อนุสรณ์ อุณโณ
“ชาติ” เป็นประดิษฐกรรมทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นควบคู่กับประดิษฐกรรมทางการ เมืองเช่น “รัฐ” สมัยใหม่ เพราะการใช้อำนาจเหนือชีวิตของผู้คนในเขตแดนไม่อาจอาศัยเฉพาะอาวุธ ยุทโธปกรณ์ กฎหมาย และระบบราชการ จำเป็นต้องอาศัยความยินยอมพร้อมใจของผู้คนที่จะอยู่ภายใต้การบริหารอำนาจดัง กล่าวด้วย ชาติจึงถูกสร้างขึ้นในฐานะที่เป็นพื้นที่ในจินตนาการ ทาบซ้อนลงไปบนรัฐที่มีเขตแดนในเชิงกายภาพ ทำหน้าที่เป็นแหล่งให้ผู้คนเชื่อมโยงถึงกันผ่านลักษณะร่วมบางอย่าง เช่น เผ่าพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ พร้อมกับสร้างความจงรักภักดีในหมู่ผู้คนในสังกัด จนกระทั่งพวกเขาไม่รู้สึกถึงปฏิบัติการอำนาจของรัฐ แต่สำคัญว่าเป็นพันธกรณีที่ตนเองต้องมีต่อชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ในรูปของการอบรมสั่งสอน (เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ) การปฏิบัติตามกฎหมาย (วินัยจราจรสะท้อนวินัยของคนในชาติ) หรือว่าการป้องกันประเทศ (พลีชีพเพื่อชาติ)
รัฐไทยอาศัยจินตนาการเรื่องชาติในการปกครองผู้คนมาแต่แรกตั้ง สยามใหม่สถาปนามรดกร่วมของคนในชาติขึ้นเหนือสายใยเฉพาะถิ่นเพื่อว่าจะได้ สามารถผนวกรวมผู้คนต่างเผ่าต่างภาษาและวัฒนธรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ผู้คนไม่ว่าจะมีจำเพาะหรือแตกต่างอย่างไร หากอยู่ในราชอาณาจักรสยามและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักก็นับเป็นส่วน หนึ่งของรัฐไทยที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่นี้ ขณะที่รัฐไทยในยุคต่อมานิยามความหมายของชาติแคบลง เพราะนำไปผูกกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทเพียงกลุ่มเดียว โดยนอกจากจะดำเนินนโยบายกลืนกลายทางวัฒนธรรมและกีดกันกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แล้ว รัฐไทยสมัยนี้ยังพยายามที่จะสถาปนามหาอาณาจักรไทยที่กินขอบเขตกว้างกว่า ประเทศไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันรัฐไทยจะล้มเลิกความทะเยอทะยานที่จะสถาปนามหาอาณาจักรไทยรวมทั้ง ยกเลิกนโยบายการกลืนกลายทางวัฒนธรรมแกมบังคับ แต่ความคิดชาตินิยมไม่ได้หายไปไหน หากแต่แพร่กระจายและฝังลึกในวงกว้าง ซึ่งส่งผลให้ผู้มีบทบาทในการผลักดันความคิดเรื่องชาติ โดยเฉพาะชาตินิยม ไม่ได้จำกัดเฉพาะรัฐอีกต่อไป หากแต่หมายรวมถึงกลุ่มและองค์กรนอกภาครัฐจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะเคลื่อนไหวเรียกร้องภายใต้แนวคิดชาตินิยมอย่างเข้มข้น กลุ่มและองค์กรเหล่านี้ยังกดดันให้รัฐแสดงบทบาทปกป้องชาติอย่างเข้มแข็งใน เวลาเดียวกัน
ยกตัวอย่างกรณีปราสาทเขาพระวิหาร พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยความร่วมมือกับนักวิชาการและกลุ่มทางสังคมจำนวนหนึ่ง อาทิ สันติอโศก และกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ เรียกร้องให้ยกเลิกการขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร ยกเลิกข้อตกลงร่วมไทย-กัมพูชา 2543 คัดค้านแผนการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณรอบปราสาท รวมทั้งให้ขับไล่ชาวกัมพูชาออกนอกพื้นที่ดังกล่าว โดยนอกจาก UNESCO แล้ว รัฐบาลไทยเป็นอีกเป้าหมายสำคัญที่กลุ่มเหล่านี้เคลื่อนไหวกดดัน เพราะเห็นว่าไม่ได้แสดงบทบาทปกป้องผลประโยชน์ของชาติอย่างเข้มแข็ง รัฐบาลประชาธิปัตย์ (ซึ่งสมาทานแนวคิดชาตินิยมเช่นกัน แต่ว่ามีข้อจำกัดในการแสดงออกเพราะอยู่ภายใต้แรงกดดันของกติการะหว่างประเทศ ) จึงไม่เพียงแต่จะยืนยันว่าจะไม่ยอมสูญเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้ว หากแต่ยังเปิดโอกาสให้ตัวแทนพันธมิตรฯ และภาคีเข้าพบปะซักถามนายกรัฐมนตรีรวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมกับ ถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลตลอดรายการ
นอกจากนี้ ความคิดชาตินิยมยังแฝงฝังอยู่ในการเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาศัยความคิดเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ของชาติเป็นหนึ่งในปราการหลักใน การคัดค้านการรุกคืบของระบบทุนนิยมโลกและบรรษัทข้ามชาติในประเทศไทย พวกเขาเสนอว่าการขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกและบรรษัทข้ามชาติไม่เพียงแต่จะ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยและชุมชนเกษตรกรรม หากแต่ยังคุกคามผลประโยชน์ของชาติโดยรวมอีกด้วย การพยายามเข้ามามีอิทธิพลเหนือนโยบายรัฐของบรรษัทข้ามชาติจึงถูกเปิดโปง และการลงนามของรัฐบาลในสนธิสัญญาทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศฉบับ ต่างๆ จึงถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ภายใต้ข้อวิตกกังวลว่ารัฐบาลอาจไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติเท่า กับผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติ หรือว่าอาจเพลี่ยงพล้ำให้กับการปกป้องผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจต่างๆในเวทีการเจรจา
ประการสำคัญก็คือ ความคิดเรื่องชาติได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เพราะสาเหตุหลักประการหนึ่งของการลุกฮือของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือว่ากลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อหลากสีในเวลาต่อมาคือความรู้สึกว่าสถาบันหลักของชาติกำลังถูกคุกคาม ชาติในความเข้าใจของกลุ่มคนเหล่านี้คือดินแดนที่ผู้คนอยู่รวมกันตามลำดับ ชั้นทางศีลธรรมอย่างเคร่งครัด แต่ละคนต่างมีสิทธิและหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามที่ได้รับการจัดสรร การตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ระเบียบทางศีลธรรมโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในลำดับชั้นทางศีลธรรมที่สูงกว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ผู้ที่ละเมิดโดยเฉพาะผู้ที่สังกัดลำดับชั้นทางศีลธรรมระดับล่างๆ จำเป็นต้องได้รับการลงทัณฑ์อย่างสาสม
ความคิดเรื่องชาติในสังคมไทยจึงมีลักษณะเฉพาะและทำให้ปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าปกติ เพราะโดยปกติแม้ชาติและรัฐจะหนุนเสริมกันแต่ก็มีความขัดแย้งรวมอยู่ด้วย เพราะชาติเป็นพื้นที่ในจินตนาการที่มีการจัดความสัมพันธ์กันอย่างเสมอหน้า แต่ว่ารัฐเน้นการบังคับบัญชาอย่างเป็นลำดับขั้น การนำชาติมารับใช้รัฐจึงจำเป็นต้องอำพรางความขัดแย้งดังกล่าวให้มิดชิด ทว่าความคิดเรื่องชาติกระแสหลักในสังคมไทยเน้นการจัดความสัมพันธ์เชิงสูงต่ำ มาตั้งแต่แรก โดยอาศัยระเบียบทางศีลธรรมเป็นกลไกในการสร้างความชอบธรรม รัฐไทยจึงไม่ต้องกังวลกับการปิดบังอำพรางในการอาศัยความคิดเรื่องชาติใน ลักษณะเช่นนี้จัดการกับชีวิตของผู้คน เพราะว่าผู้คนเหล่านี้ยินดีที่จะอยู่ภายใต้การจัดความสัมพันธ์อย่างเป็น ลำดับขั้นมาตั้งแต่ในชั้นของชาติ
เพราะเหตุที่รัฐจะยังมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับชีวิตของผู้คนต่อไปอีกนาน การสลัดความคิดเรื่องชาติจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่ายหรือว่าในระยะอันใกล้นี้ ภารกิจหลักจึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้จินตนาการเกี่ยวกับชาติที่ประกอบด้วยผู้คนอันหลากหลายแต่ว่าสัมพันธ์กันอย่างเสมอหน้าได้มีพื้นที่สาธารณะมากขึ้น และทำอย่างไรให้จินตนาการชาติในลักษณะที่ว่านี้สามารถควบคุมการใช้อำนาจแนวดิ่งของรัฐให้ได้เพิ่มขึ้น เพราะหากปล่อยให้จินตนาการชาติชนิดที่วางอยู่บนลำดับชั้นทางศีลธรรมครองความเป็นใหญ่ การหยิบใช้ความคิดเรื่องชาติในการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะโดยพันธมิตรฯ หรือแม้กระทั่งองค์กรพัฒนาเอกชนโดยปราศจากการตั้งคำถามถึงการจัดระเบียบของชาติดังกล่าว ก็รังแต่จะเสริมความอยุติธรรมขึ้นในแผ่นดินนี้ก็เท่านั้น
ที่มา:คอลัมน์ คิดอย่างคน ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 17-23 กันยายยน 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา