เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เหลียวหลัง แลหน้า ชุมชนไทย “สถานการณ์เด่น ประเด็นแรง”

รอบปีที่ผ่านมาสังคมไทยผ่านทุกข์หนัก ทั้งร้าวฉานแบ่งสี-ฝ่าย ภัยธรรมชาติซ้ำเติมปัญหารากหญ้าร้อนทั้งคดีคนจน ที่ดิน หนี้สิน แต่ก็มีเรื่องน่ายินดีที่วิกฤติเป็นโอกาสเกิด คปร.-คสป.มุ่งแก้ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และมิติการรวมพลังชาวบ้าน โต๊ะข่าวเพื่อชุมชนร่วมเหลียวหลังปี 2553 แลหน้าปี 2554…

เหลียวหลังชุมชนไทยปี 2553…

ปี 53 เลวร้ายสุดของเกษตรกร : คดีที่ดิน หนี้สิน น้ำท่วม

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ คณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) และนักวิชาการที่คลุกคลีตีวงในกับเกษตรกรทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจนได้ฉายา “ดร.เกษตรกร” เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่ารอบปีที่ผ่านมาความเดือดร้อนของชาวบ้านเกิดจาก 3 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือคดีที่ดิน ชาวบ้านถูกจับข้อหาบุกรุกที่ดินรัฐทั้งที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนประกาศเขตป่า สงวนป่าอนุรักษ์ ถูกตัดสินจำคุก 500 ราย ล่าสุด 5 ธ.ค.ได้รับการปล่อยตัว 18 ราย แต่อยู่ระหว่างคดีอีกเป็นหมื่น เรื่องนี้สะท้อนว่ากระบวนการยุติกรรมไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน

“คุณภาพชีวิตเกษตรกรปีนี้ตกต่ำมาก กระทบถึงความมั่นคงเศรษฐกิจชุมชน ความมั่นคงทางอาหาร นี่ยังไม่รวมเรื่องชุมชนที่ถูกไร่ลื้อจากนโยบายเมกกะโปรเจคทั้งหลาย” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

เรื่องที่สอง ภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้พื้นที่การเกษตรกกว่า 8 ล้านไร่ นับว่าเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของเกษตรกร บางคนไม่ได้รับค่าชดเชยตามเกณฑ์ เพราะท่วมไม่หมดแต่เหลือที่ทำกินเล็กน้อย ผลผลิตก็ลดลง หนำซ้ำราคาข้าวยังตก โรงสีบางแห่งไม่รับซื้อ บางแห่งกดราคา ต้องเป็นหนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว เรื่องที่สามหนี้สิน ปีนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแทบจะไม่คืบหน้า เพราะรัฐบาลใช้วิธีการให้ธนาคารและสถาบันการเงินไปจัดการหนี้สินเกษตรกรเอง โดยไม่ผ่านกองทุนฯ แทนที่จะตัดต้นครึ่งหนึ่งยกดอกทั้งหมดตามเงื่อนไข ทำให้เกษตรกรเป็นล้านๆ ครอบครัวต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย

ดร.เพิ่มศักดิ์ ยังเสนอว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขเฉพาะหน้าคือปัญหาราคาข้าวหลังประสบภัย พิบัติ ขณะนี้อยู่ที่เกวียนละ 6,300 บาท ได้เงินส่วนต่างราคาประเมิน 1,000 บาท รวมแล้ว 7,000 กว่าบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับพื้นที่ทำกินได้หลังน้ำท่วมที่เหลือไม่มาก เกษตรกรจะอยู่ไม่รอด

จับตาเอฟทีเอ-ปัญหาน่าห่วงสารเคมีเกษตร

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี มอง ว่าปัญหาระดับโครงสร้างที่น่าจับตาคือข้อตกลงเอฟทีเอกับยุโรปที่จะมีผลกระทบ กับชุมชน ทั้งสิทธิบัตรยา พันธุ์พืช การเปิดเสรีการเกษตร ปัญหาสารเคมีจากอุตสาหกรรมสู่ชุมชน เช่น กรณีมาบตาพุด นอกจากนี้ปีหน้าคาดว่าสถานการณ์ความมั่นคงอาหารชุมชนจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะวงจรการผลิตตกอยู่ในมือนายทุนเกษตรหมดแล้ว

อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน สะท้อนว่าปัญหาสารเคมีน่าเป็นห่วง นอกจากกระทบเกษตรกรโดยตรง ประเทศยังเสียประโยชน์มหาศาลจากการนำเข้า ล่าสุดมีการใช้งบประมาณแก้ปัญหาภัยพิบัติซื้อสารเคมียาฆ่าแมลงแจกชาวบ้าน หลายจังหวัดทั่วประเทศเพื่อแก้ปัญหาโรคแมลงระบาดหลังน้ำท่วม ทั้งที่กฏหมายระบุว่าการระบาดต้องมีพื้นที่ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 500 ไร่

“ซื้อมาแจกทำไม ในพื้นที่ไม่ได้มีการระบาดของแมลง อาจเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เพราะ ครม.ตั้งนักธุรกิจด้านสารเคมีเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการวัตถุอันตราย” นายอุบล กล่าว

อุบล ยังแสดงความห่วงใยถึงนโยบายเกษตรอินทรีย์ที่ประกาศเป็นวาระแห่งชาติและผ่าน ค.ร.ม.ไปแล้วในปี 2549 แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีความคืบหน้าจากหน่วยงานรัฐ

การเมืองร้อน-รากหญ้าร้าว ขาดกระบอกเสียงชุมชน

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มอง ประเด็นร้อนที่ยังระอุ คือปัญหาการเมืองระดับประเทศที่ส่งผลลึกถึงท้องถิ่น ทำให้สังคมแตกหักถึงขีดสุด จะจัดการความแตกต่างทางความคิดร้อยเชื่อมกับมิติการแก้ปัญหาอื่นๆในสังคมได้ อย่างไร วิฑูรย์มองว่าความหวังขึ้นอยู่กับกระแสการปฏิรูป ซึ่งหากสามารถนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนได้จริง ความขัดแย้งและวิกฤติต่างๆก็จะคลี่คลายลง

จรัล พากเพียร อนุกรรมการสื่อสารสิทธิมนุษยชนเพื่อการสาธารณะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มอง ภาพชุมชนไทยรอบ 1 ปีว่าเกิดความขัดแย้งหลายเรื่อง ทั้งการเมืองที่มีการแบ่งแยกสี ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ดิน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการได้รับข้อมูลไม่เท่ากันของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมองบทบาทสื่อว่านำเสนอเรื่องสิทธิชุมชนน้อยมาก โดยเฉพาะวิทยุชุมชนซึ่งถือว่าเป็นสื่อท้องถิ่นที่เข้าถึงชาวบ้านที่สุด

“เรามีสื่อมากมายทั้งระดับประเทศระดับโลกระดับชุมชน แต่ไม่มีเนื้อหาสาระใส่เข้าไปเพื่อให้คนได้เรียนรู้ว่าสิทธิชุมชนเป็นสิ่ง ที่ต้องได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในวิถีชีวิต ปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้มันหายไปเพราะความมุ่งเอากำไร ส่วนวิทยุชุมชนเพื่อชุมชนเองจริงๆก็มีอยู่น้อยมาก” จรัล กล่าว.

ใช้บทเรียนมองไปข้างหน้าปี 2554…

“สภาเกษตรแห่งชาติ-พ.ร.บ.เกษตรยั่งยืน” ความหวังรากหญ้า

ดร.เพิ่มศักดิ์ มองความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่น่ายินดี ได้แก่ 1.การคลอด“พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สภาเกษตรกรแห่งชาติ” เป็นกฎหมายที่สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตกรเพื่อผลักดันข้อเสนอนโยบาย แผนปฏิบัติการต่างๆในการพัฒนาภาคเกษตรกรรม 2.การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชน ซึ่งแม้ปัจจุบันยังติดปัญหาในทางปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคระหว่างชาวบ้านใน พื้นที่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก็สะท้อนว่ามีกลไกอันเป็นช่องทางที่ดี

“ปี 2553 มีคดีเกษตรกรเยอะขึ้นมาก หวังว่าปี 2554 เรื่องที่ดินจะได้รับการคลี่คลายแก้ไขเด็ดขาด ส่วนมิติอื่นๆมีความไม่เป็นธรรมของเกษตรกรที่ตกอยู่ในระบบพันธสัญญา รัฐควรลงมาแก้ปัญหา รวมทั้งควบคุมการใช้สารเคมีเกษตรซึ่งส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยด้าน อาหาร” ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

วิฑูรย์ มองว่าสภาเกษตรฯเกิดจากการขับเคลื่อนของภาค ชุมชนและมีเสียงขานรับจากภาคการเมือง แต่ต้องจับตาไม่กระพริบว่าเกษตรกรรายย่อยจะได้เข้าไปนั่งเป็นตัวแทนในสภาฯ ดังเจตนารมย์เบื้องต้นหรือไม่ หรือจะกลายเป็นที่ตักตวงผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนเกษตรกรรายใหญ่ วิฑูรย์ยังมองว่าสิ่งที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นคือ พ.ร.บ. เกษตรกรรมยั่งยืน จะเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งเป็นรูปธรรมให้เกษตรกร

“ตั้งเป้าตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 8 จนแผนฯ 11 ยังผลักดันเกษตรยั่งยืนได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะขาดกลไกที่เป็นการปฏิรูปภาพรวมให้เห็นผล ไม่ใช่เพียงคำพูด” วิฑูรย์ กล่าว

ความคืบหน้ารัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.แล้ว มีองค์ประกอบจากตัวแทนรัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่ายการเมือง ภาคประชาชน เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธาน แต่ตามกรอบเวลาที่ ค.ร.ม.กำหนดต้องเสร็จภายใน 3 เดือน ซึ่งคงไม่ทัน

“ควรเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายให้ความเห็นอย่างกว้างขวางก่อนจึงจะผลักดัน ในรูปของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีคู่ขนานไปด้วย แม้ตอนนี้ยังอยู่จุดเริ่มต้น คาดหวังว่าปีหน้าคงได้ระเบียบและแผนปฏิบัติการต่างๆออกมาก่อน ส่วน พ.ร.บ.ก็รอให้รอบคอบ ภาคประชาชนไม่ได้รีบร้อน” วิฑูรย์ กล่าว

ส่วนอุบล มองระดับพื้นที่ว่าสิ่งดีที่เกิดขึ้นปี 53 คือการที่เกษตรกรส่วนหนึ่งเริ่มรู้ทันระบบเศรษฐกิจและการตลาดมากขึ้น หันมาทำเกษตรอินทรีย์ นอกจากลดต้นทุนการผลิต ยังทำให้สุขภาพดีขึ้น แต่อาจต้องใช้เวลาอีกระยะสำหรับการสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรที่ยังใช้สาร เคมี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับบทบาทจากที่มุ่งสอนแต่เกษตรกรมาเป็นเรียน รู้ร่วมกัน เพราะเดี๋ยวนี้เกษตรกรมีความรู้เยอะมาก

วิกฤติสร้างโอกาส “เสียงชุมชน-ประชาธิปไตยรากหญ้า-คณะกรรมการปฏิรูป”

จรัล กล่าวว่า ท่ามกลางความขัดแย้งและปัญหาด้านต่างๆ เมื่อมองมุมกลับก็มีผลสะท้อนให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะออกมาปกป้องสิทธิตนเอง มากขึ้น เช่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชน ที่ควรได้รับตามรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับวิฑูรย์ ที่มองว่า เป็นพัฒนาการสืบเนื่องกันมา 4-5 ปีแต่ปรากฏรูปธรรมชัดเจนในปีนี้คือชุมชนมีบทบาททางการเมืองและสังคมมากขึ้น มีการรวมตัวเข้มแข็งผลักดันนโยบายหลายเรื่อง เช่น โฉนดชุมชน สวัสดิการชุมชน ในระดับพื้นที่ก็มีการรวมกลุ่ม เช่น กลุ่มพัฒนาพันธุ์ข้าว และกระบวนการเกษตรกรรมยั่งยืนก็ขยายผลในหลายพื้นที่

ด้านบำรุง คะโยธา นายก อบต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ นักพัฒนาที่ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนชุมชนของคณะกรรมการรสิทธิมนุษยชนปี 2553 กล่าว ว่า แม้ปีนี้จะมีการชุมนุมแบ่งขั้วทางการเมืองชัดเจน การต่อสู้ดุเดือด แต่หากมองอีกมุมเป็นโชคดีให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการปฏิรูป(ค.ป.ร.) และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(ค.ส.ป.) หาสาเหตุปัญหา หาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาระยะยาว ตนยังมองว่าความพยายามให้หันหน้าพูดคุยรับฟังความคิดเห็นกันเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้ปัญหายุติลงได้

“ตัวอย่างในพื้นที่ผมก็มีการแบ่งสีชัดเจน เราใช้ประเพณีวัฒนธรรม อาชีพ วิถีชีวิตเป็นตัวเชื่อมชาวบ้านที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน เช่น จัดมหกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีใครพูดถึงเรื่องสี คนทั้งตำบลและใกล้เคียงมาร่วมมือกัน ชาวบ้านได้พูดคุยกัน มีปราชญ์ชาวบ้านมาร่วม” บำรุง กล่าว

สน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าว กับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่าการเมืองรอบปีกระตุ้นให้ชาวบ้านตื่นตัวอย่างไม่เคย ปรากฏมาก่อน ซึ่งมีผลสะท้อนทั้งด้านดีและไม่ดี เพราะชาวบ้านไม่เคยมีโอกาสได้ใช้สิทธิอย่างนี้มาก่อน การเขย่าให้ตื่นแบบไม่มีทิศทางจึงสร้างอารมณ์ฉุนเฉียวจากแรงกดดันที่สะสมมา นาน การต่อสู้จึงรุนแรง แต่ในอีกด้านก็ทำให้ประชาธิปไตยไทยก้าวกระโดด ชนชั้นปกครองสนใจภาคประชาชนมากขึ้น เกิดกระบวนการประชาธิปไตยชุมชนที่ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับท้อง ถิ่นจนถึงภูมิภาค ผลักดันการแก้ปัญหาชุมชนจนถึงระดับนโยบายที่สำคัญ

ลุงสน ยังกล่าวว่า จุดเปลี่ยนสำคัญคือการเกิดขึ้นของ คปร. และ คสป. ทำให้ประตูที่เคยปิดตายไว้แง้มออกมา แต่ปัญหาคือชาวบ้านจำนวนมากยังเข้าใจว่ากระแสปฏิรูปเป็นเพียงเครื่องมือยื้อ เวลาของรัฐบาล ในระยะเวลาอันใกล้จึงยังหาความสงบไม่ได้ แม้จะมีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ใช่ทางออก

“เราออกจากบ่วงไม่ได้ในเวลาอันสั้น ประชาชนส่วนใหญ่ถูกครอบในระบบอุปถัมภ์นานเกินไป อาการตอนนี้ชาวบ้านเบื่อความขัดแย้งเบื่อม็อบเบื่อการเมือง ทางออกที่เป็นไปได้คือขยายฐานประชาธิปไตยชุมชนเพื่อช่วงชิงพื้นที่ทางนโยบาย สู่ความสงบของประเทศ แต่ปี 54 ไม่เจอแน่นอน” ลุงสน สรุป

ด้านตำนานม็อบชาวบ้าน สวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาคนจน มองว่าปีนี้เป็นปีแห่งการต่อสู้ระหว่างชุมชนกับภัยพิบัติ ขณะเดียวกันก็ปรากฏภาพกระบวนการเรียนรู้และทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนด้วยกัน องค์กรท้องถิ่น ภาครัฐอย่างกว้างขวางแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ส่วนสมัชชาคนจนปีที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการเจรจากับรัฐบาล ซึ่งการแก้ปัญหายังติดๆขัดๆไม่เห็นรูปธรรมชัดเจนต่อเนื่อง และที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มปัญหาป่าไม้ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นเรื่องร้อน รุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรัฐไม่มีเอกภาพ บังคับหน่วยงานทำตามคำสั่งไม่ได้

“ขยับบ้าง เช่น การเยียวยาชดเชยกรณีที่ดินบางส่วน หรือเขื่อนปากมูลที่ผลเจรจาออกมาค่อนข้างน่าพอใจแต่ยังไม่ได้แก้อะไรในทาง ปฏิบัติ เรื่องพื้นที่ป่าที่ยังหาข้อตกลงไม่ได้ก็เผชิญหน้ากันอยู่บ่อยครั้ง”

สวาท กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลยังไม่มีท่าทีชัดเจน ชาวบ้านอาจจะรวมตัวเคลื่อนมวลชนเพื่อเสนอปัญหาต่อสาธารณะตามแนวทางของสมัชชา ควบคู่กับการเจรจาเพื่อบอกให้รัฐบาลรู้ว่ายังมีการรวมกลุ่มก้อนกันอยู่

………………………………………

ปีใหม่เริ่มต้นพร้อมๆกับสัญญาณเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และการเก็บเกี่ยวผลบรรดาประชานิยมที่โปรยไว้กับคนรากหญ้า แต่ทิศทางชุมชนไทยไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงการเมือง พหุพลังสร้างสรรค์ช่วยกันขับเคลื่อนได้ วันนี้อาจยังไกล แต่คงมีสักวันที่จะตะโกนชัดถ้อยชัดคำว่า “ชาวบ้านตกปลาเป็น”.

ที่มา : สถาบันอิศรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา