เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

รัฐประหาร = อัตวินิบาตกรรม

นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชน วันที่ 27 กันยายน 2553

การชุมนุม "ฟ้องฟ้า" ของคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ที่สี่แยกราชประสงค์ เป็นเรื่องที่น่าสำเหนียกแก่กลุ่มชนชั้นนำที่ร่วมกันชักใยการเมืองไทยอยู่ใน เวลานี้

จำนวนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากเกินคาดของทุกฝ่าย แม้แต่ของผู้จัดการชุมนุมเอง การจราจรถูกปิดไป "โดยปริยาย" โดยไม่มีใครเจตนา แต่เกิดขึ้นจากจำนวนคนที่เข้าร่วมมากเกินคาด
คุณฌอน บุญประคอง ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นโฆษกยืนยันว่า คนจำนวนมากเข้าร่วมการชุมนุมโดยสมัครใจและเกิดขึ้นอย่างไม่ได้วางแผนมาก่อน ทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ ทั้งทางลับหรือเปิดเผยจากคุณทักษิณ ชินวัตร โดยสิ้นเชิง คุณฌอนประเมินว่าเกือบทั้งหมดของผู้ชุมนุมคือคนชั้นกลางในกรุงเทพฯภาพข่าวใน ทีวีและหน้าหนังสือพิมพ์ดูจะส่อไปในทางเดียวกับการประเมินของคุณฌอน คำให้การของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่นก็ตรงกัน

ทั้งหมดนี้เกิด ขึ้นท่ามกลางการใช้ พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่รัฐบาลได้ตัดสินใจมาแต่ต้นแล้วว่า จะปล่อยให้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองที่ "ไม่นำไปสู่การจลาจล หรือการละเมิดกฎหมาย" แปลว่า จะใช้อำนาจตามตัวอักษรในพ.ร.บ.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ากิจกรรมทางการเมืองนั้นอยู่ในวิสัยที่ผู้มีอำนาจ "คุม" อยู่หรือไม่ หรือพูดให้ชัดกว่านั้นคือสะเทือนอำนาจของตนเองมากน้อยเพียงไร

ท่าทีอย่างนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ในบรรดาผู้ถืออำนาจของบ้านเมืองทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในเวลานี้ (อันมิได้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่แยกออกเป็นหลายกลุ่มมาก) ยอมรับว่า จะต้องประคองตัวอยู่ท่ามกลางพลังสองชนิด คือพลังของอำนาจดิบอันมี พ.ร.บ.ฉุกเฉินและกองทัพเป็นฐาน กับพลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน (ซึ่งมักเรียกกันว่า "ประชาธิปไตย") ระหว่างพลังทั้งสองนี้ ยังไม่มีฝ่ายใดล้มอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างราบคาบ จะประคองโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในปัจจุบันให้อยู่รอดต่อไปได้ก็ต้องสร้าง สมดุลให้ดีระหว่างอำนาจทั้งสอง

แต่เรื่องนี้พูดง่ายทำยาก เพราะสังคมไทยไม่ได้หยุดนิ่งกับที่ หากเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา และเปลี่ยนเร็วในบางมิติด้วย จนบางครั้งอำนาจที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังเวลานี้คาดไปไม่ถึง

เช่นการชุมนุมของชาวเสื้อแดงในวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน ดังที่กล่าวมา เป็นต้น

การตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมอย่างเหี้ยมโหดในเดือนพฤษภาคม ตามมาด้วยการไล่ล่าและปิดปากกลุ่มเสื้อแดง คือการใช้พลังของอำนาจดิบเพื่อลดทอนกำลังของพลัง "ประชาธิปไตย"ลง ด้วยความหวังว่าอำนาจที่ไม่ถูกตรวจสอบในช่วงนี้จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ ผู้ถืออำนาจพอที่จะเผชิญกับการเลือกตั้ง และการกลับมาของบรรยากาศประชาธิปไตยได้ใหม่ สมดุลก็จะกลับมาเอง

แต่ผู้คนจำนวนมากที่เข้าร่วมชุมนุม โดยไม่มีการจัดตั้งกันอย่างรัดกุมนัก บวกกับท่าทีที่ไม่เป็นมิตรของผู้คนในภาคเหนือ-อีสาน ทำให้ไม่อาจแน่ใจได้ว่า การเลือกตั้งจะส่งนักการเมืองกลุ่มเก่ากลับคืนสู่ตำแหน่งได้อีก ไม่ว่าการเลือกตั้งจะมาเมื่อไร จากนี้ไปจนถึงปลายปีหน้า

อันที่จริง พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ขาดไม่ได้ของชนชั้นนำไทย ว่ากันไปแล้วโครงสร้างอำนาจเคยดำรงรักษาตนเองไว้ได้อย่างราบรื่นภายใต้ รัฐบาลหลายแบบ และพรรคการเมืองที่เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลได้หลายพรรค พรรคการเมืองต่างๆ นั้นก็หาใช่ใครที่ไหน แต่เป็นสมาชิกในกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันเอง พรรค ทรท.เองก็เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ เพียงแต่เป็นกลุ่มของชนชั้นนำที่กำลังจะใช้ความสำเร็จทางการเมืองไปรวบอำนาจ ทั้งหมดไว้ภายใต้การนำของตนแต่ผู้เดียว ผิดกติกาของการต่อรองอำนาจในหมู่ชนชั้นนำไทย ซึ่งมีความยืดหยุ่นสูง และไม่มีกลุ่มใดได้อำนาจนำไปอย่างเด็ดขาด แม้แต่กลุ่มที่มีโอกาสสร้างเครือข่ายได้กว้างขวางก็ยังต้องยืดหยุ่นให้แก่ กลุ่มอื่นบ้างเป็นครั้งคราว

พรรคทายาทของ ทรท.ต่างหากที่เป็นปัญหามากกว่า ไม่ใช่เพราะกลุ่มนี้เป็นคนหน้าใหม่จากที่อื่นและปราศจากโครงข่ายโยงใยกับชน ชั้นนำกลุ่มอื่นเสียเลย(คุณสมัคร, คุณสมชาย, คุณยงยุทธ, คุณปลอดประสพ, พลเอกชวลิต ฯลฯ เป็นใคร? ก็คนหน้าเก่าในแวดวงทั้งนั้นไม่ใช่หรือ?) แต่เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมต่างหาก ที่ทำให้พรรคทายาทต้องไปเกาะเกี่ยวกับฐานมวลชน

ทั้งๆ ที่พรรคเหล่านี้หาได้มีความพร้อมจะเล่นการเมืองที่มีฐานมวลชนแม้แต่น้อย

และเพราะไปเกาะเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวที่มีฐานมวลชน ทำให้พรรคทายาททั้งหลาย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ไม่อาจยืดหยุ่นในการต่อรองกับชนชั้นนำกลุ่มอื่นได้ ดังเช่นที่พรรคการเมืองไทยมักทำได้เสมอมา ยิ่งพรรคเพื่อไทยขาดการนำที่ชัดเจนก็ยิ่งทำให้ยากที่จะผนวกพรรคเพื่อไทยเข้า มาในโครงสร้างอำนาจของชนชั้นนำ และด้วยเหตุดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็อาจกระทบกระเทือนต่อโครงสร้างอำนาจได้มาก

ทุกกลุ่มชนชั้นนำ เวลานี้ ดูเหมือนได้ตัดสินใจไปแล้วว่า อย่างไรเสียพรรคเพื่อไทยก็จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาอันใกล้นี้

ผบ.ทบ.คนใหม่ซึ่งสามารถอยู่ ในตำแหน่งได้ต่อเนื่องถึง 4 ปี คงจะหวั่นไหวต่อการมี รมว.กลาโหมที่ไม่ได้เป็นมิตรต่อตน อย่าลืมว่าการปราบปรามประชาชนในเดือนพฤษภาคมจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก นั้น ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจังและเที่ยงธรรมใดๆ แม้นายทหารผู้สั่งการอาจไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เพราะกระทำอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินแต่ยังมีความรับผิดชอบทางการเมืองและสังคมซึ่งไม่มีกฎหมายใดๆ คุ้มครอง ด้วยการยกเหตุเพียงเท่านี้ก็สามารถ "แขวน" ผบ.ทบ.เสียได้ไม่ยากนัก

สายที่วางกันเอาไว้ตลอดเส้นในกองทัพจะขาดรุ่งริ่งอย่างไร กองทัพทั้งกองทัพนั่นแหละที่ไม่อาจรับพรรคเพื่อไทยเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ได้

นักการเมืองในพรรคเพื่อไทยรู้จักการเมืองไทยดีพอที่ทำให้ ไม่อยากไปยุ่งกับกองทัพ แต่พรรคเพื่อไทยจะมีทางเลือกอื่นหรือ มวลชนจำนวนมากที่เผชิญการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดจะยอมให้พรรคเพื่อไทยขาย ทิ้งกระนั้นหรือ

ฉะนั้นถึงอย่างไรพรรคเพื่อไทยก็ต้องเข้ามาจัดการกับกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปีกว่าในตำแหน่ง ไม่ได้ทำให้โอกาสทางการเมืองของประชาธิปัตย์ดีขึ้นมากนัก แม้เศรษฐกิจของทุนระดับใหญ่ (ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นของต่างชาติเสียมากมาย) ส่งสัญญาณเงยหัวเพราะการส่งออกที่ดีขึ้น แต่เงินไม่ได้กระจายไปถึงผู้คนมากนักนอกจากข้าราชการซึ่งจะได้ปรับเงินเดือน ยิ่งกว่านี้ความแตกร้าวในสังคมยิ่งหนักมากขึ้น โดยไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาเบาบางลงแต่อย่างใด คาถาล้มเจ้านั้นปลุกไม่ขึ้น ทำให้ต้องใช้มาตรการปิดหูปิดปากประชาชนอย่างหนาแน่นเหมือนเดิม (ทั้งโดยเปิดเผยและโดยลับ) ทำให้ประชาชนที่เชิดชูเจ้าพลอยเดือดร้อนไปด้วยและเริ่มวิตกว่าการนำเอา สถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้ประโยชน์ทางการเมืองเช่นนี้ ผลเสียย่อมตกอยู่แก่ตัวสถาบันเองมากกว่า

นายทุนเดือดร้อนกับ การชะลอตัวของการลงทุนเพราะนโยบายที่ไม่ชัดเจน และบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่สงบ นับวันก็เห็นได้ชัดขึ้นว่าไม่สามารถฝากผลประโยชน์และอนาคตของตนไว้กับพรรค ประชาธิปัตย์ได้

ฝ่ายนิยมเจ้าอย่างสุดขั้วมองเห็นแต่ความอ่อนแอของประชาธิปัตย์ เพราะไม่อาจปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างได้ผล ไม่ว่าในทางเทคโนโลยีหรือในทางกฎหมาย (หรือนอกกฎหมาย)

ท่ามกลางสภาวการณ์เช่นนี้ นักการเมืองประชาธิปัตย์ก็รู้ดีว่าไม่ว่าพรรคจะถูกยุบหรือไม่ หากหลุดจากรัฐบาลในครั้งนี้ โอกาสที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งอีกคงริบหรี่ไปอีกนาน

ควรกล่าวด้วยว่า ในท่ามกลางอนาคตที่ดูไม่ราบเรียบของชนชั้นนำนี้ ชนชั้นนำก็แตกแยกกันเองอย่างหนักด้วย ตามปกติชนชั้นนำก็ประกอบขึ้นจากหลายกลุ่มอยู่แล้ว แต่เวลานี้แม้ในกลุ่มเดียวกันก็แตกแยกกันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นในกองทัพ, ฝ่ายนิยมเจ้า,ตำรวจ, นักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล, นักวิชาการ,คนในวงการตุลาการ ฯลฯ จึงยิ่งทำให้ชนชั้นนำไทยในขณะนี้ไม่พร้อมจะผนึกกำลังกันเข้ามาต่อรองความ เปลี่ยนแปลงของสังคมได้ดีนัก

และนี่คือที่มาของข่าวการรัฐประหาร

เพราะดูเหมือนเป็นคำตอบเดียวที่ชนชั้นนำบางกลุ่มมีอยู่ในกระเป๋า เพราะไปคิดว่ารัฐประหารจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาทุกอย่าง นับตั้งแต่ความแตกร้าวภายในของชนชั้นนำเอง, การดำเนินนโยบายที่ทันท่วงทีต่อความเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอก,ฟื้นฟูสมดุล ทางการเมืองระหว่างพลังดิบและพลัง"ประชาธิปไตย" กลับคืนมาได้อย่างมั่นคง, ให้อำนาจที่ค่อนข้างเด็ดขาดมากขึ้นแก่ชนชั้นนำที่จะประคับประคองการเปลี่ยน ผ่านของสถาบันทางการเมืองและวัฒนธรรมทุกสถาบัน ฯลฯ

รัฐประหารอาจเคยทำอย่างนั้นได้สำเร็จ แต่รัฐประหารครั้งสุดท้ายทำไม่สำเร็จ ไม่ใช่เพราะตัวบุคคลที่เข้ามาเป็นรัฐบาล เท่ากับว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว รัฐประหารไม่สามารถผนวกพลังใหม่ของประชาชนระดับล่างให้เข้ามาร่วมอยู่บนเวที การเมืองอย่างเสมอภาคได้ รัฐประหารทำให้เกิดความแตกร้าวในสังคมหนักขึ้น รัฐประหารทำให้ชนชั้นนำที่เคยอยู่แต่เบื้องหลังถูกดึงมาร่วมในการปะทะขัด แย้งกันเบื้องหน้ารัฐประหารไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจจำเริญมากขึ้น หรือการแบ่งปันทรัพย์สินดีขึ้น ฯลฯ

รัฐประหารครั้งใหม่ก็จะให้ ผลอย่างเดียวกัน และอาจเลวร้ายกว่า เช่นความแตกร้าวในกองทัพซึ่งแสดงออกให้เห็นได้แต่เพียงระเบิดไม่กี่ลูก ก็จะกลายเป็นระเบิดกันทุกวัน และวันละหลายครั้ง อำนาจรัฐอาจไม่ถูกท้าทายที่ราชประสงค์ แต่อาจถูกท้าทายไปทั่วทุกตารางนิ้วของประเทศ ฉะนั้นแม้ไม่มีศาลากลางใดถูกเผา แต่ศาลากลางอาจกลายเป็นศาลาวัด คือไม่มีอำนาจเหลือให้ทำอะไรได้สักอย่างเดียว พลังใดจะแพ้หรือชนะเดาไม่ถูก แต่จะไม่เหลือระเบียบทางการเมืองและสังคมใดๆ ไว้ให้ใครนำมาปะติดปะต่อกลับขึ้นมาใหม่ได้อีกเลย

ฉะนั้น ถ้าคิดผิด ก็คิดใหม่ได้ เพราะรถถังยังไม่ได้เติมน้ำมัน

1 ความคิดเห็น:

  1. อ. นิธิ แสดงมุมมองที่ครอบคลุมแทบทุกส่วนของพลังที่มีผลกระทบต่อการเมือง การปกครองในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่ อ.นิธิ ไม่กล่าวถึงกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่เป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นนำในการล้มรัฐบาลที่ประชาชนส่วนมากเลือกตั้งมา และไม่กล่าวถึงมวลชนคนรากหญ้าที่เป็นคนส่วนมากของประเทศ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าเมื่อใดมวลชนคนรากหญ้า สนธิกำลัง ผนึกกับพลังคนชั้นกลางในเมือง และพลังนักศึกษา ภายใต้การนำของภูมิปัญญาที่บริสุทธิ์ จริงจัง จริงใจ เมื่อนั้น การเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่จะมาถึง ทุกชนชั้นจะเสมอภาคภายใต้หลักนิติธรรม ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ชนชั้นนำ จะต้องอยู่ตามสถานะของตน ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน ที่ยึดครองอำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตน แม้จะยากเพียงใด แต่เชื่อว่า จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน
    ข้าพเจ้าเชื่อหลักพุทธศาสตร์ ที่ว่า มีเกิด ต้องมีดับ มีมืด ต้องมีสว่าง และจากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ก็ได้พบว่า ไม่มีภาวะใดที่เกิดแล้วไม่ดับ ดับแล้วไม่เกิด ไม่มีภาวะใดที่มืดแล้วไม่สว่าง สว่างแล้วไม่มืด จะช้าจะเร็วขึ้นอยู่กับกาลเวลา และการกระทำของคน ที่ยังมีกิเลส ตัณหา ในเมื่อสากลโลกเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตย แม้กระทั่งสังคมคอมมูนก็ยังปรับเปลี่ยนสู่เสรี แล้วชนชั้นนำประเทศไทยจะฝืนกระแสโลก และหลอกลวงประชาคมโลกได้นานหรือ ข้าพเจ้าเชื่อว่า “ ประเทศไทยต้องถึงวันสว่างไสว ด้วยพลังที่บริสุทธิ์ “ กลุ่มสมบัติ บุญงามอนงค์ กลุ่ม สนนท. ที่กำลังเคลื่อนไหว และคณะนิติราษฎร์ คือ ประกายแสงนั้น หากผนึกพลังได้วันใด จะเป็นแสงโชติช่วงที่มีพลังมหาศาลในการนำสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ยกเว้น แต่ ถูกทำลายด้วย อำนาจของ ลาภ ยศ สรรเสริญ และ โลภ โกรธ หลง เสียก่อน
    มันใกล้จะถึงเวลาอวสานของรัฐทหาร รัฐราชการ และรัฐบาลที่ปล้นอำนาจของประชาชนแล้ว !!!

    ตอบลบ

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา