เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

ความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงในสังคมไทย

ข้อมูลสถิติที่แสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างกลุ่มคนจนและกลุ่มคนรวยสุดนั้น

พอจะเป็นที่รับทราบกันในขณะนี้ว่ามีความต่างกันถึงประมาณ 13 เท่า ความต่างด้านรายได้บ่งบอกว่าคนรวยและคนจนมีมาตรฐานการครองชีพต่างกันอย่างไร แต่ถ้าจะดูความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงแล้ว จะต้องดูที่ความมั่งคั่ง (wealth) หรือการเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่างๆ ได้แก่ ที่ดิน เงินออม หุ้น ทอง เพชรนิลจินดา ของเก่ามีค่า เช่น พระเครื่อง เครื่องลายคราม และภาพเขียนราคาแพง ฯลฯ

ในประเทศพัฒนาแล้วนั้น จะมีการเก็บข้อมูลสถิติด้านความมั่งคั่งของคนในประเทศอย่างละเอียด เพื่อประโยชน์สำหรับการมีนโยบายสาธารณะด้านภาษีที่เหมาะสม ทั้งนี้ การเก็บภาษีมีหลักการอยู่ที่การจ่ายตามความมั่งคั่งด้วย และเพื่อสามารถที่จะใช้นโยบายภาษีทรัพย์สินเป็นเครื่องมือช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ป้องกันไม่ให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นภัยกับสังคม และป้องกันไม่ให้มีการสะสมทรัพย์สินเอาไว้เก็งกำไรแบบเสือนอนกิน เพราะว่าถ้าสามารถทำได้เช่นนั้นทรัพย์สินมีค่า เช่น ที่ดิน ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง และเป็นที่ต้องการของนักอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโรงงาน และเป็นที่ต้องการของคนทั่วไปเพื่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัย ก็จะมีราคาแพงจนเกินเหตุ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และทำให้คนธรรมดาทั่วๆ ไปที่หาเช้ากินค่ำโชคไม่ดีที่ไม่มีมรดก ไม่อาจหาซื้อบ้านที่อยู่อาศัยในราคาที่จะซื้อหาได้จากการทำงานจากหยาดเหงื่อของตนเองได้ และค่าเช่าบ้านดีๆ ก็จะแพงจนเกินเหตุอีกเช่นกัน

การเก็บภาษีทรัพย์สิน ซึ่งภาษีมรดกก็เป็นภาษีทรัพย์สินประเภทหนึ่งนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลสถานหนึ่งแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และเร่งให้มีการใช้ทรัพย์สินให้เป็นประโยชน์กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสังคมที่มีความเสมอภาคค่อนข้างสูงนั้น ภาษีทรัพย์สินจากการรับมรดกที่มีมูลค่าสูงมากๆ (ส่วนใหญ่ก็คือที่ดินและคฤหาสน์ราคาแพง) มีอัตราที่ค่อนข้างสูง เพื่อผลักดันให้ผู้รับมรดกเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปสร้างมูลค่าเพิ่ม (เอาไปลงทุนต่างๆ) จะได้มีรายได้มาเสียภาษี และหากว่าผู้รับมรดกนั้นๆไม่ทำอะไรเลยติดต่อกัน 3 ชั่วอายุคน ก็จะต้องขายที่ดินนั้นไปเพื่อเอามาเสียภาษี เมื่อต้องขายก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นมาซื้อเอาไปทำประโยชน์ได้ เป็นผลดีกับเศรษฐกิจ เช่น เอาไปสร้างโรงงาน ทำโรงแรม ก่อให้เกิดการสร้างงานและเพิ่มมูลค่าให้กับระบบเศรษฐกิจ ภาษีมรดกนี้ใช้กับทุกคนไม่มีข้อยกเว้น

ผู้เขียนได้เคยอ่านบทความเกี่ยวกับจักรพรรดินีญี่ปุ่นองค์ปัจจุบัน แม้ว่าพระองค์จะเคยทรงเป็นสามัญชน แต่ก็ทรงมาจากครอบครัวร่ำรวยทีเดียว พระองค์ทรงได้รับมรดกจากครอบครัวเป็นคฤหาสน์ประจำตระกูลที่ใหญ่โตมาก และหากจะทรงรักษาคฤหาสน์นี้ไว้ในครอบครอง พระองค์จะต้องทรงจ่ายภาษีมรดกจำนวนมหาศาล ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นี้มีการอภิปรายกันที่ญี่ปุ่นในเรื่องนี้ และมีการเสนอให้รัฐบาลยกเว้นภาษีมรดกกับองค์พระจักรพรรดินี แต่ทรงแสดงพระสปิริตโดยทรงปฏิเสธข้อเสนอนี้และทรงประกาศที่จะจ่ายภาษีมรดกเฉกเช่น พลเมืองคนอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงต้องยอมขายคฤหาสน์ของตระกูลนี้ไป เพื่อที่จะจ่ายภาษีมรดกดังกล่าว

ภาษีทรัพย์สินในรูปของภาษีมรดกที่ญี่ปุ่นนับว่าเป็นมาตรการทางการคลังที่สำคัญประการหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

สำหรับในเมืองไทยนั้นเรายังไม่ได้ให้ความสนใจกับการใช้นโยบายภาษีเป็นเครื่องมือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้น ข้อมูลสถิติที่มีอยู่จึงบ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งที่สูง และสูงกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มากที่เดียว ดังจะแสดงให้เห็นในข้อมูลข้างล่างนี้

ที่ดิน ข้อมูลการถือครองที่ดินนำร่องใน 8 จังหวัด ทำให้ได้ภาพของขนาดการถือครองที่ดินและการใช้ที่ดินโดยละเอียด พบว่าผู้ถือครองพื้นที่รวมมากที่สุด 50 อันดับแรก (ทั้งปัจเจกและนิติบุคคล) มีที่ดินรวมกันโดยเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 10 ของทั้งหมด ซึ่งนับว่าสูงมาก ถ้าหากดูจำนวนที่ดินที่ถือครองโดยเจ้าของรายใหญ่ที่สุดในบางจังหวัดก็จะพบ เช่น ที่ปทุมธานี รายใหญ่ที่สุดมีที่ดินรวมกัน 28,000 ไร่ ที่สมุทรปราการ 17,000 ไร่ ที่นครนายก 34,000 ไร่ นับเป็นที่ดินจำนวนมหาศาล แต่ขณะนี้อัตราภาษีบำรุงท้องที่ ยังมีลักษณะถดถอย คือคนมีที่ดินมากเสียภาษีเป็นสัดส่วนของมูลค่าที่ดินต่ำกว่าคนมีที่ดินน้อย

เงินออมในธนาคาร สถิติโดยธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับเดือนมิถุนายน พ.ศ.2552 บอกเราว่า บัญชีที่มีเงินมากกว่า 10 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 70,000 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของจำนวนบัญชีทั้งหมดในประเทศและเจ้าของบัญชี 70,000 บัญชีนี้มีเงินฝากรวมกัน 3 ล้านล้านบาท (เท่ากับ 1/3 ของ GDP ของประเทศไทยในปี 2551) คิดเป็นร้อยละ 42 ของเงินฝากทั้งประเทศ โดยปกติคน คนหนึ่งจะมีมากกว่า 1 บัญชี สมมุติว่าโดยเฉลี่ยมีคนละ 2 บัญชีจะได้ว่า ร้อยละ 42 ของเงินฝากทั้งประเทศอยู่ในมือของคนเพียง 35,000 คน หรืออาจจะน้อยกว่านี้ ถ้าหลายคนมีมากกว่า 2 บัญชี

การที่เงินฝากกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆ เช่นนี้มีนัยถึงการกระจุกตัวของรายได้ที่สูงมากด้วย เพราะว่าคนมีเงินออมมากๆ ก็มีโอกาสที่จะลงทุนและมีรายได้สูงกว่าคนมีเงินออมน้อย แต่ขณะนี้รัฐบาลเก็บภาษีรายได้จากดอกเบี้ย (หัก ณ ที่จ่าย) เพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ที่ TDRI ท่านหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า อัตรานี้ต่ำเกินไปสำหรับผู้มีเงินออมมากๆ รัฐบาลน่าจะเก็บภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราที่สูงกว่านี้

หุ้นในตลาดหลักทรัพย์งานศึกษาของเนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (กลุ่มทุน-ธุรกิจครอบครัวไทยก่อนและหลังวิกฤติ ได้รับทุนสนับสนุนจาก สกว.) พบว่าระหว่างปี 2538 ถึงปี 2547 มีเพียง 11 ตระกูลผลัดกันเป็นเจ้าของหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ตระกูลมาลีนนท์ ชินวัตร ดามาพงศ์ จิราธวัฒน์ เบญจรงค์กุล ดำรงชัยธรรม อัศวโภคิน เลี่ยวไพรัตน์ โพธารามิก กรรณสูต และจรณจิตต์ และรายได้จากการซื้อขายหุ้น มีการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเลย (ไม่มี capital gain tax) ขณะที่คนทำงาน (salary man และ wage-earner) ทั่วๆ ไป ต้องเสียภาษีในอัตราระหว่างร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 37

สำหรับในภาพรวมของความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งนั้นงานศึกษาโดยใช้ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่สอบถามการมีทรัพย์สินประเภทต่างๆ ของครัวเรือนไทยจากครัวเรือนตัวอย่างเมื่อปี 2549 พบว่าครัวเรือนมั่งคั่งที่สุดร้อยละ 20 มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าครัวเรือนจนสุดร้อยละ 20 อยู่ถึงประมาณ 70 เท่า (กลุ่มครัวเรือนรวยสุดมีทรัพย์สินร้อยละ 69 ของทั้งหมด ขณะที่กลุ่มครัวเรือนจนสุดมีสัดส่วนของทรัพย์สินเพียงร้อยละ 1ของทั้งหมด) หมายความว่าความมั่งคั่งต่างกัน 70 เท่า แต่ตัวเลขนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ในความเป็นจริงความต่างอาจจะสูงถึง 80 เท่า เพราะว่าคนรวยมักจะไม่บอกว่าตัวเองรวยจริงๆ เท่าไร และเจ้าพนักงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ คงไม่มีโอกาสได้สอบถามข้อมูลจากครัวเรือนรวยจริงๆ เพราะเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย และมักจะไม่ตกอยู่ในกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ

โดยสรุปข้อมูลสถิติขั้นต้นนี้ บอกให้เห็นว่าความมั่งคั่งของสังคมเรากระจุกตัวสูงอยู่ในกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียว โดยอาจจะกระจุกอยู่ในมือคนเพียงไม่กี่ตระกูล เพราะว่าต่างโยงใยกันอยู่ โดยลูกหลานจะดองกัน เข้าทำนองคำพังเพย "เรือล่มในหนองทองจะไปไหนเสีย"

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เมืองไทยจะต้องมีมาตรการภาษีทรัพย์สินประเภทต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและผลักดันให้มีการใช้ทรัพย์สินทุกประเภทเพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ที่มา : คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร มติชนรายวัน วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11575

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา