ประเทศไทยมีที่ดิน 320.7 ล้านไร่ เป็นที่ดินเพื่อการเกษตร 130.7 ล้านไร่ แต่สภาพการถือครองที่ดินมีลักษณะกระจุกตัวสูง ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในมือคนส่วนน้อย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่าเงื่อนไขเสียเปรียบนานาประการยังคงทำให้ชาวไร่ชาวนาสูญ เสียที่ดินทำกินอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลของศูนย์อำนวยการ ต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.) ในปี 2547 รายงานว่ามีผู้ไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 889,022 ราย มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ จำนวน 517,263 ราย มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ 811,279 ราย ขณะเดียวกันที่ดินจำนวนมากภายใต้การถือครองของคนที่ไม่ใช่เกษตรกรกลับถูก ปล่อยทิ้งร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินได้สร้างความเดือดร้อนอย่างใหญ่หลวงให้แก่ พี่น้องชาวไร่ชาวนา อีกทั้งนำไปสู่กรณีพิพาทจำนวนมากระหว่างเกษตรกรกับรัฐ หรือเกษตรกรที่ยากไร้กับเจ้าของที่ดินเอกชน ชาวไร่ชาวนาจำนวนไม่น้อยถูกดำเนินคดีและถูกจับกุมคุมขังอย่างน่าเวทนา พวกเขามักถูกกล่าวหาว่าอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของรัฐโดยไม่ชอบด้วย กฎหมายและถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและของเอกชนอย่างไม่ เป็นธรรม
ปัจจุบันมีเกษตรกรถูกดำเนินคดีและถูกคุมขังอยู่ในคุกแล้ว 836 ราย (ข้อมูลถึงเดือนธันวาคม 2553) นอกจากนี้ยังมีประชาชนที่เกี่ยวข้องกับคดีที่ดินคนจนที่อยู่ในระหว่างการ พิจารณาคดีและที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกหลายแสนครอบครัว
ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป
1) ให้ระงับการจับกุมดำเนินคดีประชาชนผู้ยากไร้ที่ใช้ชีวิตและทำกินอยู่ในเขต ป่าและที่ดินของรัฐ จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินตามนโยบายของรัฐสำเร็จลุล่วงเป็น ที่พอใจของทุกฝ่าย นอกจากนี้ ขอให้มีการจำหน่ายคดีชั่วคราว สำหรับกรณีที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยอนุญาตให้เกษตรกรผู้ต้องหาและครอบครัวอยู่อาศัยทำกินในที่ดินเดิมได้ ส่วนคดีที่ดินที่ศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ขอให้มีการพักโทษ ลดโทษ และคุมประพฤติ แทนการจำคุก
2) ให้เปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดิน โดยจัดระบบข้อมูลที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศให้เป็นข้อมูลสาธารณะ เพื่อใช้ในการวางแผนกระจายการถือครองที่ดิน การตรวจสอบการถือครองและใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรให้เหมาะสม
3) ให้กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นใหม่ โดยอาศัยฐานข้อมูลที่ดินและการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งนี้เริ่มจากแผนที่ดินเพื่อการเกษตรระดับ ชุมชน โดยแบ่งพื้นที่หลักออกเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร พื้นที่เมือง พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เพื่อคุ้มครองรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันให้ชัดเจน แล้วจึงบูรณาการแผนระดับชุมชนเป็นแผนระดับจังหวัดและแผนระดับชาติให้แล้ว เสร็จภายใน 1 ปี
4) จำกัดขนาดการถือครองที่ดินไว้ที่ครัวเรือนละไม่เกิน 50ไร่ เพื่อให้ที่ดินได้กระจายไปยังเกษตรกรรายย่อยผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองได้อย่าง ทั่วถึง นอกจากนี้ยังเห็นควรให้ออกกฎหมายคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อช่วยหยุด ยั้งการกว้านซื้อที่ดินเพื่อซื้อขายเก็งกำไรรายใหม่ๆ ทำให้ราคาที่ดินลดลง และเป็นการคุ้มครองที่ดินเพื่อการเกษตรไม่ให้นำไปใช้ผิดประเภท
อนึ่ง ผู้ที่มีสิทธิถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตรจะ ต้องเป็นผู้ที่ทำการเกษตรด้วยตนเองเท่านั้น ห้ามไม่ให้ผู้อื่นเช่า หรือปล่อยทิ้งร้าง หรือกระทำการเป็นการอำพรางโดยไม่มีเจตนาทำการเกษตรจริง
5) กำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อจัดเก็บภาษีที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจำกัดในอัตรา ก้าวหน้า ที่ดินขนาดต่ำกว่า 10 ไร่ซึ่งเป็นขนาดที่จำเป็นต่อการทำกินยังชีพ ให้เสียภาษีในอัตราต่ำร้อยละ 0.03 ที่ดิน 10-50 ไร่ เสียภาษีอัตราปานกลาง ร้อยละ 0.1 สำหรับที่ดินปล่อยทิ้งร้างหรือส่วนที่เกินจาก 50 ไร่ ให้เสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงร้อยละ 5
6) ให้รัฐจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อ นำเงินไปซื้อที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจำกัด รวมทั้งจัดซื้อที่ดินที่เป็นทรัพย์ประกันหนี้เสียของธนาคารและสถาบันการเงิน มาบริหารให้กระจายไปยังเกษตรกรที่ไร้ที่ดินและที่มีที่ดินไม่พอทำกิน ทั้งนี้ กองทุนธนาคารที่ดินควรมีโครงสร้างการบริหารแบบกระจายอำนาจ ในระดับตำบล ระดับจังหวัด และระดับชาติ เพื่อกระจายภารกิจความรับผิดชอบไปยังชุมชนและท้องถิ่นทุกระดับ
ที่มา : คมชัดลึก
วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา