เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

“ประชาธิปไตย” เบื้องต้นสำหรับสามัญชน

โดย ปรีดี พนมยงค์

-๑-
ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย”
คำว่า “ประชาธิปไตย” ประกอบด้วยคำว่า “ประชา” หมายถึงหมู่คนคือปวงชน กับคำว่า ”อธิปไตย” หมายถึงความเป็นใหญ่
คำว่า “ประชาธิปไตย” จึงหมายถึง “ความเป็นใหญ่ของปวงชน”

ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย” ไว้ในหนังสือพจนานุกรมของทางราชการว่า “แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่”

ทั้งนี้พึงเข้าใจว่าการที่ปวงชนจะมีความเป็นใหญ่ในการแสดงมิติได้ก็จำเป็นที่ชนทุกคนรวมกันเป็นปวงชนนั้นต้องมี “สิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน” อันเป็นสิทธิและหน้าที่ตามธรรมชาติของทุกคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคซึ่งมนุษย์จะต้องใช้พร้อมกันกับหน้าที่ มิให้เกิดความเสียหายแก่เพื่อมนุษย์อื่นและหมู่คนอื่นหรือปวงชนเป็นส่วนรวม ถ้าชนส่วนมากซึ่งเป็น “สามัญชน” ถูกตัดสิทธิมนุษยชนโดยให้มีหน้าที่แต่อย่างเดียว สามัญชนก็มีลักษณะเป็นทาส หรือข้าไพร่ของชนส่วนน้อยซึ่งมีสิทธิใหญ่ยิ่งหรือ “อภิสิทธิ์ชน” แบบการปกครองจึงไม่ใช่ประชาธิปไตย ถ้าสามัญชนมีสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว โดยไม่มีหน้าที่มนุษยชน แบบการปกครองก็เกินขอบเขตของประชาธิปไตย

-๒-
ความหมายของคำว่า “รัฐธรรมนูญ”
คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วยคำว่า “รัฐ” หมายถึงบ้านเมืองหรือแผ่นดินกับคำว่า “ธรรมนูญ” หมายถึงกฎหมายว่าด้วยระเบียบการ

รัฐธรรมนูญ จึงหมายถึงกฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ
บางครั้งเรียกกฎหมายชนิดนี้ว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” หรือ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร” บางประเทศเรียกว่า “ธรรมนูญ” ตามภาษาของเขาซึ่งแปลเป็นไทยว่า “กฎบัตร” และ “กฎหมายวางระเบียบปกครองรัฐ”

มีผู้เข้าใจผิดว่าประเทศใดมีรัฐธรรมนูญ ประเทศนั้นก็มีการปกครองแบบประชาธิปไตย อันที่จริงนั้นรัฐธรรมนูญเป็นเพียงระเบียบการที่เขียนเป็นกฎหมายว่าประเทศ (รัฐ) นั้น ๆ ปกครองกันแบบใด แทนที่จะปล่อยให้ผู้มีอำนาจปกครองกระทำตามความพอใจของตนโดยไม่มีข้อกำหนดไว้

รัฐธรรมนูญแต่ลำพังยังไม่เป็นแบบการปกครองประชาธิปไตยเสมอไป อาทิ บางประเทศปกครองตามแบบเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญเผด็จการของตน เช่น ประเทศอิตาลีสมัยมุสโสลินีที่เป็นจอมเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญ ประเทศสเปนและโปรตุเกสปัจจุบันที่ปกครองแบบเผด็จการก็มีกฎหมายซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐธรรมนูญที่กำหนดระเบียบการปกครองประเทศทั้งสองนั้นตามแบบเผด็จการ รัฐบาลถนอมประภาสปกครองตามแบบเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญที่เรียกว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”

ฉะนั้นต้องพิจารณารายละเอียดในตัวบทของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดให้ถือมติปวงชนเป็นใหญ่และให้สิทธิของมนุษยชนแก่ประชาชน รัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นประชาธิปไตย ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดถือตามความเห็นชอบของอภิสิทธิ์ชนและจำกัดสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนพึงมีได้ รัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

-๓-
ความเป็นมาของ “สิทธิและหน้าที่มนุษยชน”และ อภิสิทธิ์ชนกับมวลชน
(๑) ในยุคดึกดำบรรพ์ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ขึ้นในโลกนั้น มนุษย์รวมกันอยู่เป็นหมู่คน ซึ่งมีหัวหน้าปกครองอย่างแม่พ่อปกครองลูก ไม่มีการกดขี่เบียดเบียนระหว่างกัน เช่นพ่อแม่ปกครองลูกนั้น พ่อแม่มิได้เบียดเบียนลูก ชนในหมู่คนนั้นมีเสรีภาพเสมอภาคกันและมีสำนึกในหน้าที่ว่าหมู่คนของตนจะดำรงอยู่ได้นั้นแต่ละคนจะต้องใช้เสรีภาพมิให้เป็นที่เสียหายแก่คนอื่นและแก่หมู่คน สิทธิและหน้าที่มนุษยชนจึงเป็นไปตามธรรมชาติประจำอยู่กับมนุษย์ตั้งแต่มีมนุษย์ขึ้นในโลก ปวงชนของหมู่คนนั้นจึงมีแต่สามัญชนจำพวกเดียว แบบการปกครองเป็นไปอย่างประชาธิปไตยสมบูรณ์

หมู่คนชนิดนี้ยังมีซากตกค้างอยู่บ้างในสมัยพุทธกาล เช่นสักกะชนบท และในสมัยรัชกาลที่ ๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ไปตรวจราชการภาคอีสานก็ได้ทรงพบว่ามีชนบทหนึ่งซึ่งมีซากหมู่คนชนิดนี้แต่ปัจจุบันหมดไปแล้ว

(๒) กาลต่อมาได้มีการปกครองแบบทาสขึ้น คือชนส่วนน้อยจำนวนหนึ่งในหมู่คนใช้อำนาจถือเอาแผ่นดินเป็นที่ตั้งหมู่คนนั้นเป็นของตน และถือว่าชนส่วนมากเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งของตน ซึ่งตนมีอำนาจเฆี่ยนตีเข่นฆ่าได้เหมือนสัตว์พาหนะ ชนจำนวนน้อยนั้นจึงเป็นเจ้านายยิ่งใหญ่ เป็น “อภิสิทธิ์ชน” ซึ่งมีอำนาจและสิทธิเด็ดขาดเหนือชนส่วนมากที่เป็น “สามัญชน” ๆ ถูกตัดสิทธิมนุษยชนโดยมีแต่หน้าที่จำต้องทำงานอย่างสัตว์พาหนะให้แก่ “อภิสิทธิ์ชน” สามัญชนจึงมีสภาพตามที่ภาษาไทยเดิมเรียกว่า “ข้า” ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า “ทาสา” ซึ่งแผลงเป็นภาษาไทยว่า “ทาส”

ตามธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการเสรีภาพและความเสมอภาคอันเป็นสิทธิของมนุษยชน แม้ “อภิสิทธิ์ชน” มีอำนาจเฆี่ยนตีเข่นฆ่า แต่มนุษย์ก็ต้องการหลุดพ้นจากการถูกกดขี่บีบคั้น เราย่อมเห็นได้ว่าสัตว์เดรัจฉานที่คนจับมาใช้งานก็พยายามดิ้นรนที่จะเป็นอิสระ อภิสิทธิ์ชนจึงคิดวิธีเพิ่มเติมประกอบอำนาจของตนขึ้นมาอีกวิธีหนึ่ง คือทำให้ “ข้า” หรือ “ทาส” หลงเชื่อว่าเจ้าใหญ่นายโตที่มีอำนาจยิ่งใหญ่นั้นได้ก็เพราะเป็นคนมีบุญผู้ที่พระเจ้าบนสวรรค์ได้ส่งเทวดาให้มาจุติเกิดเป็นมนุษย์เพื่อปกครองปวงชน

(๓) ครั้นต่อ ๆ มาได้มีการปกครองแบบศักดินาขึ้น คืออภิสิทธิ์ชนได้ปรับปรุงแบบการปกครองทาสให้ทำงานเพื่อประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนได้ผลยิ่งขึ้นตามเครื่องมือหัตถกรรมที่พัฒนาขึ้นและตามการบุกเบิกและหักร้างถางพงในแผ่นดินกว้างใหญ่ให้เป็นที่นากว้างขวางขึ้น จึงจำต้องให้ “ข้า” หรือ “ทาส” ออกไปอยู่ห่างไกลจากเคหสถานของ “อภิสิทธิ์ชน” ผู้เป็นเจ้าของ อภิสิทธิ์ชนจึงต้องมีบริวารช่วยควบคุมข้าทาสและตั้งให้บริวารเหล่านี้มีฐานันดรศักดิ์อันดับต่าง ๆ ซึ่งแต่ละคนมี “ศักดิ์” คิดตามเนื้อหาที่นา ฐานันดรศักดิ์นี้จึงเรียกว่า “ศักดินา”

ส่วนสามัญชนซึ่งเป็นคนจำนวนมากนั้นในสาระคงมีสภาพเป็น “ข้า” แต่มีคำใหม่เรียกว่า “ไพร่” โดยที่สามัญชนเข้าใจสาระของไพร่ว่าเป็น “ข้า” ชนิดหนึ่ง ฉะนั้นจึงเรียกสามัญชนในสมัยศักดินาว่า “ข้าไพร่” ซึ่งมีความเป็นอิสระดีกว่าทาสบ้าง แต่ทาสก็ยังไม่หมดสิ้นไปในสมัยศักดินา

ความหลงเชื่อว่าอภิสิทธิ์ชนเป็นเทวดาที่มาจุติในโลกมนุษย์ก็ยังคงฝังอยู่ในจิตใจของสามัญชน

(๔) ต่อมาในประเทศยุโรปได้มีผู้คิดทำเครื่องจักรกลใช้กำลังไอน้ำได้สำเร็จ จึงได้มีนายทุนเจ้าของโรงงานสมัยใหม่ที่ใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ผลิตสิ่งของและพาหนะการขนส่ง ฯลฯ แทนแรงคนและแรงสัตว์พาหนะ นายทุนเจ้าของโรงงานจำเป็นต้องใช้ลูกจ้างที่มีความรู้ความสามารถใช้เครื่องจักรกลสมัยใหม่ ในการนั้นจำเป็นต้องให้คนงานมีเสรีภาพจึงจะมีกำลังใจใช้เครื่องมือสมัยใหม่ให้ได้ผลอย่างยุโรปตะวันตกโดยมีรัฐธรรมนูญเขียนเป็นกฎหมายให้สามัญชนหมดสภาพเป็น ”ข้าไพร่” และให้มีสิทธิมนุษยชนเสมอภาคกับนายทุน แต่ในทางปฏิบัตินั้นนายทุนได้เปรียบเพราะอาศัยทุนใช้จ่ายเพื่อใช้สิทธิมนุษยชนของตนได้มากกว่าสามัญชน

นายทุนยุโรปส่วนที่สะสมทุนไว้ได้มหาศาลจึงเป็นนายทุนยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งเรียกว่า “จักรวรรดินิยม” นั้นได้แผ่อำนาจไปยังอเมริกา ญี่ปุ่น แล้วก่อให้เกิดนายทุนจักรวรรดินิยมอเมริกันและญี่ปุ่นขึ้น พวกนายทุนมหาศาลเหล่านี้ได้แผ่อำนาจเข้ามาในประเทศด้วยพัฒนาซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงประกาศยกเลิกการปกครองทาส แต่การปกครองแบบศักดินายังมีอยู่ ชนชาวไทยปัจจุบันจึงมีฐานะและวิธีครองชีพต่าง ๆ กันมากมายหลายชนชั้นวรรณะตามวิธีศักดินาและวิธีนายทุนสมัยใหม่ เราเห็นได้แก่นัยน์ตาของเขาเองว่า ภายในปวงชนปัจจุบันนี้มีคนไร้สมบัติต้องเป็นลูกจ้างของนายทุน ชาวนา ชาวประมง ชาวสวน ชาวไร่ ช่างฝีมือ ผู้ทำมาหากินโดยแรงงานของตนเอง บุคคลส่วนมากดังกล่าวแล้วอัตคัดขัดสน ส่วนน้อยมีรายได้พอทำพอกิน มีชนผู้มีทุนน้อยรายได้พอทำพอกิน มีคนชั้นกลางรายได้ปานกลางพอมีเหลือเก็บสะสมได้ มีนายทุนรายได้ค่อนข้างมาก มีนายทุนใหญ่มหาศาลรายได้มากมายล้นเหลือเนื่องจากอาศัยทุนมหาศาลสมัยใหม่และรับช่วงทุนมหาศาลศักดินา

เราอาจจัดชนจำพวกปลีกย่อยต่าง ๆ ภายในปวงชนไทยตามจำนวนส่วนข้างน้อย และส่วนข้างมากเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ

ก.”อภิสิทธิ์ชน” คือชนจำนวนส่วนข้างน้อยที่สุดของปวงชนได้แก่ นายทุนยิ่งใหญ่มหาศาล เนื่องจากสะสมทุนสมัยใหม่และรับช่วงสมบัติศักดินา มีฐานะดีที่สุดยิ่งกว่าคนจำนวนมากในชาติ อภิสิทธิ์ชนหมายความรวมถึงสมุนที่ต้องการรักษาอำนาจและสิทธิของอภิสิทธิ์ชนไว้

ข.”สามัญชน” คือชนจำนวนส่วนมากที่สุดของปวงชน ประกอบด้วยชนทุกฐานะและอาชีพที่ไม่ใช่ประเภทอภิสิทธิ์ชน

-๔-
หลักสำคัญในการพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นประชาธิปไตยหรือไม่
(๑) รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่กำหนดแบบการปกครองขึ้นใหม่ ต่างจากการปกครองแบบเก่าย่อมมีทั้งตัวบทถาวรและตัวบทเฉพาะกาลในระยะหัวต่อระหว่างสองระบบนั้น ซึ่งเมื่อพ้นระยะเวลาชั่วคราวนั้นแล้วก็เหลือแต่บทถาวรของระบบการปกครองใหม่ แม้รัฐธรรมนูญดังกล่าวนี้จะไม่มีหมวดมาตราที่ระบุเจาะจงว่าเป็นบทเฉพาะกาล แต่ในตัวรัฐธรรมนูญนั้นเองก็ต้องมีบทบาทอย่างหนึ่งเขียนไว้ซึ่งมีลักษณะเป็นบทเฉพาะกาลหรือบทชั่วคราวนั้นเอง รัฐธรรมนูญแบบเผด็จการซึ่งผู้มีอำนาจทำอะไรได้ตามชอบใจตนนั้นจึงเขียนรัฐธรรมนูญตามชอบใจได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสมควรว่าจะมีบทเฉพาะกาลในระยะหัวต่อระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ไว้ ฉะนั้นสามัญชนจึงต้องพิจารณารายละเอียดที่เป็นบทถาวรของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับว่าเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

(๒) รัฐธรรมนูญต่าง ๆ ย่อมมีรายละเอียดมากน้อยต่าง ๆ กัน
วิธีร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยถาวรฉบับ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งพระยามโนปกรณ์ประธานอนุกรรมการได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงเห็นชอบด้วยและทรงพอพระทัยมากนั้น ได้ถือหลักบัญญัติรายละเอียดไว้เท่าที่จำเป็นสำหรับแบบการปกครองประชาธิปไตยเป็นจำนวนเพียง ๖๘ มาตรา เพื่อมิให้เป็นที่น่าเบื่อหน่ายแก่สามัญชนที่จะต้องอ่านในเรื่องที่รู้อยู่แล้ว ประธานอนุกรรมการฯได้ให้ความเห็นไว้ตอนหนึ่งในการอภิปรายเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ถึงความไม่จำเป็นของรายละเอียดบางประการที่ไม่ต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ทำให้ดีขึ้นหรือเลวลง ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ให้หรู ๆ เพราะไม่เขียนก็รู้อยู่แล้ว

จึงขอให้สามัญชนหาโอกาสอื่นรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เพื่อทราบตัวอย่างของความไม่จำเป็นต้องเขียนฟุ่มเฟือยไว้ในรัฐธรรมนูญ

นายหงวน ทองประเสริฐ กล่าวว่า ในหมวดสภาผู้แทนราษฎรว่าผู้แทนราษฎรต้องปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ อยากทราบความประสงค์ของท่านประธานอนุกรรมการว่า พระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิญาณไหม

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตอบว่าผู้ที่เป็นสมาชิกสภานี้ก่อนที่จะเข้ามารับหน้าที่ ต้องปฏิญาณและตามประเพณีราชาภิเศกก็มีการปฏิญาณอยู่แล้ว

นายหงวน ทองประเสริฐ กล่าวว่าควรบัญญัติไว้
พระยาราชวังสัน กล่าวว่าในประเทศเดนมาร์กถึงเป็นรัชทายาทก็ต้องปฏิญาณเหมือนกัน เพราะในโอกาสบางคราวต้องทำการเป็นผู้แทนพระเจ้าแผ่นดินแต่ความคิดของเรานี้ก็เพื่อวางระเบียบ ว่าสิ่งใดที่เป็นแบบธรรมเนียมอยู่แล้ว เราไม่อยากพูดมากนัก ตามความคิดเดิมในการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ประสงค์ไม่ให้ยาวเกินไป สิ่งใดที่มีและการพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมือนกัน ฉะนั้นจึงไม่บัญญัติไว้ เพราะความคิดเช่นนั้นเราวางไว้ เห็นว่าไม่เป็นอะไร ทั้งเห็นความสะดวกกว่าการบัญญัติเช่นนี้จะดีกว่า

นายหงวน ทองประเสริฐ ตอบว่าความจริงเห็นด้วย แต่ธรรมเนียมนั้นไม่ใช่บทบังคับ อีกประการหนึ่งสิ่งนี้เป็นคราวแรกไม่เคยใช้มา

พระยามนธาตุราช กล่าวว่า ประเทศอื่น ๆ ที่จะผลัดเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินเขามีในธรรมนูญ

พระยาราชวังสัน ตอบว่า ในรัฐธรรมนูญบางฉบับได้บัญญัติคำไว้ว่าจะปฏิญาณอย่างนั้น ของเราทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงปฏิญาณต่อหน้าเทวดาทั้งหลายและพระพุทธรูปเป็นต้น เราอยากจะเงียบเสีย

นายหงวน ทองประเสริฐ กล่าวว่า ขอเรียนถามว่าควรจะแก้ไขอย่างไรหรือไม่

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตอบว่าไม่เห็นจำเป็นเพราะไม่ทำให้ดีขึ้นหรือเลวลง มีอยู่แล้วจะไปล้างเสียทำไม ถ้าแม้ว่าความข้อนี้ตัดความหรือเพิ่มสิทธิก็ควรอยู่ การที่บัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อเขียนไว้ให้หรู ๆ ถึงไม่เขียนก็รู้อยู่แล้ว

นายหงวน ทองประเสริฐ กล่าวว่า เพื่อความเข้าใจของราษฎรทั้งหลาย ให้ลงมติว่าจะสมควรหรือไม่

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม กล่าวว่า ข้าพเจ้าขอแถลงให้ที่ประชุมทราบเท่าที่นายหงวน ทองประเสริฐ ได้ร้องให้เติมร่างว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงปฏิญาณนั้น การที่ไม่เขียนไว้ก็ดีก็ให้ถือว่าเวลาขึ้นเสวยราชย์ต้องทรงกระทำตามพระราชประเพณี การที่ไม่เขียนไว้นี้ไม่ใช่เป็นการยกเว้นที่พระองค์จะไม่ต้องทรงปฏิญาณ ขอให้จดบันทึกข้อความสำคัญนี้ไว้ในรายงาน

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า เนื่องจากหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กล่าวแล้ว ข้าพเจ้าขอแถลงว่าได้เคยเฝ้าและทรงรับสั่งว่าพระองค์เองได้ทรงปฏิญาณเวลาเสวยราชสมบัติและเวลาขึ้นรับเป็นรัชทายาทก็ต้องปฏิญาณชั้นหนึ่งก่อน ความข้อนี้เมื่อพระองค์เองทรงรับสั่งเช่นนี้ เพราะฉะนั้นรับรองได้อย่างที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่าเป็นพระราชประเพณีเดียว
นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า เป็นที่เข้าใจว่า พระเจ้าอยู่หัวต้องทรงปฏิญาณตามนี้ แต่นี่เป็นรัฐธรรมนูญสำคัญอย่างยิ่ง เท่าที่ได้จดบันทึกรายงานยังน้อยไป ถ้าอย่างไรให้มีไว้ในธรรมนูญจะดียิ่ง

หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ตอบว่า สภาผู้แทนราษฎรต้องเห็นชอบในการอัญเชิญพระมหากษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์หรือในการสมมติรัชทายาท ถ้าองค์ใดไม่ปฏิญาณเราคงไม่ลงมติให้

นายจรูญ สืบแสง กล่าวว่า องค์ต่อ ๆ ไปอาจไม่ปฏิญาณ

พระยาราชวังสัน ตอบว่า ตามหลักการในที่ประชุมต่าง ๆ ถ้ามีคำจดในรายงานแล้ว เขาถือเป็นหลักการเหมือนกัน

ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงให้สมาชิกลงมติตามมาตรา ๙ ว่า “การสืบราชสมบัติท่านว่าให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎมณเฑียรบาลหรือให้เติมคำว่า “จะต้องปฏิญาณ”

ประธานสภาฯ กล่าวว่า บัดนี้มีความเห็น ๒ ทาง คือทางหนึ่งเห็นว่าควรคงตามร่างเดิม อีกทางหนึ่งว่า ควรเติมความให้ชัดยิ่งขึ้น

ที่ประชุมลงมติตามร่างเดิม ๔๘ คะแนน ที่เห็นว่าให้เติมความให้ชัดขึ้นมี ๗ คะแนน เป็นอันตกลงว่าไม่ต้องเติมความอีก

วิธีร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ ได้ถือหลักร่างไม่ฟุ่มเฟือยตามวิธีดังที่พระยามโนปกรณ์กล่าวไว้ แต่เพราะเหตุร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๘๙ กำหนดให้มีรัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทนจึงต้องมีบทบัญญัติรวม ๙๖ มาตรา มากกว่าฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ เพียง ๒๘ มาตรา

รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๔๙๒ มี ๑๘๘ มาตรา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๑๗ แบบหนึ่ง ๒๒๔ มาตรา แบบสอง ๒๒๕ มาตรา

สาระสำคัญอยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นได้บัญญัติข้อความไว้พอเพียงแก่การให้สิทธิมนุษยชนแก่ปวงชนหรือไม่ และพอเพียงแก่การถือมติปวงชนเป็นใหญ่หรือไม่ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใดเขียนไว้ฟุ่มเฟือยยืดยาวทำให้สามัญชนเห็นไว้ได้สิทธิมากแต่ในสาระบั่นทอนสิทธิมนุษยชนและมิใช่การถือมติปวงชนเป็นใหญ่อย่างแท้จริง ความฟุ่มเฟือยยืดยาวก็ไม่อาจช่วยให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้

1 ความคิดเห็น:

  1. บทพิสูจน์ ประชาธิปไตย ในแผ่นดิน
    วันทักษิณ มายิ่งใหญ่ ได้อีกหน
    วันอำมาตย์ ได้สำนึก รู้สึกตน
    ว่าเป็นคน เห็นแก่ตัว มั่วปกครอง

    จนทำให้ ประเทศไทย ไร้มาตรฐาน
    เผด็จการ ครองเมือง เฟื่องลำผอง
    ประชาชน ถูกแบ่งแยก แตกเป็นสอง
    เพื่อสนอง กิเลสมาร กระเทยเฒ่า

    หลงลืมตน ว่ายิ่งใหญ่ เท่าเทียมฟ้า
    มิรู้ค่า ประชาธิปไตย ให้หมองเศร้า
    การปกครอง สองมาตรฐาน รัฐบาลเงา
    จึงสวมเขา ประชาชน สับสนตาม

    ดังลักเพศ ประเทศไทย ไร้ระบอบ
    ใครชื่นชอบ หลากหลายเพศ ช่วยแบกหาม
    ยิ้มสยาม สิ้นสลาย ไม่สง่างาม
    ร่ำร้องถาม ความอายใจ จากนายก

    ตอบลบ

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา