กรณี ป.ป.ช.กับศาลปกครองสูงสุด
ในอดีต "สมลักษณ์ จัดกระบวนพล" เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ปัจจุบันในวัย 70 "สมลักษณ์" เป็นอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นักวิชาการ และที่ปรึกษากรรมการ ป.ป.ช.
หลายครั้ง เมื่อสังคมแคลงใจกระบวนการพิจารณาคดีความใด อดีตกรรมการ ป.ป.ช.รายนี้ จะเขียนบทความแสดงความเห็นส่งไปลงตามสื่อต่างๆ บทความของ "สมลักษณ์" มักจะเน้นไปที่ "หลักการ-หลักกฎหมาย" โดยจะหลีกเลี่ยงการแตะต้อง "ตัวบุคคล" เพราะมองว่า เมื่อใดที่ไปแตะตัวคน ปัญหาของ "บ้านเมือง" จะถูกบิดเบือนเป็นเรื่องของ "การเมือง" แทน
หลังเกิดกรณี "หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล" ประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. เพื่อชี้แจงกรณีที่มีการกล่าวหา "อักขราทร จุฬารัตน" ขณะดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากใช้อำนาจสั่งเปลี่ยนองค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีคำร้องขอคุ้มครอง ชั่วคราวที่มิให้นำมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ซึ่งสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไปดำเนินการใดๆ โดยอ้างว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจไต่สวนตรวจสอบผู้พิพากษาศาลใดทั้งสิ้น
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีการายนี้ จึงเขียนบทความ "ตุลาการกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" ตอบโต้ทันที
ยืน ยันว่า ป.ป.ช.มีอำนาจในการไต่สวนผู้พิพากษา ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 250 และกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 19 เนื่องจากผู้พิพากษาก็คือ "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี
แม้ทั้งสองคนจะรู้จักกันเป็นการส่วนตัว แถมลูกสาว "เบอร์ 1 ของศาลปกครอง" ยังเป็นลูกศิษย์ของ "กุนซือ ป.ป.ช." ที่คณะนิติศาสตร์ มธ.
ทว่า "หลักการ-หลักกฎหมาย" ย่อมสำคัญกว่า "ความสัมพันธ์ส่วนตัว"
ยิ่ง "หัสวุฒิ" ออกมาการันตีความบริสุทธิ์ของอดีตผู้บังคับบัญชา ด้วยคำที่ว่า "คนระดับนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะทำผิดกฎหมาย..."
"มติชน" จึงอดไม่ได้ ที่จะสัมภาษณ์เจ้าตัว เพื่อขยายความถึงกรณีดังกล่าว
"ผู้ พิพากษาตุลาการได้รับการคุ้มครองความเป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 แน่ แต่ต้องเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระ ไม่ทุจริตและอยู่ภายใต้กฎหมาย ...ถ้าผู้พิพากษารายใดกระทำการที่ตกขอบ แล้วยังอ้างมาตรา 197 จะกลายเป็นว่าผู้พิพากษารายนั้นอยู่เหนือกฎหมาย จะกลั่นแกล้งใคร วินิจฉัยคดีอย่างผิดๆ หรือมีอภิสิทธิ์เหนือข้าราชการทั่วไป ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่มีกลุ่มชนใดยอมให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดอยู่เหนือกฎหมาย แน่" สมลักษณ์เริ่มต้นกล่าว
"กุนซือ ป.ป.ช." ยังหยิบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองปี 2552 มาตรา 56 มาอธิบายว่า การเปลี่ยนองค์คณะจะทำได้ 3 กรณี มีการโอนคดีตามระเบียบที่เปลี่ยนไป มีการคัดค้านตุลาการเจ้าของสำนวนหรือที่ร่วมองค์คณะนั้น และองค์คณะมีคดีค้างพิจารณาอยู่จำนวนมากจะทำให้พิจารณาคดีล่าช้า
"แต่ ในคำร้องคดีนี้ระบุว่า การคืนสำนวนเกิดขึ้นภายหลังองค์คณะได้ลงมติ 3 ต่อ 2 ให้กลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น หรือแปลง่ายๆ ว่า ให้ ครม.นำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไปใช้ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้ แสดงว่ากระบวนการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว แต่ตุลาการเจ้าของคดีกลับคืนสำนวนไปให้กับประธานศาลปกครองสูงสุดเวลานั้น โดยอ้างว่าองค์คณะมีคดีค้างพิจารณาจำนวนมาก จากนั้นประธานศาลปกครองจึงจ่ายสำนวนไปให้องค์คณะที่ 1 ที่ตัวเองเป็นประธาน"
"สมลักษณ์" สรุปว่า คดีนี้จึงมีข้อสงสัย 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.เหตุใดถึงคืนสำนวนหลังจากลงมติไปแล้ว (ทำไมไม่คืนตั้งแต่แรก แต่คืนเมื่อลงมติแพ้?) และ 2.ทำไมถึงจ่ายสำนวนไปที่องค์คณะของตัวเอง
"ตามความเห็นส่วนตัว หากเกิดกรณีเช่นนี้ วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ควรจะโยนให้ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองชี้ขาด ไม่เช่นนั้นอาจถูกมองได้ว่ามีการเปลี่ยนองค์คณะ เป็นเพราะคำตัดสินไม่ตรงใจผู้บริหารศาล เหมือนที่ระบุไว้ในคำร้อง"
"สมลักษณ์" ออกตัวว่า แม้จะไม่มีอำนาจพิจารณาคดีแล้วเพราะเป็นเพียงอดีตกรรมการ ป.ป.ช. แต่เห็นว่าศาลปกครองควรจะให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช. หากเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ผิด จะได้เคลียร์ตัวเองเร็วที่สุด!
"ตาม ปกติ ป.ป.ช.จะไต่สวนคดีลักษณะเช่นนี้โดย 1.ต้องดูเป็นดุลพินิจตามมาตรา 197 หรือไม่ ถ้าใช่ข้อกล่าวหาก็ตกไป 2.ถ้าข้อหานั้นพอสันนิษฐานได้ว่าทุจริต เช่น รับสินบน ใช้อำนาจมิชอบ หรือฝ่าฝืนกฎหมาย ก็ต้องสอบว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ซึ่งต้องทำด้วยความระมัดระวัง และ 3.หลังจากดูพยานหลักฐานหมดแล้ว ถ้าเห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจตามมาตรา 197 ป.ป.ช.ก็ต้องให้เรื่องนี้ตกไปเช่นกัน"
"กลับกัน ถ้าเห็นว่าเป็นความผิด ก็ต้องส่งให้ศาลผ่านทางอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีทางอาญา และส่งให้ผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาบทลงโทษทางวินัยต่อไป"
ทั้งนี้ ความน่าสนใจของคดีนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่ว่า "ป.ป.ช.สอบสวนผู้พิพากษา" ได้หรือไม่
แต่ยังรวมถึงผลการพิจารณาคดี เพราะ "อักขราทร จุฬารัตน" เป็น 1 ในผู้ที่ถูกระบุว่าอยู่ในขบวนการตุลาการภิวัตน์คนสำคัญ
จึงน่าติดตามว่า ป.ป.ช.จะไต่สวนตรวจสอบ "คนระดับนี้" ได้อย่างตรงไปตรงมามากน้อยแค่ไหน!!!
สัมภาษณ์ โดย พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์
(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 10 มีนาคม 2554)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา