เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.2553 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มจับตาขบวนการประชาสังคมไทย ร่วมกับศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สำนักข่าวประชาธรรมและประชาไท จัดการเสวนาเรื่อง "ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการอภิปราย: “ขบวนการประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน”

กก.ปฏิรูปเชื่อ 'ปฏิรูป' นำสู่การปรองดองได้
บัณฑร อ่อนดำ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) กล่าวว่า มีคนโจมตีคณะปฏิรูปเยอะ แต่อยากจะเรียนว่าเอ็นจีโอมีการคิดเรื่องการปฏิรูปก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ส่วนในการต่อสู้ที่มีความขัดแย้งเป็นสี เราคิดกันว่าคงจะลำบากมากหากเอ็นจีโอจะหาญไปปรองดอง โดยมองว่าการปรองดองรัฐบาลคงจะต้องทำเอง แต่สิ่งที่เสนอกับนายกฯ คือน่าจะมีการปฏิรูปสังคมกับปฏิรูปประเทศไทยพร้อมกันไป ไม่มีคำว่าปรองดองเด็ดขาดมีแต่ปฏิรูป ซึ่งสรุปง่ายๆ คือการสร้างความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ

“คุณอานันท์เคยปาฐกถาเองว่านายกฯ เข้าใจผิด ของเราไม่เกี่ยวกับการปรองดอง คณะกรรมการของเรานั้นเป็นอิสระและเชื่อว่าการปฏิรูปจะนำไปสู่การปรองดอง แม้ว่าต้องกินเวลานานก็ตาม เรามองทั้งฝ่ายรัฐและไม่ใช่รัฐ มองในแง่การปฏิรูปสังคม สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น” บัณฑรกล่าว

บัณฑร กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการทาบทามให้เข้าร่วมคณะกรรมการปฏิรูปก็ตกลงเข้าร่วมด้วย เพราะเคยมีสัมพันธ์กันมาเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ทำงานการเคลื่อนไหวทางสังคม และในการพูดคุยกันนั้นมีการถกเถียงกันใน 3 กรอบ คือจะเอาวัตถุประสงค์เป็นตัวตั้ง เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือเอาภูมิปัญญา ซึ่งเราก็เอากรอบวัตถุประสงค์ที่ว่าสร้างความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำขึ้นมา โดยแม้จะมีการคุยในหลายประเด็นเช่น ที่ดิน การศึกษา แรงงาน แต่ประเด็นร่วมก็คือการกระจายอำนาจ เพราะในเวลานี้ รวมๆ แล้วมันเป็นการรวมศูนย์อำนาจ

บัณฑร กล่าวต่อมาถึงงบประมาณปีละ 200 ล้านของคณะกรรมการปฏิรูปว่า สิ่งที่เราต้องการคือเราต้องการเงิน 57 ล้าน จาก 200 ล้าน แต่ก็มีไอ้ห้อยไอ้โหนเยอะ มีคนมาขอแบ่งไป โดยเขามองว่าจะมาขอแบ่ง แต่ไม่ได้มองว่า 200 ล้านนั้นมันจะทำให้เกิดการสร้างกระบวนการที่จะทำงาน ขณะนี้มีความไม่เข้าใจกันเยอะว่าจะมาของบประมาณส่วนนี้ไป แต่การที่จะเอามาใช้นั้น ไม่ใช่ว่าจะเบิกได้เลยต้องมีโครงการในมือ เพราะมันเป็นเงินภาษีทั้งนั้น

บัณฑร กล่าวด้วยว่า มีการพูดคุยกันในเรื่องการพัฒนาประเทศไทย พวกเราจะพัฒนาอะไร ไม่ใช่บอกว่าพัฒนาสังคม ซึ่งมันกว้างไป อย่างเรื่องปัญหายาเสพติด เราไม่ได้คิดว่ามันเกิดจากความเหลื่อมล้ำหรอก แต่ว่ามันสร้างปัญหาเยอะ เราก็ตั้งข้อนี้ขึ้นมาว่าการที่จะแก้ปัญหายาเสพติดได้นั้นจะต้องแตกต่างไปจากรัฐ คือไม่มีการใช้ความรุนแรงและไม่ใช้กฎหมายนำหน้า โดยให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าผู้ค้า ผู้เสพ และตั้งกิจกรรมขึ้นมาว่า ป้องปราม บำบัดรักษา ฟื้นฟู และป้องกัน ส่วนบทบาทของคณะกรรมการนั้นอาจจะทำการเมืองในและนอกสภาให้สมดุลกัน ไม่ได้ตั้งใจจะไม่ให้มีสภา ซึ่งมันเป็นไปได้

“ผมอยากจะฝากว่า ความจริงเราน่าจะเลิกทะเลาะกันตั้งนานแล้ว เรื่องใหญ่มันมีมากกว่านั้น มันจะต้องไปด้วยกันทั้งหมด และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ของมันเอง ในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปไม่ได้ทำอะไรหรอก เขามีกัน 25-26 คน เขาเพียงแค่วิเคราะห์และชี้ประเด็น เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวังว่าคนพวกนั้นจะปฏิรูปประเทศไทยได้ มันเป็นเพียงกลไกที่จะทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้น” บัณฑรกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อมีผู้ถามถึงความเป็นตัวแทนของเขาในการเข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูป บัณฑรตอบว่า การไปร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้ ไปในฐานะนักสังคมวิทยาชนบท ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนสมัชชาคนจน และสมัชชาคนจนเองก็ไม่ได้ต้องการให้เขาเป็นตัวแทนเช่นกัน


ชี้ 'ปฏิรูป' ภายใต้ภาวะขัดแย้ง ท้าทายศีลธรรมของเอ็นจีโอ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้นำแรงงาน ผู้ประสานงานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยภาคประชาชน กล่าวว่า เรื่องแรกที่ต้องพูดกัน คือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยที่มีนายอานันท์เป็นประธานและการดึงเอ็นจีโอไปเข้าร่วม ในส่วนของเอ็นจีโอเขามองว่าสถานการณ์แบบนี้ธรรมดามาก เพราะเอ็นจีโอยินดีจะผูกมิตรเสมอไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประเภทใด โดยยกตัวอย่างตอนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เอ็นจีโอบางส่วนถูกดึงไปร่วม และยินดีกับการรัฐประหาร ตอนนี้ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ เอ็นจีโอก็ถูกดึงไปอีก ซึ่งดูเหมือนว่าความเป็นเอ็นจีโอไม่สามารถพิสูจน์ดีเอ็นเอทางศีลธรรมที่แท้จริงได้ ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมในการตัดสินใจให้ชัดเจน

สมยศ กล่าวต่อมาถึงข้อสังเกตว่า เมื่อนายอานันท์เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการฯ ได้บอกว่าเขาไม่ใช่คนของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนแล้วว่ามันเริ่มต้นจากความไม่จริงใจ เพราะคณะกรรมการฯ ตั้งโดยรัฐบาลและใช้งบของรัฐบาล คำถามต่อมาคือ นายอานันท์เป็นคนของใคร เพราะหากดูปูมหลังจะพบว่าเคยเกี่ยวข้องกับเผด็จการทหารมาก่อน โดยเป็นอำนาจที่ช่วยให้คณะรัฐประหารในยุคสุจินดามีอายุยืนมาได้ จนเข่นฆ่าผู้คนล้มตาย นั่นเป็นคุณูปการของฝ่ายอำมาตย์ของฝ่ายรัฐโบราณ ฝ่ายจารีต โดยเฉพาะฝ่ายทหาร ที่วันนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งหนึ่งในสถานการณ์พิเศษ

สมยศ กล่าวถึงข้อสังเกตที่ 2 ว่า การที่นายอานันท์บอกว่าจะอยู่ทำงาน 3 ปีนั้น ใช้หลักการอะไร เพราะรัฐบาลที่เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมามีอำนาจเหลืออยู่เพียงแค่หนึ่งปีครึ่ง ทำให้ดูเหมือนว่ามีสัญญาณพิเศษที่จะบอกว่านายอานันท์คืออนาคตที่จะมาช่วยให้รัฐโบราณที่กำลังจะล่มสลายยืดอายุขึ้นไปอีก ตรงนี้ก็มาถึงจุดท้าทายทางศีลธรรมว่าทำไมต้องเป็น 3 ปี และต้องใช้งบประมาณ 600 ล้านบาทในการปฏิรูป

“ในความเป็นจริงถ้าหากใครศึกษาการเมืองและการแก้ปัญหาแบบประชาธิปัตย์ ก็จะพบว่าไม่ได้มีอะไรก้าวหน้าขึ้น เพราะประชาธิปัตย์มักจะแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งคณะทำงานแล้วก็ไม่ทำอะไร เราเคยมีปัญหาความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2552 เสื้อเหลืองกับเสื้อแดงตีกันแล้วก็ไปต่อสู้จนกระทั่งฝ่ายเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุมในวันที่ 13 เมษายนปี 2552 ประชาธิปัตย์ก็แก้ปัญหาความขัดแย้งหลังจากมีความขัดแย้งด้วยการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ที่มีคุณดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน ประกอบไปด้วยหลายฝ่ายและมีเอ็นจีโอรวมอยู่ด้วย ซึ่งได้ข้อสรุปคลี่คลายความขัดแย้งโดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ข้อ สุดท้ายข้อเสนอที่มีความยาว 200-300 หน้าก็ถูกเก็บเอาไว้ในลิ้นชัก ผู้คนในสังคมก็ไม่ได้สนใจอะไร แล้วก็หายไปในกลีบเมฆ วันนี้ก็มาตั้งคณะกรรมการคณะใหม่เพื่อที่จะมาคุยกันในเรื่องเดิมอีก ซึ่งก็สะท้อนว่าประชาธิปัตย์นั้นคิดอะไรไม่ออก และไม่มีสติปัญญาที่จะคิดอะไรไปไกลมากกว่านี้ คุณอภิสิทธิ์ก็เป็นเพียงแค่คนถ่ายสำเนาถูกต้องจากคุณชวน หลีกภัยมาเท่านั้นเอง” สมยศ กล่าว

อดีตผู้นำแรงงาน กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสนใจก็คือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเกิดขึ้นโดยสถานการณ์ที่น่าหดหู่และน่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกิดจากการมีคนตาย 90 ศพ และมีการเถียงกันว่าใครยิงกันแน่ แล้วเราก็ต้องมานั่งปฏิรูปประเทศไทย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในภาวะความขัดแย้งนี้ เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมืองของฝ่ายอำนาจรัฐ โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายระดับศีลธรรมของชาวเอ็นจีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เรียกตัวเองว่านักสิทธิมนุษยชน นักพัฒนา ภาคประชาชน พลเมือง แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมแบบนี้ก็ไม่สามารถทำให้ยอมรับบทบาทของเอ็นจีโอที่ไปรับใช้และเป็นเครื่องมือของรัฐได้

“ปรากฏการณ์อีกอันหนึ่งซึ่งจะยืนยันในสิ่งที่ผมพูดก็คือว่าคุณอานันท์บอกว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะว่ามันไม่มีความหมายและไม่ถูกต้อง ผมยินดีที่คุณอานันท์พูด แต่ว่ารัฐบาลเขาก็ไม่ได้ฟังพวกคุณ แต่เขายินดีให้พวกคุณไปนั่งกินกาแฟในห้องสัมมนาแล้วทำรายงานให้ฉัน ในการปฏิรูปแบบประชาธิปัตย์ แต่ถ้าหากว่ามีข้อเสนอประการใด ก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวาของท่านอภิสิทธิ์ แล้วไปเข้าหูหมาทันที คือไม่รู้เรื่องอะไร” สมยศกล่าว

ในเรื่องเหลืองกับแดง สมยศแสดงความเห็นว่า การขัดแย้งเช่นว่านี้เป็นพัฒนาการทางสังคมที่น่าสนใจและเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันมาถึงยุคที่เกิดความขัดแย้งจริงๆ และจำเป็นต้องเกิด เหลืองกับแดงเป็นผลผลิตสำคัญของพัฒนาการทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผ่านทางสังคมที่ได้รับแรงกระแทกจากระบบโลกาภิวัตน์ เพียงแต่ว่าตัวละครที่เล่นกันถูกนำมาใช้ในโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ว่ามีโครงสร้างอันหนึ่งที่ไม่สามารถนำมาพูดได้ และตรงนี้กลายเป็นปมเงื่อนที่ค่อนข้างจะลำบาก และสะท้อนความล้าหลังทางการเมืองของไทย นั่นคือการมีข้อกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดไม่ให้คนได้แสดงความคิดเห็น ที่เห็นได้ชัดคือการยังมีมาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) และคดีเหล่านี้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาเรื่องเสรีภาพที่ชัดเจนที่สุดในสังคมไทย

“ถ้าหากเป็นชาวสิทธิมนุษยชนจะต้องมองว่าการจำกัดคนให้คิดถึงระบบการปกครองเพียงระบบเดียว คือการจำกัดศักยภาพความเป็นคน คือคนไม่มีโอกาสใฝ่ฝันระบบการเมืองที่เขาปรารถนา คุณจะต้องยอมรับระบบการเมืองที่เขากำหนดมา ตรงนี้เราอาจจะเรียกกันได้ว่าเป็นระบอบอำมาตย์ที่ดำรงอยู่ ตรงนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น ในความขัดแย้งแบบนี้พอเราเห็นตัวละคร แต่ว่าเราไม่สามารถเข้าใจเนื้อแท้ของโครงสร้างปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เอ็นจีโอตกอยู่ในวาทกรรมของการโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องเหลืองกับแดง” สมยศวิเคราะห์

สมยศกล่าวด้วยว่า คนเสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาขึ้นมา แน่นอนว่าเบื้องต้นนั้นเกิดขึ้นจากคนจำนวนมากที่เขาได้รับประโยชน์จากระบบทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค หรือว่าเป็นนโยบายประชานิยมต่างๆ แต่เนื่องจากมีความทับซ้อนระหว่างการรัฐประหารกับการโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ในที่สุดกลุ่มคนเหล่านี้ก็ผ่านประสบการณ์ทางการเมืองแล้วก็ได้ค้นพบโครงสร้างที่ซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทย และมีคนเริ่มพูดถึงมากขึ้น ปีแรกอาจจะเห็นเพียงเงาตะคุ่มๆ และไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ แต่พอปีที่สองคนเริ่มพูดกันเซ็งแซ่มากขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าไม่น่าจะใช่ แต่ก็ไม่แน่ พอปีที่สามเราจึงได้ชัดเจนขึ้น แล้วบอกว่าใช่แล้ว พอถึงปีที่สี่ก็บอกว่าตาสว่าง เห็นแล้วว่าปัญหารัฐซ้อนรัฐนั้นคืออะไร ถึงตรงนี้ก็เป็นเกียรติภูมิของชาวเสื้อแดงที่ออกมาพูดหลายเรื่องที่เอ็นจีโอไม่กล้าพูด แล้วหลายคนก็ต้องติดคุกไป คนเหล่านี้เราก็ถือว่าเป็นภาคประชาชนอีกจุดหนึ่งที่เกิดขึ้น


เอ็นจีโอสำรวจตัวเอง พบอาการ "งง ลืม หยุดชะงักทางปัญญาและหูตึง"
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่าตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมารู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดในชีวิต เพราะวางตัวเองไม่ถูก การขึ้นมาเวทีวันนี้เป็นการพูดครั้งแรกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้องานที่ตัวเองทำโดยตรง ถ้าถามว่าเรื่องการเมืองใช่เรื่องที่ตัวเองเกี่ยวข้องโดยตรงไหม ก็เกี่ยวข้อง แต่ว่าไม่เคยพูดในที่สาธารณะเพราะอาจจะถูกพรรคพวกวิจารณ์ได้ว่าออกมาสาวไส้ให้กากิน สถานการณ์ตอนนี้โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย โดยเคยแสดงความเห็นในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนขบวนการประชาสังคม บนพื้นที่สาธารณะ เพราะพวกเราประกาศตัวเองว่า เราเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ต้องการผลักดันการเปลี่นแปลงทางสังคม ทางนโยบายสาธารณะ เพราะฉะนั้นพวกเราต้องอยู่ในที่แจ้งและต้องมาถกเถียงกัน” ซึ่งเราคิดว่าตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่เราต้องถกอย่างจริงจังเพื่อก้าวไปข้างหน้าว่าเราจะจัดวางตนเองอย่างไร ภายใต้สถานการณ์ใหม่

กิ่งกร เล่าย้อนกลับไปว่า ตัวเองเริ่มทำงานเอ็นจีโอตั้งแต่ปี 2530 เติบโตและหล่อหลอมมาในวาทกรรมการพัฒนาแบบตำราเดิมคือวัฒนธรรมชุมชนเลย ทั้งนี้มองว่ามีช่วงเวลาเลี้ยวออกและเลี้ยวกลับ คือเหมือนกับเป็นวัฒนธรรมชุมชนอยู่สักพักแล้วก็มาเคลื่อนกันทางนโยบาย และเลี้ยวกลับมาสู่อนุรักษ์นิยมคือวัฒนธรรมชุมชนสุดขั้ว ที่เป็นการ Romanticize ชนบทแบบสุดขั้ว

กิ่งกร เล่าถึงช่วงเวลาดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงสำคัญๆ ช่วงแรกคือช่วงปี 40 ที่เคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญ และได้รัฐธรรมนูญปี 40 ที่นับว่าดีที่สุดในความเชื่อของใครหลายคน อีกอันคือตั้งแต่ปี 41 เป็นต้นมา ที่เริ่มมี SIP (โครงการกองทุนเพื่อสังคม) ซึ่งเวลานั้นเริ่มมีความขัดแย้งทางความคิดที่สำคัญ แต่ไม่ได้ถกกันถึงขั้นที่แตกหัก เพราะเมื่อเอ็นจีโอคุยกันไม่รู้เรื่องก็มักจะแยกกันไปทำงาน เหตุการณ์ที่สำคัญๆ อีกอันหนึ่งก็คือปี 44 ซึ่งทักษิณเริ่มเข้ามา ตอนนั้นเอ็นจีโอเริ่มพูดกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง โดยไม่รู้ว่าทำไม แล้วก็มาอีกจุดหนึ่งคือปี 49 เป็นจุดที่มีการแตกหักทางความคิดมากขึ้น

ในตอนนั้นเอ็นจีโอ เราและเพื่อนๆ อีกหลายคน ตกอยู่ในสภาพงงเป็นอย่างยิ่งว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับชาวบ้าน แล้วกระบวนการตั้งแต่ 41 เป็นต้นมา ก็คือการพัฒนาของพวกเรา ก็ทำให้เกิดอาการค่อนข้างลืมตัวด้วย ลืมว่าตัวเองไม่ใช่ประชาชนตัวเป็นๆ คือพอตั้งคำว่าภาคประชาชนขึ้นมาแล้ว คิดว่าตัวเองสามารถพูดแทนประชาชน ตั้งแต่ปี 40 เป็นต้นมา เรามีอาการหยุดชะงักทางปัญญา เพราะฉะนั้นคิดว่าคำจำกัดความของพวกเราในเวลานี้ที่เป็นเอ็นจีโอก็คือ งง ลืม หยุดชะงักทางปัญญา บวกกับอาการหูตึงตรงนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ไม่สามารถวางตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราคิดว่ามันเป็นโจทย์ใหญ่ของพวกเรา

กิ่งกร กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นปี 49 รู้สึกได้ถึงความไม่ชอบมาพากล แต่ว่ายังนึกอะไรไม่ออกว่าจะทำอะไร พอมาถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม หรือปรากฏการณ์ที่มีการปะทะกันอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2553 เราพบว่าที่ผ่านมามันมีทางเลือก และเราต่างคนต่างก็เลือกกัน แล้วเราก็ทำงานไปตามความเชื่อของตัวเอง มันก็มีกระบวนการหล่อหลอมกำกับความคิดทิศทาง หรือว่ากระบวนการกระแสหลักของเอ็นจีโอไป ทำกันไปก็ไม่มีใครว่าอะไร ไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่ากัน ซึ่งก็คงจะไม่ผิดอะไรมากนัก แต่พอมาถึงจุดที่เราเห็นความขัดแย้งเผชิญหน้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็พบว่าปัญหาของพวกเราไม่ใช่เรื่องเล็กแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว

สิ่งที่เป็นเราอยู่ไปทำลายความชอบธรรมของประชาชนตัวเป็นๆ เมื่อที่เป็นแบบนี้ทำให้เราไม่สามารถยอมรับบทบาทของตนเองได้ แล้วยิ่งมาพากันเกาะขบวนการปฏิรูปประเทศไทย ถึงแม้จะอ้างว่ากูคิดเรื่องการปฏิรูปมาก่อน แต่ส่วนตัวคิดว่าการกระทำนี้น่าจะไม่รอดและเป็นการกระทำที่เป็นปัญหาอย่างแรงต่อการเคลื่อนตัวที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือว่าสร้างการถกเถียงทางสังคม เพื่อหาแนวทางหรือวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยที่มีการต่อรองที่แท้จริง เราคิดว่าตรงนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคใหญ่

“โดยวัฒนธรรมของเอ็นจีโอนั้นมีปัญหามาก คือมีการวิจารณ์กันพอท้วมๆ ไม่สาวไส้ให้กากิน หลังๆ นี้มีการอวยกันด้วย แล้วก็มีปัญหามากเลยกับวัฒนธรรมความอาวุโสที่ควรจะถกเถียงกันได้อย่างเข้มข้น แล้วพอมีวัฒนธรรมตรงนั้นเนี่ย คนรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยกล้าพูดอะไร” กิ่งกรแสดงความเห็น

กิ่งกร กล่าวต่อถึงข้อเสนอที่จะไปข้างหน้าว่า ส่วนตัวไม่หวังว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรจากตัวซากเดิมของเอ็นจีโอได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีกระบวนการของนักกิจกรรมทางสังคมที่จะเป็นกลไกส่วนหนึ่งของกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่พยายามกีดกันตัวเองออกจากกระบวนการการเมืองโครงสร้าง โดยอาจจะต้องมาสร้างเวทีใหม่ๆ สร้างวิวาทะ และถกกันอย่างจริงๆ จังๆ ว่าจะมีวิธีไหนที่จะเป็นการสร้างกระบวนการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบต่อรอง ไม่ใช่แบบสมยอม หรือไปเป็นเครื่องมือของระบบอำนาจแบบโบราณ

"เราจะยอมรับกันได้ไหมว่าการเกิดขึ้นของการเรียกร้องสิทธิเพื่อการเลือกตั้งเป็น uprising อันหนึ่ง ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาของคนหมู่มากหรือปัญญาชนก้าวหน้าที่ไม่สามารถยอมรับกันได้ว่านี่เป็นการก่อเกิดของขบวนการประชาชนอีกอันหนึ่ง... เอาง่ายๆ ว่า ถ้าแค่สิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องประชาธิปไตย ถ้าขบวนการภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอไม่ผ่านตรงนี้ คิดว่าเราไปต่อไม่ได้" กิ่งกรทิ้งท้าย

นักสิทธิฯ เผยความไม่เป็นกลางในองค์กร
ขวัญระวี วังอุดม นักสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงระบบอุปถัมภ์ที่เกิดขึ้นในวงการสิทธิมนุษยชนว่า จากการทำงานในแวดวงนักสิทธิฯ มากว่า 5 ปี เห็นได้ชัดว่า จริงๆ แล้วชื่อองค์กรสิทธิมนุษยชนมากมาย เช่น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) หรือ เครือข่ายนักกฎหมายรุ่นใหม่ แต่คนทำงานจริงๆ มีเพียงไม่กี่คน อีกทั้งยังพบว่าคนคนเดียวมีหลายตำแหน่ง เช่นเป็นที่ปรึกษา ประธาน กรรมการ ดังนั้น ข้อสังเกตแรกคือการสวมหมวกหลายใบของคนทำงานในองค์กรสิทธิฯ มีผลทำให้ไม่สามารถโฟกัสในเนื้องานได้ โดยในแต่ละองค์กรอาจมีเป้าหมายและการดำเนินงานที่แตกต่างกันไป แต่ว่าผู้ที่เข้าไปอาจมีวาระที่จะครอบงำทุกองค์กรที่ตนเองทำอยู่ และใช้ตำแหน่งที่มีในการผลักดันประเด็นที่ตัวเองต้องการเท่านั้น

นอกจากนั้น อีกลักษณะหนึ่งที่มองเห็นได้ คือ การทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นมืออาชีพ ไม่มีการจัดการที่ดีภายในองค์กร ขาดวิสัยทัศน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้ มองว่าเอ็นจีโอควรจะต้องพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน คนรุ่นใหม่ แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมาเห็นน้องๆ หลายคนที่เข้ามารวมทั้งตนเองด้วย ต้องมาเรียนรู้เองตลอดเวลา ไม่มีการแนะแนวให้ก่อน ไม่มีการฝึกหรือช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาเลย เพราะแต่ละคนมีหมวกของตัวเองเยอะ ซึ่งมันทำให้ไม่เคยเห็นว่า งานที่ทำไปได้ส่งผลกระทบอะไรจริงๆ ในสังคมบ้าง

ขวัญระวี กล่าวต่อว่า คนที่ทำงานแวดวงสิทธิฯ ส่วนใหญ่จะโตขึ้นมาจากการล็อบบี้ ซึ่งเป็นการใช้สายสัมพันธ์อย่างหนึ่งเพื่อผลักดันประเด็นของตนเองให้เกิดผล สนิทกับใครก็จะเข้าหาทางนั้น โดยขาดหลักการทำงาน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นในองค์กร นอกจากนั้นยังเป็นระบบอุปถัมภ์โดยการเลี้ยงคน หรือการซื้อใจ โดยการให้อำนาจสนับสนุนคน ให้ความพอใจกับคนนี้มากกว่าคนนั้น แล้วก็เกิดการเป็นบุญคุณขึ้นมาในองค์กร พร้อมยกตัวอย่างว่า ตนเองเคยคุยกับเพื่อนที่ทำงานด้านสิทธิฯ ถามเขาว่าเห็นไหมว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น องค์กรด้านสิทธิฯ ถูกวิจารณ์มากเรื่องปัญหาความไม่เป็นกลาง แม้เขาจะบอกว่าเห็นด้วยในหลักการทุกอย่าง แต่ก็ยังให้ความเคารพในตัวบุคคลมากกว่า

ปัญหาอีกประการก็คือ การขาดความโปร่งใส เอ็นจีโอส่วนใหญ่ รวมถึงภาคประชาชนต่างๆ ไม่มีกลไกที่จะตรวจสอบ ซึ่งในความจริงอันนี้ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาอย่างแอมเนสตี้ (AI) มีปัญหามากกรณีการออกแถลงการณ์เรื่องพันธมิตรฯ และกรณีที่มีการลวนลามละเมิดทางเพศของพนักงานหญิงในองค์กรสิทธิฯ ที่ถึงแม้ผู้กระทำจะถูกไล่ออกจากองค์กรไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการยอมรับความผิดอย่างจริงจัง ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือความตระหนักว่าตัวเองสำนึกผิดหรือเปล่า นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่คนทำงานในองค์กรสิทธิต่างก็เป็นวัวสันหลังหวะ คือมีแผลเยอะ กลัวว่าหากตัวเองจะต้องออกมาสู้หรือวิจารณ์ ก็จะถูกวิจารณ์กลับ

“ที่สำคัญเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในองค์กร มีความพยายามที่จะทำให้ปัญหาซึ่งในความเป็นจริงเป็นปัญหาโครงสร้างขององค์กรถูกลดทอนให้เป็นเพียงปัญหาส่วนบุคคล ทั้งๆ ที่สิ่งที่เราเรียกร้องเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและความไม่ชัดเจนขององค์กร ของพันธกิจ และของผู้ปฏิบัติงาน” ขวัญระวีกล่าว

ขวัญระวีวิเคราะห์ต่อมาว่า มุมมองด้านสิทธินั้นมีข้อจำกัดในตัวของมันเอง ส่วนใหญ่คนที่ทำงานด้านสิทธิจะโฟกัสไปที่ประเด็นการละเมิด เมื่อเกิดการละเมิดขึ้นมา คนที่ละเมิดตกเป็นผู้ร้ายแล้วเราก็จะติดอยู่ที่การกระทำโดยที่ไม่มองภาพของโครงสร้างที่เกิดขึ้น นอกจากนั้น ยังติดกับวาทกรรมเรื่องนักการเมืองเลว เรื่อง Clean-Dirty politics นักการเมืองถูกมองว่าเป็นคนชั่วร้าย ฉ้อโกง คอร์รัปชั่น แต่สำหรับสถาบัน เรากลับมองว่าสถาบันอยู่เหนือการเมือง สถาบันบริสุทธิ์ ทั้งๆ ที่มีการสถาปนาอำนาจที่ส่งผ่านมาตลอด จนกระทั่งทำให้เอ็นจีโอด้านสิทธิบางคนยอมรับที่จะมีนายกพระราชทานได้

ในเรื่องทุน เอ็นจีโอจะมองว่า ทุนต้องเลวหมด ทักษิณก็ถูกมองว่าเลว โดยที่ไม่ได้แยกแยะว่าเลวทางด้านไหน และมีการกระทำอย่างไรบ้าง อีกด้านก็มีการ Romanticize ชุมชน ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ที่มีการเผาตึก หลายคนเรียกเสื้อแดงว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มชาวบ้านที่เอ็นจีโอและนักสิทธิฯ รู้สึกว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางอุดมคติเลยชุมชนหนึ่งคือบ่อนอก-หินกรูด ก็เคยใช้วาทกรรมว่า “มึงสร้างกูเผา” ทำไมเอ็นจีโอจึงยังให้การสนับสนุน แต่ในอีกด้านหนึ่งตอนที่อริสมันต์บอกว่าให้เอาน้ำมันมาเผากลับถูกโจมตี ทั้งที่เป็นการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงแบบผิดบริบทด้วยซ้ำ

ขวัญระวี ยกตัวอย่างมุมมองขององค์กรสิทธิกับการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น ว่า “ขอประณามทุกฝ่าย ไม่มีใครชนะ มีแต่ผู้ที่แพ้ แพ้น้อยแพ้มาก ประเทศไทยแพ้มากที่สุด เพราะทุกฝ่ายมุ่งแต่เอาชนะกัน” ส่วนหนึ่งของจดหายเปิดผนึก โดย 29 องค์กรต้านรุนแรงจากการชุมนุม หลังเกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53

สสส. เคยออกแถลงการณ์ว่า “นายกจะต้องยุบสภาหรือว่าลาออกก็ได้ มันก็เป็นทางออกหนึ่ง ซึ่ง นปช.เสนอ แต่ว่าควรจะทำความจริงให้ปรากฏก่อน” ขวัญระวีถามว่า ในความเป็นจริงแล้วเรายังจะต้องทำความจริงให้ปรากฏอีกหรือ เพราะในเมื่อคนหนึ่งคนตาย รัฐก็ต้องรับผิดชอบแล้ว

ขณะที่สมชาย หอมละออ นักสิทธิมนุษยชน อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ให้สัมภาษณ์ว่า “หากบอกว่ารัฐจะต้องยุบสภาลาออก เหตุผลในขณะนี้ยังไม่สอดคล้อง เพราะว่ามีกลุ่มติดอาวุธแฝงอยู่ในผู้ชุมนุมเช่นกัน”

แถลงการณ์ของ ครส. ลงชื่อโดยนายบุญแทน ตันสุเทพวีระวงศ์ เลขาธิการขององค์กรบอกว่า “ผู้ชุมนุมเสื้อแดง มีการใช้อาวุธ ขวด หนังสติ๊ก เหลาไม้ไผ่ บั้งไฟ ยิงใส่เจ้าหน้าที่ มีกองกำลังติดอาวุธที่ชัดเจน มีความพยายามก่อวินาศกรรม เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องหยุดใช้ความรุนแรง”

ขวัญระวี กล่าวว่า ข้อความเหล่านี้ทำให้เห็นพื้นฐานความคิดของเขาเหล่านั้นที่มองว่า กลุ่มคนเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธ แต่ถามจริงๆ ว่าหลักฐานที่เห็นนั้นสามารถเรียกว่าเป็นกองทัพได้หรือยัง การออกแถลงการณ์ไปแบบนั้นทำให้คนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการฆ่ากันเองระหว่างคนไทยด้วยกัน และเป็นสงครามกลางเมือง เพราะฉะนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะต้องปรองดองกัน ซึ่งเป็นการทำให้เกิดวาทกรรมปรองดองว่าต่างคนต่างต้องให้อภัยโดยไม่ดูที่มาที่ไปที่แท้จริง และในเวลานี้นักสิทธิฯ เหล่านี้ยังมีบทบาทอยู่มาก โดยส่วนหนึ่งได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการปรองดอง และตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“อยากฝากถามกลับไปว่า การที่คุณออกแถลงการณ์แบบนั้นเท่ากับเป็นการออกใบอนุญาตฆ่าคนเสื้อแดง ฆ่าผู้ชุมนุม ถามว่าคุณยังคิดว่าคุณสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ได้รับผลกระทบได้เหรอ ทำไมถึงตัดสินใจที่จะเข้ามาพิสูจน์ข้อเท็จจริงในส่วนนี้” ขวัญระวีกล่าวและเสนอทางออกว่า คนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าในแวดวงเอ็นจีโอต้องร่วมมือกัน โดยคนรุ่นใหม่ต้องกล้าหาญที่จะปลดแอกตัวเองออกมา นอกจากนี้เสนอให้มีการตรวจสอบองค์กรสิทธิฯ จากทั้งภายในและภายนอก หลังจากนั้น อยากให้ตั้งสหภาพเอ็นจีโอ เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาของปัจเจก แต่เป็นปัญหาที่ทุกคนมีส่วนร่วมต้องช่วยกัน และการมีสหภาพฯ จะช่วยทำให้เห็นว่างานคืองาน ทั้งองค์กรและคนทำงานต่างก็ได้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยลดความคิดที่ว่าการทำงานเป็นเรื่องของบุญคุณ หรือแนวคิดว่าตัวเองมีจิตสาธารณะมากกว่าคนทำงานธุรกิจหรือด้านอื่นๆ ลง

ทุกคนต้องตรวจสอบตัวเอง
จอน อึ๊งภากรณ์ คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คำวิจารณ์เอ็นจีโอเท่าที่ฟังมาไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ คือมันมีเรื่องที่จะวิจารณ์เอ็นจีโอได้เยอะ แต่ที่วิจารณ์มานั้นไม่ค่อยถูกที่คัน เพราะเพียงหยิบเอาปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในแวดวงเอ็นจีโอบางองค์กร มาสรุปเป็นส่วนรวมของเอ็นจีโอทั้งหมด ซึ่งไม่ถูกต้อง แม้จะเป็นความจริงที่ขบวนการเอ็นจีโอมีอะไรที่ไม่ดีเยอะ แต่ทุกขบวนการก็มี ขบวนการของคนเสื้อแดงก็มีหลายอย่างที่ต้องตอบคำถามอยู่เหมือนกัน ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านต่อการตรวจสอบเอ็นจีโอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและควรจะมี การวิพากษ์วิจารณ์ก็เห็นว่าดี แต่ว่าประเด็นการวิจารณ์นั้นต้องคมชัด เนื่องจากเอ็นจีโอมีความหลากหลายมากในประเทศไทย

จอน กล่าวด้วยว่า ข้อวิจารณ์ที่พบมากอันหนึ่งคือเอ็นจีโอไปมอมเมาล้างสมองชาวบ้าน แต่ว่าในขณะเดียวกันคนเสื้อแดงบอกว่าชาวบ้านไม่สามารถถูกหลอกได้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการเขารู้อยู่แล้ว ซึ่งมันขัดกัน ทั้งนี้ในระยะยาวไม่มีใครหลอกชาวบ้านได้ เอ็นจีโอที่ดีซึ่งมีเยอะ เขาไปเรียนรู้ปัญหาของชาวบ้านในฐานะเป็นองค์กรชนชั้นกลางเข้าไปเรียนรู้แล้วก็ช่วยชาวบ้านสู้กับปัญหาที่เผชิญอยู่ สู้กับอำนาจรัฐในหลายๆ รูปแบบ ที่เป็นการปรึกษาหารือร่วมกัน ดังเช่น ขบวนการของสมัชชาคนจน ขบวนการป่าชุมชน หรือในประเด็นเรื่องเอดส์ ซึ่งตนเองเป็นคนทำงานอยู่ เดิมทีผู้ติดเชื้อเอดส์ไม่มีการรวมกลุ่มกันเลย ตอนนี้จากการทำงานร่วมกันของเอ็นจีโอทำให้มีกลุ่มผู้ติดเชื้อทั่วประเทศร่วมกันหนึ่งพันกว่าองค์กร องค์กรเหล่านี้มีตัวแทนทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ เครือข่ายเหล่านี้เขาต่อสู้เพื่อระบบหลักประกันสุขภาพได้สำเร็จ

เขากล่าวเสริมว่า อย่ามองว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นการถวายให้ประชาชนโดยคุณทักษิณ เพราะมันเกิดขึ้นโดยขบวนการประชาชนรวบรวมรายชื่อเจ็ดหมื่นกว่ารายชื่อทั่วประเทศ ผู้ติดเชื้อหญิงคนหนึ่งทางภาคใต้รวบรวมชื่อได้กว่าหนึ่งหมื่นชื่อ ขณะที่ทักษิณไม่เห็นด้วยกับหลักประกันสุขภาพในเวลานั้น แต่มี น.พ.สุรพงษ์ (สืบวงศ์ลี) ซึ่งสนิทกับ นพ.สงวน (นิตยรัมพงศ์) เป็นคนพูดจนขายความคิดนี้ได้ เพราะบอกว่าไม่ต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้น และไม่ต้องเก็บภาษีมากขึ้น คือคุณทักษิณจะทำได้ทุกอย่างตราบใดที่ยังไม่มีการขึ้นภาษี ซึ่งขัดกับความคิดของเอ็นจีโอที่ทำเรื่องรัฐสวัสดิการ ซึ่งต้องการปฏิรูประบบภาษีโดยเก็บภาษีที่เป็นธรรมกับประชาชน เก็บจากคนรวยมาใช้กับคนจน พร้อมย้ำว่าไม่มีวันที่ทักษิณจะเห็นด้วยกับการเก็บภาษีในระบบนี้

จอน กล่าวต่อมาว่า จากที่หลายคนวิจารณ์เอ็นจีไปแล้วมีส่วนที่เห็นด้วย คือหนึ่งจะต้องไม่มีระบบสองมาตรฐานโดยเฉพาะในองค์กรสิทธิ ที่เกิดสองมาตรฐานขึ้น ถ้าเป็นองค์กรสิทธิคุณต้องพิทักษ์สิทธิในทุกด้าน ทางวาจา ทางสิทธิ ต้องสนใจประเด็นของการถูกจับในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กรณีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องสนใจอย่างยิ่งในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ได้ สิ่งเหล่านี้องค์กรสิทธิมีมาตรฐานไม่เท่าเทียมกัน

ส่วนประเด็นที่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย คือ ที่มีการบอกว่าเอ็นจีโอมักจะอ่อนในประเด็นเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะเป็นความเชื่อของเอ็นจีโอบางส่วนว่าใครเป็นอำนาจรัฐใช้ไม่ได้ทั้งนั้น จะโดยเผด็จการหรือว่าประชาธิปไตย มันต้องต่อรอง หรือว่าต่อสู้ เอ็นจีโอต่อรองมากกว่าต่อสู้ ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อเรื่องการล็อบบี้ผู้มีอำนาจ แต่เชื่อในการใช้พลังสู้กับผู้มีอำนาจ ซึ่งหลายครั้งเอ็นจีโอก็ใช้ร่วมกับชาวบ้านในการสู้ ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องเอ็นจีโอเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและมีหลายมิติ จะบอกว่าเอ็นจีโอไม่ได้สนใจโครงสร้างมันก็ไม่ใช่ มันก็มีกลุ่มเอ็นจีโอที่เขาต่อสู้กับโครงสร้างเช่นกัน

เมื่อเกิดรัฐประหารปี 2549 นั้น ยอมรับว่าการแสดงออกของเอ็นจีโอบางส่วนไม่เหมาะสม แต่จะต้องบอกว่าส่วนตัวก็เป็นคนหนึ่งที่สู้กับตัวเองอยู่ เพราะบางอย่างก็รู้สึกสองใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมอย่างไร แต่หากจะให้ไปร่วมในสภานิติบัญญัติก็ไม่เอาเพราะรู้สึกว่าเป็นสภาเถื่อน แม้จากการผ่านงานวุฒิสภามาจะเห็นอยู่บ้างว่าวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งมีปัญหา แต่มันก็เป็นประชาธิปไตยกว่า และส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับที่เอ็นจีโอไปร่วมกับขบวนการปฏิรูปที่เริ่มต้นจากรัฐบาลนี้ เพราะคิดว่ามันเป็นรัฐบาลที่เปื้อนเลือด แต่ว่าในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ สำหรับคนที่เข้าร่วมทุกคนก็ต้องอธิบายของตัวเองในสิ่งนั้น แต่ก็คิดว่ามันเป็นจุดอ่อนของเอ็นจีโอ หลายอย่างที่วิจารณ์มันถูก แต่ไม่ได้แปลว่าขบวนการเอ็นจีโอโดยรวมจะอยู่ในสภาพที่แย่ หรือว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มอำมาตย์

จอน กล่าวด้วยว่า ขบวนการเอ็นจีโอทำอะไรหลายอย่างซึ่งขบวนการคนเสื้อแดงไม่ทำ ทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงจริงๆ แล้วไม่ได้มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน เสื้อแดงที่มีเพียงกลุ่มหนึ่งที่มีความชัดเจนในเรื่องการปฏิรูปสังคมอย่างจริงจัง อาจจะเป็นกลุ่มเลี้ยวซ้าย แต่โดยรวมไม่มีอุดมการณ์ที่ชัดเจน ในการปฏิรูปสังคมการเมือง และประเด็นเรื่องคุณทักษิณยังเป็นประเด็นที่ให้คำตอบไม่ได้

“เราอยู่ในสังคมที่แตกแยกที่มีหลายกลุ่มหลายส่วนและไม่มีใครที่สามารถภูมิใจตนเองได้เลยในขณะนี้ ทุกคนต้องตรวจสอบตัวเอง ไม่มีใครขาวสะอาด แต่เสียงการวิจารณ์นั้นจะออกมาเป็นแบบ “กูถูกทุกอย่าง” หรือว่าใสสะอาด แล้วพวกมึงนั้นเลวร้าย พวกเรานั้นน่าอายทั้งห้อง น่าอายทั้งสังคมที่เรามารบกันสู้กัน ด่ากันแต่กลับไม่ยอมหาทางออกที่จะทำงานร่วมกันในสังคม สถาบันที่มีอำนาจที่ใหญ่ในสังคมต้องถูกปฏิรูปทั้งหมด แล้วเราก็มาทะเลาะกันแตกแยกกัน ด่ากันเอง ผมก็ ไม่รู้ว่ามันคืออะไร และเมื่อไหร่พวกเราจะโตขึ้นสักที” จอนกล่าว

---------------------------------

ท้ายการเสวนา อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทสังเคราะห์ภาพรวมการเสวนาตลอดทั้งวันนั้น ว่า ...

สิ่งหนึ่งที่การแลกเปลี่ยนพูดคุยในเวทีเสวนา “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” ชี้ให้เห็นคือพวกเรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่หลักยึดหรือว่าแหล่งอ้างอิงที่นิยมกันไม่เพียงแต่จะขาดศักยภาพในการเผชิญกับปัญหา หากแต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาหรือว่าทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น

กล่าวในทางศีลธรรม การแลกเปลี่ยนพูดคุยชี้ให้เห็นว่าความคิดเรื่องความดีและคนดีไม่ได้เป็นสิ่งบริสุทธิ์ผุดผ่องที่สามารถยึดถือได้อย่างซื่อๆ แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกใช้ในการสถาปนาอำนาจของบุคคลจำนวนหนึ่งในการก้าวเข้ามามีบทบาทในสังคมและการเมือง ในแง่หนึ่งงานพัฒนาถูกนิยามให้เป็นเรื่องความเสียสละและความมุ่งมาดปรารถนาดีของบุคคล โดยละเลยการถกเถียงปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและการเมืองที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของปัญหาที่กำลังเผชิญหรือแก้ไข และตำแหน่งแห่งที่ของพวกตนในข่ายใยของอำนาจ ปูชณียบุคคลของงานพัฒนาจึงไม่ใช่ผู้ที่มีความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ แต่กลายเป็นผู้ปวารณาตัวเองเป็นผู้ทรงศีล ความไม่ถูกต้องชอบธรรมของอำนาจที่รองรับองค์กรและคณะกรรมการชุดต่างๆ จึงถูกชำระด้วยคุณงามความดีส่วนตัวของปูชณียบุคคล ขณะเดียวกันการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์กันเองภายในถูกปิดกั้นโดยคุณงามความดีของปัจเจกบุคคล

โยงกับปัญหาเกี่ยวกับระบบศีลธรรมคือปัญหาเกี่ยวกับความรู้และความเข้าใจที่ใช้ในการเผชิญกับโจทย์และปัญหาต่างๆ ความรู้ที่ใช้ในการอธิบายการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ถูกตั้งคำถามว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาถูกละเลยและลุกลามบานปลายหรือไม่ การเน้นการทำความเข้าใจตัวขบวนการและประเด็นปัญหาเฉพาะทำให้ละเลยหรือมองไม่เห็นความซับซ้อนแยบยลของอำนาจที่บริหารผ่านรัฐหรือไม่ การเข้าร่วมสังฆกรรมกับรัฐเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับการเจรจาต่อรองของคนส่วนใหญ่หรือผู้เสียเปรียบ หรือว่าเป็นการถูกกลืนกลายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบอำนาจหลักซึ่งพยายามที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงและความตึงเครียดใหม่ๆ ขณะที่การหันหลังให้กับรัฐเช่นคำตอบอยู่ที่หมู่บ้านหรือชุมชนพึ่งตนเองเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ การแตกตัวของชนชั้นนำโดยมีแรงกดดันของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเป็นส่วนกำหนดไม่สู้จะได้รับการถกเถียงพิจารณา นอกจากนี้ภายใต้สถานการณ์การเมืองปัจจุบันจะพูดถึงบทบาทกองทัพในทางการเมืองอย่างไรและจะพูดถึงบทบาทของสถานบันพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายอย่างไร เหล่านนี้เป็นโจทย์ที่ต้องการถกเถียงและอภิปรายอย่างจริงจัง

ด้วยความคลุมเครือของระเบียบศีลธรรมและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและการเมืองที่จำกัด องค์กรและคณะกรรมการต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อคลี่คลายปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวจึงอยู่ในสภาวะง่อนแง่นและถูกจับตามองด้วยความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจ องค์กรพัฒนาเอกชนถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงโดยเฉพาะจากคนภายในและผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดไม่เฉพาะในประเด็นแนวคิดทฤษฎีในการวิเคราะห์สังคมและการเมือง ระบบอาวุโสและระบบอุปถัมภ์ที่ปิดกั้นการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์กันเองภายใน หากแต่หมายรวมถึงการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองกับสถานการณ์ความขัดแย้งการเมืองปัจจุบันที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ปัญหาความไม่เสมอภาคและความไม่เป็นธรรม คณะกรรมการชุดต่างๆที่ภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมเป็นหัวหอกถูกตั้งคำถามว่าจะสามารถช่วยคลี่คลายปัญญาได้เพียงใดภายใต้ระเบียบอำนาจที่ผลิตคณะกรรมการเหล่านี้ขึ้นมา หรือว่มีสถานะเป็นเพียงกลไกในการสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจดังกล่าว ขณะเดียวกันสถาบันทางสังคมและการเมืองตามประเพณีก็เสื่อมลงจนไม่สามารถอาศัยเป็นช่องทางในการคลี่คลายปัญหาโดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันได้ ประเทศไทยจึงแทบไม่เหลือกลไกทางสังคมและการเมืองสำหรับเผชิญหน้ากับปัญหาในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น โจทย์ที่เรากำลังเผชิญก็คือว่าเราจะอยู่กับความสั่นคลอนง่อนแง่นของระเบียบศีลธรรม ความรู้และทฤษฎีทางสังคมและการเมือง และสถานทางสังคมและการเมืองทั้งตามประเพณีและไม่ตามประเพณีอย่างไร ซึ่งไม่มีคำตอบสำเร็จรูปหรือว่าใครคนใดคนหนึ่งประทานให้ได้ การแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอย่างเสมอหน้า เป็นเงื่อนไขต้นๆ ที่ช่วยให้เราสามารถเผชิญกับโจทย์เหล่านี้ได้อย่างรอบคอบและโดยไม่ต้องฆ่ากัน

ที่มา : ประชาไท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา