โดย คณะนิติราษฎร์
ที่มา : ประชาไท
ที่มา : ประชาไท
รายการเสวนาวิพากษ์บทบาทกองทัพต่อการเมืองในระบอบ ประชาธิปไตย ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พ.อ.ภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ เลขาธิการคณะอนุกรรมาธิการทหาร ในสภาผู้แทนราษฎร สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น และปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติราษฎร์ ดำเนินรายการโดยประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช
ทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ทหารมามีบทบาททางการเมืองล่าสุดคือช่วงรัฐประหาร 19 ก.ย.
ผมนำหนังสือ The Soldier and the State เป็นหนังสือที่เขียนเมื่อปี 1957 ซึ่งเสนอว่าต้องทำทหารให้เป็นอาชีพ และเสนอหลักความเป็นสูงสุดของพลเรือน เพื่อทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยและทหารจะไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าหลักอันนี้จะหยั่งรากลึกในสังคมไทยเพียงใด เพราะหลัง 19 ก.ย. เป็นต้นมา ทหารก็เข้ามามีบทบาทสำคัญ
พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย
มีคนกล่าวไว้ว่าหากจะปฏิรูปการเมือง ถ้าไม่ปฏิรูปกองทัพจะไม่มีวันได้รับความสำเร็จเลย นั่นหมายความว่าทุกประเทศที่ต้องการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงต้อง ปฏิรูปกองทัพเสียก่อน
กองทัพของประเทศไทยได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยได้อย่างไร กองทัพได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่ปี 2475 โดยทหารระดับกลางและล่างได้ร่วมกับฝ่ายคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์เป็นประมุข
หลังจากนั้นเราจะเห็นได้ว่ามีการแย่งชิงอำนาจระหว่างสถาบันพระมหา กษัตริย์ฝ่ายอนุรักษ์ อำมาตย์ แย่งชิงอำนาจทางการเมืองกับฝ่ายคณะราษฎรหลายครั้ง จนกระทั่งเกิดกบฏพระองค์เจ้าบวรเดช ฝ่ายอนุรักษ์ได้ถูกปราบปรามอย่างราบคาบ นับแต่นั้นมา ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายอำมาตย์ก็ได้ปรับการแย่งชิงการเมืองโดยการตั้งพรรค การเมืองคือพรรรคประชาธิปัตย์ซึ่งตั้งขึ่นในวันจักรี
หลังจากนั้นมีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 และมีความแตกแยกมากขึ้นๆ ด้วยการแตกแยกของคณะราษฎรฝ่ายทหารและพลเรือน และคณะราษฎรฝ่ายทหารเข้ามาคุมการเมืองมากขึ้น
ปี 2490 มีการรัฐประหารสมัย พล.ร.ท. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ มีรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม มีการถวายคืนพระราชอำนาจให้กับพระเจ้าอยู่หัวหลังจากมีการยึดอำนาจ 2475 เป็นเหตุให้กองทัพเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างต่อเนื่อง
ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้นำประเทศจากที่เคยอ้างว่าปกครองประบอบประชาธิปไตยกลับไปสู่กึ่งสมบูรณาญา สิทธิราชย์กึ่งประชาธิปไตย เราจะเห็นว่ามีการถวายคืนพระราชอำนาจให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีการตั้งคณะอภิรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาก็คือองคมนตรี
หลังจากนั้นก็มักจะรัฐประหารหลายครั้ง และมากที่สุดในโลก ทั้งที่ทำสำเร็จและที่ไม่สำเร็จ รวมกัน 22 ครั้ง ที่สำเร็จ 10 ครั้ง ถามว่าทำไมประเทศไทยกองทัพจึงมาข้องเกี่ยวกับการเมือง อ.นิธิ (เอียวศรีวงศ์) พูดถึงผลประโยชน์สามประการ คือหนึ่ง อำนาจ สอง งบประมาณ ตราบใดที่กองทัพเข้ามาครอบงำทางการเมืองก็จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นตามที่ผู้ นำเหล่าทัพต้องการ สามคือผลประโยชน์ของรัฐ เช่น คลื่นวิทยุ เขตพื้นที่หวงห้าม
แต่ที่สำคัญที่ทำให้บ้านเมืองของเรากองทัพเข้ามาครอบงำการเมืองได้ ไม่ต้องโทษใคร ต้องโทษนักการเมือง นักการเมืองเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชั่น หรือไม่ยอมรับกราบกรานอำนาจนอกระบบ ท่านจะเห็นว่าเมื่อเร็วๆ นี้นักการเมือง สามพี สี่พี (ชื่อย่อ) ก็เข้าไปกราบกรานผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ ซึ่งนี่เป็นรากฐานมาจากความขัดแย้งในสมัยคณะราษฎร จนกระทั่งสมัยจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ ทำรัฐประหารเพื่อคืนอำนาจให้อำมาตย์ นักวิชาการต้องกล้าพูดความจริงเหล่านี้
ผมบอกได้เลยว่า การทำรัฐประหารไม่ใช่บังเอิญ ก่อนการทำรัฐประหารต้องมีการสร้างสถานการณ์เพื่อเป็นข้ออ้างให้กับผู้ทำรัฐ ประหาร ข้ออ้างที่อ้างเสมอคือ รัฐบาลพลเรือนทุจริตคอร์รัปชั่น และไม่จงรักภักดี เราจะเห็นได้จากเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ในช่วง 14 ตุลา กองทัพเสียอำนาจไปมาก และได้สร้างกองกำลังหนึ่งคือกองกำลังนวพล และเห็นว่านักศึกษามีพลังมากขึ้นๆ ก็เกิดกระบวนการกระทิงแดงขึ้นมา มีการสร้างสถานการณ์ว่านิสิตนักศึกษา มธ. ฝึกคอมมิวนิสต์ ขุดสนามเพลาะ มีคนญวนเข้ามาร่วมเคลื่อนไหว แล้วก็มีการล้อมปราบกันในวันที่ 6 ตุลา ทำให้นิสิตนักศึกษาก็หนีเข้าป่า ไม่หนีก็ตาย ถามว่านิสิตนักศึกษาช่วงนั้นอยากเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ระบอบคอมมิวนิสต์หรือ เปล่า ก็เปล่า
ถามว่าทำไมทหารต้องรู้สึกว่าต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ไปดูรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีกองทัพเพื่อรักษาเอกราชและประชาธิปไตยและความ มั่นคงของรัฐ ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และพัฒนาชาติบ้านเมือง นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการซ่อนรูป กำหนดบทบาทของกองทัพไว้ 5 ประการ ไม่ได้บอกว่าต้องมาเกี่ยวข้องทางการเมือง แต่เนื่องจากกองทัพนั้นเป็นสถาบันที่เข้มแข็งมีระเบียบวินัย นักเรียนทหารส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าตัวเองรักชาติ รักสถาบันมากกว่าคนที่อยู่ในวิชาชีพอื่น ผมคิดว่าทหารเกินครึ่งคิดอย่างนั้น
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
วันที่เกิดศึกชายแดนก็คิดอยู่ว่าปกติแล้วสงครามมักถูกใช้เป็นข้อ อ้าง ในการทำอะไรได้หลายๆ อย่างรวมทั้งการใช้กำลังทหารยึดอำนาจควบคุมรัฐบาล ถ้าได้เหตุผลสมควรว่ารัฐบาลพลเรือนอ่อนแอเกินไปที่จะป้องกันประเทศ แต่พอ ผบ.ทบ. ออกมาพูด ผมว่าคงไม่ใช่ เพราะรู้สึกว่าท่านไม่ได้ด่ารัฐบาล ท่านด่าผู้ประท้วง เขาคงไม่คิดไกลขนาดนั้น ดังนั้นเมื่อกลับมาที่โหมดรัฐประหาร ผมว่าคงลือไปอีกนานจนกว่าจะจริง เพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เอาทหารออกไปจากการเมืองยากมาก เรื่องการคิดว่าพลเรือนเป็นใหญ่ไม่ตกผลึกในสังคมไทย อยู่ไม่คงทน
ผมอยากอธิบายเปรียบเทียบสองสามประเทศ ผมเกี่ยวข้องกับทหารเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ ฉะนั้นอย่าถามว่าใครรุ่นไหน หรือใครจะทำรัฐประหาร
บทบาทของกองทัพในประเทศโลกที่สาม หรือประเทศกำลังพัฒนา อย่างประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาไม่เสร็จเสียที ผลผลิตของการเมืองในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายแหล่ มันเป็นผลผลิตของกองทัพโดยตรง อย่างกรณีประเทศไทย คณะราษฎรที่ทำการปฏิวัติ 1932 คือคณะทหารส่วนหนึ่งร่วมกับพลเรือนส่วนน้อย ยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ ดังนั้นในองค์ประกอบที่ได้อำนาจมามีกองทัพอยู่เป็นส่วนหลักเลยทีเดียว แม้จะไม่ได้ยิงปืนสักแปะเดียว
ในประเทศอื่น คือพม่า ที่ใช้กองทัพในการปลดปล่อยประเทศ และทหารพม่าก็ยึดครองอำนาจรัฐไว้กับตัวตลอดมา ถ้าจะดูประเทศอื่นอย่างทหารอินเดียทำไมไม่ยึดอำนาจ ก็เพราะการได้เอกราชของอังกฤษเป็นการนำโดยพลเรือน
ในระยะหลังจากที่ประเทศอื่นปลดปล่อยตัวเองออกจากการเป็นอาณานิคม ระยะ 60-70 ปีที่ผ่านมา คือ ศตวรรษที่ 20 ก็คือการแข่งขันกันทางอำนาจของคนที่อยู่ในกลุ่มอำนาจต่างๆ โดยที่ทหารเป็นหลัก
ยุค 1980 การแย่งอำนาจเปลี่ยนมือ ในประเทศไทยสำคัญมาก เพราะว่าพลเรือนขยายอำนาจทางการเมืองของตัวเองมากขึ้น เพราะความเจริญทางเศรษฐกิจช่วง 1970 มันสร้างให้ชนชั้นกลางเกิดขึ้นมา และผ่านระบบการศึกษาสมัยใหม่ ทำให้นักศึกษาปัญญาชน มีความรู้สึกว่าพื้นที่ทางการเมืองควรถูกแตะ จึงเกิดการลุกฮือขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองมาจากทหาร
ในเกาหลีใต้ เกิดการลุกฮือขึ้นของนักศึกษา มีการลุกฮือที่กวางจู มีการปราบปรามอย่างรุนแรง ตายหลายร้อยคนเจ็บเป็นพัน และการต่อสู้เพื่อให้พลเรือนเป็นใหญ่ การต่อสู้นี้ยาวนานมาก และใช้เวลาถึงแปดปี และผ่านกระกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากคือ การเลือกตั้ง ในเกาหลีใต้สามารถทำได้ และสถาปนาความสูงสุดของพลเรือนได้
ในพม่า ไม่ประสบความสำเร็จ ที่สุดแล้วทหารพม่าสามารถใช้ความรุนแรงปราบปรามจนเหี้ยนเตียน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ทำให้อำนาจพลเรือนไม่ได้ล้มหายตายจากไป แต่ความพยายามที่จะแย่งชิงอำนาจจากทหารมีเรื่อยๆ และสม่ำเสมอ ซึ่งผลที่สำคัญคือเศรษฐกิจและการศึกษา ที่เห็นว่าทหารไม่สามารถบริหารประเทศให้ก้าวหน้าไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก
ประเทศที่ทหารมีอำนาจมีนัยยะอย่างสำคัญต่อความถดถอยทางเศรษฐกิจ เช่นพม่า หรือไทย ถดถอยแม้กระทั่งฐานะ ตำแหน่งในเวทีสากลด้วย สนธิ มีความทุกข์ทรมานมากในการพยายามอธิบายความสำเร็จของเขาในการทำการรัฐประหาร ผมเห็นนักวิชาการหลายคนที่ทุกข์ทรมานในการพยายามไปอธิบายกับคนไทยในประเทศ ต่างๆ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เห็นแล้วก็เป็นที่น่าอดสู
เวลานั้นยุโรปขอถอยห่างความสัมพันธ์ สหรัฐอเมริกาจำใจต้องตัดความช่วยเหลือทางทหาร ทั้งๆ ที่สหรัฐก็รู้มาก่อน
ฉะนั้นในไทยยิ่งสำคัญมาก เกิดการยื้อแย่งอำนาจทางการเมืองระหว่างทหารและพลเรือนตลอด พอสิ้นยุคเปรมาธิปไตยแล้ว จะเห็นว่าพลเรือนสำเร็จมาก และพิสูจน์ให้เห็นว่าการปกครองโดยพลเรือนสามารถนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้ ก้าวหน้าได้
นี่คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบันเราจะพบว่าในหลายๆ ประเทศซึ่งไม่ประสบความสำเร็จในการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ทหารจำเป็นต้องแสดงออกอีกแบบหนึ่ง จะต้องตกแต่งหน้าตาของการปกครองให้ดูเสมือนหนึ่งเป็นพลเรือน พลเอกเตงเส่ง ต้องถอดเครื่องแบบมาใส่สูท ลงเลือกตั้งซึ่งก็เป็นการเลือกตั้งที่สมูธมาก
ในประเทศไทยก็เขียนรัฐธรรมนูญแบบนั้นเหมือนกันคือให้ ส.ว. สรรหามานั่งอย่างเต็มภาคภูมิ
ผมคิดว่าสิ่งที่ต้องพิจารณาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของอำนาจทางพลเรือน ทำได้อย่างไรบ้าง
อย่างแรกคือ การปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างกองทัพและพลเรือน แต่ต้องมั่นใจว่าพลเรือนเป็นฝ่ายชนะ ถ้าชนะก็เป็นแบบเกาหลีใต้ ไม่ชนะเป็นแบบพม่า แต่ถ้ายังไม่ชนะก็ดึงกันไปกันมาแบบไทย
นายทหารทุกคนจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศและคนอื่นเป็นผู้อาศัย ในประเทศไทยคนที่เป็นทหารมีหน้าที่ปกป้องหัวใจของชาติไทย และประสบความสำเร็จในการผูกพันตนเองเข้ากับพระมหากษัตริย์ ใครที่ทำลายกองทัพเท่ากับทำลายสถาบันด้วย พลเรือนที่จะประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจต้องจัดวางตำแหน่งกองทัพให้ดี
สาม เกาหลีใต้ใช้เวลา 8 ปี ความจริงแล้วรัฐบาลเผด็จการอยู่อีกแปดปี จนกระทั่งแพ้การเลือกตั้ง รัฐบาลพลเรือนรื้อฟื้นคดีขึ้นมาทำใหม่ ทำอะไรบ้าง คือเปลี่ยนความทรงจำ ทำให้คนที่ตายในเหตุการณ์นั้นเป็นวีรบุรุษของชาติ และชดเชยให้ญาติวีรชนเหล่านั้นที่สูญเสีย และเปลี่ยนความทรงจำเกี่ยวกับทหารหมด รื้อค่ายทหารและตั้งพื้นที่ตรงนั้นเป็นอนุสรณ์สถาน ที่เด็ดมากกว่านั้นคือทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการปราบปราม เข้าคุก ถูกพิพากษาประหารชีวิต หลังจากนั้นเกาหลีใต้ จนถึงปัจจุบันรวมเวลาแล้ว 31 ปี ไม่มีกองทัพอยู่ในการเมือง แต่กรีของไทยอาจจะต้องใช้เวลานานกว่านั้นหน่อย เพราะคนที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง แล้วยังสามารถทำราวกับกองทัพเป็นสมบัติส่วนตัวได้ เป็นเรื่องประหลาดที่นายพลที่เกษียณอายุไปแล้วยังฝันอยากจะมีกองพันทหารม้า สักกองหนึ่งเป็นบรรณาการของชีวิต
พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ
ผมเป็นทหารอาชีพ จบโรงเรียนนายร้อย เป็นทหารราบ กลับมาเป็นอาจารย์ประจำที่นิด้า สอนอยู่ประมาณสิบปี ที่จะพูดเป็นประสบการณ์ทั้งด้านที่เป็นอาจารย์และการทำงานให้กรรมาธิการทหาร สภาฯ ที่ใช้ตำแหน่งนี้เพราะสามารถพูดได้
ผมจะมองในเชิงวิชาการนิดหนึ่งว่า ถ้าคำอธิบายเรื่องทหารว่าถ้าพลเรือนเป็นใหญ่แล้วจะเป็นประชาธิปไตย มันไม่ใช่ วิธีง่ายๆ ที่จะใช้ศึกษาอาจจะต้องมองดูเศรษฐกิจการเมือง ใครครองอำนาจทางเศรษฐกิจได้มากกว่า เราต้องวิเคราะห์ว่าตกลงการเป็นประชาธิปไตยของไทยมันคือสิทธิเสียงเท่ากัน หรือเปล่า
เริ่มจาก 2475 เราเปลี่ยนโดยกรณีพิเศษ และมีคนคิดเปลี่ยนให้ โดยการไปดึงกลไกที่มีอำนาจมาร่วมทำแบบพิเศษ คือกลไกทหาร แล้วทำให้ทหารมีอำนาจเหนือรัฐมาตั้งแต่นั้น องค์กรข้างในก็จะปั่นป่วน
สิ่งที่ต่างจากอังกฤษและยุโรปเปลี่ยนด้วยตัวเอง มีความขัดแย้งเรื่องโครงสร้างการผลิต ชนชั้นผลิต เมื่อค้นพบเครื่องจักรไอน้ำ อยากเพิ่มกำลังการผลิตแล้วมันติดขัด เพราะคนๆ หนึ่งคือเจ้าเป็นทั้งเจ้าของที่ดินและแรงงาน มันจึงเกิดความขัดแย้ง เกิดการปฏิวัติทำให้เกิดการล้มล้าง นั่นแสดงว่าหนทางเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามถ้าเปลี่ยนแปลงเองแล้วจะมีเสถียรภาพ
แต่ประเทศที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เช่นไทย ทุนเข้าไปอยู่การเมืองเจ้าไปอยู่ในสภา คุณเป็นอีลิทไปแล้ว ผมแนะว่าเวลาคุยเรื่องนี้ ถ้าเปลี่ยนทฤษฎีการมองจะเห็นชัด
กลุ่มทหารมีอำนาจสูงสุด พอ 2516 เปลี่ยนไปกลุ่มทุนเข้ามาแทนที่ จาก 2516 มาทุนมีเสถียรภาพ เพราะสามารถเอาอำนาจเศรษฐกิจมาควบคุมการเมืองได้โดยตรง และทุนที่ว่าตั้งแต่สมัยเดิมถึงชาติชาย เป็นทุนที่มีมิติทางเศรษฐกิจ คือคลื่นลูกที่สอง คือหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจเอาอำนาจทางการเมืองมาเขียนโครงการเพื่อประโยชน์ แก่ตน เช่นคมนาคม หาส่วนเกินเป็นเปอร์เซ็นต์
พอคุณทักษิณเข้ามา มิติทางเศรษฐกิจหลากหลาย ขั้นต้น เขาใช้ภาระทางการเมืองไปหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งอย่างตรงไปตรงมาทั้งในและ นอกประเทศ ปัญหาเหล่านั้นทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างทุน
สิ่งที่บางคนพูดมันถูกนะครับ ว่าปัญหาประชาธิปไตยไทยไม่ใช่เรื่องของคนข้างล่างอย่างเรา ถ้าเศรษฐกิจการเมืองรวมศูนย์ผูกขาดไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย ทุนเล็กทุนน้อยเมื่อมันโตและเท่าเทียม ถ้าทุนเติบโตและกระจายเป็นฐานกว้าง ประชาธิปไตยมาเอง ปะเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น พอทุนเก่าทุนใหม่ทะเลาะกันมันแก้ไม่ได้ คนที่พุดแรกๆ น่ะถูกแล้ว คือกลุ่มเศรษฐกิจมามีอำนาจทางการเมือง กลไกเป็นของพวกเขาเสียทั้งหมด เป็นทุจริตทางเศรษฐกิจ อิลีทจึงบอกว่าไม่มีทางออก จึงต้องใช้การรัฐประหารปี 2549
ถามว่าคิดแบบนี้ถูกไหม ถูก แต่วิธีแก้ปัญหามันไม่ถูก คือโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ได้แก้ให้กระจายตัว และไม่ให้เศรษฐกิจกระจุกตัว แล้วปฏิวัติแล้วทำหอกอะไร ก็ไปไล่ฆ่าเขาอีก ถามว่าทุนเก่าหายไป ทุนใหม่เกิดได้ไหม ก็ได้อีก ไปสร้างวาทกรรทว่าเขาโกงมหาโกง แล้วไอ้คนที่มาใหม่มันโกงหรือเปล่า แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน บางคนบอกว่า ถ้าไม่ปฏิวัติเดี๋ยวปรับตัวกันไปเอง แต่ผมไม่แน่ใจเพราะถ้ารวมศูนย์ผูกขาดแล้วแก้ยากมาก สรุปคือปัญหาอยู่ที่เดิม คือโครงสร้างอำนาจมีปัญหา คือประชาธิปไตยไทยมีแต่รูปแบบ คุณอย่าไปมองแค่ว่าถ้าไม่ปฏิวัติแล้วจะเป็นประชาธิปไตย ถามว่าตั้งแต่ปี 2535 ทหารกลับเข้ากรมกอง แล้วคุรบอกสลายแล้ว สลายอะไรล่ะ กลุ่มทุนก็เข้ามาเทกโอเวอร์ แล้วก็มาแก้ปัญหาอย่างไม่ซับซ้อน ไปเอาคนแก่มาเป็นนายกฯ จะขึ้นบันไดก็พักเสียสามหน
เวลาคุณเลือกที่จะทำการเปลี่ยนแปลง คนก็ไม่ว่าอะไรหรอก แต่หลังจากนั้นจะทำอะไร คุณก็ไม่ได้กระจายโครงสร้างทางอำนาจ ถ้าจะทำจริงคุณต้องปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปภาษี จะทำอย่างไรให้คนไม่รังเกียจทุน และทำให้ทุนใหญ่ทุนน้อยเป็นมิตรกันได้
สำหรับทหาร จริงๆ แล้วต้องแยกกัน การปฏิวัติครั้งก่อนๆ ต้องแยกกัน สมัยก่อนทหารปฏิวัติเขามีอุดมการณ์ต่างๆ กันไป แก้ปัญหาโดยตัวของเขาเอง ปฏิวัติเสร็จก็เอาความคิดไปทำ สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง แต่สำหรับปี 2549 อธิบายได้ไหมว่าเขามีอุดมการณ์การเมืองอะไร หรือเขาทำเองหรือเปล่า หรือเขาทำให้ใคร
สองคือ บางทีการปฏิวัติ เมืองนอกที่ง่ายๆ เช่นเยอรมนีพอสงครามโลกสิ้นสุดลง และกองทัพเห็นว่าเป็นองค์กรสำคัญต้องทำให้อุดมการณ์เปลี่ยนแปลงเสียใหม่ คือให้ทหารพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ของไทย ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แล้วคุณพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า
ผมขอสรุปขั้นต้นว่า วิธีวิเคราะห์ก็สำคัญ คือพลเรือนน่ากลัวกว่าทหารอีก เพราะเขาจะจีบปากจีบคอพูดว่าเขามาจากการเลือกตั้ง ต้องไปดูว่าพลเรือนพวกนี้ใช่ทุนหรือเปล่า ต้องถามว่าตัวแทนราษฎรและผู้แทนราษฎรเป็นคนๆ เดียวกันหรือเปล่า แล้วก็มีปัญหาเรื่องระบบพรรคเอยอะไรเอย
และตกลงว่าวันนี้ประชาธิปไตยเป็นแต่รูปแบบหรือเปล่า
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ประเด็นที่ผมจะอภิปรายมี 2 หัวข้อ
การบูรณาการกองทัพเข้ากับสังคมประชาธิปไตย มีดัชนีชี้วัดอยู่หลายประการ ผมสรุปมาได้ 6 ข้อ
1. การเมืองมาก่อนทหาร พลเรือนมาก่อนทหาร กองทัพจะเป็นเครื่องมือเครื่องไม้ของนโยบายทางการเมืองเท่านั้น ลักษณะแบบนี้จะเกิดได้อย่างไร ก็ต้องมีบทบัญญัติชัดเจนเกี่ยวกับการควบคุมกองทัพโดยองค์กรทางการเมือง กองทัพต้องรับผิดชอบต่อองค์กรทางการเมือง เช่น รัฐมนตรีกลาโหมต้องเป็นพลเรือน มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มาจากการเลือกตั้ง หรือกรรมาธิการประจำสภาเกี่ยวกับเรื่องทหาร รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ ของทหาร และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของกองทัพได้
2. การลดบทบาทของกองทัพในเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ การชุมนุม การสายการชุมนุมเป็นหน้าที่ของตำรวจและฝ่ายปกครอง ส่วนทหารไปทำหน้าที่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ แต่ก็ควรลดลงคือไปทำหน้าที่ป้องกันความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้น ทำหน้าที่เรื่องมนุษยธรรม เช่น การบูรณะที่ติมอร์ตะวันออก
3. มีสิทธิทางการเมือง แน่นอนว่าคนที่เป็นทหารจะดำรงตำแหน่งอื่นๆ ทางการเมืองไปพร้อมๆ กันไม่ได้ ควบรมต.กลาโหมกับ ผบ.ทบ. ไม่ได้ แต่ไม่ใช่ไม่มีความเห็นทางการเมือง
4. การคัดคนเข้าเป็นทหารต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานเสมอภาค สิทธิ เสรีภาพ
5. หลักสูตรการศึกษา ไปดูว่าหลักสูตรเขาเรียนสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญ กฎหมาย หลักการประชาธิปไตย สิทธิหน้าที่ทหารเป็นอย่างไร มีการสอนกฎการใช้กำลังไหม หรือสอนแต่เรื่องชาติศาสนา พระมหากษัตริย์
6. การยอมรับความหลากหลาย ต้องมีความหลากหลายทางศาสนา เชื้อชาติ เพศ เป็นต้น
ในเยอรมนีมีหลักการเกิดขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพต้องปรับตัว หลังบอบช้ำจากความเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง จึงต้องปรับตัวคิดหลัก Moral Conduct มีหลายประการ
หนึ่ง ทหารไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ออกไปรบ หรือเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น แต่ทหารเป็นพลเมืองที่ไปใส่เครื่องแบบทหารเท่านั้นเอง แต่ทหารนั้นอยู่กับ หลักการที่เคร่งครัดอย่างยิ่งคือเรื่องคำบังคับบัญชา กับอีกหลักคือเสรีภาพของมนุษย์ สองอย่างนี้จะหาดุลยภาพได้อย่างไร
ปัจจุบันหลักนี้ในเยอรมนี ถือว่าหลักนี้มีคุณค่าในระดับรัฐธรรมนูญจะออกกฎหมายใดมาขัดแย้งหลักนี้ไม่ ได้ ใช่สอน ใช้อบรมทหารตั้งแต่เข้าโรงเรียนนายร้อยก็ต้องเรียน
ทหารเป็นพลเมืองในเครื่องแบบ มีความเป็นอิสระในฐานะบุคคล เป็นพลเมืองที่มีจิตสำนึก สิทธิ เสรีภาพ และความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันก็พร้อมสำหรับภารกิจหน้าที่
โดยสรุปแล้ว Moral of Conduct ของเยอรมนีมีอะไรบ้าง หนึ่ง พลเรือนเป็นใหญ่ สอง ควบคุมโดยรัฐสภา สาม ยึดนิติรัฐ สิทธิ สี่ สาธารณชนตรวจสอบได้ตลอดเวลา ห้า ยกเลิกศาลทหาร หก แบ่งแยกเขตอำนาจทหารพลเรือนอย่างชัดเจน
หนึ่ง สิทธิเสรีภาพ มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วย แต่อาจถูกจำกัดสิทธิได้โดยเฉพาะในกรณีที่กฎหมายกำหนด โดยคนที่ตรากฎหมายคือรัฐสภา โดยจำกัดไปเพื่อความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ทางทหารเท่านั้น
แน่นอนว่าหลักของทหาร ต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา แต่มีข้อยกเว้นสองกรณี คือมีสิทธิปฏิเสธไม่ปฏิบัติตาม ถ้าคำสั่งนั้นละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สองทหารมีหน้าที่ในการปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามหรือเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา ถ้าคำสั่งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นความผิดอาญา นั่นหมายความว่า ในการสลายการชุมนุม ให้ใช้สไนเปอร์ซุ่มยิง ถ้าเป็นบ้านเมืองอื่นเขาต้องปฏิเสธ
สอง การควบคุมโดยฝ่ายการเมือง โดยผ่านการควบคุมงบประมาณ และตรวจสอบการใช้งบประมาณของทหาร และอีกประการคือการคุ้มครองสิทธิหน้าที่ของทหารทุกคน โดยมีกรรมาธิการสภาควบคุมตรวจสอบดูแล สาม คือคณะกรรมการกลาโหม ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของกองทัพ
ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม รัฐสภาจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยระบุว่าทุกการแทรกแซงของทหารต้องผ่านการ พิจารณาแผนโดยรัฐสภาเสียก่อน ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนอย่างยิ่ง รัฐบาลอาจส่งไปก่อนแล้วมา ผ่านความเห็นชอบโดยรัฐสภาอีกครั้ง
ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพเยอรมนีคือพลเรือน ในสภาวะสงบ ผู้ควบคุมคือ รมต. กลาโหม ในภาวะสงคราม ผู้ควบคุมคือนายกรัฐมนตรี
หลักคุณค่าที่กองทัพเยอรมนีให้ความเคารพนับถือคือ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ เสมอภาค ประชาธิปไตย และกฎหมาย แต่ในบางประเทศที่คุณค่าที่กองทัพนับถือ คือกษัตริย์ พระเจ้า ท่านผู้นำ หรือคอมมิวนิสต์
พ.อ.อภิวันท์
ทำไมการรัฐประหาร 2549 ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ก็เพราะหัวหน้าคณะรัฐประหารไม่ได้ตั้งใจทำ แต่เขาสั่งให้ทำ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารหัวหน้าคณะรัฐ ประหารจะได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นหัวหน้าคณะ ก็จะเห็นว่าเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างกองทัพกับสถาบันกษัตริย์มาตั้งแต่ 2490 คณะใดที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้า คณะนั้นก็จะเป็นกบฏ ทำไมถึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ผมคิดว่าเพราะน้องๆ ทั้งหลายเข้าใจภารกิจของตัวเองผิด ซึ่งถ้าดูรัฐธรรมนูญจะพบว่า ภารกิจ หนึ่งคือปกป้องประเทศ.....แต่ท่านเชื่อไหมครับว่าวันก่อนผมได้อ่านผล แถลงการณ์ปฏิบัติหน้าที่ ผมอ่านแล้วตกใจเพราะว่ากองทัพบกเอาภารกิจป้องกันประเทศไปไว้อันดับสาม หมายความว่าอะไร ผู้นำเหล่าทัพเข้าใจภารกิจและคุณค่าของตัวเองไม่ถูกต้อง
ภารกิจแรกคือปกป้องกษัตริย์ ภารกิจที่สองคือการดำเนินการตามพระราชดำริ สาม ป้องกันประเทศ บอกได้เลยนะว่านี่เป็นประเทศเดียวในโลก นี่คือการวิเคราะห์ภารกิจผิดพลาด
การแก้ไขปัญหาการเข้ามาครอบงำทางการเมือบงของกองทัพจะแก้อย่างไร ผมเรียนไปแต่ต้นว่าจะปฏิรูปการเมืองสำเร็จได้ต้องปฏิรูปกองทัพด้วย กองทัพเองก็ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ของโลกว่าในอนาคตจะมีสงครามขนาดใหญ่ขึ้น ได้หรือไม่ เราจะเห็นว่าในอนาคตการรบรากันจะน้อยลง ดังนั้นหน้าที่ของตัวเองคืออะไร ก็คือการพัฒนาประเทศ คุณสมบัติของนายทหารควรจะเป็นอย่างไร ก็ต้องพัฒนาตัวเองไปเป็นนักวิศวกรรม นักวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร ต้องพัฒนาตัวเองไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นวิศวกร จำนวนกำลังพลจะต้องลดลงครึ่งหนึ่ง คุณภาพของทหารจะต้องมีความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยี การจัดซื้ออุปกรณ์ต้องวางแผนล่วงหน้าเป็นสิบปี แต่เป็นที่น่าเสียดายผมเสนอในสภากลาโหมก็ได้รับคำวิจารณ์ว่า นี่เป็นการเสนอแบบวิชาการไม่น่าทำได้
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ พัฒนาหลักสูตร ผมบอกได้เลยน้องๆ หลายคนเป็นคนเรียนเก่งในสมัยมัธยม แต่พอถูกฝึกว่าคำสั่งผู้บังคับบัญชาคือพรแห่งสวรรค์ แล้วคิดดูว่าคนที่ถูกฝึกอย่างนี้ไปเป็นสิบปีโดยไม่สงสัยว่าเป็นคำสั่งที่ชอบ ด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องส่งไปเรียนหลักสูตรพลเรือนมากขึ้นก็จะได้วิธีคิดอีกแบบ
สิ่งหนึ่งที่อยากจะเรียนให้ทราบคือ สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยเรา ถูก “ซ่อม” แล้วให้เราปฏิญาณว่ารุ่นน้องที่ดีที่สดยังสู้รุ่นพี่ที่เลวที่สุดไม่ได้ ผมคิดว่าวัฒนธรรมแบบนี้จะต้องเลิก จะต้องเปลี่ยน ความจริงโรงเรียนนายร้อยทุกเหล่าสอนวิชารัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในค่ายทหารก็ถูกทำให้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คิดว่าชอบด้วย หลักการหรือไม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารรู้สึกว่าทหารรักชาติมากกว่าคนอื่น
ปฏิรูปกองทัพจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร ก็คือการทำให้ทหารเป็นทหารอาชีพ Old Soldier Never Dies จะต้องเลิก สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือว่าทหารจะได้รับการยอมรับและได้รับความรักจากประชาชน ก็คือทหารต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และต้องเรียนว่าทหารส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องกับการ เมือง แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมากองทัพเป็นปัญหาในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ก็อย่างที่อาจารย์ปิยบุตรบอกว่าการรัฐประหารทุกครั้งจะต้องได้รับพระบรม ราชโองการทุกครั้ง จึงไม่ทราบว่าปัญหากองทัพอยู่ที่ไหนกันแน่
ประเทศไทยอยู่บนทางสามแพร่ง แพร่งแรก คือทำให้เป็นอย่างญี่ปุ่น อังกฤษ สวีเดน หรือเดนมาร์ก อำนาจนอกระบบไม่เข้ามาครอบงำระบอบการเมือง กษัตริย์ก็อยู่อย่างสมพระเกียรติ ผมเชื่อว่าอย่างอังกฤษจะอยู่ได้เป็นอีกร้อยปี
แพร่งที่สอง คือการที่ทหารทำการรัฐประหารปิดประเทศ อย่างที่มีข่าวอยู่สองสามวัน ผมเรียนว่าข่าวลือนั้นเป็นข้อเท็จจริง ข่าวลือเรื่อง พล.อ. ด เด็ก กับพล.อ.ที่ชอบ ด.เด็ก
แพร่งที่สาม ผู้ปกครองประเทศใช้ทหารมาเข่นฆ่าพลเรือน ถ้าประเทศไหนผู้ปกครองประเทศใช้กองทัพเข่นฆ่าประชาชน มันก็จะเดินไปแพร่งที่สาม คือฝรั่งเศส รัสเซีย เนปาล อิหร่าน และที่เห็นปัจจุบันคือตูนิเซียและอียิปต์ สถาบันจะล่มสลาย เกิดการนองเลือด ผมเรียนด้วยความรักชาติรักสถาบัน และผมรู้ว่ามีคนมาอัดเทป ผมขอเรียนว่าผมพูดด้วยความรักชาติ อายุขนาดนี้ตายเป็นตาย แต่ผมพูดเพื่อให้น้องๆ ในกองทัพเห็นว่าประเทศไทยมีทางสามแพร่ง คนที่จะเลือกว่าจะนำประเทศไปสู่แพร่งไหนคือผู้ปกครองประเทศและกองทัพ ท่านต้องนึกให้ดีครับว่าพลเมืองของโลกก้าวหน้ามาขนาดนี้จะพาประเทศไปสู่ แพร่งไหน
วิภา ดาวมณีถาม กองทัพไทยให้ยิงคนมือเปล่า หรือยิงผู้หญิงในวัดหรือเปล่า
พ.อ.อภิวันท์ตอบ กองทัพไม่ได้สอน หลักนิยมทางทหารการใช้สไนเปอร์จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อข้าศึกแต่งเครื่องแบบและมี อาวุธอยู่ในเมือง หลักปฏิบัติที่ผ่านมาผมคิดว่ากองทัพได้ละเลยความเป็นมืออาชีพและความเป็น สุภาพบุรุษ ผู้ที่ยิงคนในวัดถูกหลอกและมาฆ่าผู้ก่อการร้ายต่อสถาบัน บัดนี้ทหารหกนายได้สารภาพกับดีเอสไอแล้วว่าเขาเข้าใจผิดว่าคนเหล่านั้นเป็น ผู้ก่อการร้ายอาวุธครบมือ และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
สุภลักษณ์
Old Soldier Never Die But Diseased (ทหารเก่าไม่เคยตาย แต่อมโรค) กองทัพยังคงอยู่ในหมวดเก่า อย่างน้อยก็ยี่สิบกว่าปีแล้ว ผมนั่งในห้องนี้บ่อยๆ จนปัจจุบันนี้ก็ไม่น่าเชื่อเรายังคงต้องพูดเรื่องบทบาททหารกับการเมืองอยู่ ผมคิดว่าเรามีปัญหามากว่าทำไมเราต้องพูดเรื่องเก่าๆ มายี่สิบปีเป็นอย่างน้อย แต่ผมคิดว่าเราต้องพูดต้องไปอีกยี่สิบปีเป็นอย่างน้อย
ผมมีข้อเสนอสักสี่ห้าข้อในรอบนี้ ว่าทำยังไงให้ทหารแก่ตายเสียที
ข้อแรก ทั่วทั้งสังคมต้องปรับเปลี่ยนทัศนะทางการเมืองเกี่ยวกับกองทัพและทหารใหม่ ด้วย ในฐานะสื่อมวลชน ผมมีโอกาสสัมภาษณ์นายทหารใหญ่ของต่างประเทศหลายครั้ง สิ่งที่นายทหารสหรัฐถูกสอนตลอดเวลาและต้องทำมากต่อหน้าสื่อคือ ต้องไม่ตอบคำถามเชิงนโยบายหรือการเมือง ตอบได้อย่างมากคือ อาวุธนี้ยิงไปได้ไกลเท่าไหร่ ภารกิจของท่านมีอะไร เสร็จหรือยัง ไม่ใช่ถามว่าจะยึดอำนาจหรือไม่ ผมคิดว่ามีแต่ประเทศไทยที่ต้องถามเพราะว่านายทหารใหญ่สาละวนคิดอยู่แต่ เรื่องนี้ว่าตัวเองจะมีบทบาทอย่างไร นักข่าวก็จ้องจะถามอยู่ตลอดเวลา เช่น กรณีการปะทะกันที่ชายแดนไทยกัมพูชา เราจะเห็นว่าคำถามนักข่าวก้าวล่วงคำถามที่ควรถามต่อรัฐบาล แต่คำถามที่ควรถามคือเราสูญเสียอะไรเท่าไหร่ หรือบรรลุเป้าหมายทางการทหารอย่างไร บ้านเราก็เริ่มสับสน คนที่อยู่ในอาชีพเดียวกับผมก็สับสน เราถามคำถามทางการเมืองกับผู้นำทหารและถามคำถามทางการทหารกับผู้นำทางการ เมือง
ทัศนคติอีกข้อ คือการร่ำร้องหาทหารแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลาที่ฝนตก น้ำท่วม ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือเกิดเดดล็อกทางการเมือง ถ้าหากเราไม่อาจจะตัดเรื่องนี้ออกจากการคิดของสังคมตราบนั้นก็ Old Soldier never Dies
สอง ทำอย่างไรที่จะจัดระเบียบทางการเมืองให้ทหารทำภารกิจหลักของเขา ต้องจัดลำดับหน้าที่ใหม่ ภารกิจแจกผ้าห่ม ลุยน้ำท่วม ฝ่ายพลเรือนก็ทำได้ แม้แต่โครงการราชดำริ พลเรือนก็ทำได้ ถ้าจัดลำดับบทบาทไม่ได้ กองทัพก็ไม่สามารถถอนตัวเองจากการเมือง
สาม อย่าพยายามสร้างเงื่อนไขให้กองทัพมีบทบาทมากนัก เช่น เรียกร้องให้มีสงครามชายแดน อย่าเรียกร้องให้บิน F16 บ่อยนัก เพราะมันอาจจะตกได้
สี่ เราควรจะปิดประตูตายสำหรับการดึงทหารมาเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ปัญหาการเมืองควรแก้ไขตามกลไกทางการเมืองที่มีอยู่
ห้า สังคมไทยควรคิดอย่างพินิจพิเคราะห์ นายทหารที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองสมควรถูกลงโทษอย่างหนักไม่ใช่ได้รับ การยกย่องอย่างในปัจจุบัน ผมไม่เคยเห็นนายทหารคนใดที่นำกองทัพมาเล่นการเมือง เขาไม่เคยถูกลงโทษ เช่น นายทหารเช่น พล.อ.สนธิ ไม่ควรเล่นการเมือง ควรถูกลงโทษไม่ให้เล่นการเมืองด้วยซ้ำไป
พ.อ.อภิวันท์ เสริมว่า นักการเมืองต้องทำหน้าที่ลงโทษนายทหารที่ทำการัฐประหารก่อนหน้านั้น น่าเสียดายที่นักการเมืองไม่ทำอย่างนั้น
พล.ท.พีระพงษ์ ผมถอดรหัสเรื่องการเมืองคือเราไม่เป็น ประชาธิปไตยในเนื้อหา เรายังไม่มีนักการเมืองเรามีแต่นักเลือกตั้ง มีคนมีโวหาร เป็นตัวแทนกลุ่มทุนบ้างอะไรบ้าง ต้องทำให้เป็นประชาธิปไตยโดยการกระจายโครงสร้างทางอำนาจ
นอกจากนี้มีคนที่มีอำนาจที่ไม่เป็นทางการอีก เรื่องนี้แหละที่ต้องแก้ไข ถ้ามีอำนาจที่ไม่เป็นทางการแล้วปล่อยให้มีเสถียรภาพ ถ้าปล่อยให้
หนึ่ง กระบวนการในการจัดซื้อจัดหา คนจะสงสัยว่าทำไมซื้อ ประเทศที่เจริญแล้วจะแบ่งการจัดซื้อจัดหาห้ากลุ่ม หนึ่ง ภัยคุกคามรุนแรงคิดอะไร ขาดแคลนอะไรบ้าง แล้วใช้เครื่องมืออะไร ยี่ห้ออะไร ซื้อ รับมาแจกจ่าย ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริงไม่ให้คนๆ เดียวทำ
แต่ในไทย ใครบอกว่า อะไรคือภัย ก็คือคนในเครื่องแบบ คนเดียวกันหมด จนกระทั่งการจัดซื้อ จึงไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล
สอง โครงสร้างกองทัพ ในประเทศเจริญแล้ว เขาแยกกันระหว่างงานบริหารทรัพยากรกลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มคือกองทัพ กองทัพก็เป็นปิรามิด คุมได้ทั้ง บก เรือ อากาศ กองทัพไทยมั่วไปหมด ความสัมพันธ์ก็มีรุ่นเหล่า กระซิบกัน ขอไปก่อนแล้วค่อยมาเปลี่ยนงบ กองทัพเองก็จะเกิดความซ้ำซ้อน เช่น โรงเรียนเสนาธิการ เมืองนอกมีโรงเรียนเดียว แต่ของเรามีสามบวกหนึ่ง โรงเรียนพยาบาลก็มีสามโรงเรียน พยาบาลทหารอากาศต้องไปลอยบนฟ้าฉีดยาเหรอ คนที่จบโรงเรียนทหารต้องไปคุมกำลังรบ ไม่ใช่มาอยู่หน่วยธุรการเยอะแยะขนาดนี้
กำลังคน หรือการจัดซื้อบอลลูน ข้อเท็จจริงคือทหารอากาศก็มีเครื่องบินเก่าลิงก์ภาพจากอากาศสู่พื้นดินได้ ถูกกว่า ทดแทนกันได้ แต่ไม่ทำ เพราะต่างคนต่างทำ มีเอกเทศมากเกินไป
ล่าสุดผมไปฟังมาที่จังหวัดตราด ท่านมัวไปคิดเรื่องกัมพูชาด้านพบ แต่ด้านล่าง ก็มีปัญหา คือประเทศใหญ่ให้ความช่วยเหลือด้านกำลังรบ กองทัพไทยอยากจะสร้างหนึ่งกองพลทหารม้า แต่ทราบหรือไม่ว่าหน้ากว้าง 250 กม. ฝั่งชายแดนตราดมีนาวิกโยธินดูแลอยู่แค่ 1 กรมเท่านั้นเอง คำถามคือจะกรมทหารราบให้นาวิก หรือจะไปสร้างกองพลทหารม้า
กระบวนการการเรียนการสอน ในเมื่อคุณเอาอาจารย์มาสู่ระบบราชการถ้าอาจารย์เจอระบบแบบทหารจะอยากไปอยู่ หรอก แล้วจะมีปัญหาในตัวจนไม่มีคุณภาพ ปัญหาที่สองคือ ทหารสอนเอาเอง แล้ววัฒนธรรมที่เรียนที่สอนกันก็มีวัฒนธรรมที่ต้องปรับเยอะ อย่างกรณีเยอรมนีที่อาจารย์ปิยบุตรกล่าว สุดยอดคือ มีสิทธิโต้แย้งเมื่อคำสั่งไม่ชอบธรรม
กระบวนการที่ 4 คือการผลิตซ้ำทางความคิด เพิ่มได้ไหม คุณต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพทางกายภาพยังไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่เปลี่ยนจิตสำนึกสำคัญกว่า ผมเองก็เอาประสบการณ์ตัวเอง แต่คนที่มีความรู้มากเกินไป ก็ลำบาก นี่ก็เป็นตัวอย่างว่าต้องปฏิรูปอีกมาก มนุษย์คนหนึ่งต้องมีทั้งประสบการณ์และทฤษฎี คุณไปอยู่หน่วยรบต้องเอาความรู้มาปรับแก้ ยิ่งไทย เขาเลือกจากคุณสมบัติอะไร หนึ่งมึงมาจากไหน พวกกูหรือเปล่า สองคือ มองหัวแม่ตีนแล้วรู้ใจ เมื่อการเมืองเป็นเรื่องพิเศษ เขาก็จะเลือกแต่พวก ส่วนความรู้ความสามารถเอาไว้ลำดับท้ายๆ
ย้ำอีกครั้งประชาธิปไตยจะเกิดได้ต้องกลับไปที่โครงสร้างอำนาจ ต้องกระจายตัว คนมีการศึกษามากแล้ว อย่าดูแต่การศึกษาแบบเป็นทางการเมือง ขนาดวันนี้ไปปลุกระดมให้รักชาติ ไปรบกับเขมร เขาก็รู้ทัน แล้วอย่ามาทำแอคชั่นอย่างนี้ แล้วถ้าคุณเอาประเทศไปเสี่ยงแบบนั้น คุณโหดร้ายกับประเทศมาก กลับตัวกลับใจเสียใหม่ก่อนที่จะไม่มีที่อยู่ที่ยืนในรัฐไทย
ปิยบุตร
กองทัพไทยกับอุดมการณ์หลักของรัฐไทย ในประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตยอุดมการณ์หลักคือความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ตั้งแต่ พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ทหารผูกมัดตัวเองเข้ากับอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรืออุดมการณ์ราชาชาตินิยม หลังๆ มีเติมขึ้นมาว่า ประชาชน ด้วย
ชาติ ในความหมายของกองทัพคืออะไร ชาติคืออะไร ก็คือพระมหากษัตริย์ แล้วประชาชนคืออะไร ประชาชนคือข้าฝ่าละอองธุลีพระบาท
จากคำปฏิญาณตนของกองทัพ เป็นไปไม่ได้เลยที่กองทัพไทยจะปกป้องรักษารัฐธรรมนูญ จะปกป้องรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ข้อสังเกตอีกประการคือ พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งจอมทัพ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ เช่นกัน แต่ว่าประเทศหลายๆ กษัตริย์เป็นประมุขของประเทศในเชิงสัญลักษณ์ คำกล่าวของพลเอกเปรมที่ว่ารัฐบาลเป็นแค่จ๊อกกี้ แต่ไม่ใช่เจ้าของคอกม้า คำกล่าวแบบนี้ผิดหลักประชาธิปไตย
กษัตริย์เป็นจอมทัพส่งผล 2 อย่างคือ หนึ่งเป็นผู้ต่อต้านรัฐประหาร อาศัยความเป็นจอมทัพ สั่งให้ทหารกลับไป หรืออีกด้านที่เป็นประโยชน์ก็คือเวลารบแล้วแพ้สงคราม กษัตริย์ก็อาจจะทำตัวอิงแอบกับฝ่ายชนะ เช่น ฝ่ายเสรีไทย แต่นั่นเป็นประเทศประชาธิปไตยที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุข
ปัญหาหลักใหญ่ของเราคือ จะทำอย่างไรให้อุดมการณ์แบบประชาธิปไตยมีอิทธิพลต่อกองทัพ นี่เป็นปัญหาที่ยากและอาจจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการปลูกฝัง แต่ผมขอยกตัวอย่างในหลายๆ ประเทศ โดยธรรมชาติกองทัพอยู่ตัวคนเดียวไม่ได้หรอกครับ สังคมประชาธิปไตยที่ไหนก็ไม่ยอมให้เป็นแบบนี้ แต่ทำไมของไทยเป็นแบบนี้ได้ ก็เพราะมีอะไรค้ำยันกองทัพอยู่
ปัญหาคือ เวลาที่การเมืองมีความขัดแย้ง มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น กองทัพก็ต้องปรับตัว เช่น ที่อียิปต์ แม้จะเป็นมือเป็นไม้ให้มูบารัก แต่เมื่อคนออกมาเยอะๆ ท่าทีกองทัพก็อ่อนลงพอกลิ่นอายประชาธิปไตยเริ่มตลบอบอวล ในตุรกี ก็มีทหารรุ่นหนุ่มมาปฏิวัติให้เป็นประชาธิปไตย
แต่ปัญหาคือ กองทัพรุ่นใหม่ที่มาแทนรุ่นเก่า ก็คือคนเหล่านี้ต้องอยู่ไปก่อน เพื่อป้องกันการตอบโต้กลับของอุดมการณ์แบบเก่า แต่อยู่ไปนานๆ ก็แซะออกยาก จะทำอย่างไรให้กองทัพเหล่านี้กลับเข้าที่ ทุกวันนี้กองทัพตุรกีรักษาอุดมการณ์แบบเคมาล อาตาเติร์ก แต่ปัจจุบันเริ่มปรับตัวมากขึ้น
หรือกรณีญี่ปุ่น เปลี่ยนไปเพราะแพ้สงครามโลก เยอรมนีก็เปลี่ยนเพราะแพ้สงครามโลก อินโดนีเซียเปลี่ยนเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ
ลองมาดูของไทย ปัญหาที่เกิดขึ้น หากกองทัพเปล่าๆ เปลือยๆ ทำรัฐประหารลำพังสำเร็จได้ไหม กองทัพเปล่าๆ มาฆ่าประชาชน ทำได้ไหม ไม่มีทางทำได้หรอกครับถ้าไม่มีอะไรค้ำยันอยู่ สิ่งที่ต้องคิดคือ อะไรค้ำยันกองทัพอยู่แล้วอะไรจะเป็นจุดเปลี่ยนให้กองทัพสละทิ้งสิ่งที่ค้ำ ยันนี้
ขอจบด้วยภาษิตเยอรมนี ทหารที่ดีต้องคิดเพียงสามสิ่งเท่านั้น คือหนึ่ง กษัตริย์ พระเจ้า และสามคือไม่คิดอะไรเลย
พ.อ.อภิวันท์
ผมไม่สบายใจทุกครั้งที่ผู้นำเหล่าทัพพูดว่า พวกเราเป็นทหารของพระราชา ที่จริงต้องเป็นทหารของประชาชน กองทัพจะต้องมีหน้าที่ในการปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การที่บอกว่าทหารเป็นของพระราชา ทำให้กองทัพแบ่งแยกเป็นทหารเจ้าหรือทหารไพร่
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ผมอยากจะออกตัวปลอมๆ ว่าวันนี้พูดเรื่องกองทัพ แต่จริงๆ แล้วผมอยากจะชวนให้พูดเรื่องกษัตริย์ เพราะวันนี้พูดกันเฉียดๆ เกือบทุกคน
พวกนักวิชาการหลายคนบ่นว่าเบื่อจริงๆ เห็นหน้าผมก็รู้แล้วว่าจะพูดอะไร เมืองไทยนี่มันตลกดี เมืองไทยเจอเรื่องสถาบันกษัตริย์เกือบ 24 ชม. จริงๆ พวกเขาต่างหากต้องเป็นฝ่ายออกตัวเวลาที่ไม่พูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ฉะนั้นการที่ผมออกตัวปลอมๆ นี่ก็เป็นการแอบด่าคนอื่นมากกว่า
ประเด็นคือ ผมคิดเล่นๆ ว่าเรียงจากเห็นด้วยมากมาเห็นด้วยน้อย ท่านอภิวันท์เห็นตรงกันเยอะ ท่าน พล.ท.พีระพงษ์ผมฟังด้วยความทึ่งมาก ผมดีใจมากที่ท่านยังอยู่ในกองทัพ ในชีวิตนี้ไม่เคยคิดเลยว่า นายทหารระดับพลโทจะพูดเรื่องการผลิต และพูดเรื่อง Civilians ที่ไม่เป็น Democracy หรือไอเดียเรื่องเสรีชน
ในการวิเคราะห์เชิงโครงสร้างพวกนี้มีปัญหาอยู่ว่า มันเป็นไอเดียว่าด้วยความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าเราสามารถวิเคราะห์การเมืองแบบอิสระได้ ผมยังอยากจะคิดว่ามันมีความเป็นไปได้ว่าเราจะผลักดันทางการเมืองโดยไม่มีฐาน ด้านทุน แต่พิจารณาโครงสร้างทางการเมือง แต่คงต้องมาดีเบทกัน
ที่มีปัญหากับคุณสุภลักษณ์ ผมไม่ได้มีปัญหากับคุณสุภลักษณ์อย่างส่วนตัว คุณสุภลักษณ์เป็นตัวแบบของนักหนังสือพิมพ์ที่มีความวิพากษ์วิจารณ์
ปัญหาปัญญาชน คือเป็นแบบคุณสุภลักษณ์มันโอเค ด่าทหาร แต่ปัญหาคือการดีถึงระดับหนึ่งสำหรับสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ของไทยมัน กลายเป็นการบิดเบือน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดโดยไม่ตั้งใจ ผมอยากหยิบประเด็นที่คุณสุภลักษณ์พูดจบรอบสองที่ว่าเราพูดเรื่องทหารมา ยี่สิบกว่าปีแล้ว ประเด็นคือ เราพูดผิดประเด็น คุณสุภลักษณ์ควรจะหยุดพูดเรื่องทหารได้แล้ว เพราะบริบททางประวัติศาสตร์ไทยมันไม่ใช่อีกต่อไป และตอนท้ายคือ เปรม อำนาจเปรมไม่ใช่อำนาจทหารแต่เป็นอำนาจของสถาบันกษัตริย์ เวลาอธิบายเรื่องทหารเหมือนคุณสุภลักษณ์ แต่มันผิดประเด็นครับ อย่างคุณเปรมที่คุณทิ้งเอาไว้มันผิดแน่ๆ เลย คุณเปรมคนเดียวหมดจากตำแหน่งมาสามสิบปีเต็มๆ จาก ผบ.ทบ. คำตอบง่ายๆ คือเขามีอำนาจขนาดนี้ได้เพราะเขาเป็นองคมนตรี อำนาจของคุณเปรมจึงไม่ใช่อำนาจทางทหารเลย
หรืออย่างรัฐประหาร เรื่องการปรับเปลี่ยนเรื่องฐานะวิธีคิดของทหาร การพูดแบบนี้โอเค ถ้ามองประวัติศาสตร์โดยรวม ง่ายๆ คือรัฐประหารครั้งสุดท้ายเป็นการรัฐประหารที่เว้นช่วงยาวนานที่สุดของ ประวัติศาสตร์ไทย และก่อนหน้านั้นคือ 2534 ก็เป็นการเว้นช่วงยาวนานอันดับที่ 2 เรื่องพวกนี้ไม่บังเอิญ เพราะเราต้องทำความเข้าใจเชิงประวัติศาสตร์ เราต้องเข้าใจรูปธรรมการต่อสู้ทางสังคม เพราะว่าตั้งแต่ 14 ตุลาคมเป็นต้นมา ทหารหมดฐานะที่เป็นอิสระที่มีบทบาทขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศแล้วแต่เรามีรัฐบาล พระราชทานมากี่ชุดแล้ว คุณเปรม อานันท์ สัญญา ธานินทร์ จนอาจจะรวมถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ปัจจุบัน
14 ตุลาคม มันมีคุณูปการอย่างหนึ่งคือทำให้ฐานของทหารในฐานะตัวกระทำทางการเมืองอย่างอิสระหมดไป
ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ปิยบุตรว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ว่า สถาบันกษัตริย์กับทหารร่วมมือกันเป็น Partnership เป็นครั้งแรก แล้วความสำคัญของมันก็คือ เราอาจจะบอกได้ว่า ก่อนหน้านั้น Military เป็น Senior Partnership แต่ 14 ตุลา สถาบันกษัตริย์เป็น Senior Partnership
จะเห็นว่าครั้งสุดท้ายที่ทหารทำรัฐประหารเพื่อตัวเองจริงๆ คือ รสช. แล้วอยู่ได้แค่ปีเดียวก็เจ๊ง มันทำให้เห็นว่าทหารไม่สามารถเป็นตัวกระทำทางการเมือง
ถ้าไม่มีข้ออ้างเรื่องรักษาสถานะและอำนาจของกษัตริย์อย่างที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบันจะมีข้ออ้างอะไรที่จะเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง อย่างที่ผมบอกซ้ำแล้วซ้ำอีกคือ ทหารไม่ได้เป็นกองกำลังอิสระที่จะสามารถมามีอำนาจนำต่อสังคมได้อีกต่อไปแล้ว ทหารที่ทำจริงๆ แล้วคือทำเพื่อรักษาสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ แล้วนี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แล้วเรื่องคุณทักษิณและอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งสุดท้ายก็จะมาเป็นอำนาจที่ เข้ามาแข่งกับอำนาจของสถาบันกษัตริย์อย่างที่สังคมไทยเป็นอยู่ นี่คือประเด็นที่เป็นหัวใจ เป็นแกนกลางของปัญหาของประเทศไทย และผมย้ำคือว่า ถ้าไม่พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็ตีกันอีก ผมก็ไม่ได้อยากจะพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์หรอก หลังจากที่พูดเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ผมก็ไม่อยากเล่าว่าผมเจออะไรมาบ้าง แต่นี่คือหัวใจของปัญหาของประเทศครับ
อีกประเด็นคือเรื่องความทรมาน ผมไม่อยากให้มองเรื่องพวกนี้เป็นพวกอัตวิสัย แต่ผมคิดว่ามันสะท้อนประเด็นที่บอกว่าปรากฏการณ์ที่บอกว่าทหารทำแล้วไม่สบาย ใจ มันสะท้อนความเป็นจริงว่ากำลังทหารในฐานะที่เป็นตัวกระทำทางการเมืองที่เป็น อิสระมันหมดไปตั้งแต่ 14 ตุลา อำนาจหลักของรัฐไทยมันไม่ได้อยู่ตรงนี้แล้ว ซึ่งการบอกว่าทหารไม่อยากทำ ผมก็เชื่อในทางอัตวิสัย แต่มันสะท้อนโครงสร้างในฐานะที่เป็นกำลังหลักทางการเมืองมันไม่ใช่เหมือนใน อดีตอีกต่อไปแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา