เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประชาธิปไตยอย่างมีวินัย ในสายตาของคนชายแดน

โดย แบพอ ข่าวจิตอาสา

ก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศพม่า สื่อมวลชนต่างนำเสนอมุมมองของทั้งนัก วิชาการด้านพม่า ผู้ลี้ภัย ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง บรรณาธิการสำนักข่าวต่าง ๆ และตัวแทนของภาครัฐบาลไทย พวกเขาต่างแสดงความคิดเห็นอันประมวลจากประสบการณ์การทำงานของตัวเอง บ้างมองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการปกครองของรัฐบาลทหารพม่า บ้างก็มองว่า ...นี่แหละ.. คือโอกาสของรัฐบาลไทยในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยที่คั่งค้าง (อย่างชั่วคราว) มานานใกล้ 30 ปี บ้างก็มองว่า นี่จะคือก้าวแรกของการปกครองแบบประชาธิปไตยในพม่าอย่างแท้จริง

ประเด็นฮือฮามากที่สุดประเด็นหนึ่งของคนชายแดน ก็คือการที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ออกมาประกาศว่า เมื่อมีการเลือกตั้งและพม่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะส่งกลับผู้ลี้ภัยในประเทศไทยได้ หากหลังจากเสียงสะท้อนไม่เห็นด้วยย้อนกลับมามากมาย ในที่สุดเขาก็เข้าไปในค่ายผู้ลี้ภัยตามแบบฉบับนักการเมือง โดยไปประกาศว่า การส่งกลับผู้ลี้ภัยจะเป็นไปโดยสมัครใจเท่านั้น เมื่อได้ยินดังนี้ กลุ่มคนชายแดนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงก็วิพากษ์วิจารณ์กันแพร่หลาย พวกเขาได้รับบทเรียนจากการที่รัฐบาลไทยประกาศว่า การส่งกลับผู้ลี้ภัยจากหนองบัวจะเป็นไปโดยสมัครใจไม่มีการบังคับกดดัน แต่ในความเป็นจริง เรื่องราวจากเพื่อน ๆ ที่หนองบัวก็ทำให้พวกเราเข้าใจว่า “การไม่บังคับ”​เป็นเพียงศัพท์เทคนิคบางอย่าง

"เขาจะส่งพวกเรากลับจริง ๆ หรือ ?" เพื่อนผู้ลี้ภัยคนหนึ่งถามด้วยใจกังวล

"คนไทยเชื่อจริง ๆ หรือว่าหลังเลือกตั้งแล้วพม่าจะสงบสุข" เพื่อนอีกคนเปรยขึ้นมาอย่างไม่ต้องการคำตอบ

"ฝ่ายไทยเป็นใจกับฝ่ายพม่าหรือเปล่า ?" อดีตทหารกองกำลังชาติพันธุ์ตั้งข้อสงสัย

แล้วแบบนี้พวกเราจะทำอย่างไร ? …. ใช่.. ตอนนี้ใครหลาย ๆ คนกำลังอยากจะรู้ว่า... "แล้วแบบนี้พวกเราจะต้องทำอย่างไร"

ที่ชายแดน เราได้เห็นทหารหลายกลุ่มหลายกองถูกโยกย้ายสลับตำแหน่ง ทุกด่านทุกทางผ่านเข้าออกของค่ายผู้ลี้ภัยถูกคุมเข้ม สถานการณ์ตึงเครียดนี้มีเหตุผลอธิบายโดยเจ้าหน้าที่ว่า เป็นการทำตามคำสั่งเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเลือกตั้ง คนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหลายคนอาจจะเริ่มชาชินกับสภาพที่ไม่เคยสามารถกำหนดชีวิตของตัวเองได้เลยที่นี่ คำถามที่ว่าเราจะต้องทำอย่างไร ดูเหมือนจะคำตอบเดียวในตอนนี้ก็คือ "..ก็คงต้องรอฟังผู้นำของเรา ยังไงเราก็เชื่อว่าผู้นำจะทำดีที่สุด"

ผู้นำกองกำลังชาติพันธุ์ท่านหนึ่ง ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า "ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก เผด็จการยังไงก็เป็นเผด็จการ" อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ที่ถูกหักหลังกันมาหลังจากการเลือกตั้งปี 2533 และการสู้รบที่ดำเนินต่อเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้ ผู้นำท่านนี้ไม่สนใจใส่ใจว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เขาประกาศชัดว่าจะไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้แน่นอน

"การแบ่งเขตประชาชนที่ไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งใน 5 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ กะเรนนี คะฉิ่น ไทใหญ่ มอญ และกะเหรี่ยง ซ้ำยังจำกัดสิทธิ์ของพรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ที่จะลงเลือกตั้ง หรือการที่ไม่ยอมปล่อยนักโทษการเมืองที่ยังถูกคุมขังอยู่เป็นจำนวนมาก เท่านี้ก็เป็นหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องให้ใครต่อใครได้รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย"

คนทำงานชายแดนที่เดินทางเข้าออกรัฐกะเหรี่ยงท่านหนึ่ง เล่าถึงข้อมูลที่ได้รับฟังจากการเยี่ยมพื้นที่ว่า "ไม่เพียง เท่านั้น ในพื้นที่ห่างไกลในป่า อยู่ ๆ ก็มีการไล่ถ่ายบัตรประชาชน คนก็ไม่รู้ว่าถ่ายเอาไปทำอะไร บัตรที่ว่านี้มีสองส่วน บัตรกับต้นขั้ว ต้นขั้วอยู่ไหนไม่รู้ เขากลัวกันว่าจะมีคนไปเลือกตั้งแทนได้หรือเปล่า"

คนปกาเกอะญอที่ยังอยู่ในประเทศพม่านั้นมีความคิดหลากหลาย กลุ่มที่อยู่ในเมืองใหญ่ใกล้พื้นที่ปกครองของกองทัพพม่าจะเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง เพราะเขารู้สึกว่าตัวอยู่ใต้การกดขี่มานาน การเลือกตั้งก็อาจเป็นเหมือนทางเลือกเดียวที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง หนึ่งเสียงของคนปกาเกอะญออาจช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นบ้าง การมีความหวังคงจะดีกว่าอยู่ไปโดยสิ้นหวัง ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานปฏิวัติ ผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการมาเนิ่นนาน เกินกว่าจะวางใจได้

แล้ว ประชาชนกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ตามป่าเขาล่ะ เขาไม่ได้รับรู้เลยด้วยซ้ำว่า การเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร และจะต้องทำอย่างไร

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนการเลือกตั้ง ในขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่ชาวไทยกังวลอยู่เรื่องปัญหาผู้ลี้ภัย ยาเสพติด หรือเรื่องการค้าขายว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลง คนชายแดนต่างให้ความเห็นตรงกันว่า "คิดว่าการสู้รบจะเกิดขึ้น การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นประชาธิปไตยที่เต็มไปด้วยเลือด" หลาย ๆ คนเชื่อเกือบจะแน่นอนว่าเหตุการณ์จะเลวร้าย กองทัพรัฐบาลใหม่จะเข้าปราบปรามกองกำลังของกลุ่มต่าง ๆ และการสู้รบจะทำให้ผู้พลัดถิ่นในประเทศเพิ่มขึ้น การหลั่งไหลเข้าชายแดนไทยก็จะตามมา ทั้งในค่ายผู้ลี้ภัย และในรูปแรงงานอพยพ

"เพราะว่าการเลือกตั้งไม่ใช่แค่เลือกกาถูกหรือผิด แต่เป็นการเลือกว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้ปกครอง ดังนั้นการทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า เราไม่สามารถจะพูดคุยให้ความรู้กับชาวบ้านได้เลยในภาวะสงครามและการจำกัดเสรีภาพแบบนี้" ผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์คนหนึ่งว่า ..แล้วจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น คำตอบของเขาก็คือ "ยังไม่รู้เหมือนกันว่าหัวหน้าเรามีแผนการอย่างไร แต่เชื่อว่าคนที่ทำหน้าที่รบก็ต้องรบ คนที่ทำหน้าที่พูดชี้แจงถึงความไม่เป็นธรรมก็ต้องพูด ...ส่วนการที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนนั้น ...ตอนนี้คงไม่ทัน"

ไม่ทันแล้วจริง ๆ น่ะหรือ? แล้วเมื่อไรจะทัน สำหรับก้าวแรกของประชาธิปไตยอย่างมีวินัย ประชาชนชาติพันธุ์หลายคนคงไม่คาดหวังผลของการเลือกตั้งว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่หลาย ๆ คนก็ยังหวังว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดีกว่าไม่ได้เปลี่ยน

ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน
ตู้ปณ.180 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่ 50202

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา