เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ชูโมเดลการเมือง “สาธารณนิยม”

ผ่าอำนาจรัฐ กระจายสู่มือสาธารณะ รัฐ-ประชาชน เสมอภาคกัน

คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดการประชุมวิชาการ “ ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่น สู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ” ระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. โดยมีผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกว่า 1,500 คน ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีต คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ แปรถิ่น เปลี่ยนฐาน สร้างการปกครองท้องถิ่น ” ว่า อุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทย คือ ความคิดว่า ประชาธิปไตยมีระดับเดียว ทั้งที่ความจริงประชาธิปไตยไทย แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับชุมชน เป็นฐานรากของสามเหลี่ยม 2. ระดับท้องถิ่น เป็นฐานกลาง และ 3. ระดับชาติ เป็นส่วนยอดของสามเหลี่ยม โดยรูปแบบประชาธิปไตยทั้ง 3 ระดับต้องมีความแตกต่าง ไม่เลียนแบบกัน ซึ่งประชาธิปไตยระดับชุมชนเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ต้องเป็นโรงเรียนฝึกพลเมือง และทำให้รู้สึกเป็นเจ้าของนโยบาย ไม่ฝากอำนาจไว้กับผู้นำเท่านั้น เพราะหัวใจของประชาธิปไตย อำนาจและความรับผิดชอบต้องเป็นของประชาชนโดยตรง สังคมสำคัญกว่ารัฐ แต่ขณะนี้ประชาธิปไตยไทย เป็นเพียงประชาธิปไตยทางอ้อมที่ประชาชนไปลงคะแนนเลือกผู้แทนเข้าไปใช้อำนาจ ซึ่งต้องเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยทางตรง คือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา และระดมทรัพยากร เพื่อแก้ปัญหา

“ผมขอเสนอแนวคิด สาธารณนิยม คือ ประชาธิปไตยที่อำนาจไม่ได้อยู่ในมือรัฐ หรือผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมด แต่ท้องถิ่นและสังคม แบ่งอำนาจสาธารณะ คือ การดูแลความปลอดภัย สังคมสงเคราะห์ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนสามารถเข้ามาจัดการได้ รัฐไม่จำเป็นต้องผูกขาดอำนาจอธิปไตย และไม่ใช่ผู้ที่อยู่สูงกว่า แต่เป็นผู้ที่มีอำนาจเสมอกัน โดยรัฐทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เป็นตามนโยบาย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เชื่อว่า จะเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นและระดับชุมชน คือ ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วม เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการ และไม่โกงกิน เกิดจิตสาธารณะ ” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

ขณะที่ รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวในการอภิปราย “ สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยชุมชนท้องถิ่นได้อย่างไร ” ว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดคือการให้คนในพื้นที่เป็นผู้แก้ ปัญหาเอง กระจายอำนาจการตัดสินใจ ให้อำนาจการแก้ปัญหาไปไว้ที่ปัญหา ทั้งการกระจายสู่ชุมชนท้องถิ่น และ อปท.เป็นทางเดียวกัน วันนี้ความรู้สึกขององค์กรประชาชนและองค์กรท้องถิ่นบางพื้นที่มองว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่จากประสบการณ์พบว่าการกระจายอำนาจไปสู่ อปท.และการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น คือการปรับเปลี่ยนให้มีพื้นที่ยืนร่วมกัน ต้องยอมรับว่าองค์กรท้องถิ่นเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบทางการเมือง อย่างไรก็ตามการสร้างสุขภาวะที่ดีในชุมชนจะเกิดขึ้นได้ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในหลายเรื่อง อาทิ การสร้างเอกภาพทางความคิดในพื้นที่ , ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ , การนำหลักปรัชญาความพอเพียงมาใช้ คือการเมืองที่พอเพียง เป็นการทำการเมืองที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม การมีกระบวนการของการจัดการการเรียนรู้ ขณะที่ภาครัฐเองต้องกำหนดนโยบายที่เกิดประโยชน์และเอื้ออำนวยต่อท้องถิ่น

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า การพัฒนาท้องถิ่นต้องอาศัยความกล้าของผู้นำที่จะบอกความจริงกับประชาชนให้ ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการจัดสรรจำกัด โดยตนจะชี้แจงให้ชาวบ้านได้รับทราบตลอด จนเกิดความเห็นใจ ขณะเดียวกันก็เปิดเวทีให้มีการติดตามตรวจสอบ ดังนั้นเมื่อชาวบ้านต้องการทำอะไรก็ไม่อยากรบกวนเทศบาล แต่ไปลงขันกันทำเอง ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ พร้อมที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเทศบาล เหมือนสามีภรรยา แต่หากผู้บริหารท้องถิ่นมัวแต่หมกเม็ด ปกปิด ก็จะยิ่งเหนื่อย นอกจากนั้นตนให้ความสำคัญกับการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ โดยกำหนดในหลักสูตรการศึกษาใช้วัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง ให้เด็กเรียนรู้ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นนามธรรมที่วัดยาก แต่หากผู้นำยังมัวคิดถึงแต่คะแนนเสียงก็คงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้

นครินทร์เปรียบ อปท.-ชุมชนเป็นมือซ้าย-ขวา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในช่วงบ่ายการประชุมวิชาการ “ ฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ” โดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ซึ่งมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน เปิดเวทีเสวนาร่วมอภิวัฒน์ประเทศไทย หัวข้อ “ การปกครองท้องถิ่นสู่การจัดการตนเองของชุมชน ” ซึ่งมี นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายประเสริฐ ชิตพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสงขลา นายธีระศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขาธิการสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย และนายชัชวาลยฺ ทองดีเลิศ ประธานสถาบันการจัดการทางสังคม

นายนครินทร์ กล่าวว่า สังคมไทยมีความเข้าใจผิดอยู่มากเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน มีความหลากหลาย เมื่อสภาพชุมชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการพัฒนาซึ่งควบคุมไม่ยาก ทำให้ชุมชนเลื่อนไหลไปตามสภาพ และมีการปกครองเป็นของตัวเองเกิดขึ้นตามธรรมชาติ และคิดว่าสังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกี่ยวกับชุมชน ขณะที่การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นหลักของพลเมืองที่รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรทางการซึ่งรัฐจัดตั้งขึ้น มีสภาพความเป็นนิติบุคคล มีอำนาจจัดเก็บภาษีตามธรรมเนียมซึ่งมีระบบอย่างเป็นทางการ เลือกตั้งสภาผู้แทน หรือผู้บริหารท้องถิ่น และถือมีสภาวะสมัยใหม่ คิดว่าคนไทยไม่คุ้นเคยกับสภาพนี้

นายนครินทร์ กล่าวว่า ไทยเราจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช้าไป เราเริ่มมาจากเทศบาลในอดีต แต่ปัจจุบันเรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ มีเพียง 120 แห่ง เมื่อ 80 ปีที่แล้ว ขณะที่มี 2,000 กว่าตำบล จุดอ่อนของชุมชนคือ ไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่ปัจจุบันชุมชนโตไปเรื่อยๆ จึงเกิดความไม่สัมพันธ์กันด้วยเหตุหลายปัจจัย เช่น ทัศนคติที่ไม่ดีระหว่างชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยในรูปแบบทวิรัฐ ต่างคนต่างทำงานไม่กลมเกลียวกันเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่น การประชุมสภาท้องถิ่นมีการประชุมกันน้อยมาก 14 วันใน 365 วัน ซึ่งชุมชนต่างก็นิ่งเฉย ถือเป็นภาวการณ์ตึงเครียด หรือเรียกว่าการจับผิดซึ่งกันและกัน

“ คนไทยยังอยู่ในขั้นกวาดบ้านของเราคนเดียว แต่ในต่างประเทศมีการกวาดบ้านแล้วก็กวาดบริเวณถนนด้วย แค่กวาดบ้านตัวเองก็เหนื่อยพอสมควรแล้ว จึงมองว่า การมีสภาวะใหม่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนไม่จับมือกัน เป็นเหมือนมือซ้าย (ชุมชน) ไม่สัมพันธ์กับมือขวา(ท้องถิ่น) ผมมองว่าปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สัมพันธ์กับชุมชนที่พัฒนาเปลี่ยนสภาพไป จึงทำให้มือซ้ายและมือขวาไม่สัมพันธ์กัน ถือเป็นมายาคดีอย่างหนึ่ง ชุมชนมันเปลี่ยนสภาพไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องปรับตัวด้วย ผมมองว่าคิดว่าอีก 30 ปีข้างหน้าจะสามารถพัฒนาสู่ความเข้มแข็งได้ แต่คนไทยมีนิสัยอย่างหนึ่งคือเลือกผู้นำเพื่อหวังว่าเขาจะให้อะไรเรา แต่จริงๆแล้วเราต้องเป็นคนให้ นั่นหมายถึงการจ่ายภาษี ซึ่งโครงสร้างภาษีก็ต้องรื้อใหม่หมด ” นายนครินทร์ กล่าว

ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เราต้องการขับเคลื่อนเดินไปข้างหน้าให้มีความสมบูรณ์ระหว่างการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน มีทั้งผู้นำที่เป็นทางการ คือ กำนัน เมื่อพัฒนากลายเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มี นายกฯอบต. และขณะเดียวกันมีผู้นำที่ไม่เป็นทางการ กล่าวคือ เป็นผู้นำชุมชน มีลักษณะการนำที่กว้าง เป็นผู้นำที่ประชาชนให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ มีความเกรงใจ มีบทบาทสำคัญมาก แต่ปัจจุบันผู้นำชุมชนกลายเป็นผู้นำในการเรียกร้องมากกว่าผู้นำชุมชนสมัยก่อน ซึ่งอยากให้มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อกันมากกว่า

ขณะที่ เลขาธิการสมาคม อบต. กล่าวว่า วันนี้ทัศนคติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านลบอยู่มาก ถือว่าจำเป็นต้องปรับโครงสร้างอปท.อยู่มากในการให้บริการประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของนโยบายที่แท้จริง แต่นโยบายมาจากนักการเมือง ไม่ได้มาจากประชาชนรากหญ้า มาจากพรรคการเมืองที่มาดูแลกำกับกระทรวงมหาดไทย ถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องสังกัดอยู่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่มาจากภาคส่วนต่างๆ หรืออาจจะเป็นการตั้งสหภาพ หรือสมาคมอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามปัจจุบัน อปท.ยังอยู่ในกฎระเบียบที่รัฐกำหนดทำให้ติดขัดในการช่วยเหลือประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกมีอคติกับ อปท. สิ่งที่ต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง คือ การแก้ไขโครงสร้างทางกฎหมายถือว่าสำคัญมาก

นายธีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ประชาชนต้องติดตามการทำงานของตัวแทน และเข้ามาร่วมมือกันทำงาน เชื่อว่านิยามการจัดการตนเองของชุมชนสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาของอปท. มาจากการเลือกตั้ง แต่แนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำกับไม่ได้ทำให้ อปท. เพิ่มระบบบริการหรือทำให้ชุมชนจัดการปัญหาตัวเองมากขึ้น แล้วมาบอกว่า อปท.อ่อนแอ ซึ่งหากพิจารณาจะเห็นว่างบประมาณของอปท. ที่มีมากถึง 4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมดในการบริหารประเทศ ไม่ควรอยู่ในการกำกับดูแลของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งที่มากำกับดูแลอปท.

ด้านนายชัชวาลย์ กล่าวว่า ขอสนับสนุนให้อปท.มีการจัดการบริหารอย่างสมดุลรวมไปถึงการจัดการองค์ความรู้ ทำงานวิจัยต่อยอดศักยภาพของ อปท. พร้อมทั้งออกนโยบายของท้องถิ่นสนับสนุนให้ชุมชนจัดการตนเอง มีบัญญัติท้องถิ่นหรือเทศบัญญัติในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น หรือชุมชน สรุปคือ อปท.ต้องเป็นเครื่องมือของชาวบ้าน ไม่ใช่เครื่องมือของรัฐบาล

ที่มา : คม ชัด ลึก (๑ มีนาคม ๒๕๕๔)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา