ไม่กี่วันก่อนหน้าการหลบหนีออกนอกประเทศ อดีตประธานาธิบดี ไซเน่ เอล อะบีดีน เบน อาลี ของตูนิเซีย ได้กล่าวสุนทรพจน์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ สัญญาว่าจะสร้างงานใหม่ 300,000 ตำแหน่ง ภายในเวลา 2 ปี
ประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ของอียิปต์ ได้ทำเช่นเดียวกัน ในช่วงที่สถานการณ์การชุมนุมประท้วงเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น โดยเสนอโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชาชน ในประเทศที่ผู้คนครึ่งหนึ่งต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน
คำสัญญาท่ามกลางสถานการณ์บีบคั้นนี้มีอีกบางสิ่ง บางอย่างที่เหมือนกัน นั่นคือ การยอมรับว่าความโกรธแค้นอย่างไม่คาดหมายมาก่อนที่แสดงออกตามท้องถนนทั่วโลก อาหรับ มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ความเดือดดาลที่สั่งสมมานานนับทศวรรษ ต่อความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งให้อภิสิทธิ์ชนทาง การเมือง แต่ขณะเดียวกันกลับถ่างความแตกต่างทางสังคมให้กว้างมากขึ้น
อัตรา การลุกลามของสถานการณ์อย่างรวดเร็ว จากตูนิเซียมายังอียิปต์ และประเทศอื่นๆ ตอกย้ำให้เห็นถึงสถานะที่ง่อนแง่นของระบอบที่ผู้ปกครองอาหรับบางชาติใช้ใน การยึดกุมอำนาจมาอย่างยาวนาน นั่นคือส่วนผสมที่น่าเกรงขามของระบอบญาติกาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการใช้อำนาจ แข็งกร้าวแบบเผด็จการ ซึ่งทางการอ้างว่ามีความจำเป็นสำหรับการปราบปรามกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง หรือสายลับของอิสราเอล
สิ่งที่มูบารัคและผู้นำอาหรับชาติอื่นๆ ต้องทำความเข้าใจอยู่บนท้องถนนในกรุงไคโร นั่นคือประชากร 18 ล้านคนที่กว่าครึ่งอายุต่ำกว่า 30 ปี และไม่พอใจเพียงแค่การมีความใฝ่ฝันสูงสุด เป็นตำแหน่งทางราชการในระดับชั้นปานกลางอีกต่อไป
ภาพของผู้ชุมนุม ประท้วงรายหนึ่งในกรุงไคโร ที่โบกสะบัดสำเนาใบปริญญาบัตร ยืนตะโกนโห่ร้องท่ามกลางฝูงชน ทำให้คิดได้ว่าต้นเหตุอันซับซ้อนของการจลาจลที่ลุกลามในรูปแบบของโดมิโน อาจบางทีสามารถสรุปได้อย่างดีที่สุดด้วยคำสั้นๆ เพียงคำเดียว นั่นคือ "งาน" ซึ่งมีเรื่องราวของความไม่ยุติธรรมทางเศรษฐกิจอยู่รายรอบการชุมนุมประท้วงที่แพร่กระจายไปทั่วมาตั้งแต่ต้น
ซามี อัลฟาราจ ผู้อำนวยการศูนย์คูเวตเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์กล่าวว่า "โฉม หน้าที่แท้จริงของความโกรธแค้นเป็น คนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาระดับปริญญา แต่ไม่สามารถหางานทำได้ และแม่ที่ประสบปัญหาในการหาเงินมาจุนเจือครอบครัว"
เหตุ จลาจลในตูนิเซียที่นำมาสู่การโค่นอำนาจ ประธานาธิบดีเบน อาลี มีชนวนมาจาก ชายวัย 26 ปี รายหนึ่งที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย จุดไฟเผาตนเองเพื่อเป็นการประท้วงหลังจากที่ตำรวจยึดแผงขายผักและผลไม้ของ เขาไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นการเผาตัวประท้วงเลียนแบบได้แพร่กระจายไปยังอียิปต์ เยเมน และประเทศอื่นๆ
ในเยเมน ซึ่งเป็นชาติยากจนที่สุดในแถบคาบสมุทรอาระเบียนั้น ประธานาธิบดีอาลี อับดุลลาห์ ซาเลห์ ได้เสนอข้อผ่อนปรนทางเศรษฐกิจหลายอย่างทั้ง ลดการเก็บภาษีเงินได้ลงครึ่งหนึ่ง และสั่งให้มีการควบคุมราคาอาหารและสินค้าพื้นฐาน แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จนต้องออกมาประกาศว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยหน้า ขณะที่จอร์แดน สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ที่ 2 ต้องปลดนายกรัฐมนตรี ที่ผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้พ้นตำแหน่งไป และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมทั้งให้สัญญาว่าจะมีการปฏิรูปทั้งเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อลดความตึง เครียดของสถานการณ์ลง
และสาเหตุสำคัญที่ช่วยโหมกระพือไฟแห่งความไม่ สงบให้ลุกลามขึ้นอีกคือ ความเหมือนกันที่โลกอาหรับมี นั่นคือคนหนุ่มสาวชนชั้นกลางที่เสาะแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นและได้รับข้อมูล ข่าวสารจากสำนักข่าวระหว่างประเทศและอินเตอร์เน็ต
เอเมอร์ มุสซา ประธานกลุ่มสันนิบาติอาหรับได้เคยเตือนไว้ก่อนหน้านี้ในการประชุมผู้นำอาหรับครั้งที่ 20 ที่อียิปต์ เมื่อต้นเดือนมกราคมว่า "การปฏิวัติตูนิเซียอยู่ไม่ไกลจากเรา" และ "จิตวิญญาณของอาหรับแตกสลายจากความยากจน ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการว่างงาน"
ใน การประชุมเศรษฐกิจโลก เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญหลายรายบอกว่า โลกอาหรับจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาใหม่ที่เปลี่ยนจากการมุ่งเน้น แต่การผลิตบุคลากรสำหรับงานในภาคราชการ มาตอบสนองความต้องการของภาคเอกชนที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตมากขึ้น
ทว่าระหว่างทางก่อนที่จะถึงจุดนั้นยังคงอีกยาวไกลนัก....
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554
วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา