เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

"เทปโก้" จระเข้นิวเคลียร์

โดย เกษียร เตชะพีระ

การหลั่งน้ำตาร่ำไห้สะอึกสะอื้นต่อหน้าธารกำนัลอย่างไม่อายใคร ดูจะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบรรดาบิ๊กบอสบริษัทเอกชนญี่ปุ่น เพื่อแสดงสำนึกรับผิดชอบต่อความบกพร่องผิดพลาดในหน้าที่จนก่อปัญหาใหญ่ร้ายแรงแก่สาธารณชนในทำนองที่ ฝรั่งเรียกว่า "mea culpa" หรือถ้าพูดด้วย สำนวนพงศาวดารจีนก็คือ "ผู้น้อยผิดเอง ผู้น้อยสมควรตาย"

ทว่าการหลั่งน้ำตาของผู้บริหารเทปโก้ (TEPCO-Tokyo Electric Power Company บริษัท สาธารณูปโภคด้านพลังงานใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น) ในกรณีวิกฤตสถานีไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ เมื่อ 19 มีนาคม ศกนี้ จะน่าชื่นชมและเห็นใจกว่านี้มาก ถ้ามันจะไม่บ่อยเกินไป และนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขป้องกันปัญหามิให้เกิดซ้ำซากจริงๆ ในทางปฏิบัติ แทนที่จะเอาแต่ร้องไห้และสารภาพผิดเสร็จ ก็เลิกแล้วต่อกัน ลืมหมดลืมสิ้น หันกลับไปทำงาน โหลยโท่ยเลอะเทอะ จงใจละเลยประมาทเลินเล่อ ปิดงำอำพราง โป้ปดมดเท็จ ฯลฯ เหมือนเก่า จน เกิดฉิบหายวายป่วงครั้งแล้วครั้งเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก กระทั่งชาวบ้านเขารู้เช่นเห็นชาติ คาดเดาพฤติการณ์ "วัวหายร้องไห้" ได้

พอเห็นเทปโก้ออกมาร้องไห้สารภาพผิดอีกแล้วทีไร คนญี่ปุ่นจึงพากันเสียวววววทุกที

ดังประวัติอื้อฉาวของเทปโก้ที่ได้รับการบันทึกไว้ต่อไปนี้ : -

-ค.ศ.1980-1990 เทปโก้ปลอมแปลงข้อมูลที่พบจากการตรวจสอบสถานีไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์โดยสมัครใจหลายกรณี รวมทั้งจำนวนรอยร้าวในยานบรรจุเตาปฏิกรณ์ด้วย

-ค.ศ.1991-1992 ในการทดสอบยานนิรภัยเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ที่สถานีไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุคุ ชิมา ไดอิจิ หลังเปิดใช้งานมาแล้ว 20 ปี คนงาน เทปโก้ปั๊มอากาศเข้าไปในยานนิรภัยเพื่อลดอัตราการรั่วไหลที่ปรากฏลง

-ค.ศ.1994-1997, 2000 ต้องปิดเตาปฏิกรณ์ ในสถานีฟุคุชิมา ไดอิจิ ลงเนื่องจากพบรูรั่วในแท่ง เชื้อเพลิง ในสองครั้งแรก กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมาด้วย

-ค.ศ.2002 พบรอยร้าวหลายจุดในท่อน้ำที่สถานีฟุคุชิมา ไดอิจิ

-ค.ศ.2002 วิศวกรจากบริษัท General Electric ของอเมริกาซึ่งออกแบบและผลิตเตาปฏิกรณ์ต่างๆ ณ สถานีฟุคุชิมา ไดอิจิ ของเทปโก้ได้เปิดโปงแก่ หน่วยงานกำกับควบคุมนิวเคลียร์ของทางการญี่ปุ่นว่า เทปโก้ไม่ได้ตรวจสอบเตาปฏิกรณ์ 13 เตาตามสถานีไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ต่างๆ ของตน, เทปโก้ยังได้ปลอมแปลงข้อมูลและปิดบังผลการตรวจสอบถึง 29 กรณีเหตุอื้อฉาวครั้งนี้ส่งผลให้เทปโก้ต้องหยุดเครื่อง เตาปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด 17 เตาลงชั่วคราว, ซีอีโอ ฮิโรชิ อาริกิ และผู้บริหารระดับสูงของเทปโก้อีก 4 คน ต้องลาออก เพื่อแสดงความรับผิด ฝ่ายบริหารเทปโก้ได้แถลงวิจารณ์บริษัทตนเองพร้อมสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า ได้เรียนรู้บทเรียนสูงค่ามากมาย จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขวัฒนธรรมการทำงานของบริษัท แบ่งปันข้อมูลกับสาธารณชนตลอดไป

-ค.ศ.2006 ไอน้ำกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากท่อที่สถานีฟุคุชิมา ไดอิจิ ; ผลการตรวจสอบสถานีฟุคุ ชิมา ไดอิจิ ตามอาณัติในปีเดียวกัน พบว่ามีการปลอมแปลงข้อมูลอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นในปี ค.ศ.1985 และ 1988

-ค.ศ.2007 ตรวจพบการปลอมแปลงข้อมูลเตาปฏิกรณ์ โดยเทปโก้เพิ่มเติมอีก; เหตุแผ่นดินไหวในปีเดียวกันนี้ ทำให้สถานีไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์คาชิวาซากิ-คาริวาเสียหายอย่างหนัก กล่าวคือ ท่อน้ำแตก ไฟลุกไหม้และน้ำกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากบ่อน้ำหล่อเย็นเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว ส่งผลให้คนเสียชีวิต 8 คน เทปโก้ต้องดำเนินการกำจัดกัมมันตภาพ รังสีที่ปนเปื้อน ตัวอาคาร และปิดปรับปรุงระบบความปลอดภัยของสถานีไฟฟ้าแห่งนี้หนึ่งปี ต่อมาตรวจพบว่า เทปโก้ละเลยการตรวจสอบสถานีคาชิวาซากิ-คาริวาแห่งนี้ไปถึง 117 ครั้ง

-มีนาคม 2009 ไฟลุกไหม้สถานีไฟฟ้าคาชิวาซากิ-คาริวาอีก พนักงานตาย 1 คน

-28 กุมภาพันธ์ 2011 สืบเนื่องจากหน่วยงาน กำกับควบคุมนิวเคลียร์ของทางการสั่งให้เทปโก้ตรวจดูว่า การตรวจสอบสถานีไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ที่ผ่านมานั้นดำเนินการอย่างถี่ถ้วน เท่าที่ควรหรือไม่? ปรากฏว่า เทปโก้ส่งรายงานยอมรับว่า ตนไม่ได้ตรวจสอบอุปกรณ์ 33 ชิ้น ในเตาปฏิกรณ์ 6 เตาของสถานี, แผงไฟฟ้าที่จ่ายไฟให้ลิ้นควบคุมอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ไม่ได้ถูกตรวจสอบมานานถึง 11 ปีแล้ว, ผู้ตรวจสอบได้ปลอมแปลงบันทึกการตรวจ เสแสร้งว่าตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ทั้งที่เอาเข้าจริง ตรวจแค่ขอไปที, การตรวจสอบโดยสมัครใจได้ละเลยอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบหล่อเย็นรวมทั้งมอเตอร์ปั๊มน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล

-2 มีนาคม 2011 หลังเทปโก้รายงานยอมรับผิด หน่วยงานกำกับควบคุมนิวเคลียร์ของทางการญี่ปุ่นสรุปว่า "แผนการตรวจสอบระยะยาวและการจัดการงานซ่อมบำรุงไม่ดีพอ.....คุณภาพ การตรวจสอบไม่พอเพียง" พร้อมสั่งให้เทปโก้ร่างแผนงานปรับปรุงแก้ไขขึ้นมาภายในวันที่ 2 มิถุนายนศกนี้

-ทว่ายังไม่ทันถึงกำหนดตามสั่ง วันที่ 11 มีนาคม 2011 เวลา 14.46 น. ก็เกิดแผ่นดินไหวใหญ่และ สึนามิยักษ์ตามมาเสียก่อน จนสถานีฟุคุชิมา ไดอิจิ พังเสียหาย กลายสภาพเป็นเตานรกกัมมันตภาพรังสีของญี่ปุ่นในปัจจุบัน

-ไม่กี่วันหลังแผ่นดินไหว วิศวกรที่ช่วยสร้างสถานีฟุคุชิมา ไดอิจิ 2 คน ก็ออกมาแถลงข่าวยืนยันว่า มีความผิดพลาดร้ายแรงบางประการ ในการก่อสร้างสถานี, ระบบสำรองฉุกเฉินหลายระบบมิได้ถูกสร้างเอาไว้

จะเห็นได้ว่า เทปโก้มีประวัติการบริหาร และดำเนินงานเละเทะ ตรวจสอบซี้ซั้ว ปล่อยให้เกิดอุบัติเหตุจนมีคนตาย เคยถูกก่นด่าวิจารณ์อย่างฉาวโฉ่มาแล้วหลายต่อหลายครั้งในอดีต ฯลฯ มาเที่ยวนี้ ก็น่าจะได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ตัวใหม่ดังที่ตกปากรับคำไว้ แต่แล้วเทปโก้ก็กลับทำเหมือนเก่า กล่าวคือรายงานสถานการณ์สถานีฟุคุชิมา ไดอิจิ ให้รัฐบาลรู้เฉพาะเรื่องที่ตัวเองปิดเอาไว้ไม่อยู่แล้วเท่านั้น จนกระทั่งโครงสร้างอาคารที่ห่อหุ้มเตาปฏิกรณ์เกิดระเบิดตูมขึ้นมาสดๆ บนจอทีวี เมื่อวันที่ 12 มีนาคมศกนี้ นั่นแหละ โลกจึงได้เห็นกับตาว่า สถานการณ์มันร้ายแรงขั้นไหน

ห้าวันหลังแผ่นดินไหวใหญ่และสึนามิยักษ์ นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง อดรนทนไม่ไหวอีกต่อไป จึง บุกสำนักงานใหญ่เทปโก้เข้าไปไล่เบี้ยผู้บริหารและตะโกนถามใส่หน้าบรรดาวิศวกรที่พากันตื่นตะลึงว่า "มันกำลังเกิดอะไรขึ้นที่นี่กันแน่?" นายกฯคังยังกล่าวหาเจ้าหน้าที่บริษัทว่า ถือสวัสดิภาพของบริษัทสำคัญเหนือสวัสดิภาพของประชาชน "ประเด็นมันไม่ใช่ ว่าเทปโก้จะเจ๊งหรือไม่ แต่เป็นว่าประเทศญี่ปุ่น เราจะเขวผิดทางไปหรือเปล่าต่างหาก" ก่อนที่นายกฯ คังจะตัดสินใจเข้ามาเป็นหัวหน้านำทีมแก้วิกฤต ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐบาลและเทปโก้ด้วยตัวเอง

สอดรับกับคำอธิบายของอากิระ โอโมโตะ อดีตผู้บริหารเทปโก้และสมาชิกคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูของญี่ปุ่นว่า การที่วิศวกรเทปโก้ลังเลอยู่ ครึ่งค่อนวัน กว่าจะยอมปั๊มน้ำทะเลผสมกรดบอริกเข้าไปดับความร้อนป้องกันแท่งเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ที่เสียหายไม่ให้มันหลอมละลาย เมื่อวันที่ 12 มีนาคมศกนี้ นั้น ก็เพราะพวกเขาพยายามปกป้องสินทรัพย์ของบริษัทจากน้ำเค็ม ซึ่งอาจกัดกร่อนทำลายเตาปฏิกรณ์อย่างถาวร ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลอีกคนสรุปว่า

"ภัยพิบัติครั้งนี้เป็นฝีมือคนทำเสีย 60% พวกเขาล้มเหลวในการตอบโต้รับมือมันแต่เนิ่นๆ มันคล้ายกับว่าเทปโก้พยายามเก็บเหรียญ 10 เยน ขึ้นมาแล้วดันทำเหรียญ 100 เยน หล่นหายไป"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา