เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

รู้ทันนิรโทษกรรม

ชำนาญ จันทร์เรือง

หากเรายังจำกันได้เมื่อครั้งจบเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 แล้ว ผู้นำนักศึกษาและประชาชนบางคนถูกตั้งข้อหาในคดีที่เรียกกันว่า “คดี 6 ตุลา” โดยนายสุธรรม แสงประทุม กับพวกรวมทั้งหมด 18 คน ถูกตั้งข้อหาว่าก่อกบฏ ก่อจลาจล ต่อสู้และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ และร่วมกันกระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ฯลฯ คดีนี้เริ่มต้นที่ศาลทหารโดยมีการฟ้องคดีในวันที่ 25 สิงหาคม 2520

ในตอนแรกลักษณะของการพิจารณาคดีไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานความยุติธรรมแต่อย่างใด เพราะผู้ต้องหาไม่มีสิทธิใช้ทนายความพลเรือนในการปกป้องตนเอง แต่หลังจากมีการรณรงค์เรียกร้องทั้งภายในและภายนอกประเทศในเรื่องนี้ และหลังจากที่รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ถูกล้มไปโดยการรัฐประหารที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาในอีกหนึ่งปีถัดมา ลักษณะของคดีในศาลก็เปลี่ยนไปและมีการยินยอมให้แต่งตั้งทนายความพลเรือนสำหรับฝ่ายจำเลยได้

แต่การณ์กลับปรากฏว่าแทนที่คดี 6 ตุลา จะเป็นการพิสูจน์ความผิดของฝ่ายจำเลยโดยฝ่ายรัฐ ตัวฝ่ายรัฐเองกลับกลายเป็นจำเลยที่แท้จริงต่อสังคม นอกจากรัฐจะไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้แล้ว คดีนี้กลายเป็นเวทีในการนำข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ออกมาประกาศต่อสาธารณะ นอกจากนั้นตั้งแต่วันแรกของการขึ้นศาล คดีนี้กลายเป็นเวทีของประชาชนในการประท้วงภายนอกศาลในเรื่องสิทธิเสรีภาพอีกด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องรีบประกาศนิรโทษกรรมผู้ต้องหาทั้งหมดในวันที่ 15 กันยายน 2521 ก่อนที่ข้อมูลอื่นๆ จะออกมาสู่สาธารณะและจะวกกลับมาเล่นงานตนเองและเจ้าหน้าที่

เหตุผลในการประกาศกฎหมายนิรโทษกรรมในคราวนั้น คือ โดยที่รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า การพิจารณาคดีเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้วและมีท่าทีว่าจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ถ้าจะดำเนินคดีต่อไปจนเสร็จสิ้นก็จะทำให้จำเลยต้องเสียอนาคตในทางการศึกษาและการประกอบอาชีพยิ่งขึ้น และเมื่อคำนึงถึงว่าการชุมนุมดังกล่าวก็ดี การกระทำอันเป็นความผิดทั้งหลายทั้งปวงก็ดี เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่แท้จริงเพราะเหตุแห่งความเยาว์วัยและการขาดประสบการณ์ของผู้กระทำความผิด

ประกอบกับรัฐบาลนี้มีความประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะให้เกิดความสามัคคีในระหว่างชนในชาติ จึงเป็นการสมควรให้อภัยการกระทำดังกล่าวนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดทั้งผู้ที่กำลังถูกดำเนินคดีอยู่และผู้ที่หลบหนีไปได้ประพฤติปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรและกลับมาร่วมกันทำคุณประโยชน์และช่วยกันจรรโลงประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 โดยมีพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเมื่อเกิดกรณีพฤษภาอำมหิตขึ้นในปี 2553 นี้ จึงได้มีความพยายามที่จะยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาอีกด้วยเหตุผลในทางลึกก็คือเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้วย่อมต้อมมีการอ้างพยานหลักฐานต่างๆ นานาขึ้นมาต่อสู้กันในศาล ซึ่งย่อมที่จะหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ฝ่ายรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่าย ศอฉ.จะต้องกลับกลายมาเป็นจำเลยของสังคมดังเช่นกรณี 6 ตุลาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ร่างกฎหมายที่รอการบรรจุวาระนั้น เป็นร่าง พรบ.นิรโทษกรรมผู้ก่อเหตุความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2552 โดยนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นผู้เสนอตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2552 และพรรคภูมิใจไทยจะเสนอเพิ่มเติมเข้าไปใหม่แทนร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมให้ครอบคลุมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 ไปด้วยโดยใช้ชื่อว่า “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 พ.ศ.....”

โดยให้เหตุผลว่าสืบเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง มีการแบ่งแยกทางแนวความคิด ทำให้เกิดการประท้วง มีการรวมกลุ่มและชุมนุมของประชาชน ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ความคิดและความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง จึงเป็นผลให้มีการกระทำความผิดทางอาญาและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

แต่เมื่อได้พิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เห็นว่าประชาชนที่มาร่วมประท้วงเรียกร้องทางการเมืองล้วนแสดงออกทางความเห็นทางการเมืองโดยสุจริต การเกิดหตุการณ์วุ่นวายและนำมาซึ่งความร้ายแรงตามกฎหมายได้ยุติไปแล้ว เพื่อให้ประเทศชาติมีความรักความสามัคคีและรู้จักการให้อภัย จึงเห็นควรออกกฎหมายดังกล่าว โดยมีเนื้อหาที่สำคัญโดยย่อ ดังนี้

มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมประท้วงเรียกร้องทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ไม่ว่าจะได้กระทำในกรุงเทพมหานครหรือในต่างจังหวัดทั่วราชอาณาจักรแลไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะที่เป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดทั้งในทางอาญาและทางแพ่งโดยสิ้นเชิง

มาตรา 4 บรรดาการกระทำของเจ้าพนักงานหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการเกี่ยวกับหรือกระทำต่อบุคคลที่ร่วมชุมนุม และได้กระทำขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 ไม่ว่าจะได้กระทำในฐานะผู้ออกคำสั่งหรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่ง หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำนั้นพ้นจากความผิดและความรับผิดในทางอาญาและทางแพ่ง รวมทั้งความผิดทางวินัยโดยสิ้นเชิง

มาตรา 7 โดยผลของการนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ศาลปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องหรือ คุมขังอยู่และให้พนักงานสอบสวนยุติการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดซึ่งถูกกล่าวหา

มาตรา 8 การนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.นี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะฟ้องร้องเรียกสิทธิประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น

โดยในมาตรา 5 ได้บัญญัติให้ไม่มีผลนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่เป็นตัวการในการกระทำอันเป็นความผิดในลักษณะความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน และความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายไว้ด้วยซึ่งก็เป็นประเด็นปัญหาใหญ่อีกล่ะครับว่าใครคือตัวการตามความหมายนี้

ผมเชื่อว่าไม่ช้าก็เร็วร่างกฎหมายฉบับนี้ก็คงต้องเข้าสู่สภาดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นในกรณี 6 ตุลา 19 และเนื้อหาคงมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามการแปรญัตติของ ส.ส.และ ส.ว. โดยถึงแม้ว่าขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์จะแสดงละครลิงชิงหลักกับพรรคภูมิใจไทยอยู่ก็ตาม

นอกจากนั้นพรรคภูมิใจไทยยังระดมล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายนี้อีกทางหนึ่ง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้วทำไม่ได้เพราะประชาชนไม่มีสิทธิเสนอกฎหมายในลักษณะนี้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทยและหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้ประชาชนเพียง 10,000 ชื่อเท่านั้นก็สามารถเสนอกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องล่าชื่อกันเป็นแสนตามที่พรรคภูมิใจไทยกำลังพยายามทำอยู่นี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะผ่านสภาก็คงมีการปะทะกันในทางความคิดกันอย่างหนักไม่ว่าจะจากฝ่ายไหนหรือสีไหนก็ตาม

จะอย่างไรก็แล้วแต่ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ออกมาแล้วก็ตาม ผมก็ยังยืนยันอีกครั้งว่าผู้ที่รับผิดชอบทั้งหลายไม่สามารถรอดพ้นจากอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ไปได้ เพราะอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถดำเนินการเอาผิดต่อผู้ที่กระทำผิดต่อมวลมนุษยชาติได้ ถึงแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายมานิรโทษกรรมเขาเหล่านั้นแล้วก็ตาม ที่สำคัญก็คือคดีประเภทนี้ในศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีอายุความ เสียด้วยสิครับ

-----------------------------

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 21 กันยายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา