ปมพิพาทกรณี “ความเหลื่อมล้ำ” ในระบบประกันสุขภาพ
ระหว่างผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่มีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เป็นผู้กำกับการบริการ ก้าวเข้าสู่เดือนที่ 3 ของความพยายามถางทางออก
ย้อนกลับไปช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มี “สัญญาณ” อ่อนๆ ถึงความพร้อมในการแก้ปัญหาส่งออกมาจากซีกการเมือง เมื่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน ในฐานะต้นสังกัดสปส.ระบุว่า พร้อมจะแก้กฎหมาย (พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533) เพื่อ เปิดช่องให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมสามารถเลือกได้ว่าจะเปลี่ยนไปใช้ สิทธิบัตรทองได้ หากผู้ประกันตนมองว่าบัตรทองให้สิทธิประโยชน์ดีกว่าระบบประกันสังคมจริง
“แต่การแก้กฎหมายต้องแก้พร้อมกันทั้งของสปส.และสปสช. มิเช่นนั้นเมื่อแก้ฉบับหนึ่งก็จะไปติดล็อคอีกฉบับหนึ่ง สุดท้ายแล้วการเปิดช่องก็คงไม่อาจทำได้”คือท่าทีของรัฐมนตรีแรงงาน พรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น
ส่วนประธานคณะกรรมการสปสช.โดยตำแหน่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ก็แสดงท่าทีในลักษณะไม่ได้ยินดียินร้ายกับข้อเสนอแต่อย่างใด ขอเพียงกระทรวงแรงงานในฐานะต้นสังกัดสปส.ทำเรื่องมาก่อน หากเกี่ยวข้องกับสปสช.ก็ยินดีดำเนินการ
“ต้องให้สปส.เริ่มก่อน ผมไม่อยากให้เกิดภาพว่าสปสช.ไปแย่งงานสปส.ทำ” เป็นคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีสาธารณสุข พรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังนายเฉลิมชัยส่งสัญญาณเพียง 1 วัน
การสื่อสารระหว่าง 2 กระทรวงผ่านสื่อมวลชนทำให้สังคมเคลือบแคลงใจว่า เป็นเพียงความพยายามเพื่อเตะถ่วง โยนลูกไปมา และไม่จริงใจในการแก้ปัญหาตามสไตล์ของพรรคประชาธิปัตย์ใช่หรือไม่
ด้วย ความไม่เชื่อใจและไม่มั่นต่อวิธีการแก้ปัญหาจากฝ่ายการเมืองว่าจะคลายปมที่ เกิดขึ้นครั้งนี้ได้ ในฐานะของผู้ประกันตนกลุ่มหนึ่งในนามชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนจึงยึดช่อง ทาง “กระบวนการยุติธรรม” เป็นที่พึ่ง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง โฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน บอก ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมรายชื่อผู้ประกันตนซึ่งมีจำนวนมากก่อนจะ ยื่นฟ้องศาลต่อแรงงาน เพื่อให้สปส.คืนเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบด้านสุขภาพจำนวน 1.5% ตั้งแต่ปี 2545 แล้วนำไปใช้ในกองทุนบำนาญชราภาพ คาดว่าทนายจะยื่นคำฟ้องได้ภายใน 15 วัน
นอกจากนี้ เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในประเด็นกฎกระทรวงแรงงานที่กำหนดให้มีการจ่าย เงินสมทบเป็นกฎกระทรวงที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากกำหนดให้ผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ต้องร่วมจ่ายค่าบริการ สุขภาพ
อีกทั้ง ล่าสุดได้รับแจ้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าเตรียมที่จะนำเรื่อง ของชมรมพิทักษ์สิทธิ์ฯ ซึ่งเคยยื่นคำร้องเอาไว้ ฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ขัดต่อรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 หรือไม่
การเคลื่อนไหวของชมรมพิทักษ์สิทธิฯ ด้วยการดำเนินการตามช่องทางกฎหมาย สอดคล้องกับคำแนะนำของ นายภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่มองว่า ในเมื่อผู้ประกัน ตนในระบบประกันสังคม 9.4 ล้านคน ที่ต้องจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาลแต่กลับได้สิทธิประโยชน์น้อยกว่าการรักษา ฟรีของสปสช.สามารถใช้ช่องทางทางกฎหมายต่อสู้
“ผู้ประกันตนต้องทำเรื่องอุทธรณ์ไปยังสปส.กรณีได้รับความเหลื่อม ล้ำเรื่องการ จ่ายเงิน หากสปส.ยืนกรานว่าดำเนินการอย่างสุจริตก็ให้ผู้ประกันตนยื่นเรื่องต่อศาล ปกครองโดยตรงในประเด็น สปส.ใช้อำนาจหน้าที่ก่อให้เกิดปัญหากับประชาชน"
ศาลอาจมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวผู้ประกันตนทั้ง 9.4 ล้านคนให้หยุดจ่ายเงินสมทบไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งหากผู้ประกันตนแพ้ก็ค่อยกลับมาจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้”นักกฎหมายรายนี้ วิเคราะห์
อาจารย์ ภูมิ เสนออีกว่า ผู้ประกันตนยังสามารถใช้ช่องทางการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าพ.ร.บ. ประกันสังคมขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลพิพากษาว่าขัดจริงสปส.ก็อาจจะต้องจ่ายเงินชดเชยย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ย คืนแก่ผู้ประกันตน
สำทับความเป็นไปได้ของแนวทาง จากมุมมองทางกฎหมายของ นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ที่ เชื่อว่า ก่อนหน้านี้สภานายจ้าง 7 องค์กรได้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าขัดจริงแล้วยื่นเรื่องต่อไปยังศาลรัฐ ธรรมนูญ และท้ายที่สุดศาลพิพากษาว่าผิดจริง สปส.อาจต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ประกันตน
สำหรับแนวทางการชดเชยอาจเป็นไปได้2 แนวทางคือ 1.หากเกิดความเสียหายขึ้นและไม่มีแนวทางอื่นเยียวยา ศาลอาจสั่งให้ สปส.จ่ายเงินคืนผู้ประกันตนย้อนหลังนับตั้งแต่ที่มีการยื่นฟ้องคดี 2.แม้ว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นจริง แต่ สปส.ได้ดำเนินการอย่างสุจริตศาลอาจพิจารณาว่า สปส.ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยคืน
ทางด้านสปส.นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสปส.ไม่ได้ ยี่หระต่อการดำเนินการของชมรมพิทักษ์สิทธิฯ แต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเห็นด้วยที่จะให้กระบวนการยุติธรรมชี้ขาดปมพิพาทที่เกิดขึ้น
"ผมเห็นด้วยถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งถ้าผลออกมาเป็นอย่างไร สปส.จะได้ปฏิบัติตามนั้น แต่อย่ามาอ้างกันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้วินิจฉัยแล้วว่าสปส.ผิด เพราะนั่นไม่ใช่การตีความ"เลขาฯ ปั้น ยืนยัน
นายปั้น ย้ำอีกว่า อยากให้มีความชัดเจนว่าการเก็บเงินสมทบจากผู้ประกันตนของสปส.กรณีค่ารักษา พยาบาล 0.88% ทุกเดือนขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ตามที่มีผู้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาหรือไม่ หากผลการตีความชัดเจนอย่างไรทาง สปส.ก็พร้อมปฏิบัติตาม แต่เชื่อว่ากว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคงใช้เวลาอีกนาน
เช่นเดียวกับ นายแล ดิลกวิทยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบประกันสุขภาพมีแนวโน้มที่จะจบลงในชั้นศาล รัฐธรรมนูญ นั่นเพราะผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าภาครัฐจะต้องให้บริการด้านสุขภาพแก่ ประชาชน คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้ข้อยุติ
อย่างไรก็ดีแม้ว่า “กระบวนการยุติธรรม” จะเป็นความหวัง ของผู้ประกันตนในการคลายปมความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในระบบ ประกันสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสักคำร้องเดียวที่ยื่นต่อศาล เพื่อให้พิจารณา
คำถามก็คือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ผู้ประกันตนจำนวนเฉียด 10 ล้านคน จะลุกขึ้นทวงสิทธิความเสมอหน้าด้วยตัวของตัวเอง
เขียนโดย ทีม thaireform
วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2011
ศูนย์ข่าวสถาบันอิศรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา