเทศชาติของเรา อย่าลืมสุภาษิตโบราณที่ว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” บุคคลแม้ฉลาดหลักแหลมสักเท่าใด แต่ถ้าเอาแต่ใจตนเอง คิดเห็นว่าตนเก่งกว่าผู้อื่น ไม่ยอมฟังความคิดเห็นของผู้ใด บุคคลนั้นก็คงจะพลาดพลั้งลงสักวันหนึ่ง และการพลาดพลั้งของบุคคลดังกล่าวนี้ ถ้าเขามีตำแหน่งสูงในทางราชการมากเท่าใด เขาก็จะนำความเสียหายมาสู่ประเทศชาติมากเท่านั้น โดยเหตุนี้ ในประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยย่อมจะไม่มีการกีดกันการแสดงความคิด เห็นของบุคคล ซึ่งต่างกับประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ ซึ่งได้มีการปิดปากมิให้ประชาชนมีความคิดเห็นในทางตรงกันข้าม เมื่อต้นปีนี้ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่สหภาพพม่า ปรากฎว่า หนังสือพิมพ์และวิทยุกระจายเสียงต่างดำเนินการโดยรัฐทั้งนั้น แม้ในหนังสือพิมพ์จะยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลบ้างก็ดี แต่ไม่รุนแรง โดยปกติมีลักษณะไปในทางที่ให้รัฐบาลทราบความทุกข์ร้อนมากกว่า
ตามที่กล่ามาแล้วแสดงว่า แม้ในการสอนวิชากฎหมายก็อาจสอนให้นักศึกษาเป็นประชาธิปไตยได้ โดยสนับสนุนส่งเสริมให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ศึกษา เป็นการให้การศึกษาในทางวิชาการ พร้อมกับความเป็นนักประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี การฝึกให้บุคคลเป็นประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่จะทำได้เฉพาะการให้การศึกษาในชั้น มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาชั้นสูงแม้ในโรงเรียนชั้นประถมและมัธยมก็ทำได้ โดยครูหรืออาจารย์สนับสนุนให้นักเรียนได้เป็นตัวของตัวเอง และแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่สอนตามสมควร แต่แม้ในระบบการปฏิบัติราชการ ผู้บังคับบัญชาก็สามารถฝึกผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เป็นนักประชาธิปไตยได้ เช่น ในเวลาปฏิบัติราชการก็สนับสนุนให้มีการแสดงความคิดเห็นตามลำดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประจำแผนกขึ้นมาจนถึงหัวหน้าแผนก หัวหน้ากอง ผู้ช่วยอธิบดี รองอธิบดี แทนที่รองอธิบดีจะเรียกผู้ช่วยอธิบดีหรือหัวหน้ากองมาสั่งให้ร่างหนังสือ แสดงความคิดเห็นของตนเอง และผู้บังคับบัญชาที่ดีย่อมจะไม่ดุหรือแสดงความไม่พอใจในเมื่อผู้อยู่ใต้ บังคับบัญชามีความคิดเห็นไม่ตรงกับตน และในเรื่องความคิดเห็นเช่นนี้ไม่ควรจะวินิจฉัยว่า ความคิดเห็นฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก แต่ควรจะเป็นเรื่องของการมีความคิดเห็นแตกต่างกัน จริงอยู่มีกรณีบางกรณีที่ความคิดเห็นนั้นสามารถพิสูจน์ได้ในทางวิชาการว่า ผิดพลาด แต่ผู้บังคับบัญชาที่ดีก็ไม่ควรจะถือเป็นเหตุดุดัน แต่ควรจะชี้แจงหลักวิชาในเรื่องนั้น ๆ ให้ทราบ ในขณะที่ข้าพเจ้าได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามีความจำเป็นที่ จะต้องตรวจสอบความผิดพลาดหรือความไม่ลงรอยกันในการใช้ถ้อยคำของกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ขอให้ข้าราชการแสดงความคิดเห็นกันทีละคนเป็นลายลักษณ์อักษรมี จำนวน ๕ คน โดยให้เรียงอาวุโสตั้งจากต่ำมาหาสูง คือตั้งแต่เลขานุการกรรมการร่างกฎหมาย จนถึงรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้เพราะถ้าให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แสดงความคิดเห็นเสียก่อน ข้าพเจ้าก็เกรงว่า ข้าราชการที่มีอาวุโสต่ำลงมาคงจะเกรงใจหรือไม่กล้าแสดงความคิดเห็นขัดแย้ง และข้าพเจ้าเองเป็นผู้วินิจฉัยเด็ดขาดในที่สุดว่า ควรถือตามความเห็นของผู้ใด ทั้งหมดหรือบางส่วน ข้าพเจ้าจำได้ว่ามีข้าราชการบางคนมาต่อว่าข้าพเจ้า ว่าข้าพเจ้าวินิจฉัยผิดพลาด ข้าพเจ้าก็ตอบว่า เป็นเรื่องของความคิดเห็น ซึ่งอาจมีแตกต่างกันได้ แต่ในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบ ข้าพเจ้าก็ต้องชี้ขาดไปในทางใดทางหนึ่ง ข้าพเจ้าคิดว่านี่เป็นการฝึกให้บุคคลเป็นนักประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง และข้าพเจ้าไม่ทราบว่า ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของข้าพเจ้าเป็นนักประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด แต่ข้าพเจ้าทราบว่า งานของข้าพเจ้าได้รับผลดี เพราะแทนที่ข้าพเจ้าจะใช้ความคิดเห็นของข้าพเจ้าแต่ลำพัง ข้าพเจ้าได้มีข้าราชการที่มีวิชาความรู้ตั้ง ๕ คนช่วยข้าพเจ้า ความผิดพลาดหลงหูหลงตาก็น้อยลง แต่วิธีปฏิบัติราชการของข้าพเจ้านี้ ผู้บังคับบัญชาทำไม่ได้ทุกคน ทั้งนี้เพราะเขาคิดว่า เขามีความรู้ดีกว่า หรือมีประสพการณ์มากกว่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือถ้าให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาแสดงความคิดเห็นแล้ว เขาอาจถูกผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาลบหลู่ดูหมิ่น ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ล้วนแต่เป็นความเข้าใจผิดทั้งสิ้น ที่จริงควรจะถือหลักว่า ทุกคนไม่เก่งทุกอย่าง แต่ถ้าทุกคนช่วยกันทำก็เท่ากับเอาความเก่งของทุกคนมาช่วยทำให้การปฏิบัติ ราชการมีสมรรถภาพดีขึ้น ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้บังคับบัญชาบางคนจึงต้องการแสดงอำนาจราชศักดิ์ อยากให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากลัวเกรง ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าการใช้อำนาจมีประโยชน์นัก อำนาจเป็นสิ่งชั่วที่จำเป็น (neccessary evils) จะต้องใช้เป็นวิถีทางสุดท้าย (last resort) เพียงเพื่อรักษาระเบียบวินัยของหมู่คณะ ข้าพเจ้าอยากให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของข้าพเจ้ารักข้าพเจ้ามากกว่ากลัว ข้าพเจ้า เพราะถ้าเขารักข้าพเจ้าแล้วเขาจะช่วยข้าพเจ้าทำงานไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าจะต้องทำล่วงเวลา แต่ถ้าเขาเป็นแต่กลัวข้าพเจ้า เขาจะทำงานเท่าที่ข้าพเจ้าจะใช้อำนาจได้ คือ เฉพาะเท่าที่ข้าพเจ้าสามารถตรวจตราได้เท่านั้น เขาจะไม่มี “น้ำใจ” ที่จะช่วยเหลือข้าพเจ้า โดยเหตุนี้ ตลอดระยะเวลาที่ข้าพเจ้าได้เป็นผู้บังคับบัญชามา ข้าพเจ้าไม่เคยลงโทษทางวินัยแก่ข้าราชการผู้ใดเลย อย่างมากก็เรียกตัวมาตักเตือน
ในการที่อาจารย์จะฝึกนักศึกษาให้เป็นนักประชาธิปไตย ข้าราชการผู้บังคับบัญชาฝึกข้าราชการผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เป็น ประชาธิปไตยนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องบอกให้รู้ตัวว่า เป็นการฝึกเพื่อเป็นประชาธิปไตยแต่ประการใด เพราะการฝึกให้เขาเป็นตัวของเขาเอง เคารพในเหตุผลของเขาเอง แต่ในเวลาเดียวกันก็เคารพในเหตุผลของผู้อื่น เขาก็เป็นนักประชาธิปไตยไปในตัว
อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วในตอนแรก ๆ ว่า การที่จะฝึกบุคคลอื่นให้เป็นนักประชาธิปไตยนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้รับความสำเร็จเสมอไป ครั้งหนึ่งสมัยที่ข้าพเจ้ายังขับรถยนต์เองอยู่ ขณะที่ข้าพเจ้าจะลงจากรถ มีนักศึกษาคนหนึ่งได้เดินตรงมาเปิดประตูรถให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็กล่าวคำขอบใจ และพูดว่า ทีหลังขออย่าทำเช่นนี้เลย ข้าพเจ้าไม่ทราบว่านักศึกษาผู้นั้นโกรธข้าพเจ้า จนกระทั่งเมื่อปีกลายนี้เอง ซึ่งนักศึกษาผู้นั้นเป็นข้าราชการชั้นพิเศษของกระทรวงมหาดไทยแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ทราบ เพราะมีผู้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เขาได้กล่าวว่า “อาจารย์หยุดนี่ ใช้ไม่ได้ เขานับถือ เปิดประตูรถให้ ยังว่าเขาอีก” และแสดงว่า เขายังโกรธข้าพเจ้าอยู่จนทุกวันนี้ ที่จริงข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์อย่างอื่น นอกจากจะฝึกให้เขาเป็นนักประชาธิปไตย เพราะงานที่เขาช่วยข้าพเจ้า คือการเปิดประตูรถยนต์ให้นี้เป็นงานเบา ทุกคนควรจะกระทำของตนเองไม่ควรจะรบกวนคนอื่น แต่ถ้ารถยนต์ของข้าพเจ้าสตาร์ทไม่ติด ข้าพเจ้าก็ได้ขอแรงนักศึกษาให้ช่วยเข็นรถของข้าพเจ้าอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้าทำเองไม่ได้และนักศึกษาก็ได้ช่วยเหลือข้าพเจ้าด้วยความ ยินดี ไม่ใช่เป็นการกระทำที่ให้เกียรติแก่ข้าพเจ้าแต่ประการใด ในระบอบประชาธิปไตยมนุษย์ย่อมเสมอภาคกันคือมีฐานะเท่าเทียมกัน จะผิดกันก็แต่ตำแหน่งหน้าที่การงาน ถ้าการที่นักศึกษาผู้นั้นเปิดประตูรถเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ข้าพเจ้ามิต้องคอยเปิดประตูรถยนต์ให้แก่ผู้บังคับบัญชาของข้าพเจ้าหรือ และนักศึกษาผู้นั้นมิคาดหมายให้ข้าราชการที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเขาคอย เปิดประตูรถยนต์ให้เขาหรือ ข้าพเจ้าเคยไปดูงานร่างกฎหมายที่สหรัฐอเมริกา และได้ทราบว่า ในสหรัฐอเมริกานั้น เกียรติยศสูงสุดที่เขาจะให้แก่ชาวต่างประเทศที่ทำคุณประโยชน์แก่โลกเช่น นายวินสตัน เชอร์ชิล ก็คือ การเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา เพราะในระบอบประชาธิปไตยไม่มีอะไรที่จะมีเกียรติยิ่งไปกว่าการเป็นพลเมือง ของประเทศ
ฉะนั้น ขอให้เราท่านทั้งหลายจงตั้งต้นความเป็นประชาธิปไตยจากตัวของเราเองโดยมองให้ เห็นว่า เรานี้เป็นแต่คนหนึ่งในบรรดาพลเมือง ๓๓ ล้านคนเศษของประเทศไทย ไม่ต่ำกว่าและสูงกว่า จริงอยู่ประชาธิปไตยย่อมยอมรับหลักเกณฑ์ในทางธรรมชาติที่มีคนฉลาด คนโง่ คนมีทรัพย์สิน ไม่มีทรัพย์สิน คนที่มีประสพการณ์ และคนไม่มีประสพการณ์ ฯลฯ แต่คุณสมบัติเหล่านั้นเป็นสิ่งดีเฉพาะตัวของบุคคลนั้น ๆ เอง แต่ในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เขาย่อมเสมอภาคกันกับบุคคลอื่น เราจะต้องมองเพื่อนร่วมชาติของเราอย่างผู้ที่เท่าเทียมกัน ไม่ยกตนว่าสูงกว่าผู้อื่น ในการบังคับบัญชาก็บังคับบัญชากันไปในตำแหน่งหน้าที่ แต่เราจะต้องรักษาศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และอดทน ฟังการแถลงข้อเท็จจริงหรือความคิดเห็นของคนอื่น ถ้าเรากระทำเช่นนี้ได้ ก็เป็นการสร้างภราดรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สำหรับผู้ที่นับถือพุทธศาสนานั้น ความจริงหลักธรรมในพุทธศาสนาก็สอนให้เขาเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว โดยสอนให้เรารู้จักมี เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา ถ้าแต่ละคนจะตั้งต้นเป็นประชาธิปไตย จากคนส่วนน้อยมายังคนส่วนใหญ่ ประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นเอง อย่าท้อใจเลยกับเสียงวิจารณ์ต่าง ๆ เช่นที่ว่า ชาวไทยเรามาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งมีจำนวนน้อย ร้อยละ ๓๐ – ๔๐ เพราะเราเพิ่งจะตั้งต้นเป็นประชาธิปไตยกันมาไม่นานนักและข้อวิจารณ์ที่ว่า ผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งมาไม่มีคุณสมบัติดีพอที่จะเป็นรัฐมนตรีได้ เพราะนั่นเป็นแต่ความคิดเห็นของคนบางคนเท่านั้น ยังไม่มีอะไรพิสูจน์ความจริง และผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่เวลานี้ก็ไม่ใช่ว่า ได้เคยศึกษาเพื่อจะเป็นรัฐมนตรีมาก่อนถ้าทุกคนมีจิตใจที่จะเป็นนัก ประชาธิปไตย เราก็คงเป็นประชาธิปไตยกันโดยสมบูรณ์
1 คัดมาจาก หยุด แสงอุทัย, “เราจะตั้งต้นเป็นประชาธิปไตยที่ไหน?”, ใน หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย, บพิธการพิมพ์, ๒๕๒๓, หน้า ๒๙๙-๓๐๘. บทความนี้ คัดลอกและพิมพ์ใหม่โดยนายพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล โดยรักษารูปแบบวรรคตอนและย่อหน้าตามต้นฉบับจริงทุกประการ เว้นแต่การแก้ไขคำผิดเล็กน้อยเท่านั้น
2 ต้นฉบับเดิมใช้คำว่า “All Geuneine Staatslehre” เราเข้าใจว่าเป็นความผิดพลาดของการพิมพ์ในสมัยนั้น เพราะคำนี้ไม่ปรากฏในภาษาเยอรมัน มีแต่คำว่า “Allgemeine Staatslehre” ซึ่งแปลได้ว่า General theory of the State
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา