จากการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517*
รัฐธรรมนูญของประชาชนกับความเป็นประชาธิปไตยในการร่างรัฐธรรมนูญและ
รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย
ตามแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม (constitutionalism) เชื่อว่าการมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์ อักษร จะเป็นหลักการสำคัญและเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม ได้พัฒนามาเป็นลำดับและมีการสร้างสถาบันการเมืองที่เป็นอิสระ หรือกึ่งอิสระตามกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญในอันที่จะเป็นกลไกกำกับ, ตรวจสอบการทำงานตลอดจนแบบแผนการ ใช้อำนาจของนักการเมืองและผู้บริหารระดับสูง แต่ถึงแม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ ไม่ใช่หลักประกันต่อสิ่งที่เรียกว่าความเป็นประชาธิปไตย หากยังจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบตัวบทของรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่าความเป็นประชาธิปไตย (อมร จันทรสมบูรณ์, มปป. และโกสินทร์ วงศ์สุรวัฒน์, 2516)
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นประชาธิปไตยย่อมมีเส้นทางที่แตกต่างไป ตามแต่สภาวะของสังคมที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางสังคมแตกต่างกันออกไป ดังจะเห็นได้ว่ามีการเปรียบเปรยว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นพืชพันธุ์ แปลกปลอมของต่างวัฒนธรรมย่อมไม่อาจงอกงามได้ในสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้ ต้องกลับไปอ้างอิงถึงลักษณะดั้งเดิมของสังคมไทยที่มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว กล่าวคือ ความเชื่อที่ว่าสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยมาช้านานตามเนื้อความทางประวัติศาสตร์ ขณะที่ ชุดของความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยมีสถานะเป็นเพียงประดิษฐกรรมของรัฐสมัยใหม่ที่อาจปรับ เปลี่ยนดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัยและความเหมาะสมภายใต้เงื่อนไขของสัมพันธภาพทางอำนาจ
เราอาจสืบค้นการปะทะปรับเปลี่ยนชุดความคิดเรื่องประชาธิปไตยในสังคมไทยในกรอบ สังคมสมัยใหม่ได้ถึงคำกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ ร.ศ 103 โดยคณะเจ้านายและขุนนางชั้นสูงที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานระบอบ “คอนสติติวชั่นแนล โมนากี” (constitutional monarchy) ที่มีรูปแบบการสืบสันตติวงศ์หรือพระราชประเพณีที่เป็น เครื่องประกันการสืบทอดราชสมบัติอย่างมั่นคง หรือกรณีกบฏ ร.ศ. 130 ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยต่างไปจากการเปลี่ยนแปลงพระราชอำนาจเชิงประเพณีแต่คอนสติตูชั่นหรือ รัฐธรรมนูญในความหมายของชนชั้นนำกับสามัญปัญญาชนมีความแตกต่างในเนื้อหาสาระกันอยู่ไม่ น้อยดังจะเห็นได้จากการเรียกร้องให้มี“คอนสติตูชั่น” (constitution/ธรรมนูญ/รัฐธรรมนูญ)ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ในขณะที่ชนชั้นนำสยามพยายามอธิบายว่าสยามมีธรรมนูญหรือรัฐธรรมนูญ แบบจารีตประเพณีที่จำกัดพระราชอำนาจของระบอบราชาธิปไตยอยู่แล้ว จนกระทั่งมี การปฏิวัติสยามเมื่อพ.ศ. 2475เพื่อขอพระราชทานธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้อถกเถียง ดังกล่าวจึงเป็นที่ยุติลงในระดับหนึ่ง (ดูรายละเอียดใน เสน่ห์ จามริก, 2529: 48-206 และบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ, 2541: 35-69)
นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2515 ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญ มาแล้ว 9 ฉบับ แต่ก็มีห้วงเวลาที่ขาดรัฐธรรมนูญถาวรอยู่หลายครั้ง ทั้งๆ ที่ในระยะแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีความพยายามสถาปนารัฐธรรมนูญให้เป็นทั้งสัญลักษณ์ของลัทธิ ธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความพยายามสร้างบริบททางการเมืองที่ต่างไปจาก ระบอบราชาธิปไตย (มานิตย์ นวลละออ, 2541: 43-55) แต่โดยเนื้อหาสาระทางการเมืองยังคง เป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ และมีอาณาบริเวณที่จำกัดอยู่ในแวดวงข้าราชการและ นักการเมือง ความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญจึงไม่มีความสถาวรและไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นเครื่อง ยืนยันประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักการเสรีประชาธิปไตยอย่างที่เป็นหลักการสากล
ระบอบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่สืบเนื่องมาถึงจอมพลถนอม กิตติขจรและคณะ ปกครองประเทศภายใต้กรอบของธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีสถานะเป็น “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” เป็นเวลาถึง 9 ปี 5 เดือน จึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2511 แต่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในระยะเวลาเพียง 3 ปี 4 เดือน 28 วัน (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2521, น.1) จอมพลถนอม กิตติขจรและคณะก็กระทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองอีกครั้ง โดยประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 และแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ เพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้พลเอกประภาส จารุเสถียร (ยศขณะนั้น) เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญอย่างล่าช้า ดังการประชุมครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2516 ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญถึงเพียงหลักการของรัฐธรรมนูญหมวดที่ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ในส่วนของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยการพูด การเขียน การพิมพ์และการโฆษณา (รัฐสภาสาร, 21:10, 2516) และประมาณระยะเวลาที่จะ ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จภายใน 3 ปี (สมชาติ รอบกิจ, 2523, น.7 และรายงานการประชุมคณะ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 4/2516 ใน รัฐสภาสาร, 21:5, เมษายน 2516 )
ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนนำโดยกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา ได้ก่อตั้งกลุ่ม เรียกร้องรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรโดยเร็ว เหตุการณ์ได้ลุกลามไปจนเป็นกรณี 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยค หรือวันมหาประชาปิติ มีผลให้รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจรต้องลาออกและจอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียรและพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งถูกขนานนามว่าสามทรราชย์พร้อมด้วยครอบครัว ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อคลี่คลาย สถานการณ์และเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกาศใช้ภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบธรรมนูญการ ปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 แต่ขณะเดียวกันก็มีความพยายามแก้ไขให้กระบวน การร่างรัฐธรรมนูญมีความเป็น“ประชาธิปไตย”มากขึ้น ดังเช่นการตั้งสมัชชาแห่งชาติเพื่อเลือกสมาชิก สภานิติบัญญัติชุดใหม่ และการเสนอให้ มีการลงประชามติว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการร่างรัฐธรรม นูญฉบับใหม่ ภายใต้กติกาของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2515 นั้นก็เพื่อลดความ ระส่ำระสายของระบบราชการ หรืออีกนัยหนึ่งระบอบอำมาตยาธิปไตย และรักษาความต่อเนื่อง ตลอดจนจำกัดขอบเขตของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 14 ตุลาคมมิให้เกินความควบคุม (เสน่ห์ จามริก, 2529: น.373)
ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของกลุ่มต่างๆ เพื่อผลักดันให้รัฐ-ธรรมนูญมีเนื้อหาสาระเป็นไปตามความต้องการของตน นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มย่อยๆ เช่น กลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ และนักการเมืองในสายเสรีนิยมและสังคมนิยม อันนำไปสู่ความพยายามแก้ไข รัฐธรรมนูญในหลายๆ ประเด็น
สภาพการเมืองแบบเปิดภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทำให้นักศึกษาและ ประชาชนเกิดความตื่นตัวทางการเมือง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างพลัง อนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า จนในที่สุดนำไปสู่การรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยังผลให้รัฐธรรมนูญที่กล่าวกันว่ามีความเป็นประชาธิปไตยฉบับหนึ่งต้องยกเลิกไป (กระมล ทองธรรมชาติ, 2524: น. 49-50) ดังนั้นการพิจารณาที่มาของวิวาทะและสถานะของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 จึงไม่อาจแยกระหว่างบริบททางสังคมที่อยู่รายรอบ และสร้างข้อเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญกับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเคลื่อนไหวทั้งสนับสนุนและขัดแย้งทางสังคมที่ปรากฏออกมาในระหว่างนั้น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญซึ่งในอดีตที่ผ่านมาความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับการแข่งขันทางอำนาจระหว่างข้าราชการประจำกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะระหว่างคณะทหารกับพรรคการเมือง (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2536: น.68) ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจ “อายุการใช้งาน” ของรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยในบริบทของสังคม และวัฒนธรรมไทยมากขึ้นอีกโสตหนึ่ง
คำถามสำคัญอีกประการหนึ่งคือความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตมักจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เหตุใดจึงมีการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับถาวรจนนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516?
ก่อนที่จอมพลถนอม กิตติขจรจะปฏิวัติตัวเองในเดือนพฤศจิกายน 2514 กรอบกติกาทางการเมืองถูกจำกัดอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ซึ่งใช้เวลาร่างถึง 9 ปี 5 เดือน (นับตั้งแต่การใช้ธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 ดู เชาวนะ ไตรมาศ, 2540: น. 13) การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้คณะปฏิวัติต้องขยายฐานอำนาจเข้าสู่ รัฐสภาผ่านวุฒิสมาชิกและสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะปฏิวัติควบคุมฝ่ายบริหารผ่านระบอบรัฐสภา โดยผ่านพรรคสหประชาไทยที่เป็นพรรคเสียงข้างมาก
ถ้าหากพิจารณาโดยเงื่อนไขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถกำกับ หรือควบคุมฝ่ายบริหารได้เลย เสถียรภาพของรัฐบาลจึงค่อนข้างมั่นคง อย่างไรก็ดีมีการรวมตัวเป็น กลุ่มภายในพรรคสหประชาไทยเพื่อช่วงชิงและแข่งขันการสั่งสมอำนาจทำให้ระบอบถนอมประภาส ไม่สามารถบริหารได้โดยสะดวกราบรื่น เนื่องจากการใช้ระบอบรัฐสภาเป็นเพียงการสร้าง ฐานอำนาจนอกระบบราชการเท่านั้น ประกอบกับปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาจากภัย คอมมิวนิสต์กลายเป็นปัจจัยและเหตุผลที่ทำให้กลุ่มถนอมประภาสตัดสินใจปฏิวัติยึดอำนาจตัวเองเพื่อให้อำนาจและผลประโยชน์ในกลุ่มของตัวเอง (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 365-366) ประกอบกับข่าวลือว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธที่จะพระราชทานนิรโทษกรรมแก่จอมพลถนอมและคณะที่ได้ก่อการปฏิวัติเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ซึ่งข่าวลือนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์เมื่อ พ.ศ. 2501 กับการปฏิวัติครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง (ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, 2526: น. 196)
คณะปฏิวัติของจอมพลถนอมและจอมพลประภาสยังถูกท้าทายความชอบธรรมในการก่อรัฐประหารอย่างตรงไปตรงมาโดยอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 คน ได้แก่ นายอุทัย พิมพ์ใจชน, นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ,และนายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะ ปฏิวัติในข้อหากบฎ แม้ว่าในที่สุดการตีความและพิจารณาของศาลทำให้ทั้งสามตกเป็นจำเลย และถูกจำคุกในที่สุด แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่ได้ จำกัดขอบเขตความขัดแย้งอยู่ในแวดวงราชการอีกต่อไป (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 365-366)
ความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความคับแคบของฐานการเมืองที่ คงอยู่บนระบบราชการและชนชั้นนำยังสะท้อนถึงการประเมินพลังทางเศรษฐกิจและสังคมของ คนชั้นกลางที่เพิ่งเติบโตไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงกล่าวคือการละเลยพลังทางเศรษฐกิจสังคมใหม่ที่ เติบโตตั้งแต่ต้นพุทธทศวรรษ2500 เริ่มไม่พอใจต่อสภาพทางสังคมภายใต้ระบอบการเมืองอภิสิทธิชนซึ่งผลต่อระบอบถนอมประภาส โดยตรง (เสน่ห์ จามริก, 2541: น. 17-20) กระบวนการทางเมืองระหว่างทศวรรษ 2510-2520 จึงเป็นการจัดสรรสัมพันธภาพทางอำนาจของสังคมไทยเสียใหม่ (เสน่ห์ จามริก, 2529: น. 349)
เมื่อหลักการสิทธิเสรีภาพที่เคยตราไว้ในรัฐธรรมนูญกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าขบวนการ 14 ตุลาฯ แสดงให้เห็นความต้องการ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมของรัฐธรรมนูญ ดังปรากฏในจดหมายของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์ที่ เขียนในนามนายเข้ม เย็นยิ่งถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง เพื่อให้มีกติกาหมู่บ้านโดยเร็ว อนุสนธิ์จาก จดหมายนายป๋วยส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกนึกคิดของปัญญาชนเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นนายป๋วย ยังได้เขียนบันทึกประชาธรรมไทยโดยสันติวิธีเพื่อเรียกร้องให้ใช้สันติวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ (ป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2528: น. 68-69) ส่วนนายป๋วยก็ถูกตอบโต้จากผู้มีอำนาจขณะนั้นจนเกือบ ถูกลงโทษทางวินัย
คณะปฏิวัติยังมีความขัดแย้งกับสถาบันตุลาการในกรณีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ซึ่งถูกมองจากสถาบันตุลาการว่ามีนัยของการแทรกแซงสถาบันตุลาการและเปิดช่องให้ฝ่ายบริหาร เข้ามากำกับคณะกรรมการตุลาการ ฝ่ายตุลาการตอบโต้อย่างรุนแรงจนคณะปฏิวัติต้องออกประกาศ ย้อนหลังเพื่อยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าวภายหลังจากประกาศใช้เพียงวันเดียว ไม่เพียงแต่สะท้อน ความเสื่อมถอยของอำนาจคณะปฏิวัติแต่ยังแสดงความรู้สึกของประชาชนที่เข้าร่วมประท้วงแผน การรวมอำนาจตุลาการอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2515 โดยเฉพาะบทบาทของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่ก่อตัวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 และมีบทบาทแข็งขันในยุคของนายธีรยุทธ บุญมีจากการกระตุ้นรณรงค์ให้รักชาติ, การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น, และกรณีการต่อต้านการล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคลื่อนไหวคัดค้านการลบชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นการปูพื้นฐานการรวมตัวและตั้งรับการชุมนุมในครั้งต่อๆมาจนนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ
ในนิทรรศการวันรพีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2516 เพื่อรำลึกถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวง ราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์) พระบิดาแห่งกฎหมายไทย นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ได้ ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับตัวอย่างขึ้น เผยแพร่และได้รับการตอบสนองอย่างดี จนถึงกับมีบางท่านกล่าวว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ควรยึดเอาแบบอย่างการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนักศึกษาเพื่อเป็น “ตัวอย่างแห่งความรวดเร็ว” และถ้าพิจารณาแล้วจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนักศึกษาเลยก็ได้แต่ต้องแก้ไขในบางประเด็น (นเรศ นโรปกรณ์, 2516: น. 146-157)
ในส่วนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษา (ศนท.) ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างจริงจังเพื่อ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ศนท. เพื่อชี้ให้เห็นว่าหากรัฐบาลทำการร่างรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องก็สามารถ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ภายในหกเดือน (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย, 2516; ชาญวิทย์ เกษตรศิริและธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2541)
ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีนัยสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองไทย ดัง นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2538) ตั้งข้อสังเกตว่าความเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตยเมื่อ เดือนตุลาคม 2516 มีพลังผลักดันจากอุดมการณ์ชาตินิยม และสามารถกระตุ้นเร้าพลังของ คนชั้นกลางที่เติบโตจากกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะเกือบสองทศวรรษให้ก้าวเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ คนกลุ่มนี้เองที่เห็นว่าระบบทุนนิยมโลก มีการเอารัดเอาเปรียบผ่านนายทุนขุนศึกเพื่อเอารัดเอาเปรียบคนในชาติ ในแง่นี้จะต้องต่อสู้โดยการใช้ประชาธิปไตยคือ “…ให้โอกาสแก่คนทุกหมู่เหล่าซึ่งมีความหลากหลาย ในด้านผลประโยชน์อื่นๆ อยู่มากได้เข้ามาจัดการปกครองตนเอง ไม่ต้องตกเป็นทาสของ เผด็จการทหารตลอดไป…” (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2538 (ค): น. 180)
แม้การบ่งชี้ว่าชนชั้นกระฎุมพีใหม่มีบทบาทสำคัญและเป็นประกันให้กับความสำเร็จในการ เรียกร้องรัฐธรรมนูญ (เบ็น แอนเดอร์สัน, 2541: น. 115) แต่ก็อาจทำให้มองข้ามความหลาก หลายของขบวนการ 14 ตุลาฯ ซึ่งเสน่ห์เห็นว่ามีลักษณะเป็นการปฏิวัติ (เสน่ห์ จามริก, 2530: น. 149-184) และภายหลังจากการมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างโดนสภานิติบัญญัติที่มาจากประชาชน ก็น่าจะนำพาความมั่นคงและมีเสถียรภาพทั้งเศรษฐกิจและการเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ชนชั้นกลางก็เปลี่ยนใจรับ ความชอบธรรมของคณะทหารในอีกสามปีต่อมา แอนเดอร์สันกล่าวว่า คนชั้นกลางสนับสนุน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยความเงียบ ยิ่งตอกย้ำอาการลงแดงของ ชนชั้นกระฎุมพีใหม่ที่เห็นว่า ความพลิกผันปั่นป่วนทางอุดมการณ์คุกคามความมั่นคงในชีวิต แบบกระฎุมพี (เบ็น แอนเดอร์สัน, 2541: น. 124-137)
จะเห็นว่าการมีรัฐธรรมนูญไม่ใช่หลักประกันของความเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญในความหมายอย่างกว้างๆ เป็นเรื่องของกติกา การกำหนดข้อตกลงเพื่อ กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองหรือรัฐกับประชาชน รัฐธรรมนูญจึงมีนัยเป็นเครื่องกำหนด สิทธิและหน้าที่ ระหว่างคนสองกลุ่ม (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2536: น. 38-41) นอกจากนี้ยังมี ข้อกังขาเกี่ยวกับสถานะความเป็นกฎหมายสูงสุดและความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งมักจะถูกล้มล้างเสมอ เพราะโดยจารีตของรัฐธรรมนูญในวัฒนธรรมไทยแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญอาจ ถูกยกเลิกและเขียนใหม่ได้โดยไม่ขัดเขิน เพราะรัฐธรรมนูญมักจะถูกอ้างอิงกับความเหมาะสม ของยุคสมัย
วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา