คำตอบที่รอคอย กสทช.
ขณะที่วงการคลื่นความถี่กำลังมุ่งเป้าไปที่การคัดสรร กสทช. สื่อเพื่อชุมชนในนาม “วิทยุชุมชน” กำลังรอคอยใบอนุญาตตามกฎหมายที่จะทำให้พ้นสถานภาพวิทยุเถื่อนจาก กทช.ซึ่งความหวังริบหรี่เสมือนถูก “ลอยแพ”จากตัวเลขโดยกองเลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) ระบุว่าขณะนี้มีกว่า 800 สถานี ยื่นความประสงค์ขอออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนชั่วคราว (1 ปี) โดยมี 51 สถานีอยู่ในขั้นตอนทดลองออกอากาศ 30 วัน จำนวนนี้มี 16 สถานีที่ผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และรอคอยการออกอากาศเป็นวิทยุชุมชนที่ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 53 ที่ผ่านมา
วิทยุชุมชนยังไร้เงา “ใบอนุญาต” ที่ควรได้
วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการ สวชช. อธิบายถึง 3 ขั้นตอนใหญ่ๆในการออกใบอนุญาตว่าเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร เพื่อส่งดูคุณสมบัติ ก่อนส่งให้คณะทำงานพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หากไม่มีข้อท้วงติงใด กทช.จะให้สถานีทดลองออกอากาศ 30 วัน เพื่อทดสอบปัญหาคลื่นรบกวนต่างๆ ซึ่งทั้ง 16 สถานีเดินมาตามขั้นตอนแล้วทั้งหมด
แต่สุดท้ายกลับต้องสะดุด โดย กทช.แจ้งว่าจะไม่มีใบอนุญาตหากสถานีไม่ยกเครื่องส่งมาตรวจสอบเชิงเทคนิคที่ ส่วนกลางก่อน ทั้งที่ชาวบ้านทำไม่ได้แน่นอน เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงและระบุชัดเจนไม่ได้ว่าจะแล้วเสร็จภายในกี่วัน
วิชาญ เล่าว่า ช่วงนั้นเกิดการต่อต้านจากวิทยุชุมชนอย่างหนัก กทช.จึงรับปากหารือร่วมกันได้ข้อสรุปว่าจะไปแก้ระเบียบในส่วนที่ติดขัด กระทั่งแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษาระบุให้ไม่ต้องมีการยกเครื่องส่งมาตรวจสอบอีกแล้ว ให้เหลือเพียงการตรวจสอบเชิงเนื้อหาเท่านั้น
กทช. “ลอยแพ” วิทยุชุมชน
“นับเป็นนิมิตหมายอันดีใช่หรือไม่ เมื่อระเบียบออกมาเป็นแบบนี้ ผมเองก็หลงดีใจเช่นกันครับ”
เลขาธิการ สวชช. สะท้อนและว่า เพราะปัญหาจริงๆ คือ กทช.แค่ซื้อเวลาเท่านั้น มาถึงบางอ้อก็เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา กทช.ทั้งชุดลาออกทั้งคณะเพื่อไปลงสมัครคัดเลือกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เท่ากับ “ลอยแพ” วิทยุชุมชนทั้งประเทศ
เหตุผลก็คือตามกระบวนการออกใบอนุญาต กทช.ชุดที่ทำงานตรวจสอบต้องเป็นผู้อนุมัติแบบครบองค์ประชุม เมื่อขาดคนใดคนหนึ่ง “ใบอนุญาตจึงเป็นหมันอย่างเลี่ยงไม่ได้” ซ้ำร้าย กทช.ยังทิ้งงานที่รับผิดชอบให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติมาทำหน้าที่ออกใบขอ อนุญาตทดลองออกอากาศ 300 วัน (เป็นเอกสารที่ กทช.ออกให้วิทยุชุมชนสามารถออกอากาศได้ มีกำหนดต้องต่ออายุทุก 300 วัน ใช้ชั่วคราวแทนใบอนุญาต)
“ตอนนี้ กทช. ไม่ได้สนใจเลยด้วยซ้ำว่าการขยายเวลาชุมชนจะรู้หรือไม่ เมื่อก่อนมีประกาศขึ้นทางเว็บไซต์ ก็ไม่ขึ้น แค่ส่งจดหมายให้สมาชิก ซึ่งบางคนก็ได้รับบ้างไม่ได้บ้าง พอไม่ไปขยายสิทธิก็ถูกจับอีก ส่วน 16 สถานีที่เพียรพยายามมาตลอด ขณะนี้กลับไปมีสถานะเช่นเดียวกับ 6,500 แห่งทั่วประเทศ”
ฝากความหวังที่ กสทช.
แม้ ความหวังเรื่องใบอนุญาตชั่วคราว วันนี้จะริบหรี่แทบจะดับมืดลงไปแล้ว แต่การเกิดขึ้นของคณะกรรมการน้องใหม่ อย่าง กสทช.ก็เป็นความหวังของคนทำงานวิทยุชุมชนว่า คงจะคลี่คลายปมยุ่งเหยิงที่ กทช.มัดไว้ได้บ้าง
“ประการแรก เรื่องใบอนุญาตฯ ซึ่งทาง สวชช. เห็นว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ไม่ควรนับหนึ่งใหม่ แต่หยิบประเด็นที่ กทช.ทำไว้มาสานงานต่อ เพราะวันนี้วิทยุกำลังจะตาย หากเริ่มใหม่คงไม่มีเหลือ ควรทำให้เร็วคือสิ่งสำคัญที่สุด ประการต่อมาคือกองทุนที่ระบุตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กสทช. ซึ่งเป็นตัวช่วยเรื่องแหล่งทุนได้มากขึ้น” วิชาญ อธิบายและเพิ่มเติมว่า
ข้อนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการอยู่รอด เนื่องจากเจตนาแท้จริงของวิทยุชุมชนต้องดำรงอยู่ด้วยการไม่มีโฆษณา กองทุนตรงนี้จะมาช่วยในเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ การจัดการ ในลักษณะเป็นวิทยุของรัฐแต่ไม่ถูกรัฐควบคุม ทั้งยังช่วยลดปัญหาเจตนาดีแต่สู้ทุนไม่ไหว สุดท้ายกลับไปซุกใต้ปีกกลายเป็นวิทยุแสวงกำไรเหมือนที่เป็นเช่นทุกวันนี้
วิชาญ บอกว่า อีกสิ่งที่อยากฝากถึง กสทช.ที่กำลังคลอด คือจากการสำรวจของ สวชช.ค้นพบว่าใน 16 แห่ง (ซึ่งควรได้ใบอนุญาตแล้วนั้น) กว่าครึ่งมีโฆษณาชัดเจน แต่ กทช.ปล่อยให้หลุดรอดมาได้ ควรจะมีการปรับปรุงในส่วนของกระบวนการตรวจสอบพิจารณาออกใบอนุญาตวิทยุชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาดูเพียงเอกสาร ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่จริง
เสียงจากคนทำสื่อชุมชน
ดต.เทิดศักดิ์ พลประสิทธิ์ ผู้ประสานงานสถานีวิทยุชุมชนคนรักถิ่นตรัง จ.ตรัง หนึ่งในสถานีที่ได้รับการยืนยันเป็นวิทยุชุมชนขนานแท้โดยการตรวจสอบของ สวชช. บอกว่า ชาวบ้านรอคอยใบอนุญาตมาหลายเดือนแล้ว นับตั้งแต่ที่ กทช.สัญญาว่าจะออกให้ตั้งแต่ปลายปี แต่ที่ทราบล่าสุดเห็นว่ายังติดขัดอยู่ที่ไม่มีผู้รับรอง เนื่องจาก กทช.ลาออกไปสมัคร กสทช.หมดแล้ว ทำให้ขาดการเชื่อมโยงงานระหว่างสถานีกับ กทช.แบบสิ้นเชิง
ดต.เทิดศักดิ์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการส่งเครื่องส่งไปตรวจที่กรุงเทพฯ ภายหลังไม่ต้องตรวจเครื่อง ชุมชนดีใจกันมาก แต่ ณ วันนี้สถานียังคงถือเพียงใบอนุญาตทดลองออกอากาศ 300 วัน ซึ่งช่วงหลังมานี้ไม่เห็นมีหนังสือแจ้งให้ขยายสิทธิ แต่ทราบข่าวว่าบางสถานีไปต่อแล้ว เรียกได้ว่า เงียบหายไปหมดทั้ง กทช. และข้อมูลข่าวสาร
“แปลกใจตรงที่คนรักถิ่นตรังทำถูกต้องครบถ้วนทุกขั้นตอนแล้ว แต่ทำไมไม่เห็นใบอนุญาตแม้แต่ใบเดียว บางครั้งเราเองก็ต้องการคำชี้แจงจาก กทช. เพราะวันนี้วิทยุชุมชนกำลังจะมีที่ยืน แต่สุดท้ายก็กลับไปนั่งยองๆในมุมแคบอีก” ผู้ประสานงานวิทยุชุมชนคนรักถิ่นตรัง ตัดพ้อ
ข้อมูลที่คลุมเครือ ทิศทางที่ไม่ชัดเจน
เป็นที่น่าสังเกตว่าวิทยุชุมชนหลายแห่งเข้าใจว่าการที่ยังไม่ได้ใบอนุญาต เป็นเพราะปัญหาทางเทคนิค อย่างวิทยุชุมชนคนเขาวงนาคู จ.กาฬสินธุ์ สมบัติ วรรณรส ผู้ประสานงานสถานีฯ คิด ว่าคงเป็นปัญหาที่มาตรฐานเครื่องส่ง เพราะส่วนใหญ่ประกอบเอง แล้วก็ไม่ผ่านการตรวจของ กทช. อีกทั้งการส่งไปให้ตรวจเป็นไปได้ยากเพราะค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน ชุมชนมีเครื่องส่งเครื่องเดียวจำเป็นต้องใช้ เบื้องต้นทราบข้อมูลคร่าวๆ จากทาง สวชช.ว่ามีประกาศให้ยกเลิกการตรวจเครื่องส่ง แต่ไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งจาก กทช.
เช่นเดียวกับ รุ่งสุริยา เชียงชีระ ผู้ประสานงานสถานีวิทยุชุมชนคนจอมทอง จ.เชียงใหม่ สะท้อน ว่า ยังได้ใบทดลองออกอากาศมาเท่านั้น เข้าใจว่าน่าจะมีปัญหาที่เครื่องส่งที่ประกอบเองมีกำลังส่งสูงเกินไปไม่เป็น ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 250-280 วัตต์ ระยะส่งไม่เกิน 30 กิโลเมตร แม้ล่าสุดจะได้ข้อสรุปว่าให้ระงับการตรวจไว้ก่อนแต่สุดท้ายก็ไม่เห็นความคืบ หน้า
รุ่งสุริยา ยังบอกว่า รู้สึกกังวลกับการก้าวเข้ามาของ กสทช.ในฐานะผู้ดูแลความเป็นไปของวิทยุชุมชน ด้วยเกรงว่าหลักเกณฑ์หรือกระบวนการต่างๆที่ กทช.ทำมาแต่ต้นอาจปรับเปลี่ยนไปพร้อมกัน
จึงเห็นทางออกที่สอดคล้องกับวิทยุชุมชนเขาวงนาคูและคนรักถิ่นตรังว่า กสทช.ที่ควรเป็นน่าจะมีตัวแทนที่เข้าใจเรื่องวิทยุชุมชนทำงานคลุกคลีกับ พื้นที่จริงๆเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งความเป็นไปได้ก็คงอยู่ที่คณะกรรมการสรรหาซึ่งจะทำหน้าที่เลือกเฟ้นบุคคล ที่เหมาะสมมารับหน้าที่นี้ เท่ากับว่าคณะกรรมการสรรหาก็ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจบริบทของชุมชนด้วย
……………………………………
ดู เหมือนความหวังวันนี้ของคนทำวิทยุชุมชน คือ กสทช.ที่กำลังคลอด ว่าจะเข้ามาคลี่คลายเงื่อนปมที่ กทช.ผูกไว้ แล้วช่วยให้วิทยุชุมชนที่เคว้งขว้างลอยแพอยู่ เข้าใกล้ฝั่งฝันได้หรือไม่.
รายชื่อวิทยุชุมชนที่ผ่่านการทดลองออกอากาศ
ที่มา : ศูนย์ข่าวสถาบันอิศรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา