เสวนาวิชาการ “ลดเหลื่อมล้ำ สร้างยุติธรรม : บูรณะหรือรื้อล้างแล้วสร้างใหม่สังคมไทย ?” กองทุน 60 ปี อคิน รพีพัฒน์ เพื่อสังคม, สำนักงานสุขภาวะและพัฒนาสังคม และมูลนิธิชุมชนไท
ในงานแสดงมุทิตาจิต “78 ปี อคิน รพีพัฒน์….ตามหาความยุติธรรม” ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กรุงเทพฯ
ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ กรรมการปฏิรูป ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิรูป ระบบการจัดการที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ ในคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) กล่าวว่า ตลอดชีวิตที่ผ่านมายังไม่มี โอกาสได้พบกับความยุติธรรมที่แท้จริง ซึ่งความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีปัญหาสะสมเรื่อยมาตั้งแต่สมัยรัชกาล ที่ 5 ทั้งในรูปแบบที่ดีขึ้น และถดถอยลง แต่ปัจจุบันเรียกได้ว่า อยู่ในระดับเลวลงจนต่ำกว่าที่เคยจะเป็น เนื่องจากมีความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง คนจนได้รับความทุกข์จากความไม่เป็นธรรมมากขึ้น สาเหตุสำคัญเกิดจากการครอบงำของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม บริโภคนิยม ดังกรณีเรื่องที่ดินทำให้คนกลุ่มเล็กเพียง 10% ถือครองที่ดินกว่า 90% ของทั้งประเทศ
“ความเป็นจริงประชาธิปไตยไม่ใช่ของเลว ไม่ใช่ของที่น่ารังเกียจ แต่เมื่อมีการแอบแฝงรูปแบบการเอารัดเอาเปรียบ การหวังผลประโยชน์ส่วนตนตามแนวคิดทุนนิยมเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้เราเกลียดประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา”
ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ กล่าวว่า สังคม ต้องร่วมกันสร้างกลไกบางอย่างให้คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเกิดความรู้ความ เข้าใจเรื่องนี้ ขณะเดียวกันต้องทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดสำนึกขึ้นในจิตใจว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องดี โดยส่วนตัวยังเชื่อว่า ทุกคนอยากเป็นคนดี เพียงแต่คนเหล่านี้มองไม่เห็นหนทางที่จะสร้างให้เกิดขึ้น หากสังคมช่วยกันปลุกกระแสกระตุ้นให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ยินดีจะยืนอยู่ข้างประชาชน แม้จะลำบากและมีอุปสรรค เชื่อว่าปัญหาเรื่องความอยุติธรรมก็พอจะมีทางออก
ขณะที่ รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงระบบทุนนิยมเข้ามา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในประเทศไทย ระบบกติกาภายในบางอย่างขัดแย้งกับกติกาสากล มิติความไม่เป็นธรรมจึงเกิดขึ้น ในขณะที่สมัยก่อนแม้จะมีการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อวิถีชุมชน ซึ่งถือว่า มีความยุติธรรมมากกว่าปัจจุบัน
“หากมองบนพื้นฐานชาวบ้านในอดีตที่มีวิถีชีวิตเกษตรกร อยู่กับดิน ป่า น้ำ เมื่อเทียบเคียงกับปัจจุบันจะพบว่า อยู่ในทิศทางที่เลวลง โดยเฉพาะการใช้สิทธิความชอบธรรมด้วยกฏหมายไปแย่งทรัพยากรของชาวบ้าน จึงก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง ถือว่าเป็นเรื่องที่รับไม่ได้”
รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า หากความอยุติธรรมยังมีบทบาทอยู่ในสังคม จนไม่สามารถมีกลไกใดเข้าไปลดอำนาจลงได้ ท้ายที่สุดกระบวนการทางสังคมจะนำไปสู่ “การรื้อล้างเปลี่ยนแปลง” เพราะเมื่อประชาชนได้เรียนรู้ และรับรู้ถึงความทุกข์ยากจนเกินขีดจำกัด รวมถึงความผิดพลาดของระบบการเมือง จะสั่งสมกลายเป็นพลังบางอย่างที่ทุกคนจะลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลง สังคม
“แม้ระบบการเมืองจะเป็นการลงทุนที่สูง จนต้องเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ซึ่งสร้างความทุกข์ให้กับชาวบ้านมหาศาล หากภาครัฐไม่เปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง ท้ายที่สุดสังคมจะไม่มีทางเลือก อาจลุกขึ้นรวมตัวกันปฏิวัติระบบการเมือง เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างทางอำนาจ”
ส่วนรศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงความยุติธรรมในระดับปัจเจกชน ว่า สมัยโบราณหากสร้างความพอใจส่วนตัวให้เกิดขึ้นในระดับบุคคลได้ แม้จะถูกกดขี่ข่มเหง ก็จะไม่ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจ ขณะเดียวกันเมื่อมีอำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงก่อให้เกิดปัญหาขึ้น ทำให้ประชาชนหาทางออกได้ 2 วิธี คือหนีเข้าป่าไปเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนสมัยก่อน กับ “ดื้อเงียบ” ปิดหู ปิดตา ไม่รับรู้เรื่องราวจากรัฐ อย่างไรก็ตามปัจจุบันสื่อสารมวลชนทำให้ประชาชนรับรู้เรื่องราวความอยุติธรรม จนมองเห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่จะให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นมา
“หากเรารื้อบ้านทั้งหลังพร้อมกัน แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน” ประธาน กสม. กล่าว และว่า แนวทางการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมนั้นไม่สามารถรื้อทั้งระบบ พร้อมกันได้ ต้องอาศัยวิธีการบูรณาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป สร้างกฏเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาเยียวยาแก้ไข เพื่อให้ผู้ที่บริหารประเทศ หรือสังคมที่มีอำนาจเกิดจิตสำนึกที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องความยุติธรรมในสายตาชาวบ้าน นายบุญเลี้ยง สุตะชา ตัวแทนชุมชนมะขาม จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ในระดับชุมชนมีการบริหารจัดการอย่างไม่เป็นทางการหลายภาคส่วน ประกอบด้วยสถาบัน องค์กร ประธานชุมชน และกรอบวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ขณะที่ภาครัฐเข้ามากำหนดนโยบายที่ส่งผลกระทบถึงทรัพยากรในชุมชน ทำให้ความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น ส่งผลให้ทุกวันนี้ชาวบ้านไม่รู้อะไรถูกหรือผิด ต้องรอให้คนอื่นมาตัดสินให้
วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา