ที่มา : มติชน
ผมไม่ทราบหรอกว่า เหตุใดจึงเกิดการปะทะกันกับกัมพูชาขึ้นที่ชายแดน ใครจะได้อะไรกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ผมก็เดาไม่ออก ใครในที่นี้รวมถึงฝ่ายกัมพูชาซึ่งดูเหมือนมีเอกภาพในหมู่ชนชั้นนำกว่าไทย และฝ่ายไทยซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มอำนาจหลากหลาย เช่นพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งก็มีหลายพรรค ไปจนถึงกองทัพ ซึ่งก็มีกลุ่มอำนาจต่างๆ ภายในกองทัพเองหลายกลุ่ม และไปจนถึงอำนาจนอกระบบ ซึ่งก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียวอีกนั่นแหละผมเพียงแต่ค่อนข้างแน่ใจว่า ไม่ว่าเหตุปะทะที่ชายแดนจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตาม จุดมุ่งหมายไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายกลุ่มอำนาจอันหลากหลายของไทย ต่างรู้ดีว่าการจุดชนวนปะทะกัน ไม่มีทางที่จะทำให้ข้อขัดแย้งเรื่องพรมแดนคลี่คลายไปทางหนึ่งทางใดได้ ทุกฝ่ายน่าจะรู้อยู่แล้วว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นจริงในปัจจุบันทำให้ไม่มีทางที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จะสามารถตกลงข้อพิพาทเรื่องเขตแดนให้เป็นไปตามใจชอบของตนแต่ฝ่ายเดียวได้
แม้ แต่การปลุกระดมให้ทำสงครามอย่างที่แกนนำพันธมิตร บางคนใช้ ก็รู้กันอยู่แล้ว แม้แต่แก่ตัวผู้ปลุกระดมเองว่า ไม่มีทางที่กัมพูชาหรือไทยจะชนะขาดได้อย่างแน่นอน ฉะนั้นการปลุกระดมไปสู่สงคราม จึงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสงคราม แต่เพื่อการเมืองภายในของพันธมิตร เองมากกว่า
กล่าวโดยสรุป ก็คือ เหตุปะทะกันที่ชายแดน ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายเริ่มต้น ล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไรสักอย่างในการเมืองภายใน ไม่ของกัมพูชา ก็ของไทยเอง หรือของทั้งสองฝ่ายร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม การเล่นการเมืองอย่างสุ่มเสี่ยงเช่นนี้เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะ"บานปลาย"ได้ง่าย อีกทั้งน่ากลัวแก่ไทยเสียยิ่งกว่ากัมพูชาด้วย เพราะอย่างน้อยภาวะการนำของกัมพูชาในขณะนี้ดูจะเป็นเอกภาพ จะหยุดหรือเบี่ยงประเด็นไปเมื่อไรก็ได้ ในขณะที่ในเมืองไทยเป็นตรงกันข้าม คือขาดเอกภาพอย่างยิ่ง ผมอยากจะพูดอย่างนี้ด้วยซ้ำว่า ไม่เคยมีครั้งไหนที่ชนชั้นนำไทยจะแตกร้าวกันอย่างหนักเท่าเวลานี้ ไม่ว่าจะมองไปที่เครือข่ายชนชั้นนำตามจารีต, กองทัพ, นักการเมือง, ทุน, นักวิชาการ, หรือแม้แต่คนชั้นกลางด้วยกันเอง
ความ ไม่เป็นเอกภาพของชนชั้นนำนั้นมีข้อดีในตัวเองด้วยนะครับ อย่างน้อยก็เกิดการถ่วงดุลอำนาจกันบ้าง แต่ในวิกฤตการณ์บางอย่าง ก็กลับกลายเป็นความอ่อนแอ ทั้งสังคมและชนชั้นนำจะตกเป็นเหยื่อของนักปลุกระดม (demagogue)ได้ง่าย
อย่าง ไรก็ตาม ผมขออนุญาตมองโลกในแง่ดีว่า ภาวะสุ่มเสี่ยงที่เกิดขึ้น กลับมีความสุ่มเสี่ยงในเมืองไทยน้อยลง เพราะเกิดปัจจัยใหม่ในการเมืองไทย นั่นคือสังคมโดยรวมมีสติเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตกเป็นเครื่องมือการแย่งอำนาจกันด้วยเล่ห์กระเท่ห์ของชนชั้นนำอย่างหมด ตัวเหมือนที่เคยเป็นมา (เช่นนักศึกษาไม่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องสงคราม อย่างที่นักศึกษาเคยทำเมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม)
ผมอยากวิเคราะห์ความมีสติของสังคมดังที่กล่าวนี้ว่า มาจากอะไรบ้าง เพื่อจะได้มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเอง
1/ การปลุกระดมด้วยลัทธิชาตินิยมแบบระรานของแกนนำพันธมิตร ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ฝูงชนที่ร่วมชุมนุมมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากนัก จึงไม่เป็นเงื่อนไขให้กลุ่มอำนาจกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองของตนเองได้สะดวก
อันที่จริงชาตินิยมแบบระรานนั้น เป็นอุดมการณ์ที่ทหารใช้กันมานาน เพราะให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทางการเมืองที่ไม่ชอบธรรมของกองทัพ แต่ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ตกอยู่ใต้มนตร์สะกดนี้ในครั้งนี้ จึงทำให้กลุ่มอำนาจในกองทัพบางกลุ่มไม่อาจใช้ชาตินิยมแบบระรานนี้ ไปยึดอำนาจทางการเมืองมาอยู่ในกลุ่มของตนได้
2/ เหตุใดคนไทยจำนวนมากจึงไม่ตกอยู่ใต้มนตร์สะกดของลัทธิชาตินิยมแบบระราน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งมาจากการที่คนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ได้เรียนรู้แล้วว่า ความเข้มแข็งของชาตินั้นไม่ได้มาจากพื้นที่อันกว้างขวางของดินแดน บูรณภาพทางดินแดนมีความสำคัญก็จริง แต่ยืดหยุ่นได้มากกว่าหนึ่งตารางนิ้ว ในการประเมินความเข้มแข็งของชาติ จำเป็นต้องนำปัจจัยอื่นๆ เข้ามาบวกลบคูณหารด้วย เช่นปัจจัยทางเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, การรวมกลุ่มระหว่างประเทศ, สถานะของไทยในการเมืองโลก, และอนาคตอันยาวไกลของบ้านเมือง ทั้งหมดเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับกองทัพ และทหารก็ไม่ได้มีความสามารถที่จะกำหนดชะตากรรมของชาติมากกว่าคนกลุ่มอื่นแต่อย่างใด
3/ ถ้าคนไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ คิดอย่างที่ผมว่าไว้ในข้อสอง ก็ หมายความว่ากองทัพต้องหันกลับมาทบทวนบทบาทของตนในสังคมไทยใหม่ ถ้ากองทัพยังอยากจะดำรงอยู่อย่างมีความสำคัญในสังคมอยู่บ้าง การปกป้องชาติอาจทำได้ด้วยกำลังทหาร แต่กำลังทหารอย่างเดียวไม่พอ และไม่สำคัญที่สุดด้วย มีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่สำคัญกว่านั้น ซึ่งเราต้องใส่ใจมากกว่าความแข็งแกร่งของกองทัพ ถ้ากองทัพคิดว่าตัวจะมีบทบาทเหมือนเดิมตลอดไป
ในไม่ช้ากองทัพเอง นั่นแหละจะกลายเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนมากเห็นว่าเป็น"ส่วนเกิน"ของชาติ และหนักไปกว่านั้นคืออาจเห็นว่าเป็น"ตัวถ่วง"ก็ได้
4/ สิ่งที่เคยเป็น "อาญาสิทธิ์" ทุกชนิดในสังคมไทย ถูกท้าทาย, ถูกตั้งคำถาม, ถูกตั้งข้อสงสัย, หรือถูกปฏิเสธ ไปหมดแล้ว ในสภาพเช่นนี้ ไม่มีชาติใดสามารถรบกับใครได้หรอกครับ อาจปะทะกันที่ชายแดนได้ แต่รบกับเขานานๆ ชนิดที่เรียกว่า "สงคราม" ไม่ได้
ผมขอยก ตัวอย่างจากรายการวิทยุท้องถิ่นแห่งหนึ่งที่ผมเพิ่งได้ยินในเชียงใหม่ เป็นรายการสนทนาที่โฆษกท่านหนึ่งพูดในวันที่มีการปะทะกันที่ชายแดน และมีทหารเสียชีวิตว่า ถึงจะเสียใจต่อความสูญเสียของครอบครัวทหารท่านนั้น แต่คิดย้อนหลังไปไม่กี่เดือนก่อนหน้า ที่ทหารยิงประชาชนซึ่งไม่ได้ถืออาวุธล้มตายจำนวนมากแล้ว ก็มีความรู้สึกพิพักพิพ่วน ด้านหนึ่งก็คือเสียใจ, โกรธแค้นกัมพูชา เพราะอย่างน้อยก็เป็นคนไทยด้วยกัน แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า ผู้ชุมนุมประท้วงก็เป็นคนไทยด้วยกันเช่นเดียวกัน
ความหมายของเขานั้น เข้าใจได้ไม่ยากนะครับ แต่ประเด็นสำคัญที่ผมอยากชี้ไว้ก็คือ จะมีกองทัพใดในโลกนี้หรือครับที่สามารถทำสงครามสมัยใหม่ได้ หากประชาชนส่วนหนึ่งรู้สึกอย่างนี้กับทหาร สงครามสมัยใหม่นั้นเป็นสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) คือไม่ได้รบกันที่แนวหน้าอย่างเดียว แต่รบกันทั้งสังคม ไม่เหมือนสงครามสมัยโบราณ ที่มีแต่ทัพของอัศวินรบกัน โดยประชาชนทำมาหากินและหลบหลีกภัยสงครามไปตามเรื่อง ใครแพ้ใครชนะก็ไม่เกี่ยวกับตัว เพราะนายเก่าหรือนายใหม่ก็ไม่สู้จะต่างอะไรกันนัก
5/ ความ เปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากก็คือ เสียงของคนชายแดนบ้านภูมิซรอล, บ้านภูมะเขือ, ฯลฯ ดังกว่าที่เสียงของคนชายแดนเคยดังมาในการปะทะกันด้วยอาวุธทุกครั้งของไทย ทีวีไทยเอาผู้ใหญ่บ้านจากหมู่บ้านแถวนั้น มานั่งสนทนากับนักวิชาการ ทีวีอีกหลายช่องไปถ่ายภาพความโกลาหลของประชาชนชายแดนที่ต้องอพยพหลบภัย มานอนกันเกลื่อนกล่นในที่ซึ่งราชการตั้งเป็นศูนย์อพยพ
มีน้ำตาของแม่ที่พลัดหลงกับลูก มีคำให้สัมภาษณ์ของคนที่ต้องทิ้งสมบัติข้าวของและวัวควายไว้โดยไม่มีคนดูแล มีอารมณ์ความรู้สึกของความสับสนวุ่นวายที่ต่างไม่สามารถจัดการกับชีวิตของตน ได้ และแน่นอนมีความเสียหายทางวัตถุและชีวิตซึ่งเกิดขึ้น
เสียง ของคนเล็กๆ ดังมากขึ้นในสังคมไทยมาหลายปีแล้ว ทั้งจากเอ็นจีโอ, นักวิชาการ, และการเคลื่อนไหวของพวกเขาเอง สงครามหรือปัญหาระหว่างประเทศเคยเป็นพื้นที่หวงห้ามที่ชนชั้นนำตัดสินใจกัน เอง (อย่างมีเอกภาพ หรือไม่มีเอกภาพก็ตาม) แต่ครั้งนี้ไม่ใช่นะครับ มีเสียงของคนเล็กๆ สอดแทรกเข้ามา เช่นผู้ใหญ่บ้านท่านที่กล่าวแล้ว เสนอให้เปิดการเจรจากันโดยเร็วเพื่อยุติการใช้อาวุธเพื่อแก้ปัญหาความขัด แย้ง ท่านไม่สนใจหรอกครับว่าจะเปิดการเจรจาอย่างไรจึงจะเป็นผล นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไปหาทางเอาเอง ท่านไม่ได้เรียกร้องให้ใช้กำลังทหารเข้าไปยึดนครวัด เสียมราบ พระตะบอง
เสียง เหล่านี้ดังเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรด้วย จะเพราะเหตุผลทางการเมืองหรืออะไรก็ตามที แต่เป็นประเด็นหลักของการอภิปรายกระทู้ของฝ่ายค้านต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
เรา จะอยู่กันต่อไปโดยปิดหูให้แก่เสียงของคนเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้เสียแล้ว และจะใช้วิธีศรีธนญชัยกับเสียงเหล่านี้ ก็คงไม่ได้ผลยั่งยืนอะไร
6/ คู่ขนาน กันไปกับเสียงของคนเล็กๆ ผมคิดว่ามีเสียงของนักวิชาการซึ่งอาจไม่ดังเท่า แต่ก็ทำมาอย่างต่อเนื่องให้หันมาทบทวนกรณีพิพาทเรื่องเขตแดนจากข้อมูลหลัก ฐานที่เป็นจริง และหาทางออกโดยสันติ ก่อนที่นักปลุกระดมจะฉวยเอาประเด็นเหล่านี้ไปเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ทางการ เมืองของตน แม้ว่าเสียงของนักวิชาการเหล่านี้อาจไม่จับใจสื่อ และไม่เป็นข่าว แต่ได้สร้างฐานความรู้บางอย่างที่คนเล็กๆ สามารถหยิบฉวยไปใช้ เพื่อยับยั้งการเลือกความรุนแรงในการแก้ปัญหาได้ และในความเป็นจริงเวลานี้ ผมก็ได้พบว่าคนเล็กๆ ที่มีสติดีที่สุดและไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองอะไรกับข้อพิพาทชายแดน ก็กำลังกระตือรือร้นที่จะหยิบเอาฐานความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการกำกับนโยบาย ของรัฐด้วย เช่นในการสัมมนาเรื่อง "สยาม-ขะแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร" ที่ มธ.เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีชาวบ้านจากภูมิซรอลอุตส่าห์เดินทางมาร่วมการสัมมนาด้วยจำนวนหนึ่ง
พูด อีกอย่างหนึ่งก็คือ คนเล็กๆ ไม่ได้ส่งเสียงเพราะตัวเองเดือดร้อนเฉพาะหน้า แต่กำลังเขยิบเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นหลักเป็น ฐาน ด้วยสิทธิเสมอภาคกับสาวกของเวทีพันธมิตร ที่ราชดำเนิน
ใน ทุกที่ในโลกนี้ หากเบี้ยสามารถเดินหมากเอง สงครามจะเป็นตาอับตลอดไป แม้เรายังอาจมีข้อพิพาทและการปะทะกันด้วยอาวุธอยู่บ้าง แต่โลกนี้จะไม่มีสงคราม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา