เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2554

ไปสู่ “รัฐไทยใหม่ รัฐประชาธิปไตย”

โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์


22 เมษายน 2554

ขบวนประชาธิปไตยที่ก่อตัวมาตั้งแต่กลางปี 2549 ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน ได้ขยายตัวเติบใหญ่ จนปัจจุบัน กลายเป็นขบวนประชาธิปไตยเสื้อแดงที่มีจำนวนนับล้านคนทั่วประเทศ ได้ผ่านบทเรียนการต่อสู้อันยากลำบาก กระทั่งต้องสูญเสียอย่างสาหัสในการเคลื่อนไหวเมษายน-พฤษภาคม 2553 ประสบการณ์อันนองเลือดและเจ็บปวดทำให้ขบวนประชาธิปไตยยกระดับขึ้นสู่ขั้นตอน ใหม่ เกิดการถกเถียงอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ค่อย ๆ ตกผลึกทางความคิด ชัดเจนถึงเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของขบวนว่า จะเดินต่อไปอย่างไรเพื่อไปบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริง

1. เป้าหมายคือ “รัฐประชาธิปไตย”
บท เรียนที่ผ่านมา ทำให้รู้ชัดว่า ประเทศไทยยังคงล้าหลังในทางเศรษฐกิจและการเมือง ประชาชนส่วนข้างมากของสังคมยังยากจน มิใช่เพราะโง่หรือ “ขี้เกียจ” แต่เป็นเพราะขาดโอกาสในการศึกษา บริการทางการแพทย์ อาชีพ และแหล่งเงินทุน อันเนื่องมาจากระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หากแต่มีเนื้อในที่เป็นระบอบเผด็จการจารีตนิยมที่รวมศูนย์อำนาจและโภคทรัพย์ ไปยังผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง มีเปลือกนอกที่สลับกันเป็นช่วง ๆ ระหว่างเผด็จการทหารที่เปิดเผย กับระบอบรัฐสภาและรัฐบาลเลือกตั้งที่อ่อนแอ ระบอบนี้มีรัฐประหารและตุลาการเป็นเครื่องมือสำคัญ เคลือบคลุมด้วยการครอบงำทางความคิดของลัทธิเทวสิทธิ์

หนทางที่จะให้ประเทศ ไทยบรรลุความเจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจรุ่งเรือง ประชาชนมั่งคั่งก็คือ ต้องทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตย ไปบรรลุเป้าหมายที่ สร้างระบอบประชาธิปไตยที่ปวงประชามหาชนชาวไทยเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง

ที่ผ่านมา ขบวนประชาธิปไตยได้มีคำขวัญว่า สร้าง “รัฐไทยใหม่” ซึ่งในเบื้องต้นหมายถึง “รัฐไทยที่ทุกคนเท่าเทียมกัน มีความยุติธรรมและไม่เป็นสองมาตรฐาน” สะท้อนถึงความเรียกร้องต้องการของคนเสื้อแดงที่เจ็บแค้นจากความอยุติธรรมและ การเลือกปฏิบัติที่ได้รับจากผู้ปกครองตลอดหลายปีมานี้

รัฐไทยใหม่ที่ว่านี้ ในทางรูปธรรมคืออะไร? คำตอบคือ เป็นรัฐไทยที่มีระบอบการเมืองการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีและทันสมัย ดังที่มีอยู่แล้วในบรรดาประเทศอารยะ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ ยุโรปเหนือและสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย สเปน ฝรั่งเศส คานาดา สหรัฐอเมริกา เป็นต้น นัยหนึ่ง รัฐไทยใหม่ก็คือรัฐประชาธิปไตยเสรีนิยม นั่นเอง

การไปบรรลุเป้าหมาย ดังกล่าวจำต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ให้ความเสมอภาคทางการเมืองแก่ประชาชน และมีการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจสังคมไปยังประชาชนอย่างถ้วนหน้า เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการเมืองและเศรษฐกิจอย่างไม่เคยมีมาก่อน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวันนี้จึงมี “ลักษณะปฏิวัติสังคม” นัยหนึ่ง ขบวนประชาธิปไตยจะต้องเดินแนวทาง “ปฏิวัติประชาธิปไตยเสรีนิยม”

รัฐไทยใหม่ที่เป็นรัฐประชาธิปไตยนั้น มีลักษณะพื้นฐานสามประการคือ

1. ความเห็นชอบจากประชาชน ผู้ที่เข้าสู่อำนาจการเมืองต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนเจ้าของอำนาจ อธิปไตย และการใช้อำนาจนั้นในการปกครองบ้านเมืองต้องได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน ในทางรูปธรรมคือ อำนาจอธิปไตยทั้งสาม ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต้องมาจากการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนผ่านระบบเลือกตั้งตัวแทนที่เสมอภาคและ ยุติธรรม

2. สิทธิพื้นฐานสามประการของประชาชน รัฐที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนมีหน้าที่สำคัญในเบื้องต้นคือ ให้การปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานสามประการของปัจเจกชน ได้แก่

· สิทธิในชีวิตและร่างกายที่ไม่อาจละเมิดโดยผู้อื่นและโดยรัฐ

· สิทธิในการพูด แสดงความคิดเห็น และจัดตั้งสมาคมหรือพรรคการเมือง ที่เจตนาสุจริตและไม่ถูกจำกัดโดยรัฐ

· สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล ที่จะแสวงหาโอกาส ประกอบอาชีพ ทำธุรกรรม สะสมและสืบทอดแก่ทายาท

3. การจำแนกและตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้งสาม เพื่อจำกัดการใช้อำนาจรัฐมิให้เป็นอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เพื่อป้องกันการรวมศูนย์อำนาจการเมืองที่อาจเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย

อุปสรรคขัดขวาง ประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดในเศรษฐกิจการเมืองไทยปัจจุบันคือ ระบอบเผด็จการจารีตนิยม ซึ่งหลายสิบปีมานี้ ได้ตั้งหน้าบ่อนทำลายการเติบโตของหน่ออ่อนประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า และลงเอยเป็นการใช้กำลังปราบปรามประชาชนหรือรัฐประหารทุกครั้ง หนทางไปสู่เป้าหมายของขบวนประชาธิปไตยจึงต้องเป็นการ “ขจัดระบอบเผด็จการจารีตนิยม” ลิดรอนและขจัดอำนาจเผด็จการทางการเมืองทั้งที่แฝงเร้นและเปิดเผย ทำการ “ปฏิวัติประชาธิปไตย” ให้อำนาจอธิปไตยมาอยู่ในมือของปวงประชามหาชนชาวไทยอย่างแท้จริง โดยหลังจากการเปลี่ยนผ่านอำนาจในทางปฏิบัติแล้ว ต้องทำให้เป็นรูปแบบระบอบการเมืองที่ยั่งยืนและชอบธรรมด้วยการปฏิรูปรัฐธรรมนูญตามหลักการประชาธิปไตยข้างต้นให้สมบูรณ์

2. ยุทธศาสตร์ “เผยแพร่ความจริง ขยายปริมาณ สร้างคุณภาพ”
การปกครองของกลุ่มเผด็จการทั้งหลายประกอบด้วยอำนาจสองด้านคือ อำนาจทางวัตถุ กับอำนาจทางความคิด อำนาจทางวัตถุคือ การใช้กำลังรุนแรงของอำนาจรัฐข่มขู่ จับกุมคุมขัง กระทั่งเข่นฆ่าผู้ที่ต่อต้าน เครื่องมือนี้ประกอบด้วยกลไกตำรวจ ศาล คุกตะราง และกองทัพ ส่วนอำนาจทางความคิดคือการครอบงำทางความเชื่อและ อุดมการณ์ ใช้ข้ออ้างทางศีลธรรมคุณความดี ความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์มาสร้างความชอบธรรมของตนในจิตใจประชาชน นัยหนึ่ง อำนาจทางวัตถุเป็นการปกครองทางร่างกาย อำนาจทางความคิดเป็นการปกครองทางจิตใจ

การปกครองเผด็จการทั่วโลกที่อยู่ได้ต่อเนื่องยาวนานนั้น ต้องอาศัยการครอบงำทางความคิดจิตใจเป็นด้านหลัก ใช้กลไกการโฆษณาชวนเชื่อทั้งทางตรงและทางอ้อมในภาครัฐ การศึกษา ศาสนา และสื่อมวลชนกระแสหลัก เพื่อเคลือบคลุมให้ระบอบปกครองมีภาพของความดีงามสูงส่ง มีความถูกต้องชอบธรรม เพื่อสร้าง “ความยินยอมพร้อมใจ” ในหมู่ประชาชน จากนั้นจึงเสริมด้วยการใช้อำนาจทางวัตถุ คือกลไกอำนาจรัฐ ทหาร ตำรวจ ศาล คุกตะราง เจาะจงปราบปรามบุคคลเฉพาะรายที่ไม่สวามิภักดิ์

การล่มสลายของระบอบ เผด็จการทั้งหลายจึงเริ่มจากการเสื่อมของอำนาจครอบงำทางความคิด เมื่อผู้ปกครองค่อย ๆ สูญเสียการควบคุมทางความคิด จิตใจและอุดมการณ์ในหมู่มวลชน พวกเขาก็จะสูญเสียสถานะความเป็นผู้ปกครองอันชอบธรรมในสายตาประชาชนไปด้วย ยิ่ง ผู้ปกครองสูญเสียพลังครอบงำทางความคิดในหมู่ประชาชนไปมากเท่าใด พวกเขาก็จำต้องหันมาใช้อาวุธทางอำนาจรัฐที่เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นเท่า นั้น จากข่มขู่คุกคาม เป็นจับกุมคุมขัง เป็นการเข่นฆ่าอย่างเปิดเผย ซึ่งกลับยิ่งเป็นการเผยโฉมหน้าอัปลักษณ์ของตนออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ การปกครองใดที่ต้องใช้อำนาจและกำลังรุนแรงในการกดขี่ประชาชนเป็นด้านหลัก การปกครองนั้นก็ไม่อาจอยู่ได้นาน เมื่อฝ่ายประชาชนสามารถรวมตัวจัดตั้ง ต่อสู้ต่อต้าน ก็จะนำไปสู่การล่มสลายของเผด็จการในที่สุด

นับแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พวกเผด็จการจารีตนิยมของไทยได้สูญเสียฐานะครอบงำทางความคิดจิตใจในหมู่ ประชาชนไปอย่างรวดเร็ว และจำต้องหันมาใช้กลไกอำนาจรัฐที่เป็นความรุนแรงอย่างเปิดเผยเพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ จนถึงการฆ่าหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553 การต่อสู้ให้ ได้ชัยชนะของประชาธิปไตยนั้นต้องเปลี่ยนดุลกำลังอำนาจรัฐจากปัจจุบันที่ฝ่าย เผด็จการเป็นหลัก ให้ฝ่ายประชาธิปไตยมาเป็นด้านหลัก แต่การเปลี่ยนดุลกำลังดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต้องเปลี่ยนดุลกำลังอำนาจทางความคิดก่อน นั่นคือ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องชนะศึกทางความคิด ให้ประชาชนส่วนข้างมากของสังคม “รู้ความจริง” อันเป็นเนื้อแท้ภายใต้หน้ากากนักบุญของพวกเผด็จการ กระทั่งในวันหนึ่ง เมื่อ “ความจริง” ทั้งหมดได้ไปสู่ประชาชนเป็นจำนวนส่วนข้างมากพอแล้ว ความชอบธรรมของระบอบปกครองเผด็จการก็จะสิ้นสุดลง

ฉะนั้น หนทางไปสู่ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยคือ การเคลื่อนไหวรณรงค์เผยแพร่ทางความคิด ให้ประชาชนจำนวนมากได้ “รู้ความจริง” ถึงเนื้อแท้ของการปกครองเผด็จการ ให้ผู้คนจำนวนมากขึ้น ๆ มีจุดยืนหันมาสู่ประชาธิปไตย ปฏิเสธการปกครองเผด็จการจารีตนิยม ทั้งยกระดับคุณภาพด้วยการรวมตัวจัดตั้งและเคลื่อนไหวตามสภาพการณ์ เมื่อปริมาณและคุณภาพของประชาชนที่ “รู้ความจริง” มีมากขึ้นถึงจุดที่เปลี่ยนดุลกำลังทางความคิดได้ การเปลี่ยนผ่านดุลกำลังในอำนาจรัฐก็จะเกิดขึ้นในรูปแบบ วิธีการ และเงื่อนไขเฉพาะในขณะนั้น

ยุทธศาสตร์การเอาชนะเผด็จการในขั้นตอนปัจจุบันจึงเป็นการ “เผยแพร่ความจริง ขยายปริมาณ สร้างคุณภาพ”

ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา