คำถามทางการเมืองในปัจจุบันทยอยมีคำตอบออกมา
คำถามที่ว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ มีคำยืนยันว่า ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม โดยสุ้มเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์บอกว่า 6 พฤษภาคม เท่ากับว่าพฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาแน่ ต่อมามีคำถามว่า จะมีการเลือกตั้งจริงหรือ
คำตอบมีว่า การเลือกตั้งมีแน่ เพราะผู้คนในสังคมต้องการให้มีการเลือกตั้ง แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าเลือกตั้งไปก็อาจจะมีเรื่อง แต่ก็ยืนยันว่าอยากจะมีเลือกตั้ง แม้สัปดาห์ที่ผ่านมา ทหารจะแสดงปฏิกิริยาแสดงความจงรักภักดี ประกาศปกป้องสถาบัน จนเกิดความหวาดเสียวเรื่องปฏิวัติ แต่คนไทยก็ยังยืนยันว่า ปกป้องสถาบันกับการเลือกตั้ง เป็นคนละเรื่องกัน ปกป้องสถาบันก็ปกป้อง เลือกตั้งก็เลือก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ออกมาย้ำว่า มีการเลือกตั้งแน่ นี่แสดงว่า การเลือกตั้งมีแน่ ต้องมีการเลือกตั้ง เพราะสังคมไทยต้องการ และแล้วก็มีคำถามตามมาอีก หลังเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่
คำตอบปัญหาข้อนี้จำแนกแยกแยะออกเป็นบทวิเคราะห์มากมาย มีทั้งคำตอบว่าจัดตั้งได้ มีทั้งคำตอบว่าจัดตั้งไม่ได้
คำตอบที่อยู่ในกลุ่มจัดตั้งได้ ก็แบ่งเป็นทั้งจัดตั้งโดยธรรมชาติ คือ จัดตั้งโดยพรรคที่ได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งได้โดยถูกกดดัน จัดตั้งโดยสมมติฐานว่า พรรคการเมืองนั้นรวมกับพรรคการเมืองนี้แล้วสถานการณ์ต่างๆ จะเป็นอย่างไร
ส่วนที่บอกว่าจัดตั้งไม่ได้ก็บอกว่าสถานการณ์จะเลวร้าย เพราะเหตุไม่ยอมรับการเลือกตั้ง จนจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้
คำถามเหล่านี้มีคำตอบ ....เพียงแต่เป็นคำตอบเชิงคาดการณ์ ต้องรอดูว่าคำตอบไหนเป็นคำตอบที่ถูกต้อง
แต่สังเกตไหมว่า คำถามและคำตอบดังกล่าว เป็นคำถามและคำตอบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองที่มีความขัดแย้งกัน
ยุบสภาไหม เลือกตั้งไหม ตั้งรัฐบาลได้ไหม เหล่านี้เป็นคำถามในชั้นเชิงการเมืองระหว่างกลุ่มที่คุมอำนาจอยู่กับกลุ่มที่พยายามแย่งอำนาจไป
คำถามที่ใหญ่กว่าและสำคัญกว่า เป็นคำถามว่า แล้วประเทศไทยจะอยู่ต่อไปกันอย่างไรหลังจากศึกแย่งชิงอำนาจผ่านพ้นไปแล้วนั้น กลับยังไม่มีคำตอบ
คำถามที่ว่า หลังจากเลือกตั้งและมีรัฐบาลขึ้นมาทำหน้าที่บริหารประเทศแล้ว ปัญหาต่างๆ ของประเทศไทยมีแนวทางแก้ไขกันอย่างไร?
คำถามที่ว่า หลังการเลือกตั้งหากมีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น คณะรัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาของประเทศไทยได้อย่างไร?
อย่าลืมนะครับว่า ปัญหาของประเทศไทยมีมากมาย และดูเหมือนว่านับวันปัญหาต่างๆ จะหมักหมมมายาวนาน
ปัญหาการเมืองเป็นปัญหาที่เรามักคุ้นกันดี และกลายเป็นที่มาของคำถามเฉพาะกลุ่มขัดแย้ง 2 กลุ่ม จนไม่มีเวลาหาคำตอบให้กับปัญหาอื่นๆ ของคนไทย
ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา จะแก้ไขกันอย่างไร เพราะขณะที่รัฐบาลพยายามบอกว่า คลี่คลายไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง การปะทะกันตามแนวชายแดนยังมีอยู่
ปัญหาปราสาทพระวิหารที่คาราคาซังอยู่ในคณะกรรมการมรดกโลก จะดำเนินการกันเช่นไร กลางปีนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ปัญหานี้จะนำความรุนแรงให้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด
ปัญหาเศรษฐกิจจะลงเอยอย่างไร ประชาชนยังจะต้องตกอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพงต่อๆ ไปอีกนานแค่ไหน ราคาน้ำมันและราคาเชื้อเพลิงที่มีปัญหา และรัฐบาลผลักดันให้เข้าแทรกแซงกลไกการตลาดอยู่ในขณะนี้ เมื่อถึงรัฐบาลหน้าจะทำอย่างไร
เช่นเดียวกับปัญหาสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาการศึกษา ที่เหมือนจะถูกดองไม่มีการแก้ไขมาตั้งแต่ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งกัน จนล่าสุดปรากฏข่าวความเสื่อมทรุดทางจริยธรรม ที่จำเป็นต้องเร่งเยียวยา
ปัญหาแบบนี้ยังไม่มีคำตอบ ทั้งๆ ที่คำตอบเหล่านี้คือการวางอนาคตของประเทศ
มีแต่คำตอบของกลุ่มการเมือง ไม่มีคำตอบของประเทศแต่อย่างใด
โดย นฤตย์ เสกธีระ max@matichon.co.th
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 25 เมษายน 2552)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา