สภากรรมกรแห่งชาติ เปิดเวที นำเสนอแนวคิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 1 พฤษภาคม อันเป็นวันแรงงานแห่งชาติและวันกรรมกรสากล ดร.พงษ์อัมพร บรรดาศักดิ์ สภากรรมกรแห่งชาติ จะเปิดเวที นำเสนอแนวคิด เรื่อง จะปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย ให้สำเร็จได้อย่างไร ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ปัจจุบัน ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ดำรงตำแหน่ง อธิการบดี นิด้า
แนวคิด เรื่อง จะปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศไทย มีสาระสำคัญบางตอน ดังนี้
เนื่องด้วย บ้านเมืองอันเป็นที่รักของเรา ซึ่งมีความร่มเย็นเป็นสุขมานานเกือบ 800 ปี แต่บัดนี้ได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง นอกจากจะหาทางออกไม่ได้แล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน ยังส่งผลให้เพื่อนกรรมกรทั้งหลาย และพี่น้องประชาชนอันเป็นที่รัก เกิดความสับสนในปัญหา 2 ประการ คือ
1. คู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้ของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ อำมาตย์ใช่หรือไม่
2. การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น เป็นทางออกของประเทศไทยใช่หรือไม่
ในสังคมทุนนิยม ไม่ว่าของประเทศใดๆ เมื่อจะหาคู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้กับกลุ่มทุนหรือนายทุน กล่าวโดยเฉพาะเราก็จะเห็นชนกลุ่มหนึ่งอย่างชัดเจนคือ “กรรมกร” กรรมกร คือคู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้โดยเฉพาะของทุนใน “สังคมทุนนิยม” ใครก็ตามที่ไปจับเอาชนกลุ่มอื่น มาเป็นคู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้ของนายทุนเป็นผู้ไม่เข้าใจสังคมทุนนิยม
นายทุนกับกรรมกร หรือทุนกับแรงงาน เป็นคู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้ในองค์เอกภาพของ “ ระบบทุนนิยม ” นายทุนกับกรรมกรแยกกันไม่ออก ถ้าไม่มีนายทุนก็จะไม่มีกรรมกร และถ้าไม่มีกรรมกรก็จะไม่มีนายทุน ในสังคมที่ไม่มีนายทุนคือ “ สังคมสังคมนิยม ” และในสังคมสังคมนิยมก็ไม่มีกรรมกร
ในประเทศไทยแม้ว่าจะย่างเข้าสู่ระบบทุนนิยมมานานแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังอยู่ในภาวะ ทุนนิยมด้อยพัฒนา และมีการรวมศูนย์ทุนในระดับสูง ทำให้เกิดการผูกขาดในระดับสูงทั้งในด้านเศรษฐกิจและทางการเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของกรรมกรทั่วไปจึงทุกข์ยากมาก ประเทศไทยเป็นประเทศทุนนิยมด้อยพัฒนาเพียงใด อย่างน้อยจะเห็นได้จากการเป็นทุนนิยมที่ปราศจากการประกันสังคมอย่างเพียงพอ ซึ่งนับว่าหาได้ยากในบรรดาประเทศทุนนิยมด้อยพัฒนาด้วยกัน
ประเทศไทยจึงมีเงื่อนไขของการต่อสู้ระหว่างกรรมกรกับนายทุนมาก และการต่อสู้จะมีมากขึ้นเรื่อยไปตามอัตราเพิ่มขึ้นของทุนผูกขาด โดยอาศัยพรรคการเมืองของนายทุนเป็นเครื่องมือสำคัญ
ในสภาวการณ์เช่นนี้ ไม่เพียงแต่กรรมกรเท่านั้นที่ถูกขูดรีดและกดขี่อย่างหนักจากนายทุนผูกขาด แต่ประชาชนทั่วไปก็ถูกขูดรีดและกดขี่อย่างหนักด้วย แม้แต่นายทุนเองเวลานี้ นายทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก ก็ถูกนายทุนผูกขาดขูดรีดจนจะอยู่ไม่ไหวไปตามๆกัน กล่าวได้ว่าในปัจจุบันไม่มีกลุ่มชนิดใดๆในประเทศไทยที่จะไม่ถูกขูดรีดอย่างหนัก จากนายทุนผูกขาดหรือนายทุนใหญ่
ฉะนั้น ในสถานการณ์ทุนนิยม ปัจจุบันของไทย เมื่อกล่าวโดยเฉพาะแล้ว คู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้ก็เช่นเดียวกับในประเทศทุนนิยมอื่นๆ คือ นายทุนกับกรรมกร แต่ถ้ากล่าวโดยทั่วไป คู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้ ก็คือนายทุนกับประชาชน ฉะนั้น ถ้าจะจัดคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้ในประเทศไทยปัจจุบันให้ถูกต้อง จะต้องถือเอาระหว่าง นายทุนกับกรรมกรโดยเฉพาะ และระหว่างนายทุนกับประชาชน โดยทั่วไป
ทหารส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ในระดับเดียวกับประชาชนทั่วไป เพราะเขาตกอยู่ในภาวะถูกขูดรีด จากนายทุนใหญ่หรือนายทุนผูกขาดเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป เรารู้อยู่แล้วว่าข้าราชการส่วนใหญ่ทุกประเภทมีความเดือดร้อนอย่างไร ทหารก็เป็นข้าราชการประเภทหนึ่ง เขาจึงตกอยู่ในความเดือดร้อนเช่นเดียวกับข้าราชการประเภทอื่น
แต่ถึงแม้ทหารจะถูกกระทบกระเทือนจากการขูดรีดของนายทุน ทหารก็ไม่ใช่กรรมกร ทหารเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนที่เป็นคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้โดยทั่วไปของนายทุน ซึ่งไม่อาจจะเปลี่ยนฐานะเป็นคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้โดยเฉพาะของนายทุนแทนกรรมกรได้ กรรมกรย่อมเป็นคู่ขัดแย้งและต่อสู้ของนายทุนโดยเฉพาะเสมอไป
เช่นเดียวกับชนประเภทอื่นที่ไม่ใช่กรรมกร เช่นชาวนา ปัญญาชน นายทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งถูกกระทบกระเทือนจากการขูดรีดของนายทุนใหญ่หรือนายทุนผูกขาด เขามิใช่คู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้โดยเฉพาะของนายทุน กรรมกรเท่านั้นที่เป็นคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้โดยเฉพาะของนายทุน เพราะนายทุนกับกรรมกรเป็นคู่กันที่แยกกันไม่ออกของการผลิตแบบทุนนิยม ถ้าแยกนายทุนกับกรรมกรออกจากกัน การผลิตแบบทุนนิยมก็มีไม่ได้และระบบทุนนิยมก็จะไม่มี
จึงเห็นได้ว่า การที่นักวิชาการไปจับเอาคนประเภทอื่นที่ไม่ใช่กรรมกร มาเป็นคู่ขัดแย้ง หรือคู่ต่อสู้กับนายทุน จึงผิดจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะไปจับเอาชาวนา จับเอาปัญญาชน จับเอาข้าราชการพลเรือน จับเอาตำรวจ จับเอาทหาร จับเอาคนจนประเภทใดประเภทหนึ่ง มาเป็นคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้กับนายทุนโดยเฉพาะ ล้วนแต่ผิดจากความเป็นจริงทั้งสิ้น
คู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้โดยเฉพาะของนายทุนคือกรรมกร คนประเภทอื่นเป็นเพียงผู้ร่วมกับกรรมกรในการขัดแย้งและต่อสู้กับนายทุนเท่านั้น ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในบรรดาประชาชนประเภทต่างๆ ที่ขัดแย้งและต่อสู้กับนายทุนนั้น มีกรรมกรเป็นหลัก คนประเภทอื่นเป็นผู้สนับสนุนกรรมกรในการขัดแย้งและต่อสู้กับนายทุน
เมื่อพูดถึงทหาร ถ้าเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ตามธรรมดาย่อมอยู่ข้างนายทุน นายทหารระดับล่างและพลทหาร ซึ่งมีความเป็นอยู่เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ย่อมอยู่ข้างกรรมกร แต่ในบางกรณีโดยเฉพาะในยุคสมัยที่ประชาชนถูกกดขี่ขูดรีดได้รับความทุกข์ยากอย่างหนัก แม้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ก็อาจเห็นใจประชาชน และหันมาอยู่ข้างประชาชนได้ ในกรณีเช่นนี้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็อาจสนับสนุนประชาชนและกรรมกรในการต่อสู้กับนายทุน แต่นั่นก็มิได้หมายความว่า ทหารเป็นหลักในการต่อสู้กับนายทุน ผู้เป็นหลักก็ยังคงเป็นกรรมกร
ในประเทศไทยที่แล้วมา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ส่วนมากอยู่ข้างนายทุน แต่ปัจจุบันมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่เห็นใจประชาชนและกรรมกรมากขึ้น หันมาอยู่ข้างประชาชนต่อสู้กับนายทุน จนทำให้หลายคนจัดให้ทหารเป็นคู่ต่อสู้ของนายทุน ซึ่งความจริงแล้วกรรมกรยังคงเป็นคู่ต่อสู้ของนายทุนอยู่อย่างเดิม ทหารเหล่านั้นเป็นเพียงผู้สนับสนุนประชาชนและกรรมกร ในการต่อสู้กับนายทุนเท่านั้น
ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ทีแรกนายทุนมีความก้าวหน้า จึงมีการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตย เมื่อ ร.ศ. 130 ซึ่งประกอบด้วยนายทหารหนุ่มเป็นส่วนใหญ่นั้น ก็คือการเคลื่อนไหวที่เป็นผู้แทนของนายทุนในประเทศไทย เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย และหลังจากการเคลื่อนไหวปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะ ร.ศ. 130 ล้มเหลวแล้ว 20 ปี ก็เกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยของคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยทหารหนุ่มเป็นส่วนใหญ่ และเป็นผู้แทนของนายทุนเช่นเดียวกับคณะ ร.ศ. 130 การปฏิวัติของคณะราษฎรสำเร็จเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
แต่หลังจากนั้นไม่นานนายทุนและคณะราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนของเขา ก็เริ่มล้าหลังและขัดขวางระบอบประชาธิปไตย เหลือนายทุนที่ก้าวหน้าและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยอยู่เพียงส่วนน้อย ไม่มีกำลังพอที่จะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้ การปกครองของประเทศไทยภายหลัง 24 มิถุนายน เพียงเล็กน้อย จึงเป็นระบอบเผด็จการตลอดมา ในรูประบอบเผด็จการรัฐสภาบ้าง ระบอบเผด็จการรัฐประหารบ้าง
ขณะนี้เป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา ( ระบอบประชาธิปไตย คืออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ระบอบเผด็จการคือ อำนาจอธิปไตยเป็นของนายทุน จะต้องไม่ปะปนระบอบประชาธิปไตย กับวิธีการประชาธิปไตยหรือวิถีทางประชาธิปไตย และไม่ปะปนระบอบเผด็จการกับวิธีการเผด็จการหรือวิถีทางเผด็จการ มิฉะนั้นจะไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ ดังที่ปรากฏแก่นักวิชาการบ้านเราส่วนมาก)
เมื่อนายทุนเปลี่ยนจากก้าวหน้าเป็นล้าหลัง เปลี่ยนจากสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเป็นสนับสนุนระบอบเผด็จการ ทหารส่วนใหญ่โดยเฉพาะระดับบน ก็สนับสนุนระบอบเผด็จการด้วย แต่ต้องเข้าใจว่า ผู้เป็นเจ้าของระบอบเผด็จการคือนายทุนไม่ใช่ทหาร ทหารเป็นผู้สนับสนุนหรือเครื่องมือในฐานะผู้ถืออาวุธของนายทุนเท่านั้น
จากข้อเท็จจริงนี้จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันกรรมกรไทยไม่แต่เพียงแต่เป็นพลังการเมืองอิสระ โดยมีนโยบายของตนเองเท่านั้น หากยังเป็นพลังหลักที่จะนำการปฏิวัติประชาธิปไตยไปสู่ความสำเร็จอีกด้วย
และจากข้อเท็จจริงนี้ลองเปรียบเทียบคน 3 ประเภทดู คือ นายทุน กรรมกร ( รวมประชาชน ) และทหาร
นายทุน เวลานี้ส่วนสำคัญนอกจากจะเป็นพลังการเมืองอิสระแล้ว ยังเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตย 2 องค์กร คือสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี ซึ่งหมายความว่าอำนาจอธิปไตยอยู่กับนายทุน อันเป็นหัวใจของระบอบเผด็จการ ผู้แทนของนายทุนคือพรรคการเมืองต่างๆ ที่กุมสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี แม้ว่าจะมีหลายพรรคหลายนโยบาย และมีพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน นโยบายพื้นฐานของพรรคเหล่านี้ก็ตรงกันทั้งสิ้น คือรักษาผลประโยชน์ของนายทุน
ฉะนั้นถึงจะมีหลายพรรคก็เหมือนพรรคเดียว การแบ่งเป็นหลายพรรคและมีนโยบายปลีกย่อยแตกต่างกัน ก็เพราะนายทุนมีหลายพวกซึ่งมีผลประโยชน์รายละเอียดแตกต่างกันบ้าง แต่ละพวกจึงต้องตั้งพรรคขึ้นเป็นผู้แทนชิงผลประโยชน์ระหว่างกัน การต่อสู้ระหว่างพรรคต่างๆที่กุมองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยอยู่ ก็คือการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างนายทุนพวกต่างๆ กลุ่มต่างๆนั่นเอง นโยบายของพรรคการเมืองเหล่านั้นก็คือนโยบายของนายทุน ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วก็คือนโยบายกดขี่ขูดรีดประชาชนโดยทั่วไป เพื่อเพิ่มพูนผลประโยชน์ของนายทุนให้มากที่สุด
กรรมกร เวลานี้เป็นพลังการเมืองอิสระเช่นเดียวกับนายทุน แต่ไม่มีส่วนในการกุมองค์กรแห่งอำนาจอธิปไตยทางคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร นอกจากทางวุฒิสภาเพียงเล็กน้อยในบางครั้ง โดยมีผู้แทนกรรมกรเป็นสมาชิกวุฒิสภาอยู่ไม่กี่คน เปรียบเทียบกันไม่ได้กับผู้แทนนายทุนในวุฒิสภา และเมื่อสมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่มีผู้แทนกรรมกรอีกเลย กลายเป็นสภาผัวสภาเมียของนายทุนฝ่ายเดียว ผูกขาดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
นโยบายของกรรมกรตรงข้ามกับนโยบายของนายทุน คือแนวทางแก้ปัญหาของชาติของกรรมกรซึ่งกล่าวข้างต้นนั้น เป็นนโยบายรักษาผลประโยชน์ของกรรมกรและประชาชนทั่วไป ตลอดถึงประเทศชาติ จึงเป็นนโยบายประชาธิปไตยที่แท้จริง ถ้าการบริหารประเทศได้เป็นไปตามนโยบายของกรรมกรแล้ว การสร้างระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยก็จะสำเร็จ
ทหาร ไม่สามารถเป็นพลังการเมืองอิสระ เพราะทหารไม่ใช่กลุ่มคนที่ประกอบการผลิตในระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ ผู้ประกอบการผลิตทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจแห่งชาติคือ นายทุนและกรรมกร นายทุนประกอบการผลิตในฐานะเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต กรรมกรประกอบการผลิตในฐานะพลังผลิต ทหารไม่ได้เป็นทั้งเจ้าของปัจจัยการผลิตและพลังผลิต จึงไม่ใช่ผู้ประกอบการผลิตทุนนิยมในระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ
ชนกลุ่มใดก็ตามที่ไม่เป็นผู้ประกอบการผลิตในระบบเศรษฐกิจแห่งชาติ เช่นนักวิชาการ นักศึกษา ข้าราชการ เป็นต้น ย่อมไม่สามารถเป็นพลังการเมืองอิสระในสังคมทุนนิยม ทหารเป็นกลุ่มชนประเภทหนึ่ง กลุ่มชนที่ไม่เป็นพลังการเมืองอิสระนั้น ย่อมไม่มีนโยบายของตนเอง หากแต่ต้องรับนโยบายของพลังการเมืองอิสระฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะคือของนายทุนและกรรมกร กลุ่มอื่นๆ ถ้าไม่รับนโยบายของนายทุน ก็รับนโยบายของกรรมกร และนโยบายของกรรมกรนั้น นอกจากจะรักษาผลประโยชน์ของกรรมกรเองแล้ว ยังรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติพร้อมกันไปด้วย
ดังได้กล่าวแล้วว่า ในสภาพที่การรวมศูนย์ทุนขึ้นสู่ระดับสูง ทำให้การผูกขาดเป็นไปอย่างรุนแรง ประชาชนทั่วไปถูกกดขี่ทางการเมืองและถูกขูดรีดทางเศรษฐกิจจากนายทุนหนักขึ้น ทหารมีความเห็นใจประชาชนและห่วงใยต่อประเทศชาติมากขึ้น และเริ่มจะเห็นถึงความหายนะของชาติบ้านเมือง จึงยิ่งรับเอานโยบายของกรรมกร ซึ่งเป็นเพียงนโยบายเดียวที่จะรักษา ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติได้ดังนี้
ทหารส่วนใหญ่กระทั่งถึงระดับสูง จึงเปลี่ยนแปลงจากการอยู่ฝ่ายนายทุน มาเป็นอยู่ฝ่ายกรรมกรและประชาชน เปลี่ยนแปลงจากการสนับสนุนระบอบเผด็จการ มาสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย กองทัพมีนโยบาย 66/23 ซึ่งเป็นนโยบายประชาธิปไตย ที่โดยสาระสำคัญเป็นอย่างเดียวกับนโยบายกรรมกร
เมื่อนำเอาชน 3 กลุ่มมาเปรียบเทียบกันดังนี้แล้ว จะเห็นได้ว่านายทุนกับกรรมกรเท่านั้นเป็นพลังการเมืองอิสระ ซึ่งต่างฝ่ายมีนโยบายของตนเอง แต่เป็นนโยบายที่ตรงกันข้ามกัน คือนโยบายของนายทุนรักษาผลประโยชน์ของนายทุนนโยบายของกรรมกรรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและของประเทศชาติ นโยบายของนายทุนจึงเป็นนโยบายเผด็จการ นโยบายของกรรมกรเป็นนโยบายประชาธิปไตย นายทุนกับกรรมกรจึงขัดแย้งกันและต่อสู้กันด้วยนโยบายเผด็จการกับนโยบายประชาธิปไตยดังนี้ กระบวนการทางการเมืองทั้งหมด จึงหมุนไปรอบๆแกนของความขัดแย้ง และการต่อสู้ระหว่างนายทุนกับกรรมกรดังนี้
กลุ่มชนอื่นๆรวมทั้งทหาร เป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือผู้ร่วมมือ หรือผู้รับใช้ระหว่างนายทุนกับกรรมกรเท่านั้น นัยหนึ่ง ระหว่างนายทุนกับประชาชนเท่านั้น
ปัจจุบันทหารส่วนใหญ่กระทั่งถึงระดับสูงเห็นใจประชาชน และห่วงใยประเทศชาติมากขึ้นจึงหันมาอยู่ข้างประชาชน และไม่ยอมทำร้ายประชาชนในการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย จะมีก็แต่ทหารระดับสูงที่เป็นเครื่องมือของนายทุน
ในสมัยเมื่อทหารส่วนใหญ่โดยเฉพาะทหารระดับสูง อยู่ข้างนายทุนนั้น นายทุนและผู้แทนของเขา เช่นพรรคการเมือง นักการเมือง และนักวิชาการ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาจึงไม่มีปัญหาอะไร แต่ในปัจจุบันเมื่อทหารหันมาอยู่ข้างประชาชนมากขึ้น นายทุนและผู้แทนของเขาเห็นเป็นเรื่องผิดปกติ จึงเอะอะโวยวายขึ้นและไปจับเอาทหารมาเป็นคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้ของนายทุน เกิดแบ่งคนออกเป็นกลุ่มทุนกลุ่มทหาร แล้วกำหนดให้กลุ่มทุนเป็นประชาธิปไตย ทหารเป็นเผด็จการ ด้วยเหตุผลว่าทหารมีปืน นายทุนไม่มีปืน
เขาลืมไปว่า ในระบอบเผด็จการนั้นทหารถือปืนของนายทุน นายทุนเป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยโดยใช้กองทัพเป็นกลไกหลักแห่งอำนาจรัฐของตน แต่อาจไม่ใช่ลืม เขาอาจตั้งใจบิดเบือนอย่างโจ๋งครึ่มก็ได้
การยกเอาทหารขึ้นมาเป็นคู่ขัดแย้งและคู่ต่อสู้ของนายทุน และกำหนดให้นายทุนเป็นประชาธิปไตยทหารเป็นเผด็จการ คือความพยายามของนายทุนและบรรดาผู้แทนของเขา ที่จะปิดบังบทบาททางการเมืองประชาธิปไตยของกรรมกรที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความพยายามนี้จะไม่มีทางสำเร็จ เพราะการรวมศูนย์ทุนซึ่งนำไปสู่การผูกขาดนั้นรุนแรงขึ้นไปทุกที ประชาชนถูกระบอบการปกครองและระบบผูกขาดทางเศรษฐกิจของนายทุนเล่นงานหนักขึ้นทุกที
เรื่องนี้จะสอนประชาชนให้รู้ได้อย่างรวดเร็วว่า ระบอบปัจจุบันเป็นระบอบเผด็จการซึ่งระบอบของนายทุน กรรมกรและประชาชนรวมทั้งทหารสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ความรู้ดังกล่าวนี้คือปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะกลายเป็นความจริงในไม่ช้าอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ การเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น จึงไม่ใช่ทางออกของประเทศไทย แต่เป็นการกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ เพื่อทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของนายทุนเหมือนเดิม
เพื่อนกรรมกรที่รักทั้งหลาย สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ เข้าสู่สถานการณ์ปฏิวัติประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แล้ว สภากรรมกรแห่งชาติจึงขอเรียกร้องให้เพื่อนกรรมกรที่รักทั้งหลาย จงสามัคคีกันและเข้าร่วมการต่อสู้อย่างมีแนวทาง โดยเฉพาะ แนวทางแก้ปัญหาของชาติของกรรมกรไทย อนาคตและความมั่นคงของชาติและของพี่น้องประชาชนกำลังรอท่านอยู่
ภารกิจประวัติศาสตร์ของกรรมกรได้มาถึงแล้ว คือ การสร้างประชาธิปไตย
วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา