เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

หมอเลี๊ยบ อ่านเกมเลือกตั้ง

วางผัง พท.วัดใจ "มาร์ค" เมื่อ "ทักษิณ" ยังเป็นแฟ็กเตอร์การเมือง เมื่อตารางการเมืองชัดเจน เมื่อเกมการเมืองนับถอยหลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ทั้งนักการเมือง-นักเลือกตั้งเข้าประจำที่จุดสตาร์ตในลู่-เลนสนามแข่งทั้งตัวจริง-ตัวแทน และแฟ็กเตอร์ ทุกตัว-เดินเครื่องเต็มสูบ

"นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" อดีตผู้จัดการรัฐบาล-นักจัดการเลือกตั้ง แชมป์ 2 สมัยตั้งแต่ไทยรักไทยถึงพลังประชาชน วาดเค้าโครง-แคมเปญเลือกตั้ง วิเคราะห์เกมการเมืองก่อนวันพิพากษา-กากบาทจะมาถึง

นโยบายจะเป็นตัวชี้วัดผลแพ้-ชนะการเลือกตั้งได้อีกต่อไปหรือไม่
ความคิดของผู้รับผิดชอบในการเลือกตั้งอาจจะมีความรู้สึกว่านโยบายเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่อาจจะไม่ใช่ส่วนสำคัญ ซึ่งก็อาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอย่างมากมาย หรืออาจจะเกิดจากการมองไม่ออก ว่ามีนโยบายอะไรที่สามารถชูขึ้นมาให้คำตอบกับ สังคมไทยได้

พรรคประชาธิปัตย์ประกาศแคมเปญต่อเนื่องนับถอยหลังสู่การเลือกตั้ง
แน่นอนว่าการรณรงค์หาเสียงจะเข้มข้นขึ้น เพื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้งและชนะการเลือกตั้งได้ ฉะนั้นก็ถึงจุดที่ต้องพูดถึงนโยบายพอสมควร แต่ปัญหาอยู่ตรงที่กระบวนการนำเสนอนโยบายยังไม่สามารถทะลวงจุดกับกรอบแนวคิดเดิม ประเทศเปลี่ยนไปมาก โลกก็เปลี่ยนไปมาก เรายังติดอยู่กับเรื่องแค่สวัสดิการสังคม โดยที่ไม่มองบริบทอื่น ทำให้เราไม่สามารถที่จะพัฒนาประเทศไปถึงจุดที่เรามีขีดความสามารถในการแข่งขันได้

ต้องคิดนโยบายชุดใหม่
ใช่ ต้องคิดชุดใหม่ ภาพของอาเซียนกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า ขณะที่ของไทยยังไม่ตกผลึก ฉะนั้นหากเราไม่สามารถเตรียมการรองรับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ หรือแม้แต่เทคโนโลยีใหม่ ๆ จะทำให้เราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศไปเลย

ต้องก้าวข้ามพ้นความเป็นประชานิยมหรือเปล่า
ประชานิยมหรือโครงการที่เราใช้ในช่วงปี 2544-2549 มันเปรียบเหมือนเรารักษาโรคที่ฉุกเฉินให้เราก้าวพ้นจากขีดอันตราย จะทำอย่างไรให้เราสามารถออกจากห้อง ไอ.ซี.ยู.ได้

วันนี้ถ้าเราออกจากห้อง ไอ.ซี.ยู.ได้แล้วยังใช้ยาชุดเดิม วิธีการรักษาแบบเดิม เราก็จะไม่มีวันเข้มแข็งได้ ผมเชื่อว่าประชาชนวันนี้ไม่ได้ต้องการเพียงสวัสดิการ แต่ต้องการทำให้เขาเข้มแข็งในชีวิต ถ้าเรายังมาติดและทำอยู่แค่เรื่องสวัสดิการ หรือแค่แก้ปัญหาเฉพาะจุด ไม่ได้มองโครงสร้างทั้งระบบ มันไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้

ร่างนโยบายใหม่จะออกมายังไง
นโยบายสำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นประชานิยมหรือประชาวิวัฒน์ มันก็เป็นแค่ยาแก้ปวด ยาลดไข้ที่ไม่สามารถทำให้ร่างกายเข้มแข็งได้ ผมคิดว่ามี 5 ด้านที่เราต้องพิจารณากันอย่างละเอียด

ด้านแรกก็คือ เรื่องการเมืองการปกครอง
ด้านที่ 2 คือ ด้านการศึกษา
ด้านที่ 3 คือ ด้านเศรษฐกิจ
ด้านที่ 4 คือ เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
ด้านที่ 5 คือ การต่างประเทศ

ถ้าเราต้องการที่จะพัฒนาประเทศต่อไปในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า พรรคการเมืองต้องหลุดไปจากการพูดถึงแค่ประชานิยม ประชาสังคม แน่นอนสวัสดิการสังคมต้องมีอยู่ แต่ว่าสวัสดิการสังคมแบบไหนที่เป็นคำตอบให้กับการพัฒนาประเทศ
ผมยังมอง ว่าเรื่องสวัสดิการสังคมเราไม่มีทางจะให้สวัสดิการกับทุกคนได้ ภายใต้ระบบภาษีปัจจุบัน การที่เราบอกว่าให้เรียนฟรีโดยไม่จำกัด โดยไม่เลือกว่าคนนั้นรวยหรือจน ในทางหนึ่งยิ่งอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งขยายตัวกว้างขวางขึ้น

งบฯลงทุนจะใช้รูปแบบการลงทุนแบบไหน
เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญนะ แต่วันนี้ให้ความสำคัญกับการเมืองการปกครองเป็นเรื่องแรก เพราะเรื่องนี้เป็นหัวใจใหญ่ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนเรื่องอื่น เรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ การต่างประเทศ
ถ้าจะลงทุนในอนาคตรัฐก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทุนทั้งหมด ต้องพูดถึงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนอย่างจริงจัง ต้องเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลในส่วนกลางและท้องถิ่น ต้องมีหน่วยงานมารับผิดชอบที่เรียกว่า PPP ต้องมีกฎหมายรองรับ มีคนรับผิดชอบเต็มตัว อาจให้นายกฯเป็นประธาน

การเมืองทุกวันนี้รัฐบาลต้องบริหารสถานการณ์วันต่อวัน
ผมคิดว่าวันนี้คนไทยอยากเห็นคำตอบแบบนั้น เพราะสถานการณ์ที่เผชิญอยู่มันทำให้คนตั้งคำถามว่าจะไปต่อยังไง เมื่อตอนมีม็อบอยู่ที่ราชประสงค์ทุกคนก็ถามว่าจะจบยังไง วันนี้ไม่มีม็อบที่ราชประสงค์แล้ว แต่คำถามยังมีแบบเดิมคือจะจบยังไง ประเทศไทยจะไปยังไง ฉะนั้นผมว่าวันนี้ต้องสามารถพูดถึงโรดแมป ทิศทางของประเทศ ว่าประเทศไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร

ปัญหานักการเมืองเป็นเรื่องหลัก
บอกหลายคนสมัยเป็นรัฐบาลว่า อยากจะอยู่นานไปเพื่ออะไร เราอยู่นานแล้วไม่มีใครจำได้อีกเลย กับการที่เราอยู่สั้น ๆ แล้วมีคนจำเราได้ตลอดไป อะไรที่น่าเดินไปสู่ทิศทางนั้นมากกว่ากัน นายกรัฐมนตรีบางคนอย่างคุณอานันท์ ปันยารชุน อยู่แค่ 1 ปีกับอีก 4 เดือน แต่คนก็ยังพูดถึงคุณอานันท์ ผ่านมาแล้วตอนนี้เกือบ 20 ปี คนก็ยังพูดถึงคุณอานันท์ เพราะระยะเวลาไม่ใช่ตัวบอกว่ารัฐบาลหรือผู้นำจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ารัฐบาลนั้นทำอะไรให้คนรำลึกถึงหรือมีประสิทธิภาพในการบริหาร ประเทศหรือไม่

บทบาทคุณทักษิณในสนามการเมือง
ผมชอบที่มีคนบอกว่า ไม่ใช่ก้าวข้ามแต่ก้าวคู่ คุณทักษิณก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งของวงการการเมืองไทย อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวและไม่ใช่ปัจจัยหลักด้วย แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะต้องอยู่ในสมการในการพิจารณา
ผมคิดว่าสมการการเมืองไทยมีแฟ็กเตอร์มากมาย คุณทักษิณก็เป็นแฟ็กเตอร์หนึ่ง ถ้าเราไม่ใส่ไปในสมการการเมืองจะทำให้เรามองสมการนั้นไม่ครบ ถ้าเปรียบเทียบวันนี้แฟ็กเตอร์เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาล ฉะนั้นบทบาทของแฟ็กเตอร์ตัวนี้ บทบาทที่เปลี่ยนแปลงทุกสมการก็จะลดน้อยลง

การกลับมาของ 111 อาจกลับมาได้แค่ 110 คน
วันนี้ไม่มีใครทำนายอนาคตของการเมืองไทยได้ถูกต้องทั้งหมด คิดว่าสมการการเมืองไทยยังมีแฟ็กเตอร์ใหม่ ๆ ออกมาเปลี่ยนตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าจะทำนายอีก 1 ปีจะเกิดอะไรขึ้นเป็นเรื่องยาก แม้แต่วันนี้จะเลือกตั้งเมื่อไรก็ยังทำนายไม่ได้เลย

พรรคเพื่อไทยมีศักยภาพพอที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งด้วยตัวเองหรือไม่
ผมยังคิดว่าพรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์ในการรณรงค์เลือกตั้งอยู่ จากเมื่อครั้งเป็นไทยรักไทยหรือพลังประชาชน บทเรียนเหล่านั้นยังใช้ได้สำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ แม้จะไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยก็น่าจะพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งจะไม่เท่ากับในอดีต เพราะผมเชื่อว่าสถานการณ์ของการเลือกตั้งถ้ามอง ณ วันนี้ความสามารถในการแข่งขันของพรรคเพื่อไทย อาจจะไม่เท่ากับความสามารถในการแข่งขันของพรรคไทยรักไทยหรือพลังประชาชน

ความสามารถไม่เท่าถึงแม้ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังเป็นคนกลุ่มเดิม
คนที่อยู่เบื้องหลังการรณรงค์เลือกตั้งในอดีต หลายกลุ่มก็ไม่อยู่ ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อก่อนความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยเดียว ดังนั้นถ้าหากไม่มีอะไรที่สามารถจะทำให้เกิดความเข้มแข็งในการรณรงค์เลือกตั้งได้เร็ว โอกาสที่จะชนะการเลือกตั้ง ทัดเทียมกับในอดีต ก็อาจจะมีแต่ไม่สูงมาก แต่ผมก็ยังเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังจะเป็นพรรคใหญ่ แต่จะได้เสียงมากถึงขนาดใกล้ครึ่งหรือไม่ คงต้องรอดูช่วงใกล้ ๆ เลือกตั้ง

ตอนนี้ผลการเลือกตั้งทำนายยากไหม
ส่วนใหญ่ถ้าหากอีก 45 วันจะเลือกตั้ง ปัจจัยต่าง ๆ จะเปิดเผยมาหมดเลย จะเห็นทั้งตัวบุคคล นโยบาย เห็นทั้งเรื่องสถานการณ์แวดล้อมที่จะวิเคราะห์ว่าผลเลือกตั้งน่าจะออกมายังไง คืออย่างถ้าลองทำโพลช่วงก่อนเลือกตั้งสัก 45 วัน จะแม่นผิดพลาดไม่มาก

ผลการเลือกตั้งตอนนี้ ต่อให้ได้คะแนนอันดับหนึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่
อันนี้ทำนายได้เพียงว่าแต่ละพรรคจะได้เท่าไร แต่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร ทำนายไม่ได้เพราะในอดีตที่ผ่านมาเราอาจจะมีทำเนียมปฏิบัติ คือว่าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในการเลือกตั้งครั้งหน้าเราคงไม่สามารถที่จะมั่นใจได้ขนาดนั้นว่า ถึงแม้จะชนะเลือกตั้งแต่ก็ไม่ได้เป็น

ทำไมเป็นอย่างงั้น
ผมบอกว่าไม่มั่นใจ แต่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ ตอนเลือกตั้งปี′50 ถึงแม้พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง ก็ยังมีผู้ที่มองว่าพรรคพลังประชาชนจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ด้วยซ้ำไป อาจจะเนื่องจากธรรมเนียมปฏิบัติเริ่มถูกสั่นคลอน ไม่จำเป็นที่พรรคชนะการเลือกตั้งอันดับหนึ่งจะต้องเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาล...แนวคิดอย่างนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ว่าจะสำเร็จหรือเปล่าก็เป็นเรื่องของการพูดคุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีใครชนะเด็ดขาดจริง ๆ
มันเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ แต่ถามว่าจะได้รับการยอมรับไหม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง...

ประชาธิปัตย์มี ความอนุรักษนิยมและเคร่งจารีต คนที่จะสนับสนุนให้ฉีกธรรมเนียมทางการเมืองก็คงไม่ธรรมดา แล้วครั้งนี้จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
ผมคิดว่ากรณีเรื่องเคร่งจารีต คนที่พูดอย่างแข็งขันจริงจังก็คือ ท่านอดีตนายกฯชวน หลีกภัย ถ้าเป็นท่านชวนค่อนข้างเคร่งจารีต แต่ในปัจจุบันผมยังไม่เห็นความเห็นที่พูดออกมาชัดเจนว่า ถ้าไม่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งแล้ว จะให้เวลาผู้ที่ชนะเป็นอันดับหนึ่งได้จัดตั้งรัฐบาล เรายังไม่เห็นความเห็นอันนั้น

การเมืองปกติเลือกตั้งเข้ามาก็ขึ้นเกมใหม่ แต่ตอนนี้เลือกตั้งกี่ครั้งก็ขึ้นเกมใหม่ไม่ได้เพราะอะไร
ก็คงมีหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยการเมืองทั้งระบบ และปัจจัยการทำงานการเมืองของพรรคไทยรักไทย ถ้าเรื่องการเมืองทั้งระบบตอนนี้ยังไม่ใช่การเมืองของคนส่วนใหญ่ที่แท้จริง ผมเชื่อว่าวันนี้สำนึกเหล่านั้นเกิดขึ้นมากเป็นลำดับ และปัจจัยของพรรคการเมืองเองก็ไม่ได้เป็นที่รวมของคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน ฉะนั้นองค์กรทางการเมืองเองไม่สามารถที่จะสร้างคำตอบให้กับประชาชนในการที่จะพัฒนาประเทศได้

พรรคการเมืองและนักการเมืองทำให้เศรษฐกิจล้าหลังหรือเปล่า
ถ้ามองว่าพรรคการเมืองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเมืองล้าหลัง...ก็ใช่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ระบบเศรษฐกิจอาจจะผูกติดกับการเมืองส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่ขึ้นต่อการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่เมื่อการเมืองล้มเหลวแล้วเศรษฐกิจจะล้มเหลวด้วย เพราะเศรษฐกิจยังมีจุดแข็งของตัวเองอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา