คำกล่าวปาฐกถา ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2546 เวลา 13.55 น.
นมัสการพระคุณเจ้า
ผมมาเห็นบรรยากาศแล้วตั้งแต่เดินเข้ามา ดีใจสุขใจ ผมคิดว่าวันนี้ชุมชนคนไทยโดยเฉพาะคนไทยรากหญ้าเริ่มมีความหวังขึ้น ผมไม่ได้เข้าข้างตัวเอง เพราะว่าจากที่กว่าจะมาเป็นพรรคไทยรักไทย กว่าจะมาเป็นรัฐบาลวันนี้ ผมได้ทำงานร่วมกับชุมชนมาก ลุงอัมพร ฯ กับผมรู้จักกันดี ส่วนหนึ่งของเรื่องกองทุนหมู่บ้านก็มาจากความมั่นใจที่ได้ไปเห็นการทำแล้วสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นของพระมหาสุบิน มณีโต ที่ตราด และของลุงอัมพร ด้วงปาน เลยทำให้เกิดความมั่นใจในการที่จะใช้นโยบายที่มอบความไว้วางใจไปที่ประชาชน รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่ไว้ใจประชาชนมากที่สุด และเชื่อมั่นว่าประชาชนช่วยตัวเองได้ แต่เราต้องมีหน้าที่เอาอุปสรรคออกจากประชาชน และเอาโอกาสไปให้ประชาชน ให้สามารถยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ นั่นเป็นความเชื่อของผมและคณะของผมที่คิดกันมา นายกรัฐมนตรีก็เป็นประชาชน รัฐมนตรีก็เป็นประชาชน ชาวบ้านก็เป็นประชาชน เพราะฉะนั้นเราเป็นหุ้นส่วนที่จะช่วยทำให้ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่น่าอยู่ ให้คนไทยทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพียงแต่ว่าผมได้รับมอบหมายโดยกติกาบอกว่าผมเป็นตัวแทนประชาชนทั้งหมด ไปจัดการบริหารให้คนไทยทั้งหมดได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมีสันติ แต่บังเอิญว่าวันที่ผมเข้ามารับ ผมก็รับช่วงจากรัฐบาลก่อน ๆ ซึ่งยุคสมัย ความจำเป็นในการใช้กฎหมายก็ต่างกันไปตามยุคสมัย แต่บางครั้งยุคสมัยเปลี่ยนไป กฎหมายไม่ได้เปลี่ยนไป และกฎหมายที่ไม่ได้เปลี่ยน ไปเป็นอุปสรรคต่อชีวิตคน อุปสรรคต่อการทำมาหากินของคนอย่างที่แม่สะอิ้ง ฯ พูดเมื่อสักครู่
วันนี้ผมต้องการคนมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ ซึ่งไม่มีใครคิดได้ดีและแนะได้ดีเท่ากับผู้ที่อยู่กับปัญหาของมันเองโดยชุมชน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่ามีการประชุมกันอย่างนี้ แล้วรวบรวมว่าอะไรคืออุปสรรค อะไรคือโอกาส บอกให้รัฐบาลรู้ รัฐบาลก็พร้อมจะแก้ แก้โดยคิดเองข้างเดียวจากส่วนรัฐบาล เป็นวีธีที่ล้าสมัยใช้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นวิธีคิดสมัยใหม่เหมือนกับเดี๋ยวนี้ การศึกษาเขาบอกว่าให้เรียนรู้ร่วมกัน เขาบอกว่าให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง เขาบอกว่าครูมีหน้าที่อำนวยความสะดวก การบริหารเหมือนกันครับ รัฐบาลต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง รัฐบาลมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนทำมาหากินได้ดี รัฐบาลมีหน้าที่ให้โอกาสประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนได้คิดร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน ร่วมกับรัฐบาลด้วย ร่วมกันเองด้วย นั่นคือหลักทั้งหมดที่บริบทกระบวนทัศน์ทางความคิดได้เปลี่ยน แต่บังเอิญว่าคนหลายส่วนเปลี่ยนไม่ทัน และไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเปลี่ยน แต่วันนี้ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนนั้น สังคมผลักดันเองถ้าหากว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดช้า เพราะทุกสิ่งทุกอย่างปรับตัวมันเองได้ตลอดเวลา ครึ่งเทอมหลังของรัฐบาลนี้ เป็นครึ่งเทอมที่ผมจะไปประกาศที่ภูเก็ตวันอาทิตย์นี้ ผมจะบอกว่าครึ่งเทอมหลังนี้ รัฐบาลจะใช้เวลากับการที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า people empowerment คือการสร้างพลังให้ประชาชน เอาสิ่งที่เป็นอุปสรรคออกจากประชาชนให้หมด เอาโอกาสทั้งหมดกลับไปให้ประชาชน แล้วให้ประชาชนหยิบฉวยโอกาสนั้นสร้างฐานะของเขาเอง สร้างความสุขของเขาเอง โดยรัฐบาลมีหน้าที่สนับสนุนอำนวยความสะดวก นั่นคือสิ่งที่ครึ่งปีหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดินทำกิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอกสารสิทธิ์ หรือการเข้าหาแหล่งทุน
ผมพูดตลอดเวลาว่าเมื่อก่อนนี้เราไปเอาเงินออกจากชนบทมาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับกรุงเทพ ฯ และในเมือง แต่ขณะเดียวกันชุมชนไม่มีทุน ชุมชนก็ไม่มีงาน ชุมชนก็ต้องล่มสลาย ต้องวิ่งกลับมาตามความเจริญในเมือง ผลสุดท้ายสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาเดิมขาดสะบั้น วันนี้เรากำลังมาซ่อมมาต่อภูมิปัญญาเหล่านั้น และมารวมพลังกันใหม่ ซึ่งผมคิดว่าเกือบสายแต่ไม่สาย วันนี้ดูเหมือนจะเกือบสายแต่ไม่สาย ถ้าหากว่าเมื่อไรประเทศไทยยังบริหารระบบเดิม คือบริหารชนิดที่ว่าบริหารด้วยระบบทฤษฎีของทุนนิยม ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์คือคนตัวโตคนแข็งแรง แต่ขณะเดียวกันนั้นเป็นอันตรายต่อคนตัวเล็ก และช่องว่างระหว่างสังคมสองสังคมที่แตกต่างของประเทศไทยนั้นจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นวันนี้เราจึงพยายามที่จะดึงช่องว่างเข้ามา เพื่อให้ช่องว่างแคบลง แนวคิดของผมคือรดน้ำที่ราก คือเอาเงินเอาโอกาสไปใส่ที่ชุมชน และเมื่อชุมชนแข็งแรง เศรษฐกิจหมุนเวียน ก็จะขึ้นมาถึงกรุงเทพ ฯ เอง แต่ถ้าเอาเงินใส่ที่กรุงเทพ ฯ จะลงได้ถึงชุมชน และชุมชนก็อดอยากอย่างเดิม เพราะฉะนั้นทุกอย่างเราจะกลับมาวนที่ปัจจัย 4 เมื่อปัจจัย 4 ท่านเห็นเรื่องโครงการบ้านเอื้ออาทร บ้านมั่นคง ท่านก็เห็นแล้วว่านี่คือปัจจัย 4 ซึ่งคนไทยโดยเฉพาะคนจนโหยหามานาน แต่เขาไม่มีความหวัง เขาบอกว่าชีวิตนี้เขาไม่มีโอกาส แม้กระทั่งคนรับราชการที่เป็นชั้นประทวน ชั้นเด็ก ๆ เกษียณแล้วยังไม่มีบ้านจะอยู่ เพราะว่าบ้านราคาแพง เงินก็แพง แล้วเงินดาวน์สูง เขาไม่มีโอกาส เมื่อไม่มีโอกาสก็เป็นไปไม่ได้สำหรับชีวิต เขาก็เอาเงินที่เขามีอยู่น้อยนิดไปใช้ในปัจจัย 5 ปัจจัย 6 ซึ่งไม่จำเป็น แทนที่ปัจจัย 4 คือบ้าน ไม่มี วันนี้เราถึงย้อนกลับมาว่าต้องให้บ้าน ซึ่งอันนี้จะรวมไปถึงการขยายในเรื่องของการให้ชาวบ้านปลูกบ้านเองในต่างจังหวัดด้วย ในอนาคต ซึ่งกำลังให้การบ้านไปคิดอีกที
สรุปแล้วคือว่าผมจะแก้ปัญหาในปีต่อ ๆ ไปนี้ เอาภาพกว้างก่อนครับ แล้วภาพย่อยเราทำงานร่วมกันอย่างนี้ ภาพกว้างคือว่าจะแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องน้ำ คือการฟื้นธรรมชาติ การเอาที่ดินว่างเปล่าที่ไม่ใช้ประโยชน์ เอามาทำประโยชน์ให้หมด เพราะผมถือตลอดเวลาว่าที่ดินคือโรงงานพิมพ์แบงก์ของคนจน ถ้าคนจนได้ที่ดิน ที่ดินก็งอก งอกก็เป็นเงิน ที่ดินก็สามารถที่จะปลูกต้นไม้งอกขึ้นมา เมื่องอกขึ้นมาก็เก็บเกี่ยว กิน ขาย ก็มีเงินใช้ เพราะฉะนั้นเรื่องที่ดินทำกิน ใครมาหวงที่ไว้มาก ๆ ใครมีที่แล้วไม่ใช้ประโยชน์โดนภาษีแน่ เพราะว่าไม่เกิดประโยชน์ ไปหวงไว้ทำไม ให้โอกาสคนที่เขาไม่มีโอกาสได้ทำมาหากิน นั่นคือสิ่งที่เรากำลังจะทำเรื่องที่ดิน นอกจากนั้นเราจะให้เขามีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่มั่นคง และเอกสารสิทธิ์ที่มั่นคงนี้จะต้องสามารถเอาไปทำเป็นทุนได้ เอาไปเปลี่ยนเป็นทุนได้ เขาก็จะได้มีโอกาสที่จะทำไร่ พอทำไร่โตมากขึ้น ทำไร่ที่ทันสมัยขึ้นได้เรื่อย ๆ เขาก็จะสร้างฐานะของเขาดีขึ้น ไม่ใช่แค่พอกินอย่างเดียว ลูกของเขาโตขึ้น เขาก็ต้องสามารถที่จะสร้างขีดความสามารถในการทำเงินมากขึ้น ไม่อย่างนั้นลูกของเขาก็ไม่มีกิน เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำทั้งเรื่องที่ดิน น้ำ เรื่องทุนและเรื่องที่อยู่อาศัย จะเป็นครึ่งปีหลังซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยาก หนัก และเรื่องใหญ่ ใช้เงินมากพอสมควร แต่ไม่เป็นไร เพราะรัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาได้ถึงขนาดนี้ ไม่หนักใจ และยิ่งถ้าผมใช้หนี้ IMF เดือนกรกฎาคมจบ ผมมีอิสระในการคิดอะไรก็ได้ เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น คิดว่าคงน่าจะทำอะไรได้หลายอย่างครับ
อันหนึ่งที่จะต้องทำคือว่า เรื่องที่ลุงอัมพร ฯ พูด ขณะนี้กำลังให้รองนายก ฯ สุวิทย์ ฯ ไปหาทางออก กองทุนหมู่บ้านที่เราทำกันอยู่นั้นมีคณะกรรมการหมู่บ้านที่ท่านเลือกกันเอง เป็นกระบวนการที่มีการเลือกกันเอง 15 คน เรากำลังคิดว่าจะสร้างให้หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านเข้มแข็งขึ้น โดยที่จะให้เขาเองสามารถที่จะมีเงินทุนหมุนเวียนขึ้น และเก็บเงินออมได้มากขึ้น เอาเงินออมในหมู่บ้านอย่างที่ลุงอัมพร ฯ ทำที่คลองเปียะ ตำบลคลองเปียะมีถึง 100 กว่าล้าน มี 11 หมู่บ้าน ซึ่ง 11 หมู่บ้านถ้าสมมติว่าปัจจุบันคือ 11 ล้านบาท แต่ลุงอัมพร ฯ ไม่ได้สัก 1 บาทจากรัฐบาล ใช้เงินออมในท้องถิ่น และพัฒนาขึ้นมาจนมี 110 ล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าตำบลหนึ่ง 11 หมู่บ้านโดยประมาณ ได้ 11 ล้านบาทวันนี้ แล้วต่อไปถ้าสมมติบริหารการจัดการกันดี ก็มีเงินออมตรงนั้นมา และกรรมการหมู่บ้านทำหน้าที่เหมือนธนาคาร ก็เก็บผลต่างระหว่างคนเอาเงินมาฝากกับคนเอาเงินไปใช้ แล้วรัฐบาลก็อาจจะใช้ระบบธนาคารของรัฐเข้าไปเสริม เมื่อไปเสริม การบริหารเงินตรงนี้จะใหญ่ขึ้น เมื่อใหญ่ขึ้นจะมีเงินหมุนเวียนในหมู่บ้านมากขึ้น จะสามารถเอาเงินไปสร้างอนาคตสร้างโอกาส สร้างอะไรต่ออะไรมากขึ้น
เชื่อไหมครับว่าหมู่บ้านรู้จักกันหมด รู้หมดว่าใครเป็นอย่างไร ผมไปจังหวัดน่านเมื่อไม่กี่วันนี้ หลังจากที่ผมประชุมเรื่องยาเสพติด ไปถึงผู้ว่า ฯ ยื่นหนังสือให้ผมดูเลย รายชื่อคนค้ายาทั้งหมด 700 กว่าคน รายชื่อคนเสพยาทั้งหมด 3,700 กว่าคน เพราะเขาไล่มาตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล ขึ้นมา แล้วเอามารวมกัน เห็นไหมครับไม่มีอะไรที่ไม่รู้ แต่รู้แล้วไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นวันนี้ผมเลยต้องสั่งให้ทำ ภายในสามเดือนนี้ต้องทำกันเต็มที่เรื่องยาเสพติด เพราะฉะนั้นชุมชนต้องช่วยกันด้วย ทุกเรื่องถ้าเราไล่มาจากชุมชน แล้วเราคิดร่วมกันทำร่วมกัน ไม่มีอะไรที่แก้ไม่ได้ แล้วผมเชื่อว่าถ้าพลังของพวกท่านรวมกันอย่างนี้ แล้วคิดกันอย่างสร้างสรรค์อย่างนี้และเสนอแนะมา รัฐบาลก็ทำ ผมขออีกเทอมเดียว ปัญหาความยากจนหมดไปจากประเทศไทยครับ
ผมขอเติมเรื่องบ้านสักนิด วันนี้ผมไปตีกอล์ฟเจอแค้ดดี้ก็บอกว่าอยากได้บ้าน ไปตัดเล็บช่างเล็บก็บอกอยากได้บ้าน แสดงให้เห็นว่าวันนี้ที่เราประมาณการไว้ว่ามีประชาชนอยากได้บ้านประเภท บ้านเอื้ออาทร บ้านมั่นคงประมาณ 3,500,000 คนทั่วประเทศ นี่คือประมาณการที่ทางการเคหะแห่งชาติ ร่วมกันคิด ซึ่งผมก็บอกว่า 5 ปีจะทำ 1,000,000 ยูนิต แต่วันนี้ผมใจร้อน ผมอยากทำเร็วกว่านั้น เพราะฉะนั้นการกระจายการบริหารการจัดการของการเคหะ ฯ ก็ดี ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ดี จะต้องกระจายให้เร็วขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาของการแย่งชิง การอยากได้
พอสมควรทีเดียว เพราะฉะนั้นต้องรีบทำ พอยิ่งทำมาก บ้านราคาจะถูกลง เพราะหลายอย่างเราปั๊มด้วยเครื่องอุตสาหกรรม มีปริมาณมากยิ่งถูกลง แต่สำคัญรัฐมนตรีจะต้องช่วยดูกันให้ดีเรื่องการประกวดราคาที่ผมบอกไว้นั้น อย่าให้เปรตเข้ามาแทรก เรื่องนี้ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะทุกบาทจะเป็นต้นทุนของคนจน ทุกบาทกว่าจะหามาได้เป็นหยดเหงื่อที่ยากสำหรับคนจน เพราะคนจนเขาไม่ได้หาเงินคล่องเหมือนคนมีเงิน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าทุกบาทเป็นหยาดเหงื่อของเขา เราจะต้องช่วยกันเพื่อให้ต้นทุนของเขาต่ำที่สุด นั่นเป็นความสามารถของพวกเรา ถ้าเราสามารถทำให้ต้นทุนของบ้านต่ำที่สุด และให้เขาอยู่ได้สบายที่สุด นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด และผมมีความเชื่อว่าสมมติว่าพ่อ แม่ ลูกอยู่ด้วยกัน วันนี้อยู่ด้วยกันห้องเดียวอาจจะยังไม่สบายเพราะมีปัญญาแค่ 1,000 บาท พอลูกเริ่มโตขึ้นอีกนิด ลูกมีความรู้สึกว่าอยากจะอยู่เองอีกสักหลังหนึ่ง 1,000 บาทไม่เป็นไร ลูกก็จะคิดอย่างสร้างสรรค์ ไปทำงาน ไปรับจ้างขายก๋วยเตี๋ยวหรืออะไรก็ยังดี ยังได้มา 1,000 บาท ลูกก็จะได้อยู่ใกล้ ๆ กัน พ่อแม่อยู่ลูกก็อยู่ จะดีกว่าที่เขาอยู่สลัม พ่อแม่ลูกอยู่หลังเดียวกันแล้วไม่มีความหวังเลยว่าเมื่อไรจะได้มีบ้านอยู่ เพราะฉะนั้นมอบความไว้วางใจให้ท่านรัฐมนตรี กับการเคหะแห่งชาติ ช่วยกันทำอย่างไรให้เร็วและได้ราคาถูก สำหรับเงินอุดหนุนรัฐบาลนั้น ไม่มีก็หาจนมี ต้องหาจนได้ครับ
ต้องเรียนว่าผมต้องการเวลาเพื่อแก้ปัญหาแค่ 2 เทอมเท่านั้น ผมอยู่นานกว่านี้ไม่ไหว เพราะตลอดเวลาผมทำงานไม่หยุด เพราะพอตอนที่ครบสองเทอมนี่ผมเกือบ 60 ปีแล้ว ไม่มีแรงแล้ว เรื่องที่ดินผมจะเริ่มประชุม เริ่มประชุมเชิงปฏิบัติการ ก็จะเชิญชุมชนมา สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นการร้องเรียนทั้งหลาย ยังไม่ขาดสาย และบางทีการร้องเรียนถึงแม้ว่ารัฐบาลต้องขมขื่นต้องตัดสินใจด้านใดด้านหนึ่ง ถึงแม้ว่าตัดสินใจบนพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ แต่แน่นอน คนส่วนน้อยที่เขาเดือดร้อนนั้นยังมี เราต้องบรรเทาความเดือดร้อนให้เขา แต่บรรเทาได้แค่ไหนก็ได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างวันนี้คือเราไม่ได้เคารพสิทธิ์ในการเลือกตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ คือถ้าเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษแต่ละหมู่แต่ละเหล่า เขาเลือกที่จะไปเลือกตั้งถิ่นฐานที่ไหน เพราะว่าวิถีชีวิตเขาฟิตกับที่นั่น เขาปรับตัวได้กับตรงนั้น แต่แล้วเราเอาความเป็นประเทศครอบการตั้งถิ่นฐานอีกที ทีนี้เมื่อตั้งถิ่นฐานเรียบร้อยแล้ว เขามีทรัพยากร แต่ทรัพยากรนั้นถึงแม้เป็นของประเทศ แต่ว่าคนที่เขาเลือกตั้งถิ่นฐานตรงนั้นต้องได้ประโยชน์บางอย่าง เช่น เราเอาทรัพยากรของเขามาใช้เป็นไฟฟ้า คนที่อยู่ในบริเวณนั้นเขาควรจะได้สิทธิพิเศษบางอย่าง แต่เราไม่ได้ให้ ทุกคนเท่าเทียมกัน คนเหล่านั้นถึงแม้ได้รับการชดเชย แต่เขามีความรู้สึกบางอย่าง อันนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องละเอียดอ่อน ตรงนี้เป็นเรื่องของจิตมนุษย์ที่ต้องเข้าใจ
เพราะฉะนั้นผมกำลังหาวิธีการจัดการระบบไฟฟ้าใหม่ มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปคิดตามแนวคิดนี้ ขออนุญาตยังไม่พูดรายละเอียดอะไร เพราะถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องมองถึงเรื่องจิตใจของมนุษย์ ว่าเขาได้เลือกตั้งถิ่นฐานมาอย่างนี้เพราะอะไร วิถีชีวิตของเขาคืออะไร และการใช้ทรัพยากรร่วมกันคืออะไร การใช้ทรัพยากรเพื่อเป็นประโยชน์กับท้องถิ่นคืออะไร ต้องเข้าใจแยกแยะ เพราะฉะนั้นชุมชนถึงต้องมีบทบาท แต่แน่นอนครับ การรวมตัวอย่างชุมชนนั้นเราต้องคิดผลประโยชน์ส่วนรวม แล้วแน่นอนถ้าส่วนรวมได้ ทุกคนได้หมด ถ้าส่วนรวมของชุมชนคิดร่วมกันได้ สามารถที่จะบริหารการจัดการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมของตัวเอง และทุนของตัวเอง ศักยภาพของตัวเอง ภูมิปัญญาของตัวเอง นั้นคือวิเศษสุด ถ้าท่านร่วมกันคิดแล้วได้คำตอบ อย่าลืมว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนอยู่นิดหนึ่ง ครึ่งวันแรกพูดแต่ปัญหา ทั้ง ๆ ที่ประชุมอีก 10 รอบก็พูดปัญหา แล้วอีกเกือบครึ่งวันหลัง ถกเถียงกันว่าปัญหาของคุณเข้าใจถูกหรือผิด แล้วเหลือเวลาอีกประมาณ 10 % ถึงจะบอกว่า น่าจะทำอย่างนั้นแล้วน่าจะทำอย่างนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าหากว่าเรารู้ปัญหาหมดแล้ว ต้องมานั่งเถียงกันว่าน่าจะทำอย่างนั้นถูกไหม น่าจะทำอย่างนี้ถูกไหม ถ้าตกผลึกแล้วว่าน่าจะทำอย่างนั้นน่าจะทำอย่างนี้ ผมขอรับรู้ด้วย เพราะว่าจะได้แก้ถูกทาง
ตอนนี้อินเตอร์เน็ตตำบลมีเกือบทุกตำบลแล้ว และเรียนรู้ง่าย ที่บุรีรัมย์ น้าน้อยเล่นการพนัน สามีแกก็ติดเหล้า เพราะแกมีแต่หนี้ แกทำนาข้าว ทำเท่าไรก็เพิ่มแต่หนี้ ในที่สุดพวกเราก็ไปสอนแกทำบัญชีอย่างง่าย พอแกทำบัญชีอย่างง่ายเป็นก็สอนคอมพิวเตอร์ พอสอนเสร็จแกก็ทำบัญชี แกรู้เลยว่าทำข้าวแล้วขาดทุน แกไปปลูกผักแล้วแกมีกำไร แกก็ลดพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกผักมาก ๆ ในที่สุดก็ใช้หนี้ได้ สามีก็เลิกกินเหล้า ตอนหลังมาแกเล่นคอมพิวเตอร์เก่ง ใช้โปรแกรมเอกเซลได้ด้วย จบประถม 4 เท่านั้น เวลานี้บ้านน้าน้อยเป็นศูนย์สอนคอมพิวเตอร์ประจำที่บุรีรัมย์ มีพระ มีชี คนทั่วไปไปเรียนกันมาก วันนั้นผมไปดู เพราะฉะนั้นคอมพิวเตอร์เวลานี้ อินเตอร์เน็ตตำบลมีแล้วทุกตำบล และไม่ยาก เพราะฉะนั้นทุกตำบลสามารถเอาประสบการณ์ตัวเองใส่เข้าไป แล้วเราก็เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เคาะถามหาตำบลคลองเปียะของลุงอัมพร ฯ ตอนนี้เป็นอย่างไร เคาะดูก็รู้หมด มีภาษาไทยด้วย
จนอะไรก็ได้อย่าจนกำลังใจ ถ้าไม่จนกำลังใจรับรองว่าหายจนเอง แต่ถ้าคนท้อใจหมดกำลังใจตัวเองนั้น รับรองว่าจนถาวร เพราะฉะนั้นมีอยู่แล้ว 7,000 ตำบล ตอนนี้อีกไม่นานก็ครบแล้ว อีกไม่เกิน 3 – 4 เดือนน่าจะครบ ตรงนี้เขาใช้แม้กระทั่งขายสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ ตำบลนั้นมีสินค้าอะไรขายบ้าง มีอยู่ในนั้นหมดเลย วันนี้ใครอยากจะรู้อะไรว่าตำบลนั้นขายอะไรก็รู้จากตรงนี้ และอีกหน่อยจะเกิดการเรียนรู้ร่วมกันโดยวิธีผ่านตรงนี้เร็วขึ้น และเรียนง่าย ไม่ยาก นั่งเรียนจริง ๆ ประมาณ 3 วันก็เป็นหมดแล้ว เวลานี้สภาพคล่องเหลือ ไม่มีปัญหา และเวลานี้ถ้าเงินที่เราไม่ได้ซื้อของต่างประเทศ ซื้อของในประเทศต้องการเงินกี่หมื่นล้านก็ต้องมี ถ้าสิ่งเหล่านั้นจำเป็น ถ้าไม่จำเป็นอย่าไปสร้างหนี้ ไม่ว่าจะหนี้เงินบาทหรือหนี้ต่างประเทศ แต่หนี้เงินบาทถ้าจะต้องสร้างแล้ว ง่ายมาก จะเอาเท่าไรก็มี
วันนี้รับรองว่าเราคิดไม่ต่างกันเลย แต่ว่ากระบวนการที่จะให้เกิดการทำงานจนสำเร็จนั้นเหมือนท่อตัน เทน้ำลงไม่ค่อยถึงพื้น ผมต้องต่อท่อใหม่อยู่เรื่อย กองทุนหมู่บ้านถ้าผมไม่ต่อท่อลงประชาชนโดยตรงเลย ลองดูสิว่าถึงไหม นอกจากไม่ถึงยังไม่พอ รั่วอีกต่างหาก ผมประกันราคาสินค้าแต่ละตัว สินค้าขึ้นราคาแต่ว่ายังมีเปรตระหว่างทางอยู่ดี พอเราไล่ทุบเปรตก็หาว่าเราโกงเสียเอง ตอนนี้หน้าที่รัฐบาลต้องทำให้สินค่าเกษตรราคาดี แล้วราคาดีก็ไม่ใช่ว่าไปลดพื้นที่เพาะปลูก มีหน้าที่ขยายตลาด และขยายพื้นที่เพาะปลูก พอไปลดพื้นที่เพาะปลูก คนจนก็จนต่อไป ไม่มีที่ ไม่มีอะไรจะทำกิน
เมื่อไรผู้ผลิตกับผู้บริโภคอยู่ใกล้กันราคาจะดี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีคนกลาง เพราะฉะนั้นกระบวนการคนกลางนั้นผ่านหลายขั้นตอน สมมติว่าข้าวสาร ชาวไร่ขายได้ 10 บาท แต่ขายในตลาด 15 บาท ถ้าเราบอก 5 บาทก็นิดเดียว แต่บอก 50 % นี่มาก กระบวนการตรงนี้ถ้าหากว่าสหกรณ์ช่วยกัน อย่างผมไปที่เมืองโออิตะ ที่ต้นแบบของหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ทุก ๆ ชุมชนทุกสินค้าที่เขาผลิต เขามีสหกรณ์ของเขา เขามีเสื้อคลุมญี่ปุ่นเป็นสี ๆ ของสหกรณ์ แล้วเขาก็เอาของมาขาย ผลัดเวรกันมาค้าขาย คือชุมชนทำงานร่วมกันสนุกสนานมาก แล้วเขาไม่มีขบวนการนายหน้าเลย ทำให้เขาได้ราคาดี ผู้บริโภคก็ซื้อของถูกลงด้วย เพราะฉะนั้นที่โออิตะเขาผลิต เขาขายในชุมชนเสร็จ เขามาขายในจังหวัด แล้วที่เหลือเขาส่งต่างประเทศ ประมาณ 15 – 20 % เขาส่งต่างประเทศ ประมาณ 30 กว่า % ส่งในเมือง แต่ประมาณ 40 % เขาขายกันเองในชุมชน กินใช้กันเองในชุมชน เพราะว่าของที่ทำเป็นของที่มาจากทักษะ มาจากทรัพยากรที่อยู่ในชุมชนเป็นส่วนใหญ่ เขาไม่ซื้อของจากข้างนอกมาทำ
ถ้าตราบใดเมื่อไรความเข้มแข็งของชุมชนดี มีความสามัคคีกัน ราคาก็จะดี ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องยางพารา ผู้ผลิตไม่สามารถกำหนดราคาได้ ให้นายหน้าเป็นคนกำหนดราคา ก็เสียหายอย่างเดียว พอผู้ผลิตรวมกันกำหนดราคาได้ก็จบ ก็รอดหมด สำคัญคือความสามัคคี ความมีอะไรพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แล้วช่วยกันคิดหาทางออกร่วมกัน นั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง ผมขอขอบคุณจริง ๆ รายการแบบนี้ ทำให้ผมคิดน้อยทำมาก ถ้าให้ผมต้องคิดมากแล้วได้ทำน้อยก็ไม่สำเร็จ ถ้าให้ผมคิดน้อยและมีคนช่วยคิด และคิดอย่างตกผลึกอย่างนี้ ให้ผมทำ ผมก็ทำได้มาก ทำ 1-2-3-4-5 เพราะไม่ต้องไปนั่งกลั่นกรองอีกแล้ว เพราะคิดกันมาแล้ว แต่ถ้าผมคิดเอง ผมยังไม่แน่ใจเพราะผมต้องไปถามต้องไปสัมผัสชุมชน เพราะการคิดต้องคิดสองทาง เขาเรียกบริหารอย่างมีส่วนร่วม แต่ผมเองทุกวันนี้ไม่ค่อยสบายใจ เพราะว่าบางทีเราต้องรับภาระที่ต่อเนื่องกันมา แล้วต้องมาตัดสินใจในเรื่องที่ต้องมีชอบและไม่ชอบ ถูกใจไม่ถูกใจ แต่ผมมีหน้าที่ตัดสินใจก็ต้องตัดสินใจ แต่ตัดสินใจบนพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ รับรองจะไม่ตัดสินใจเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง และไม่มีวาระซ่อนเร้นใด ๆ ส่วนตัว ทุกอย่างตรงไปตรงมา อยากให้ประชาชนมีความสุข ผมจะได้เกษียณได้มีความสุขด้วย ขอขอบคุณครับที่มาช่วยกันคิดช่วยกันทำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา