การเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตรวจสอบ
ในหนังจักรๆวงศ์ๆ วิธีการต่อสู้กับยักษ์-มาร ดีที่สุด ก็คือการเพิ่มพลังให้กับเทวดา-พระเอก จะได้สู้กันอย่างสมเนื้อสมเนื้อ แต่ในการเมืองไทย ยุคที่ "นักการเมือง" ถูกตราหน้าแบบเหมารวมว่า "เลว"
วิธีดีที่สุด ในการรับมือกับ "คนไม่ดี" ก็น่าจะได้แก่การเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตรวจสอบ ซึ่งน่าจะดีกว่า ข้อเสนอของคนบางกลุ่มที่ให้ปิดเทอมการเมือง 3-5 ปี ที่ไม่น่าจะแก้ปัญหาอะไรได้ จะดีจะชั่ว เราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ให้กำหนดนวัตกรรมใหม่ทางการเมืองที่เรียกว่า "องค์กรอิสระ"
โดยเฉพาะองค์กรอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ที่เข้ามาตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ แทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (ป.ป.ป.) ในอดีต ที่เป็นเพียง "เสือกระดาษ" เพราะไม่ว่าส่งลงโทษอะไรไป ก็มักจะไม่มีใครปฏิบัติตาม
อำนาจของป.ป.ช.มาจาก "พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ" มีบทลงโทษเข้ม ขลัง ทั้งทางวินัยและอาญา แต่เมื่อการทุจริต-คอร์รัปชั่น-ประพฤติมิชอบมีวิวัฒนาการของมัน การป้องกัน-ปราบปรามพฤติกรรมก็ต้องวิ่งไล่ตามให้ทัน หลังปี 2550 ป.ป.ช.ถึงขนาดต้องให้ "นิยาม" ศัพท์ที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นใหม่ เพื่อขยายกรอบและวิธีการทำงาน
กล้านรงค์ จันทิก กรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า คอร์รัปชั่นรูปแบบเดิม คือ รับหรือให้สินบน ให้ข้อมูลลับ ให้ของขวัญ ทำงานล่วงเวลากับบริษัทที่ตนเองมีหน้าที่ตรวจสอบ ทำงานโดยเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง
"แต่ปัจจุบันมีคอร์รัปชั่นรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า "ทุจริตเชิงนโยบาย" คือทำกำหนดนโยบายมาเพื่อทุจริต ซึ่งต้องมี 3 องค์ประกอบ 1.มีการใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ ทั้งออกนโยบายหรือออกกฎหมาย 2.ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะทำเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล และ 3.ทำลายระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง"
"กล้านรงค์" กล่าวว่า นอกจากนี้ป.ป.ช.ยังขยายคำจำกัดความเรื่องร่ำรวยผิดปกติ จากเดิมที่จะมองแค่ 3 ปัจจัย คือ 1.มีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือไม่ 2.มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ และ 3.มีหนี้สินลดลงผิดปกติหรือไม่ แต่ช่วงหลัง ป.ป.ช.จะดูปัจจัยที่ 4.ได้ทรัพย์สินมาโดยมิสมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจใน ตำแหน่งหน้าที่ด้วยหรือไม่
"การตรวจสอบของป.ป.ช.ข้อหาร่ำรวยผิดปกตินอกจากจะดู 3 ปัจจัยแรกยังต้องดูปัจจัยสุดท้ายด้วยว่า ในการออกนโยบายแต่ละครั้ง มีใครได้ประโยฃน์ สมมุติว่าบริษัทที่ 1 2 3 และ 4 ได้ประโยชน์ได้ประโยชน์ ก็ต้องมาดูว่าบริษัทเหล่านั้นเป็นของใคร มีใครถือหุ้นบ้าง และผู้ถือหุ้นมีความสัมพันธ์กับผู้ที่ออกนโยบายหรือไม่"
ด้วยความสลับซับซ้อนของเทคนิคในการทุจริต เป็นเหตุให้คณะกรรมการป.ป.ช.ยังได้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือกฎหมายป.ป.ช.ฉบับใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีส่งขึ้นทูลเกล้าฯขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว
"วิชา มหาคุณ" กรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ จะปิดจุดอ่อนการทำงานเดิมและให้อำนาจใหม่ที่ป.ป.ช.ไม่เคยมีมาก่อน
เนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับใหม่ น่าสนใจเพราะมีหลายมาตรการ ที่ "อัพเพาเวอร์" องค์กรมือปราบแห่งนี้เห็นได้ชัด อาทิ
มาตรา 25/1 ให้คณะกรรมการป.ป.ช.เข้าถึงข้อมูลการเงินผู้ถูกกล่าวหาได้
"เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต คณะกรรมการป.ป.ช.จะแจ้งให้หน่วยงาน หรือสถาบันการเงินใดดำเนินการจัดให้กรรมการหรืออนุกรรมการไต่สวนเข้าถึง ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา หรือบุคคลอื่นที่มีหลักฐานเพียงพอว่าเกี่ยวข้องในเรื่องที่กล่าวหา เพื่อประโยชน์ในการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของคณะกร รมการป.ป.ช. หรือคณะอนุกรรมการไต่สวน"
มาตรา 32 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น ฯ) ยื่นบัญชีทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศหรือฝากไว้กับนอมินีด้วย
"ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการ ทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตำแหน่งหรือ วันที่พ้นจากตำแหน่งต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ..ให้รวมถึงทรัพย์สินและหนี้สินในต่างประเทศและให้รวมถึงทรัพย์สินที่ผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมด้วย"
มาตรา 74/1 หยุดนับอายุความถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี
"ในการดำเนินคดี ถ้าผู้ถูกกล่าวหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ"
มาตรา 103/1 กำหนดให้ความผิดฐานมีการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นความผิดฐานทุจริต
"บรรดาความผิดที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ (มีผลประโยชน์ทับซ้อน) ให้ถือเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย"
นอกจากนี้ยังเพิ่มบทบัญญัติใหม่ๆที่ป.ป.ช.ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งอำนาจในการสั่งคุ้มครองพยาน ให้สินบนผู้แจ้งเบาะแส ขอให้ผู้บังคับบัญชาเลื่อนขั้น หรือขอกันตัวไว้เป็นพยาน
"ในกรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช.เห็นว่า คดีใดสมควรจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือแก่ผู้กล่าวหา ผู้เสียหายผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลใดเกี่ยวกับการทุจริตตำแหน่งหน้าที่ .. ให้คณะกรรมการป.ป.ช.แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการคุ้มครองบุคคลดัง กล่าว โดยให้ถือว่าเป็นพยานที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้ม ครองพยานในคดีอาญา" (มาตรา 103/2)
"ให้คณะกรรมการป.ป.ช. จัดให้มีเงินสินบน หรืออาจจัดให้มีรางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคล ตามมารตา 103/2 วรรคหนึ่ง แล้วแต่กรณี จากจบประมาณตามที่ระเบียบป.ป.ช.กำหนด" (มาตรา 103/3)
"ให้กรณีที่บุคคลตามมาตรา 103/2 วรรคหนึ่ง เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและคณะกรรมการป.ป.ช.เห็นว่าการดำเนินการหรือให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเป็นประโยชน์ .. ให้คณะกรรมการป.ป.ช.เสนอครม.เพื่อการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน และระดับตำแหน่งให้แก่บุคคลนั้นเป็นกรณีพิเศษ" (มาตรา 103/4)
"บุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหารายใดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำ ความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหารายอื่น หากได้ให้ถ้อยคำ หรือเแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานใน การวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐรายอื่นนั้น และคณะกรรมการป.ป.ช.เห็นสมควรจะกันผู้นำไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีก็ได้" (มาตรา 103/6)
วิธีการข้างต้น ทั้งขยายคำจำกัดความ-ออกกฎหมายใหม่-ขยายอำนาจทางกฎหมายของป.ป.ช.
ไม่ต่างจากการมอบ "ดาบอาญาสิทธิ์" เล่มใหม่ให้"องค์กรตรวจสอบการทุจริต" นี้
เป็น 1 ในวิธีปฏิรูปการเมือง ที่น่าจะมีกว่าข้อเสนอ "ปิดประเทศ" ของคนบางกลุ่ม
เขียนโดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
วันศุกร์ที่ 08 เมษายน 2011
ศูนย์ข่าวสถาบันอิศรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา