เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม เลขทะเบียน ๘๖๙ สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า

อุดมการณ์สถานักพัฒนาเพื่อประชาธิปไตย

เรา...มั่นใจว่า
ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา
ประเทศไทย เป็นของเราทุกคน
เรา ต้องร่วมกันสร้างชาติไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ขอไว้อาลัยต่ออการจากไปของ ดร.พีรพันธ์  พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

อภิสิทธิ์ “เบี้ยที่ไร้คุณค่า” (?)

นักปรัชญาชายขอบ


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยข้ออ้างที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ “ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาวิกฤตความแตกแยกของคนในชาติ นำสังคมกลับสู่ความสงบสมานฉันท์”

เหตุผลที่เขาย้ำอยู่เสมอว่าเขามีความชอบธรรมที่จะมาทำหน้าที่นายก รัฐมนตรีเพื่อนำสังคมกลับคืนสู่ความสงบสมานฉันท์ คือ “ผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง ไม่ได้ทำอะไรเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แต่ทำเพื่อชาติเพื่อปกป้องสถาบัน”

จะเห็นได้ว่า วิธีอ้างเหตุผลของอภิสิทธิ์เป็นการอ้าง “คุณธรรมส่วนตัว” (เช่น ความซื่อสัตย์) เหนือ “หลักการ” ด้วยความดีส่วนตัวทำให้เขาเห็นว่า เขามีความชอบธรรมที่จะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะก้าวขึ้นมาด้วยวิธีการผิดหลักการประชาธิปไตยก็ตาม เช่น ใช้ “เส้นสนกลใน” ไปฉก ส.ส.จากพรรคคู่แข่งมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ไปฟอร์มรัฐบาลในค่ายทหาร หรือยอมเป็นรัฐบาลอำมาตย์อุ้ม กระทั่งยอมเป็น “เบี้ย” ให้กับอำนาจเผด็จการจารีต

วิธีคิดที่ว่า ถ้าเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว (เช่น “สุรยุทธ์เป็นคนดีที่สุด” ฯลฯ) ย่อมมีความชอบธรรมที่จะขึ้นมามีอำนาจรัฐ แม้ว่าการขึ้นมามีอำนาจนั้นจะผิดหลักการประชาธิปไตยก็ตาม ก็คือวิธีคิดเดียวกันกับถ้าเป็นคนเลวหรือไม่มีคุณธรรมแล้วก็สมควรถูกขจัดออก ไปจากอำนาจรัฐแม้ด้วยวิธีรัฐประหารก็ตาม

วิธีคิดเช่นนี้คือวิธีคิดที่ยืน ยันความชอบธรรมของรัฐประหารขจัดคนเลว และจัดหาคนดีมาปกครองประเทศ ทว่าคนทำรัฐประหารและมีอำนาจจัดหาคนดีคือกลุ่มชนชั้นนำที่อยู่ในเครือข่าย ของโครงสร้างหรือที่สนับสนุนโครงสร้างอำนาจเผด็จการจารีตเท่านั้น !

และยิ่งวันเวลาผ่านไปกลุ่มชนชั้นนำดังกล่าวยิ่งแสดงอำนาจเหิมเกริมไม่ เห็นหัวประชาชน ยิ่งทำให้เกิดกระแสต่อต้านและเรียกร้องประชาธิปไตยที่ยืนยัน “ระบบที่เป็นประชาธิปไตย” ที่ประชาชนมีเสรีภาพในการปกครองตนเองอย่างแท้จริง ความสงบสมานฉันท์ยิ่งไม่มีทางเป็นไปได้

เมื่อมันเป็นความขัดแย้งในเชิงหลักการและอุดมการณ์ที่แตกต่างอย่างชัดเจน ไม่ใช่เป็นเรื่องความความโกรธกัน เกลียดกัน การที่ใครก็ตามเอาแต่อบรมประชาชนว่า เราเป็นคนไทยด้วยกันต้องรักกัน ต้องสามัคคีกัน ต้องเห็นแก่ชาติบ้านเมือง ฯลฯ ย่อมเป็นการอบรมที่เพ้อเจ้อ

เพราะการสร้างความสงบสมานฉันท์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมทั้ง ระบบ คือโครงสร้างอำนาจจารีตจะต้องไม่ขัดแย้งกับระบอบประชาธิปไตย กฎหมายหมิ่นฯ หรือกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราใดๆ ที่ขัดกับหลักความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคตามกฎหมาย และเสรีภาพที่เท่าเทียมของประชาชน จำเป็นต้องถูกแก้ไขปรับปรุง

แต่ในเบื้องต้นต้องเริ่มการเปลี่ยนผ่านโดยการเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยก่อนคือการเลือกตั้ง

ทว่าทั้งที่อภิสิทธิ์เป็นเงื่อนไขสำคัญของความขัดแย้ง เพราะเขายอมตัวเป็น “เบี้ย” ของเครือข่ายอำนาจจารีตที่ทำรัฐประหารซึ่งถูกต่อต้านโดยประชาชนที่ต้องการ ประชาธิปไตย ฉะนั้น การคิดจะขึ้นมาเป็นนายกฯ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตความขัดแย้งถ้าไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหลอกตัวเองสุดๆ ก็เป็นเรื่องของการแสดงละครน้ำเน่าสุดๆ

ยิ่งพูดเป็น “แผ่นเสียงตกร่อง” ว่า “พร้อมจะยุบสภาเมื่อบรรยากาศของบ้านเมืองสงบ ปรองดอง” ยิ่งเป็นการพูดที่ไร้สาระ เพราะตัวผู้พูดนั่นเองคือเงื่อนไขของความแตกแยก
อภิสิทธิ์ลงจากอำนาจเมื่อใดเท่ากับเงื่อนไขของความขัดแย้งแตกแยกถูกแก้ไปเปราะหนึ่ง

การอยู่ในอำนาจของอภิสิทธิ์ไม่ว่าที่ผ่านมาหรือต่อไปไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าบ้านเมืองจะสงบสุข เหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 คือข้อพิสูจน์ เพื่อรักษาอำนาจของคนที่บอกว่า “ผมไม่มีผลประโยชน์อะไรจากการเป็นนายกฯ” ประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

จะว่าไปแล้วอภิสิทธิ์ก็แทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเป็นนายกฯ เลยจริงๆ เพราะการก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ดูเหมือนจะง่ายกว่าการลงจากอำนาจ แค่เล่นเกมไม่กี่เกม เช่น ไม่ยอมลงเลือกตั้ง เสนอมาตรา 7 ส่งคนมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตร ยอมตัวเป็น “เบี้ย” ของโครงสร้างอำนาจจารีต ก็ได้เป็นนายกแล้ว

แต่การลงจากตำแหน่ง “นายกฯ 91 ศพ” จะลงอย่างไรถึงจะมีชีวิตอย่างปกติสุขในวันข้างหน้า และที่สำคัญกว่านั้นคือจะทำอย่างไรที่จะให้ตัวเองไม่ตกอยู่ในสถานะกลายเป็น “เบี้ยที่ไร้คุณค่า”

แน่นอนว่าอภิสิทธิ์คือ “เบี้ยที่ไร้คุณค่า” มานานแล้ว ในสายตาของประชาชนที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยหรือต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผ่าน สังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตย

แต่ก็น่าฉงนว่า เขาเป็นเบี้ยที่มีคุณค่าจริงๆ ในสายตาของ “ผู้ใช้เบี้ย” หรือเปล่า?

รูปธรรมที่เห็นคือ ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ทำให้กองทัพมีอำนาจสุดๆ ตั้งเพิ่มสองกองพลในภาคเหนือและอีสานอย่างง่ายดาย ไม่ต้องพูดถึงอำนาจจัดการความมั่นคงภายใน การได้งบประมาณมหาศาล ปัญหาทุจริตโดยไม่มีการตรวจสอบและเอาผิดอย่างจริงจัง ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ทำให้อภิสิทธิ์เป็น “เบี้ยที่มีคุณค่า” ในสายตาของ “พวกเขา” จริงหรือ?

เกรงแต่ว่า การยืดเวลายุบสภาออกไปเรื่อยๆ โดยข้ออ้างทื่อๆ เดิมๆ จนเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะมีขึ้น ยิ่งมีโอกาสสูงที่จะทำให้อภิสิทธิ์กลายเป็น “เบี้ยสะบักสะบอม” และอาจกลายเป็น “เบี้ยที่ไร้คุณค่า” ในที่สุด

“เบี้ยอภิสิทธิ์” จึงเป็นบทเรียนของนักการเมืองรุ่นใหม่ที่สอนให้รู้ว่า การยอมตัวเป็น “เบี้ย” ของโครงสร้างอำนาจเผด็จการจารีต โดยอ้างความดีของตนเองอย่างฉาบฉวย ไร้มโนสำนึกรับผิดชอบอย่างจริงจังต่อการปกป้องหลักการประชาธิปไตย และไม่เห็นหัวประชาชนนั้น

สุดท้ายแล้ว ไม่ happy ending อย่างที่คิด !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประชาธิปไตย เป็นจิตวิญญาณของเรา