เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

ต้นแบบปฏิรูปการเมือง “ฉบับชาวบ้าน”

การแข่งขันทางการเมืองในท้องถิ่นสร้างความร้าวฉานในชุมชน


การเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ” คือเสียงสะท้อนจากคนทั่วไป และสำหรับกลุ่มฮาร์ดคอร์หรือคอการเมือง “การเมืองเป็นเรื่องต้องมีส่วนร่วม” ความคิดเช่นนี้ปัจจุบันไม่น่าจะแตกต่างระหว่างคนเมืองและชนบท ท่ามกลางสังคมข่าวสารที่ไหลบ่า และมีปรากฏการณ์ปัจจุบันเป็นประจักษ์

โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน พาไปร่วมกันสอดส่องความคิดทางการเมือง และทางออกของชาวบ้านจากพื้นที่ต้นแบบการเมืองสมานฉันท์…

การเมืองทำชุมชนร้าวฉาน-เสนอ“ไร้โหวต”ที่ควนรู

…การแข่งขันทางการเมืองในท้องถิ่นสร้างความร้าวฉานในชุมชน และทำให้การพัฒนาด้านอื่นๆสะดุด ทำให้ชาวบ้านเบื่อหน่ายการเมืองแบบเดิมๆ จึงร่วมกันสร้างการเมืองสมานฉันท์ขึ้นมาเอง…

สมนึก หนูเงิน ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.ควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา กล่าวในเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การปฏิรูปประเทศไทย ที่จัดโดยคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อเร็วๆนี้ เขายังบอกว่า..

“เราใช้การเมืองไร้โหวต เพราะการโหวตทำให้ชุมชนมีปัญหา จึงเปลี่ยนเป็นระบบคัดสรรอย่างไม่เป็นทางการ ให้ผู้ที่ต้องการสมัครเข้ามาทำงานชุมชนก่อน พิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นและกลั่นกรอง โดยตกลงกันว่าไม่ว่าจะแพ้ชนะจะทำงานร่วมกันได้”

ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลควนรู พูดถึงเครื่องมือสำคัญ ของการเมืองสมานฉันท์คือศูนย์ประสานองค์กรชุมชนที่เกิดจากการรวม 13 เครือข่ายมาทำงานร่วมกัน ผู้นำท้องถิ่นจากทุกหมู่บ้าน-ตำบลร่วมกันทำงานในนามเครือข่าย มีการประชุมทุกเดือนเพื่อระดมปัญหาและความคิดเห็นชาวบ้านมาจัดทำแผนชุมชน ผลลัพธ์ที่ได้คืองานพัฒนาต่างๆเคลื่อนไปได้อย่างเข้มแข็ง ขณะนี้กำลังร่างธรรมนูญชุมชนควนรู เพื่อใช้เป็นข้อตกลงร่วมกัน

คณะกรรมการ 9 ฝ่าย อบต.ตันยวน และสภาผู้นำ ต.ศิลาลอย

เชวง สมพังกาญจน์ นายก อบต. ต.ต้นยวน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี บอกกล่าว ปัญหาสำคัญของท้องถิ่นคือการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) และฝ่ายท้องที่อย่างกำนันผู้ใหญ่บ้านที่หลากหลาย มีการตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆแบบสุ่มเลือกไม่ตรงกับปัญหาที่แท้จริง บางแห่งซ้ำซ้อนและตัวบุคคลที่เข้ามาทำงานเองก็ไม่มีความถนัด ทั้งนี้ ต.ต้นยวนแก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะกรรมการ 9 ฝ่าย แบ่งแยกตามประเด็นปัญหาดึง คนนอกวงจรการเมือง เช่น ผู้ใหญ่บ้านที่เกษียณอายุราชการ ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพแต่สู้คะแนนไม่ได้ หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ เข้ามาทำงานร่วมกัน

นายเชวง บอกว่าการจัดการองค์กรด้วยกรรมาธิการ 9 ฝ่ายประกอบด้วย ฝ่ายกีฬา การศึกษา เศรษฐกิจ ประเพณีและวัฒนธรรม รักษาความสงบ ความมั่นคง การท่องเที่ยว กู้ภัยฉุกเฉิน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ฝ่ายบริหารทำหน้าที่คัดสรรยึดหลักการความถนัด ทำงานร่วมกันได้และเกิดประโยชน์สูงสุด คิดแผนงานและเสนอต่อฝ่ายบริหารเพื่อพิจารณางบประมาณอย่างเหมาะสมไม่รั่วไหล ขณะที่เนื้องานก็จะมีประสิทธิภาพเพราะผู้ปฏิบัติมีความถนัดอยู่แล้ว

ส่วน เสนอ จันทน์เทศ นายก อบต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ สะท้อน ปัญหาในพื้นที่คือกำนันผู้ใหญ่บ้านและ อบต.ต่างคนต่างทำงานแยกส่วนส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณที่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อ การพัฒนามาตลอด การแก้ปัญหาจึงเน้นการรวมตัวผู้นำ 9 หมู่บ้าน ตั้งเป็นสภาผู้นำเพื่อประสานการทำงานร่วมกัน โดยนำต้นแบบจากสภา 59 ที่หนองกลางดงมาประยุกต์ ฟื้นความสัมพันธ์ที่แตกแยกและทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นในวิถีชุมชนซึ่งเป็น หัวใจหลักของงานพัฒนา

เวทีวิชาการคนนาบัว-แผนแม่บทชุมชนบ้านควน

แม้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9-10 จะกำหนดทิศทางการพัฒนาโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ในทางปฏิบัติก็เพียงให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมรับรู้เท่านั้น ประเจ็ด ศรีสวัสดิ์ ประธานชมรมฅนรักษ์ถิ่นตำบลนาบัว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก กล่าวว่าความคิดเช่นนี้ทำให้คนนาบัวตั้งเวทีวิชาการชาวบ้านที่มีตัวแทน อบต.ร่วมทำแผนกับชาวบ้าน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานร่วมกันตลอดกระบวนการ ตั้งแต่ร่วมมองปัญหา วางแผน แก้ไข และติดตามผล ทำให้สนองตอบต่อการแก้ปัญหาท้องถิ่นได้ตรงจุด

“ถ้าเราเอาแผนสำเร็จไปให้ชาวบ้าน เขาไม่อ่าน แต่ถ้ามีเวทีให้พูดคุยกัน พอเรานำปัญหามาจัดทำแผนพัฒนา ชาวบ้านเขาจะเกิดความภูมิใจว่ามีส่วนร่วม และตรงกับความต้องการที่เขาเสนอมา”

ขณะที่ ไพบูลย์ นุ้ยพิน รองนายก อบต. บ้านควน อ.หลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่าบทเรียนการพัฒนาที่ไร้ทิศทางไม่เป็นระบบ ทำให้ชาวบ้านหันมาร่วมกันทำแผนแม่บทชุมชน โดยเริ่มจากหมู่บ้านช่องสะท้อนซึ่งมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน จนมีการขับเคลื่อนไปสู่แผนแม่บทชุมชน และขยายไปยังพื้นที่รอบๆ ที่สุดเกิดการการบูรณาการแผนชุมชนเข้ากับแผนพัฒนาตำบลของ อบต.จนกลายเป็นแผนแม่บทตำบลฉบับแรก

รองนายก อบต. บ้านควน อธิบายความสำคัญของแผนแม่บทชุมชนว่าเป็นแผนที่เดินทางไปสู่อนาคตของชุมชน ดังนั้นประเด็นสำคัญคือต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนตลอดทั้งกระบวนการ ทั้งนี้ผลพลอยได้จากกระบวนการดังกล่าว ยังได้สร้างกลไกอาสาสมัครขึ้นมาขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่นอีกหลายด้าน เกิดกลุ่มแม่บ้านพัฒนาครอบครัวบ้านช่องสะท้อน กลุ่มกองทุนกิจการประปาหมู่บ้าน กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านช่องสะท้อน

“เรากำหนดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ชาวบ้านรู้ว่าการประชุมสำคัญต่อเขา ดังนั้นทุกครั้งที่ประชุมจะมีชาวบ้านเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 100 หลังคาเรือน ซึ่งเรามีเทคนิคคือนำกองทุนการออมมาไว้หลังการประชุมเพื่อให้เขาไม่ต้องเดิน ทางเสียเที่ยว และถ้าใครทำบัญชีครัวเรือนก็ให้นำสมุดบัญชีครัวเรือนมารับแจกน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน เพื่อเป็นการดึงดูดชาวบ้านอีกทาง”รองนายก อบต. บ้านควน กล่าว

ด้าน นางปริชญา นันคำ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน อบต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เล่าถึง“นโยบายติดดาว” ในพื้นที่ว่าเป็นการแจกดาวให้ชาวบ้านนำไปติดบนหัวข้อปัญหาที่คิดว่าต้องเร่ง แก้ไขเพื่อดำเนินการตามลำดับ เป็นการเร่งให้มีการกำหนดระยะเวลาที่ปัญหานั้นจะต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งสร้างความสนใจให้ชาวบ้าน และสะท้อนถึงพลังของ 1 คน 1 สิทธิ 1 เสียงได้อย่างชัดเจน.

ถ้าการเมือง-เศรษฐกิจ-สังคม เป็นทั้ง “บทสะท้อน” และต้อง “สนองตอบ” ความต้องการพื้นฐานของคน นโยบายไร้โหวต อบต.ควนรู-คณะกรรมการ 9 ฝ่ายที่ตันยวน-สภาผู้นำชุมชนศิลาลอย-เวทีวิชาการคนนาบัว-นโยบายติดดาวสอง แคว-แผนแม่บทชุมชนบ้านควน….คือสิ่งนั้น และเป็นคำถามย้อนกลับไปที่การเมืองระดับชาติ!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา