เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ปัญหาองค์การนำในขบวนการประชาธิปไตย (ตอนที่ ๑)

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
24 กันยายน 2553
ที่มา : ประชาไท
บทเรียนสำคัญประการหนึ่งจากการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 คือปัญหาการจัดการองค์การนำของขบวน ได้แก่ ประเด็นว่าด้วยสถานะของทักษิณ ชินวัตร แกนนำ นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” และลักษณะการจัดตั้งของขบวนประชาธิปไตย

1. เกี่ยวกับทักษิณ ชินวัตร
ปัญหาที่โต้แย้งกันมายาวนานประการหนึ่งคือ สถานะของทักษิณ ชินวัตรในขบวนการประชาธิปไตย ข้อถกเถียงส่วนหนึ่งเห็นว่า ทักษิณเป็นเพียงนักการเมืองที่ถูกกระทำจากรัฐประหาร 19 กันยายน จึงจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวมวลชนเพื่อประโยชน์ตน และมีแต่ขบวนประชาธิปไตยต้องถอยห่างจากทักษิณเท่านั้น จึงจะพัฒนาเติบใหญ่เป็น “พลังประชาธิปไตยบริสุทธิ์” ได้ ความเห็นนี้มักจะมาจากปีกปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตย

ในทางตรงข้าม ก็มีความเห็นว่า ทักษิณ ชินวัตรคือผู้นำหนึ่งเดียวของฝ่ายประชาธิปไตย เป็นผู้ปฏิวัติสังคมที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิง “ระบอบ” มีสถานะเยี่ยงผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เช่น นายปรีดี พนมยงค์

เราจะเข้าใจสถานะ บทบาท และขีดจำกัดของทักษิณได้ก็โดยดูจากประวัติศาสตร์ ดังเช่นที่นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวไว้ว่า “ผู้คนแต่ละรุ่นนั้นถูกสาปด้วยมรดกจากคนรุ่นก่อนและจากอดีตของตนเอง”

ทักษิณ ชินวัตรมีภูมิหลังเติบโตจากต่างจังหวัด และก็เช่นเดียวกับไพร่สามัญชนที่ไต่ระดับสู่ชนชั้นนำได้สำเร็จคือ อาศัยการศึกษาและเข้าสู่เครือข่ายของระบอบจารีตนิยม ผ่านโรงเรียนเตรียมทหารและเข้าสู่ราชการตำรวจ ถูกหล่อหลอมด้วยอุดมการณ์ของจารีตนิยมมาอย่างเหนียวแน่น แม้ภายหลังจะออกจากราชการมาทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ ก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยเครือข่ายราชการ รัฐวิสาหกิจและธุรกิจของจารีตนิยม ทั้งร่วมมือแบ่งปันผลประโยชน์และแข่งขันกัน ฉะนั้น ในทางอุดมการณ์การเมือง เขาจึงมีความโน้มเอียงทางจารีตนิยมเช่นเดียวกับสมาชิกชนชั้นนำอื่น ๆ นี่คือด้านที่เป็นจารีตนิยมล้าหลังของทักษิณ

แต่พื้นภูมิหลังต่างจังหวัดที่ดิ้นรนมาอย่างยากลำบาก ภายหลังมีประสบการณ์ทางธุรกิจและความสัมพันธ์กับระบอบโลกาภิวัฒน์ของโลก ทำให้ทักษิณมองเห็นจุดเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทย เมื่อเข้าสู่การเมือง ก็ต้องอาศัยกระบวนการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาเพื่อเข้าสู่อำนาจ ท้ายสุดยังถูกกระทำร้ายจากรัฐประหาร 19 กันยายน ทำให้เขาเห็นความสำคัญของประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน นี่คือด้านที่เป็นประชาธิปไตยก้าวหน้าของทักษิณ

ลักษณะสองด้านของทักษิณเป็นผลให้อุดมการณ์ทางการเมืองของเขามีลักษณะขัดแย้งกันเอง คือด้านหนึ่งก็ไม่กล้าแตกหักกับอำมาตยาธิปไตย ยังคงไว้ซึ่งเยื่อใย ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ เพ้อฝันที่จะเจรจาต่อรองเพื่อประนีประนอมอยู่ร่ำไป ไม่ยอมรับความจริงว่า ฝ่ายเผด็จการต้องการทำลายตัวเขาอย่างถึงที่สุด ไม่มีความเชื่อมั่นว่า ฝ่ายประชาธิปไตยจะสามารถเอาชนะฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยได้ แม้เขาจะมีวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยมชัดเจนในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจไทยตามแนวทางทุนนิยมโลกาภิวัฒน์และมีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยในเชิงนามธรรม แต่กลับไม่เข้าใจถึงลักษณะปฏิวัติและลักษณะที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้ของการต่อสู้ทางชนชั้นและการต่อสู้สองแนวทางในขั้นตอนปัจจุบัน ไม่มีความชัดเจนในเป้าหมายของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และไม่มีวิสัยทัศน์รูปธรรมถึงการก่อรูประบอบประชาธิปไตยของไทยในอนาคต

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ทักษิณก็เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้กับระบอบอำมาตยาธิปไตยเพื่อช่วงชิงประชาธิปไตย ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า ลำพังแต่เพียงกระบวนการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 นั้นไม่เพียงพอที่จะต่อสู้เพื่อเอาชีวิตตนให้รอด และยิ่งไม่เพียงพอที่จะช่วงชิงประชาธิปไตย หากแต่ต้องอาศัยมวลชนก่อรูปเป็นขบวนประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง จึงจะสามารถต่อกรกับอำมาตยาธิปไตยได้

ท่าทีและจังหวะก้าวทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตรจึงมีลักษณะไม่ชัดเจนและขัดแย้งในตัวเองเสมอมา คือ ด้านหนึ่งเขาให้การสนับสนุนและเข้าร่วมขบวนประชาธิปไตยอย่างเอาการเอางาน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาก็ต่อสู้เพื่อต่อรองประนีประนอมเป็นหลัก ทั้งร้องขอ อ้อนวอน โดยหวังว่า ฝ่ายจารีตนิยมจะ “มีเหตุผล” พอที่จะยอมอ่อนข้อให้ฝ่ายประชาธิปไตย จังหวะก้าวของเขาในหลายครั้งเป็นเสมือนเอามวลชนไปต่อรองกับจารีตนิยม ก่อให้เกิดการถดถอยของขบวนประชาธิปไตยและความสับสนในหมู่มวลชน

ทักษิณ ชินวัตร มีสถานะเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอย่างแน่นอน มวลชนนับล้านคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในช่วงการบริหารของเขาภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ว่ามีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนส่วนข้างมากของสังคม เปิดช่องให้ได้รับส่วนแบ่งอันชอบธรรมในโภคทรัพย์มวลรวมของประเทศเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความกินดีอยู่ดี ในแง่นี้ ทักษิณ ชินวัตรคือแรงบันดาลใจทางประชาธิปไตยของมวลชน

ทักษิณ ชินวัตร ยังมีสถานะเป็นผู้นำของขบวนประชาธิปไตยอีกด้วย แต่เขาไม่ใช่นักปฏิวัติสังคม เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการเจรจาต่อรอง เป็นนักการเมืองแนวทางปฏิรูปที่ยังขาดความชัดเจนเชิงรูปธรรมของแนวทางประชาธิปไตย ฉะนั้น สถานะ “ผู้นำประชาธิปไตย” ของทักษิณ ชินวัตรจึงมีขีดจำกัด ซึ่งฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องจัดการให้ถูกต้อง

“สถานะผู้นำประชาธิปไตย” ของทักษิณ ชินวัตรนั้น เป็นเชิงสัญลักษณ์ ไม่ใช่สถานะของผู้ชี้นำหรือผู้ชี้ขาดในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี อันเนื่องมาจากขีดจำกัดข้างต้น อีกทั้งยังขาดประสบการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองในแนวทางมวลชน การที่เขาต้องอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานาน ยิ่งทำให้ไม่สามารถกุมสภาพของการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง การตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรูปธรรมในสภาพการณ์เช่นนี้จึงมีแนวโน้มผิดพลาดได้ง่าย

สถานะที่ถูกต้องของทักษิณในขบวนประชาธิปไตยจึงเปรียบเสมือนการดำรงตนเป็น “ประธานคณะกรรมการของบริษัท” คือ เป็นสัญลักษณ์และแรงบันดาลใจ รับรู้ทิศทางของขบวนประชาธิปไตย เข้าใจปัญหาทางหลักการและนโยบาย หนุนช่วยทุกวิถีทาง แต่ไม่บริหาร ไม่ลงสู่ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีรูปธรรม ไม่แทรกแซงและไม่ตัดสินใจแทนฝ่ายบริหาร

2. คณะแกนนำนปช. และกลุ่มสามเกลอ “ความจริงวันนี้”
ในช่วงหนึ่งปีหลังเหตุการณ์เมษายน 2552 แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) “แดงทั้งแผ่นดิน” ได้ก่อรูปเป็นคณะแกนนำขึ้น แต่แกนกลางหลักยังคงเป็นกลุ่มสามเกลอ “ความจริงวันนี้” แม้ นปช.จะพยายามพัฒนาการนำแบบรวมหมู่ขึ้น แต่ก็ยังไม่เข้มแข็ง และเมื่อกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในช่วงมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ก็ไม่อาจต้านทานกระแสการต่อสู้ที่สลับซับซ้อนได้

สาเหตุสำคัญคือ คณะแกนนำ นปช. มีเวลาในการสั่งสมประสบการณ์น้อยมาก มิได้ผ่านการต่อสู้ร่วมกันมายาวนานพอ ยังไม่สามารถหลอมรวมกันเป็นคณะนำที่เหนียวแน่น มีเอกภาพทางอุดมการณ์และแนวทางที่ชัดเจน เมื่อเผชิญกับสถานการณ์เสี่ยงอันตรายที่จะต้องตัดสินใจเพื่อกำหนดความเป็นความตาย ก็ไม่สามารถเห็นพ้องกันในทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีได้ เกิดการแตกแยกภายใน สูญเสียการกุมสภาพมวลชนและสภาพการเคลื่อนไหวไปในที่สุด

ปัจจุบัน คณะแกนนำ นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” ได้หมดสภาพการเป็นแกนนำของขบวนประชาธิปไตย กลายเป็นนักโทษการเมือง พวกเขารวมทั้งมวลชนอีกจำนวนมากที่ถูกจับกุมคุมขังจะเป็นเป้าหมายที่ขบวนประชาธิปไตยจะต้องต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพ พร้อมกับการบรรลุประชาธิปไตยที่แท้จริงในที่สุด

บทเรียนสำคัญคือ ขบวนประชาธิปไตยยังอ่อนเล็กเกินกว่าจะเผชิญหน้ากับฝ่ายเผด็จการได้โดยตรง นปช. “แดงทั้งแผ่นดิน” ยังไม่สามารถพัฒนาเป็นองค์กรแบบแผนที่เป็นเอกภาพ มีแนวทางบริหารทรัพยากรและการทำงานมวลชนอย่างเป็นระบบ หากแต่เป็นเพียงการเชื่อมโยงกันอย่างหลวม ๆ ระหว่างกลุ่มมวลชนในพื้นที่แกนนำพื้นที่กับคณะแกนนำนปช.ระดับชาติเท่านั้น

บทเรียนจากกลุ่มสามเกลอ “ความจริงวันนี้” คือ การเคลื่อนไหวมวลชนขนานใหญ่เพื่อบรรลุประชาธิปไตยนั้นไม่อาจประสบชัยชนะได้ด้วยเพียงโวหารและการแสดงบนเวที จุดอ่อนของพวกเขาคือ ความโน้มเอียงไปในทาง “นำโดยตัวบุคคล” ขาดความเชื่อมั่นในการนำรวมหมู่ จุดแข็งของพวกเขาในหมู่มวลชนก็คือ พวกเขามีสัมพันธ์แนบแน่นกับทักษิณ ชินวัตร แต่จุดแข็งดังกล่าวก็กลายเป็นผลเสียเมื่อมีการดึงเอาทักษิณเข้ามาพัวพันกับการตัดสินใจทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเฉพาะหน้า กระทั่งอ้างเอาทักษิณมาขัดแย้งหรือปฏิเสธมติของคณะแกนนำรวมหมู่ดังที่เกิดขึ้นเมื่อพฤษภาคม 2553 เป็นการทำลายหลักการประชาธิปไตยภายในขบวนเสียเอง และสร้างความเสียหายแก่การเคลื่อนไหวมวลชนในที่สุด

แกนนำ นปช. บางคนที่มิได้ถูกจับกุมคุมขังและยังเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยต่อไปได้จะต้องสรุปบทเรียนความสำเร็จและจุดอ่อนที่ผ่านมาทั้งหมด รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากรอบด้าน ต้องไม่ดำเนินการซ้ำรอยเดิม ไม่หันไปสู่การนำส่วนบุคคลแบบวีรชนเอกชน จัดระยะห่างกับทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยให้เหมาะสม และที่สำคัญคือ เปิดใจร่วมมือกับมิตรสหายทั้งหลายในขบวนเพื่อเร่งปรับลักษณะองค์การนำและการจัดตั้งของขบวนประชาธิปไตยใหม่ เพื่อกลับมาต่อสู้ไปบรรลุประชาธิปไตยในที่สุด

2 ความคิดเห็น:

  1. ชงเบ้งกล่าวไว้ว่า " อำนาจที่ปราศจากเหตุผล คือ อำนาจของคนพาล อำนาจที่ปราศจากเมตตา คือ อำนาจที่นำมาซึ่งความปราชัย " สอดคล้องกับอำนาจของรัฐบาลนี้ ที่มาจากการปล้นเสียงของประชาชนส่วนมาก เมื่อรัฐบาลนี้ได้อำนาจมาแล้วก็ไล่ล้าล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดเหี้ยม มีคนตายจากการเรียกร้องประชาธิปไตย 2 ปี เกินกว่า 100 ศพ อีกไม่นาน รัฐบาลนี้และเหล่าผู้ทำลายประชาธิปไตยของปวงชน ต้องปราชัย ดังอมตวาจของขงเบ้ง

    ตอบลบ
  2. .คุณนิรนามครับ ขงเบ้งพูดในโอกาสไหนครับ แล้วมันสัมพันธ์กับเรื่องที่ อ.พิชิตกส่าวหรือเปล่า
    ผมขอวิจารณ์ต่อท้ายท่านอาจารณ์ว่า ทักษิณแม้จะมาจากต่างจังหวัดแต่ก็อยากไต่เต้าเข้าสู่ระบบอุปถัมภ์เหมือนกัน โดยเฉพาะ ....แต่ขณะเดียวกันแนวทางการบริหารประเทศเกิดทำให้ประชาชนนิยม เป็นเรื่องแปลกที่ทำตามนโยบายหาเสียงได้ แม้จะถูกต่อต้านขัดขวางของหลายฝ่ายในปี 2548 แต่กลับยังได้สส. เพิ่มอีกมาก ประชาชนลงคะแนนมากกว่า 19 ล้าน ต่างประเทศก็มีบทบาทกลบบารมีอื่นๆ จนต้องถูกโค่นล้ม ตนเองน่ะยอมทุกอย่างขอให้ได้กลับประเทศและไม่เอาเรื่อง
    ยอมปรองดองทุกอย่าง
    ก็เหมือนพรรคเพื่อไทยอยากเป็นรัฐบาลเพราะแถว 3 แถว 4 หวังจะมีโอกาสเป็น รมต.กับเขาบ้าง เกิดแกนเสื้อแดงที่หวังลงสมัครรับเลือกตั้งขึ้น จนทุกฝ่ายแดงทั้งแผ่นดิน ลืมประชาธิปไตยที่แท้จริงไป ประชาชนก็ไม่รู้นึกว่าสู้เพื่อประชาธิปไตย
    ประชาชนควรตั้งหลักใหม่แล้วละ ต้องขวนขวายหาความรู้จริงเกียวกับประชาธิปไตย ต้องร่วมกันคดร่วมกันสร้าง ดูกลุ่มไหนคณะไหนเขาสู้จริงไม่หว้งเลือกตั้ง ไม่ทำเพียงเพื่อนาย แต่ทำเพื่ออำนาจเป็นของประชาชนทั้งหลาย ลองเข้าร่วมกับเขาและช่วยเขาขยายพืชพันธ์ประชาธิปไตยให้มาก

    ตอบลบ

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา