เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย

รัฐธรรมนูญที่แท้จริงซึ่งไม่เคยถูกยกเลิก
โดย นายฌานิทธิ์ สันตะพันธุ์
นิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เหตุที่ผู้เขียนตั้งชื่อบทความเช่นนี้ก็เพราะในช่วงนี้มีการพูดถึง “วงจร” การเมืองการปกครองของไทยตลอดระยะเวลากว่า 74 ปีที่ผ่านมา นับแต่ “เหตุการณ์” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมาซึ่งประกอบด้วย การรัฐประหาร--->รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร--->รัฐธรรมนูญชั่วคราว--->รัฐธรรมนูญถาวร--->เลือกตั้ง--->รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง--->การรัฐประหาร เป็นเช่นนี้ตลอดมา (และตลอดไป?) ในช่วงระยะดังกล่าวมีการรัฐประหารสำเร็จ 17 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 8 ฉบับ รัฐธรรมนูญถาวร 9 ฉบับ การเลือกตั้งทั่วไป 24 ครั้ง (ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังไม่แน่ใจว่าเราจะเรียกว่าระบอบการปกครองของประเทศไทยว่าระบอบอะไรกันแน่)

พร้อมกันนั้นก็มีการพูดถึง “รัฐธรรมนูญ” ของไทยซึ่ง ณ วันนี้ก็มีจำนวนฉบับเพิ่มขึ้น (เรื่อย ๆ ?) จากเดิมที่ทุก ๆ ท่านรวมทั้งผู้เขียนเอง เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 น่าจะเป็นฉบับสุดท้ายที่อยู่คู่กับประชาธิปไตยของไทยเป็นเวลานาน แต่แล้วสถิติจำนวนฉบับของรัฐธรรมนูญ (ซึ่งไม่ใคร่จะน่าภาคภูมิใจเท่าใดนัก) ก็เพิ่มขึ้นเป็น 17 ฉบับ เร็วกว่าที่ทุกท่านคาดไว้ และก็น่าจะมีฉบับที่ 18 คือรัฐธรรมนูญถาวรตามมาใน พ.ศ. 2550 ดังนั้นผู้เขียนจึงพยายามวิเคราะห์ “สาเหตุ” ที่ “มีส่วน” ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวข้างต้น และก็พบว่าสิ่งหนึ่งซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสายเลือดของพี่น้องชาวไทยส่วนใหญ่มานานแสนนานแล้ว คือสิ่งที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “วัฒนธรรมทางการเมือง” (Political Culture) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าควรที่นักกฎหมายมหาชนจะได้ศึกษาทำความเข้าใจด้วย เพราะจากวงจรการเมืองของไทยตลอด 74 ปีที่ผ่านมา สอนให้เห็นว่า “นักกฎหมายจะพิจารณาเพียงตัวบทกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้”

1. ความหมายของ “วัฒนธรรมทางการเมือง”
ในบรรดานักวิชาการทางรัฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องวัฒนธรรมทางการเมือง มี Gabriel Almond ที่มีผลงานที่ถูกใช้อ้างอิงมากที่สุด
Almond ให้นิยามของ วัฒนธรรมทางการเมืองว่า “Political Culture is the pattern of individual attitudes and orientations towards politics among members of a political system” 1
วัฒนธรรมทางการเมืองจึงหมายถึง รูปแบบของทัศนคติส่วนบุคคลและความโน้มเอียงของบุคคลที่มีต่อการเมือง ในฐานะที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิกของระบบการเมือง

ความโน้มเอียงในที่นี้ Almond อธิบายว่ามี 3 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 2
1. ความโน้มเอียงด้านความรู้หรือการรับรู้ (Cognitive orientations) คือ ความรู้ความเข้าใจและความเชื่อของประชาชนที่มีต่อระบบการเมือง
2. ความโน้มเอียงด้านความรู้สึก (Affective orientations) คือ ความรู้สึกทางอารมณ์ที่ประชาชนมีต่อระบบการเมือง เช่น ชอบ – ไม่ชอบ พอใจ – ไม่พอใจ
3. ความโน้มเอียงด้านการประเมินค่า (Evaluative orientations) คือ การใช้ดุลพินิจตัดสินใจให้ความเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมและปรากฏการณ์ทางการเมือง เช่น ตัดสินว่า ดี – ไม่ดี เป็นประโยชน์ – ไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งการตัดสินนี้จะใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง อารมณ์ความรู้สึกเข้ามาประกอบด้วย

ส่วนนักรัฐศาสตร์อีกท่านหนึ่งคือ Lucien W. Pye กล่าวถึงวัฒนธรรมทางการเมืองใน 4 ความหมาย ได้แก่ 3
1. วัฒนธรรมทางการเมืองเกี่ยวข้องกับความไว้วางใจหรือความไม่ไว้วางใจของบุคคลต่อบุคคลอื่นหรือต่อสถาบันทางการเมือง เช่น การมีความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นต่อสถาบันหรือผู้นำทางการเมือง
2. วัฒนธรรมทางการเมืองเกี่ยวข้องกับทัศนคติต่ออำนาจทางการเมืองซึ่งจะสะท้อนถึงการยอมรับและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง หรือผู้นำกับประชาชนทั่วไปซึ่งทัศนคตินี้ส่งผลโดยตรงต่อการที่ประชาชนให้ความร่วมมือหรือต่อต้านอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครอง
3. วัฒนธรรมทางการเมืองเกี่ยวข้องกับเสรีภาพและการควบคุมบังคับทางการเมือง กล่าวคือ วัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมนั้น ให้การยอมรับหรือเคารพต่อเสรีภาพของประชาชนมากน้อยเพียงใด หรือมุ่งเน้นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม
4. วัฒนธรรมทางการเมืองเกี่ยวข้องกับความจงรักภักดีและยึดมั่นในสังคมการเมืองของบุคคล กล่าวคือวัฒนธรรมทางการเมืองช่วยสร้างเอกลักษณ์ทางการเมืองให้แก่บุคคลในสังคมที่จะยึดมั่นร่วมกันและพร้อมที่จะต่อสู้ ปกป้องรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์นั้นให้คงอยู่ต่อไป อาจจะโดยการยอมเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อส่วนรวมหรือสละผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว เป็นต้น

จากที่กล่าวมานี้อาจพอช่วยให้เห็นภาพความหมายของวัฒนธรรมทางการเมืองได้พอสมควร จะเห็นว่าวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องของความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในจิตใจของบุคคล และความรู้สึกนึกคิดนี้เป็นแนวทางหรือรูปแบบหรือมาตรฐานของแต่ละบุคคลที่จะใช้ในการประเมินเหตุการณ์หรือการรับรู้ทางการเมืองของบุคคลนั้น ผลของการประเมินการเมืองนี้จะแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การแสดงความคิดเห็น การออกเสียงเลือกตั้ง การประท้วง การยอมรับ หรือการปฏิบัติตาม เป็นต้น 4

2. ประเภทหรือลักษณะของวัฒนธรรมทางการเมือง ตามแนวคิดของ Almond และ Verba 5
2.1 วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ (The parochial political culture) เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของบุคคลที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเมืองเลย ไม่มีการรับรู้ ไม่มีความเห็น และไม่ใส่ใจต่อระบบการเมือง ไม่คิดว่าตนเองมีความจำเป็นต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะไม่คิดว่าการเมืองระดับชาติจะกระทบเขาได้ และไม่หวังว่าระบบการเมืองระดับชาติจะตอบสนองความต้องการของตนได้
สังคมที่อาจพบวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ ก็คือบรรดาสังคมเผ่าทั้งหลายในทวีปแอฟริกาหรือชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละเผ่าขาดความเชื่อมโยงกับการเมืองระดับชาติ ขาดโอกาสในการรับรู้และเข้าใจบทบาทของตนต่อระบบการเมือง แต่มีการรับรู้ที่ “แคบ” อยู่เฉพาะแต่กิจการในเผ่าของตน หรือในประเทศด้อยพัฒนาที่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจนและไร้การศึกษาจึงถูกปลูกฝังด้วยความเชื่อดั้งเดิมมาแต่โบราณว่าเรื่องการปกครองเป็นเรื่องของผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองใช้อำนาจได้โดยไม่ถูกตรวจสอบจากประชาชน
2.2 วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า (The subject political culture) เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจต่อระบบการเมืองโดยทั่ว ๆ ไปแต่ไม่สนใจที่จะเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองในตลอดทุกกระบวนการ และไม่มีความรู้สึกว่าตนเองมีความหมายหรืออิทธิพลต่อระบบการเมือง บุคคลเหล่านี้มักมีพฤติกรรมยอมรับอำนาจรัฐ เชื่อฟัง และปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐโดยดุษณี
ลักษณะของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าจะพบได้ในกลุ่มคนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนา เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับระบบการเมืองโดยทั่วไป แต่ยังคงมีความเชื่อที่ฝังรากลึกมาแต่เดิมอันเป็นอิทธิพลของสังคมเกษตรกรรมว่าอำนาจรัฐเป็นของผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไปควรมีหน้าที่เชื่อฟังและปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น
2.3 วัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม (The participant political culture) เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเมืองเป็นอย่างดี เห็นคุณค่าและความสำคัญในการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งนี้เพื่อควบคุม กำกับ และตรวจสอบให้ผู้ปกครองใช้อำนาจปกครองเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน
ลักษณะวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมจะพบเห็นได้ในชนชั้นกลางส่วนใหญ่ของประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Country)

อย่างไรก็ตาม Almond และ Verba อธิบายต่อไปว่า เป็นการยากที่จะชี้ให้เห็นว่าในสังคมต่าง ๆ ประชาชนทั้งประเทศมีวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งนี้เพราะประชาชนในสังคมต่าง ๆ ยังคงมีความแตกต่างด้านฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะมีผลต่อความรู้ความเข้าใจทางการเมืองของบุคคลเหล่านั้นด้วย Almond และ Verba จึงสรุปว่า ในสังคมต่าง ๆ ประชาชนจะมีลักษณะวัฒนธรรมทางการเมืองแบบผสม (Mixed political culture) ได้แก่ 6
1) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบผสมไพร่ฟ้า (The parochial – subject culture) เป็นแบบที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงยอมรับอำนาจของผู้นำเผ่า หัวหน้าหมู่บ้านหรือเจ้าของที่ดิน แต่ประชาชนกำลังมีความผูกพันกับวัฒนธรรมการเมืองแบบคับแคบของท้องถิ่นน้อยลง และเริ่มมีความจงรักภักดีต่อระบบและสถาบันการเมืองส่วนกลางมากขึ้น แต่ความสำนึกว่าตนเองเป็นพลังทางการเมืองอย่างหนึ่งยังคงมีน้อย จึงยังไม่สนใจเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ยังมีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมแต่ไม่ยอมรับอำนาจเด็ดขาดของหัวหน้าเผ่าอย่างเคร่งครัด แต่หันมายอมรับกฎ ระเบียบของส่วนกลาง วัฒนธรรมทางการเมืองแบบนี้คือ แบบที่ปรากฏมากในช่วงแรก ๆ ของการรวมท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยโบราณ
2) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าผสมมีส่วนร่วม (The subject – participant culture) ในวัฒนธรรมการเมืองแบบนี้ ประชาชนพลเมืองจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พวกที่มีความเข้าใจถึงบทบาททางด้านการนำเข้า (inputs) มาก คิดว่าตนมีบทบาทและมีอิทธิพลที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้มีความรู้สึกไวต่อวัตถุทางการเมืองทุกชนิด และมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมทางการเมือง กับพวกที่ยังคงยอมรับในอำนาจของอภิสิทธิ์ชนทางการเมือง และมีความเฉื่อยชาทางการเมือง วัฒนธรรมทางการเมืองแบบนี้ปรากฏในยุโรปตะวันตก เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ในศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 และประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในปัจจุบันลักษณะสำคัญที่เป็นผลของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบนี้คือ การสลับสับเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลอำนาจนิยมกับรัฐบาลประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะคนในสังคมเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มีวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วม แม้เขาจะต้องการการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่ในเมื่อคนส่วนใหญ่ยังคงมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า ยังคงนิยมการปกครองแบบอำนาจนิยมอยู่ บรรดาผู้มีวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมจึงขาดความมั่นใจในความสำเร็จของการปกครองระบอบประชาธิปไตย วัฒนธรรมแบบนี้มีผลทำให้เกิดความไม่มั่นคงในโครงสร้างทางการเมือง
3) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบผสมมีส่วนร่วม (The parochial – participant culture) เป็นรูปแบบที่เกิดอยู่ในประเทศเกิดใหม่ และเป็นปัญหาในการพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมือง กล่าวคือ ประชาชนในประเทศเหล่านี้ส่วนมากจะมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ แต่จะถูกปลุกเร้าในเรื่องผลประโยชน์ทางเชื้อชาติ ศาสนา ทำให้เกิดความสนใจที่จะเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อคุ้มครองประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตน การพยายามเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง โดยกลุ่มชนหนึ่งอาจมีแนวคิดเอนเอียงไปทางอำนาจนิยม ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอาจเอนเอียงไปทางประชาธิปไตย ลักษณะความขัดแย้งนี้ทำให้โครงสร้างทางการเมืองไม่อิงอยู่กับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

3. วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย คือ ทัศนคติและความเชื่อแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีผลต่อ “ความมั่นคง” ของระบอบประชาธิปไตยในแต่ละประเทศ นักทฤษฎีการเมืองเลื่องชื่อชาวอังกฤษผู้หนึ่งคือ John Stuart Mill ได้เขียนไว้ว่า ก่อนที่ประชาธิปไตยจะมีขึ้นได้ พลเมืองในประเทศจะต้องมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะปกครองตนเองเสียก่อน ความปรารถนาสะท้อนทัศนคติที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นของดีและสมควรจะทำให้เกิดมีขึ้น ความหมายก็คือ การเป็นประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับ ศรัทธาของคนในชาติที่ประสงค์จะมีการปกครองและมีชีวิตแบบประชาธิปไตย 7
นักรัฐศาสตร์คนอื่น ๆ เช่น ลาสเวลล์ (Lasswell) และแคปลัน (Kaplan) กล่าวว่าประชาธิปไตยจะงอกงามต่อเมื่อราษฎรมีลักษณะที่ภาษาเทคนิคเรียกว่า การเข้าสู่สภาพการเมือง (Politicized)
การเข้าสู่สภาพการเมืองดังกล่าว หมายถึง ลักษณะดังต่อไปนี้
1. การเอาใจใส่วิถีหรือเหตุการณ์ทางการเมือง
2. การมีทัศนคติที่ว่า อย่างน้อยที่สุด ราษฎรจะต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่โดยตรงก็โดยอ้อมบ้าง เพราะถึงอย่างไรก็ตามการเมืองจะมาเกี่ยวข้องกับเขาจนได้
3. การมีความเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่สมควรจะอุทิศเวลาให้ตามสมควร 8

ลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย ประกอบด้วย
3.1 แนวคิดปัจเจกชนนิยม (Individualism)
ปัจเจกชนนิยม หมายถึง ความรู้สึกว่าคนแต่ละคนมีคุณค่าในตัวเอง สามารถแยกอธิบายได้เป็น 2 แนว
1) ปัจเจกชนนิยม หรือบางท่านเรียกว่า เอกชนนิยม เพื่อให้มีความหมายในทางตรงกันข้ามกับ แนวคิดรัฐนิยม (statism) ซึ่งหมายถึง การบูชารัฐ ถือว่ารัฐ (ผู้มีอำนาจ) ทำสิ่งใดก็ไม่ผิดหรือแม้จะเป็นสิ่งที่ผิด ประชาชนผู้อยู่ใต้การปกครองก็ต้องปฏิบัติตาม หรือ แนวคิดส่วนรวมนิยม (collectivism) ซึ่งหมายถึง การให้ความสำคัญแก่องค์กรหรือหน่วยงานที่ใหญ่กว่าตนเอง 9
แนวคิดรัฐนิยมปรากฏชัดเจนที่สุดในประเทศไทยสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด จอมพล ป. มี “นโยบายรัฐนิยม” กำหนดให้คนไทยสวมหมวก สวมรองเท้า เลิกกินหมาก เลิกนุ่งโจงกระเบน ซึ่งการกำหนดข้อบัญญัติเหล่านี้ย่อมขัดต่อหลักการปัจเจกชนนิยม เพราะไม่คำนึงถึงความรู้สึกหรือความต้องการของคนแต่ละคน
2) ลัทธิปัจเจกชนนิยมอีกทัศนะหนึ่ง มีลักษณะ 2 ประการ คือ
ประการแรก รัฐบาลไม่ควรเข้าควบคุมกระบวนการทางเศรษฐกิจและทางสังคม ลัทธิปัจเจกชนนิยมทางเศรษฐกิจ คือ รัฐบาลไม่ควรเข้าควบคุมการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชน ลัทธิปัจเจกชนนิยมทางสังคม คือ รัฐบาลไม่ควรมีบทบาทในการกำหนดชั้นวรรณะหรือฐานันดรของประชาชน การแบ่งช่วงชั้นของบุคคลในสังคมควรเป็นสิ่งที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเอง
ประการที่สอง เอกชนหรือปัจเจกชนจะต้องมีสิทธิในการตัดสินใจของตนเองโดยเสรี 10 แนวคิดปัจเจกชนนิยม เน้นหลักเสรีภาพในการเลือก (Freedom of Choice) กล่าวคือ แนวคิดปัจเจกชนนิยมเชื่อว่า ปัจเจกบุคคลควรจะมีเสรีภาพของตนในการเลือกทุกอย่างของตนเอง ซึ่งมาจากแนวคิดที่ว่า ปัจเจกบุคคลมีเหตุผลและรู้จักความต้องการของตนเองได้ดีกว่าคนอื่น ดังนั้น ไม่ว่าแต่ละปัจเจกบุคคลจะมีความแตกต่างกันเรื่องรายได้ ฐานะทางสังคม การศึกษา เพศ ศาสนา ถิ่นกำเนิดและที่อยู่อาศัย ย่อมไม่ส่งผลถึงการจำกัดเสรีภาพในการเลือกของปัจเจกบุคคลเหล่านั้น 11

3.2 ความเชื่อในระบบสังคมเปิด (Open society) 12
1) บุคคลจะต้องมีใจกว้าง ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ยึดมั่นในความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่
2) บุคคลจะต้องมีความไว้วางใจและยอมรับความสามารถของบุคคลอื่น เปิดโอกาสให้ประชาชนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการพัฒนาตนเอง
3) มีการยอมให้ตั้งองค์การ สมาคม กลุ่มต่าง ๆ โดยสมัครใจเพื่อเป็นหนทางแสดงความคิดเห็นและปฏิบัติการอย่างเป็นกลุ่มก้อน โดยไม่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อชาติ
3.3 การมีส่วนร่วม (Participation) 13
การมีส่วนร่วม หมายถึง การกระทำของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคล โดยมุ่งหวังให้การกระทำนั้นส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ใช้อำนาจทางการเมือง หรือต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทิศทางที่ตนต้องการ
ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลจะสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยปัจจัย สำคัญ 2 ประการ คือ
1) การรู้จักความต้องการของตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการสะสมประสบการณ์ทางการเมือง
2) การมีอำนาจที่จะเข้าไปผลักดันให้ผลลัพธ์ทางการเมืองตรงตามความต้องการของตน
จะเห็นได้ว่าการมีส่วนร่วมจะต้องอาศัยทรัพยากรได้แก่ความรู้ ความเข้าใจและกำลังกาย ดังนั้น การให้ความรู้หรือการศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องการเมืองจึงมีความสำคัญต่อการสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน สังคมการเมืองนั้นจะต้องให้ข้อมูลข่าวสาร (Information) ทางการเมืองไปถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึงและเสรี อาจกล่าวได้ว่าระดับของการมีวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมแปรผันตามระดับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมืองของประชาชน

4. วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยกับปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตย
หลังจากที่ผู้เขียนได้อธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองในทางรัฐศาสตร์เพื่อเป็นพื้นความรู้ในการทำความเข้าใจประเด็นปัญหาที่ผู้เขียนนำเสนอแล้ว ณ จุดนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่มี “อิทธิพล” ทำให้ประชาธิปไตยของไทยอยู่ในสภาพ “ล้มลุกคลุกคลาน” มาตลอด 74 ปี อันจะนำไปสู่การไขข้อสงสัยถึงชื่อของบทความชิ้นนี้ว่า เหตุใดผู้เขียนจึง “อุปมา” วัฒนธรรมทางการเมือง “แบบไทย ๆ” ของเรา ดั่ง “รัฐธรรมนูญที่แท้จริงซึ่งไม่เคยถูกยกเลิก”
แม้เราจะรับรู้ว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสูงสุดในแผ่นดินมาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (Constitutional Monarchy) ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วก็ตาม แต่นับถึงวันนี้ (พ.ศ. 2549) เป็นเวลากว่า 74 ปี ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการเมืองการปกครองของไทยคือ ประเทศไทยเป็น “ประชาธิปไตย” อย่างแท้จริงตลอดระยะเวลาทั้ง 74 ปีหรือไม่ เหตุใดการเมืองไทยจึงเต็มไปด้วยการรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุใดบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 ที่ได้วางโครงสร้างไว้เป็นอย่างดี มีการกำหนดองค์กรและระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐกลับไม่สามารถใช้การได้สมดังเจตนารมณ์ จนต้องเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เพื่อ “เปิดทางตัน” ไปสู่การปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง
ผู้เขียนเห็นว่าสาเหตุที่ประชาธิปไตยในประเทศไทยขาดความต่อเนื่องและมั่นคง ได้แก่
4.1 วัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์ : เอกลักษณ์ของสังคมไทย
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม (Authoritative political culture) คือ ลักษณะแนวโน้มที่สมาชิกในสังคมเห็นว่า “อำนาจคือธรรม” หรือ “อำนาจคือความถูกต้อง” ความเห็นของผู้มีอำนาจย่อมถูกต้องเสมอและจำเป็นที่ผู้ถูกปกครองจะต้องปฏิบัติตาม เคารพ เชื่อฟัง ยกย่องและเกรงกลัวผู้มีอำนาจ เพราะการมีอำนาจเป็นผลมาจาก “บารมี” ที่ได้สั่งสมมาแต่กาลอดีตชาติ
ระบบอุปถัมภ์ (Patronage system) จะประกอบด้วยผู้อุปถัมภ์และผู้รับการอุปถัมภ์ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ของคน 2 ฝ่ายที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยฝ่ายหนึ่งยอมรับอิทธิพลและความคุ้มครองของฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่า ระบบอุปถัมภ์ของไทยมีที่มาจาก “ระบบไพร่” และ “ระบบศักดินา” กล่าวคือ มูลนายอันได้แก่ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย (พระบรมวงศานุวงศ์) และขุนนางซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง คือ มีศักดินาตั้งแต่ 400 ไร่ขึ้นไปจะมีไพร่ในสังกัดที่ต้องคอยควบคุมดูแล 14
มูลนายต้องคอยควบคุมดูแลไพร่ให้อยู่ในภูมิลำเนา การเดินทางไปต่างถิ่น การรับจ้างทำงานต่าง ๆ ต้องให้มูลนายอนุญาตเสียก่อน มูลนายต้องคอยดูแลไม่ให้ไพร่หลบหนี มูลนายสามารถไต่สวนและลงโทษหากไพร่ทะเลาะวิวาทกัน เมื่อไพร่กระทำผิดต้องติดตามตัวไพร่ไปส่งศาลมิฉะนั้นมีความผิด ขณะเดียวกันมูลนายก็ต้องให้ความคุ้มครองไพร่ ไม่ให้ใครมากดขี่ข่มเหง เมื่อไพร่ขัดสนเงินทองก็ต้องช่วยเหลือตามสมควร และมูลนายยังเป็นผู้บังคับบัญชา ออกคำสั่งต่อไพร่ทั้งในการเกณฑ์แรงงานยามสงบและในการรบยามศึกสงคราม นอกจากนี้ยังมีกฎหมายห้ามมูลนายใช้ไพร่หลวงทำงานส่วนตัวของมูลนายด้วย
ในขณะที่มูลนายควบคุมดูแล ให้ความคุ้มครองและบังคับบัญชาไพร่นั้น ไพร่ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อมูลนายด้วยความจงรักภักดี ปฏิบัติตามคำสั่ง มีสัมมาคารวะ สงบเสงี่ยมเจียมตัวและหมั่นให้ของกำนัลหรือผลประโยชน์ตอบแทนแก่มูลนาย เพื่อหวังให้มูลนายเมตตา ซึ่งก็มีผลดีคือทำให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคมไทยมีลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ โอบอ้อมอารี อันเป็นลักษณะนิสัยพื้นฐานดั้งเดิมของคนไทย แต่ก็มีผลเสียมากดังจะได้กล่าวต่อไป
ลักษณะความสัมพันธ์เช่นนี้ได้รับการเกื้อหนุนให้ดำรงอยู่ด้วยหลักธรรมเรื่องความกตัญญูกตเวทีในพระพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อน ชนชั้นไพร่จึงยอมรับว่า “แข่งเรือแข่งพายนั้นแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนานั้นหาได้ไม่ ทุกสิ่งแล้วแต่เวรแต่กรรม ยากจะมีผู้ใดหลีกเลี่ยงได้” ชาตินี้จึงควรหมั่นทำความดี เชื่อฟังและรับใช้มูลนายด้วยความภักดี กระบวนการบ่มเพาะและปลูกฝังความเชื่อดังกล่าวนี้เอง มีผลให้บรรดาสามัญชนทั้งไพร่และทาสต่างยอมรับอำนาจปกครองของมูลนายโดยดุษณีและถือว่าพวกตนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปกครองซึ่งเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์ เจ้านายและขุนนาง พวกตนคงมีหน้าที่เพียงรับคำสั่งของมูลนายและรับใช้ทางการและมูลนายด้วยความภักดีเท่านั้น
อนึ่งระบบอุปถัมภ์นี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะมูลนายกับไพร่เท่านั้น ในหมู่มูลนายด้วยกันก็เกิดความสัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์ระหว่างมูลนายระดับล่างกับมูลนายระดับสูงและเหล่าขุนนางกับพระมหากษัตริย์ด้วย
แม้ระบบไพร่และระบบศักดินาจะถูกยกเลิกไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็มิได้ทำลายความสัมพันธ์ในลักษณะอุปถัมภ์ให้หมดไปจากสังคมไทย ตรงกันข้ามเมื่อบทบาทของ “พ่อค้า” เพิ่มมากขึ้นนับแต่การเปิดเสรีทางการค้ากับชาติตะวันตกภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาวริ่ง ยิ่งเป็นการดึงคนกลุ่มพ่อค้าจากระบบทุนนิยมให้เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมและความสัมพันธ์ระบบอุปถัมภ์ด้วย กลายเป็นวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ที่ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เรียกว่า “วัฒนธรรมทุนนิยมอภิสิทธิ์” 15
และแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะนำระบอบประชาธิปไตยที่แพร่หลายอยู่ในโลกตะวันตกมาใช้เพื่อแก้ปัญหาของสยามในเวลานั้น แต่วัฒนธรรมอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์แข็งแกร่งเกินกว่าที่วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยอันแปลกปลอมสำหรับสังคมไทยจะเข้ามาแทนที่ได้ ทำให้วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ถูกนำเข้ามานั้นตกตะกอนกลายเป็น “วัฒนธรรมประชาธิปไตยอุปถัมภ์” ซึ่งแสดงให้เห็นผ่านระบบการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการทุจริต เป็นการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ชนะและเป็นประชาธิปไตยแต่ในรูปแบบ
ผู้เขียนยังเห็นต่อไปว่า ทุกวันนี้ระบบอุปถัมภ์กลับยิ่ง “สยายปีก” ครอบคลุมทุกภาคส่วนของประเทศ ในหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และกลายเป็น “ความเคยชิน” เป็นนิสัย หรือเป็นส่วนหนึ่งของทัศนคติแบบปกติของคนไทยไปแล้ว เช่น เมื่อขับรถผิดกฎจราจรถูกตำรวจจราจรยึดใบอนุญาตขับขี่ สิ่งแรกที่คนไทยคิดคือมีคนรู้จักที่เป็นตำรวจแล้วพอจะช่วยเราได้หรือไม่ ในทางกลับกันผู้ที่ไม่นิยมหรือต่อต้านระบบอุปถัมภ์กลับประสบปัญหาในการทำงานและถูกมองว่า “แปลก” เช่น กรณีการแต่งตั้งพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูงให้ได้รับตำแหน่งต่าง ๆ ในหน่วยงานที่ตนมีอำนาจ หากใครไม่ทำเช่นนี้ ก็จะสร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดาพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูง และหาว่า “ไม่เอาพี่เอาน้อง” หรือ “ไม่เอาเพื่อนเอาฝูง”

4.2 วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า : พฤติกรรมขาดการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของสังคมไทย
หากท่านทั้งหลายสังเกตประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะพบว่า “ตัวละครในทางการเมือง” ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มผู้ใช้อำนาจปกครองประเทศทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น
- ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเหตุการณ์การแย่งชิงพระราชบัลลังก์อยู่บ่อยครั้ง โดยผู้ก่อการทั้งหมดอยู่ในชนชั้นเจ้านาย พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เช่น กรณีขุนหลวงพ่องั่วยกกำลังมาแต่สุพรรณบุรีเพื่อบังคับเอาราชสมบัติจากสมเด็จพระราเมศวรผู้หลาน, กรณีขุนพิเรนทรเทพโค่นล้มขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เพื่อถวายราชสมบัติแด่พระเฑียรราชา หรือไม่ผู้ก่อการก็เป็นขุนนางระดับสูงในราชสำนัก เช่น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์สำเร็จโทษสมเด็จพระเชษฐาธิราชและพระอาทิตยวงศ์ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแล้วปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือกรณีพระเพทราชา จางวางกรมช้าง ร่วมมือกับขุนหลวงสรศักดิ์ชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในเวลาที่กำลังทรงประชวรหนัก เป็นต้น ไม่ปรากฏว่าประชาชนทั่วไปหรือชนชั้นไพร่เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในกิจกรรมทางการเมืองเหล่านั้น เพราะประชาชนเห็นว่าเป็นเรื่อง “บุญญาธิการ” ของแต่ละคนที่จะได้ครองแผ่นดิน มิใช่เรื่องของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอย่างพวกตน
- ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงต้นรัชกาล มีการช่วงชิงอำนาจกันระหว่าง 3 ขั้วอำนาจ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า พระราชโอรสในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จนนำไปสู่วิกฤตการณ์วังหน้า เมื่อ พ.ศ. 2417 ก็ปรากฏว่าประชาชนทั่วไปมิได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์เหล่านี้เลย
- แม้แต่การก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดย “คณะราษฎร” ใน พ.ศ. 2475 ก็ปรากฏว่าเป็นแนวคิดของข้าราชการระดับกลางถึงระดับล่าง (ตั้งแต่พันเอก พระยา ถึงร้อยตรี ขุน) ซึ่งได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตกและต้องการนำระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็น “กระแส” อยู่ในประเทศตะวันตกในเวลานั้นมาใช้กับสยามประเทศ ในขณะที่ประชาชนชาวสยามส่วนใหญ่ยังด้อยการศึกษา ไม่เคยได้ยินคำว่า ปาเลียเมนต์, คอนสติติวชั่น หรือเดโมกราซีมาก่อนในชีวิต ไม่เคยสนใจกิจการบ้านเมือง แต่ให้ความสำคัญกับการทำมาหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเองและครอบครัวเท่านั้น พวกเขาไม่คิดว่าระบบใหม่ที่คณะราษฎรนำมาใช้จะดีกว่าระบบเก่าซึ่งใช้มาเป็นร้อย ๆ ปีอย่างไร จึงอาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียง “โครงสร้างส่วนบน” ของสยามเท่านั้น เพราะประชาชนคนชั้นกลางที่ได้เติบโต ถูกเลี้ยงดูและได้รับการศึกษาอบรมในระบบเก่า ตลอดจนเกษตรกรตามหัวเมือง (ต่างจังหวัด) ซึ่งเป็น “โครงสร้างส่วนล่าง” เป็นฐานของพีระมิดและเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศมิได้รับรู้และมีส่วนร่วมในการเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับคณะราษฎรเลย
ณ จุดนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำกล่าวของ John Stuart Mill ที่ว่า “ก่อนที่ประชาธิปไตยจะมีขึ้นได้ พลเมืองในประเทศจะต้องมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะปกครองตนเองเสียก่อน” แต่การนำ “ระบอบใหม่” มาใช้ในสยามขณะนั้น มีลักษณะเป็นการ “เรียนลัด” คือ “นำเข้า” หลักการประชาธิปไตยและสิ่งที่เรียกว่า “คอนสติติวชั่น” มาใช้ในสังคมไทยทันที 16 ในเวลาที่ชาวสยามส่วนใหญ่ยังคงเคยชินและยึดมั่นในวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า แบบอำนาจนิยมและคงความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ไว้อย่างเหนียวแน่น ยังไม่ทำตัวเป็น “พลเมือง” แต่ยังทำตัวเป็น “ราษฎร” ที่รอให้ผู้ปกครองหยิบยื่นความเจริญให้ ยังไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิและหน้าที่ในทางการเมืองอย่างไร จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีพี่น้องชาวไทยเป็นอันมากที่ไม่รู้ว่า “เลือกผู้แทนเข้าไปเพื่อทำอะไร” ทั้งหมดนี้เป็นลักษณะของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า (The subject political culture) ตาม Model ของ Almond & Verba นั่นเอง
ถ้าท่านทั้งหลายพิจารณาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ของประเทศแม่แบบประชาธิปไตยหลัก ๆในโลกตะวันตก อย่างสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา หรือฝรั่งเศส ก็จะพบว่าการเรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศเหล่านั้นเป็น “ความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ” มิใช่มาจากเพียงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการ “แย่งชิงอำนาจ” ของ “โครงสร้างส่วนบน” ทั้งสิ้น แม้จะมีเหตุการณ์ “ลุกฮือ” (uprising) ของประชาชนเกิดขึ้น 2 ครั้งคือ เดือนตุลาคม 2516 และ พฤษภาคม 2535 แต่นั่นก็ไม่สามารถสร้างความเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ เพราะมุ่งเพียงการขับไล่ตัว “ผู้มีอำนาจ” ในเวลานั้น ดังนั้นเมื่อจุดเริ่มต้นทางประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณของชนในชาติต่างกันเสียอย่างหนึ่งแล้ว ยังมีความแตกต่างในสภาพภูมิศาสตร์ วิถีการดำเนินชีวิต ความเชื่อ ค่านิยมอีก ยิ่งเป็นไปได้มากที่หลักการและหลักกฎหมายที่ถูก “นำเข้า” มาโดยไม่ปรับปรุงให้เหมาะกับ “ความเป็นไทย” จะมีลักษณะเดียวกันกับประชาธิปไตยตลอด 74 ปีของไทย และมีชะตากรรมเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่มีหลักการที่ดีอยู่มากแต่กลับเกิดปัญหาไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิผล (effectiveness) จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำการเมืองไทยกลับไปสู่ “วงจรเดิม” พร้อมกับการกลับมาของวลีที่ว่า “โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง” และรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็ต้องถูกยกเลิกไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยระยะเวลาใช้บังคับยังไม่ครบ 9 ปี
จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า “สัมพันธภาพเชิงอำนาจ” ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2475 เป็นเรื่องระหว่าง พระมหากษัตริย์ – เจ้านาย – ขุนนาง ส่วนในช่วงหลังปี พ.ศ. 2475 เป็นการแย่งชิงอำนาจของ พรรคการเมือง – กองทัพ – กลุ่มทุนทางการเมืองเท่านั้น แต่ประชาชนซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยกลับมิได้เข้ามาร่วมเล่น “เกมการเมือง” เหล่านั้นเลย เพราะประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยังมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้าที่เพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมในการปกครองอยู่มากนั่นเอง
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทย ๆ เหล่านี้แทบจะกล่าวได้ว่า “ตรงกันข้าม” กับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่กล่าวถึงข้างต้น จึงไม่แปลกเลยที่ประชาธิปไตยในประเทศไทยล้มลุกคลุกคลานเรื่อยมาเพราะสังคมไทย
1. ไม่มีแนวคิดปัจเจกชนนิยม ไม่เคารพความเป็นปัจเจกบุคคล ไม่เคารพสิทธิของผู้อื่นแต่พยายามเรียกร้องให้ผู้อื่นเคารพสิทธิของตนเอง ในทางตรงกันข้ามก็ละเมิดสิทธิของผู้อื่นบ่อยครั้ง
2. ไม่เชื่อในระบบสังคมเปิด เพราะไม่ยอมให้มีการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง กระตือรือร้นที่จะไปตรวจสอบผู้อื่น แต่กลัว หลีกเลี่ยง ตลอดจนปกป้องพรรคพวกจากการถูกตรวจสอบ
3. ขาดการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างทั่วถึง ประชาชนส่วนหนึ่งมีทัศนคติว่าการเมืองเป็นเรื่องของผู้ปกครอง เป็นเรื่องของนักการเมือง เราเป็นประชาชนมีหน้าที่ทำตามที่ผู้ปกครองกำหนด และมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว

จากวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม แบบไพร่ฟ้าและความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกอยู่ใน “จิตสำนึก” ของคนไทยและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ชาวสยามทั้งประเทศมิได้เป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตยด้วยตนเอง มีส่วนทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาทางการเมืองอยู่เสมอ ไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารในอดีตก็มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบเดียวกัน ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นก็มีที่มาจากระบบอุปถัมภ์ ปัญหาการขาดเสถียรภาพของระบบรัฐธรรมนูญ เพราะมีการรัฐประหารอยู่เนือง ๆ ก็เกิดจากวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม แม้ว่าการรัฐประหารแต่ละครั้งได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมากี่ฉบับก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งซึ่งยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมไทยก็คือ สังคมไทยยังขาดความเข้าใจในหลักการและขาด “ความเป็นประชาธิปไตย” แต่ยังคงยึดมั่นในวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทย ๆ ที่มีแนวคิดแบบไพร่ฟ้า อำนาจนิยมและความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ซึ่งถ้าว่ากันอันที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่เกิดก่อนรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 600 ปี และมีอิทธิพลต่อระบบความคิด ความเชื่อ ค่านิยมในการปฏิบัติงานและการดำเนินชีวิตของคนไทยเหนือกว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ และวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทย ๆ นี้เองที่ทำให้เจตนารมณ์ (ที่ดี) ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (และรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยทุกฉบับซึ่งนำเข้าหลักการของตะวันตกมา) ไม่อาจบรรลุผลได้ จึงคงไม่เป็นการกล่าวเกินความจริงนักที่ผู้เขียนจะ “อุปมา” 17 วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเหมือนดั่ง “รัฐธรรมนูญที่แท้จริงซึ่งไม่เคยถูกยกเลิก”
อนึ่ง ผู้เขียนมิได้มีเจตนาให้ท่านทั้งหลายเข้าใจผิดว่า ผู้เขียน “ต่อต้าน” การนำระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรมาใช้ในประเทศไทย ตรงกันข้าม ผู้เขียนยังคงเชื่อมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากแต่จุดเน้นของผู้เขียนอยู่ที่
1. การสร้างประชาธิปไตยให้หยั่งรากลึกมั่นคงในประเทศใดนั้น มิได้จำกัดวงแคบอยู่เพียงโดยการสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องขยายออกไปถึง “การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย” ให้เกิดขึ้นในมโนสำนึกของประชาชนอย่างทั่วถึงด้วย 18 เพราะประสบการณ์ในอดีตได้สอนให้รู้แล้วว่าการเปลี่ยนแปลงแต่โครงสร้างการปกครอง โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว มิได้สร้าง “ความเป็นประชาธิปไตย” ที่แท้จริง มั่นคงและยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศของเรา
2. ผู้เขียนมิได้ต่อต้านการนำความเจริญแบบตะวันตกมาใช้ในประเทศไทย หากแต่การนำหลักการใด ๆ ที่นิยมแพร่หลายอยู่ในประเทศตะวันตกมาใช้กับบ้านเรานั้น ควรที่จะหา “จุดสมดุล” ระหว่าง “ความเป็นตะวันตก” และ “ความเป็นตะวันออก” ให้พบเสียก่อน แล้วจึงปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนให้เป็น “ส่วนผสมที่พอเหมาะ” สอดรับกับสังคมไทย เพราะ “จุดต่าง” ของแต่ละสังคมนี้เองที่ส่งผลให้หลักการหลาย ๆ อย่างที่ใช้ได้ผลดีในประเทศตะวันตกซึ่งประชาชนมีวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง แต่เมื่อนำมาใช้ในประเทศของเราซึ่งก็มีวัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งแล้ว กลับไม่เกิดประสิทธิผลอย่างประเทศต้นแบบ เพราะมีวัฒนธรรมที่ต่างกันนั่นเอง
แน่หละ ท่านทั้งหลายอาจคิดว่าข้อเสนอของผู้เขียนมิได้มีอะไรใหม่ และแลดูเป็น “นามธรรม” อยู่มิน้อย แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ทุกสรรพสิ่งในโลกที่เป็นรูปธรรมอยู่ได้ก็ด้วยพัฒนามาแต่ความเป็นนามธรรม ดังนั้นการพยายามสร้างสิ่งใดให้เป็นรูปธรรม โดย “เรียนลัด” ไม่พัฒนาจากความเป็นนามธรรมก่อนแล้ว สิ่งนั้นก็ไม่อาจเป็นรูปธรรมที่แท้จริงและยั่งยืนได้ การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจจะใช้เวลาหลายชั่วอายุคน แต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะเป็นความเจริญที่ยั่งยืนมั่นคง และคุ้มค่าเกินกว่าการรอคอยเป็นแน่
ข้อวิเคราะห์และความเห็นของผู้เขียนอาจยังไม่ลึกซึ้ง ครอบคลุมพอและอาจไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยได้ในทุกกรณี เพราะเป็นงานชิ้นแรกของผู้เขียนที่พยายามนำ “วัฒนธรรมทางการเมือง” ซึ่งเป็นองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ มา “ช่วย” ในการอธิบายปัญหาประชาธิปไตยของไทยซึ่งมีความคาบเกี่ยวระหว่างการเมืองและกฎหมายมหาชนอยู่มาก แต่ผู้เขียนก็หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ลอง “หยิบ” ศาสตร์ข้างเคียงมาช่วยวิเคราะห์ปัญหาทางกฎหมายมหาชนที่มีความคาบเกี่ยวกับศาสตร์อื่นบ้างในโอกาสต่อ ๆ ไป.


เชิงอรรถ

1.G.A. Almond & Bingham Powell, Comparative Politics : A Developmental Approach (Boston : Little, Brown and company,1966), p. 50
2.G.A. Almond & S. Verba, The Civic Culture : Political Attitudes and Democracy in Five Nations (Boston : Little, Brown and company, 1965), p. 15, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา (กรุงเทพฯ : เสมาธรรม, 2545), หน้า 304 และ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), หน้า 99
3.Lucien W. Pye, Aspects of Political Development (Boston : Little, Brown and company, 1966), กนก วงศ์ตระหง่าน, “วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย,” ใน เอกสารการสอนชุดวิชาวิวัฒนาการการเมืองไทย หน่วยที่ 8 – 15 (นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2532) : 593
4.กนก วงศ์ตระหง่าน, “วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย,” หน้า 593
5.G.A. Almond & S. Verba, The Civic Culture : Political Attitudes and Democracy in Five Nations, pp. 17 – 20, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 306 – 308, ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น, หน้า 102 – 103
6.G.A. Almond & S. Verba, The Civic Culture : Political Attitudes and Democracy in Five Nations, pp. 13 – 29, สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 309 – 310 และ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น, หน้า 104 – 105
7.จิรโชค วีระสัย, สังคมวิทยาการเมือง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543), หน้า 107 และดูรายละเอียดเกี่ยวกับหลักการของระบอบประชาธิปไตย ใน จิรโชค วีระสัย และคนอื่น ๆ, รัฐศาสตร์ทั่วไป (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542), หน้า 255 – 309
8.จิรโชค วีระสัย, สังคมวิทยาการเมือง, หน้า 107
9.เรื่องเดียวกัน, หน้า 108
10.เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน
11.กนก วงศ์ตระหง่าน, “วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย,” หน้า 597 – 602
12.จิรโชค วีระสัย, สังคมวิทยาการเมือง, หน้า 109 – 110 และ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา, หน้า 316 – 318
13.กนก วงศ์ตระหง่าน, “วัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย,” หน้า 604
14.ไพร่หลวง คือ ไพร่ที่ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ แต่แบ่งสังกัดไปตามกรมกองต่าง ๆ ไม่ได้สังกัดส่วนตัวของเจ้านายหรือขุนนาง ไพร่หลวงต้องเข้าเวรรับราชการครั้งละ 1 เดือนที่เรียกว่า “การเข้าเดือน” ในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้องเข้าเวรเดือนเว้นเดือนจึงเรียกว่า “เข้าเดือน ออกเดือน” รวมปีละ 6 เดือน ส่วนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้ไพร่หลวงเข้าเวร เดือนเว้นสองเดือน รวมปีละ 4 เดือน
ไพร่สม คือ ไพร่ที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้แก่เจ้านายและขุนนาง ไม่ได้สังกัดกรม กองของทางราชการ ไพร่สมมีหน้าที่รับใช้มูลนายของตน และมีพันธะต้องเข้าเวรรับราชการด้วย แต่เข้าเพียงปีละ 1 เดือนเท่านั้น
ไพร่ส่วย คือ ไพร่หลวงและไพร่สมที่ไม่สามารถมาเข้าเวรรับราชการได้ เพราะภูมิลำเนาอยู่ห่างไกล จึงส่ง “ส่วย” เป็นเงินหรือสิ่งของมีค่าที่หาได้ในภูมิลำเนาของตนมาแทนการเกณฑ์แรงงาน
15.โปรดดู รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, “วิถีแห่งวัฒนธรรมในสังคมไทย,” ใน อนิจลักษณะของการเมืองไทย เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าด้วยการเมือง (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2536) : 14 – 15
16.โปรดดู ชิงชัย มงคลธรรม, “ภัยจากลัทธิรัฐธรรมนูญ ต่อประเทศไทย,” มติชนรายวัน (2 พฤศจิกายน 2549) : 7 ซึ่งเห็นว่า“การโค่นล้มรัฐบาลสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่กำลังสร้างประชาธิปไตยตามพระบรมราโชบายสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยในขั้นตอนที่ 2 ต่อจากพระบรมราโชบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินสยามของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ขั้นตอนที่ 1 ลง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แล้วสถาปนาการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นโดยคณะราษฎรนั้นเป็นการทำลายการสร้างประชาธิปไตยของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 7 ลงอย่างน่าเสียดายยิ่ง และเป็นการเริ่มต้นของการปกครองลัทธิรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการปกครองแบบเผด็จการ ภัยของลัทธิรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นต่อประเทศไทยตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนถึงบัดนี้เป็นเวลากว่า 74 ปี การสร้างประชาธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยพระมหากษัตริย์ ร.5 เมื่อ พ.ศ.2435 จนถึง ร.7 พ.ศ.2475 เป็นเวลา 40 ปี ประสบความสำเร็จเพราะทรงใช้นโยบายเป็นเครื่องมือสร้างประชาธิปไตย แต่การสร้างรัฐธรรมนูญในระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยคณะราษฎร เมื่อ พ.ศ.2475 จนถึง พ.ศ.2549 โดยคณะรัฐประหาร และคณะพลเรือนในรูปของพรรคการเมืองประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาชาติสร้างประชาธิปไตยตลอดมากกว่า 74 ปี เพราะสร้างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว…” ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับคุณชิงชัย
17.การอุปมา (Simile) คือ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนหรือคล้ายกับสิ่งหนึ่ง เป็นวิธีการหนึ่งของการใช้โวหารภาพพจน์ (Figure of Speech) ซึ่งเป็นกวีโวหารที่วรรณคดีไทยในอดีตนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย สังเกตได้จากการใช้คำที่มีความหมายว่า “เหมือน” เช่น ดุจ ดัง ดั่ง เพียง เฉก เช่น อย่าง ประหนึ่ง ราวกับ
18.วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถเรียนรู้ และถ่ายทอดได้ โปรดดู อมรา พงศาพิชญ์, “มนุษย์กับวัฒนธรรม” ใน สังคมและวัฒนธรรม (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544) : 23 – 34


บรรณานุกรม

คณาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สังคมและวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544
จิรโชค วีระสัย. รัฐศาสตร์ทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2542
สังคมวิทยาการเมือง. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2543
ทินพันธุ์ นาคะตะ. รัฐศาสตร์ : ทฤษฎี แนวความคิด ปัญหาสำคัญและแนวทางการศึกษาวิเคราะห์การเมือง. กรุงเทพฯ : โครงการเอกสารและตำรา สมาคมรัฏฐประศาสนศาสตร์ นิด้า, 2546
พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว.. ระบบการเมือง : ความรู้เบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เอกสารการสอนชุดวิชาวิวัฒนาการการเมืองไทย หน่วยที่ 8 – 15. นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2532
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. อนิจลักษณะของการเมืองไทย เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าด้วยการเมือง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2536
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์. การเมือง : แนวความคิดและการพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ : เสมาธรรม, 2545
G.A. Almond & Bingham Powell. Comparative Politics : A Developmental Approach. Boston : Little, Brown and company, 1966
G.A. Almond & S. Verba. The Civic Culture : Political Attitudes and Democracy in Five Nations. Boston: Little, Brown and company, 1965
Pye, Lucien W.. Aspects of Political Development. Boston : Little, Brown and company, 1966

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา