เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มาม่ากับเสื้อแดง

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ที่มา : มติชน

ผมพลอยตื่นเต้นกับปฏิบัติการบอยคอตมาม่าของเสื้อแดง มีการตั้งเป้าของผู้เข้าร่วมที่สูงถึง 20 ล้านคน ใช้ระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน

ที่ตื่นเต้นก็เพราะอยากจะรู้ผลว่าสามารถทำได้จริงตามเป้าหรือไม่ เพียงใด แต่แม้ติดตามฟังข่าวอย่างใกล้ชิด ก็ยังไม่รู้ผลอยู่ดีจนถึงบัดนี้ แน่นอนว่าบริษัทย่อมไม่แถลง เพราะมีแต่เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เช่นหากแถลงว่าไม่เกิดผลกระเทือนแก่บริษัท ก็เท่ากับท้าทายคนเสื้อแดงให้ยิ่งรณรงค์หนักมือขึ้น แถลงว่าเป็นผลกระเทือนอย่างรุนแรง ก็ยิ่งช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเสื่อมความนิยมในตลาดลงไปอีก

และก็อย่างเคย คือไม่มีสื่อใดตามเจาะเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้แต่สื่อของเสื้อแดงเองก็ตามข่าวในเชิงรณรงค์มากกว่าพยายามประเมินว่าได้ผลมากน้อยเพียงไร ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีนัยยะสำคัญมากกว่าการต่อสู้ทางการเมืองเฉพาะหน้า

ในประเทศไทย (เหมือนกับอีกหลายประเทศทั่วโลก) ทุนได้เติบใหญ่จนกลายเป็นพลังมหึมาที่สามารถเข้าไปกำหนดวิถีชีวิตของคนอย่างเบ็ดเสร็จโดยอาศัยสิ่งที่เรียกกันว่า "กลไกตลาด" นับวันพลังอื่นๆ ก็ไม่สามารถถ่วงดุลทุนด้วยการกำกับตลาดให้มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อความเป็นธรรมและความสงบสุขของผู้คนได้

พลังอื่นๆ ที่สำคัญคือรัฐ แต่ในประเทศไทย รัฐจำนนต่อทุนอย่างค่อนข้างราบคาบ ชนชั้นนำทางการเมืองของไทยมีความสัมพันธ์กับทุนอย่างแนบแน่น ไม่แต่เพียงรับการสนับสนุนทางการเงินจากทุนเท่านั้น บางส่วนก็ผันตนเองเป็นทุนไปเต็มตัว จนกระทั่งไม่สามารถแยกรัฐกับทุนออกจากกันได้

ฉะนั้น แทนที่รัฐไทยจะเป็นอีกพลังหนึ่งที่คอยสร้างและรักษาระเบียบกฎเกณฑ์ของตลาด รัฐกลับใช้สิ่งที่เรียกว่า "กลไกตลาด" เข้าไปจัดการทรัพยากรทุกชนิด จนทำให้คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงทรัพยากร แม้แต่ทรัพยากรพื้นฐานในการดำรงชีวิตซึ่งไม่ควรถือเป็นสินค้า รัฐจึงกลายเป็นเครื่องมือของทุน ไม่ใช่พลังอิสระอีกอันหนึ่งที่จะคอยถ่วงดุลอานุภาพของทุน

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัฐไทยไม่ใช่รัฐประชาชาติที่แท้จริง กล่าวคือคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการรัฐ มีคนส่วนน้อยเพียงหยิบมือเดียวที่ยึดรัฐไปเป็นสมบัติส่วนตัว และในบรรดาคนส่วนน้อยนั้น ล้วนอยู่ภายใต้การครอบงำของทุน

อย่างไรก็ ตาม "ภาคประชาชน" ของไทยก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น และมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปควบคุมรัฐและทุนตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้า, การวางท่อก๊าซ, การทำเหมืองโพแทส, การทำโรงถลุงเหล็ก, การปล่อยมลพิษอย่างร้ายกาจของโรงงาน ฯลฯ ที่ประสบความสำเร็จจนทำให้รัฐและทุนต้องระงับหรือปรับเปลี่ยนโครงการก็มี ที่พ่ายแพ้เพราะทุนอาศัยอำนาจรัฐใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนก็มี ความเคลื่อนไหวเหล่านี้กำลังขยายตัวมากระทบต่อนโยบายระดับมหภาคมากขึ้น เช่น สิทธิบนที่ดินของทุนและรัฐจะถูกจำกัดมากขึ้นในกรณีการเคลื่อนไหวของชาวสลัม และคนไร้ที่ดินในชนบท, นโยบายพลังงานโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์

แต่ในขณะเดียวกัน น่าสังเกตด้วยว่า ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ผ่านมา เป็นการเผชิญหน้ากับรัฐและทุนโดยตรง จำกัดประเด็นและจำกัดพื้นที่ ทำให้รัฐและทุนสามารถยักย้ายถ่ายเทหลบหลีกการกำกับควบคุมได้ง่าย เช่น ประท้วงโรงไฟฟ้าอย่างได้ผลในพื้นที่หนึ่ง ก็ย้ายโรงไฟฟ้าไปสร้างอีกที่หนึ่ง ต่อต้านการทำลายแม่น้ำด้วยเขื่อน ก็อ้างว่าสร้างฝาย ภาคประชาชนใช้ "ตลาด" เป็นเวทีการต่อสู้น้อยมาก จากเมื่อครั้งต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา ดูเหมือนยังไม่มีการต่อสู้เพื่อกำกับรัฐและทุนในลักษณะเช่นนั้นอีกเลย จนถึงกรณีมาม่าครั้งนี้

แม้ว่า "ตลาด" ไม่ใช่เวทีการต่อสู้เพียงอย่างเดียว แต่ก่อนจะไปถึงขั้นที่ภาคประชาชนจะมีพรรคการเมืองซึ่งใส่ใจรับมติของตนไป เป็นนโยบาย จนนำไปสู่กฎหมายและการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ "ตลาด" เป็นเวทีที่ดูจะได้ผลในการกำกับควบคุมทุนที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับด้วยว่า สัดส่วนที่ใหญ่มากของทุนในประเทศไทย คือทุนที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก นั่นก็คือไม่อาจใช้ "ตลาด" ภายในเป็นเวทีต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพของภาคประชาชนในทุกกรณีไป แม้กระนั้นก็ยังใช้ได้ผลในอีกหลายกรณีดังเช่นกรณีมาม่า และแม้ "ตลาด" ภายในอาจไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของการผลิต แต่เมื่อมีฐานในประเทศไทย การรักษาภาพพจน์ที่ดีในประเทศก็มีความสำคัญเหมือนกัน

นอกจากนี้ หากการรณรงค์ในตลาดมีความเข้มแข็ง ก็อาจเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวระดับโลกได้ ซึ่งจะทำให้ยิ่งมีพลังในการกำกับควบคุมทุนได้มากขึ้น

ดังนั้น การกำกับควบคุมทุนของภาคประชาชนโดยผ่าน "ตลาด" จึงมีความสำคัญ เพราะเมื่อรัฐไม่สามารถหรือไม่อยากกำกับควบคุมทุนภาคประชาชนจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน และอย่างมีประสิทธิภาพกว่าด้วย

แม้สร้างความหวั่นไหวให้แก่ทุนในระยะแรกที่เริ่มการรณรงค์ แต่ผมไม่ทราบว่าการรณรงค์ของเสื้อแดงในครั้งนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหน อีกทั้งพลังที่แท้จริงของการบอยคอตไม่ได้มาจากการจัดองค์กรเพื่อการนี้โดย ตรง แต่อาศัยเครือข่ายและประเด็นทางการเมืองของเสื้อแดงเป็นเครื่องมือมากกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว จึงดูไม่ส่อว่าจะเป็นกระบวนการที่อาจดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน และจริงจังในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากคิดว่านี่เป็นการฝึกระยะแรก ซึ่งต้องเปิดกว้างสองอย่าง หนึ่งคือต้องเปิดการเรียนรู้ และสองคือเปิดตัวเองแก่คนที่มีความคิดเห็นอันแตกต่างหลากหลายในสังคม เพียงแต่มีความพยายามร่วมกันที่จะกำกับควบคุมทุน มิให้ทำร้ายผู้คนจนเกินไป ก็จะสร้างพลังของภาคประชาชนที่ยิ่งใหญ่เพื่อการนี้ขึ้นมาได้

ขบวนการของภาคประชาชนสามารถใช้พลังของตนในการกำกับควบคุมทุนผ่านตลาดได้อีกหลายอย่าง อันล้วนเป็นเรื่องที่รัฐไทยละเลยตลอดมา

เรื่องของมาบตาพุดคงง่ายขึ้น หากมีขบวนการประชาชนที่มีเครือข่ายใหญ่ขนาดเสื้อแดง ออกมารณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือกันลงพรหมทัณฑ์แก่บริษัทที่ก่อมลภาวะ แน่นอนว่าหากสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มพลังอื่นๆ เช่น สหภาพแรงงานของบริษัทเหล่านั้น ก็จะยิ่งทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

โรงงานที่ไร้ความปลอดภัยและเสียสุขภาพแก่แรงงาน, บริษัทที่เอาเปรียบแรงงานด้วยวิธีต่างๆ ฯลฯ ควรถูกนำมาเปิดเผย และถูกขบวนการภาคประชาชนกดดัน นับตั้งแต่บอยคอตสินค้า ไปจนถึงการไม่ร่วมมือ เช่นสหภาพการขนส่งปฏิเสธที่จะขนสินค้าของบริษัทดังกล่าว

บริษัทที่ขาดความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ควรได้รับการกดดันทำนองเดียวกัน

คิดไปเถิดครับ ขบวนการที่มีประสิทธิภาพของภาคประชาชนสามารถเข้าไปกำกับควบคุมทุนได้อีกมาก

แต่จะทำอย่างนั้นได้ดี จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ข้อมูลที่สมบูรณ์สักหน่อย จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบพอสมควร งานเช่นนี้หากขบวนการของประชาชนทำได้เองก็ดี และหากวงวิชาการจะเข้ามาช่วยก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

สื่อควรมีหน้า "ผู้บริโภค" ซึ่งจะติดตามเฝ้าระวัง ไม่ใช่เฉพาะในแง่ของคุณภาพสินค้าเพียงอย่างเดียว เพราะผู้บริโภคในยุคใหม่ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมด้วย จึงมีประเด็นที่ผู้บริโภคควรต้องตระหนักรู้อีกหลายอย่าง เช่นสินค้าตัวเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อนั้น ใช้วัตถุดิบภายในมากน้อยต่างกันเท่าไร ผลิตด้วยวัสดุหมุนเวียนมากน้อยต่างกันอย่างไร ใช้พลังงานในการผลิตต่างกันมากน้อยเพียงไร ปฏิบัติต่อคนงานของตนดีมากดีน้อยต่างกันอย่างไร ฯลฯ (อย่างเดียวกับที่สื่อมักรายงานเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออก ซึ่งเป็นเพียงมิติเดียวของการประกอบการเท่านั้น)

(แต่แน่นอนว่า สื่อจะต้องไม่ขาสั่นกับการสูญเสียโฆษณาของบริษัทห้างร้านจนเกินไป)

มีคนพูดมานานแล้วว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ไม่เคยมีในเมืองไทย มาก่อน แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ อาจจะโดยไม่ได้เจตนา การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ในบางครั้งก็เป็นการริเริ่มสิ่งสำคัญๆ ให้แก่สังคมไทย ซึ่งหากมองเห็นคุณประโยชน์ ทั้งคนเสื้อแดงหรือไม่ใช่ก็อาจเข้ามาช่วยพัฒนาให้ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ มากขึ้น

ประเทศไทยจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าความเหลื่อมล้ำก็คือ เราต้องกำกับควบคุมทุนและตลาดให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนทุกกลุ่ม ทุนและตลาดไม่ควรมีอำนาจอันไร้ขีดจำกัดเสียเลย เรายังไม่อาจหวังพึ่งรัฐให้เป็นผู้กำกับควบคุมได้ในระยะนี้ ประชาชนจึงต้องรับเป็นภาระในการสร้างอำนาจของตนเอง เพื่อกำกับควบคุมทุนและตลาดให้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา