เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

“สภาองค์กรชุมชน” การพัฒนาที่ต้องไม่ลืมมิติการเมือง

ประธาน กป.อพช. เสนอจังหวัดปฏิบัติการ “การเมืองภาคประชาชน” ระบุสภาองค์กรชุมชน ไม่เพียงแค่มิติงานพัฒนา ต้องให้น้ำหนักกับมิติทางการเมือง ชี้สถานการณ์ทางการเมือง ณ ปัจจุบัน เป็นประชาธิปไตยแบบคู่ขนานระหว่างประชาธิปไตยแบบตัวแทน กับประชาธิปไตยชุมชน ที่เป็นการเมืองของภาคประชาชน

เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา นายไพโรจน์ พลเพชร ประธาน กป.อพช. ได้กล่าวอภิปรายในหัวข้อสภาองค์กรชุมชนจะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมีพลังได้อย่างไร ในเวทีประชุมกำหนดทิศทางการสนับสนุนการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชน ณ เคยูโฮม ม.เกษตรศาสตร์ จัดโดยสำนักงานสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนและภาคี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล เพื่อร่วมกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์การสนับสนุนการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชน ให้สามารถประสานการขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนที่เกี่ยวข้องอย่างมีพลัง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๔๐ คน ที่มาจากสำนักงานภาค ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชน ๕ ภาค และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการชุมชน ๕ ภาค

เส้นทางการเมืองภาคประชาชน
นายไพโรจน์ กล่าวเปิดประเด็นโดยชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยระบบตัวแทนแบบเสรีนิยมในบ้านเรา มีจุดเริ่มต้นมาจากการเปลี่ยนแปลงในปี ๒๔๗๕ ที่ชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น โดยอาศัยระบบพรรคการเมืองเป็นสถาบันหลักในการบริหารบ้านเมือง แต่เมื่อเวลาล่วงมากว่า ๘๐ ปี ได้พิสูจน์แล้วว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่สามารถตอบสนองปัญหา แก้ปัญหาให้กับประชาชนได้แท้จริง หนำซ้ำกลับไปซ้ำเติมสร้างปัญหาให้กับประชาชนหนักขึ้นไปอีก อย่างการพัฒนาเมกะโปรแจคโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐที่ไปสร้างผลกระทบ ริดรอนสิทธิของชุมชนท้องถิ่น อีกทั้งการเมืองในระบบตัวแทนยังเป็น การเมืองที่ตอบสนองผลประโยชน์ให้กับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แก้ปัญหาไม่ได้ซ้ำยังให้ผลประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง พ่อค้าเขียนโครงการ ข้าราชการชงเรื่อง พรรคการเมืองกินงาบผลาญประโยชน์ ประชาชนก็บาดเจ็บสาหัส รวมถึงระบบดังกล่าวยังไปลดทอนอำนาจอธิปไตยของประชาชนให้หายไปด้วยเมื่อประชาชนตัดสินใจเลือกผู้แทน

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ในขณะเดียวกันได้มีแนวคิดใหม่ทางการเมืองของภาคประชาชนเกิดขึ้น จากการที่รัฐหรือประชาธิปไตยตัวแทนไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ อย่างเมื่อรัฐมีโครงการให้สัมปทานป่าในภาคเหนือ ทำให้พื้นที่ป่าหดหายและลดลงมาก ส่งผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ ภาคประชาชนจึงลุกขึ้นมาขอที่จะจัดการป่าเอง เพื่อชุมชนของพวกเขาสามารถพึ่งพาป่าต่อไปได้ จึงเกิดขบวนการป่าชุมชน ต่อมาได้ขยายเป็นเรื่องฐานทรัพยากรในด้านต่างๆ ที่ล้วนเกิดจากความเดือดร้อนจากการได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ ภาคประชาชนจึงลุกขึ้นมาขอมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรจึงเกิดขึ้นทั้งเรื่องการจัดการน้ำ ชายฝั่ง การจัดการที่ดิน ฯลฯ ที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาคประชาชนขอมีส่วนร่วมด้วย

อีกด้านหนึ่งเมื่อพึ่งพารัฐไม่ได้ประชาชนก็หันมาพึ่งพากันเอง อย่างการจัดการระบบการเงินในชุมชนตนเองเช่นที่กุดชุม หรืออย่างเรื่องสวัสดิการชุมชน เมื่อรัฐไม่สามารถตอบสนองด้านสินเชื่อ หรือด้านอื่นๆได้ ประชาชนจึงขอเข้าไปมีส่วนกำหนดนโยบาย และขอกำหนดอนาคตตัวเอง นี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงที่ผ่านมา

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีคนอธิบายว่าเป็นเรื่องการเมืองภาคพลเมือง ที่คู่ขนานกับประชาธิปไตยเสรีนิยมแบบตัวแทน ซึ่ง เป็นผลจากการกดทับของรัฐและทุน การขอจัดการตนเองเป็นการเมืองภาคประชาชน ประชาธิปไตยของไทยไปสู่จุดที่ประชาชนขอคืนอำนาจอธิปไตย ที่ไปติดค้างอยู่กับพรรคการเมืองอยู่กับตัวแทน การขอคืนอำนาจปกครองดูแลตนเองทั้งด้านทรัพยากร เกษตร วัฒนธรรม มีการก่อวอดอย่างเด่นชัดช่วงหลังปี ๓๕ เพราะประชาธิปไตยแบบตัวแทนไม่เพียงพอ”

จะเห็นว่ากระแสหนึ่งต้องการสร้างประชาธิปไตยตัวแทนให้มั่นคง และอีกกระแสหนึ่งหนุนให้เกิดการเมืองภาคประชาชน เป็นประชาธิปไตยที่กินได้ สามารถแก้ปัญหา สามารถกำหนดนโยบายได้ สามารถปกครองตัวเองในระดับตำบลในด้านต่างๆ เป็นกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยภาคประชาชน โดยมีความเชื่อว่าองค์กรการเมืองภาคประชาชนสามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ คู่ขนานกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งทั้งสองด้านยังไม่สมบูรณ์ทั้งคู่ สังคมกำลังทำสองอย่างคู่ขนานกัน และกำลังกล่าวหากันและกันซึ่งก็ทั้งสองฝ่ายต่างสร้างสรรค์ประชาธิปไตยกันคน ละแบบ นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติม

การขยายพื้นที่การเมืองภาคประชาชนให้เป็นที่ยอมรับ เป็นรูปเป็นร่างอย่างเป็นทางการ สะท้อนได้จากรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ที่ระบุถึงสิทธิชุมชน สิทธิการจัดการศึกษา สิทธิในการสื่อสาร ฯลฯ เมื่อมีการเปิดทางก็เกิดกระบวนการทางสังคมอย่างขนานใหญ่ที่ลุกขึ้นมา และมีความพยายามสร้างสถาบันทางการเมืองภาคประชาชนขึ้นมา อย่างสภาองค์กรชุมชนตำบลก็เป็นสถาบันการเมืองภาคประชาชนอย่างหนึ่ง เพื่อให้รัฐยอมรับและเปิดพื้นที่ทางการเมืองโดยผลักดันให้เป็นกฏหมาย

สำหรับคำถามที่ว่า สภาองค์กรชุมชนจะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างมีพลังได้อย่างไรนั้น นายไพโรจน์ ระบุ ว่าหากเข้าใจจิตวิญญาณที่แท้จริงว่าเป็นเรื่องของการสร้างความเข้มแข้งให้ กับการเมืองภาคพลเมือง มิติที่ พอช. มองเป็นงานพัฒนา ไม่ได้เชื่อมโยงกับมิติทางการเมือง บางส่วนปฏิเสธการเคลื่อนไหวทางการเมือง เหมือนมองไม่เห็นความเชื่อมโยง สำหรับผมมองว่าสภาฯ คือการเมืองภาคพลเมือง คือการเมืองภาคประชาชน เราต้องไม่ปฏิเสธว่าสภาฯไม่เกี่ยวข้องกับมิติทางการเมือง ซึ่งเมื่อความคิดไม่ชัด การกำหนดวิธีการปฏิบัติก็ไม่ชัด ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เราขอจัดการตนเองเราขอดูแลตัวเอง ขอปกครองตัวเองใช่หรือไม่ ต้องชัดเจนว่าไม่ใช่เพียงแค่งานพัฒนา แต่มีมิติในทางการเมือง การตรวจสอบนโยบายรัฐด้วย

“เพราะสาระสำคัญของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล เป็นการสร้างการเมืองภาคประชาชน ผมมองว่ามี ๓ เรื่องที่สำคัญคือ ๑) การจัดการทรัพยากรประชาชนต้องมีส่วนร่วม ๒) สามารถตรวจสอบองค์กรรัฐท้องถิ่นและมีส่วนร่วมในการกำหนด ๓) เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีที่ยืนในการกำหนดแผนพัฒนาท้องถิ่น ตรวจสอบ ตัดสินใจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามในท้องถิ่น” นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่ม

หรืออย่างแผนพัฒนาภาคใต้ต้องมาจากคนภาคใต้ สภาฯคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ผมว่าเราต้องเข้าร่วมกระบวนการนี้ ไม่ใช่แอบดูอยู่ หรือปัญหาที่ดินคือปัญหาความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรที่ดินทำกิน สภาฯจะมีท่าทีอย่างไร สภาฯต้องกำหนดเป็นเรื่องที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไร ผลักดันปลูกต้นไม้แก้หนี้ สวัสดิการ ถ้าเป็นเรื่องการปฏิรูปที่ดินรับได้ไหมเคลื่อนอย่างไร หรือการปฏิรูปประเทศ สภาฯจะมุ่งไปสู่การยกระดับเป็นจังหวัดปกครองตนเองหรือไม่ เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทางการเมือง

ไม่ว่าจะยิ่งจัดตั้งให้เกิดมากขึ้นเท่าไหร่ จะเกิดขึ้นตั้งอยู่ ไปต่ออย่างไร ทบทวนความรู้ความเข้าใจ ที่ทำอยู่ยังไม่เชื่อมั่น และอธิบายไม่ได้ในทางวิชาการว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ถ้าไม่เชื่อว่าตัวเองมีกำลังสามารถทำได้ ก็จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ผมเองอยากชวนให้สภาฯ ทำจังหวัดปฏิบัติการ ที่เป็นรูปธรรมอย่างเข้มข้น บางพื้นที่อาจซ้อนทับกับงานของผมเราก็ร่วมกันทำร่วมกันพัฒนา นายไพโรจน์ เสนอทิ้งท้าย

ด้านนายสำเริง เสกขุนทด ผู้จัดการสำนักขบวนฯ พอช. ได้กล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์ของการประชุม โดยชี้แจงว่าการประชุมในครั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจเรียนรู้บทเรียน ประสบการณ์ ระหว่างเจ้าหน้าที่สภาฯ ส่วนสำนักขบวนฯ และสำนักงานภาค ในการวางแผนขับเคลื่อนงานสนับสนุนให้มีพลัง ซึ่งสภาฯไม่ใช่องค์กรนำที่เป็นเอกเทศ แต่เป็นสัญลักษณ์กลางที่ใช้ประทะสังสรรค์กับขบวนอื่นๆ ซึ่งเราต้องเคารพประวัติศาสตร์ของทุกๆ ขบวน และบทบาทของสภาฯที่สำคัญคือเป็นจุดยึดโยงองค์กรชุมชน ให้ทุกขบวนมีพื้นที่มาแสดงพลัง ไม่ใช่ทำเองแต่เปิดพื้นที่ให้ขบวนต่างๆ เข้ามาขับเคลื่อน อย่างขบวนงานที่ดิน สวัสดิการ ฯลฯ ขบวนประเด็นต่างๆ จะใช้สภาฯเดินอย่างไร โดยสภาฯไม่ใช่ของ พอช. ไม่ใช่ของกลุ่มคนใดไม่กี่คน แต่สภาฯเป็นของประชาชน จะไปให้ถึงจุดนี้ได้อย่างไร เราจะจัดขบวนให้มีพลังได้อย่างไร

ส่วนนายพลากร วงศ์กองแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ได้กล่าวเปิดประเด็นต่อไปว่า ในการเคลื่อนงานสภาฯที่ผ่านมาเราพบว่าจริงแล้วเราทำงานแบบไม่รู้จักกันเลย โดยเฉพาะเมื่อสำนักงานสภาฯจัดตั้งขึ้น มีเจ้าหน้าที่พร้อม ถ้าเราไม่ประสานกันให้ดีมีแนวโน้มที่จะไปคนละทาง ในขณะที่สำนักงานภาคงานในหน้าตักเยอะมาก อย่างภาคอีสานมีขบวนเกือบ ๘๐ ขบวน เช่นขบวนที่ดิน ขบวนสวัสดิการ ขบวนปฏิรูป ขบวนอนุภาคที่ดูงาน ๒,๓๐๐ ตำบล ๗๖ จังหวัด และขบวนองค์กรการเงินเศรษฐกิจชุมชน ฯลฯ รวมทั้งขบวนสภาองค์กรชุมชนตำบล

“ถ้าวันนี้เราไม่รีบจัดระบบจะกลายเป็นสองระบบสองขบวนที่ไม่ประสานเชื่อมโยง กัน ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้น ถ้าเราไม่คิดเรื่องใหญ่ในวันนี้ สภาฯจะไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้เลย ที่ผ่านมาการจดแจ้งจัดตั้ง สภาฯต่างอะไรจากกลุ่มกิจกรรมต่างๆ เราจะนำพาไปสู่อะไร ในขณะที่สังคมไทยอยู่ในจุดที่ตีบตันทางการขับเคลื่อน ซึ่งสภาฯ นั้นเป็นเวทีระดับตำบล เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างดุลยภาพให้เกิดเปลี่ยนแปลงระบบในท้องถิ่น เป็นจินตภาพใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง” นายพลากร ย้ำ

นอกจากนั้นนายสุวัฒน์ คงแป้น ผู้จัดการสำนักงานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า ใช่หรือไม่ที่สภาฯจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งที่นำเราให้มาทำงานนี้มิใช่หรือ น้อยคนนักที่รู้ว่าชาวบ้านคิดอย่างไร ซึ่งถ้าไม่เข้าใจซึ่งกันและกันเรากับชาวบ้านจะแยกกันเดิน ซึ่งหากเราลองมองย้อนกลับไปที่ฐานคิดของการก่อเกิดสภาฯ ช่วงปลายปี ๔๙ ในขณะนั้นมีแกนนำไม่กี่คนนั่งคุยกัน ถึงสาเหตุที่ขบวนองค์กรชุมชนไม่เป็นที่ยอมรับนั่นเพราะ ๑) องค์กรชุมชนต่างคนต่างคิดต่างทำในกิจกรรมของตนเอง ขาดการเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ๒) เป็นการทำเพียงกิจกรรมที่ขาดการยกระดับสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง ๓) กิจกรรมส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมขององค์กรสนับสนุนที่ไม่ได้มาจากฐาน ปัญหาของชุมชนที่แท้จริง และที่สำคัญองค์กรชุมชนไม่มีความเป็นอิสระในการทำงานจึงทำให้องค์กรชุมชนไม่ เป็นที่ยอมรับ

จึงมีการเคลื่อนไหวผลักดันจนเกิดเป็นกฏหมายเพื่อเป็นเครื่องมือให้ขบวน องค์กรชุมชนในพื้นที่ให้มีสถานะและมีการเชื่อมโยง สามารถขุดคุ้ยเรื่องในพื้นที่ได้อย่างอิสระ ซึ่งเราใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือไม่ใช่เป็นเป้าหมาย นอกจากนั้นสภาฯ สามารถเลือกเดินได้หลายทาง กฏหมายเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้มีสถานะเราใช้กฏหมายมาสร้างขบวน และเราก็คิดมากกว่าที่ระบุไว้ในกฏหมายด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดทิศทางข้างหน้าของการทำงานสภาองค์กร ชุมชนตำบล ซึ่งข้อเสนอจากการระดมความคิดเห็น ประมวลเป็นแนวทางสำคัญสู่ชุมชนจัดการตนเองโดยสภาองค์กรชุมชนเป็นตัวเชื่อม โยง สรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
- ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง หมายถึงการทวงคืนอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจภาคประชาชน
- สภาฯมีสองบทบาท ๑) พัฒนา ๒) สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
- สภามีบทบาทเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ทำงานและยกระดับข้อเสนอเชิงนโยบาย
- การพัฒนาศักยภาพผู้นำ เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาที่ยังยืน การเมืองภาคพลเมือง การจัดทำแผนชุมชน การจัดการความรู้ ส่งเสริมการเรียนรู้
- วิเคราห์ประเมินผลการพัฒนาศักยภาพแกนนำสภาฯ จัดกลุ่มเฉพาะพัฒนาเป็นเรื่องๆ
- ยกพื้นที่รูปธรรมเป็นแบบอย่างสร้างการเรียนรู้ เลือกพื้นที่มีความพร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเงื่อนไขที่นำไปสู่ความสำเร็จ และสร้างรูปธรรมให้สำเร็จ
- สร้าง “ตำบลทดลอง” เป็นจริงจังที่ใช้สภาฯเป็นกลไกเชื่อมโยงงานเพื่อให้เกิดการเรียนรู้
- พัฒนาให้เป็นเวทีสาธารณะของคนในตำบล เป็นเวทีที่มากกว่าคนในสภาฯ และขยายองค์กรในตำบลมากขึ้น
- พัฒนาความเข้มแข็งกลุ่มองค์กร สร้างความเข้าใจและจัดความสัมพันธ์ในกลไกการขับเคลื่อนงาน
- พัฒนาการจัดประชุมอย่างเป็นระบบ วิธีการได้มาซึ่งนโยบาย เน้น ม.๒๑ (๗) และยกระดับการประชุมให้ไปสู่การหนุนเสริมงานในเชิงประเด็น
- สร้างความเชื่ออุดมการณ์ให้เป็นไปในทางเดียวกันและสร้างโรดแมฟการทำงานในพื้นที่
- จัดทำแผนพัฒนาฯ ของสภาฯ ๑ หรือ ๓ ปี
- จัดทัพปรับขบวน ไม่ยึดติดผู้ก่อการเก่า เปิดพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่
- เสนอให้พอช.ออกนโยบายที่ชัดเจนให้สภาฯเป็นหลักในการทำงานเชิงประเด็นทุกเรื่อง
- วิธีงบประมาณต้องมีเงื่อนไขให้เห็นภาพในการจับตัว มีการพัฒนาศักยภาพคน
- พัฒนาข้อเสนอให้ชัดเจนไปสู่การกำหนดนโยบายสาธารณะให้ได้
- สร้างแรงกระเพื่อมด้วยการใช้สื่อรณรงค์ ใช้แนวคิดทางการตลาดเข้ามาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร
- กำหนดวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ เป็นวันสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ

ทั้งนี้ สภาฯ จะมีอายุครบ ๓ ปี ในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้ ซึ่งปัจจุบันมีสภาองค์กรชุมชนที่จดแจ้งจัดตั้งแล้วจำนวน ๒,๓๖๓ แห่ง มีกลุ่ม/เครือข่าย/องค์กรชุมชนที่ร่วมจดแจ้งรวม ๔๓,๐๒๑ กลุ่มองค์กร มีสมาชิกสภาฯ รวม ๖๔,๖๓๔ คน (ข้อมูล ณ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ /ที่มา :สำนักงานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา