แนวทางการสร้างสังคมประชาธิปไตย
โดย นายฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์
นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทความชิ้นนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ภาคต่อ” ของบทความชิ้นที่แล้วของผู้เขียน คือเรื่อง “วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย : รัฐธรรมนูญที่แท้จริงซึ่งไม่เคยถูกยกเลิก” เนื่องจากในข้อสรุปตอนท้ายของบทความชิ้นดังกล่าวได้ทิ้ง “ปม” ไว้ว่า “...การสร้างประชาธิปไตยให้หยั่งรากลึกมั่นคงในประเทศใดนั้น มิได้จำกัดวงแคบอยู่เพียงโดยการสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องขยายออกไปถึง “การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย” ให้เกิดขึ้นในมโนสำนึกของประชาชนอย่างทั่วถึงด้วย เพราะประสบการณ์ในอดีตได้สอนให้รู้แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงแต่โครงสร้างการปกครอง โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว มิได้สร้าง “ความเป็นประชาธิปไตย” ที่แท้จริง มั่นคงและยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศของเรา…”
แต่ผู้เขียนยังมิได้อธิบายถึงวิธี หรือ แนวทางในการ “สร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย” ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะได้นำเสนอแนวทางการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพื่อสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ” (Stable Democracy) หรือที่ผู้เขียนขอเรียกว่า “สังคมประชาธิปไตย” (Democratic Society) ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการ “ควบคู่” ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเดินไปสู่เป้าหมายคือ “การปฏิรูปการเมือง” อนึ่ง ผู้เขียนขอกล่าวในเบื้องต้นนี้ว่า ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธความสำคัญของรัฐธรรมนูญ และการพยายามออกแบบรัฐธรรมนูญที่ดี แต่ผู้เขียนให้ความสำคัญต่อการสร้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็น Hardware และการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย ซึ่งเป็น Software อย่างเท่าเทียมกัน
1. แนวคิด ทฤษฎีของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ก่อนที่เราจะสามารถนำเสนอแนวทางการสร้างความเป็นประชาธิปไตยได้ ก็มีความจำเป็นอยู่เองที่จะต้องทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบหรือแนวคิด ทฤษฎีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า การที่รัฐใดจะได้ชื่อว่ามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพจนถึงขั้นเป็น “สังคมประชาธิปไตย” นั้น จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
แนวคิด ทฤษฎีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยประกอบด้วย
1. อุดมการณ์หรือปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย
2. หลักการหรือลักษณะสำคัญของระบอบประชาธิปไตย
3. วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
1.1 ความหมายของคำว่า “ประชาธิปไตย”
หากพูดถึงประชาธิปไตยเราทุกคนมักจะเข้าใจว่าอย่างไรเป็นประชาธิปไตย อย่างไรไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ครั้นจะถามว่าแล้วความหมาย คำจำกัดความ หรือนิยามของระบอบประชาธิปไตยว่าคืออะไรกลับยากยิ่งที่จะหาคำตอบ ทั้งตำราทางวิชาการต่าง ๆ ก็ให้ความหมายไว้อย่างสั้น ๆ ทั้งนี้เพราะการอธิบายความหมายของประชาธิปไตยนั้นหากจะอธิบายให้ได้ความครบถ้วนจำต้องพิจารณาถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตย หลักการหรือลักษณะสำคัญของประชาธิปไตยตลอดจนวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งจะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
ดังนั้นในชั้นนี้จึงพอจะให้ความหมายของประชาธิปไตยโดยให้ความหมายตามตัวศัพท์ คำว่า“ประชาธิปไตย” ในภาษาไทยเข้าใจว่าบัญญัติขึ้นประมาณไม่เกิน 100 ปีที่ผ่านมา โดยมีการเทียบกับภาษาอังกฤษ จึงสร้างคำว่าประชาธิปไตยขึ้นมาโดยการสมาสแบบสนธิระหว่างคำว่า “ประชา” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า หมู่คน 1 กับคำว่า “อธิปไตย” ซึ่งมาจากคำว่า “อธิปเตยฺย” ซึ่งแปลว่า “ความเป็นใหญ่ยิ่ง ในภาษาบาลี 2 นำมาสมาสแบบสระสนธิ คือเชื่อมเสียงสระระหว่างคำที่สมาสกัน ในที่นี้คือสระอา ในคำว่าประชา กับสระอะ ในคำว่าอธิปไตย เป็นสระอา ---> ประชา + อธิปไตย = ประชาธิปไตย เมื่อแปลความหมายก็จะแปลจากคำหลังมายังคำหน้า เพราะคำหลังเป็นคำหลักส่วนคำหน้าเป็นคำขยาย ดังนั้นประชาธิปไตยในความหมายตามตัวจึงแปลว่า “ความเป็นใหญ่ยิ่งอยู่ที่หมู่คน”
ในขณะที่คำว่า Democracy ในภาษาอังกฤษเริ่มใช้ครั้งแรกประมาณ 400 ปีมาแล้ว ทั้งนี้โดยการยืมจากภาษาฝรั่งเศสว่า démocratie ซึ่งมาจากภาษากรีก คือ demokratia ซึ่งถูกใช้ในกรีกโบราณเมื่อกว่า 2400 ปีมาแล้ว เป็นการสมาสระหว่างคำว่า demos ซึ่งแปลว่าประชาชน กับคำว่า kratos ซึ่งแปลว่าการปกครอง (คำกริยาคือ kratien) เมื่อนำมาสมาสกันก็มีความหมายว่าการปกครองของประชาชน 3
1.2 อุดมการณ์หรือปรัชญาของระบอบประชาธิปไตย
1.2.1 ธรรมชาติของมนุษย์ (Human nature) การที่ระบอบประชาธิปไตยมุ่งหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง เพราะมีความเชื่อว่า มนุษย์โดยธรรมชาติส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้มีเหตุมีผล ความรู้ความเข้าใจที่มนุษย์มีต่อโลกภายนอกจึงเพิ่มพูนขึ้นด้วยการศึกษา ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมีความสามารถที่จะตัดสินใจเพื่อเลือกสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตของตน ถึงแม้ว่าการใช้ดุลยพินิจของมนุษย์จะไม่ถูกต้องเสมอไปแต่มนุษย์มีแนวโน้มที่จะกระทำสิ่งที่ดีสำหรับตนมากกว่าการให้ผู้ปกครองตัดสินใจให้แก่เขา นักประชาธิปไตยมีฐานความคิดว่าไม่มีชนชั้นนำคนใดที่จะมีความฉลาดและความไม่เห็นแก่ตัวเพียงพอที่จะทำการปกครองเพื่อประโยชน์ของสมาชิกทั้งสังคม ดังนั้นหนทางเดียวที่จะเป็นหลักประกันว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของประชาชนทุกคนจะได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาคคือ การให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิที่จะควบคุมการตัดสินใจของผู้ปกครองที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในสังคม 4
หัวใจสำคัญประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยคือ นักประชาธิปไตยจะต้องมีฐานคติว่าการตัดสินใจโดยประชาชนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่าการตัดสินใจโดยคนส่วนน้อย ซึ่งหมายความว่าเสียงข้างมากมีโอกาสที่จะถูกมากกว่าเสียงข้างน้อย นอกจากนี้ปรัชญาของระบอบประชาธิปไตยมิได้มองว่า มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นคนดีและให้ความร่วมมือต่อกันทั้งหมด หรือมองว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่ชั่วร้ายดังทัศนะของนักเผด็จการ แต่เห็นว่ามนุษย์มีทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่บกพร่อง 5
1.2.2 สิทธิ (Rights) คือ อำนาจอันชอบธรรมที่กฎหมาย บัญญัติให้รับรองและคุ้มครองแก่บุคคลในอันที่จะกระทำการใด ไม่กระทำการใด ต่อทรัพย์หรือบุคคลอื่น ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่นที่จะต้องเคารพสิทธินี้ด้วย คือก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องที่จะไม่ให้บุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรของรัฐเข้ามาแทรกแซงในขอบเขตของสิทธิของบุคคลซึ่งในบางกรณีก็ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องให้รัฐดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง 6 สิทธิหลัก ๆ ที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย เช่น สิทธิเลือกตั้ง สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย สิทธิส่วนบุคคล
1.2.3 เสรีภาพ (Freedom) คือ สภาพการณ์ที่บุคคลมีอิสระในการที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความประสงค์ของตน 7 เป็นภาวะที่ไม่อยู่ใต้การครอบงำของบุคคลอื่น เป็นภาวะที่ปราศจากการหน่วงเหนี่ยวขัดขวางอำนาจของบุคคลในอันที่จะกำหนดตนเองตามใจปรารถนา เสรีภาพจึงเป็นอำนาจที่บุคคลมีอยู่เหนือตนเอง เช่น เสรีภาพในการพูด การพิมพ์และการโฆษณา เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการสมาคมหรือรวมกลุ่ม เสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย เสรีภาพในการประกอบอาชีพ
1.2.4 ความเสมอภาค (Equality) ความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยมิใช่ความเสมอภาคในเรื่องความสามารถ เพราะมนุษย์เกิดมามีความสามารถและความถนัดที่แตกต่างกัน แต่ความสามารถและความถนัดที่แตกต่างกันของมนุษย์จะไม่ทำให้มนุษย์มีความได้เปรียบหรือความเหนือกว่าบุคคลอื่น ถ้าหากมนุษย์ได้รับโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถและความถนัดของตนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น ความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยจึงหมายถึง ความเสมอภาคเท่าเทียมกันในโอกาส (Equality of opportunity) ทั้งในทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม 8
1.3 ลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
1.3.1 รัฐธรรมนูญ (Constitution)
รัฐธรรมนูญ คือ บทกฎหมายสูงสุดของประเทศที่กำหนดหลักการเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองและประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน 9
ตามทฤษฎีแล้ว รัฐเสรีประชาธิปไตยทุกรัฐต้องมีรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักหรือกติกาที่กำหนดแนวทางสำหรับการที่รัฐจะใช้อำนาจปกครองราษฎร หากแต่จะเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร คือ มีการแสดงออกเป็นเอกสารทางการเมืองหรือไม่เท่านั้น ในกรณีที่กติกาอันเป็นแนวทางการใช้อำนาจปกครองเป็นที่ชัดแจ้ง คือได้มีการปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นจารีตประเพณีและเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายแล้ว ก็อาจไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษรได้ เช่น ประเทศอังกฤษ เป็นต้น แต่ถ้าหลักการหรือกติกาดังกล่าวไม่แจ้งชัดก็อาจเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งเกิดขึ้นได้ เหตุดังนี้ประเทศส่วนใหญ่จึงนิยมมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรกัน
อย่างไรก็ตาม พึงระลึกอยู่เสมอด้วยว่า การมีรัฐธรรมนูญนั้นมิได้หมายความว่า รัฐนั้นเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่สถาบันต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญย่อมเป็นกลไกสำหรับใช้อำนาจให้เป็นไปตามความประสงค์ของผู้เผด็จการมากกว่า ฉะนั้นการจะทราบว่ารัฐนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ จึงต้องดูข้อกำหนดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญของรัฐนั้นว่ามีลักษณะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เป็นสำคัญ 10
1.3.2 รัฐบาล (Government)
ลักษณะของรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งนำมากล่าวอ้างกันอยู่เสมอ ๆ มาจากวาทะของ ฯพณฯ อับบราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln, 1809 – 1865) อดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับแห่งสหรัฐอเมริกาที่ได้กล่าวไว้ในพิธีไว้อาลัย ให้แก่ผู้เสียชีวิตจากสงครามกลางเมือง (Civil War) ระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้อันเนื่องมาจากการเลิกทาส ณ เมืองเกสติสเบอร์ก ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 1893 ว่า “...รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนจะไม่มีวันดับสูญไปจากผืนแผ่นดินนี้…” วาทะดังกล่าวได้กลายเป็น “คำนิยามยอดนิยม” ของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสามารถแยกอธิบายได้ดังนี้
1.3.2.1 รัฐบาลของประชาชน (Government of the people) หมายถึงการที่ประชาชนอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของรัฐบาล คือมีส่วนร่วมในการกำหนดผู้ที่จะเป็นผู้ปกครอง สามารถเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองได้ ถ้าผู้ปกครองไม่บริหารเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวม และรัฐบาลของประชาชนอาจขยายความถึงความผูกพันของประชาชนที่มีต่อระบอบการปกครอง ความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของ ทำให้เอาใจใส่ในกิจการบ้านเมือง การใช้สิทธิทางการเมือง เช่น การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง คือรัฐบาลของประชาชนจะต้องมาจากการสนับสนุนหรือการเลือกตั้งของประชาชนนั่นเอง 11 หรืออาจอธิบายว่าหมายถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (Sovereignty of the people) ก็ได้
1.3.2.2 รัฐบาลโดยประชาชน (Government by the people) หมายถึง การได้มาซึ่งรัฐบาลจะต้องผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนของการใช้สิทธิต่าง ๆ ของประชาชนในรัฐ พลเมืองย่อมมีสิทธิเข้ามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ซึ่งอาจเป็นโดยทางตรง เช่น การลงประชามติ หรือทางอ้อม เช่น การเสนอข้อคิดเห็นผ่านพรรคการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ 12
1.3.2.3 รัฐบาลเพื่อประชาชน (Government for the people) หมายถึง รัฐบาลหรือคณะบุคคลที่ขึ้นปกครองประเทศนั้น จะต้องมีจุดประสงค์เพื่อความผาสุกของปวงชน และพยายามที่จะบริหารประเทศให้ดำเนินไปตามวิถีทางที่กำหนดไว้เพื่อบรรลุถึงจุดมุ่งหมายนั้นประชาชนจะได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองผ่านทางการเลือกตั้งเมื่อวาระของการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลง 13
หลักการนี้ เป็นหลักการที่ใช้วัดว่ารัฐบาลที่ปกครองอยู่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ การที่รัฐบาลใดจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีลักษณะครบทั้ง 3 ประการ คือ เป็นรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน การเลือกตั้งนั้นเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเสนอตัวเข้ารับการเลือกตั้ง และรัฐบาลนั้นมีวาระในการดำรงตำแหน่งไม่นานจนเกินไป รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจะมีเพียงลักษณะใดลักษณะหนึ่งเพียงประการเดียวหรือสองประการไม่ได้ จะต้องมีครบทั้งสามลักษณะ 14
1.3.3 การเลือกตั้ง (Election)
การเลือกตั้ง คือ กิจกรรมทางการเมืองที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้มีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Participation) อันเป็นกลไกที่แสดงออกซึ่งเจตจำนงของประชาชนที่เรียกร้องหรือสนับสุนนให้มีการกระทำหรือละเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในทางการเมืองหรือการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะที่จะมีผลกระทบต่อประชาชน โดยประชาชนทั่วไปเลือกผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ (Ideology) นโยบาย (Policy) และวิสัยทัศน์ (Vision) ที่สอดคล้องกับตนด้วยความคาดหวังว่าผู้แทนหรือพรรคการเมืองที่ตนเลือกให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนนั้น จะนำอุดมการณ์และนโยบายไปเป็นแนวนโยบายในการบริหารประเทศ และทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ของตนเอง การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการแสวงหาทางเลือกในการเมืองการปกครองของประชาชนนั่นเอง 15
การเลือกตั้งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เพราะผลของการเลือกตั้งจะตัดสินว่า บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เป็นผู้ปกครอง ประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเสนอตัวเข้ารับใช้ส่วนรวมโดยการสมัครรับเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้พลเมืองใช้สิทธิในการเลือกบุคคลที่ตนต้องการให้เป็นผู้ปกครองหรือเป็นผู้ใช้สิทธิเป็นปากเสียงแทนตนในสภา 16
1.3.4 การปกครองโดยเสียงข้างมาก (Majority rule) 17
การปกครองโดยเสียงข้างมาก หมายความว่าบุคคลที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาลนั้น ถ้าหากไม่ได้รับเลือกตั้งจากราษฎรโดยตรงแล้ว ก็ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากเสียงข้างมากของผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งมา การออกกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหานโยบายต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบของเสียงข้างมากของผู้แทน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการสนองต่อความต้องการและสอดคล้องกับเสียงข้างมากของมหาชนอีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ตามระบอบประชาธิปไตยมิได้หมายความเพียงการยึดหลักเสียงข้างมากเท่านั้น จะต้องมีหลักประกันสำหรับเสียงข้างน้อยด้วย หลักประกันนั้นหมายถึง การที่สิทธิขั้นพื้นฐานของเสียงข้างน้อย จะต้องได้รับการเคารพ เสียงข้างมากจะละเมิดหรือก้าวก่ายสิทธิของเสียงข้างน้อยไม่ได้ นอกจากนี้ความเห็นหรือทรรศนะของเสียงข้างน้อยจะต้องได้รับการรับฟัง เพราะในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายหรือผู้มีความคิดเห็นแตกต่างได้เผยแพร่ทรรศนะหรือแนวความคิดของเขา เพราะการลงมติเพื่อหาทรรศนะที่เสียงข้างมากสนับสนุนนั้นจะยุติธรรมและเชื่อถือได้ว่าถูกต้อง ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายได้รับโอกาสในการเสนอทรรศนะและเหตุผลของตนสู่การรับฟังของผู้ที่จะใช้วิจารณญาณตัดสินใจแล้ว
ผู้เขียนได้อธิบายแนวคิด ทฤษฎีของระบอบประชาธิปไตยมา 2 ส่วนแล้ว และกำลังจะได้อธิบายในส่วนที่ 3 คือ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งเป็นส่วนสำคัญของบทความชิ้นนี้ต่อไป
1.4 วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
แน่นอนว่าเมื่อใดที่ประเทศไทยไม่มี (สภาและรัฐบาลที่มาจาก) การเลือกตั้งก็หมายความว่า ณ ห้วงเวลานั้นประเทศไทยมิได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้เขียนพบว่ามีนักวิชาการ (บางส่วน) นักการเมือง (ส่วนใหญ่) และพี่น้องชาวไทย (อีกจำนวนมาก) ที่มีความเข้าใจว่า ระบอบประชาธิปไตย “มีความหมายเท่ากับ (เพียงแค่) การเลือกตั้ง” และเมื่อใดที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งเมื่อนั้นก็หมายความว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว ซึ่งความเชื่อหรือความเข้าใจดังกล่าว “ผิดอย่างสิ้นเชิง” 18
ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายในเบื้องแรกแล้วว่า ประชาธิปไตยมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ อุดมการณ์ หลักการและวัฒนธรรม ในส่วนของการเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของหลักการประชาธิปไตยซึ่งดูเหมือนว่าชาวไทยจะคุ้นชินกับองค์ประกอบดังกล่าวมากที่สุด จนเข้าใจ (ผิด) ไปว่า ประชาธิปไตยหมายถึงเฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วประชาธิปไตยยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งซึ่งผู้เขียนกำลังจะอธิบายต่อไปนี้
1.4.1 วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย 19
รองศาสตราจารย์สุขุม นวลสกุล ได้อธิบายว่า การที่ประเทศใดหรือสังคมใดจะเป็นประชาธิปไตยได้นั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่ามีระบบการเมืองเป็นประชาธิปไตยเท่านั้นเป็นใช้ได้ ความจริงแล้วอุปนิสัยของคนในสังคมและวิถีดำเนินชีวิตประจำวันต้องมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยด้วยจึงจะมีส่วนช่วยหล่อเลี้ยงระบอบประชาธิปไตยทางการเมืองให้ไพบูลย์สถาวรต่อไปได้ ลักษณะของวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยนั้นอาจจำแนกเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
1.4.1.1 เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล คนในสังคมประชาธิปไตยจะต้องเป็นผู้ที่เคารพเหตุผลมากกว่าตัวบุคคล ไม่ศรัทธาบุคคลใดถึงขั้นปูชนียบุคคล โดยไม่ว่าคนคนนั้นจะคิดอ่านหรือมีทรรศนะอย่างไรเป็นเห็นดีเห็นงามว่าถูกต้องไปเสียทั้งหมด จะต้องยอมรับว่าคนทุกคนมีสติปัญญาและเหตุผลในวงจำกัด อาจมีทรรศนะที่ถูกต้องในเรื่องหนึ่งและอาจไม่ถูกต้องในอีกเรื่องหนึ่งได้ จะต้องไม่เคร่งครัดเรื่องระบบอาวุโส (Seniority) มากนัก ผู้ที่อาวุโสจะต้องมีการรับฟังผู้ที่เยาว์กว่าบ้าง อย่าถือว่า “อาบน้ำร้อนมาก่อน” แล้วต้องถูกกว่าเสมอไป เพราะในบางครั้งความคิดที่ดีอาจเป็นของผู้อ่อนอาวุโสกว่าก็ได้ ประชาธิปไตยจะดำเนินไปด้วยดีก็ต่อเมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกต้องที่แท้จริงนั่นเอง เพราะเหตุผลเท่านั้นที่จะจรรโลงให้ประชาธิปไตยดำเนินไปได้ ประชาธิปไตยเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล จะยอมปฏิบัติตามถ้าจำนนต่อเหตุผลของผู้ที่มีความคิดไม่เหมือนกัน
1.4.1.2 รู้จักการประนีประนอม (Compromise) ผู้ที่เลื่อมใสในประชาธิปไตยจะต้องรู้จักยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นไม่ดึงดันแต่ความคิดของตนเป็นสำคัญ มีช่องทางใดที่จะประสานความคิดของตนให้สอดคล้องหรืออะลุ้มอล่วยกับทรรศนะของคนอื่นได้ย่อมทำเพื่อป้องกันความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ไม่ยึดมั่นในความคิดของตนอย่างไม่ยอมผ่อนปรนแก้ไขและต้องใช้เหตุผลให้มากที่สุดในการตัดสินปัญหาต่าง ๆ การรู้จักประนีประนอม คือการยอมรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดนสันติวิธี ผู้ที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตยต้องไม่นิยมการแก้ไขปัญหาโดยวิธีรุนแรงเพราะ “ปรัชญาประชาธิปไตยโดยพื้นฐานไม่ปรารถนาให้มีการใช้กำลัง และการล้มล้างด้วยวิธีการรุนแรง เพราะถ้ามีการใช้กำลังและความรุนแรงแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ไม่มีหรือไม่ใช้เหตุผล ซึ่งก็ขัดกับหลักความเชื่อขั้นมูลฐานของประชาธิปไตยที่ถือว่ามนุษย์มีเหตุผล” 20
1.4.1.3 มีระเบียบวินัย สังคมประชาธิปไตยจะดำเนินไปได้ดีคนในสังคมจะต้องเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัย “ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองอย่างสม่ำเสมอ และช่วยทำให้กฎหมายของบ้านเมืองมีความศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าละเมิดตามอำเภอใจ” 21 ถ้ามีความรู้สึกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ไม่เป็นธรรมก็ต้องหาทางเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายนั้น มิใช่ฝ่าฝืนไม่ยอมรับ เพราะถ้าคนบางคนละเมิดกฎหมายได้ คนอื่นก็ย่อมทำได้เช่นเดียวกัน สังคมก็จะอลเวงหากกฎกติกาใดเป็นหลักไม่ได้ ประชาธิปไตยเป็นลัทธิที่บูชาสิทธิและเสรีภาพก็จริง แต่การอ้างสิทธิเสรีภาพนั้นต้องมีความระมัดระวังให้อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย การใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตจนละเมิดหรือก้าวก่ายในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หรือทำให้เกิดความสงบในสังคมย่อมเป็นสิ่งที่มิชอบและไม่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง เพราะสังคมที่ไม่มีการจำกัดในเรื่องสิทธิเสรีภาพเลยนั้นหาใช่สังคมประชาธิปไตยไม่ แต่เป็นสังคมอนาธิปไตย (Anarchy) เป็นสภาวะที่เปรียบเสมือนไม่มีรัฐบาล ไม่มีกฎหมาย ไร้ระเบียบวินัยทางสังคมโดยสิ้นเชิง ทุกคนสามารถทำอะไรได้ตามใจชอบ สังคมแทนที่จะสงบสุข กลับจะวุ่นวายเหมือนบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแป สังคมประชาธิปไตยจะดำเนินไปด้วยดี คนในสังคมจึงจำเป็นต้องมีระเบียบวินัย
1.4.1.4 มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม (Public spirit) ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมจะเกิดขึ้นจากความรู้สึกของคนในสังคมว่า ตนเป็นเจ้าของประเทศและประเทศเป็นของคนทุกคน การประพฤติตนเป็นพลเมืองดี ได้แก่ การช่วยกันรักษาสมบัติของส่วนรวมหรือสมบัติของสาธารณะ ลักษณะเช่นนี้มักสืบเนื่องมาจากความสำนึกที่ว่า ตนได้รับการศึกษา สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพ และดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะสังคมอันเป็นส่วนรวมของคนทุกคน ดังนั้นจึงต้องมีหน้าที่ทำประโยชน์ให้เป็นการตอบแทน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องวิถีชีวิตที่เป็นประชาธิปไตยนี้ ถ้าแยกแยะเป็นประเด็นปลีกย่อยก็สามารถหยิบยกได้อีกมาก เช่น ต้องเป็นคนหนักแน่นไม่หูเบา มีทรรศนะที่ดีต่อคนอื่น ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เป็นต้น ลักษณะ 4 ประการข้างต้นเป็นเพียงลักษณะที่เห็นว่าสำคัญของการที่จะมีวิถีชีวิตสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย
1.4.2 วัฒนธรรมทางการเมืองที่เหมาะสมต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย : วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง (Civic Culture)
เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมทางการเมือง ควรเข้าใจในเบื้องต้นว่า “คน” และ “วัฒนธรรม” นั้นมิอาจแยกออกจากกันได้ วัฒนธรรมหล่อหลอมอุปนิสัย มารยาท ความคิด ค่านิยม บรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติของคน คนก็มีบทบาทในการสร้างวัฒนธรรมดังกล่าว 22
วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นกรอบหรือแนวทางของพฤติกรรมทางการเมืองในสังคมที่ถือปฏิบัติสืบต่อจนฝังรากลึกในสังคม หรือเป็นกรอบของพฤติกรรมตามสภาพความเป็นจริง วัฒนธรรมทางการเมืองจึงเป็นเรื่องของพฤติกรรมร่วมทางการเมือง ซึ่งอาจจะถูก ดี หรือไม่ดีก็ได้ และมักเป็นเรื่องที่อยู่เหนืออำนาจทางกฎหมาย การใช้กฎหมายสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นไปได้ยาก และในทางกลับกัน จะใช้อำนาจกฎหมายหยุดยั้งวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่พึงปรารถนาก็มักไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน 23
วัฒนธรรมทางการเมืองนั้นมีหลายรูปแบบ หากแต่รูปแบบที่เหมาะสมหรือเอื้อต่อระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดกลับไม่ใช่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม (The participant political culture) บริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว เพราะหากประชาชนทั่วทั้งประเทศพากันเรียกร้องทุกอย่าง ความสงบเรียบร้อยก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัจเจกชนแต่ละคนย่อมมี “ความต้องการ” ในการเรียกร้องที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ทุกคนจะได้รับความพึงพอใจสูงสุดหรือได้รับการตอบสนองการเรียกร้องทุกอย่าง
ดังนั้น Gabriel Almond และ Sidney Verba จึงเสนอรูปแบบ (Model) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบผสมซึ่งเอื้อต่อการสถาปนาระบอบเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ที่มั่นคงในหนังสือ The Civic Culture: Political Attitudes and Democracy in Five Nations. รูปแบบที่ว่านี้ คือ “Civic Culture” ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า “วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง”
คำว่า “Civic” มาจากคำภาษาละตินว่า “civis” ซึ่งมีความหมายว่า เกี่ยวกับเมือง, พลเมืองหรือความเป็นพลเมือง ส่วนพลเมือง (Citizen) คือ สมาชิกของกลุ่มซึ่งอาศัยอยู่ภายใต้ระบบกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งออกโดยประชาชนที่มีส่วนร่วมในการปกครอง 24
Model นี้เกิดขึ้นจากการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) ของนักวิชาการทั้งสองท่าน ในประเทศซึ่งมีระบอบประชาธิปไตยในระดับต่าง ๆ อยู่แล้วในช่วงปี ค.ศ. 1959 – 1960 คือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมันตะวันตก อิตาลีและเม็กซิโก และได้ข้อสรุปว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง หรือมีเสถียรภาพน่าจะเกิดขึ้นในสังคมที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบที่นักวิชาการทั้งสองเรียกว่า “Civic Culture” ซึ่งเป็นการผสมผสานของ Model วัฒนธรรมทางการเมืองทั้งสามรูปแบบคือ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ แบบไพร่ฟ้าและแบบมีส่วนร่วมเข้าด้วยกัน
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบผสม โดยมีวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมเป็นหลัก และมีวัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้ากับแบบคับแคบคานอยู่ แต่มีสัดส่วนน้อยกว่าแบบมีส่วนร่วม โดยวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมโน้มนำให้ประชาชนแสดงออกซึ่งความมีสิทธิมีเสียงและเรียกร้องการแก้ปัญหาจากรัฐบาล ณ จุดนี้จึงแสดงลักษณะที่ประชาชนเป็น “พลเมือง” ที่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองแบบมีเหตุมีผล (Rationalist – activist) แต่ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าก็โน้มน้าวให้ประชาชนสำนึกในความเป็น “ราษฎร” ภายใต้การปกครอง คือ ยอมรับอำนาจอันชอบธรรมของผู้ปกครองด้วย จึงไม่ดึงดันที่จะได้รับการแก้ปัญหาให้ตรงตามที่ตนต้องการทุกประการ ณ จุดนี้ ความสงบเรียบร้อยจึงไม่ถูกท้าท้ายจนเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากการเรียกร้องทางการเมืองต่าง ๆ นอกจากนี้ วัฒนธรรมแบบคับแคบหรือแบบท้องถิ่นก็ยังคงหลงเหลืออยู่ทำให้พลเมืองไม่ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมแบบอื่น ๆ ของส่วนกลางเสียทั้งหมด โดยนัยนี้ วัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองจึงน่าจะเอื้อต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ 25
กล่าวโดยสรุป พลเมืองในประเทศที่มีวัฒนธรรมแบบ Civic Culture จะมีลักษณะร่วม 2 ประการ คือ ประการแรก มีความสามารถในการเป็นพลเมืองที่ดี คือ เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีเหตุมีผล (Citizen Competence) ประการที่สอง มีความสามารถในการเป็นราษฎรที่ดี (Subject Competence) คือ เป็นผู้อยู่ใต้การปกครองที่รู้จักการประนีประนอมและมีระเบียบวินัย ซึ่งก็สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยดังได้อธิบายแล้วในหัวข้อ 1.4.1 นั่นเอง
Almond และ Verba อธิบายต่อไปว่า ความโน้มเอียง (Orientations) แบบมีส่วนร่วมนั้นผสมกับวัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าและแบบคับแคบหรือท้องถิ่น โดยไม่ได้เข้าแทนที่วัฒนธรรมทั้งสองประการหลังนั้น กล่าวคือ เมื่อบุคคลกลายมาเป็นผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง เขาไม่ละทิ้งความเป็นผู้อยู่ใต้การปกครองหรือเชิงการเป็นท้องถิ่น (Subject or Parochial Orientations) การที่วัฒนธรรมทั้งสองแบบหลัง ซึ่งมีความเป็นจารีตกว่ายังคงมีอยู่ แต่ได้ผสมผสาน (Fusion) กับวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมยังผลให้เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ได้ดุล 26 หรือกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นก็คือใน Civic Culture ประชาชนมีความกระตือรือร้นทางการเมืองพอที่จะแสดงออกซึ่งความต้องการของเขาต่อรัฐบาล แต่ก็มิได้มุ่งประเด็นความต้องการเฉพาะใด ๆ ถึงขนาดที่จะไม่ยอมรับข้อตัดสินใจของชนชั้นนำกล่าวคือ เขารู้สึกว่าเขาเองมีความสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อรัฐบาล แต่บ่อยครั้งเลือกที่จะไม่ทำเช่นนั้น ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ถูกบีบคั้นมากเกินไปในการตัดสินใจ 27
งานวิจัยของ Almond และ Verba นี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า สหราชอาณาจักรมีวัฒนธรรมทางการเมืองใกล้ Model Civic Culture มากที่สุด โดยมีสหรัฐอเมริการองลงมา และอธิบายว่าทั้งสองประเทศประชาชนมีความยอมรับนับถือหรือเคารพ (Respect) และความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) ในรัฐบาลมาก และประชาชนส่วนมากก็สำนึกในภารกิจที่จะมีส่วนร่วม รวมทั้งเชื่อว่าการมีส่วนร่วมทำให้เขาสามารถมีอิทธิพลต่อรัฐบาลได้ด้วย แต่สองประเทศนี้ต่างกันตรงที่วัฒนธรรมแบบไพร่ฟ้าในสหราชอาณาจักรมีมากกว่าในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมมากกว่า 28
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่านก็ได้วิจารณ์งานของ Almond และ Verba ว่ามีข้อบกพร่องเชิงทฤษฎีอยู่หลายประการ เช่น
ประการแรก Civic Culture อาจไม่ได้เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตยเป็นการเฉพาะ แต่เอื้อต่อเสถียรภาพของระบอบการปกครองโดยทั่วไป เพราะการปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องอาศัยคุณลักษณะอื่น ๆ อีกหลายอย่าง 29 ในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่า ถูกต้องที่กล่าวว่าประชาธิปไตยต้องอาศัยองค์ประกอบอื่น คือ องค์ประกอบทั้ง 3 ประการ ได้แก่ อุดมการณ์ หลักการและวัฒนธรรม แต่ผู้เขียนเห็นว่า “ประชาธิปไตยต้องอาศัย Civic Culture แต่เมื่อมี Civic Culture อาจไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย”
ประการที่สอง มีปัญหาว่าวัฒนธรรมทางการเมือง 3 แบบนั้นจะต้องมีสัดส่วนอย่างไรจึงจะเป็น Civic Culture ซึ่งปัญหานี้ Almond และ Powell ได้ทำการประมาณการสัดส่วนไว้ในงานอีกชิ้นหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1974 30 ว่ามีความโน้มเอียงแบบมีส่วนร่วมประมาณร้อยละ 60 แบบไพร่ฟ้าประมาณร้อยละ 30 และแบบคับแคบ/ท้องถิ่นอยู่เพียงประมาณร้อยละ 10 31
ประการที่สาม คือ การให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับวัฒนธรรมทางการเมืองย่อย (Political Subculture) ซึ่งกลุ่มชนทั้งในเชิงชนชั้น ในเชิงชาติพันธุ์และศาสนามีต่างกัน การมุ่งหาข้อสรุปทั่วไป (Generalization) เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของชาติหรือของสังคมโดยรวม ทำให้ละเลยวัฒนธรรมย่อยต่าง ๆ ซึ่งหากนำเข้ามาพิจารณาด้วยย่อมทำให้เห็นได้ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของสังคมมีความซับซ้อนและแต่ละส่วนมีพลวัตต่อกันได้มาก ข้อสังเกตนี้เชื่อมโยงไปสู่การให้น้ำหนักแก่อิทธิพลของวัฒนธรรมทางการเมืองแต่ละส่วน เช่น ควรให้น้ำหนักแก่วัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นนำทางการเมือง (Political Elites) มากกว่าวัฒนธรรมของกลุ่มอื่น ๆ เพราะชนชั้นนำมีอำนาจและบทบาทในระบบการเมืองมากกว่า 32 ข้อนี้ผู้เขียนขออธิบายดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความชิ้นแรกว่า การนำเข้าหลักการใด ๆ ของชาติอื่น (โดยเฉพาะตะวันตก) ซึ่งมีพื้นฐานโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันนั้น จำเป็นต้องมีการปรับปรุงหลักการนั้น ๆ ให้สอดคล้องกับโครงสร้างของสังคมไทยเสียก่อนเสมอ รวมทั้ง Civic Culture ด้วย
ประการที่สี่ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสนอข้อถกเถียงทางทฤษฎีคือข้อวิจารณ์ที่ว่า วัฒนธรรมทางการเมืองอาจเป็นผลสะท้อนมาจากกระบวนการทางการเมืองหรือระบอบการปกครอง แทนที่จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม เช่น ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนอาจคิดว่าเขาสามารถมีอิทธิพลต่อรัฐบาล เพราะเขาสามารถมีอิทธิพลต่อรัฐบาลได้จริง ๆ เนื่องจากกลไกสถาบันการเมืองต่าง ๆ เปิดช่องให้ ดังนั้นหากระบอบประชาธิปไตยล้มหรือถูกยกเลิกไป Civic Culture ก็อาจสลายตัวไปด้วย 33 กรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นไปได้ที่ประชาชนมีวัฒนธรรมแบบ Civic Culture เพราะระบบการเมืองเอื้อต่อการเกิดของ Civic Culture แต่นั่นก็น่าจะพัฒนามาจากการสั่งสมความรู้สึกในเรื่องการมีส่วนร่วมมาแล้วระยะหนึ่ง และต่อปัญหาเรื่องการคงอยู่ของ Civic Culture นั้นผู้เขียนเห็นว่า เป็นไปได้ที่ Civic Culture จะสามารถคงอยู่ได้แม้ระบอบประชาธิปไตยจะถูกทำลายไป เพราะผู้เขียนเห็นว่า “ประชาธิปไตยต้องอาศัย Civic Culture แต่เมื่อมี Civic Culture อาจไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย” ดังกล่าวแล้ว แต่ทั้งนี้กรณีนี้ต้องเกิดกับประเทศที่เคยเป็นประชาธิปไตยมาก่อน แล้วต่อมาถูกเปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ไม่ใช่ว่าประเทศที่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเลยจะสามารถมี Civic Culture ขึ้นมาได้
ฉะนั้น การนำแนวทาง Civic Culture ซึ่งเป็นหลักการของตะวันตกมาใช้ในประเทศไทยจึงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสังคมไทยด้วย ดังจะได้กล่าวต่อไป
2. แนวทางการสร้างสังคมประชาธิปไตย
หลังจากเข้าใจแนวคิดของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง (Civic Culture) แล้วผู้เขียนก็จะนำเสนอแนวทางการปลูกฝังวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองให้แก่ประชาชนชาวไทย เพื่อเป็นแนวทางสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตยต่อไป
แท้จริงแล้วแนวทางการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ผู้เขียนพยายามอธิบายอยู่นี้เป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้เรื่อง “การพัฒนาการเมือง” (Political Development) ซึ่งนักรัฐศาสตร์อธิบายว่า มี 2 แนวทางที่สำคัญ คือ
1. การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาโครงสร้างทางการเมืองการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย 34 ซึ่งประเทศไทยตั้งหน้าตั้งตา ขะมักเขม้น ขมีขมันดำเนินการอย่างแข็งขันมาตลอด 75 ปีนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 โดยการพยายามออกแบบโครงสร้างสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแล้วฉบับเล่า (แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น การซื้อเสียง หรือแม้กระทั่ง “เผด็จการ” ได้อย่างแท้จริง) ผู้เขียนจึงขอละไว้ มิอธิบายถึงเพราะเหตุว่ามีผู้อรรถาธิบายกันไว้มากมายมหาศาลแล้ว
2. การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งผู้เขียนมีความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่จะกล่าวว่า รัฐบาลไทยและสังคมไทยละเลย เพิกเฉย มิเคยให้ความสนใจแนวทางนี้มาถึง 75 ปีนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ พ.ศ. 2475 และก็ดูเหมือนว่าขณะนี้สังคมไทยก็ยังคง สาละวนอยู่กับการเล่นแร่แปรธาตุตัวอักษรในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันเป็นสามารถ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนับสิบกว่าครั้ง โดยไม่มีวี่แววว่าจะหันมาเหลียวแล พัฒนา หรือยกระดับองค์ประกอบประการที่สามของประชาธิปไตยข้อนี้เลย
ณ จุดนี้ผู้เขียนขอเน้นย้ำอีกคำรบหนึ่งว่า ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธความสำคัญของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร รัฐธรรมนูญนั้นสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดระบบการเมืองและระบบกฎหมายของรัฐ เป็นกติกาการเข้าสู่และพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี เป็นกรอบแห่งการใช้อำนาจอธิปไตย เป็นเครื่องมือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตลอดจนรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ผู้เขียนร้องขอให้สังคมไทย อย่าปฏิเสธความสำคัญของวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ (อีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญ) ที่ช่วยสถาปนาและธำรงรักษา “สังคมประชาธิปไตย” ในประเทศตะวันตก (ที่สังคมไทยนำเข้าหลักการต่าง ๆ มาใช้) ให้คงอยู่ยั่งยืนมั่นคงมากว่า 300 ปีแล้ว
2.1 การกล่อมเกลาทางการเมือง (Political Socialization)
ดังที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ในตอนท้ายของบทความชิ้นแรกว่า “...วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ และถ่ายทอดได้...” จึงหมายความว่า ต้องมีวิธีการที่จะทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมได้ วิธีการนั้นคือ การขัดเกลาทางสังคม (Socialization)
การขัดเกลาทางสังคมเป็นกระบวนการทางสังคมกับจิตวิทยาซึ่งมีผลทำให้บุคคลมีบุคลิกภาพตามแนวทางที่สังคมต้องการ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมจะเริ่มต้นตั้งแต่บุคคลเกิดมา ตัวแทนของสังคมที่ทำหน้าที่ในเรื่องนี้ ได้แก่ ครอบครัว กลุ่มเพื่อน สถานศึกษา ศาสนาตลอดจนสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่จะขัดเกลาให้บุคคลได้ทราบคุณธรรม คุณค่า อุดมคติที่สังคมยึดมั่น จะได้เรียนรู้บรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้อยู่ในสังคม ตลอดจนยึดมั่นในหลักศีลธรรมของสังคม และพร้อมที่จะใช้ชีวิตในแนวทางที่สังคมต้องการ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมเกิดขึ้นทั้งโดยจงใจและไม่จงใจ หรือโดยตรงและโดยอ้อม กล่าวอีกนัยหนึ่ง การขัดเกลาทางสังคม คือ กระบวนการอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เรียนรู้สถานภาพและบทบาทที่สังคมคาดหวัง เป็นกระบวนการที่จะต้องประสบตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม อันจะทำให้บุคคลนั้นได้มีแบบแผนของความประพฤติที่เป็นประโยชน์แก่กลุ่มและสามารถดำรงอยู่ร่วมกับกลุ่มได้อย่างเป็นระเบียบ
ในเมื่อวัฒนธรรม (ทางสังคม) สามารถเรียนรู้และถ่ายทอดโดยกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ดังนั้น การเรียนรู้และถ่ายทอดวัฒนธรรมทางการเมืองก็สามารถทำได้โดย “การกล่อมเกลาทางการเมือง” (Political Socialization) บางท่านเรียกว่า สังคมประกิตทางการเมือง 35 หรือ การเรียนรู้ทางการเมือง 36 กระบวนการกล่อมเกลาทางการเมืองนี้ ถือได้ว่าเป็นตัวกลางที่เชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมกับมนุษย์ กล่าวคือเป็นตัวดึงเอาวัฒนธรรมเข้าไปมีส่วนหรือมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ 37 หรือเป็นการขัดเกลาทางสังคมที่มีผลต่อพฤติกรรมทางการเมือง 38
Kenneth P. Langton ได้ให้นิยามของการกล่อมเกลาทางการเมืองว่า หมายถึง กระบวนการที่บุคคลได้เรียนรู้แบบแผนพฤติกรรมและอุปนิสัย ในทางที่เกี่ยวเนื่องกับการเมืองโดยผ่านทางสื่อกลางต่าง ๆ ของสังคม สื่อกลางเหล่านี้รวมถึง สิ่งแวดล้อมทั่ว ๆ ไป เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อนฝูง โรงเรียน สมาคมผู้ใหญ่ และสื่อสารมวลชนต่าง ๆ 39
การกล่อมเกลาหรือการเรียนรู้ทางการเมือง สามารถกระทำได้ 2 แนวทางหลัก ๆ 40
2.1.1 การกล่อมเกลาทางการเมืองโดยทางอ้อม ซึ่งอาจแบ่งย่อยออกได้เป็น 3 แบบด้วยกัน คือ
2.1.1.1 การถ่านโอนระหว่างบุคคล (Interpersonal Transference)
2.1.1.2 การฝึกหัดอบรม (Apprenticeship)
2.1.1.3 ระบบความเชื่อ
2.1.2 การกล่อมเกลาทางการเมืองโดยทางตรง อาจแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบด้วยกัน คือ
2.1.2.1 การเลียนแบบ
2.1.2.2 การเรียนรู้โดยการคาดการณ์ล่วงหน้า (Anticipatory Socialization)
2.1.2.3 การศึกษาทางการเมือง หมายถึง วิธีการเรียนรู้การเมืองอย่างตรงไปตรงมา มีองค์กรหรือสถาบัน เช่น ครอบครัว โรงเรียน หน่วยงานของรัฐ หรือพรรคการเมืองเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนวิธีการนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม 41
ณ จุดนี้ ผู้เขียนเห็นว่า การให้การศึกษาเรื่องทางการเมืองนับเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะให้ความสนใจเป็นอันดับแรก เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ประชาชนในประเทศที่มีความมั่นคงทางประชาธิปไตยในโลกตะวันตกมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง หรือรู้จักบทบาทหน้าที่ของการเป็นพลเมืองและราษฎรที่ดีนั้น ประเทศเหล่านั้นล้วนมีระบบการจัดการศึกษาที่ดีและมีบุคลากรที่มีคุณภาพ เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน ดังนั้นพื้นฐานแรกของการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองก็คือการจัดระบบการศึกษาที่ดี โดยมุ่งเน้นปลูกฝังความรู้เรื่องประชาธิปไตยแก่นักเรียน ผู้เป็นเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไปในอนาคต ในหัวข้อนี้ผู้เขียนขอแยกอธิบายเป็นหัวข้อใหญ่ในหัวข้อ 2.2 ต่อไป
2.1.2.4 ประสบการณ์ทางการเมืองโดยตรง
2.2 การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยผ่านกระบวนการจัดการศึกษา
2.2.1 การเสริมสร้างวัฒนธรรมผ่านกระบวนจัดการศึกษาในระบบ
การศึกษาในระบบเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและการปลูกฝังบ่มเพาะวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้เพราะกระบวนการศึกษาในระบบสามารถเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ กล่าวคือในทางทฤษฎี การศึกษาในระบบสามารถสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาหรือุดมการณ์ของประชาธิปไตย หลักการของระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยได้อย่างถูกต้องและชัดเจน ในขณะเดียวกันการศึกษาในระบบยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีโอกาสฝึกปฏิบัติวิถีประชาธิปไตยผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนต่าง ๆ เช่น ชมรมยุวชนนักประชาธิปไตย ชมรมโต้วาที หรือแม้แต่การจัดการเลือกตั้งประธานนักเรียนและคณะกรรมการนักเรียน ทั้งนี้เพื่อหล่อหลอมให้ผู้เรียนได้ซึมซับคุณค่าของประชาธิปไตย ซึ่งจะพัฒนาไปสู่ความเชื่อมั่นและถือปฏิบัติอย่างเป็นแบบแผน จนกลายเป็นผู้มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองอย่างมั่นคง
เป็นที่น่ายินดีว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าเดิม เป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 โดยได้เริ่มใช้หลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่นี้ในปีการศึกษา 2546 เริ่มใช้จากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ วก 1166/2544 เรื่องให้ใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และในปีการศึกษาถัดไปก็จะใช้ในชั้นถัดไปจนครบช่วงชั้น
จุดที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อสร้าง “ความเป็นพลเมือง” ให้แก่นักเรียนในระดับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานหรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “โรงเรียน” นั้นคือ หลักสูตรของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงจากวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (ส.ป.ช.) เดิม โดยหลักสูตรใหม่นี้ได้แบ่งสาระการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาฯ เป็น 5 สาระ ได้แก่
- สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม
- สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม
- สาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์
- สาระที่ 4 ประวัติศาสตร์
- สาระที่ 5 ภูมิศาสตร์
ในสาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม นี้เองที่จะเป็นแนวทางการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง โดยกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ไว้ดังนี้
มาตรฐาน ส 2.1: ปฏิบัติตนตามหน้าที่ของการเป็นพลเมืองดีตามกฎหมาย ประเพณี และวัฒนธรรมไทย ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างสันติสุข
มาตรฐาน ส 2.2: เข้าใจระบบการเมืองการปกครองในสังคมปัจจุบัน ยึดมั่น ศรัทธา และธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 42
สำหรับรายละเอียดของเนื้อหาที่สถานศึกษาจะต้องจัดให้ผู้เรียนได้ศึกษา ได้แก่
1. พลเมืองดี ศึกษาบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบและการปฏิบัติตนตามวิถีประชาธิปไตย สถานภาพ บทบาท สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ในฐานะพลเมืองดี
2. การเมืองการปกครอง ศึกษาการใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองประเทศและสถาบันการเมือง
3. การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ศึกษาการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองการปกครองตามกระบวนการประชาธิปไตย
4. กฎหมาย ศึกษาหลักสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญ และกฎหมายในชีวิตประจำวัน
5. ประเพณี วัฒนธรรม ศึกษาโครงสร้างทางสังคม ลักษณะสังคมไทย บรรทัดฐาน วัฒนธรรม และการยอมรับความหลากหลายของวัฒนธรรม
ลักษณะเนื้อหาของ “หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตในสังคม” นี้น่าจะใกล้เคียงกับวิชา Civic Education 43 ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนอยู่ในระดับโรงเรียนของสหรัฐอเมริกา
หนังสือ Civics: Citizens in Action ซึ่งเป็นหนังสือเรียนหน้าที่พลเมืองของนักเรียนอเมริกันอธิบายว่า “ความเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกา คือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ พลเมืองมีสิทธิเลือกผู้นำรัฐบาลและผู้ออกกฎหมาย และมีสิทธิ เสรีภาพซึ่งได้รับการปกป้องจากรัฐบาล ด้วยเหตุนี้พลเมืองอเมริกันจึงมีความรู้สึกศรัทธาต่อรัฐบาล พวกเขาให้การสนับสนุนรัฐบาลด้วยการปฏิบัติตามกฎหมายและเข้าร่วมเป็นลูกขุน (Jury) ในทางกลับกันพวกเขาก็ปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบของตนอย่างครบถ้วน
วิชาหน้าที่พลเมือง (Civics) จึงเป็นการศึกษาส่วนสำคัญ 2 ส่วนสำคัญของความเป็นพลเมือง คือ เรื่องของสิทธิและหน้าที่ของประชาชน” 44
แต่อย่างไรก็ตาม เหนือกว่าตัวเนื้อหาสาระของวิชาคือ วิธีการจัดการเรียนการสอนหรือที่กระทรวงศึกษาธิการยุคปฏิรูป ใช้คำว่า “การจัดกิจกรรมการเรียนรู้” นั้นต่างหากที่ผู้สอนจะต้องปฏิรูปวิธีการเรียนการสอนของทั้งผู้สอนเองและของผู้เรียน ให้มีแนวทางที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมากยิ่งขึ้น ต้องกระตุ้นให้ผู้เรียนกล้าคิด วิเคราะห์ (Analysis) สังเคราะห์ (Synthesis) แสดงความคิดเห็น รู้จักการค้นคว้าเพิ่มเติมนอกห้องเรียน ตลอดจนฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม (Team work) การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และการนำเสนอผลงาน (Presentation) มากกว่าการให้เนื้อหาสาระของบทเรียนแก่ผู้เรียนทางเดียว หรือที่ครูหลายคนใช้คำว่า “ป้อน” โดยผู้เรียนขาดความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ และเรียนแบบท่องจำเฉพาะสิ่งที่ครูสอน เพียงเพื่อให้สอบผ่าน แต่ไม่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
ปรัชญาการศึกษาข้อหนึ่งก็คือ “การจัดการศึกษาให้แก่นักเรียนนั้น คือการเตรียมตัวนักเรียนให้สามารถออกไปใช้ชีวิตในโลกได้ด้วยความราบรื่น การดำเนินการเรียนการสอนจึงเป็นภาระหนักของครู ซึ่งมีผู้เปรียบเทียบว่า เหมือนกับการสร้างเครื่องมือ และสอนวิธีใช้เครื่องมือให้แก่นักเรียนเพื่อให้สามารถสร้างบ้านได้เอง แทนที่จะให้บ้านทั้งหลังแก่นักเรียน ซึ่งเมื่อพุพังหรือทลายไปก็ไม่อาจซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ได้ เพราะขาดเครื่องมือ” ดังนั้นการสอนให้ผู้เรียนรู้จักหน้าที่พลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตยคือการรู้จักสิทธิ ปฏิบัติตามหน้าที่ และมีส่วนร่วมทางการเมืองตามสมควรแล้ว ก็ควรให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียนตามสมควรด้วยเช่นกัน
2.2.2 การเสริมสร้างวัฒนธรรมผ่านกระบวนการศึกษานอกระบบ
สำหรับสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาต่ำ กระบวนการศึกษาในระบบไม่มีสมรรถนะในการอบรมหล่อหลอมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพราะประชาชนที่มีโอกาสศึกษาอยู่ในโรงเรียนมีจำนวนน้อย หรืออาจมีโอกาสศึกษาเฉพาะในระดับต่ำ เช่น ระดับประถมศึกษาเท่านั้น เป็นต้น ทำให้ประชาชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาขาดโอกาสที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย วิถีชีวิตจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเชื่อดั้งเดิมที่ปลูกฝังถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม คือการยอมรับอำนาจของผู้ปกครองโดยไม่โต้แย้ง และถือว่าวิธีการดำรงชีวิตของตนเป็นผลมาจากกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อน โดยยอมรับว่าประชาชนมีฐานะต้อยต่ำในทางสังคม มีหน้าที่จะต้องเคารพผู้ปกครอง ภายใต้วิถีแห่งวัฒนธรรมดังกล่าวทำให้ประชาชนไม่เข้าใจถึงคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีโอกาสได้รับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็มักจะตกเป็นเหยื่อของผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ประชาชนจำนวนมากเข้าใจว่า “ผู้แทนหรือรัฐบาลที่ “แจกเงิน” ให้ประชาชน (ทั้งในและนอกเทศกาลเลือกตั้ง) คือผู้แทนหรือรัฐบาลที่ดี ส่งผลให้การพัฒนาประชาธิปไตยเต็มไปด้วยอุปสรรค 45
ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ยังได้ยกตัวอย่างของการซื้อเสียงที่กลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยไปแล้ว เรื่องนี้เริ่มจากนักการเมืองนำสิ่งของไปแจกชาวบ้านเป็นสินน้ำใจชักจูงให้ชาวบ้านเลือกตน ซึ่งทำติดต่อกันมานั้นทั้งการเลือกตั้งทั่วไปและเลือกตั้งซ่อม จนชาวบ้านมุ่งหวังว่านักการเมืองจะต้องแจกสิ่งของหรือเงินเพื่อแลกกับคะแนนเสียง (นักการเมือง) คนไหนไม่แจกเงินก็ยากที่จะได้รับเลือก 46
ดังนั้น แนวทางในการแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนแบบอำนาจนิยมไปเป็นประชาธิปไตย และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าไปเป็นแบบพลเมือง จึงต้องมุ่งเน้นที่การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่นอกระบบการศึกษาศรัทธา เชื่อมั่นและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติแทนความเชื่อดั้งเดิม ซึ่งสามารถทำได้โดยการจัดโครงการรณรงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อคุณค่าของประชาธิปไตย ทั้งการเข้าถึงประชาชนโดยตรงและผ่านสื่อต่าง ๆ ได้แก่ สื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์และอินเตอร์เน็ต แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องกระทำอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนนอกระบบการศึกษาจะได้รับความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในคุณค่าของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ การจัดโครงการรณรงค์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย จะต้องมุ่งเน้นให้เป็นรายการที่มีสีสันน่าสนใจ สนุก ไม่น่าเบื่อหน่าย ต้องทำเรื่องของการเมืองการปกครองที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว ให้เป็นเรื่องใกล้ตัวไม่น้อยไปกว่าเรื่องปากท้อง ต้องสามารถกระตุ้นให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยสนใจรับฟัง และร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
ผู้เขียนเห็นว่า สื่อที่มีประสิทธิภาพและมีอิทธิพลต่อประชาชนมากที่สุดในปัจจุบัน คือ วิทยุกระจายเสียง (ที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่าวิทยุ) และวิทยุโทรทัศน์ (ที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่าโทรทัศน์) ในประเทศไทย รัฐบาลเป็นเจ้าของสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศกว่า 524 สถานี โดยเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ 146 สถานี, กองทัพบก 128 สถานี, อ.ส.ม.ท. 62 สถานี และหน่วยงานอื่น ๆ อีกรวม 188 สถานี ส่วนสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐบาลก็มีถึง 4 สถานี คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 5 ซึ่งกองทัพบกเป็นเจ้าของแต่อนุญาตให้เอกชนเข้ามาดำเนินการด้านรายการ, สถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี (Modernine TV) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจคือองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของและเป็นผู้บริหารงานเอง และล่าสุดคือสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ซึ่งดำเนินการในรูปหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit : SDU) สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นการลำบากนัก หากรัฐบาลจะใช้สื่อเหล่านี้ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองให้แก่ประชาชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา เพียงแต่รัฐบาลจะต้องมีความจริงจัง จริงใจและต่อเนื่องในการดำเนินการเท่านั้น
นอกจากการใช้สื่อสารมวลชนเป็นช่องทางในการนี้แล้ว รัฐบาลจะต้องให้โอกาสประชาชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้มีโอกาสฝึกวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยอาจจัดให้มีโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาท้องถิ่น หรือส่งเสริมอาชีพในชุมชนโดยใช้วิถีทางประชาธิปไตยในการดำเนินการ มีการเลือกตั้งคณะกรรมการผู้รับผิดชอบโครงการ มีการประชุมหารือและตัดสินใจโดยใช้เสียงข้างมากและเหตุผล กระบวนการเหล่านี้จะเสริมสร้างให้ประชาชนซึมซับวิถีประชาธิปไตยให้กลายเป็นวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยและวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมืองหรือแบบประชาธิปไตยได้ในที่สุด
ในเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้ให้ข้อสรุปไว้อย่างน่าฟังว่า “การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือแบบดั้งเดิมไปเป็นแบบประชาธิปไตย ถึงแม้จะต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่การเริ่มต้นกระทำด้วยความมุ่งมั่นและจริงจัง ในที่สุดจะประสบความสำเร็จ กล่าวคือจะทำให้ประชาชนมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยซึ่งจะส่งเสริมให้การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพมั่นคง
ดังนั้น การพัฒนาระบบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่สามารถกระทำให้ปรากฏเป็นจริงได้ เพียงแต่กลุ่มพลังทางสังคมและผู้นำทางการเมืองจะต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงเท่านั้น” 47
จากที่ผู้เขียนได้อธิบายมาทั้งหมด พอจะสรุปได้ว่า การปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมืองจากวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า อำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ไปสู่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยหรือแบบพลเมืองนั้น สามารถทำได้โดยผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางการเมือง ซึ่งก็มีสื่อกลางที่ทำหน้าที่นี้อยู่มาก แต่สื่อกลางหนึ่งซึ่งผู้เขียนให้ความสำคัญคือ “ครอบครัว” “สถาบันการศึกษา” และ “สื่อสารมวลชน” ซึ่งนับวันจะมีบทบาทขึ้นเป็นเท่าทวีในท่ามกลางสังคมโลกยุคข้อมูลข่าวสารอันไร้พรมแดน
บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนเริ่มลงมือเรียบเรียงขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2550 อันเป็นวันคล้ายวันเกิด ปีที่ 54 ของ “แม่” ปฐมาจารย์ ผู้ให้กำเนิดชีวิต ความคิดและสติปัญญาแก่ผู้เขียน และอบรมสั่งสอนให้ผู้เขียนเป็นคนดี ความดีอันอาจมีขึ้นจากงานเขียนชิ้นนี้ขออุทิศแด่ “แม่” ผู้บังเกิดเกล้า ผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ผู้อุทิศชีวิตการทำงานตลอด 30 ปีให้แก่วงการการศึกษาไทย ผู้เป็นทั้ง “ครู” ของศิษย์หลายร้อยคนที่โรงเรียนและเป็น “ครู” ของลูกคนนี้
ในท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอย้ำเตือนว่า การปฏิรูปการเมืองจำต้องอาศัย “เครื่องมืออย่างอื่น” นอกเหนือจากตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรจึงจะสร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมประชาธิปไตย” (Democratic Society) มิใช่เป็นเพียงประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามที่รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ (อย่างที่สังคมไทยเฝ้าเพียรพยายามทำมาตลอด 75 ปี) เท่านั้น แต่กระนั้นก็ตามสิ่งซึ่งยากยิ่งกว่าการสร้างความเป็นประชาธิปไตยตามแนวทาง Civic Culture ดังได้อธิบายไว้ คือ การหา “จุดสมดุล” ระหว่าง “ความเป็นตะวันตก” และ “ความเป็นตะวันออก” ให้พบ แล้วปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนหลักการของตะวันตก (รวมถึงแนวทางวัฒนธรรมทางการเมืองแบบพลเมือง – Civic Culture) ให้เป็น “ส่วนผสมที่พอเหมาะ” สอดรับกับสังคมไทย ตลอดจน “การรักษาไว้” ซึ่งความเป็นประชาธิปไตยนั้นให้ยั่งยืน มั่นคง ถาวรสืบไป และผู้เขียนจะได้นำเสนอแนวทางการหาจุดสมดุลของการนำเข้าหลักการต่าง ๆ ของตะวันตกและการผดุงไว้ซึ่งความเป็นสังคมประชาธิปไตยของไทยอย่างยั่งยืนในบทความชิ้นต่อไป ซึ่งจะเป็นปัจฉิมบทของบทความ “ไตรภาค” ชิ้นนี้.
เชิงอรรถ
1.ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 (กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2539), หน้า 502
2.เรื่องเดียวกัน, หน้า 912
3.จิรโชค วีระสัย และคนอื่น ๆ, รัฐศาสตร์ทั่วไป (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542), หน้า 256
4.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา (กรุงเทพฯ : เสมาธรรม, 2548), หน้า 249 – 251
5.Richard A. Watson, Promise and Performance of American Democracy (New York : John Wiley & Sons, 1985), p.15 อ้างไว้ใน สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 251
6.บรรเจิด สิงคะเนติ, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เรื่อง หลักพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2543), หน้า 2 – 3
7.เรื่องเดียวกัน, หน้า 4
8.ผู้สนใจโปรดดูรายละเอียดใน สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 267 – 268
9.วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543), หน้า 99
10.เรื่องเดียวกัน, หน้า 99 – 100
11.เรื่องเดียวกัน, หน้า 17
12.จิรโชค วีระสัยและคนอื่น ๆ, รัฐศาสตร์ทั่วไป, หน้า 260
13.วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย, หน้า 17
14.เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
15.สโรช สันตะพันธุ์, “มาตรการในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม: ใบเหลืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง,” รวมบทความจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 4 (กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2548) : 475 – 486
16.วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย, หน้า 18 – 19
17.เรื่องเดียวกัน, หน้า 19 – 20
18.โปรดดู วิชัย ตันศิริ, “วัฒนธรรม รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย,” มติชน (5 มิถุนายน 2550) : 7
19.วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย, หน้า 20 – 22
20.จรูญ สุภาพ, ระบบการเมืองเปรียบเทียบ (ประชาธิปไตย, เผด็จการ) และหลักวิเคราะห์การเมืองแผนใหม่ (กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2519), หน้า 15 อ้างไว้ใน วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย, หน้า 21
21.กระมล ทองธรรมชาติ, “หลักประชาธิปไตย,” ใน ประณต นันทิยะกุล (บรรณาธิการ), การเมืองและสังคม (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520), หน้า 168 อ้างไว้ใน วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล, การเมืองและการปกครองไทย, หน้า 21
22.วิชัย ตันศิริ, วิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548), หน้า 475
23.เกษม ศิริสัมพันธ์, “วัฒนธรรมการเมือง,” เนชั่นสุดสัปดาห์ 11 (553) 6 มกราคม 2546 : 24 อ้างไว้ใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล, ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2548), หน้า 53
24.Mary Jane Turner and others, Civics : Citizens in Action (Columbus, Ohio : Merrill, 1990), p. 6
25.G.A. Almond & S. Verba, The Civic Culture : Political Attitudes and Democracy in Five Nations (Boston : Little, Brown and company, 1965), p. 30 และ ดัดแปลงจาก ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), หน้า 106 – 107 26.เนื่องจาก ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ใช้คำว่า “พลเมือง” ในความหมายของประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครอง แต่ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ผู้เขียนเห็นว่า คำว่า “พลเมือง” (Citizen) ควรใช้ในความหมายของประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วม เพราะคำว่า “พลเมือง” มาจากคำว่า พละ + เมือง แปลว่า ผู้เป็นกำลังของเมือง ในขณะที่ควรใช้คำว่า “ราษฎร” ในความหมายของประชาชนที่อยู่ใต้ภายใต้การปกครอง
27.G.A. Almond & S. Verba, The Civic Culture : Political Attitudes and Democracy in Five Nations, p. 30 และ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น, หน้า 107
28.R. Hague, M. Harrop, Comparative Government and Politics : An Introduction (Basingstoke and London : MacMillan, 1989, p. 74 อ้างไว้ใน ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น, หน้า 108
29.เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
30.เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
31.R. Hague, M. Harrop, Comparative Government and Politics : An Introduction, p. 75 อ้างไว้ในเรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
32.เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
33.เรื่องเดียวกัน, หน้า 109
34.เรื่องเดียวกัน, หน้า 110
35.ผู้สนใจใจรายละเอียด โปรดดู สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 349 – 350
36.ดู จิรโชค วีระสัย, สังคมวิทยาการเมือง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543), หน้า 147 – 172
37.ดู สิทธิพันธ์ พุทธหุน, ทฤษฎีพัฒนาการเมือง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544), หน้า 131 – 138
38.เรื่องเดียวกัน, หน้า 131
39.ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น, หน้า 66
Kenneth P. Langton, Political Socialization (New York : Oxford University Press, 1969), p.5 อ้างไว้ใน สิทธิพันธ์ พุทธหุน, ทฤษฎีพัฒนาการเมือง, หน้า 132
40.ผู้สนใจโปรดดูรายละเอียดใน สิทธิพันธ์ พุทธหุน, ทฤษฎีพัฒนาการเมือง, หน้า 134 – 135
41.เรื่องเดียวกัน, หน้า 136
42.กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.), 2545), หน้า 16
43.วิชัย ตันศิริ, วัฒนธรรมการเมืองและการปฏิรูป (กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2547), หน้า 79
44.Mary Jane Turner and others, Civics : Citizens in Action, pp. 6 – 7
45.ดูรายละเอียดใน หัวข้อ 4. วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยกับปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตย ใน ฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์, “วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย: รัฐธรรมนูญที่แท้จริงซึ่งไม่เคยถูกยกเลิก,” เผยแพร่ในwww.pub-law.net วันที่ 7 ธันวาคม 2549
46.เกษม ศิริสัมพันธ์, “วัฒนธรรมการเมือง,” เนชั่นสุดสัปดาห์ : 24 อ้างไว้ใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล, ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม, หน้า 53 – 54
47.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 355
บรรณานุกรม
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์
องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.), 2545
จิรโชค วีระสัย. รัฐศาสตร์ทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542
สังคมวิทยาการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และถวิลวดี บุรีกุล. ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2548
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว.. ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อักษร
เจริญทัศน์, 2539
วิชัย ตันศิริ. วัฒนธรรมการเมืองและการปฏิรูป. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สถาบันนโยบายศึกษา, 2547
วิวัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548
“วัฒนธรรม รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย.” มติชน (5 มิถุนายน 2550) : 7
วิศิษฐ์ ทวีเศรษฐ และสุขุม นวลสกุล. การเมืองและการปกครองไทย. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่ 15. กรุงเทพฯ : เสมาธรรม, 2548
สโรช สันตะพันธุ์. “มาตรการในการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม: ใบเหลืองและการเพิก
ถอนสิทธิเลือกตั้ง.” รวมบทความจากเว็บไซต์ www.pub-law.net เล่ม 4. กรุงเทพฯ : สำนักงานศาล
รัฐธรรมนูญ, 2548 : 475 – 486
สิทธิพันธ์ พุทธหุน. ทฤษฎีพัฒนาการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544
G.A. Almond & Bingham Powell. Comparative Politics: A Developmental Approach. Boston: Little,
Brown and company, 1966
G.A. Almond & S. Verba. The Civic Culture: Political Attitudes and Democracy in Five Nations. Boston
: Little, Brown and company, 1965
Mary Jane Turner and others. Civics: Citizens in Action. Columbus, Ohio: Merrill, 1990
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา