เมื่อผู้เล่นอีกฝ่ายถูกกันออกจากสนาม
แอนดรูว์ วอล์คเกอร์ นักวิชาการด้านมานุษยวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้ให้ความสนใจกับประเด็นการเมืองไทยร่วมสมัย ได้เขียนบทความขนาดสั้นเผยแพร่ในเว็บล็อก "นิว มันดาลา" (นวมณฑล) โดยตั้งคำถามว่า ถ้าประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้ การเลือกตั้งดังกล่าวจะดำเนินไปอย่างยุติธรรมหรือไม่?วอล์คเกอร์วิเคราะห์ว่า ด้านหนึ่ง การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นอาจมี "ความบริสุทธิ์ยุติธรรม" ในแง่ของกระบวนการเลือกตั้งขั้นพื้นฐาน โดยเขาไม่ค่อยเห็นพ้องต้องกันกับความคิดของพรรคฝ่ายค้านอย่าง พรรคเพื่อไทย หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่ระบุว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์จะโกงการเลือกตั้งและกระทำการใดๆ ซึ่งจะช่วยส่งผลให้ตนเองได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกสมัย เพราะนี่คือข้อกล่าวหาที่เคยใช้เล่นงาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพันธมิตรมาก่อน และเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า ข้อกล่าวหาเช่นนั้นก็จะถูกนำกลับมาใช้เล่นงานนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เช่นกัน
นักวิชาการชาวออสเตรเลียผู้นี้เห็นว่า การกล่าวอ้างถึงการโกงการเลือกตั้งนั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันทางการเมืองในสังคมไทย ทว่าถึงที่สุดแล้ว ประเพณีทางการเมืองอันอันตรายเช่นนี้ ก็จะกร่อนเซาะทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีต่อกระบวนการเลือกตั้งไปในตัวด้วย
ทั้งนี้ วอล์คเกอร์ยังไม่เคยเห็นหลัก ฐานชัดเจนใดๆ ที่จะระบุว่าผลการเลือกตั้งครั้งหลังๆ ในประเทศไทยมิได้สะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนงแท้จริงของประชาชนผู้มีสิทธิลง คะแนนเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น การเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2554 ก็คงไม่มีอะไรแตกต่างไปจากการเลือกตั้ง 2-3 ครั้งก่อนหน้านั้น และมันจะเป็นการเลือกตั้งที่ "ยุติธรรม" หากพิจารณาจากกระบวนการจัดการเลือกตั้งในภาพรวมทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ถ้าอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ประเด็นว่าด้วย "ความยุติธรรม" ก็จะยิ่งขยายใหญ่ออกไปจนยากเกินเยียวยา พร้อมด้วยคำถามที่ว่า
การเลือกตั้งดังกล่าวยังมี "ความเป็นธรรม" อยู่หรือไม่ เมื่อมีคนเชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า ผู้มีอำนาจมีแนวโน้มจะยอมรับผลการเลือกตั้งเพียงรูปแบบเดียว?
การเลือกตั้งดังกล่าวยังมี "ความเป็นธรรม" อยู่หรือไม่ เมื่อพรรคฝ่ายค้านหลักถูกตัดสินยุบพรรคโดยกระบวนการยุติธรรม และไม่ใช่เพียงครั้งเดียวแต่เรื่องที่ว่าเกิดขึ้นมาแล้วถึงสองครั้ง?
การเลือกตั้งดังกล่าวยังมี "ความเป็นธรรม" อยู่หรือไม่ เมื่อนักการเมืองคนสำคัญๆ ของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ล้วนถูกห้ามทำงานการเมืองอย่างเป็นทางการ?
และ การเลือกตั้งดังกล่าวยังมี "ความเป็นธรรม" อยู่หรือไม่ ถ้าผู้นำที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของสังคมไทย (ซึ่งหลุดออกจากตำแหน่งด้วยการทำรัฐประหารอย่างผิดกฎหมาย) ไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันในสนามดังกล่าวได้?
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียสรุปว่า จากคำถามทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า ชะตากรรมทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นสิ่งที่ยุ่งยากมากที่สุดสำหรับอนาคตทางการเมืองไทย เพราะ ตราบใดที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่สมัครใจหรือไม่สามารถจะเผชิญหน้ากับทักษิณใน สนามเลือกตั้ง พวกเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาว่าตนเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือก ตั้งที่ "ไม่เป็นธรรม" ต่อไป
หลายคนอาจคิดว่าสัญญาณเตือนถึงความ ชอบธรรมของรัฐบาลในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นราคาที่ต้องจ่ายอันสมเหตุสมผล เพื่อจะปลดปล่อยประเทศไทยออกจากทักษิณ แต่ราคาที่ถูกใช้จ่ายออกไป ก็คือ "ความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง" ซึ่งอาจส่งผลให้การแก้ไขปัญหาระยะสั้นบางประการประสบผลสำเร็จ ทว่าในระยะยาวแล้ว มันจะนำไปสู่ความสูญเสียราคาแพงสูงลิบลิ่วอย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา