บทสัมภาษณ์ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา”
ประชาชาติธุรกิจ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
"ผมว่าคนใน 111 จำนวนหนึ่งเท่าที่ผมคุย เขาก็ยังคิดที่จะกลับเข้ามาทำงานด้านการเมืองอยู่"อีก 16 เดือน คนการเมือง 111 คน จะคืนเวที
ภายใต้สิ่งแวดล้อมทางการเมืองที่ถูกจัดระบบ-วางระเบียบใหม่
หลายคนปรากฏตัวต่อสาธารณะ ร่วมกับพรรคการเมือง สม่ำเสมอ
บางคนให้ความเห็นทางการเมืองในฐานะ “ที่ปรึกษา”
บางคนคลุกวงใน ล้วงลึกถึงห้องประชุมคณะรัฐมนตรี
“พงษ์เทพ เทพกาญจนา” เคยปรากฏตัวบนเวทีเสื้อแดง และเคียงคู่ “ทักษิณ” ในฐานะ “โฆษกส่วนตัว”
เขาปรากฏความเห็น กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในฐานะ “นักกฏหมาย”
@ มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันอย่างไร
ปัญหา หลักของ รัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่เรื่องที่กำลังแก้ไขอยู่ตอนนี้ ทั้งระบบเลือกตั้ง ส.ส.หรือการทำสนธิสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องปลีกย่อย ปัญหาหลักของรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่ที่พื้นฐานการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รัฐธรรมนูญถูกยกร่างขึ้นมาหลังการ ยึดอำนาจ คณะปฏิรูปฯเป็นคนเลือกผู้ที่จะมาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และยกร่างบนพื้นฐานความไม่เชื่อถือประชาชน คิดว่าประชาชน ขายสิทธิขายเสียง ไม่มีความรู้ ไม่มีความรับผิดชอบเพียงพอที่จะตัดสินใจปัญหาของประเทศชาติ รัฐธรรมนูญจึงไม่ได้ให้อำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชนแต่ให้ไปอยู่กับคนกลุ่ม เล็กๆ เช่น องค์กรอิสระและศาล ซึ่งมีจุดยึดโยงกับประชาชนน้อยมาก
กกต. 5 คนแรกหลังการยึดอำนาจซึ่งขณะนี้ยังดำรงตำแหน่งอยู่ 4 คน ตั้งโดยคณะปฏิรูปฯ ในเวลานี้หัวหน้าคณะปฏิรูปฯมาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ป.ป.ช.ทั้งหมดตั้งโดยคณะปฏิรูปฯ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ดำรงตำแหน่งต่อและยังควบตำแหน่งประธานกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดินตามคำสั่งคณะปฏิรูปฯ บุคคลจากองค์กรเหล่านี้มีบทบาทเลือกสมาชิกวุฒิสภาถึง 74 คน
คนหลายคนทำในสิ่งที่เห็นชัดๆว่าผิด องค์กรต้นสังกัดรู้แต่ไม่ดำเนินการอะไร แถมบางครั้งยังไปยกย่องเชิดชูให้ความดีความชอบ ทำให้องค์กรเสื่อมลง เพราะเท่ากับองค์กรนั้นยอมรับการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
กลไกหลายอย่างให้อำนาจบุคคลเหล่านี้มาก ขณะที่เขาได้แสดงความน่าเชื่อถือแค่ไหน? บทบาทประธาน กกต. เป็นอย่างไรโดยเฉพาะในคดียุบพรรคที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินไปเร็วๆนี้? อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่มีเรื่องกับรักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่น ดินเป็นอย่างไร? ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการเอาข้อสอบไปให้คนใกล้ชิดและพรรคพวกดูก่อน ถ้าเป็นอย่างที่มีคลิปออกมาจริง ยังทำงานต่อไปได้อย่างไร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นยังทำงานร่วมกับคนที่ทำอย่างนี้ได้อย่างไร ทั้งๆที่หลักฐานมีน้ำหนัก มีการดำเนินการโดยศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสอบหาความจริงว่ามีการกระทำตามหลักฐาน หรือไม่ บุคคลที่กล่าวมาเหล่านี้มีบทบาทในการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเยอะแยะไปหมด
ข้อบกพร่องอีกอย่างหนึ่งของ รัฐธรรมนูญ 2550 คือบางส่วนร่างโดยมีอคติ ไม่ได้ร่างโดยอาศัยเหตุผลทางวิชาการ เช่น ระบบการเลือกตั้งจากเดิม ส.ส.เขตละคนและบัญชีรายชื่อใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ไปเป็นแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ซึ่งใช้มาก่อน รัฐธรรมนูญ 2540 แล้วซอยบัญชีรายชื่อเป็น 8 เขต โดยกรรมาธิการยกร่างฯคนหนี่งอธิบายเหตุผลของการแก้ไขในสภาร่างรัฐธรรมนูญว่า ถ้าไม่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ก็เห็นๆ กัน อยู่ว่าพรรคไหนเข้าสภา จะเห็นได้ว่าไม่ได้เปลี่ยนเพราะเหตุผลอย่างอื่นนอกจากเพื่อไม่ให้พรรคไทยรัก ไทยหรือพรรคที่สืบทอดอุดมการณ์และแนวทางการทำงานของพรรคไทยรักไทยได้คะแนน มาก ได้ ส.ส.มาก นอกจากนั้น มาตรา 309 ทำให้ประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปฯ ของหัวหน้าคณะปฏิรูปฯและการปฏิบัติตามประกาศและคำสั่งเหล่านั้นถือว่าชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ซึ่งทำลายหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ
@ ในฐานะเคยเป็นผู้พิพากษา ปัจจุบันตุลาการมีบทบาทต่อการเมืองมาก เป็นเรื่องน่าภูมิใจหรือเปล่า
การ มีบทบาทในทางที่ถูกต้องเป็นไปตามกรอบความชอบธรรมก็ควรภูมิใจที่มีบุคลากรดีๆ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เพราะตุลาการที่ออกนอกลู่นอกทางทำอะไรไม่ถูกต้องซึ่งมีจำนวนไม่มาก กลับมีบทบาทสูงตั้งแต่ก่อนยึดอำนาจ น่าเสียดายว่าไม่ใช่บทบาทที่น่าเคารพยกย่อง กลับเป็นการสมคบไปกระทำความผิดและมีการตอบแทนกัน คนส่วนน้อยเหล่านี้ทำให้ตุลาการส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนดีพลอยเสียหายไปด้วย
@ เคยทำงานร่วมกับ ท่านชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
ตอน ผมเป็นรองเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ ท่านชัช เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ส่วนคนที่เป็นเลขาธิการการส่งเสริมงานตุลาการคือ ท่านจรัญ ภักดีธนากุล งานจากสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการเท่าที่ทราบไม่ได้ผ่านท่านชัช ผ่านรองปลัดกระทรวงฯอีกท่านหนึ่ง
@ ปรากฏการณ์ที่สะเทือนภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของวงการตุลาการ เช่น คลิป หรือกรณีถูกโจมตีเรื่องต่างๆ เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายหรือไม่
ใคร เป็นอย่างไร ประวัติเป็นอย่างไร คนในวงการกฎหมาย ในวงการตุลาการ รู้กันดีอยู่ว่าใครเป็นอย่างไร ไม่ใช่เพิ่งมาเห็นพฤติกรรมในช่วงหลัง รู้กันอยู่ว่าใครน่าเชื่อถือ ใครตรงกันข้าม กรณีคลิปเกี่ยวกับการเอาข้อสอบให้ลูกหลานตุลาการและคนใกล้ชิดดูก่อน ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้สอบอื่นจำนวนมาก ถ้าเป็นความจริงตามนั้น โดยปกติคนที่เกี่ยวข้องต้องลาออกไปนานแล้ว ศาลฎีกาเคยพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งนำข้อสอบไปให้คนอื่นดูก่อน โดนจำคุก 9 ปี คนสนับสนุน โดนจำคุก 6 ปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในศาลรัฐธรรมนูญ ดูแล้วน่าสงสารสังคมที่ไม่ได้เห็นการเอาจริงเอาจังของศาลรัฐธรรมนูญในการสอบ ข้อเท็จจริงว่ามีการนำข้อสอบไปให้ผู้สอบบางคนดูก่อนหรือไม่ อย่าลืมครับว่าตามระบบปัจจุบันคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลต่อการเมือง การบริหาร สิทธิและเสรีภาพของประชาชนมาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรเป็นผู้ที่ประชาชนมั่นใจเต็มที่ว่าสามารถทำหน้าที่ นั้นได้อย่างเที่ยงธรรม
กรณีศาลปกครอง คดีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา สมัยคุณนพดล ปัทมะ เป็นรมว.ต่างประเทศ ตอนหลังมีข้อมูลซี่งมีน้ำหนักว่ามีการจ่ายสำนวนไปแล้วโดยองค์คณะลงมติแล้ว 3 ต่อ 2 หลังจากนั้นมีการโอนสำนวนไปให้อีกคณะหนึ่ง ซึ่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหัวหน้าคณะเอง แล้วตัดสินมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ผมทราบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องไปขอคัดสำนวนนี้แล้วถูกกีดกันไม่ให้คัด ไม่ให้ดูบางส่วนของสำนวน มีการมาควบคุมเคร่งครัดซึ่งผิดปกติมาก ภายหลังทราบจากสื่อมวลชนว่าเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ป.ป.ช. มีมติให้รับเรื่องกล่าวหาอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบใน การสั่งเปลี่ยนองค์คณะ
กรณีศาลรัฐธรรมนูญ คดียุบพรรคพลังประชาชนกับอีก 2 พรรค นัดวันศุกร์ที่ 28 พ.ย. เพื่อฟังว่าจะสืบพยานกี่ปาก จะได้กำหนดวันสืบพยาน แต่พอไปถึงศาลสั่งไม่ต้องสืบพยานแล้ว แล้วให้นัดแถลงการณ์ปิดคดีในวันอังคารที่ 2 ธันวาคม ให้เวลาในการเตรียมตัว 3 วัน ซึ่งเป็นวันหยุด 2 วัน ทั้งๆที่ทั้ง 3 พรรคไม่คิดว่าคดีจะเสร็จ คดีสำคัญที่มีผลยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ซึ่งมีส.ส.ในสภา เยอะแยะ ลองไปถามผู้พิพากษาที่คุณเห็นว่าเที่ยงธรรม ดูซิว่ามีท่านใดเห็นควรให้เวลาเตรียมเพียง 3 วันบ้าง การแถลงการณ์ปิดคดีทั่วๆ ไป แม้แต่คดีกู้เงิน 80,000 หรือ 100,000 บาท ศาลก็ให้เวลาอย่างน้อย 15 วัน
พอคู่ความแถลงการณ์ปิดคดีเสร็จ ศาลประชุมปรึกษา ตุลาการแต่ละคนต้องแถลงความเห็นส่วนตน แล้วต้องมีการเขียนคำวินิจฉัยกลาง ศาลใช้เวลาประมาณ 40 นาที ในขั้นตอนนี้ แล้วออกไปอ่านคำวินิจฉัย ทำไมถึงทำขั้นตอนต่างๆได้รวดเร็วเช่นนี้ ถ้ามีความสามารถขนาดนี้เราคงไม่เห็นมีคดีค้างคาอยู่ในศาลแน่นอน นอกจากนี้เช้าวันแถลงการณ์ปิดคดี ก็แจ้งคู่ความย้ายสถานที่พิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญแถวสะพานพุทธไปที่ศาล ปกครองถนนแจ้งวัฒนะ โดยอ้างว่าใช้โทรศัพท์กับแฟ็กซ์ไปบอกคู่ความ ผมไม่เคยเห็นตัวอย่างการทำแบบนี้ที่ศาลไหน
@ การเร่งรีบย้ายสถานที่อ่านคำวินิจฉัยมีความร้ายแรงแค่ไหน
ร้าย แรงเพราะเป็นการสั่งแตกต่างไปจากปกติที่ทำกันในคดีแบบนี้ทำให้ผู้ที่เกี่ยว ข้องและประชาชนที่ติดตามคดีแคลงใจ ปกติถ้าพิจารณาคดีไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม ศาลจะสั่งเลื่อน เป็นเรื่องที่ศาลทำเป็นประจำ แม้แต่คู่ความหรือทนายความป่วยหรือติดภารกิจ ศาลก็สั่งเลื่อน เลื่อนเป็นเดือนก็บ่อย ถามว่าถ้าเลื่อนไปวันรุ่งขึ้นหรือภายในสัปดาห์เดียวกัน มีปัญหาอะไรหรือ
@ ตอนนั้นมีสถานการณ์การเมือง การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ศาล ต้องพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ไปตามข้อเท็จจริง ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายให้พิพากษาวินิจฉัยคดี ตามใบสั่งไหม? ตามแรงกดดันไหม? ตามสถานการณ์การเมืองไหม? ... ไม่มีครับ
@ บทบาท กกต. ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เป็นเรื่องดีหรือไม่ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายน่าจะวินิจฉัยคดีอย่างแม่นยำ
ถาม ว่าแม่นกฎหมายไหม คุณไปดูสิว่าแม่นกฎหมายหรือไม่ แล้วมีท่านหนึ่งบอกว่าลงมติไป โดยยังไม่อ่านสำนวนอย่างละเอียด ...แล้วลงมติไปได้อย่างไร? อีกอย่างหนึ่ง การจัดเลือกตั้งที่ผ่านมา เช่น การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้ามีข้อครหามาก แต่ก็ไม่พยายามทำให้โปร่งใสเพื่อให้ทุกคนมั่นใจ ตามหลักการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นข้อยกเว้น เฉพาะคนที่มีเหตุจำเป็นจริงๆไปเลือกตั้งในวันเลือกตั้งไม่ได้ แต่กลับจัดเลือกตั้งล่วงหน้าถึง 2 วันและใครก็ไปลงคะแนนได้หมด การดูแลหีบบัตรก็เป็นปัญหาใหญ่เพราะเก็บไว้หลายวันก่อนการนับคะแนน คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมควรต้องมีจิตสำนึกเรื่องความเป็นธรรมสูงกว่าคน ทั่วๆ ไปด้วยซ้ำ
@ กกต.บอกว่าเขาเป็นองค์กรที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าใครไม่พอใจ ก็ให้ไปแก้กฎหมาย
กฎหมาย บัญญัติเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้าไว้อย่างไร ไม่ใช่ใครๆ ก็ไปเลือกตั้งล่วงหน้าได้ พระราชกฤษฎีกาจะบอกวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน แต่การเลือกตั้งล่วงหน้ามากำหนดภายหลังได้ ขณะที่ระบบการหาเสียงของพรรคการเมือง เขามีแนวในการดำเนินงานหาเสียง เช่นถ้าจะเลือกตั้งวันที่ 1 กันยา เขาจะมีขั้นตอนนำเสนอต่อประชาชน มีการรณรงค์ใหญ่ใกล้วันเลือกตั้ง แต่หาก กกต. บอกว่าเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 1 สิงหา ประชาชนยังไม่ทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน บางพรรคยังไม่ได้ขยับทำอะไรเลย แต่เลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว ฉะนั้น มันมีความแตกต่างกันมาก จึงต้องให้เลือกตั้งล่วงหน้าเป็นข้อยกเว้น เฉพาะคนที่มีเหตุผลตามกฎหมายว่าไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งไม่ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้การเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นการพาคนไปลงคะแนนและใช้วิธีการอื่น ที่ไม่ถูกต้อง
@ ปัญหาของการเลือกตั้งล่วงหน้าคืออะไร
ไม่ ไว้ใจกรรมการ เพราะเลือกตั้งล่วงหน้าเก็บหีบไว้นาน ไม่เหมือนวันเลือกตั้งจริง กกต. ก็รู้ว่าเคยมีเหตุการณ์ที่สร้างความคลางแคลงใจอย่างไร ในเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ระหว่างขนหีบเลือกตั้งจากหน่วยเลือกตั้งไปที่นับคะแนน มีการเปลี่ยนหีบ เปลี่ยนบัตรในหีบ ถึงที่นับคะแนนแล้วเอาบัตรใส่ถุงไปเก็บไว้ในห้อง หยิบถุงจากห้องมานับ นับเสร็จนำถุงที่นับแล้วกลับเข้าไปในห้อง นำถุงใหม่มานับต่อ คนภายนอกมองไม่เห็น มีการร้องว่าเอาถุงบัตรที่นับแล้วมาเวียนนับใหม่หรือไม่ นั่นขนาดไม่ได้เก็บบัตรไว้ข้ามวันข้ามคืนนะครับ
@ องค์กรอิสระอย่าง กกต. จะได้รับการยอมรับหรือไม่ ถูกม็อบไปล้อมหรือเปล่า
การ มีม็อบไปล้อม กกต. อาจเกิดจากหลายปัจจัย อยู่ที่ข้อเท็จจริงและสิ่งที่ กกต.ทำมากกว่า หลายอย่างนักกฎหมายเหมือนกันก็ดูกันออก สำนวนบางอย่างก็เห็นชัดเจนว่าต้องวินิจฉัยอย่างไร ถ้าทำหน้าที่ไม่ตรงไปตรงมา คนก็รับไม่ได้ เหมือนกรรมการตัดสินฟุตบอล ถ้าไม่เป็นกลางทำให้คนดูทนไม่ไหว เขาก็ลงสนามไปไล่กรรมการออกจากสนาม แต่ไม่ได้หมายความว่า การที่คนดูไปไล่กรรมการแล้ว กรรมการจะตัดสินแย่ไปหมด การที่ กกต.ถูกม็อบล้อมอาจเกิดจากกรณีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายและเสียประโยชน์จากการทำ หน้าที่ของ กกต. จัดการให้มาก็ได้
@ ความไม่เป็นกลางกับความเห็นต่างทางกฎหมาย หลายกรณีก็แยกกันลำบาก
บางอย่าง พอจะเห็น และพฤติกรรมหลายอย่างเมื่อสะสมมากเข้า สุดท้ายก็หมดความน่าเชื่อถือ... หน้าที่ กกต.จริงๆ ไม่ต้องมาคิดหรอกว่า ใครตั้งฉันมา ฉันได้มาเป็นเพราะใคร เพราะท่านมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นผลให้บ้านเมืองสงบสุขด้วย ไม่ต้องคิดว่าคนที่ฉันผูกพันมา คนที่เคยตั้งฉัน เขาอยากจะเชียร์พรรคนั้นพรรคนี้ ถ้าคิดอย่างงั้น ลาออกไปดีกว่า กลับไปอยู่บ้าน อย่ามาหน้าที่แล้วก่อปัญหาเลย
@ เมื่อ 111 ได้รับสิทธิเลือกตั้งแล้วจะกลับมาทำงานการเมืองหรือไม่
คน ใน 111 จำนวนหนึ่งเท่าที่ผมคุยยังคิดที่จะกลับมาทำงานการเมืองอยู่ สำหรับตัวผม ผมไม่เคยคิดจะทำงานการเมืองไปยาวนานแบบหลายๆ ท่าน เพราะเมื่อทำการเมืองไประยะหนึ่ง ก็อยากจะใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้นหรือทำสิ่งที่อยากทำ เช่น นั่งเขียนหนังสือ หรือทำอย่างอื่นบ้าง การทำงานการเมืองต้องทุ่มเทเวลาเยอะ ไม่เหลือเวลาไปทำอย่างอื่น
นอกจากนั้น คนอื่นก็ควรมาทำบ้างเพราะถ้าเราอยู่นานไป คนที่จะขึ้นมาใหม่ เขาก็ขึ้นได้ช้า แต่การทำงานการเมืองรุ่นพวกผมเวลาหายไป 5 ปีและปรากฏว่าการเมืองถอยหลังลงไป ผมคิดว่าเป็นความรับผิดชอบ ถ้ายังสามารถช่วยกันทำเพื่อบ้านเมืองในยามที่มีสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ได้ก็ ควรมาช่วยกัน ไม่ว่าใครก็ตาม
@ จะกลับมาอยู่พรรคของคุณทักษิณ เหมือนเดิมหรือไม่
แนว ความคิดในส่วนการทำงานการเมืองของ 111 จำนวนหนึ่ง ยังยึดมั่นในแนวทางการทำงานแบบพรรคไทยรักไทย ถ้าจะทำงานการเมืองก็ต้องยึดมั่นในแนวนั้นแหละครับ หลักคือคุณต้องเน้นประโยชน์ประชาชน มากกว่าประโยชน์ทางการเมืองของพรรคคุณและตัวคุณ ส่วนแนวทางการทำงานคือ การทำงานการเมืองไม่ได้เน้นโวหาร ไม่ได้บริหารด้วยโวหาร แต่บริหารด้วยความรู้และกระบวนการจัดการ แล้วทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม สิ่งนี้ควรเป็นตัวชี้วัดผลสำเร็จของพรรคการเมือง ไม่ใช่วัดที่ความสามารถใช้โวหารเสียดสี ใส่ร้ายคู่แข่งหรือหลอกลวงประชาชน
@ ประเมินการทำงานของพรรคเพื่อไทยอย่างไร
ถูก ตัดบุคลากรไปเยอะ และถูกรุมในหลายรูปแบบ ทำให้การทำงานยากกว่าปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อบุคลากรถูกตัดไปมากและหัวหน้าพรรคเองก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎร ฉะนั้น บทบาทในสภาก็เลยแตกต่างจากพรรคการเมืองต่างๆที่เราคุ้นเคย ซึ่งหัวหน้าพรรคเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และบทบาทที่หัวหน้าพรรคแสดงในสภาปรากฏต่อสังคมอย่างเด่นชัด พรรคเพื่อไทยถือว่าเสีบเปรียบในเรื่องนี้
@ ถ้า 111 กลับมา จะมีการเมืองแย่งชิงบทบาทภายในกันเองหรือไม่
ยัง ไม่ทราบอนาคต แต่โดยปกติ ก็คุ้นเคยกันดี อยู่พรรคเดียวกันมา การเมืองมีที่ให้ทำงานเพื่อส่วนรวมเพียงพอสำหรับทุกคนไม่เฉพาะนักการเมือง เก่าๆ แต่มีที่สำหรับนักการเมืองใหม่ๆ และสำหรับผู้ที่อยากมาทำงานการเมืองอีกเยอะครับ
@ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย จะกลับมาเป็นความหวังสำหรับพรรคเพื่อไทยหรือไม่
คน ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไป รุ่นแรก 111 ส่วนรุ่นที่ 2 มี 109 คน มีประสบการณ์ทั้งในสภาและการบริหาร การสร้างบุคลากรไม่ง่ายต้องใช้เวลา ขณะที่พรรคการเมืองของไทย เมื่อถูกยุบพรรค ทำให้บุคลากรหายไปมาก พรรคต่างๆ สร้างบุคลากรทางการเมืองใหม่ๆไม่ทัน เพราะไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์อย่างนี้จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน กติกานี้ ได้ใช้ในมาตรฐานเดียวกันหรือเปล่า ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ มันต่างกันมาก การยกคำร้องด้วยเหตุผลทางเทคนิค ซึ่งกรณีนี้ กกต. ต้องจัดการกระบวนการในส่วนของ กกต.ให้ถูกต้องและร้องไปที่ศาลใหม่ เพราะคดีหนึ่งศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาว่ามีการกระทำตามที่กล่าวหาหรือ ไม่ และก็ไม่ได้ถูกตัดโดยอายุความด้วย
@ สมัยคุณทักษิณ รอดคดีซุกหุ้น ก็มีการพูดกันว่าใช้หลักรัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ ในทำนองเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ ก็อาจจะรอด ด้วยหลักรัฐศาสตร์หรือเปล่า
หลัก คือกระบวนการยุติธรรมต้องไม่เห็นแก่หน้าผู้ใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ดร.ทักษิณ หรือพรรคประชาธิปัตย์ หรือใคร ศาลต้องไม่คำนึงว่าคนที่มาเป็นคู่ความ เป็นใคร ถ้าคำนึงว่าเป็นใคร ก็ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรม เพราะต้องเสมอภาคกัน ความเห็นทางกฎหมาย ตุลาการแต่ละคนเห็นต่างกันได้ แต่ต้องบริสุทธิ์คือเห็นจากความรู้ความคิดมโนสำนึก ไม่ใช่เพราะไปสุมหัวเพื่อช่วยใคร หรือรับใบสั่งใครมา
ขณะที่พรรคไทยรักไทยเป็นเป้าหมายแรกที่จะถูกยุบ และต้องการตัดสิทธิของคนในพรรคจำนวนมากตั้งแต่การยึดอำนาจ ตามแผนบันได 4 ขั้น แล้วก็มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญและตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีการพยายามจะออกกติกาเพิ่มขึ้นระหว่างคณะปฏิรูปฯยังกุมอำนาจ เช่น ไม่ให้ใช้ชื่อพรรคเดิมมาตั้งพรรคอีก มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารซึ่งไม่มีมาก่อน และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้ใช้กฎหมายนี้ย้อนหลังด้วย ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าเมื่อใช้มาตรการยุบพรรคกับพรรคประชาธิปัตย์มีการใช้ อย่างไร มาตรฐานเดียวกันหรือสองมาตรฐาน
@ ตอนเสื้อแดงชุมนุมที่ราชประสงค์ ส่งผลกระทบธุรกิจครอบครัวภรรยาคุณพงศ์เทพหรือไม่
ครอบครัวภรรยาผมมีธุรกิจของเขา ซึ่งก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับอีกธุรกิจอื่นและบุคคลอื่นที่ได้รับผลกระทบ
@ จัดการอย่างไรกับความขัดแย้งระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงกับผลกระทบที่เกิดแก่ภาคธุรกิจ
ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดการทั้งการชุมนุมและธุรกิจ เวลาที่ผมมีโอกาสพบแกนนำคนเสื้อแดงบางคนในที่ต่างๆ ก่อนการเริ่มชุมนุมปีที่แล้ว ผมบอกเสมอว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอให้คำนึงว่าพยายามอย่าให้ไปกระทบผู้อื่น ถ้าจำเป็นไม่มีทางหลีกเลี่ยง ก็พยายามให้กระทบน้อยที่สุด มิฉะนั้นจะเป็นการไปผลักให้เขาไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม เมื่อปี 2552 มีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งไปปิดถนนรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทำให้การจราจรติดขัด เมื่อผมทราบเรื่องผมก็พยายามโทรหาแกนนำขอให้ติดต่อผู้ชุมนุมว่าอย่าไปปิดถนน อย่าทำให้ใครเดือดร้อน ตัวผมเองเวลาทำอะไรก็ตาม ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ต้องการให้ผู้อื่นเดือดร้อน
@ เคยเป็นโฆษก ให้กับ คุณทักษิณ
ระหว่าง ที่คุณนพดล ปัทมะ ซึ่งเป็นโฆษก ดร.ทักษิณ ไปทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดร.ทักษิณ กลับมาเมืองไทยและไม่อยากให้ข่าวหรือตอบคำถามสื่อเองมากนัก เลยให้ผมกับคุณศันสนีย์ นาคพงศ์ ช่วยพูดแทนให้ ช่วงนั้นผู้ที่พอทำหน้าที่ให้ได้ก็ไปมีตำแหน่งทางการเมืองหมด ส่วนผมกับคุณศันสนีย์ อยู่กับ ดร.ทักษิณ ตั้งแต่ สมัยพรรคพลังธรรม เห็นว่าพอช่วยได้ ก็ช่วยกัน มีข่าวอะไรให้ช่วยแถลงก็แถลง ส่วนตอนนี้คุณนพดลว่างแล้วก็กลับมาทำหน้าที่
@ ช่วงที่ถูก ศอฉ. แช่แข็งบัญชี เป็นอย่างไรบ้าง
ตอน นั้น ไปกินข้าวไหนก็มีแต่คนเลี้ยงครับ การที่มีคำสั่งจากตัว ผอ.ศอฉ. ให้แช่แข็งบัญชี คำสั่งนั้นผิดกฎหมายนะครับ ผิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะตามพระราชกำหนด อำนาจในการออกประกาศตามมาตรา 11(6) ที่ ศอฉ.ใช้แช่แข็งบัญชีเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจไม่ได้ แต่คุณอภิสิทธิ์ไปมอบอำนาจนี้ให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุก เฉิน ซี่งผิดตั้งแต่ต้นแล้ว
@ จะไปดำเนินคดีในเรื่องนี้หรือไม่
ยัง มีเวลาครับ อายุความยาว รอให้กระบวนการยุติธรรมกลับเข้ารูปเข้ารอยตามเดิม ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องยังมีกรณีอื่นซึ่งหนักกว่าการแช่แข็งบัญชี โดยเฉพาะการที่ประชาชนจำนวนมากเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการถูกยิงช่วงเดือน เมษายนและพฤษภาคม 2553 ผู้เสียหายเขาก็ทราบดีว่ามีอายุความ 20 ปี
@ มองว่า คุณทักษิณ ยังมีความหมายกับการเมืองไทยในฐานะอะไร
ไม่ มีใครปฏิเสธได้ ถึงบทบาทและความสำคัญของ ดร.ทักษิณ ต่อการเมืองไทย เพราะยังมีความสำคัญอยู่มาก จากการเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุดใน ประวัติศาสตร์ไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำอะไรไว้เยอะ มีคนรักมากแต่ก็มีคนต่อต้านหลายกลุ่มด้วยกัน ถ้าใครคิดจะศึกษาการเมืองไทยในช่วงนี้แล้วปฏิเสธเรื่องนี้ ก็คงศึกษาไปได้ผิวเผินมาก เพราะไม่เฉพาะเรื่องบุคคล แต่แนวคิดต่างๆ ในการทำงาน ก็ยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน ตกทอดมาถึงพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งรัฐบาลนี้ก็ยังทำตามแนวคิดของ ดร.ทักษิณ หลายเรื่อง
@ ความสัมพันธ์ระหว่างคนเสื้อแดงกับพรรคควรจะเป็นยังไง
ผม มองว่า คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยมีจุดร่วมในเรื่องแนวคิดทางการเมืองที่เหมือนกัน คือการเน้นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชน เห็นเหมือนกัน แต่บทบาทเป็นคนละบทบาท การเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง กับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน คนละรูปแบบ การเคลื่อนไหวบางอย่างอาจจะคล้ายกัน อาจจะเหมือนกันก็เป็นได้ แต่บางอย่างก็ไม่ใช่ อย่างบทบาทการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นบทบาทของพรรคการเมือง
@ ถ้าจะให้ความสำคัญกับการเมืองในรัฐสภา ก็ควรยุติการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือเปล่า
พรรค เพื่อไทยมีหน้าที่ในรัฐสภา แต่พรรคการเมืองไม่ได้มีข้อจำกัดให้เคลื่อนไหวได้เฉพาะตามกลไกของรัฐสภาเท่า นั้น เพราะพรรคการเมืองบางพรรคไม่มี ส.ส.ในสภาเลยก็มี แต่ก็สามารถเคลื่อนไหวได้ ส่วนพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ก็ไม่ใช่ห้ามไปเคลื่อนไหวอย่างอื่น เพียงแต่พรรคนั้นต้องให้ความสำคัญกับการเมืองในกลไกของรัฐสภา
ส่วนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนก็ต้องเคลื่อนไหวแบบภาคประชาชน
@ การชุมนุม มีความจำเป็นอย่างไร ในเมื่อเข้าสู่ช่วงนับถอยหลังถึงวันเลือกตั้ง
ต้อง ดูข้อเรียกร้องว่าเขาชุมนุมเพื่ออะไร การชุมนุมไม่ได้ถูกกำหนดว่า จะชุมนุมได้เฉพาะช่วงต้นของอายุสภา ขึ้นอยู่กับเหตุผลความชอบธรรมในการชุมนุมมากกว่า เช่น มีเป้าหมายอะไรในการชุมนุม มีข้อเสนออะไร เรียกร้องอะไร ยกตัวอย่าง หากกรรมการไม่น่าเชื่อถือ การชุมนุมเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรมก็ชุมนุมได้ โดยเสนอให้มีคณะบุคคลที่น่าเชื่อถือมาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ก็ชุมนุมได้
@ เมื่อคุณทักษิณ ได้รับสิทธิเลือกตั้ง แต่อยู่ระหว่างต้องคดี แล้วอนาคตของอดีตนายกจะเป็นอย่างไร
อนาคตคงต้องดูเรื่องอนาคต การเมืองไทยขณะนี้อย่าว่าแต่มองไกลเป็นปีเลย มองแค่ 3-4 เดือนต่อไปก็ยังพยากรณ์ลำบากแล้ว
@ ภาพรวมของ 111 คงกลับเข้ามาอยู่ในการเมือง แต่คุณทักษิณไม่ได้รอเพียงสิทธิเลือกตั้ง มีคดีติดตัวจะทำอย่างไร
หลาย อย่างกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คดีบางอย่างที่ค้างคาอยู่ จุดเริ่มของคดี ไม่ได้เริ่มจากกลไกกระบวนการยุติธรรมตามปกติ เช่น การตั้ง คตส. เหมือนกำหนดกลไกจัดการปรปักษ์ของคุณ ซึ่งไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น และเป็นผลพวงให้เกิดคดีค้างคากันอยู่บางคดีก็ไปสู่ศาลแล้ว
@ เมื่อการเมืองผลัดยุคผลัดใบไปแล้วจะมีการเยียวยาหรือการคลี่คลายไปอย่างไร
ถ้า พูดด้วยเหตุผลทางกฎหมายและความเป็นธรรม ก็ต้องไปจัดการกับกระบวนการที่มิชอบนี้แหละ ว่ากลไกที่จัดการเป็นกระบวนการตามปกติ หรือเป็นกลไกที่บิดเบี้ยว ถ้าเป็นกลไกที่บิดเบี้ยวก็มีแนวโน้มจะไปรับใช้แนวคิดที่บิดเบี้ยว
@ เมื่อหมดยุคสิ่งที่เอื้อต่อความบิดเบี้ยวแล้วจะเยียวยาผลที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
มัน เยียวยาได้อยู่แล้วครับถ้ามีเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง แม้กรณีเอาคนเข้าคุกไปแล้วแต่เป็นกระบวนการที่ขัดรัฐธรรมนูญ คนที่ถูกขังอยู่ในคุกก็สามารถร้องได้
@ กรณีคุณทักษิณ ถูกพิพากษา ด้วยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งสิ้นสุดแล้วจะทำอย่างไรต่อไป
ผมคงไม่ไปลงรายละเอียดนะครับ แต่หลายคดีเริ่มต้นด้วยกระบวนการที่ไม่ถูกต้องด้วยหลักนิติธรรม
@ ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะได้เกินกึ่งหนึ่งหรือไม่
ขึ้น อยู่กับประชาชน ถ้าประชาชนเห็นกับแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พรรคเพื่อไทยก็อยู่ในซีกนี้ แต่ถ้าเห็นกับแนวทางประชาธิปไตยที่ไม่ใช่ประชาชนมีสิทธิมีเสียงอย่างแท้จริง ก็มีพรรคอื่น แล้วแต่ประชาชนจะเลือกแนวทางไหน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา